แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
ครั้งที่ ๘๒
สุ. โดยมากทราบว่า อินทรีย์ ธาตุ อายตนะ ขันธ์ ปฏิจจสมุปปาท อริยสัจนั้นเป็นภูมิของวิปัสสนา เป็นภูมิของปัญญา แต่ไม่ใช่หมายความว่าเป็นภูมิเฉพาะตอนที่ท่านเรียน เป็นส่วนของตำรับตำรา ไม่ใช่อย่างนั้น แต่เป็นภูมิที่จะให้ระลึกรู้ตามความเป็นจริงของธรรมชาตินั้นๆ เพื่อละ เพื่อคลาย
ถ. ในกายานุปัสสนาบรรพนี้กล่าวถึงว่า “ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ดี ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ดี ไปแล้วสู่เรือนร้างก็ดี”
ที่จริงพระพุทธองค์ท่านไม่ได้รับสั่งให้ภิกษุนั้นไปสู่ป่า ไปสู่โคนไม้ หรือไปสู่เรือนว่างที่ไหนเลย เป็นอัธยาศัยของบุคคลที่จะเป็นภิกษุก็ดี ฆราวาสก็ดี เมื่ออยู่ในห้องที่คับแคบและอุดอู้ เกิดความอบอ้าวขึ้น ก็ย่อมจะออกจากห้องนั้นไปสู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง แต่คำว่า “ป่า” ฟังดูก็คิดว่า คงเป็นป่าที่ใหญ่โตและมีสัตว์ร้ายมาก แต่ความจริงผมพิจารณาดูแล้ว คำว่า “ป่า” นี้ไม่ใช่ป่าอย่างนั้น
อีกอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับคำว่า “โคนไม้” ในวัดส่วนใหญ่ก็มีต้นไม้ใหญ่มาก โคนไม้ใหญ่ๆ ก็มี บางคนก็ทำแคร่ใต้โคนต้นไม้นั้น
คำว่า “เรือนว่าง” ผมไม่เข้าใจว่า เรือนว่างที่ท่านแปลออกมานั้นจะเป็นเรือนชนิดใด แต่ภาษาบาลีท่านใช้คำว่า สูญญาคาร อาคารว่าง ผมคิดว่า อาคารว่าง ก็คือ ศาลาวัดนั่นเอง คือ ท่านออกจากกุฏิของท่านท่านไปสู่ป่า ก็คือใกล้ๆ วัดนั่นเอง ใกล้ๆ กันอย่างนี้ ท่านไม่ได้ไล่ให้ไปไหนเลย แต่ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่เมื่อได้ฟังอย่างนี้ก็มีความหมายไปอีกทางหนึ่ง อีกประการหนึ่ง คือ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ก็มีความหมายอีกเหมือนกันว่า พระพุทธองค์ท่านไม่ได้สั่ง ผมเองได้พบแขกอินเดีย เวลาเขาไปหาพระ เขาจะนั่งขัดสมาธิ แล้วก็ไหว้ นี่เป็นอัธยาศัยตามปกติของเขา
อีกตอนหนึ่งท่านว่า “ดำรงสติเฉพาะหน้า” คำว่า ดำรงสติเฉพาะหน้านี้ ก็เป็นคำที่ไม่ใช่ “สั่ง” เป็นแต่เพียงท่านอบรมภิกษุว่า เมื่อเธอไปอยู่ในที่อย่างนั้นๆ แล้ว ก็ไม่ควรจะไปอยู่เปล่าๆ ควรมีสติเพื่อพิจารณาอย่างนั้นๆ ต่อไป ที่เข้าใจอย่างนี้ ผมเข้าใจถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่
สุ. การเจริญภาวนา คือ สมถภาวนาทางหนึ่ง กับ วิปัสสนาภาวนาอีกทางหนึ่ง
สมถภาวนา เป็นการเจริญอบรมให้จิตสงบตั้งมั่น แต่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะจิตจดจ่อตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียว เพราะฉะนั้น อานาปานสติเป็นสมถภาวนาก็มี และที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในมหาสติปัฏฐานก็มี แต่ลักษณะของการเจริญต่างกัน
สำหรับอานาปานสติที่เป็นสมถภาวนานั้นมุ่งให้จิตสงบ แต่จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อรู้ชัด เพื่อปัญญาไม่ยึดถือนามและรูปใดๆ ว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ลมหายใจเป็นสิ่งที่มีจริง สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของลมว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่งได้
