แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102


    ครั้งที่ ๑๐๒


    ถ้าการเจริญสติปัฏฐานจะต้องอยู่ผู้เดียว พระภิกษุทั้งหลายก็ไม่ควรจะไปเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงความประพฤติของท่านพระเถระ เพราะว่าพระภิกษุในธรรมวินัยย่อมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้แจ้งธรรม นี่เป็นจุดประสงค์ของการอุปสมบท เพราะฉะนั้น ก็ไม่ควรที่จะต้องไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า พระเถระท่านเป็นผู้ที่ประพฤติเช่นนั้น แต่เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องปกติ แล้วสติก็จะต้องรู้ในสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง

    ขอกล่าวถึง สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค มิคชาลสูตรที่ ๑ เพื่อให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจชัดในพยัญชนะที่ว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว

    ณ พระนครสาวัตถี ท่านพระมิคชาละไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลถามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ผู้มีปกติอยู่ผู้เดียว ฉะนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรพระเจ้าข้า ภิกษุจึงชื่อว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว และด้วยเหตุเพียงเท่าไร ภิกษุจึงชื่อว่า อยู่ด้วยเพื่อนสอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจให้เกิดความรัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด มีอยู่ ถ้าภิกษุยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ เมื่อเธอยินดีกล่าวสรรเสริญ หมกมุ่นรูปนั้นอยู่ ย่อมเกิดความเพลิดเพลิน เมื่อมีความเพลิดเพลิน ก็มีความกำหนัดกล้า เมื่อมีความกำหนัดกล้า ก็มีความเกี่ยวข้อง

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และมีความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า ผู้มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    แล้วก็ต่อไปถึง รูปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ ถึงจะเสพเสนาสนะอันสงัด คือ ป่าหญ้า และป่าไม้ เงียบเสียง ไม่อื้ออึง ปราศจากลม แต่ชนซึ่งเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของมนุษย์ ผู้ต้องการสงัด สมควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะผู้นั้นยังมีตัณหาเป็นเพื่อนสอง เขายังละตัณหานั้นไม่ได้ ฉะนั้นจึงเรียกว่า มีปกติอยู่ด้วยเพื่อนสอง

    โดยนัยที่ตรงกันข้าม พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงว่า สำหรับรูปที่น่ารัก น่าพอใจ น่าปรารถนาทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั้นมีอยู่ แต่ว่าภิกษุไม่ยินดี ไม่กล่าวสรรเสริญ ไม่หมกมุ่น ไม่ประกอบด้วยความเพลิดเพลิน และความเกี่ยวข้อง เราเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มิคชาละ ภิกษุผู้มีปกติอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ แม้จะปะปนกับภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา พระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา เดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ ในที่สุดบ้านก็จริง ถึงอย่างนั้นก็ยังเรียกว่า มีปกติอยู่ผู้เดียว

    ใครทราบว่า ใครกำลังอยู่ผู้เดียว หรือว่าอยู่กับเพื่อนสอง ผู้เจริญสติทราบ จิตที่เป็นโลภะเกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วทำอย่างไร จึงจะทิ้งเพื่อนคนนั้นเสียได้ แล้วก็มีปกติอยู่ผู้เดียว ถ้าไม่เจริญสติ ไม่ละกิเลสเป็นลำดับขั้น ก็ไม่มีหนทางอื่นเลย ที่จะเพียงเจริญความสงบ ปัญญาไม่เกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถหมดกิเลสได้

    อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต ปฏิลีนสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับ เราเรียกว่า ผู้มีการหลีกออก เร้นอยู่

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่าง อันบรรเทาได้แล้ว อย่างไร

    ทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างเป็นอันมากของสมณพราหมณ์ ผู้มีกิเลสหนาแน่นเหล่าใด คือ เห็นว่าโลกเที่ยง หรือว่าโลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด หรือว่าโลกไม่มีที่สุด ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น หรือว่าชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีก หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมไม่เกิดอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็มี ย่อมไม่เกิดอีกก็มี หรือว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้ว ย่อมเกิดอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เกิดอีกก็หามิได้

