แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
ครั้งที่ ๑๐๔
ข้อความต่อไปมีว่า
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะพูด เธอย่อมใสใจว่า เราจักไม่พูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องเลวทราม เป็นเรื่องของชาวบ้าน เป็นเรื่องของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
ข้อความต่อไปกล่าวว่า เรื่องอะไรบ้างที่ไม่เป็นประโยชน์ซึ่งไม่ควรพูด
ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด และเธอใส่ใจว่า เราจักพูด เรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของๆ ตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี เรื่องปรารภความเพียร เรื่องศีล เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา เรื่องวิมุตติ เรื่องวิมุตติญาณทัสสนะ ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการพูด
ถ้าเป็นผู้ที่สะสมอกุศลไว้มากมายเหลือเกินทั้งกายทุจริต วจีทุจริต ไม่ขัดเกลา การที่จะขวนขวายในการฟัง ในความเพียร ในการขัดเกลา ในการเจริญสติ ก็ย่อมจะไม่มีด้วย
ขอให้สังเกตพยัญชนะที่ว่า และเธอใส่ใจว่า เราจักพูดเรื่องราวเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นเรื่องขัดเกลากิเลสอย่างยิ่ง เป็นที่สบายแก่การพิจารณาทางใจ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อสงบกิเลส เพื่อดับกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง
เพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ใช่ให้รู้เล็กน้อย ขอให้พิจารณาด้วยว่า การประพฤติปฏิบัติ การเจริญสติปัฏฐานของท่านนั้นเป็นไปตามที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระธรรมวินัยหรือไม่
และสำหรับข้อความที่ว่า เรื่องมักน้อย เรื่องยินดีของๆ ตน เรื่องความสงัด เรื่องไม่คลุกคลี การเจริญสติปัฏฐานเป็นการให้ท่านมักน้อย เป็นการให้ท่านไม่คลุกคลีจากการที่เคยยึดถือ กังวลในญาติมิตรสหาย ทุกสิ่งทุกประการ ทรัพย์สมบัติต่างๆ ท่านมาวัด มาฟังธรรมเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน สงัด สงบจากการคลุกคลีหรือการผูกพันไหม
ข้อความต่อไปเป็นเรื่องการคิด ข้อความมีว่า
หากเมื่อภิกษุนั้นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ จิตย่อมน้อมไปเพื่อจะตรึก เธอย่อมใส่ใจว่า เราจักไม่ตรึกในวิตกเห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกที่เลวทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกิเลส เพื่อสงบกิเลส เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เพื่อนิพพาน คือ กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องการตรึก และเธอใส่ใจว่า เราจักตรึกในวิตก เห็นปานฉะนี้ ซึ่งเป็นวิตกของพระอริยะ เป็นเครื่องนำออก ที่นำออกเพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบแก่บุคคลผู้ทำตาม คือ เนกขัมมวิตก อัพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้ตัวในการตรึก
วันหนึ่งๆ นี่คิดบ่อยเหลือเกิน ถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลยว่า ที่คิดนั้นเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล แต่ถ้าเจริญสติทราบได้จริงๆ ว่า จิตในขณะนั้นเป็นความกังวลด้วยโลภะ หรือด้วยความขัดเคืองใจ หรือเป็นเพราะโมหะก็ได้ เพราะฉะนั้น ในขณะใดที่จิตเป็นโลภมูลจิต โทสมูลจิต โมหมูลจิต ตรึกไปในเรื่องของความพอใจบ้าง ในเรื่องของความไม่พอใจบ้าง ในขณะนั้นไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับจิตดวงนั้นเลย ซึ่งวันหนึ่งๆ ก็เป็นอย่างนี้ สำหรับผู้ที่หลงลืมสติมานาน และเป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส กิเลสทำให้หลงลืมสติ ทำให้จิตเกิดขึ้นเป็นโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติก็เกิดระลึกได้ เป็นเนกขัมมวิตก ระลึกรู้ลักษณะของนาม หรือรูปในขณะใด ขณะนั้นออกจากกามที่จะเป็นไปในการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ด้วยการที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เป็นเนกขัมมวิตก เป็นอพยาปาทวิตก เป็นอวิหิงสาวิตก
