แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97


    ครั้งที่ ๙๗


    ในสูตรต่อไป ข้อความคล้ายกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราได้เที่ยวแสวงหาความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุ ได้พบความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุนั้นแล้ว เราได้เห็นความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุเท่าที่มีอยู่ได้ดีแล้วด้วยปัญญา เราได้พบโทษแห่งปฐวีธาตุนั้นแล้ว เราได้เห็นโทษแห่งปฐวีธาตุเท่าที่มีอยู่ด้วยดีแล้วด้วยปัญญา เราได้แสวงหาเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุ ได้พบเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุนั้นแล้ว เราได้เห็นเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุเท่าที่มีอยู่ด้วยดีแล้วด้วยปัญญา

    สำหรับข้อความต่อไปเป็นเรื่องของธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม คือ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ โดยนัยเดียวกัน

    ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมที่กายมีโทษไหม หรือมีแต่ความแช่มชื่น ปวดศีรษะ ถ้าไม่มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ปวดศีรษะได้ไหม ปวดท้องได้ไหม ปวดตาได้ไหม เป็นโรคต่างๆ ได้ไหม แต่เพราะเหตุว่ามีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมนี่เองก็ปรากฏความเป็นโทษต่างๆ ของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    โทษของปฐวีธาตุเอง คือ ความไม่เที่ยง เห็นโทษต้องประจักษ์ความไม่ใช่ตัวตน ความเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง ที่ไม่ควรจะพึงยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล

    ในสูตรต่อไป ข้อความคล้ายกัน

    โนเจทสูตร สังยุตตนิกาย นิทานวรรค (ข้อ ๔๐๘)

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าว่าความแช่มชื่นแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายไม่พึงยินดีในปฐวีธาตุ ก็เพราะความแช่มชื่นแห่งธาตุมีอยู่แล ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในปฐวีธาตุ ถ้าว่าโทษแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วใซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ

    ถ้าว่าเครื่องสลัดออกแห่งปฐวีธาตุไม่ได้มีแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงสลัดตนออกจากปฐวีธาตุ ก็เพราะเครื่องสลัดออกจากปฐวีธาตุมีอยู่แล ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงสลัดตนออกจากปฐวีธาตุ

    ข้อความต่อไปเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ โดยนัยเดียวกัน

    เป็นเรื่องธรรมดาทุกๆ วัน ที่ไม่เคยหน่าย ไม่เคยคลาย ไม่เคยเห็นโทษ ไม่เคยรู้ชัด เพราะว่าข้ามไป เห็นว่าเป็นสิ่งที่ปกติธรรมดาๆ เท่านั้นเอง แต่ความจริงแล้ว การรู้ชัดต้องรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริงจึงจะละคลายได้

    ใน ทุกขสูตร

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฐวีธาตุนี้จักมีทุกข์โดยส่วนเดียว อันทุกข์ติดตามถึง อันทุกข์หยั่งลงถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงยินดีในปฐวีธาตุ แต่เพราะปฐวีธาตุอันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงยินดีในปฐวีธาตุนี้

    ข้อความต่อไปเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ โดยนัยเดียวกัน

    ควรที่จะระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมไหม หลังจากที่ได้ศึกษาพระไตรปิฎกแล้ว หรือยังจะข้ามต่อไปอีก เคยมีความสุขที่เกิดจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมบ้างไหม ของที่รักที่พอใจชอบใจมีอะไรที่ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมบ้าง ต้องมีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเป็นใหญ่เป็นประธาน ไม่ว่าในสิ่งที่เป็นอาหาร ในสิ่งที่เป็นวัตถุ ข้าวของเครื่องใช้ ในทุกสิ่งทุกประการนั้น

    เพราะฉะนั้น ตลอดมาเคยพบแต่ความแช่มชื่น ความพอใจในปฐวีธาตุ ในอาโปธาตุ ในเตโชธาตุ ในวาโยธาตุ แต่ว่าเป็นที่ควรจะต้องรู้ เพื่อละคลาย