ในมหาสติปัฏฐานสูตร ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เริ่มด้วยอานาปานสติ เห็นกายในกาย ไม่ใช่เพื่อให้ตั้งมั่นจดจ่อถึงขั้นอัปปนาที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน
ภิกษุไปสู่ป่า ไม่ได้บอกว่าต้องไป แต่เป็นอัธยาศัยของบุคคลที่เคยเจริญสมาธิมาแล้ว ก่อนการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเจริญสมาธิมีมาก การใฝ่หาความสงบของใจก็มีมานานแล้ว
บุคคลใดก็ตามที่ไม่เคยฟังธรรมก็เจริญอานาปานสติ หรือว่าเจริญสมถภาวนามากมาก่อน บุคคลใดก็ตามเคยเจริญสมาธิ คนอื่นจะยับยั้งหรือห้ามได้ไหม บางท่านพอตื่นขึ้นมาก็ระลึกแล้ว พุทโธ เป็นอัธยาศัยทีเดียว อบรมมาตั้ง ๑๐ ปี ๒๐ ปี ไม่ได้ห้าม แต่สติตามรู้ว่า แม้แต่ที่นึกอย่างนั้นก็เป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง นั่นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน
การนึกว่า พุท ก็เป็นการนึก เพราะฉะนั้น เวลาที่นึกจะนึกเรื่องอื่นสารพัด อย่างที่ไม่ใช่พุทโธ สติก็ยังตามระลึกรู้ได้ ไม่ว่าจะเป็นอกุศลวิตก คิดไปในเรื่องต่างๆ ด้วยความชอบใจ ด้วยความไม่ชอบใจ สติก็ตามระลึกรู้ว่า เป็นนามชนิดหนึ่ง ตามระลึกได้
เพราะฉะนั้น เวลานามที่เป็นกุศลระลึกถึงพระพุทธคุณเกิดขึ้น ผู้ที่เจริญสติมีหน้าที่ตามระลึกรู้ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าห้าม หรือการบังคับ เป็นปกติทุกอย่าง เพราะสตินั้นเป็นธรรมชาติที่ควรเจริญ ตามรู้สิ่งที่เกิดปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย เพื่อการรู้ชัด ไม่ใช่ไปบังคับไว้ ไม่ดูนาฬิกา ไม่ฟังวิทยุ นั่นเป็นการทำขึ้น ปิดบังนามและรูปที่เกิดปรากฏตามปกติ
ปกติเป็นอย่างไร ไม่ใช่ตัวตน เป็นนาม เป็นรูป มีการฟัง มีการเห็น มีการได้ยิน สติตามระลึกรู้ได้ทุกอย่าง
แต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกัน บุคคลที่เคยเจริญอานาปานสติมามาก เวลาที่ฟังธรรมแล้ว จิตก็น้อมไปในการเจริญอานาปานสติ บุคคลนั้นไปสู่ป่า ไม่ได้มีคำบอกไว้ในพยัญชนะว่าต้องไป แต่บุคคลนั้นไปโคนไม้ เรือนว่าง แล้วพิจารณาลมหายใจ ไม่ได้บอกด้วยว่า จะต้องถึงฌานขั้นนั้นก่อนขั้นนี้ก่อน เพราะเหตุว่าสติเป็นธรรมชาติที่ตามรู้ได้ทุกๆ ขณะ
สติอาจระลึกรู้จิตที่กำลังสงบ สติอาจระลึกรู้ปีติ สติอาจระลึกรู้สุขเวทนา สติอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปหยาบ หรือละเอียดที่เป็นลมหายใจในขณะนั้นก็ได้ เพราะเป็นการเห็นกายในกาย เห็นเวทนาในเวทนา เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม ต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐานว่า เพื่อการรู้สิ่งที่ไม่เคยรู้
ธรรมชาติของสตินั้นเป็นธรรมชาติที่เป็นใหญ่ในการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นอนัตตา ไม่ใช่บังคับบัญชา หรือสั่งได้สร้างได้ว่า จะต้องทำให้เกิดขึ้นในสถานที่นั้น ทำให้เกิดขึ้นในสถานที่นี้
