แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
ครั้งที่ ๑๐๗
การพิจารณาการเจริญสติปัฏฐานภาวนาให้เข้าใจถูกต้องนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ใน ขุททกนิกาย โกสัมพิยชาดก มีข้อความว่า
เพราะเป็นคนมีสติหลงลืม ยังพูดว่า ตนเป็นบัณฑิต มีวาจาเป็นโคจร ช่างพูด ย่อมปรารถนาจะให้เสียงออกจากปากอยู่เพียงใด ก็พูดไปเพียงนั้น เขาถูกความทะเลาะนำไปแล้ว ยังไม่รู้ว่า การทะเลาะนั้นเป็นโทษ
การเจริญสติปัฏฐานนั้นเจริญได้ทุกโอกาส ทุกอารมณ์ ทุกสถานที่ ในขณะนี้สติระลึกรู้ลักษณะของนาม ปัญญาก็รู้ชัดทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าความรู้จะมากขึ้น เป็นผู้เจริญสติ ไม่ใช่เป็นผู้หลงลืมสติ แต่ถ้าเป็นผู้หลงลืมสติ ไม่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน นั่นก็เพราะเป็นคนมีสติหลงลืม ยังพูดว่าตนเป็นบัณฑิต
ถ. ขณะเวทนา ตาเสวยรูปอยู่ จิตมีกำหนัดอยู่ก็รู้อยู่ อาจารย์ช่วยอธิบาย
สุ. เวลาเห็นเกิดพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้างเป็นของธรรมดา เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกรู้ทั้งนั้นเพื่อละความไม่รู้ ความพอใจก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วก็ดับเหมือนกัน ทางตาก็อาศัยตา คือ การเห็นเกิดขึ้น ทางหูก็อาศัยการได้ยินเกิดขึ้น อาศัยเสียงเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานนี้ต้องเจริญมากทีเดียว ความรู้ต้องทั่วจริงๆ ชัดเจนแจ่มแจ้งจริงๆ ถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็ไม่ละตัวตน ภพชาติก็ไม่หมด
เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะต้องเจริญด้วยการเจริญสติมากมาย จะต้องหมดความสงสัยทั้งนามทั้งรูปทางตา ทั้งนามทั้งรูปทางหู ทั้งนามทั้งรูปทางจมูก ทั้งนามทั้งรูปทางลิ้น ทั้งนามทั้งรูปทางกาย ทั้งนามทั้งรูปใดๆ ทางใจ ปัญญาจะต้องเพิ่มขึ้น ละคลายความไม่รู้ให้หมดสิ้นไป
อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ปสาทกรธัมมาทิบาลี ข้อ ๒๓๐ เป็นข้อความที่สรรเสริญกายคตาสติ ซึ่งหมายความถึงกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ข้อความบางประการที่จะขอกล่าวถึง คือ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมละอวิชชาเสียได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น ย่อมละอัสมิมานะเสียได้ อนุสัยย่อมถึงความเพิกถอน ย่อมละสังโยชน์เสียได้ ธรรมข้อหนึ่งคืออะไร คือ กายคตาสติ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ย่อมมีการแทงตลอดธาตุมากมาย ย่อมมีการแทงตลอดธาตุต่างๆ ย่อมมีความแตกฉานในธาตุมากมาย ย่อมเป็นไปเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ย่อมเป็นไปเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง
มีข้อความที่สรรเสริญกายคตาสติอีกมาก เวลาที่เจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ก็มีข้อความว่า
ละอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสีย
ซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก มีข้อความอธิบายว่า
โลก ได้แก่ ขันธ์ ๕
เวลาที่ระลึกลักษณะของรูป ไม่ใช่บังคับสติให้ไปจดจ้องอยู่ที่รูปเดียว ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้วจะไม่เป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา จะไม่เป็นไปเพื่อการแทงตลอดธาตุมากหลาย แต่ตามปกติธรรมดาของการเจริญสตินั้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูป เป็นการเจริญสติ ไม่ใช่บังคับสติ แม้แต่ในบรรพแรกของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ อานาปานบรรพ ระลึกรู้ลักษณะของลม แม้ปีติเกิดก็รู้ เวทนาที่เกิด เพราะระลึกรู้ลมมีปรากฏ สติต้องระลึกรู้ทั้งนามทั้งรูป แล้วแต่จะเป็นนามอะไร เป็นรูปอะไร เพื่อการรู้ชัดแล้วละคลาย แต่เพราะอาศัยพิจารณากาย จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อานาปานกถา มีข้อความว่า
