แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
ครั้งที่ ๙๒
ถ. จะเรียนต่อทางโลกดีหรือไม่ หรือจะฝักใฝ่ศึกษาทางธรรมอย่างเดียว หรือจะศึกษาคู่กันไปทั้งโลกและธรรม
สุ. แต่ละบุคคลไม่เหมือนกันเลย จิตวิจิตรมาก ความวิจิตรของจิตนั้นทำให้ต่างกันไปตามการสะสมของจิต เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้ดี ผู้ที่จะตัดสิน ไม่มีผู้อื่นนอกจากตนเอง เรื่องของธรรมก็ไม่ควรทอดทิ้ง หรือไม่ควรจะขาดธรรมเลย ไม่ว่าจะมีชีวิตในลักษณะใดทั้งสิ้น ก็ควรที่จะมีการฟังธรรม พิจารณา แล้วประพฤติปฏิบัติตามธรรมอยู่เรื่อยๆ อย่าให้ชีวิตขาดธรรม หรือขาดการศึกษา ขาดการฟังธรรม ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วก็จะเป็นผู้ที่ประมาท เพราะถึงแม้ว่าจะมีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งในการประพฤติปฏิบัติธรรม แต่ถ้าเป็นผู้ที่ประมาทโดยไม่ศึกษา ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะอื่นได้ ถ้าผู้ใดขาดธรรมชีวิตก็ย่อมมืดมน แล้วอาจจะทำให้ไขว้เขวไปจากการที่คิดว่าต้องการที่จะให้เป็นไปอย่างนั้น
ข้อสำคัญ คือ ถึงแม้จะฟังคนอื่นบอก หรือให้เหตุผลชี้แจงศึกษาพระธรรมโดยละเอียด แต่การที่แต่ละบุคคลจะตัดสินใจดำเนินชีวิตในทางใด เมื่อตัดสินใจแล้วก็แสดงถึงการสะสมของเหตุปัจจัยของบุคคลนั้นที่ทำให้ตัดสินใจอย่างนั้น
สำหรับธรรมนั้นไม่ขัดขวางชีวิตในทางโลกเลย อย่างชาวกุรุในสมัยโน้น พระ ผู้มีพระภาคทรงแสดง มหาสติปัฏฐาน กับชาวกุรุเพราะเห็นอินทรีย์ของชาวกุรุว่า สามารถรู้ธรรมลึกซึ้งได้ ชาวกรุงเทพ ชาวไทย ก็ไม่สำคัญว่าจะต้องจำกัดแต่เฉพาะชาวกุรุในครั้งอดีต ผู้ใดมีอินทรีย์ที่สามารถจะเข้าใจธรรมลึกซึ้งได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร มีอาชีพอะไรก็ตาม สามารถเจริญสติปัฏฐาน ประพฤติปฏิบัติตามธรรม ไม่ว่าในสมัยโน้น หรือว่าจนกระทั่งถึงในสมัยนี้ โดยที่ไม่จำกัดบุคคลเลย เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นมีตั้งแต่พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาไปจนกระทั่งถึงพวกทาสกรรมกรก็เจริญสติปัฏฐานได้ และเรื่องที่เขาคุยกันในสมัยนั้นก็คุยกันในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เวลาที่พบกันก็ถามกันว่า เจริญสติปัฏฐานอะไร ถ้าใครตอบว่าไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็จะต้องถูกติเตียนว่า ชีวิตไม่มีประโยชน์ ตายทั้งเป็น มีชีวิตอยู่ก็เหมือนตาย ซึ่งความจริงแล้วถ้ามีชีวิตอยู่แต่ไม่เจริญสติปัฏฐาน ก็สะสมอกุศลไปเรื่อยๆ ทุกขณะที่เห็นได้ยินในวันหนึ่งๆ