    ข้อความต่อไปในสูตรเดียวกัน มีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปฐวีธาตุนี้จะมีสุขโดยส่วนเดียว อันสุขติดตามถึง อันสุขหยั่งลงถึง อันทุกข์ไม่หยั่งลงถึงแล้วไซร้ สัตว์ทั้งหลายก็ไม่พึงเบื่อหน่ายจากปฐวีธาตุ แต่เพราะปฐวีธาตุมีทุกข์อันทุกข์ติดตามถึง อันสุขไม่หยั่งลงถึง ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายจึงเบื่อหน่ายจากปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

    อภินันทนสูตร ข้อ ๔๑๒

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดย่อมชื่นชมปฐวีธาตุ ผู้นั้นชื่อว่า ย่อมชื่นชมทุกข์ ผู้ใดย่อมชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นไม่หลุดพ้นจากทุกข์

    ต่อไปเป็นธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดย่อมไม่ชื่นชมปฐวีธาตุ ผู้นั้นชื่อว่า ไม่ชื่นชมทุกข์ ผู้ใดไม่ชื่นชมทุกข์ เรากล่าวว่า ผู้นั้นหลุดพ้นจากทุกข์

    ต่อไปเป็นข้อความเรื่องอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ เคยแช่มชื่นพอใจเพราะธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมมามากเหลือเกิน วิธีที่จะไม่ชื่นชมในธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ต้องมีเป็นลำดับขั้นด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ชื่นชมทีเดียวเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอนาคามีได้

    อุปปาทสูตร ข้อ ๔๑๓ มีข้อความว่า

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเกิด ความตั้งอยู่ ความบังเกิด ความปรากฏแห่งปฐวีธาตุ นั่นเป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรา มรณะ

    ต่อไปก็เป็นข้อความเรื่องของอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับ ความสงบ ความสูญสิ้นแห่งปฐวีธาตุ นั่นเป็นความดับแห่งทุกข์ เป็นสงบแห่งโรค เป็นความสูญสิ้นแห่งชรา มรณะ

    ข้อความต่อไปเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ โดยนัยเดียวกัน

    ข้อนี้คงจะเห็นได้ที่ว่า ความปรากฏ ความเกิดแห่งปฐวีธาตุ เป็นความเกิดแห่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งโรค เป็นความปรากฏแห่งชรา มรณะ มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมแล้วไม่แก่ได้ไหม ไม่เจ็บได้ไหม ก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน

    ทันทีที่เกิด ก็ดับไป นั่นเป็นสิ่งที่ถ้ารู้ก็ทำให้เห็นว่าเป็นโทษ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็ยังคงปรารถนาให้มีรูป ให้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเกิดขึ้นอีก ชาติหน้าขอให้เป็นอย่างนั้น ชาติโน้นขอให้เป็นอย่างนี้ แต่ไม่ทราบถึงความจริงว่า เมื่อใดที่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมเกิดขึ้นปรากฏ เมื่อนั้นก็เป็นที่ตั้งของทุกข์ เป็นที่ตั้งของโรค เป็นความปรากฏของชรา และมรณะอยู่เรื่อยไป

    สมณพราหมณสูตร ที่ ๓

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะ หรือพราหมณ์บางพวกย่อมไม่ทราบชัดซึ่งปฐวีธาตุ เหตุเกิดแห่งปฐวีธาตุ ความดับแห่งปฐวีธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งปฐวีธาตุ

    อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ก็โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    สมณะ หรือพราหมณ์พวกนั้น ย่อมไม่ได้รับสมมติว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ ไม่ได้รับสมมติว่า เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะ หรือพราหมณ์บางพวก ย่อมทราบชัดซึ่ง ปฐวีธาตุ เหตุเกิดแห่งปฐวีธาตุ ความดับแห่งปฐวีธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งปฐวีธาตุ

    อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ ก็โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    สมณะ หรือพราหมณ์พวกนั้นย่อมได้รับสมมติว่า เป็นสมณะในหมู่สมณะ ได้รับสมมติว่า เป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมกระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดังนี้

