แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
ครั้งที่ ๖๕
ท่านพระจุฬาภยเถระเมื่อได้แสดงทางปฏิบัติแก่ท่านพระธรรมรักขิตเถระแล้วท่านก็ได้กลับไปที่โลหะปราสาท ต่อมาท่านได้ทราบว่าพระธรรมรักขิตเถระปรินิพพานแล้ว ท่านก็ได้กล่าวสรรเสริญท่านพระธรรมรักขิตเถระในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายว่า
อรหัตตมรรคสมควรแก่พระธรรมรักขิตเถระผู้เป็นอาจารย์ของท่าน อาจารย์ของท่านเป็นผู้ซื่อตรง
คำว่า เป็นผู้ซื่อตรง มีความหมายว่า เป็นผู้ไม่มีมายา ไม่มีสาไถย ไม่อวดดี เป็นอาชาไนยบุคคล จึงยอมนั่งบนเสื่อใกล้ธัมมันเตวาสิกของตน และขอให้ศิษย์แสดงทางปฏิบัติแก่ท่าน
ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า คันถะ การศึกษานั้นไม่เป็นปลิโพธแก่ภิกษุเห็นปานนี้
บางท่านคิดว่า การศึกษานั้นจะขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน แต่ความจริงเป็นการอุปการะให้เข้าใจการปฏิบัติถูกต้องขึ้น ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานมากขึ้น สติก็เกิดได้บ่อยขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านที่เริ่มเจริญสติคงจะสังเกตได้ว่า ความรู้ในขั้นต้นนั้นยังไม่ชัด สติยังไม่มาก บางครั้งก็ระลึกได้มาก บางครั้งก็ระลึกได้น้อย แต่เครื่องวัดคือ เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแล้ว ปัญญาเพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง การที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้นั้น ปัญญาจะต้องเพิ่มขึ้น มากขึ้น ชัดเจนขึ้น และผู้เจริญสติย่อมทราบได้ว่า ปัญญาเพิ่มมากขึ้น เพราะอาศัยการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพียงชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ ที่สติระลึกได้
บางท่านก็เข้าใจว่ารู้แล้ว เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ก็บอกว่า รู้แล้วๆ รู้แล้วก็ไม่เห็นมีอะไร แต่ความจริงยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ใช่แม้พระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น รู้แล้วยังไม่ได้ เพียงแต่รู้โดยการฟัง แล้วก็อาศัยสติระลึกทีละเล็กทีละน้อย แต่สภาพจริง ๆ ของนามและรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในวันหนึ่งๆ นั้นมากที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดเพิ่มขึ้นจนกว่าจะละคลายได้ อย่าเพิ่งคิดว่ารู้ชัด อย่าเพิ่งคิดว่า การที่น้อมพิจารณาว่า สภาพนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็หมดไป นั่นจะเป็นลักษณะของปัญญาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปจริงๆ เพราะเหตุว่าปัญญานั้นจะต้องเจริญมากขึ้น มากกว่านั้นมากทีเดียว เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาเป็นขั้นๆ
ท่านศึกษาธรรม ท่านฟังธรรม เพื่อจุดประสงค์ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่ขัดขวางการเจริญสติ แม้ในขณะที่ฟัง ก็ฟังเรื่องของของจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าฟังแล้วก็รู้ว่า สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ ในขณะนั้นก็ไม่มีอะไรกั้น สติอาจระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้แม้ในขณะที่ฟัง
การฟังเป็นการเตือนให้น้อมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ถ้าเผลอไป หลงลืมสติไป การฟังก็อาจจะทำให้สติระลึกขึ้นได้ แล้วพิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏตามปกติ ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้อย่างอื่น เป็นปัญญาในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏของจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง
