แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
ครั้งที่ ๑๐๕
เพื่อให้ท่านเห็นว่า ไม่จำเป็นต้องทุกข์ยากหรือโศกเศร้า ตัวอย่างเช่น สุชาตาเถรี ซึ่งท่านได้สะสมบุญกุศลมาแล้วในอดีต ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านเกิดที่เมืองสาเกตในตระกูลสูง ท่านแต่งงานกับบุคคลผู้มีตระกูลเสมอกัน ภายหลังท่านได้ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจในขณะที่ท่านนั่งฟังอยู่นั่นเอง ท่านได้ออกบวชแล้วได้กล่าวคาถาว่า
เมื่อเราเป็นฆราวาสได้ตกแต่งร่างกาย นุ่งห่มผ้าอันงาม ทัดทรงดอกไม้ ลูบไล้ด้วยจุนจันท์ ปกคลุมด้วยอาภรณ์ทั้งปวง ห้อมล้อมด้วยหมู่นางทาสี ให้หมู่นางทาสีถือเอาข้าวน้ำ ของเคี้ยว ของบริโภคไม่น้อย ออกจากเรือนไปสู่อุทยาน รื่นรมย์ชมเชยเล่นอยู่ในสวนนั้นแล้วมาสู่เรือนของตน เข้าไปสู่ทักขีวิหารในป่าอัญชนวัน ใกล้เมือง สาเกต ได้พบพระพุทธเจ้าผู้เป็นแสงสว่างของโลกแล้ว เข้าไปถวายบังคมพระองค์ผู้มีพระจักษุ ได้ทรงแสดงธรรมแก่เราด้วยความทรงอนุเคราะห์แล้ว เราได้ฟังพระธรรมของพระองค์ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ แล้วได้ตรัสรู้ของจริง ได้บรรลุอมตธรรม อันปราศจากธุลีในที่นั้นนั่นเอง เราได้รู้แจ้งพระสัจธรรม แล้วได้บรรพชาในพระธรรมวินัย ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไม่เปล่าจากประโยชน์
การพิสูจน์พระธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคโดยการเจริญสติ ทรงแสดงธรรมเรื่องจิตมีทุกขณะ เรื่องของเจตสิก เวทนาเป็นสภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิตก็เป็นสิ่งที่มีจริงพิสูจน์ได้ว่า เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้น แล้วก็ดับไป
เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เห็นตัวอย่างในพระไตรปิฎก ขอกล่าวถึงบุคคลในครั้งโน้นเพื่อจะได้เห็นว่า การเจริญสติอบรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด แล้วก็รู้แจ้งจริงๆ
ใน ขุททกนิกาย เถรีคาถา อโนปมาเถรีคาถา ซึ่งท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้ว ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม ท่านเกิดที่เมืองสาเกตในตระกูลสูง ท่านก็เป็นผู้ที่มีความงามมาก ได้ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วได้กล่าวคาถาว่า
เราเกิดแล้วในตระกูลสูง อันมีเครื่องปลื้มใจมาก มีทรัพย์มาก สมบูรณ์ด้วยผิวพรรณสัณฐาน เป็นธิดาของเมฆีเศรษฐี เป็นผู้อันพระราชบุตรปรารถนา พวกเศรษฐีบุตรพากันมุ่งหวัง อิสสรชนมีพระราชบุตร เป็นต้น พากันส่งทูตไปขอกับบิดาของเราว่า ขอจงให้นางอโนปมาแก่เรา นางอโนปมาธิดาของท่านนั้นมีน้ำหนักเท่าใด เราจักให้เงินและทองมีน้ำหนัก ๘ เท่าของน้ำหนักนั้น
เรานั้นได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า ได้ถวายบังคลพระยุคลบาทของพระองค์ แล้วเข้าไปนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่เราด้วยความทรงอนุเคราะห์ เรานั่งอยู่ที่อาสนะนั้นบรรลุผลที่ ๓ ครั้นแล้วได้โกนผมออกบวชในธรรมวินัย ตั้งแต่ตัณหาอันเราให้เหือดแห้งแล้ว ถึงวันนี้เป็นวันที่ ๗
