แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
ครั้งที่ ๙๙
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ ทิศน้อย คือ กระดูกมือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูกสะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกสีข้างไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคางไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กะโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นอสุภะ ซากศพ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป แล้วก็รู้ชัดด้วยปัญญาว่า สภาพธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ตัวตน ก็จะได้เห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง แล้วก็เห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือเป็นกระดูกมีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
เคยเห็นกระดูกที่มีสีขาวเหมือนสีสังข์ไหม กระดูกใคร วันหนึ่งทุกคนก็ต้องเป็นอย่างนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูกกองเรี่ยรายอยู่แล้วเกิน ๑ ปีขึ้นไป เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ถึงกระดูกที่เกิน ๑ ปี ก็ยังเป็นเครื่องให้สติระลึกได้ ทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ควรที่จะให้ผ่านไปด้วยโลภะ หรือโทสะ หรือโมหะ ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยให้โลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิด แต่ก็ให้อบรมสติให้เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏนั้นด้วย มิฉะนั้นแล้ววันหนึ่งๆ ก็จะมีแต่โลภะ โทสะ โมหะ ประการสุดท้ายมีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า คือ เป็นกระดูกผุเป็นจุลแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
จบนวสีวถิกาบรรพ
จบกายานุปัสสนา
ถึงที่สุดของกาย โดยเป็นกระดูกที่ผุจนเป็นผง ส่วนที่เคยยึดถือตั้งแต่เกิดมา ไม่ว่าจะเป็นขน ผม เล็บ ฟัน หนัง ร่างกายส่วนต่างๆ แต่ว่าถึงที่สุดก็โดยการที่เป็นกระดูกผุจนป่น อีกสัก ๕๐๐ ปี หรือ ๑,๐๐๐ ปี ๒,๐๐๐ปี ก็คงจะมีกระดูกผุมากมาย ส่วนของแต่ละท่านที่อยู่ที่นี่ก็ต้องเป็นอย่างนั้นแน่นอน
สำหรับความต่างกันของอสุภกัมมัฏฐานที่เป็นสมถภาวนา กับนวสีวถิกาบรรพ ที่เป็นกายานุปัสสนาก็มีหลายประการ ซึ่งในอสุภกัมมัฏฐานนิเทส ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้แสดงอสุภะ ๑๐ ประการ แต่นวสีวถิกาบรรพ การพิจารณาซากศพ ๙ อย่างเป็นมหาสติปัฏฐาน
สำหรับสมถภาวนาก็ต่างกันตามจริตของผู้เจริญ แต่สำหรับนวสีวถิกาบรรพที่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ต่างกันโดยกาลเวลา
อสุภกัมมัฏฐานนิเทส ใน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็มีลักษณะของซากศพ ๑๐ ประการที่ต่างกันตามจริตของผู้เจริญ คือ
ประการที่ ๑ อุทธุมาตกอสุภ ได้แก่ ซากศพที่เกิดขึ้นพองตั้งแต่สิ้นชีวิตไป ๑วันบ้าง ๒ วันบ้าง เป็นสัปปายะของผู้ที่พอใจในทรวดทรง
บางคนอาจจะพอใจที่รูปร่างที่ทรวดทรง เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาลักษณะของซากศพที่ขึ้นพองก็จะทำให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของทรวดทรง เวลานี้ทรวดทรงดี เย็นนี้ พรุ่งนี้ก็ขึ้นพองได้
ประการที่ ๒ วินีลกอสุภ เป็นซากศพที่โดยปกติทั่วไปมีสีเขียวคล้ำ แต่ว่าบางแห่งที่มีเนื้อหนาก็เป็นสีแดง แล้วก็บางแห่งที่บ่มหนองก็เป็นสีขาว แต่ว่าโดยปกติแล้วก็มีสีเขียวคล้ำ
เป็นสัปปายะของผู้ที่มีความพอใจในสีของกาย เพราะเหตุว่าปรากฏแล้ว ให้เห็นว่าผิวกาย สีกายที่น่าพอใจนั้นก็ไม่เที่ยง ในที่สุดก็จะต้องมีสีเขียวคล้ำ
ประการที่ ๓ วิปุพพกอสุภ ได้แก่ อสุภะที่มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด ในที่แตกปริทั้งหลาย