กาย ในคำว่า กาโย มี ๒ คือ นามกาย ๑ รูปกาย ๑
นามกาย เป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย
ในที่นี้คำว่า กาย หมายความว่าประชุมรวมกัน ไม่ใช่แยกกันอยู่ อย่างเวทนาก็ไม่ใช่แยกกับสัญญา ไม่ใช่แยกกับเจตนา ไม่ใช่แยกกับผัสสะ
นามกาย เป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย และท่านกล่าวจิตตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย
คือแทนที่จะพูดถึงเจตสิกอื่นๆ ท่านกล่าวจิตตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย
รูปกาย เป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ นิมิต และท่านกล่าวว่า กายสังขารที่เนื่องกัน นี้เป็นรูปกาย
ที่ท่านแสดงนามกายกับรูปกายนั้น ก็เป็นเพราะผู้เจริญสติจะต้องทราบลักษณะของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติว่าต่างกัน การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ให้รู้รูปใดรูปหนึ่งรูปเดียว ถ้าผู้ใดไม่รู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติกับขณะที่มีสติแล้ว ผู้นั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติต้องมีปัญญารู้ว่า ขณะนี้มีสติ สติเป็นนามกาย ไม่ใช่รูปกาย
ข้อความต่อไป ข้อ ๔๐๔
กายเหล่านั้นย่อมปรากฏอย่างนี้ กาย คือ ความเป็นผู้รู้แจ้งกองลมทั้งปวง หายใจออก หายใจเข้าปรากฏ
สติเป็นอนุปัสสานาญาณ กายปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลย่อมพิจารณากายนั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐานภาวนา คือ การพิจารณาเห็นกายในกาย
สติเป็นอนุปัสสนาญาณ เวทนาปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลย่อมพิจารณาเวทนานั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้นท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐานภาวนา คือ การพิจารณาเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
สติเป็นอนุปัสสนาญาณ จิตปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลย่อมพิจารณาจิตนั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐานภาวนา คือ การพิจารณาจิตในจิต
สติเป็นอนุปัสสนาญาณ ธรรมปรากฏ ไม่ใช่สติ สติปรากฏด้วย เป็นตัวสติด้วย บุคคลพิจารณาธรรมเหล่านั้น ด้วยสตินั้น ด้วยญาณนั้น เพราะเหตุดังนี้นั้น ท่านจึงกล่าวว่า สติปัฏฐานภาวนา คือ การพิจารณาธรรมในธรรมทั้งหลาย
ถ. ท่านผู้หนึ่งถามผมว่า ผู้สำเร็จพระอรหันต์ในระหว่างเดินอย่างเดียว ไม่ต้องรู้อะไรมากก็สำเร็จมรรคผลมีในพระไตรปิฎกบ้างไหม ถ้าตอบว่ามี ก็แสดงว่า เพียงแต่อาการเดินอย่างเดียวก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ สำเร็จมรรคผลได้ จะตอบเขาว่าอย่างไรในเรื่องนี้
สุ. เห็นกายในกาย รู้ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สติจะต้องเจริญแล้วปัญญาจะต้องเจริญ รู้ชัด รู้ยิ่ง รู้จริง ผู้ที่จะบรรลุความเป็นพระอรหันต์นั้นเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ไม่ใช่มีปัญญาน้อย
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานได้จบลงแล้ว เป็นชีวิตจริง เป็นธรรมดา ไม่ได้ผิดปกติจากธรรมดาเลย ในบรรพแรก คือ อานาปานบรรพ เกิดมาแล้วต้องมีลมหายใจ การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ไปทำให้ผิดปกติ แม้แต่ลมหายใจเป็นเครื่องระลึกของสติได้ จะระลึกเมื่อไรก็ได้ทั้งนั้น เห็นกายในกาย เพราะเหตุว่าลมเป็นกาย ไม่ใช่เป็นเวทนา ไม่ใช่เป็นจิต
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. การเจริญสติปัฏฐานนั่นเองทำให้วิปัสสนาเกิดขึ้น
