แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88


    ครั้งที่ ๘๘


    อานาปานสังยุต สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เอกธรรมสูตร ข้อ ๑๓๐๕ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

    เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า ยาว หายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า สั้น

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    ผู้ที่มีสติแล้วจะต้องรู้อย่างอื่นด้วย ไม่ใช่รู้แต่เฉพาะลมหายใจเท่านั้น เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่ให้มีอย่างอื่นเกิดขึ้นปรากฏ จะให้มีแต่ลมหายใจปรากฏอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นโดยนัยของการเจริญสมาธิ หรือการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม

    แต่ถ้าอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งสุข หายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    เวลาที่จิตเริ่มสงบ เพราะสติระลึกที่ลมหายใจ ยับยั้งปีติได้ไหม พอจิตสงบปีติก็เกิด เพราะฉะนั้น สติตามระลึกด้วย สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าลักษณะของนามใดรูปใดเกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย สติจะต้องระลึกรู้เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เราไม่ได้ยึดถือแต่ลมว่าเป็นตัวตน เวทนา ความรู้สึกใดๆ เกิดขึ้นขณะใดก็ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนในขณะนั้น

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ว่าเป็นอานาปานสติ ก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏด้วย เพราะเหตุว่ามีอวิชชาท่วมท้นทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ

    เพราะฉะนั้น การที่จะละการยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้นั้น ต้องเจริญสติให้ปัญญารู้ชัด รู้รูป รู้นาม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น มากขึ้น ทั่วขึ้น ชัดขึ้น จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ แม้ในขณะที่หายใจเข้า ในขณะที่หายใจออก ก็ไม่ใช่จะมีแต่ลักษณะของลมที่ปรากฏ ความรู้สึกปีติ ความรู้สึกเป็นสุข สติก็จะต้องระลึกรู้ในลักษณะนั้น จึงจะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ หรือถ้าไม่ใช่ลมหายใจ ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เฉยๆ ก็เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง ต้องระลึกด้วย สติก็จะต้องเจริญขึ้น ปัญญาก็จะต้องรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จึงจะละการไม่รู้ได้

    มหาสติปัฏฐาน พยัญชนะก็ชี้ไว้แล้วว่ามาก ทุกอย่าง ทั้งปวง เป็นเครื่องให้สติระลึกได้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นกาย ไม่ว่าจะเป็นเวทนา ไม่ว่าจะเป็นจิต ไม่ว่าจะเป็นธรรมใดๆ อย่าเป็นห่วง กลัวว่าจะไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าเป็นผู้มีปกติหลงลืมสติมานานแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อมีสิ่งใดที่สติจะระลึกได้ ก็ให้ระลึก ไม่ต้องกลัว

    ถ. ขณะที่กำลังเจริญอานาปานสติอยู่นั้น อาจารย์ได้อธิบายว่า ขณะที่กำลังเจริญอานาปาสติ เวทนาย่อมเกิดได้ ขณะที่สติไปรู้เวทนาก็ดี หรือไปรู้ที่จิตก็ดี แต่ทั้งนี้ยังเนื่องจากลมหายใจอยู่ จะเรียกว่าขณะนั้นสติขาดจากอานาปาสติไหม

    สุ. เวทนาเนื่องจากลมหายใจ เพราะฉะนั้น ก็เป็นอานาปานบรรพ ไม่ใช่เวทนาที่เนื่องจากการเห็น ไม่ใช่เวทนาที่เนื่องจากอย่างอื่น แต่ว่าเป็นเวทนาที่เกิดพร้อมกับขณะที่หายใจออก หายใจเข้า เพราะฉะนั้น สติเร็วทันที่จะระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง และไม่ใช่รู้แต่เฉพาะรูป นามก็รู้ด้วย

    กายนั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    เวทนานั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    จิตนั้นเองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก

    นี้เรียกว่า โลก ธรรมเหล่านี้เองชื่อว่า โลก แม้อุปาทานขันธ์ ๕ ก็ชื่อว่า โลก นี้เรียกว่าโลก

    ในขณะที่ระลึกที่กาย กายนั้นชื่อว่า โลก หรือแม้อุปาทานขันธ์ ๕ อื่นๆ ที่เกิดปรากฏ และสติระลึกรู้อันเนื่องจากกายนั้น ก็ชื่อว่า โลก ที่ว่าละอภิชฌาและโทมนัสในโลก คือ ในอุปาทานขันธ์ ๕ ที่เกิดปรากฏ