เวลาขึ้นพองแล้วก็ต้องแตกปริ แล้วก็มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เพราะฉะนั้น ซากศพนี้เหมาะสำหรับผู้ที่พอใจในกลิ่น ถึงแม้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะมีกลิ่นที่น่าพอใจสักเท่าไร ก็จะหนีสภาพที่มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด แล้วก็มีกลิ่นที่ไม่น่าพอใจไปไม่ได้
ประการที่ ๔ วิจฉิททกอสุภ คือ ซากศพที่แยกขาดเป็น ๒ ท่อน โดยการที่ถูกตัดกลางตัว
เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในความเป็นชิ้นทึบที่ติดต่อกัน มองเห็นเป็นส่วนเป็นสัด ที่อาจจะพอใจในทรวดทรงที่หนาแน่นอย่างนั้น
ประการที่ ๕ วิกขายิตกอสุภ ได้แก่ ซากศพที่ถูกสัตว์กัดกิน เช่น สุนัขบ้าน สุนัขป่ากัดกิน
เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในส่วนของร่างกายที่ตึง เต็ม หรือที่เป็นเนื้อนูน ก็จะเห็นว่ากระจัดกระจาย และเปลี่ยนสภาพนั้นไปแล้ว
ประการที่ ๖ วิกขิตตกอสุภ ได้แก่ ซากศพที่กระจุยกระจาย มือเท้าไปทางหนึ่ง ศีรษะไปทางหนึ่ง
เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในลีลา ท่าทางของอวัยวะน้อยใหญ่
ประการที่ ๗ หตวิกขิตตกอสุภ ได้แก่ ซากศพที่ถูกสับอวัยวะใหญ่น้อย แล้วก็กระจัดกระจายไป
เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่มีความพอใจในสมบัติแห่งเรือนร่าง
ประการที่ ๘ โลหิตกอสุภ ได้แก่ ซากศพที่เปื้อนโลหิต
เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่มีความพอใจในความงาม ของเครื่องประดับ เวลาที่มีชีวิตอยู่ก็มีเครื่องประดับมากมาย แต่พอตายแล้วเครื่องประดับก็เป็นพวกโลหิต พวกของปฏิกูลต่างๆ เท่านั้นเอง
ประการที่ ๙ ปุฬุวกอสุภ ได้แก่ ซากศพที่เต็มไปด้วยหนอน
ไม่ว่าซากศพของใคร ชาติชั้นวรรณะใดก็จะไม่พ้นจากลักษณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นสัปปายะสำหรับผู้ที่พอใจในกายว่าของเรา แต่ว่าไม่ใช่ของเรา เวลาที่เต็มไปด้วยหนอนนั่นของใคร กลายเป็นของหนอนไปเสียแล้ว
ประการที่ ๑๐ อัฏฐิกอสุภ ได้แก่ ซากศพ ร่างกระดูก หรือว่าเป็นกระดูกท่อนเดียวกันก็ได้
นี่สำหรับผู้ที่พอใจในฟัน บางคนพอใจในตา บางคนพอใจในผม แต่ก็มีผู้ที่พอใจในฟันด้วย
สำหรับใน มหาสติปัฏฐาน นวสีวถิกบรรพ นั้น เป็นลักษณะของซากศพที่เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คือ ตั้งแต่ขึ้นพอง เมื่อสิ้นชีวิตได้วันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง มีสีเขียวคล้ำ มีน้ำเหลืองไหล มีสัตว์กัดกิน ทำให้กระจัดกระจาย ต่อจากนั้นก็เป็นซากศพที่เป็นร่างกระดูก แล้วก็เปื้อนเลือด
ต่อไปเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด และยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่
จากนั้นเป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว แต่ก็ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ก็เป็นร่างกระดูกที่ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัด แล้วก็เรี่ยรายไปในทิศใหญ่ทิศน้อย ไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึด ก็จะต้องกระจัดกระจายไปตามกาลเวลาด้วย
ต่อไปเป็นกระดูกที่มีสีขาวเปรียบด้วยสีสังข์ เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปก็จะเป็นกองกระดูกที่เรี่ยรายอยู่ เกินปีหนึ่งไปแล้ว ในที่สุดก็จะเป็นกระดูกผุเป็นจุล
นี่โดยนัยของมหาสติปัฏฐาน ก็เป็นเครื่องระลึก ไม่ว่าจะเป็นกายในลักษณะที่เป็นซากศพวันหนึ่ง ขึ้นพองไปจนกระทั่งถึงแม้ว่าเวลาจะผ่านไปเป็นกระดูกผุ ก็เป็นเครื่องที่ให้สติระลึกรู้ได้
ขอกล่าวถึง ข้อความในพระไตรปิฎกที่จะให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดระลึกถึงซากศพหรือว่าอสุภะเนืองๆ บ่อยๆ แล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างไรในการเจริญสติปัฏฐาน