โดยมากท่านผู้ฟังคิดว่า การเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการเจริญวิปัสสนานั้นต้องทำ แต่ความจริงเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วในขณะนี้ บางท่านอาจเข้าใจว่า การศึกษาปริยัติ คันถธุระ กับวิปัสสนาธุระนั้นเป็นคนละเรื่อง ไม่ต้องรีรอ แล้วก็ไม่ต้องกลัวสติด้วย เมื่อสติระลึกรู้ขึ้นมาได้ในขณะใดแล้ว ปัญญาก็พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านที่ต้องการเจริญสติปัฏฐานไม่ฟังธรรมเลย อย่างนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าการฟังธรรมอุปการะมาก ให้ผู้ที่เจริญสติพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปได้ชัดขึ้น แล้วก็สามารถน้อมระลึกถึง สภาพความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ได้ฟังธรรม แล้วละคลายการยึดถือ สภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้
ในพระไตรปิฎกนั้น บรรดาพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาก็เจริญสติ แต่ว่าทั้งๆ ที่เจริญสติกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าขาดการฟังธรรม ไม่สามารถน้อมระลึกถึงสิ่งที่จะทำให้ละคลายการติด การยึดถือนามรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม จึงมีประโยชน์มากที่จะทำให้เมื่อถึงกาละที่สมควร อินทรีย์แก่กล้า การที่ได้ฟังธรรมก็ทำให้น้อมระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในลักษณะที่ทำให้เกิดการละคลายได้ในขณะนั้น
ขอกล่าวถึงตัวอย่างในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นว่า การศึกษา การฟังธรรมไม่กั้นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่กั้นการรู้แจ้งอริยสัจธรรม
สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ทุติยวรรคที่ ๒ ติงสมัตตาสูตร ข้อ ๔๔๕ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร แต่ทั้งหมดล้วนยังเป็นผู้มีสังโยชน์อยู่
ภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูปนั้นเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า ภิกษุชาวปาวาประมาณ ๓๐ รูปเหล่านี้ ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร แต่ทั้งหมดล้วนยังเป็นผู้มีสังโยชน์อยู่ ถ้ากระไรพระองค์พึงแสดงธรรม เพื่อให้ภิกษุเหล่านี้พ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ณ อาสนะนี้ทีเดียว
พระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุเหล่านั้นถึงสังสาระที่กำหนดไม่ได้ว่า โลหิตที่หลั่งออกของพวกภิกษุผู้ที่ท่องเที่ยวไปมา ซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้ กับน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ สิ่งไหนจะมากกว่ากัน
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า
ท่านทั้งหลายเหล่านั้นย่อมทราบธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วว่าโลหิตที่หลั่งไหลออกซึ่งถูกตัดศีรษะโดยกาลนานนี้แหละมากกว่า ส่วนน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปถึงเมื่อครั้งที่ภิกษุทั้งหลายนั้นเกิดเป็นโค เกิดเป็นกระบือ เกิดเป็นแกะ เกิดเป็นแพะ เกิดเป็นเนื้อ เกิดเป็นสุกร เกิดเป็นไก่ แล้วเมื่อถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรฆ่าชาวบ้าน ถูกจับตัดศีรษะโดยข้อหาว่า เป็นโจรดักปล้น โดยข้อหาว่า เป็นโจรประพฤติผิดในภรรยาของผู้อื่น ตลอดกาลนาน โลหิตที่หลั่งไหลออกนั่นแหละมากกว่า น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ไม่มากกว่าเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะว่าสังสาระนี้ กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้ ฯลฯ (เมื่อเหล่าสัตว์ผู้ยังมีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ย่อมท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุด เบื้องต้น เบื้องปลาย ย่อมไม่ปรากฏ ) ฯลฯ พอเพื่อจะหลุดพ้นดังนี้
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างพอใจชื่นชมภาษิตของพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสไวยากรณภาษิตนี้อยู่ จิตของภิกษุชาวเมืองปาวาประมาณ ๓๐ รูป พ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น