เพราะฉะนั้น ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรเลย และผู้ที่คุยกันนั้นก็ยังให้โอวาทตักเตือนกันว่า อย่าได้มีชีวิตอยู่โดยไม่เจริญสติปัฏฐาน และถ้าผู้ใดทราบว่า ใครเจริญสติปัฏฐาน ก็อนุโมทนาสาธุการ แล้วก็ยังเน้นว่า ได้ถึงความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ เพราะเหตุว่าพระผู้มีพระภาคทรงอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์ของท่านในเรื่องนี้ ซึ่งทุกท่านนั้นจะต้องเจริญสติละกิเลสด้วยตนเอง ผู้อื่นไม่สามารถละกิเลสให้ได้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ไม่จำกัดการงาน อาชีพ หรือชีวิตในทางโลกเลย แล้วแต่ว่าจะฝักใฝ่ในทางธรรมได้มากเท่าไรก็ยิ่งเป็นประโยชน์เท่านั้น ส่วนจะตัดสินใจดำเนินชีวิตในทางไหนนั้น ก็เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล อย่างบางท่านไม่อยากพิจารณากิเลส มีเหตุปัจจัยสะสมแล้วเกิดขึ้นปรากฏ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าใครจะมีกิเลสที่น่ารังเกียจ ก็เป็นของจริงที่สะสมมา แล้วก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ระลึกรู้ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานที่จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้นั้น จะต้องพิจารณารู้นามรูปจริงๆ
ถ. เวลานอน ผมมีกิจประจำวัน คือ สวดมนต์ อิติปิโสก่อนนอน ก็อยากจะภาวนาสติปัฏฐาน ๔ ไปด้วย แต่การสวดมนต์นั้นเราต้องมีสมาธิ เพื่อให้รู้ความหมายของคำ เช่น อรหํ คืออะไร จนจบ ทีนี้การเพ่ง อรหํ คืออะไร ไปจนจบ เพื่อได้กุศลมากขึ้น นี้แหละเกิดเป็นสมาธิขึ้น เมื่อเกิดสมาธิขึ้น อาจารย์บอกว่า จะต้องให้มีการภาวนาวิปัสสนาไปด้วย หมายความว่าส่วนที่ท่องบ่นจากปากไปนี้ ปากมีไหวไหม มี นั่นแหละเป็นรูปอันหนึ่ง ซึ่งเกิดรู้สึกขึ้นมาเมื่อไรก็เป็นรูป ที่ว่า อิติปิโสไป ถ้าจิ้งจกร้องขึ้น ก็ได้ยินที่หู โสตปสาทเกิดขึ้นก็ให้ทันว่า นั่นเป็นนามหรือเป็นรูป สลับกันไปจากที่ว่า อิติปิโส ภควา ผมลองปฏิบัติตามที่อาจารย์สอน รู้สึกว่าฟังง่าย แต่ทำลำบาก เพราะสติไปอยู่กับพยัญชนะอิติปิโส แล้วจะให้ระลึกว่า นั่นเป็นนามชนิดหนึ่ง ให้สติรู้ว่า ที่รู้ความหมายของอิติปิโสนั่นก็เป็นนามชนิดหนึ่ง ผมก็จำคำที่อาจารย์สอน พอถึงคราวปฏิบัติ ก็สับสน ไม่ค่อยได้ผล อาจารย์กรุณาช่วยชี้แจงให้ชัดเจน จักเป็นพระคุณยิ่ง
สุ. การเจริญสติปัฏฐานไม่สับสน เป็นปกติธรรมดา การระลึกได้ในเรื่องอื่นๆ ทำไมมีได้ การระลึกได้เป็นอนัตตา แต่แทนที่จะระลึกได้ในเรื่องอื่น ระลึกรู้ลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏโดยที่ไม่จงใจว่า จะต้องนามนั้นรูปนั้น เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นของจริง แล้วเป็นนาม เป็นรูป เป็นสติปัฏฐาน