    ข้อความที่ว่า ย่อมสำเหนียกว่า เราจะรู้แจ้งปีติ หายใจออก เป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา เราจะรู้แจ้งสุข หายใจออก ก็เป็นเวทนานุปัสสนาด้วย ย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร ก็ยังเป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา

    เพราะเหตุว่าในปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยนัยของจตุตถนัย มีสุขเวทนาเกิดร่วมกับปีติ เพราะฉะนั้น เวลาที่ลักษณะของความดีใจเกิดขึ้น มีปีติเป็นประธานในขณะนั้นก็ชื่อว่า จะรู้แจ้งปีติ หายใจออก กับจะรู้แจ้งปีติ หายใจเข้า

    พอถึงย่อมสำเหนียกว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก ก็ยังเป็นหมวดของเวทนานุปัสสนา เพราะไม่ใช่ข้อความว่า เรารู้แจ้งจิต หายใจออก แต่เป็นพยัญชนะว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจออก เราจักรู้แจ้งจิตสังขาร หายใจเข้า

    จิตสังขาร ได้แก่ เจตสิกที่เกิดร่วมกับจิต ปรุงแต่งให้เกิดจิตประเภทต่างๆ เวทนาก็เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น การที่จิตสงบเพราะเจริญอานาปานสติ ไม่ใช่เพียงขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน แต่จตุตถฌานก็มีเวทนาที่เป็นอุเบกขา

    เพราะฉะนั้น พยัญชนะที่ว่า เราจักรู้แจ้งจิตสังขารหายใจออก หายใจเข้า ก็หมายความถึงทั้ง ๔ ฌาน เวทนาที่เกิดร่วมด้วยทั้ง ๔ ฌาน หรือว่า โดยนัยของปฐมฌาน ทุติยฌานนั้น ก็รู้แจ้งปีติ ตติยฌานก็เป็นสุข เป็นเวทนาที่เกิดร่วมกับจิตขณะนั้น

    ข้อความต่อไป เป็นการรู้แจ้งจิต หายใจออก หายใจเข้า

    และ เราจักพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก โดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า โดยความคลายกำหนัด หายใจออก โดยความคลายกำหนัดหายใจเข้า

    นี่เป็นสติกับปัญญาที่รู้แจ้งความไม่เที่ยง หายใจออก หายใจเข้า

    เพราะฉะนั้น โดยอานาปานบรรพนี้ไม่ใช่ให้รู้เฉพาะลม เพราะจะพบข้อความของอานาปานสติสมาธิว่า เจริญอย่างไรจึงจะมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ไม่ใช่เพียงขั้นบรรลุอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไม่ใช่เพียงขั้นนั้น ขั้นที่จะมีผลมากมีอานิสงส์มาก คือ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามรูป และก็รู้ความไม่เที่ยง ละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนด้วย

    ขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง คือ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กิมิลสูตร ข้อ ๑๓๕๕ มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ใกล้เมืองกิมิลา ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านพระกิมิละว่า

    ดูกร กิมิละ สมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระกิมิละนิ่งอยู่ แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามท่านพระกิมิละว่า

    ดูกร กิมิละ สมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ท่านพระกิมิละก็นิ่งอยู่ เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นกาลสมควรที่พระองค์จะพึงตรัสสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ ข้าแต่พระสุคต เป็นกาลสมควรที่พระองค์จะพึงตรัสสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติ ภิกษุทั้งหลายได้ฟังต่อพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

    ท่านพระอานนท์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร อานนท์ สมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอานาปานสติ คือ นั่งคู้บัลลังก์ มีสติ หายใจออก หายใจเข้า ต่อไปก็เหมือนกับในอานาปานบรรพ

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร

    เพราะเรากล่าวกายอันหนึ่ง ในบรรดากายทั้งหลาย ซึ่งได้แก่ลมหายใจออก และลมหายใจเข้า

    เพราะฉะนั้น นั่นแหละอานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ที่จะมีผลมากมีอานิสงส์มากนั้น คือ จะต้องเห็นกายในกาย และมีความเพียร มีการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร อานนท์ สมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจออก จักเป็นผู้กำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า