หรือว่า ในขณะที่เป็นกุศลจิต สติเกิดขึ้น เว้นการตรึกที่เป็นกามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก เมื่อสติเกิดขึ้นเว้นในขณะนั้น ก็เป็นกุศลจิต แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ใช่มีปกติเจริญสติ ในขณะนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง หรือว่าเป็นรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นนาม หรือเป็นรูป ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จึงจะรู้ได้
ข้อความต่อไปแสดงให้เห็นชัดว่า ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นจะต้องรู้อะไร อย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ท่านพระอานนท์เรื่องกามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่ายินดี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ นี้แลกามคุณ ๕ อย่าง ซึ่งเป็นที่ภิกษุพึงพิจารณาจิตของตนเนืองๆ ว่า มีอยู่หรือหนอแล ที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา เพราะกามคุณ ๕ นี้อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง
ดูกร อานนท์ ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ รู้ชัดอย่างนี้ว่า มีอยู่แล เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เรายังละไม่ได้แล้ว แต่ถ้าภิกษุพิจารณารู้อย่างนี้ว่า ไม่มีเลยที่ความฟุ้งซ่านแห่งใจเกิดขึ้นแก่เรา เพราะกามคุณ ๕ นี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพราะอายตนะใดอายตนะหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ความกำหนัดพอใจในกามคุณ ๕ นี้แล เราละได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องกามคุณ ๕
กล่าวไว้ชัดเจนทีเดียวว่า รู้สึกตัวในกามคุณ ๕ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพารมณ์ มีความพอใจ ผู้เจริญสติรู้ชัด ขณะที่เกิดก็รู้ชัด ขณะที่ไม่เกิดก็รู้ชัด เพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร อานนท์ อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ นี้แล ซึ่งเป็นที่ๆ ภิกษุพึงเป็นผู้พิจารณาเห็น ทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า
อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา
อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา
อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร
อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
เธอพิจารณาเห็นทั้งความเกิด และความดับในอุปาทานขันธ์ ๕ นี้อยู่ ย่อมละอัสสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ภิกษุย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราละอัสสมิมานะในอุปาทานขันธ์ ๕ ของเราได้แล้ว ด้วยอาการนี้แล เป็นอันเธอรู้สึกตัวในเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕
นี่เป็นการรู้สึกตัว เป็นการเจริญสติทั้งนั้น ไม่ว่าท่านจะนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิดอยู่ที่ใดก็ตาม การเจริญสติปัฏฐานนั้นเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในขันธ์ ๕
รูปขันธ์ไม่รู้ ละได้ไหม ความไม่รู้ก็มีอยู่ที่รูปขันธ์ต่อไป
เวทนา ความรู้สึก วันหนึ่งๆ มีทั้งเฉยๆ มีทั้งดีใจ มีทั้งเสียใจ มีทั้งเป็นทุกข์ มีทั้งเป็นสุข ในขณะที่กำลังสุขก็ไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกเกิดขึ้น อาศัยตาเห็นบ้าง หูได้ยินบ้าง เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่หมดไม่ได้ เพราะว่ามีเห็นรูปอื่นต่อไป มีคิดนึกเรื่องอื่นต่อไป