การสวดมนต์เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน ถ้าไม่ระลึกไม่รู้ชัด ก็ไม่มีโอกาสที่จะละการยึดถือในขณะนั้น ยังคงยึดถืออยู่ต่อไปว่าเป็นเรา เป็นตัวตน ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สติระลึกรู้มากขึ้น เพิ่มขึ้น จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้
ถ. บางสำนักบอกว่าเจริญสติปัฏฐาน ๔ มากมายนัก เหลือเฟือ แท้ที่จริงรู้อย่างเดียวแล้วก็รู้หมด ประดุจว่าเราเรียน ก กา กิ กี ข ขา ขิขี ถ้าเรียน ก กา แม่กาได้แล้ว ส่วน ข ง จ ช นั้นผสม เรียกว่าอนุมานเอาได้ ไม่จำเป็นว่าต้องรู้ทางหู ทางตา ทางจมูก ทางใจ รู้ทางกายอย่างเดียว นามรูปอย่างนี้เอง เกิดมีลักษณะไม่เที่ยง เกิดดับอย่างนี้เอง เมื่อรู้ทางกายแล้ว อีก ๓ ทางนั้นคือ เวทนา จิต ธรรม ไม่จำเป็นให้เสียเวลา เหมือนว่าเราเรียนแม่ ก กา พอแตกได้แล้ว ข ขา ค คา นี่รู้เอง ผมจึงมาเสนอว่า มีความคิดคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกันมากอยู่
สุ. สอบทานดูกับความเป็นจริง กับพระธรรมวินัยด้วย ใครสามารถที่จะบังคับให้รู้แต่รูปอย่างเดียวได้ ฟังแล้วก็พิจารณาถึงเหตุผล แม้ระลึกที่ลมหายใจ ปีติเกิดก็ให้รู้ กายเป็นโลก ขันธ์ ๕ เป็นโลก ระลึกที่กายนิดเดียวหมดแล้ว อย่างอื่นปรากฏแล้ว สติก็จะต้องรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏต่อตามความเป็นจริง นามรูปปริจเฉทญาณ ไม่ใช่รู้รูปอย่างเดียว ชื่อบอกอยู่แล้ว
ถ. ความแตกต่างกันอยู่ตรงนี้ ที่อาจารย์บอกว่าบังคับไม่ได้ ทางฝ่ายโน้นหรือบางแห่งบอกว่า นำสมาธิไปบังคับไม่ให้มีอนาคต ไม่ให้มีอดีต ให้อยู่ปัจจุบัน นี่เรียกว่าปัจจุบันอารมณ์ แล้วแปลคำว่า ขณิกสมาธิ ที่อาจารย์แปลว่าเกิดนิดเดียว แล้วก็ดับไป แต่ทางโน้นคำว่า ขณิกสมาธินี้ยืดยาว ไม่ใช่นิดเดียว แต่ก็ไม่ถึงอัปปนา และไม่ถึงอุปจาระ เมื่อไม่ถึงอุปจาระ อัปปนาแล้ว นอกนั้นเรียกว่า ขณิกสมาธิ เพราะฉะนั้น ขณิกสมาธิจึงบังคับรูปหรือนามโดยเฉพาะ ไม่ให้จิตไปในอนาคตและอดีต จึงรู้ลักษณะของรูปนามที่ปรากฏว่าเกิด มีอนิจฺจํ ทุกขํ อนตฺตาได้ เมื่อรู้อนิจฺจํทุกฺขํ อนตฺตาของนามใดรูปใดโดยเฉพาะแล้ว นามอื่นรูปอื่นที่มากมายนั้นไปเทียบกัน ก็เหมือนกัน เช่นเดียวกับ ก สระอา ก็ว่ากา ข สระอา ก็ว่าขา ความหมายอย่างนี้ ขอให้อาจารย์เน้นชัดไปว่า เหตุผลควรจะฟังทางใดทางหนึ่งมากกว่ากันอย่างใด
สุ. เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเทียบเคียง และขอให้ได้พิจารณาคำที่ได้กล่าวแล้วทั้งหมดว่า เป็นปกติในชีวิตหรือไม่ เป็นของจริงๆ ไหม เป็นนามเป็นรูปที่จะต้องรู้ชัดรู้ทั่วแล้วจึงละได้หรือไม่ ขณิกสมาธิไม่ใช่อุปจารสมาธิ ไม่ใช่อัปปนาสมาธิจริง แต่การรู้ลักษณะของนามและรูป มีนามมีรูปไหนที่ยั่งยืนตั้งอยู่นานที่จะให้รู้ได้ตลอดเวลา