เป็นเหตุการณ์ธรรมดาในครั้งโน้น บรรดาพระภิกษุชาวเมืองปาวา ไม่ใช่ว่าท่าน จะไม่เจริญสติปัฏฐาน ท่านต้องเจริญสติปัฏฐานแน่ ด้วยชีวิตแบบบรรพชิตที่อยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร นี่เป็นการขัดเกลาของภิกษุชาวเมืองปาวา ซึ่งแต่ละท่านก็แล้วแต่อัธยาศัย ภิกษุบางท่านก็ไม่รักษาธุดงค์ หรือว่าอาจจะรักษาธุดงค์บางข้อ ไม่ใช่รักษาทั้งหมด แต่ว่าภิกษุทั้งหลายก็เจริญสติปัฏฐาน พิจารณานามและรูปที่ปรากฏกับท่านเป็นปกติธรรมดาในวันหนึ่งๆ เช่นเดียวกับอุบาสก อุบาสิกาที่เจริญสติปัฏฐาน ก็เจริญสติปัฏฐานในเพศของอุบาสกอุบาสิกา แล้วแต่ว่าท่านผู้ใดจะรักษาศีล ๕ หรือรักษาศีล ๘ โดยกาล โดยสมัย เช่นในวันอุโบสถ เป็นต้น
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าพระภิกษุชาวปาวาประมาณ ๓๐ รูปนั้นจะได้ขัดเกลากิเลสของท่าน ด้วยการที่นอกจากจะเป็นบรรพชิตแล้ว ก็ยังอยู่ป่าเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ถือทรงผ้าไตรจีวรเป็นวัตร แต่ทั้งหมด ล้วนยังเป็นผู้ยังมีสังโยชน์อยู่
แสดงให้เห็นว่า การที่จะละคลายการยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนนั้น ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้โดยการไม่อบรม ไม่เจริญเนืองๆ บ่อยๆ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นภิกษุที่อยู่ป่า รักษาธุดงค์ พิจารณาลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏแก่ท่านเนืองๆ แล้ว การที่จะละคลายการยึดถือนามรูปที่ปรากฏว่าเป็นตัวตน แม้ในขณะที่กำลังพิจารณานั้นก็แสนยาก เป็นการอบรมปัญญาที่จะต้องสมบูรณ์ขึ้นเป็นขั้นๆ ถ้าท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหูในขณะนี้ ท่านที่เคยเจริญสติแล้วก็ระลึกรู้ได้ แต่ไม่ละ ยังไม่คลาย เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะละ
ด้วยเหตุนี้พระธรรมของพระผู้มีพระภาค จึงมีประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าปัญญาของผู้นั้นจะสมบรูณ์ถึงขั้นไหน ระดับไหนแล้ว พระธรรมก็ยังอุปการะอนุเคราะห์เกื้อกูลในขณะนั้นที่จะให้น้อมพิจารณา แล้วก็ละคลายการยึดมั่นถือมั่นได้
จะเห็นได้จากตัวอย่างในพระไตรปิฎกว่า เป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน เมื่อฟังธรรม เข้าใจธรรมแล้ว ก็เจริญสติปัฏฐาน และเมื่อเจริญสติปัฏฐานก็ไม่ใช่ว่าจะต้องทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดผิดไปจากชีวิตปกติ ก็ยังฟังธรรมอยู่นั่นเอง แล้วการบรรลุอริยสัจธรรมนั้นก็ไม่ใช่ผิดไปจากชีวิตปกติ คือ สามารถที่จะบรรลุธรรมได้ แม้ในขณะที่กำลังฟังธรรมตามปกติ ถ้าไม่เคยฟังเรื่องการเจริญสติเลย มีการให้ทาน มีการรักษาศีล อาจทำให้จิตใจสงบ แต่ยังไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ แต่เมื่อฟังแล้ว วันหนึ่งๆ มีการระลึกรู้ลักษณะที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้างไหม ถ้าฟังแล้วเข้าใจถูกรู้ว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกขึ้นได้ แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีการพิจารณาสภาพธรรม แล้วปัญญาก็เริ่มรู้ทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะชัด แต่ว่าข้อสำคัญที่สุดคือว่า อย่าให้คลาดเคลื่อน
กำลังเห็นขณะนี้ระลึกได้ อย่าทำอะไรให้คลาดเคลื่อน กำลังได้ยิน สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่รู้ทางหูว่า เป็นสภาพรู้ หรือระลึกรู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางหูในขณะนี้ก็เป็นเพียงของจริงชนิดหนึ่ง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส ไม่ใช่สี ไม่ใช่เย็น ไม่ใช่ร้อน เพราะฉะนั้น ถ้าวันหนึ่งๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ ก็จะไม่มีลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่จะพึงยึดถือ เข้าใจผิดว่าเป็นตัวตนได้เลย แต่ต้องพิจารณามากและละเอียดขึ้นด้วย
ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ความชอบใจ ก็เกิดขึ้นนิดเดียว โทสะก็เกิดขึ้นนิดเดียว แล้วก็หมดไป เพราะฉะนั้น จะยึดถือโลภะว่าเป็นตัวตนไม่ได้ เพราะเหตุว่าหมดไปแล้ว จะยึดถือโทสะที่เกิดขึ้นว่าเป็นตัวตนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าหมดแล้ว จะยึดถือที่กำลังเห็นในขณะนี้ว่าเป็นตัวตนก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าหมดแล้ว จึงได้มีการได้ยินเกิดขึ้น หรือว่ามีนามรูปอื่นๆ ปรากฏได้