    ทิฏฐิสัจจะเหล่านั้นทั้งหมด อันภิกษุในธรรมวินัยนี้บรรเทาได้แล้ว สละแล้ว คลายออกแล้ว ปล่อยแล้ว ละได้แล้ว สละคืนแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างอันบรรเทาได้แล้ว ดังนี้แล ทิฏฐิสัจจะนั้น คือ เห็นว่าสัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเกิดอีก

    ยังเห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล การเกิดขึ้นก็เพราะยังมีปัจจัยที่ให้เกิด และปัจจัยที่ให้เกิดนั้นก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น เวลาที่จะหลีกออกจากกิเลส หรือว่าหลีกออก เร้นอยู่จากกิเลส คือ ความเห็นผิดเป็นเบื้องแรก ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้วอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีการแสวงหากามอันละได้แล้ว มีการแสวงหาภพอันละได้แล้ว มีการแสวงหาพรหมจรรย์อันสงบแล้ว ภิกษุเป็นผู้มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้วอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ภิกษุเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบระงับอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเป็นผู้หลีกออก เร้นอยู่อย่างไร

    ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละอัสมิมานะได้แล้ว ตัดรากขาดแล้ว ทำให้เป็นดัง ตาลยอดด้วน กระทำไม่ให้มี ไม่ให้เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ภิกษุเป็นผู้หลีกออก เร้นอยู่อย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีทิฏฐิสัจจะแต่ละอย่างอันบรรเทาได้แล้ว มีการแสวงหาทั้งปวงอันสละแล้ว มีกายสังขารอันสงบระงับแล้ว เราเรียกว่าผู้หลีกออก เร้นอยู่

    การแสวงหากาม การแสวงหาภพ กับการแสวงหาพรหมจรรย์ อันภิกษุในธรรมวินัยนี้สละคืนแล้ว การเชื่อถือสัจจะในฐานะแห่งทิฏฐิทั้งหลาย อันภิกษุในธรรมวินัยนี้ถอนขึ้นแล้ว ด้วยประการดังนี้ ภิกษุผู้สำรอกราคะทั้งปวง ผู้หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหา สละคืนการแสวงหา ถอนฐานะแห่งทิฏฐิทั้งหลายได้แล้ว ภิกษุนั้นแลเป็นผู้สงบ มีสติ ระงับกายสังขาร เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้ เป็นผู้ตรัสรู้ เพราะรู้เท่าถึงมานะ เราเรียกว่า เป็นผู้หลีกออก เร้นอยู่

    มีเรื่องของสถานที่บ้างไหม เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้แล้วละกิเลสทั้งนั้น จนกระทั่งถึงที่สุด คือ การเป็นพระอรหันต์

    ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อนังคณสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ณ ที่นั้น ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

    บุคคล ๔ พวกเหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในโลก คือ

    บุคคลบางคนในโลกนี้มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลสในภายใน

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เรามีกิเลสในภายใน

    บุคคลบางคนในโลกนี้ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลสในภายใน

    อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีกิเลส รู้ตามเป็นจริงว่า เราไม่มีกิเลสในภายใน

    บุคคลพวกที่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่ามีกิเลส บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม

    บุคคลพวกที่มีกิเลส แต่รู้ตามเป็นจริงว่ามีกิเลส บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ

    บุคคลไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่าเราไม่มีกิเลสในภายใน บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม

    บุคคลไม่มีกิเลส แต่รู้ชัดตามเป็นจริงว่าไม่มีกิเลสในภายใน บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ประเสริฐ