    จะเพียงให้รู้อยู่เฉพาะที่เดียวอย่างเดียวไม่ได้ ปัญญาไม่เจริญ ไม่สามารถที่จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ ถึงแม้ว่าในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า มีปีติเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นผู้ที่กำหนดรู้ปีติ หรือแม้สุข

    ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้สุข หายใจออก หายใจเข้า

    ภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้จิตสังขาร หายใจออก หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเรากล่าวว่า เวทนาอันหนึ่งในบรรดาเวทนาทั้งหลาย ซึ่งได้แก่การกระทำไว้ในใจให้ดีซึ่งลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้นภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    แม้ในขณะที่หายใจออกมีสติ หายใจเข้ามีสติ เวทนาความรู้สึกเกิดขึ้น สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อละ ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร อานนท์ ในสมัยใดภิกษุย่อมสำเหนียกว่า เราจักกำหนดรู้จิต หายใจออก เราจักกำหนดรู้จิตหายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้บันเทิง หายใจออก เราจักทำจิตให้บันเทิงหายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก เราจักทำจิตให้ตั้งมั่นหายใจเข้า

    ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเปลื้องจิต หายใจออก เราจักเปลื้องจิต หายใจเข้า

    สมัยนั้น ภิกษุย่อมเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเราไม่กล่าวซึ่งการเจริญสมาธิอันสัมปยุตต์ด้วยอานาปานสติสำหรับผู้มีสติหลง ไม่มีสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้นแหละ อานนท์ สมัยนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้

    แม้จิต สติก็จะต้องระลึกรู้ เพื่อละการยึดถือจิตว่า เป็นตัวตน ในขณะที่หายใจออก หายใจเข้า

    สมันตปาสาทิกา อรรถกถา พระวินัย มีข้อความอธิบายว่า

    บทว่า รู้แจ้งซึ่งปีตินั้น ก็คือ

    เมื่อปีติปรากฏ ขณะหายใจออก ขณะหายใจเข้า ในคำว่า รู้แจ้งปีตินั้น ปีติย่อมเป็นอันรู้แจ้งโดยอาการ ๒ อย่าง คือ โดยอารมณ์ ๑ และโดยไม่หลง ๑

    ที่ว่า ปีติ ย่อมเป็นอันรู้แจ้งโดยอารมณ์นั้นอย่างไร

    ในปฐมฌานก็ดี ในทุติยฌานก็ดี โดยจตุตถนัย อันเป็นไปกับด้วยปีติ ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้น รู้แจ้งโดยอารมณ์

    คือ รู้ว่ามีปีติในขณะนั้น คนที่เจริญสมาธิไม่ใช่ว่าหลง ไม่ใช่ว่าขาดสติ ในขณะที่จิตจะเป็นปฐมฌาน มีองค์วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ก็รู้ ไม่ใช่ว่าไม่รู้ รู้ลักษณะของสิ่งที่มีเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อมีปีติก็รู้ว่ามีปีติ นั่นเป็นอารมณ์อันภิกษุรู้แจ้งแล้ว

    ส่วนพยัญชนะที่ว่า ปีติ ย่อมเป็นอันภิกษุรู้แจ้ง โดยความไม่หลงอย่างไร

    คือ เมื่อออกจากฌานแล้ว พิจารณาปีติอันสัมปยุตต์ด้วยฌาน โดยความสิ้นไป โดยความเสื่อมไป ปีติย่อมเป็นอันภิกษุนั้นรู้แจ้งโดยความไม่หลง ด้วยการแทงตลอด ในขณะแห่งวิปัสสนา

    พยัญชนะที่ว่า ในบท รู้แจ้งซึ่งสุข รู้แจ้งซึ่งจิตสังขาร มีข้อแปลกกัน คือ รู้แจ้งสุขด้วยฌาน ๓ โดยจตุตถนัย รู้แจ้งซึ่งจิตสังขารด้วยสามารถแห่งฌานทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น จตุกะนี้โดยนัยของเวทนานุปัสสนา เพราะเหตุว่าเวทนาก็เป็นจิตสังขาร

    ที่ว่า รู้แจ้งปีติ รู้แจ้งสุข รู้แจ้งจิตสังขารนั้น เป็นเรื่องการรู้ลักษณะของเวทนา

    ส่วนพยัญชนะที่ว่า ยังจิตให้บันเทิง หายใจออก หายใจเข้า เป็นเรื่องของ จิตตานุปัสสนา