เพราะฉะนั้น การที่ไม่รู้เวทนาแล้วจะละการยึดถือเวทนาว่า เป็นตัวตนนั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ การเจริญสติเพื่อปัญญารู้ยิ่ง ไม่ใช่ไปจำกัดปัญญาไม่ให้รู้ หรือให้รู้นิดเดียว แม้แต่สัญญาก็ต้องรู้ เกิดขึ้นชั่วขณะนิดหนึ่งแล้วก็ดับไป จึงพิจารณาเห็นทั้งความเกิดและความดับอยู่ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา อย่างนี้ความเกิดแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความเกิดแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดแห่งวิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ
ที่จะรู้ทั่วจริงๆ รู้ชัดจริงๆ รู้ยิ่งจริงๆ ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่ารู้แล้ว หรือคิดว่าเพียงการศึกษาก็จะทำให้รู้ได้ แต่ถ้าศึกษาโดยตลอดจะเห็นว่า ไม่ว่าจะนั่ง นอน ยืน เดิน การเป็นผู้รู้สึกตัวในขณะที่ยืน เดิน นั่ง นอน นั้นคืออย่างไร และสิ่งที่จะต้องรู้คือ อุปาทานขันธ์ ๕
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค คังคาทิเปยยาล แห่งมหาสติปัฏฐานสังยุต ที่ ๖ (ข้อ ๘๓๙) พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำคงคาไหลไปสู่ทิศปราจีน หลั่งไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน แม้ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ ก็เป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างไร จึงจะเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเมื่อเจริญสติปัฏฐาน ๔ เมื่อกระทำให้มากซึ่งสติปัฏฐาน ๔ อย่างนี้แล จึงจะเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน
ขณะที่กำลังขับรถยนต์มีกายไหม มีเวทนาไหม มีจิตไหม มีธรรมไหม ระลึกได้ไหม เป็นสติปัฏฐานไหม เมื่อเป็นสติปัฏฐาน แล้วระลึกแล้วเนืองๆ บ่อยๆ จะเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน เพราะเกิดความรู้ชัดได้ไหม เป็นของจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วสติก็เกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้ สังโยชน์ ๕ เป็นไฉน คือ รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้แล
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อ กำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นส่วนเบื้องสูง เหล่านี้แล
สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ เห็นเวทนาในเวทนาอยู่ เห็นจิตในจิตอยู่ เห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ เหล่านี้แล
มีไหมที่จะไม่ให้เพื่อความรู้ยิ่ง จะให้รู้นิดๆ หน่อยๆ ได้ไหม
ถ. คำว่า รู้จริง รู้แจ้ง รู้ชัด ที่อาจารย์อธิบายนั้น ผมไม่เข้าใจครับ
สุ. ถ้าจะรู้จริง ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จึงจะชื่อว่ารู้จริง ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นอีก เพราะเหตุว่ามีปัจจัยทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็รู้ในลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ที่เจริญสติต้องระลึกรู้สิ่งที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ เพราะมีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นแล้ว ต้องรู้ชัดถึงปัจจัย และต้องรู้ยิ่งถึงการเกิดขึ้นและการดับไปด้วย จึงจะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน และรู้ชอบตามความเป็นจริง เพราะว่าสิ่งที่เกิดปรากฏนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นนามและเป็นรูปที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป นั่นจึงจะชื่อว่า รู้จริง รู้ชัด รู้ยิ่ง
ในสมัยพระผู้มีพระภาคนั้นมีผู้ที่เป็นอุคฆฏิตัญญู เมื่อได้ฟังพระคาถาเพียงย่อๆ สั้นๆ ก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ หรือว่าบางท่านก็เป็นวิปัญจิตัญญู เมื่อได้ฟังพระธรรมเทศนาจบแล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ จะเป็นเนยยบุคคลในชาตินี้ หรือว่าจะเป็นอุคฆฏิตัญญูวิ ปัญจิตัญญู ในชาติโน้นๆ เลือกไม่ได้ เจริญเหตุได้ อาจจะเป็นอุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญูในชาติไหนก็ได้