    ดูเหมือนเป็นเรื่องของคนอื่น สมณะกับพราหมณ์ แต่ความจริงไม่ใช่ เรื่องของท่านผู้ฟังเอง เพราะเหตุว่าคำว่าสมณะ หมายความถึงความเป็นผู้สงบ หรือผู้สงบ หรือธรรมของผู้สงบ

    คำว่าพราหมณ์ หมายความถึงผู้ประเสริฐ

    ท่านที่กำลังเจริญสติปัฏฐาน เป็นสมณะหรือเป็นพราหมณ์ แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ก็สมณะหรือพราหมณ์บางพวก ย่อมไม่ทราบชัดซึ่งปฐวีธาตุ เหตุเกิดแห่งปฐวีธาตุ ความดับแห่งปฐวีธาตุ ปฏิปทาเครื่องให้ถึงความดับแห่งปฐวีธาตุ แล้วก็ธาตุอื่นๆ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ

    สมณะหรือพราหมณ์พวกนั้นย่อมไม่ได้รับสมมติว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ ไม่ได้รับสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ และท่านเหล่านั้นย่อมไม่กระทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่

    ไม่มีผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้วไม่รู้ลักษณะของธาตุที่ปรากฏที่กาย สิ่งนั้นปรากฏแล้ว ก็เป็นผู้เจริญสติเพื่อให้ปัญญารู้ชัด ถ้าไม่รู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏแล้วปัญญาจะรู้อะไร เพราะฉะนั้น ท่านเป็นผู้ที่รู้ชัดในปฐวีธาตุแล้วหรือยัง ถ้าไม่รู้ซึ่งความเกิด ซึ่งความดับ ซึ่งข้อปฏิบัติให้รู้ชัดในความเกิด ความดับแล้ว จะไม่ใช่สมณะในหมู่สมณะ ไม่ใช่พราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ไม่มีปัญญาที่รู้ชัดที่จะละคลายกิเลสได้

    ข้ามไม่ได้ อย่าไปหลงแสวงหาสิ่งอื่นที่ไม่ปรากฏด้วยความเข้าใจผิด แต่ละเลยที่จะพิจารณาแล้วรู้ชัดสิ่งที่กำลังปรากฏ

    สำหรับเรื่องของธาตุทั้ง ๔ มีปรากฏตลอดเวลาทั้งภายในทั้งภายนอก แต่การละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนนั้นก็แสนยาก แล้วก็ไม่ใช่ยากแต่เฉพาะบุคคลในครั้งนี้ แม้บุคคลในครั้งพุทธกาลก็เช่นเดียวกัน สัตว์โลกในสมัยนี้ฉันใด ในครั้งพุทธกาลก็ฉันนั้น ไม่ต่างกัน คนในสมัยนี้มีโลภะ มีโทสะ มีโมหะ มีความเห็นผิดยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนฉันใด คนในครั้งโน้นก็เหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น พระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ อุปการะให้ท่านที่กำลังเจริญสติได้มีความเห็นถูก แล้วละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน

    และถึงแม้ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป ก็ไม่ใช่ว่าจะละคลายได้โดยง่าย ผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญูนั้นมีน้อย ผู้ที่เป็นวิปัญจิตัญญูนั้นมีน้อย ส่วนผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้นต้องเจริญสติปัฏฐานมาก ระลึกรู้นามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะคลาย ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะละคลายได้โดยรวดเร็ว ถ้าผู้นั้นไม่ได้สะสมอินทรีย์มาแก่กล้า

    มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า

    ณ พระวิหารเชตวัน ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคเสด็จบิณฑบาตในพระนคร สาวัตถี ท่านพระราหุลเป็นปัจฉาสมณะ ตามหลังพระผู้มีพระภาคไป และพระผู้มีพระภาคได้ทรงโอวาทท่านพระราหุล ทำให้ท่านกลับไป เพราะเห็นว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคได้ตรัสโอวาทแก่ท่านแล้ว ท่านก็ควรที่จะเจริญสมณธรรม

    เมื่อท่านกลับจากที่นั้นแล้ว ท่านนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรได้เห็นท่านพระราหุลนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง แล้วบอกกับท่านพระราหุลว่า