มีตัวอย่างของอีกท่านหนึ่ง คือ ปุณณิกาเถรี ซึ่งท่านเป็นผู้ที่สะสมบุญมาแล้วในอดีต เคยฟังธรรม เคยบวชในสมัยพระผู้มีพระภาคพระองค์ก่อนๆ ท่านศึกษาธรรมจนเชี่ยวชาญ แต่ไม่บรรลุมรรคผล เพราะความทะนงตน
ในสมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดม ท่านเกิดเป็นทาสีในบ้านของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เมื่อได้ฟังมหาสีหนาทสูตรแล้ว ท่านก็บรรลุมรรคผลเป็น พระโสดาบัน แต่การบรรลุมรรคผลนั้นไม่มีใครทราบ ภายหลังได้แสดงธรรมให้พราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ถือการอาบน้ำล้างบาปได้รู้อริยมรรค ทำให้นายของท่านยกย่องในคุณธรรม ให้ท่านเป็นอิสระ และอนุญาตให้บวชเป็นภิกษุณี ภายหลังก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์
พระปุณณิกาเถรีกล่าวว่า
เราเป็นหญิงตักน้ำ กลัวต่อภัย คือ อาชญาของนาย และถูกภัย คือ วาจา และโทสะของนายบีบคั้นแล้ว จึงลงตักน้ำในฤดูหนาวทุกเมื่อ ดูกร พราหมณ์ ท่านกลัวต่อใครเล่าจึงลงตักน้ำทุกเมื่อ ท่านมีตัวอันสั่นเทาเสวยทุกข์ คือ ความหนาวอันร้ายกาจ
ถึงแม้ว่าจะหนาวสักเท่าไร พวกพราหมณ์ที่ถือการอาบน้ำเป็นการล้างบาป ก็ยังไปอาบน้ำล้างบาปอยู่นั่นเอง ปุณณิกาได้กล่าวกะพราหมณ์นั้นว่า ที่ท่านไปตักน้ำก็เพราะท่านกลัวภัย คือ อาชญาของนาย ถูกภัย คือ วาจาและโทสะของนายบีบคั้น จึงลงตักน้ำในฤดูหนาว แต่พราหมณ์กลัวใครถึงได้อุตส่าห์ไปตักน้ำในฤดูหนาวด้วยกายที่สั่นเทา เสวยทุกข์ คือ ความหนาวอันร้ายกาจ
พราหมณ์กล่าวว่า
ดูกร นางปุณณิกาผู้เจริญ ก็เมื่อท่านรู้อยู่ว่า เราผู้ทำซึ่งกุศลกรรม อันห้ามซึ่งบาปกรรม จะสอบถามเราทำไม ก็ผู้ใดเป็นคนแก่หรือคนหนุ่มทำบาปกรรมไว้ แม้ผู้นั้นก็ย่อมพ้นจากบาปกรรมได้ด้วยการอาบน้ำ
ไม่รู้เหตุผลก็เลยตอบว่า ก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่ได้ทำบาปกรรมอะไรๆ แล้วจะมาสอบถามทำไม เพราะว่าใครๆ ไม่ว่าจะคนแก่หรือคนหนุ่มที่ได้ทำบาปกรรมไว้ ก็ย่อมพ้นจากบาปกรรมนั้นได้ด้วยการอาบน้ำ
นางปุณณิกากล่าวว่า
ก็ใครหนอบอกความนี้แก่ท่านผู้ไม่รู้ เขาก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็เมื่อบุคคลจะพ้นจากบาปกรรมได้เพราะการอาบน้ำ กบ เต่า นาค จระเข้ และสัตว์เหล่าอื่นที่เที่ยวไปในแม่น้ำ ก็จักพากันไปสู่สวรรค์แน่นอน
พวกคนฆ่าเนื้อทรายเลี้ยงชีวิต คนฆ่าสุกร พวกชาวประมง พวกพรานเนื้อ พวกโจร พวกนายเพชฌฆาต และคนที่มีกรรมอันเป็นบาปเหล่าอื่น แม้คนเหล่านั้นก็พึงพ้นจากบาปกรรมเพราะการอาบน้ำ ถ้าแม่น้ำเหล่านี้พึงนำบาปที่ท่านทำไว้แล้วในกาลก่อนไปได้ไซร้ แม่น้ำเหล่านี้ก็พึงนำบุญมาให้ท่านบ้าง เพราะเหตุนั้น ท่านพึงเป็นผู้เหินห่างจากพระศาสนา
ดูกร พราหมณ์ ท่านกลัวต่อบาปกรรมอันใดจึงลงอาบน้ำทุกเมื่อ ท่านอย่าได้ทำบาปกรรมอันนั้นเลย ความหนาวอย่าได้เบียดเบียนผิวของท่าน