    บุคคลที่ ๑ บุคคลบางคนในโลกนี้มีกิเลส แต่ไม่รู้ตามเป็นจริงว่าเรามีกิเลสในภายใน สำหรับผู้ที่ไม่เจริญสติ คนที่มีกิเลสจะรู้ว่าตนเองมีกิเลสก็ต่อเมื่อมีสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ก็จะยิ่งเห็นตนเองนี้ชัดขึ้นว่า มีกิเลสมากมายเหลือเกิน ที่จะต้องชำระขัดออกด้วยการเจริญสติ ด้วยปัญญาที่รู้ชัดเพิ่มขึ้น มากขึ้น จึงจะละคลายได้

    คนมีกิเลส แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่ามีกิเลส ก็ไม่ปรารภความเพียรเพื่อละกิเลส อุปมาภาชนะสัมฤทธิ์ที่ละอองและสนิมจับอยู่โดยรอบ เจ้าของไม่ใช้ และไม่ขัด และยังเก็บไว้ในที่ที่มีละออง สนิมก็จับยิ่งขึ้น จักเป็นผู้มีจิตเศร้าหมองทำกาละ

    เป็นของธรรมดาของคนที่มีกิเลส แล้วไม่ขัดเกลาด้วยการเจริญสติ ก็ยิ่งสะสมเศร้าหมองยิ่งขึ้น เป็นผู้มีจิตเศร้าหมองทำกาละ

    บุคคลที่ ๒ เป็นบุคคลที่มีกิเลส แต่รู้ตามเป็นจริงว่ามีกิเลส บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ

    ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานถูกต้องตามความเป็นจริง บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษประเสริฐ ประเสริฐเพราะรู้ เพราะเจริญสติ เพราะรู้ชัดตามความเป็นจริงตามปกติ เพื่อละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    คนมีกิเลส แต่รู้ชัดตามเป็นจริงว่ามีกิเลส เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ที่ ละอองและสนิมจับ เจ้าของใช้ขัดสี และไม่เก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของหมดจดผ่องใส จะปรารภความเพียรละกิเลส มีจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ

    นี่เป็นผู้ที่ขัดอยู่เสมอ และเป็นผู้รู้ด้วยว่า มีกิเลสอยู่ตรงไหน ก็ขัดได้ถูกต้อง เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญสติ เมื่อเจริญสติแล้วย่อมมีสมัยที่ภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของหมดจดผ่องใส แล้วจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ

    บุคคลที่ ๓ คือ บุคคลที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัดตามเป็นจริงว่าไม่มีกิเลสในภายใน บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้เลวทราม

    ทั้งๆ ที่ไม่มีกิเลส แต่ไม่รู้ชัด บัณฑิตก็กล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม ถ้าไม่เจริญ สติปัฏฐานก็ไม่เข้าใจในพยัญชนะนี้อีกเหมือนกัน เป็นคนที่ไม่มีกิเลสควรจะดี ควรจะเป็นผู้ประเสริฐ แต่เพราะไม่รู้ชัดตามความเป็นจริง

    บุคคลไม่มีกิเลส ไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่าไม่มีกิเลส จักมนสิการสุภนิมิตมี ราคะ โทสะ โมหะ มีจิตเศร้าหมองทำกาละ เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจดผ่องใส แต่เจ้าของไม่ใช้ ไม่ขัด ซ้ำเก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้ เพราะเหตุนั้นจึงเป็นบุคคลที่บัณฑิตกล่าวว่า เป็นบุรุษเลวทราม