สังยุตตนิกาย มหาวรรค อานาปานาทิเปยยาลที่ ๗ ข้อ ๖๔๐ แห่งโพชฌงค์ สาวัตถีนิทาน มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัฏฐิกสัญญาอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก ก็อัฏฐิกสัญญาอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ อันสหรคตด้วยอัฏฐิกสัญญา อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ (มีข้อความต่อไปถึงโพชฌงค์องค์อื่นๆ จนกระทั่งถึงอุเบกขาสัมโพชฌงค์)
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัฏฐิกสัญญา อันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้แล กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ข้อความต่อไปเป็นปุฬุวกสัญญา วินีลกสัญญา วิกขิตตกสัญญา อุทธุมาตกสัญญา พวกนี้เป็นเรื่องของสัญญา ทรงจำถึงลักษณะของซากศพลักษณะต่างๆ
ต่อจากนั้นก็เป็นเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อานาปา อสุภสัญญา มรณสัญญา อาหาเรปฏิกูลสัญญา อนิจจสัญญา อนิจเจทุกขสัญญา ทุกเขอนัตตสัญญา ปหานสัญญา วิราคสัญญา นิโรธสัญญา
ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ควรเจริญ เป็นชีวิตปกติประจำวันที่สติสามารถที่จะแทรกตามรู้ได้ทุกประการ เพราะเหตุว่าแม้อัฏฐิกสัญญา การที่จะระลึกถึงกระดูกในลักษณะต่างๆ ก็มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะเป็นไปเพื่อความสังเวช
ถ. บางท่านแนะนำว่า เวลาไปเผาศพ ก็ให้เจริญสติปัฏฐานในบรรพของ นวสีวถิกานี้ไปด้วย ผมก็บอกว่า ซากศพนี้เราไม่เห็นจะเจริญกันอย่างไร นอกจากคิดนึกเอาเอง อย่างนี้จะเป็นอย่างไร
สุ. ถ้าสติระลึก ขณะนั้นก็เป็นกุศล แล้วจะทำให้รู้ชัดในลักษณะของกาย
ขุททกนิกาย เถรคาถา กุลลเถรคาถา มีข้อความว่า
เราผู้ชื่อว่า กุลละ ไปที่ป่าช้าผีดิบ ได้เห็นซากศพหญิงคนหนึ่ง เขาทิ้งไว้ในป่าช้า มีหมู่หนอนฟอนกัดอยู่
ดูกร กุลลภิกษุ ท่านจงดูร่างกายอันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า มีของโสโครกไหลเข้า ไหลออกอยู่ อันหมู่คนพาลพากันชื่นชมนัก เราได้ถือเอาแว่นธรรม แล้วส่องดูร่างกายอันไร้ประโยชน์ ทั้งภายในและภายนอกนี้ สรีระเรานี้ฉันใด ซากศพนั้นก็ฉันนั้น ซากศพนั้นฉันใด สรีระเรานี้ก็ฉันนั้น ร่างกายเบื้องต่ำฉันใด ร่างกายเบื้องบนก็ฉันนั้น ร่างกายเบื้องบนฉันใด ร่างกายเบื้องต่ำก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืนฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เมื่อก่อนฉันใด ภายหลังก็ฉันนั้น ภายหลังฉันใด เมื่อก่อนก็ฉันนั้น
ความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนี้ย่อมไม่มีแก่เรา ผู้มีจิตแน่วแน่ พิจารณาเห็นธรรมแจ่มแจ้งโดยชอบ
เพียงเห็นซากศพ ระลึกตั้งมากมาย ไม่ใช่คิดนิดเดียว แต่ระลึกแล้วรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปได้
ใน วิสุทธิมรรค ศีลนิทเทส อินทริยสังวรศีล เป็นเรื่องของท่านพระภิกษุที่ท่านไม่หลงติดในนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะท่านเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ
มีเรื่องเล่าว่า หญิงสะใภ้แห่งตระกูลหนึ่งทะเลาะกับสามี แล้วตกแต่งประดับกายงามราวกะนางฟ้า ออกจากเมืองอนุราชะแต่เช้า เดินไปบ้านญาติ ในระหว่างทางได้เห็นพระมหาติสสเถระซึ่งเดินจากเจติยบรรพตเข้าไปบิณฑบาตในเมืองอนุราชะ หญิงนั้นเกิดมีจิตวิปลาสหัวเราะเสียงดังขึ้น พระมหาติสสะเถระก็แลดูว่าเสียงอะไร ท่านเห็นฟันของหญิงนั้น ก็ระลึกถึงความเป็นอสุภะ บรรลุอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง
เมื่อสามีของหญิงนั้นเดินติดตามหญิงนั้นมา พบพระเถระก็ถามว่า เห็นหญิงเดินไปทางนี้บ้างไหม พระมหาติสสะเถระก็กล่าวตอบว่า ท่านไม่ทราบว่าหญิงหรือชายเดินไปทางนี้ เห็นแต่ร่างกระดูกเดินไป
แสดงว่าไม่จำเป็นที่จะต้องเห็นซากศพเท่านั้นจึงจะระลึกได้ เวลานี้เราก็เห็นตั้งหลายคน หรือว่าจะดูแต่เฉพาะคนเดียวก็ได้ ระลึกอย่างเป็นอสุภะได้ไหม ทำให้จิตสังเวช แทนที่จะเป็นโลภะก็จะทำให้เกิดสติระลึกได้ แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120