ถ้างดบาปเสีย ก็คงจะไม่ต้องมาหนาวสั่นด้วยการอาบน้ำ
พราหมณ์กล่าวว่า
ท่านนำข้าพเจ้าผู้เดินทางผิดไปสู่อริยมรรค ดูกร นางปุณณิกาผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสาฎกสำหรับสรงน้ำนี้แก่ท่าน
นางปุณณิกากล่าวว่า
ผ้าสาฎกจงเป็นของท่านตามเดิมเถิด เราไม่ประสงค์ผ้าสาฎก ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านเกลียดทุกข์ ท่านอย่าทำกรรมอันเป็นบาปทั้งในที่แจ้งหรือในที่ลับ ก็ถ้าท่านจักทำ หรือกำลังทำกรรมอันเป็นบาปไซร้ แม้ท่านจะเหาะหนีไปในอากาศ ก็จักไม่พ้นทุกข์ได้เลย ถ้าท่านกลัวต่อทุกข์ ถ้าท่านไม่ชอบทุกข์ จงเข้าถึงพระพุทธเจ้ากับทั้งพระธรรม และพระสงฆ์ผู้คงที่เป็นสรณะ จงสมาทานศีลทั้งหลาย สรณคมน์และการสมาทานศีลของท่านจักเป็นไปเพื่อความพ้นจากทุกข์
พราหมณ์กล่าวว่า
เมื่อก่อนเราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม วันนี้เราได้เป็นพราหมณ์จริงๆ เราได้เป็นผู้มีวิชชา ๓ สมบรูณ์ด้วยเวท มีความสวัสดี มีบาปอันล้างแล้ว
ทาสีก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันได้ โดยที่บุคคลอื่นไม่รู้ แล้วไปตักน้ำตามปกติธรรมดา แต่สามารถเกื้อกูลให้คนที่หลงผิดเข้าใจถูกต้องได้ ถ้าดูตัวอย่างในพระไตรปิฎกจะเห็นได้ว่า เป็นชีวิตจริงๆ ธรรมดา ปกติ แต่เพราะได้เคยสะสมเหตุที่ถูกที่ควรแก่การรู้แจ้งอริยสัจในภพชาตินั้น เป็นบุคคลปกติธรรมดาที่มีวิถีชีวิตต่างกันไป บางท่านเป็นอุบาสิกาที่ครองเรือน บางท่านไม่ครองเรือน บางท่านมีความเศร้าโศกมาก บางท่านเพียบพร้อมสมบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติมากมาย แต่ทุกชีวิตสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
อีกตัวอย่างหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ รัชชุมาลาวิมาน นางเทพธิดาได้กล่าวกับท่านพระมหาโมคคัลลานะถึงอดีตชาติของท่านว่า
เมื่อชาติก่อน ดิฉันเป็นหญิงรับใช้ของพราหมณ์ อยู่ในบ้านคยา เป็นคนมีบุญน้อย ต่ำทราม ชนทั้งหลายเรียกดิฉันว่า รัชชุมาลา ดิฉันถูกเจ้านายลงโทษด้วยการด่าว่า เฆี่ยนตี และขู่เข็ญอย่างหนัก จึงถือเอาหม้อน้ำออกไปจากบ้านเพื่อตักน้ำ แล้ววางหม้อน้ำไว้เสียข้างทาง บ่ายหน้าเข้าสู่ป่าชัฏด้วยตั้งใจว่า เราจักตายเสียในที่นี้แหละ ความเป็นอยู่ของเราหาประโยชน์อะไรมิได้เลย
ครั้นแล้วผูกเชือกให้เป็นบ่วง รัดคออย่างแน่น แล้วปล่อยห้อยไปตามต้นไม้ คิดว่าจะโดดลงไปให้ตาย เหลียวไปดูรอบทิศ ด้วยเกรงว่าจะมีผู้ใดมาแอบดูอยู่บ้าง ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับนั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนไม้ เกิดความเลื่อมใส แล้วคิดว่า พระองค์เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ขณะที่กำลังคิดอยู่อย่างนั้น พระตถาคตเจ้าก็ได้ตรัสเรียกด้วยพระวาจาอันอ่อนหวานว่า
ดูกร นางรัชชุมาลา ดังนี้แล้ว มีพระดำรัสสืบต่อไปว่า ท่านจงถึงตถาคตเป็นที่พึ่งเถิด
ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงอริยสัจธรรมแก่รัชชุมาลา รัชชุมาลาได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้น
นี่เป็นชีวิตจริงๆ ปกติธรรมดา ไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติ แต่ต้องเป็นผู้ที่เจริญเหตุให้สมควรแก่ผล
อีกท่านหนึ่ง สิริมาวิมาน เทพธิดาชั้นนิมมานรดี ได้กล่าวถึงอดีตชาติของท่าน กับพระวังคีสเถระว่า
ดิฉันเป็นพระสนมของพระเจ้าพิมพิสาร อยู่ในพระนครราชคฤห์ มีความชำนาญในการฟ้อนรำขับร้องชั้นเยี่ยม ชาวเมืองพากันเรียกว่า นางสิริมา ได้ฟังธรรม สำรวมเคร่งครัดในศีล ตั้งมั่นในธรรมปฏิบัติ แล้วก็ได้บรรลุมรรคผลเป็นพระโสดาบัน
อีกตัวอย่างหนึ่ง ใน ขุททกนิกาย อัมพปาลีเถรีคาถา ท่านเป็นผู้ที่ได้สะสมบุญมาแล้วในอดีต ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าสิขี ท่านก็ได้ออกบวช วันหนึ่งท่านได้เดินบูชาพระสถูป ไปข้างหลังหมู่ภิกษุณี พระอรหันตเถรีที่เดินไปข้างหน้าท่านบ้วนน้ำลายลงในที่นั้น ท่านเดินไปข้างหลัง แต่ไม่เห็นการกระทำของภิกษุณีที่อยู่ข้างหน้า ท่านก็ได้กล่าวเป็นเชิงตำหนิว่า
หญิงแพศยาที่ไหน มาถ่มน้ำลายลงในที่นี้
จิตใจของแต่ละคนซึ่งมีความโน้มเอียงตามที่ได้สะสมมา แม้แต่คำพูด ถ้าเห็นการกระทำอย่างเดียวกันนี้ ๑๐ คนก็คงจะพูดไม่เหมือนกัน สำหรับท่านก็ได้กล่าวเป็นเชิงตำหนิว่า หญิงแพศยาที่ไหนมาถ่มน้ำลายลงในที่นี้
ในชาติสุดท้าย คือ สมัยพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ ท่านมีความงามเป็นที่นิยมชมชื่นของพวกราชตระกูลทั้งหลาย ต่างพากันพยายามที่จะช่วงชิงท่านไปเป็นสมบัติของตน และในที่สุดจึงได้ตกลงกันให้ท่านเป็นหญิงงามเมือง
ต่อมาด้วยความเลื่อมใสในพระศาสนา ท่านได้สร้างวิหารในสวนมะม่วงของท่านถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นประมุข และเมื่อท่านได้ฟังธรรมจาก พระวิมลโกณทัญญะ ซึ่งเป็นบุตรของท่านที่เกิดกับพระเจ้าพิมพิสาร ท่านเจริญปัญญาพิจารณาร่างกายอันชราของท่านเอง
จะเห็นได้ว่า ในขณะที่ฟังธรรม ในขณะที่แสดงธรรม ในขณะที่กล่าวคาถา หรือในขณะที่ปฏิบัติธรรมก็ตาม จิตของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แล้วแต่เหตุปัจจัย สังเกตได้จากคาถาของพระเถระและพระเถรีทั้งหลายว่า มีความโน้มเอียงหรือมีชีวิตในทางใด ก็กล่าวอย่างนั้น
ท่านอัมพปาลีเถรีกล่าวคาถาว่า
เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำคล้ายกับสีปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอมดุจอบด้วยดอกมะลิเป็นต้น เต็มด้วยดอกไม้ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา
นี่เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จริงๆ ตามกาลเวลา แม้แต่อัมพปาลีซึ่งเป็นผู้ที่มีความงามมาก แต่เมื่อถึงวัยชรา ท่านก็พิจารณาสังขารร่างกายของท่านตามที่เป็นจริงในขณะนั้น ท่านกล่าวว่า