    บางท่านเป็นผู้มีกุศลจิต แต่ไม่รู้ตัวเลยว่าเป็นกุศล เป็นผู้มีจาคะ มีการสละวัตถุช่วยเหลือสงเคราะห์ผู้อื่น แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศลในขณะนั้น เพราะเหตุว่าไม่ได้เจริญสติ ไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ก็ไม่พากเพียรที่จะขัดเกลา เพราะถ้าตราบใดที่ไม่รู้ว่ายังมีกิเลสที่ลึก ที่ละเอียด ก็จะต้องเป็นผู้ที่ประมาท ทั้งๆ ที่จิตใจมีกุศลมาก มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต แต่เพราะไม่รู้จักสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ย่อมมนสิการในสุภนิมิต มีราคะ มีโทสะ มีโมหะ เพลิดเพลินไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งแต่ละท่านที่สนใจในธรรม แล้วเจริญสติปัฏฐาน คงอดไม่ได้ที่จะระลึกถึงญาติพี่น้องเพื่อนฝูงซึ่งเป็นผู้มีจิตใจที่ดีงาม แต่ก็เพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งๆ ที่ท่านเหล่านั้นมีกุศลจิต แต่เพราะไม่ทราบตามความเป็นจริง ก็ทำให้เป็นผู้ที่เพลิดเพลินไปด้วยราคะ โทสะ โมหะ

    อุปมาเหมือนกับภาชนะสัมฤทธิ์ที่สะอาดหมดจด แต่เจ้าของไม่ใช้ ไม่ขัด ซ้ำเก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นจะพึงเป็นของเศร้าหมอง สนิมจับได้ ปล่อยไป เพลินไปกับโลภะ โทสะ โมหะมากๆ เข้า จิตใจก็ย่อมจะเศร้าหมองมากขึ้นเป็นของธรรมดา

    ข้อต่อไป บุคคลใดไม่มีกิเลส ก็รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ไม่มีกิเลสในภายใน ย่อมจะไม่มนสิการสุภนิมิต ราคะไม่ครอบงำ มีจิตไม่เศร้าหมองทำกาละ เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจด เจ้าของใช้ขัดสี และไม่เก็บไว้ในที่มีละออง สมัยอื่นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นก็พึงเป็นของหมดจดผ่องใสยิ่งขึ้น

    ท่านที่มีกุศลจิตอยู่แล้ว และก็รู้ชัดตามความเป็นจริง ก็ยิ่งจะทำให้ได้ขัดเกลามากขึ้น ภาชนะที่หมดจดนั้นก็ยิ่งผ่องใสหมดจดยิ่งขึ้นได้

    ท่านพระสารีบุตรกล่าวกับภิกษุทั้งหลายต่อไปว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ อิจฉาวจระที่เป็นบาปอกุศลเหล่านี้ (อิจฉาวจระได้แก่ความปรารถนา ความติดข้องในลาภ ในยศ ในสักการะ ในสรรเสริญ เป็นต้น) ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งยังละไม่ได้แล้ว ชนทั้งหลายยังเห็น ยังได้ฟังอยู่ แม้เธอจะอยู่ในป่า มีเสนาสนะอันสงัด ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตร ทรงจีวรเศร้าหมองอยู่ ถึงอย่างนั้น เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลายก็ไม่สักการะ เคารพ นับถือ บูชาภิกษุนั้น

    เปรียบเหมือนภาชนะสัมฤทธิ์ เป็นของหมดจดผ่องใส เจ้าของใส่ซากศพงู ซากศพสุนัข หรือซากศพมนุษย์ จนเต็มภาชนะสัมฤทธิ์นั้น ปิดด้วยภาชนะสัมฤทธิ์ใบอื่น แล้วเอาไปร้านตลาด ชนเห็นภาชนะสัมฤทธิ์นั้นแล้ว พึงกล่าวอย่างนี้ว่า

    ท่านผู้เจริญ สิ่งที่ท่านนำไปนี้คืออะไร คล้ายของที่น่าพอใจยิ่ง พึงลุกขึ้น เปิด ภาชนะสัมฤทธิ์นั้นดู พร้อมกับการเห็นซากศพนั้นก็เกิดความไม่พอใจ ความเกลียดชัง แม้คนที่หิวก็ไม่ปรารถนาที่จะบริโภค ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่บริโภคอิ่มแล้ว ฉันใดก็ฉันนั้น



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๑๐๑ – ๑๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 34
    28 ธ.ค. 2564

    ซีดีแนะนำ