ถ. การเจริญอานาปานสติ คือ การกำหนดลมหายใจเข้าออก ถ้าเป็นไปในลักษณะของธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ ยังไม่ค่อยเข้าใจ ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบาย
สุ. ศึกษาธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานแล้วจะเข้าใจได้ว่า เป็นการพิจารณาโดยเป็นอายตนะ เป็นที่ต่อ เป็นที่ประชุม หรือเป็นโดยสภาพของขันธ์ที่หยาบ หรือที่ประณีต เป็นต้น แต่ในขั้นต้นเป็นการรู้ลักษณะของลมที่กระทบตามความเป็นจริง แต่ถ้าพิจารณาโดยนัยต่างๆ นั่นก็โดยประเภทของอายตนะบ้าง ของขันธ์บ้าง นั่นก็เป็น ธัมมานุปัสสนา
สำหรับอิริยาบถบรรพ อาจจะสงสัยว่า เป็นการพิจารณาต่างจากธาตุมนสิการบรรพอย่างไร เพราะการเห็นกายในกาย ไม่ใช่เห็นกายที่อื่น แต่เป็นหมวดที่เนื่องกับกาย นับตั้งแต่ลมหายใจไปจนกระทั่งถึงกระดูกที่ผุเป็นผง
นี่เป็นส่วนต่างๆ ของกายทั้งนั้น รูปมีมาก อยู่ในบรรพอื่นด้วย แต่ว่าเมื่อเป็นรูปที่กาย เห็นกายในกายอย่างไร ก็จัดอยู่ในประเภทของกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
กายมีตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่เมื่อระลึกรู้ส่วนที่เป็นลมหายใจ ก็รู้ลักษณะของรูปที่เป็นส่วนนั้น ที่ปรากฏที่ส่วนนั้น เวลาที่เป็นอิริยาบถบรรพก็โดยนัยเดียวกัน มีรูปที่ประชุมรวมกัน ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการอย่างใด ก็ระลึกรู้ส่วนของรูปที่ปรากฏในอิริยาบถที่ทรงอยู่ ตั้งอยู่ในอาการอย่างนั้น
อิริยาบถก็มีนั่ง นั่งก็ไม่เหมือนกัน ใครนั่งอย่างไร สติระลึกรู้ ก็รู้ในลักษณะของรูปที่ส่วนนั้น ยืนก็ไม่เหมือนกันอีก แล้วแต่ในขณะนั้นใครทรงกายอยู่ในลักษณะยืนอย่างไร สติก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ ต้องเป็นรูปที่ปรากฏที่ส่วนของกาย เช่นเดียวกับลมหายใจ นั่งก็มีลมหายใจ แต่สติระลึกรู้ส่วนที่เป็นลมหายใจ
เพราะฉะนั้น เวลาที่นั่งอยู่จะทรงกายอยู่ในลักษณะอาการนั่งอย่างไรก็ตาม ก็ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏที่ส่วนของกายที่สติกำลังระลึกรู้ แต่ไม่ใช่ตลอดทั้งตัว เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สติจะระลึกรู้ส่วนของกายได้ตลอดทั้งตัวขณะที่กำลังนั่ง กำลังนอน กำลังยืน กำลังเดิน เพราะการเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเห็นกายในกาย เมื่อกายส่วนใดปรากฏอย่างไร ก็เห็นกายที่กายส่วนนั้น ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน
ถ. ขณะที่ระลึกรู้สึกตัว ระลึกรู้ลมหายใจ ไม่ได้รู้อาการที่นั่ง แต่ระลึกที่รูปทั้งตัว
สุ ทั้งตัวไม่ได้ ก็เหมือนกับปฏิกูลมนสิการบรรพ ผมเป็นส่วนหนึ่งของกาย ขน เล็บ ฟัน หนังเป็นส่วนหนึ่งของกาย ผู้เจริญสติขณะที่มีผม ขน เล็บ ฟัน หนังปรากฏให้ระลึกรู้ จะเป็นทางตา หรือทางกายก็ได้ ก็ระลึกรู้ส่วนที่ปรากฏ แต่เห็นกายในกาย รู้ลักษณะของรูปว่าเป็นรูป ต้องเพิกหมด ต้องเพิกแม้ลมหายใจ แม้อิริยาบถ แม้ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง แม้อสุภะ แล้วรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น จึงจะเห็นกายในกาย
จะระลึกที่ขน ที่ผม ที่เล็บ ที่ฟัน ที่หนังอย่างไรก็ตามโดยความเป็นปฏิกูล ก็จะต้องรู้ชัดในลักษณะส่วนที่เป็นกายที่ปรากฏ จึงจะเห็นกายในกาย หรือแม้แต่รูปที่ทรงอยู่ในอิริยาบถนั่งบ้าง นอนบ้าง ยืนบ้าง เดินบ้าง แต่ละท่านไม่มีอิริยาบถนั่งอย่างเดียวกัน เพราะฉะนั้น นั่งของท่านผู้ใดจะทรงอยู่ตั้งอยู่อย่างไร ส่วนของกายที่ปรากฏในขณะที่ทรงอยู่ตั้งอยู่ในขณะนั้น สติก็ระลึกเห็นกายในกายส่วนนั้นที่ปรากฏในอิริยาบถนั้น จึงจะชื่อว่าเห็นกายในกาย เพราะต้องมีรูป มีลักษณะที่ปรากฏเป็นรูปให้รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตน มีลักษณะที่ปรากฏเป็นนาม จึงจะรู้ชัดว่าเป็นนาม ไม่ใช่ตัวตน