ปฏิกูลมนสิการบรรพ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงถึงปฏิกูลมนสิการบรรพ เรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น ก็เพื่อให้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงของสิ่งที่เป็นปฏิกูล พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร ว่า
อีกข้อหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร เปรียบเหมือนไถ้มีปาก ๒ ข้าง เต็มด้วยธัญชาติต่างอย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษผู้มีนัยน์ตาดีแก้ไถ้นั้นแล้วพึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ แต่พื้นเท้าขึ้นไป แต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้ทบ อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา มันเหลว น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ในพระไตรปิฎกมีข้อสังเกตว่า ถ้าเป็นเรื่องส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้ว ใช้คำว่า อาการ ๓๒ แต่ถ้านับดูจะมีอาการ ๓๑ เท่านั้น ส่วนอาการ ๓๒ นี้มีกล่าวไว้ใน ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ซึ่งมีข้อความที่แสดงอาการ ๓๒ ถ้าใช้ภาษาบาลีก็จะทำให้ทราบว่า คำไหนหมายความถึงอะไร
ในกายนี้มี เกสา ผม โลมา ขน นะขา เล็บ ทันตา ฟัน ตะโจ หนัง นั่นก็เป็นหมวด ๕
มังสัง เนื้อ นะหารู เอ็น อัฏฐิ กระดูก อัฏฐิมิญชัง เยื่อในกระดูก วักกัง ไต
หมวดต่อไป หะทะยัง หัวใจ ยะกะนัง ตับ กิโลมะกัง พังผืด ปิหะกัง ม้าม ปัปผาสัง ปอด
หมวดต่อไปมี ๔ อันตัง ไส้ใหญ่ อันตะคุณัง ไส้น้อย อุทะริยัง อาหารใหม่ กรีสัง อาหารเก่า
นี่ก็เป็นอาการของธาตุดิน ๑๙
หมวดต่อไปเป็นอาการของธาตุน้ำ คือ
ปิตตัง ดี เสมหัง เสลด ปุพโพ หนอง โลหิตัง เลือด เสโท เหงื่อ เมโท มันข้น
หมวดต่อไปเป็น
อัสสุ น้ำตา วะสา มันเหลว เขโฬ น้ำลาย สิงฆาณิกา น้ำมูก ละสิกา ไขข้อ มูตตัง น้ำมูตร
และประการสุดท้าย คือ
มัตถะเก มัตถะลุงคัง มันสมอง หรือเยื่อในสมอง
จบ ปฎิกูลมนสิการบรรพ
แต่ในพระไตรปิฎกนั้นใช้พยัญชนะ ๒ อย่าง มันสมอง ๑ กับเยื่อในสมอง ๑ ความจริงก็มีความหมายเหมือนกัน คือ จะใช้คำว่ามันสมอง หรือเยื่อในสมองก็เหมือนกัน
สำหรับมันสมอง หรือเยื่อในสมองนั้นก็รวมอยู่ในเยื่อในกระดูก แต่ถ้าท่านผู้ฟังจะนับดูในพระไตรปิฎก จะพบว่าส่วนมากในพระสูตรเป็น ๓๑
อีกประการหนึ่ง พยัญชนะเดิมที่แปลว่าม้าม ความจริงแปลว่าไต คือ วกฺกโบราณแปลว่าม้าม แต่โดยความหมายแล้ว วกฺกไม่ใช่ม้าม แต่เป็นไต
เพราะฉะนั้น ข้อความที่อ่านตามพระไตรปิฎกที่ว่า เต็มไปด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม นั่นแปลตามโบราณ แต่ที่ถูกควรจะเป็นไต และส่วนที่เป็นไตก็ควรจะเป็นม้าม