    ดูกร ราหุล ท่านจงเจริญอานาปานสติเถิด ด้วยว่า อานาปานสติภาวนาที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ครั้งนั้นเวลาเย็น ท่านพระราหุลออกจากที่เร้น แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

    เวลาที่อ่านพระสูตรตอนแรกๆ ก็อาจจะข้ามพยัญชนะ ไม่ค่อยได้คิดถึงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดบุคคลนั้นจึงได้กล่าวกับบุคคลนั้นว่าอย่างนั้น แต่ว่าถ้าท่านอ่านซ้ำหลายๆ ครั้ง อาจจะเกิดความแจ่มแจ้งถึงเหตุถึงผลได้ และเข้าใจได้โดยตลอดว่า เพราะเหตุใดท่านพระสารีบุตรจึงได้กล่าวกับท่านพระราหุลอย่างนั้น แต่เมื่อท่านพระราหุลออกจากที่เร้น ก็ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคแล้วก็กราบทูลถามว่า

    อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์

    แสดงว่าท่านพระราหุล เจริญอานาปานสติภาวนาตลอดเวลาเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงลักษณะของรูป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ท่านพระราหุลท่านก็ได้บรรพชาอุปสมบทเจริญสติปัฏฐานเป็นเวลานาน ไม่ใช่เป็นเวลาเล็กน้อย แต่ว่าท่านพระภิกษุในครั้งโน้นท่านมีศรัทธาออกจากเรือน บวชเป็นบรรพชิต เจริญสติปัฏฐานกันวันแล้ววันเล่าทีเดียว แต่การที่จะละคลายการยึดถือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นสิ่งที่ยาก เป็นสิ่งที่ต้องเจริญเป็นเวลานาน

    พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของรูป คือ ธาตุดินส่วนต่างๆ ได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างในปฏิกูลมนสิการบรรพ ใน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยความว่า ส่วนต่างๆ เหล่านั้นเป็นปฐวีธาตุภายใน

    แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ปฐวีธาตุเป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน ปฐวีธาตุนั้นเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ

    ต่อไปเป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ อากาศธาตุ

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร ราหุล เธอจงเจริญภาวนา คือ อบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจและไม่ชอบใจที่เกิดแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้างลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ไม่ว่าจะเป็นท่านพระราหุล หรือท่านพระภิกษุในครั้งโน้นซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีวิบากกรรมที่ได้สะสมที่จะได้รับกระทบอารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เมื่อกิเลสยังมีเป็นเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น แต่ว่าพระผู้มีพระภาคตรัสว่า เมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ จักไม่ครอบงำ ก็เพราะเหตุว่าผู้นั้นเจริญสติ

    ข้อความต่อไปเป็นอาโปธาตุ พระผู้มีพระภาคตรัสกับพระราหุลโดยนัยเดียวกันว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายล้างของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้างลงในน้ำ น้ำจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยน้ำอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน การศึกษาพระไตรปิฎกก็เกื้อกูลความเข้าใจให้ชัดเจนขึ้น เพราะไม่ว่าจะเจริญอบรมจิตใจให้เสมอด้วยน้ำก็เช่นเดียวกัน คือ ไม่ว่าจะกระทบรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ชอบใจ ไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่ครอบงำจิตด้วยทิฏฐิ ตัณหา มานะได้

    สำหรับการเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟก็เหมือนกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ไฟจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟ ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยไฟอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    เป็นปกติธรรมดา เมื่อปัญญาเจริญขึ้น มากขึ้น การละคลายมากขึ้น จิตก็ย่อมจะเสมอกับแผ่นดิน เสมอกับน้ำมากยิ่งขึ้น เสมอกับไฟมากยิ่งขึ้น

    สำหรับเรื่องของการเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ก็โดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนลมย่อมพัดต้องของสะอาดบ้าง ของไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลมจะอึดอัด หรือระอา หรือเกลียดด้วยของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยลม ฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยลมอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้

    ต่อไปเป็นการเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศ ซึ่งเป็นโดยนัยเดียวกัน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ราหุล เปรียบเหมือนอากาศไม่ตั้งอยู่ในที่ไหนๆ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยอากาศอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book แนวทางเจริญวิปัสสนา
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