    ในขณะที่หายใจออก จิตมีลักษณะอย่างไร ในขณะที่หายใจเข้า จิตมีลักษณะอย่างไร ผู้ที่เจริญสติจะต้องพิจารณารู้ด้วยในขณะนั้น

    ที่ว่า ยังจิตให้บันเทิงบันเทิง คือ เบิกบาน มีความผ่องใสมีความเบิกบาน และความเบิกบานของจิตที่หายใจออก ที่หายใจเข้านั้น ก็มีโดยอาการ ๒ อย่าง คือ ด้วยสามารถแห่งสมาธิ ๑ และด้วยสามารถแห่งวิปัสสนา ๑

    ที่ว่าเบิกบานด้วยสมาธินั้น คือ ภิกษุเข้าปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยจตุตถนัย อันเป็นไปกับปีติ ย่อมยังจิตให้บันเทิงทั่ว คือ ย่อมให้ปราโมทย์ด้วยปีติอันสัมปยุตต์ ในขณะแห่งสมาบัติ

    เวลาที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน จิตใจก็บันเทิง เพราะว่ามีปีติเกิดร่วมด้วย

    ส่วนเบิกบานด้วยวิปัสสนานั้นอย่างไร

    เวลาที่เข้าปฐมฌาน หรือทุติยฌาน แล้วออกจากฌาน พิจารณาปีติที่เกิดร่วมกับฌานจิตนั้นโดยความสิ้นไปเสื่อมไป ย่อมบันเทิงปราโมทย์ นี่โดยนัยของวิปัสสนา

    ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดเจริญสติ พิจารณาลักษณะของนามและรูป และประจักษ์ความเสื่อมไป สิ้นไป ความไม่เที่ยงของนามรูป มีปัญญารู้ชัดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จะปีติปราโมทย์ไหม ถ้าท่านได้ประจักษ์สภาพธรรมซึ่งเป็นนามเป็นรูป ไม่ใช่ตัวตนทั่วถ้วน ไม่ว่าจะเป็นนามใดๆ รูปใดๆ เป็นมหาวิปัสสนา คลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะมีนามรูปปริจเฉทญาณ รู้ลักษณะที่ต่างกันของนามและรูป เพราะรู้ปัจจัยของนามและรูปที่เกิดปรากฏว่า นามและรูปนั้นๆ เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

    เมื่อละคลาย รู้การเกิดดับสืบต่อกัน และยังสามารถที่จะมีปัญญาแทงตลอดในความไม่เที่ยง ความเกิดดับของนามและรูป จิตใจจะเป็นอย่างไร หดหู่ โศกเศร้า ท้อถอย หรือว่า บันเทิง ร่าเริง

    ขอให้เทียบดูลักษณะของจิตใจ ในขณะที่สติไม่เกิดอาจจะเป็นห่วงกังวลเรื่องนั้นเรื่องนี้ คนโน้นจะคิดอย่างไร คนนี้จะต้องการอะไร ทำอะไรไปแล้วจะถูกใจคนโน้นไหม จะดีไหม ล้วนแต่เป็นเรื่องกังวลทั้งสิ้นในขณะที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แต่พอระลึกได้ สติรู้เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปล่อยแล้ว วางแล้ว มีแต่เฉพาะลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏเพียงเท่านั้น ก็ทำให้เบาใจ ไม่ยึดถือ ไม่ห่วงใยเรื่องยุ่งๆ เมื่อสักครู่นี้

    นี่เป็นเพียงการเจริญสติที่ปัญญาเริ่มรู้ว่า สภาพนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามรูปแต่ละชนิดแต่ละลักษณะเท่านั้นเอง และถ้าสามารถจะประจักษ์ชัดถึงสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนยิ่งกว่านั้น คือ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความเบาใจ ความโล่งใจเพราะไม่ยึดถือนามรูปนั้นย่อมทำให้จิตใจปีติบันเทิงที่ได้รู้ความจริง ไม่ใช่เศร้าสร้อยเสียดายว่า ไม่ใช่เราอีกต่อไป ความรู้สึกเป็นทุกข์เป็นอกุศลจิต เป็นโทสมูลจิต ร้องไห้ โศกเศร้า คร่ำครวญ เสียดาย

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของธรรมะมีความบันเทิง เบาใจ โล่งใจ ไม่ยึดไม่ติดว่าเป็นตัวตน ไม่หลงผิด ไม่เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น ความปีติ ความบันเทิงก็เกิด



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