เมื่อก่อนผมของเรามีปลายอันงาม วิจิตรด้วยหวีและเครื่องปักผม เหมือนป่าไม้อันปลูกเป็นแถวงามสะพรั่ง เดี๋ยวนี้กลายเป็นผมโกร๋นในที่นั้นๆ พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนผมของเราประดับด้วยมวยผมอันงดงาม ดังประดับด้วยทองคำอันละเอียด มีกลิ่นหอม เดี๋ยวนี้ล้านตลอดหัว เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
ที่อ่านข้อความที่ท่านอัมพปาลีเถรีกล่าว ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทุกส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไปได้ทั้งนั้น ท่านกล่าวว่า
เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียน อันนายช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้กลายเป็นคิ้วคดเคี้ยวเหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้ว ไม่งามเลย พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อเวลาเรายังรุ่นสาว จมูกของเราโด่งงามเหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวไปเหมือนจมหายเข้าไปในศีรษะ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนใบหูของเรางดงามเหมือนตุ้มหูที่ทำเสร็จเรียบร้อยดี เดี๋ยวนี้กลับหย่อนยานเหมือนเอาเถาวัลย์ห้อยไว้ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนฟันของเราขาวงามดีเหมือนสีดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้กลายเป็นฟันหักและมีสีเหลือง เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนเวลาพูด เราพูดเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกดุเหว่า อันมีปกติเที่ยวไปในไพรสณฑ์ ร่ำร้องอยู่ในป่าใหญ่ฉะนั้น เดี๋ยวนี้คำพูดของเราพลาดไปทุกๆ คำ เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนคอของเรางดงามกลมเกลี้ยงเหมือนสังข์ที่ขัดดีแล้ว เดี๋ยวนี้ย่น เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนแขนทั้งสองของเรางดงามเปรียบดังกลอนเหล็กอันกลมฉะนั้น เดี๋ยวนี้ลีบ คด ดุจฝักแคฝอย เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เมื่อก่อนมือทั้งสองของเราประดับด้วยแหวนทองคำงดงาม เดี๋ยวนี้เป็นเหมือนเหง้ามัน เพราะชรา พระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
และมีข้อความต่อไป ไม่ว่าท่านจะพิจารณาส่วนใดที่กายของท่าน ท่านก็เห็นว่าพระดำรัสของพระพุทธเจ้าผู้ตรัสจริง เป็นคำจริงแท้ ไม่กลับกลายเป็นอย่างอื่น
เวลานี้ไม่ทราบว่า มีผู้ใดพิจารณากายได้เหมือนอย่างอัมพปาลี คือ พิจารณาทั้งตา ทั้งคอ ทั้งมือ ทั้งแขน ทั้งผม นี่ก็อายุกาล แล้วแต่ว่าจะผ่านไปให้พิจารณาได้มากน้อยเท่าไร สมมติว่าเป็นสัก ๒๐๐ ปี ที่จะพิจารณานั้นก็คงจะยิ่งกว่าที่ท่านได้พรรณนามาดังที่ได้กล่าวแล้วเป็นอันมากทีเดียว เพราะเพียงแต่สัก ๘๐ ปีบ้าง หรือ ๙๐ ปีบ้าง ๑๐๐ กว่าปีบ้าง ความจริงนี้ก็ต้องปรากฏ แต่ถ้ายิ่งมากถึง ๒๐๐ - ๓๐๐ ปี นั่นก็คงจะต้องมีลักษณะที่แปรปรวนอย่างมากทีเดียว
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๑๐๑ – ๑๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120