พระนางเขมาเถรี ในสมัยพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเกิดเป็นทาสี เลื่อมใสในพระธรรม ได้ถวายขนมแก่พระสาวกรูปหนึ่ง แล้วอธิฐานขอให้ได้เป็นสาวิกาผู้มีปัญญามาก นั่นก็เป็นในสมัยของพระปทุมุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งใครก็ไม่ทราบได้ว่า เคยเป็นทาสีในสมัยไหนมาแล้ว แต่ว่าพระธรรมนั้นไม่จำกัดความเลื่อมใสว่า เฉพาะบุคคลนั้นบุคคลนี้ ไม่ว่าจะมีอาชีพใด มีกิจการงานประเภทใดก็ตาม ก็เป็นผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาได้
ในสมัยพระกกุสันธสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง แล้วก็ได้ถวายสวนแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งในสมัยพระโกนาคมนสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก็ได้กระทำเช่นเดียวกัน ในสมัยพระกัสสปะสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านก็เป็นพระธิดาของพระเจ้าแผ่นดิน ท่านมีนามว่า สุมนี เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสมาก แล้วก็ได้สร้างอารามถวาย
ในสมัยพระสมณโคดม พระผู้มีพระภาคพระองค์นี้ ท่านเกิดในตระกูลกษัตริย์ ในแค้วนมคธมีชื่อว่า เขมา เป็นผู้ที่มีความสวยงามมาก ผิวกายของท่านนั้นดั่งทอง ท่านได้เป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน ท่านไม่ไปเฝ้าเลย เพราะท่านยังติดในความสวยงามของท่าน แต่ภายหลังก็ได้ฟังธรรม แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้น
บางท่านคิดว่าต้องลำบากๆ ทุกข์ๆ ยากๆ ถึงจะเกิดความเลื่อมใสในพระธรรม แต่นี่ไม่จริง แล้วแต่อัธยาศัยของแต่ละบุคคล อย่างพระนางเขมาเถรี เป็นถึงตระกูลกษัตริย์ แล้วก็เป็นมเหสีของพระเจ้าพิมพิสารด้วย ทุกอย่างสะดวกสบายพร้อม ไม่จำเป็นต้องทุกข์ๆ ยากๆ โศกๆ เศร้าๆ อะไรเลย แต่เพราะได้อบรมเจริญเหตุมาสมควรแก่ผล ถึงแม้ว่าในภพที่ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น ท่านยังติดในความสวยงามของท่านก็จริง แต่ถึงอย่างนั้นท่านก็สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ แล้วก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วย
ชีวิตของทุกคนในขณะนี้ ไม่มีใครทราบว่า พระธรรมจะเปลี่ยนท่านไปได้มาก น้อยอย่างไร ทำให้ท่านเริ่มเจริญสติ พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ไม่หวั่นไหวในลาภสักการะ ในวงศาคณาญาติ หรือโลกธรรมต่างๆ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป แต่ถ้าท่านไม่รู้อะไรเลย แล้วได้ฟังพระธรรมเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ทั้งๆ ที่มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรสปรากฏ ก็ไม่รู้ลักษณะของนามและรูป จะให้เป็นอุคฆฏิตัญญูเวลาที่ฟังเข้าใจแล้วบรรลุมรรคผล นั่นก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่สะสมเจริญอบรม จนกว่าจะเป็นเนยยบุคคล หรืออุคฆฏิตัญญู หรือวิปัญจิตัญญู
ฟังอย่างนี้เหมือนกับพระนางเขมาเถรีไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเลยจะรู้ชัด รู้จริง รู้ยิ่งก็ไม่ได้ บางคนอาจจะกำลังมีสติระลึกที่ลักษณะของนาม หรือรูปทางหนึ่งทางใด แต่ยังไม่รู้ชัด ยังไม่รู้ยิ่ง ยังไม่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามนั้นรูปนั้น ยังรวมกันอยู่ ยังไม่รู้ทั่วถึงว่า เสียงไม่ใช่นามได้ยิน ไม่ใช่นามรู้เรื่อง ไม่ใช่ความพอใจ หรือความไม่พอใจที่เกิดเนื่องมาจากการได้ยิน เป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นจริงๆ ว่า การที่จะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามจริงๆ ของรูปจริงๆ แต่ละลักษณะได้นั้น ผู้เจริญสติเป็นผู้ที่รู้ชัด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๑๐๑ – ๑๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120