วิสุทธิมรรค ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส มีข้อความว่า
ถามว่า ลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร อะไรปิดบังไว้
ตอบว่า อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงความเกิดขึ้น และความดับ และเพราะสันตติบังไว้
ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการบีบคั้นเนืองๆ และอิริยาบถปิดบังไว้
อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะ ฆนะ คือ การรวมกันเป็นกลุ่มก้อนปิดบังไว้
เมื่อกำหนดความเกิดขึ้น และความเสื่อมไปแล้ว และสันตติขาดไป อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง
เมื่อมนสิการถึงความบีบคั้นเนืองๆ และเพิกอิริยาบถเสียได้ ทุกขลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง
เมื่อพรากธาตุต่างๆ ออกจากกัน และพรากฆนะได้ อนัตตลักษณะก็ปรากฏตามความเป็นจริง
คำว่า อนิจฺจํ อนิจฺจลกฺษณะ ทุกฺขํ ทุกฺขลกฺษณะ อนตฺตา อนตฺตลกฺษณะ มีการจำแนกตังต่อไปนี้
อนิจฺจํ หมายถึงขันธ์ ๕ เพราะเหตุว่ามีความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป ความแปรเปลี่ยนเป็นอื่น ความมี และไม่มี ความเป็นสิ่งที่มี ความเกิดขึ้น เสื่อมไป และแปรเปลี่ยนเป็นอื่นนั่นเอง เป็นอนิจจลักษณะ หรือหมายถึงอาการ และวิการ กล่าวคือ เป็นแล้วไม่เป็น
ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นตัวทุกข์ เพราะมีพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะเหตุไร เพราะบีบคั้นเนืองๆ อาการบีบคั้นเนืองๆ นั่นเองเป็นทุกขลักษณะ
ขันธ์ ๕ นั่นเองเป็นอนัตตา เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะเหตุไร เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ อาการที่ไม่เป็นไปในอำนาจนั่นเอง เป็นอนัตตลักษณะ
ที่ว่า ลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร ถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะเหล่านี้จะปรากฏไม่ได้เลย ทั้งๆ ที่สังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ลักษณะของสังขารธรรมที่เกิดดับนั้น ไม่ปรากฏแก่ผู้ที่ไม่เจริญสติ
ที่ถามว่า อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการอะไร อะไรปิดบังไว้
ตอบว่า อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงความเกิดขึ้น และความดับ และเพราะสันตติบังไว้
เห็น แล้วก็ได้ยิน กลิ่นปรากฏ สันตติ คือ การเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้นปิดบังไว้ ทุกอย่างมีลักษณะที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง แต่เพราะไม่ได้มนสิการถึงขณะที่เกิดแล้วหมดไป ขณะที่ปรากฏแล้วแปรปรวนไป ขณะที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป เมื่อไม่มนสิการในความเกิดดับอย่างนี้ ก็ไม่ประจักษ์ในอนิจจลักษณะ สิ่งที่มีตามปกติเกิดดับ แต่ที่จะรู้ชัดต้องเกิดจากเริ่มระลึกรู้ทีละเล็กทีละน้อย ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ สติระลึกรู้ในลักษณะที่ต่างกัน ต้องรู้ลักษณะด้วย ไม่ใช่ไม่รู้ลักษณะ แต่ที่วันหนึ่งๆ มีนามรูป มีสังขารธรรมเกิดขึ้นและดับไป อนิจจลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่เคยมนสิการในความเกิดขึ้นและดับไปของสังขารธรรม
ที่ว่า ทุกขลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการบีบคั้นเนืองๆ และ อิริยาบถปิดบังไว้ อนัตตลักษณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มนสิการถึงการแยกธาตุต่างๆ และเพราะฆนะปิดบังไว้
เมื่อพิจารณามนสิการความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปแล้ว และสันตติขาดไป อนิจจลักษณะย่อมปรากฏตามความเป็นจริง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๑ ตอนที่ ๑๐๑ – ๑๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120