อย่าคิดว่าการรู้ลักษณะของนามและรูปนั้นผิดไปจากปกติในขณะนี้ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดคิดอย่างนี้ ก็ย่อมแสวงหาพยายามที่จะให้ได้พบสิ่งที่ผิดปกติ เป็นตัวตนที่กำลังพยายามทำให้เห็นให้รู้สิ่งที่ผิดปกติ และการรู้การเห็นสิ่งที่ผิดปกตินั้น ไม่สามารถที่จะละการยึดถือในขณะที่กำลังเห็น กำลังได้ยินตามปกติว่า ไม่ใช่ตัวตนได้ ลองหลับตา เพราะเหตุว่าเวลาลืมตาแล้ว การผูก การเชื่อมการโยงนามรูปทางตาไว้ว่า เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ เป็นตัวตน เป็นสัตว์บุคคล แต่ถ้าลองหลับตา สิ่งที่ปรากฏเหลือน้อยมาก ถ้าหลับตาแล้ว ศาลาทั้งหลังนี้ยังมีโต๊ะ เก้าอี้ ผู้คนมากหน้าหลายตาไหม แต่ว่าความเป็นตัวตนที่เคยยึดถือ ยังคิดในใจว่ามี ยังมีคนมากมาย ยังมีโต๊ะ ยังมีเก้าอี้ เมื่อหลับตาแล้วสิ่งนี้ไม่ปรากฏ ก็ต้องไม่ปรากฏ จึงจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้
ถ. สำหรับท่านที่เจริญสมถภาวนามาก่อนจนกระทั่งฌานจิตเกิด แล้วก็พิจารณาฌานจิต โดยที่ไม่รู้ลักษณะของนามและรูปทางปัญจทวารเลย จะละการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้อย่างไร
สุ ผู้ที่ไม่ได้เจริญสติ ถึงแม้ว่าจะได้ปัญจมฌาน ทั้งรูปฌาน หรืออรูปฌานก็ตาม ไม่สามารถที่จะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ในครั้งอดีตมีมากท่านทีเดียวที่เจริญฌานได้รูปฌาน อรูปฌานอย่างสูงที่สุดแล้ว แต่ไม่บรรลุมรรคผล
ท่านผู้ฟังบอกว่า บุคคลนี้เอาฌานมาเป็นบาทพิจารณาจนบรรลุมรรคผล บุคคลนี้คือผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเนืองๆ ไม่ใช่ว่าเจริญสมาธิได้ฌานสมาบัติแล้วไม่เจริญสติปัฏฐาน แล้วสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ เพราะเหตุว่าหลายท่านที่เจริญฌาน ได้ฌานแล้ว ท่านยังต้องมีวสี มีความแคล่วคล่องในการที่จะให้ฌานจิตเกิด เพราะถ้าไม่มีความแคล่วคล่องในการที่จะให้ฌานจิตเกิดแล้ว จิตของท่านไม่เป็นฌานอย่างรวดเร็ว เมื่อจิตของท่านไม่เป็นฌานอย่างรวดเร็ว ที่จะให้สติตามรู้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นนามชนิดหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาจะต้องไวขึ้น คมกล้าขึ้น ไม่ว่านามชนิดใดเกิดกับท่าน ท่านก็รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง ผู้ที่เจริญสมถภาวนาไม่ใช่มีฌานจิตตลอดเวลา จิตทางตาที่เห็นก็มี ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็มี
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านไม่ได้พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป เวลาที่จิตของท่านน้อมไปเป็นฌานจิต ก็ไม่สามารถระลึกได้ว่าเป็นนามชนิดหนึ่ง
ในพระไตรปิฎกได้แสดงไว้ว่า ในบรรดาผู้ที่เจริญสมถภาวนาบรรลุฌานสมาบัตินั้น น้อยท่านที่บรรลุมรรคผล แต่ที่ไม่บรรลุเพราะอะไร เพราะเจริญสติปัฏฐานไม่มากพอที่จะทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามในขณะที่เป็นฌานได้ ต้องเป็นผู้ที่แคล่วคล่องในฌาน แล้วก็เจริญสติสามารถระลึกแม้ในขณะที่ฌานจิตเกิดว่า เป็นนามชนิดหนึ่ง จึงละ แล้วก็ไม่ยึดถือ จึงจะประจักษ์ความไม่เที่ยงของฌานจิตได้
เรื่องการเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และความไม่เข้าใจก็ทำให้ข้อประพฤติปฏิบัตินั้นคลาดเคลื่อนไป ถ้าข้อประพฤติปฏิบัติยังคลาดเคลื่อนอยู่ ผลจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย เป็นต้นว่า ถ้าในขณะนี้สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ว่าจะไปทำให้รู้ แต่ว่าถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏแล้ว ก็ไม่มีหนทางที่ปัญญาจะรู้ชัดในนามและรูปที่เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น เพียงนิดเดียวเท่านี้ ก็จะทำให้ท่านคำนึงถึงอนาคตตลอดเวลาว่าจะทำให้รู้ จะทำให้รู้สิ่งที่ยังไม่เกิด โดยที่ปัญญาไม่ได้รู้สิ่งที่เกิดปรากฏแล้วทุก ๆ ขณะ
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120