ถ. ที่ได้ฟังมาจากสำนักปฏิบัติบางแห่ง มีความว่า ไม่ต้องรู้รูปนามให้ทั่วถึงทุกรูปทุกนาม ให้รู้นามใดนามหนึ่งเฉพาะที่รู้ได้ง่ายๆ เช่น นามหยาบๆ เช่น กายานุปัสสนา เป็นต้น เขาอ้างว่า รู้นามเดียวรูปเดียวนั้น ถ้ารู้ได้ชัดเจนแล้ว นามอื่นรูปอื่นก็ไม่จำเป็นต้องรู้ อุปมาเหมือนว่า เกลือหลายเม็ดอยู่ในไห ถ้าเราหยิบเกลือเม็ดหนึ่งเม็ดใดมารับประทาน ก็รู้ความเค็มแล้ว ถ้ารู้นามใดนามหนึ่งว่า อนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตา เป็นลักษณะอย่างนี้แล้ว ก็เหมือนกับเกลือเค็ม เม็ดอื่นๆ ก็เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องรู้รูปนามทั่วไป
สุ. หมายความว่าเวลาที่รู้ความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามและรูป นามใดรูปใดแล้ว ก็ทำให้รู้ไปทั่วถึงนามรูปอื่นด้วย เวลานี้ประจักษ์การเกิดดับหรือยัง เมื่อยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูป ปัญหาก็ควรจะเป็นว่า เจริญอย่างไรจึงจะประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป
ขณะที่กำลังเห็นในขณะนี้ รู้นามรู้รูปทางตาไหม การเห็นเป็นนามชนิดหนึ่ง เป็นธรรมชาติรู้ชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนธรรมชาติที่ได้ยิน การเห็นการได้ยินจะดับพร้อมกันได้ไหม
ที่ว่าประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปชนิดใดชนิดหนึ่งก็จะทำให้รู้ทั่วถึงลักษณะของนามอื่นรูปอื่นด้วย ข้อสำคัญคือ เจริญอย่างไรจึงจะประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป สติเกิดขึ้นทีละขณะ จิตใดมีสติเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็ได้ เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่มีจริงๆ
ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของอ่อน เดี๋ยวก็คิดนึกแล้วใช่ไหม สติดับไหม สติก็ต้องดับ ไม่ใช่สติไม่ดับ สติระลึกลักษณะของเสียง ประเดี๋ยวความรู้สึกเป็นสุขก็ปรากฏแล้ว สติดับไหม สติก็ต้องดับด้วย
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เป็นการเจริญอย่างสมาธิที่จะให้จิตจดจ้องโดยไม่ขาดตอนเลย ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้น จะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะว่ายังคงจดจ้องติดต่อกันอยู่เรื่อยๆ แต่ที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปได้ เพราะสติระลึกรู้นามรูปทีละลักษณะ สติระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน แล้วก็หมด ระลึกรู้ลักษณะของสุข แล้วก็หมด เวลาที่หลงลืมสติก็หลงลืมสติไป เวลาที่ไม่หลงลืมสติ ก็แล้วแต่ว่าสติจะเกิดระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดขณะนั้น
คำว่า ปัจจุบัน หมายความว่าสติระลึกรู้สิ่งใดขณะใด ขณะนั้นเป็นปัจจุบัน ชั่วขณะที่สติระลึกรู้ เร็วมาก แล้วก็หมดไป ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วงใย ถ้าจะหลงลืมสติก็เป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีอวิชชาครอบงำ ยังไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีการหลงลืมสติ และก็มีการเจริญสติให้สติมีกำลังเพิ่มขึ้นเกิดบ่อยขึ้น เพื่อรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป
เพราะฉะนั้น สติไม่ใช่จดจ้องรู้ลักษณะของรูปใดนานๆ หรือว่านามใดนานๆ ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นก็เป็นตัวตนที่จดจ้อง ซึ่งไม่มีโอกาสจะประจักษ์การเกิดดับของนามรูปได้เลย เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ละคลายความไม่รู้นามรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เลือกได้ไหมว่า จะรู้ลักษณะของนามใด รูปใด นามรูปเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ก่อนที่จะประจักษ์การเกิดดับ ปัญญาต้องรู้ถึงปัจจัยด้วยเพื่อละคลายมากขึ้น ถ้ายังไม่ละคลาย ก็เพราะยังไม่รู้ปัจจัยแล้ว ก็หมดหนทางที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามและรูป
เหตุผลต้องสมบูรณ์ นามรูปปริจเฉทญาณของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เลือกไม่ได้ จะจงใจ ตั้งใจที่จะรู้เฉพาะนามนั้น นั่นเป็นลักษณะของตัวตนหรือไม่
ถ. ที่ว่าเห็นสักแต่ว่าเห็นนั้น อาจารย์เคยกล่าวว่า ให้หยุดอยู่แค่เห็นนั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องเลยไปถึงว่าเป็นคนเป็นสัตว์ แต่ให้มีสติตามรู้ว่า นั่นเป็นเพียงนามชนิดหนึ่ง แต่บางสำนักบอกว่าเป็นไปได้ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ที่เป็นไปได้นั้น ไม่ใช่ว่าคำนี้เป็นคำของปุถุชน แต่เป็นคำของพระอรหันต์
พระอรหันต์ท่านสักแต่ว่าเห็นได้ สักแต่ว่าได้ยินได้ มีคนแย้งไปว่า ถ้าอย่างนั้นพระอรหันต์เดินไปก็คงเหยียบงู เหยียบคูถ เพราะสักแต่ว่าเห็น ไม่รู้ว่าเป็นงู เป็นคูถ
เขาก็แก้ว่า พระอรหันต์มี ๒ เวลา มีเวลาปฏิบัติอยู่ ก็อาจจะไม่รู้ว่าเป็นงูจริงๆ เพราะเวลานั้นอยู่ในวิธีปฏิบัติของวิปัสสนา แต่ในขณะที่ออกมาแล้วพระอรหันต์ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนา ก็หลบหลีกอันตรายได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา ข้อนี้ก็ดูเหมือนว่า ไม่ตรงกันกับคำของอาจารย์
สุ. ดูเหมือนว่า ปัญญาไม่คมกล้าเลยโดยลักษณะนั้น เพราะเหตุว่าโดยการตรัสรู้ ไม่มีสักขณะเดียวที่เป็นตัวตน เป็นนามเป็นรูปทั้งสิ้น การรู้ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ สภาพรู้นั้นมีจริงๆ หรือไม่ เห็นพระพุทธรูปรู้ว่าเป็นพระพุทธรูป สภาพที่รู้ ความรู้ ที่รู้ว่าเป็นพระพุทธรูปนั้นเป็นความจริงไหม เป็นสิ่งที่มีจริงไหม
เมื่อมีจริง ไม่ใช่ตัวตน เป็นนาม หรือเป็นรูป เป็นนาม ปัญญารู้ หรือว่าอวิชชารู้ ที่รู้ว่าเป็นนาม เป็นปัญญา นามทางตานั้นมีอะไรบ้าง แม้ในพระไตรปิฎก ก็ได้ทรงแสดงไว้ว่ามีการเห็น มีความชอบไม่ชอบที่เนื่องจากการเห็นที่ปัญญาจะต้องรู้ชัด ไม่ใช่ไปกดไปบังคับไว้ไม่ให้ชอบหรือให้ชอบ ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว ปัญญาไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า ขณะใดที่ความชอบเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็ดับ ไม่ใช่ไม่ดับ
การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การบังคับสติ แต่เป็นการตามรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดกับตนเพราะเหตุปัจจัยที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะเริ่มพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละทางมากขึ้น เป็นต้นว่า ทางหู ผู้ที่เจริญสติก็จะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของได้ยิน หรืออาจจะระลึกรู้ลักษณะของเสียงก่อนก็ได้เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเลือก จงใจยึดถือสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใดตามใจชอบ
ถ. ทางโน้นเขามีความเห็นว่า ถ้าปล่อยให้สักแต่ว่าเห็น ให้เป็นเห็นไปจนถึงชอบไม่ชอบนั้น ใช้คำว่า ปล่อยให้กิเลสเข้ามา เมื่อกิเลสเข้ามา เป็นภัยอันตรายต่อวิปัสสนาอย่างยิ่ง
เขายกตัวอย่างว่า คราวหนึ่งไปเดินวิปัสสนา กำหนดที่ริมทะเล ไปพบขี้ผึ้งเข้าก้อนหนึ่ง จิตของคนที่ไปทำวิปัสสนานั้นนึกไปว่า ขี้ผึ้งนี้ดีถ้าเอาไปบ้านหล่อเป็นเทียน แทนที่จะกำหนดเดิน กลับไปเห็นของอื่นแล้วก็มีโลภะเกิดขึ้น เขาบอกว่า เวลานั้นวิปัสสนาเสียหมด เพราะไม่สักแต่ว่าเดิน กลับไปเห็น เห็นก็ไม่สักแต่ว่าเห็น กลับไปนึกว่า เอาขี้ผึ้งนี้ไปหล่อเป็นเทียนไข โลภะเข้า จึงบอกว่าไปกำหนดริมทะเลคราวนั้นเหลวหมด เพราะฉะนั้น เขาจึงใช้คำว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน เป็นการดีแน่ เพราะป้องกันกิเลส
สุ. กลัวกิเลสมากไหม กลัวปริยุฏฐานกิเลส แต่ไม่ได้กลัวอนุสัยกิเลสเลย อนุสัยกิเลสนี้ละเอียดมาก เป็นเชื้อ ยังมีอยู่ในจิตใจตราบใดแล้ว จะละโลภะ โทสะ โมหะไม่ได้ ที่จะละโลภะ โทสะ โมหะหมดได้นั้น ต้องดับอนุสัยกิเลสเป็นลำดับขั้นทีเดียว
เพราะฉะนั้น เวลาที่ฟังเผินๆ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น เป็นอินทรีย์สังวรทางตา จักขุนทรีย์สังวร ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน ก็เป็นโสตินทรีย์สังวร เป็นอินทรีย์สังวรทางหู
การสังวรมี ๖ ทาง ไม่ใช่มี ๕ ทาง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เวลาที่เห็นแล้ว เหตุปัจจัยที่จะทำให้ชอบมี ใครบังคับความชอบว่า อย่าเกิดได้ มีใครบังคับได้ไหม ก็ไม่ได้
ที่โลภะจะหมดได้นั้น ต้องตามขั้นของปัญญาที่บรรลุอริยสัจจธรรม แต่การเจริญสติเป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏทางหนึ่งทางใดใน ๖ ทาง ไม่ใช่ ๕ ทาง รู้จิตที่ประกอบด้วยโลภะ เดินไปตามชายทะเลเกิดโลภะ แทนที่สติจะระลึกรู้ว่าสภาพนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็ไปบังคับด้วยความเป็นตัวตน แล้วเวลาที่โลภะเกิด เมื่อไรจะรู้ว่าโลภะนั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน
ถ. ตามสันนิษฐานของผม คิดว่านามที่เป็นโลภะไม่ต้องรู้ เพราะหัวข้อข้างต้นบอกว่า รู้เพียงกายานุปัสสนาอย่างเดียว ส่วนโลภะอาจจะเป็นธัมมานุปัสสนา ซึ่งธัมมานุปัสสนานี้ พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นของละเอียด สำหรับคนที่มีปัญญาสุขุมคัมภีรภาพจึงนำมาเจริญวิปัสสนาได้ แต่คนสมัยนี้ควรจะเจริญกายานุปัสสนา จึงสันนิษฐานว่า โลภะซึ่งเป็นนามชนิดหนึ่งของธัมมานุปัสสนาไม่ต้องรู้ก็ได้ ถ้ารู้กายานุปัสสนาจนถึงลักษณะเกิดดับแล้วก็รู้หมดเอง อุปมาเหมือนรับประทานเกลือหนึ่งเม็ดก็เค็มเหมือนกันหมดทั้งไห รู้หมดทุกๆ เม็ด
สุ. โลภะเกิดขึ้นไม่ต้องรู้ แล้วจะละการที่ยึดถือความเป็นตัวตนที่ยึดถือโลภะว่าเป็นตัวตนในขณะนั้นได้ไหม ในขณะที่กำลังเห็น หมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูปหรือยัง ในขณะที่กำลังได้ยิน หมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูปหรือยัง เพราะผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นผู้ที่ละความไม่รู้ ละความสงสัย ละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120