เป็นข้อสังเกตที่ว่า ควรที่จะได้ทราบตามพยัญชนะบาลีด้วย คงไม่มีข้อสงสัย ว่าทำไมจึงได้แสดงส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยปฏิกูลมนสิการบรรพในมหาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าตามธรรมดาผู้ที่ไม่ได้เจริญสติจนกระทั่งชินจนกระทั่งเป็นปกติ ย่อมหลงลืมสติเป็นธรรมดา วันหนึ่งๆ มีสิ่งที่จะให้ระลึกรู้ตลอดเวลาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั้งสี ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพารมณ์ก็ปรากฏ และสติบางครั้งก็ระลึกได้ บางครั้งก็ระลึกไม่ได้
เพราะฉะนั้น เวลาที่ไม่สามารถที่จะระลึกเป็นไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย โดยนามรูป บางครั้งเวลาที่เห็นส่วนต่างๆ ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ก็อาจจะทำให้เกิดสติระลึกได้โดยความเป็นของปฏิกูล และก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้น ด้วยเหตุนี้จึงรวมอยู่ในมหาสติปัฏฐานด้วย
ที่เราหลงยึดถือร่างกายว่าเป็นตัวเรา ขอให้คิดดูว่า มองดูแล้วก็เหมือนกับรูปต่างๆ ชิ้น ที่เอามาต่อติดกันไว้นั่นเอง ขาตัดออกได้ไหม ได้ ผม หัวใจก็ตัดออกได้ แต่ที่เอามาต่อ เอามาติด เอามารวมกันไว้ ทำให้ยึดถือว่าเป็นรูป เป็นร่างกาย แต่ความจริงแล้ว แยกออกได้เป็นแต่ละอาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ปฏิกูล
บางท่านคงจะสงสัยว่า ในส่วนต่างๆ ของร่างกายนี้ก็เป็นกัมมัฏฐานของสมถภาวนาด้วย แต่การเจริญสมถภาวนากับการเจริญสติปัฏฐานนั้นต่างกันที่ว่า เวลาที่ระลึกเป็นไปในส่วนต่างๆ ของกายเพื่อให้จิตสงบโดยนัยของสมถกัมมัฎฐานนั้น มีความจงใจ มีความต้องการที่จะให้จิตสงบ
เพราะฉะนั้น จึงต้องมีวิธีที่ทำอย่างไรจิตจึงจะสงบได้ โดยผู้ที่ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นเครื่องระลึกให้จิตสงบนั้นจะต้องรู้ว่ามีส่วนใดบ้าง แบ่งออกเป็นกี่ตอนหรือว่ากี่หมวด แล้วก็ท่องๆ จนคล่องทีเดียว โดยนัยของอนุโลมตามลำดับ คือ จากข้อต้นไปหาข้อท้าย และโดยนัยของปฏิโลม คือ จากท้ายมาหาต้น จนกระทั่งคล่องแคล่ว แต่จะต้องท่องด้วยปากเสียก่อน เมื่อท่องด้วยปากจนกระทั่งคล่องแคล่ว แล้วก็ท่องด้วยใจ
การท่องด้วยใจทำให้แม่นยำ และเป็นปัจจัยที่จะให้ระลึกถึงลักษณะของส่วนต่างๆ ที่เป็นปฏิกูลเพื่อที่จะให้จิตสงบด้วย นั่นเป็นสมถภาวนา ซึ่งก็จะต้องมีวิธีศึกษา แล้วก็เจริญจนกระทั่งจิตสงบถึงขั้นที่เป็นฌานจิต
แต่สำหรับนัยของการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่อย่างนั้น เป็นนัยที่เมื่อระลึกลักษณะส่วนหนึ่งส่วนใดของกาย สติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะนั้น แล้วปัญญาก็รู้ชัดในลักษณะนั้นโดยความเป็นธาตุ
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120