แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
ครั้งที่ ๑๑๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ
ดูกร ภิกษุ เรากล่าวเวทนา ๓ นี้ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา เรากล่าวเวทนา ๓ นี้
ดูกร ภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้
ดูกร ภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั้นเองไม่เที่ยง
ดูกร ภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา
บุคคลที่ช่างสงสัยก็ต้องมีทุกสมัย คือ ฟังแล้วยังไม่เข้าใจชัดเจนว่า การเสวยอารมณ์ที่ว่าเป็นทุกข์หมายถึงอะไร ในเมื่อกล่าวว่าเวทนามี ๓ แต่ไม่ว่าจะเป็นสุขเวทนา หรือว่าทุกขเวทนา หรือว่าอุเบกขาเวทนา ก็ไม่เที่ยงทั้งนั้น จึงเป็นทุกข์ ที่ว่าเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง
ข้อความใน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ใน มหาสติปัฏฐานสูตร มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่อย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เสวยสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนา หรือเสวยทุกขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยทุกขเวทนา หรือเสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ชัดว่าเราเสวยอทุกขมสุขเวทนา
เพราะฉะนั้น ถ้ามีสุขเวทนาก็ไม่หลงลืมสติ แต่รู้ชัดว่าเสวยสุขเวทนา ถ้ามีอกุศลกรรมทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น ก็รู้ชัดว่าเสวยทุกขเวทนา ไม่ว่าจะเป็นสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ อทุกขมสุข ความรู้สึกเฉยๆ ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยที่สติควรระลึกเพื่อรู้ชัด แล้วก็ละการยึดถือว่าเป็นตัวตน
ถ. ถ้าดูเวทนาภายในของตัวเองรู้สึกว่าจะเห็นได้ง่าย แต่ถ้าดูเวทนาภายนอกรู้สึกจะดูได้ยาก ความรู้สึกของคนบางคนถ้าเป็นนักแสดง อาจจะแสดงเวทนาตรงกันข้ามกับที่ตนได้รับอยู่ก็เป็นไปได้
สุ. ท่านผู้ฟังใช้คำว่า “ดู” ไม่ใช่การระลึกรู้ ถ้ากำลังดู ก็เป็นตัวตนที่ดู ลักษณะของสติไม่ใช่ดู สติเป็นสภาพที่ระลึกแล้วก็รู้ในลักษณะนั้น และสำหรับคำถามที่ว่า สำหรับเวทนาของตนเองก็พอที่จะรู้ได้ไม่ยาก แต่เวทนาของคนอื่นรู้ยาก
เวทนาของท่านเองวันนี้มีอะไรบ้าง กี่ครั้ง คนอื่นกำลังหัวเราะ แม้ขณะที่กำลังมีเวทนาของคนอื่นเป็นอารมณ์ก็ระลึกได้ แม้ในขณะนั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ ก็หลงลืมสติ
สำหรับข้อความต่อไปที่ว่า
หรือเสวยสุขเวทนามีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนามีอามิส หรือเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส ก็รู้ชัดว่าเราเสวยสุขเวทนาไม่มีอามิส
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค นิรามิสสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปีติมีอามิสมีอยู่ ปีติไม่มีอามิสมีอยู่ ปีติที่ไม่มีอามิสกว่าปีติที่ไม่มีอามิสมีอยู่
สุขมีอามิสมีอยู่ สุขไม่มีอามิสมีอยู่ สุขไม่มีอามิสกว่าสุขไม่มีอามิสมีอยู่ อุเบกขามีอามิสมีอยู่ อุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่ อุเบกขาไม่มีอามิสกว่าอุเบกขาไม่มีอามิสมีอยู่
วิโมกข์มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่
ข้อความต่อไปอธิบายข้อความเบื้องต้นว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติมีอามิสเป็นไฉน กามคุณ ๕ เหล่านี้ กามคุณ ๕ เป็นไฉน
คือ รูป ที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด … เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กามคุณ ๕ เหล่านี้แล ปีติเกิดขึ้น เพราะอาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้ เราเรียกว่า ปีติมีอามิส
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิส เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก วิจาร มีปีติ และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก วิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติ และสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิส
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส เป็นไฉน ปีติที่เกิดขึ้นแก่พระภิกษุขีณาสพ ผู้พิจารณาเห็นจิต ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส
มีความต่างกันเป็นขั้นๆ สำหรับธรรมดาๆ ที่ทุกคนมีปีติ ปีติก็เป็นไปกับอามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ แต่ถ้าเป็นปีติไม่มีอามิส คือ ไม่เป็นไปกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ เป็นปีติที่เกิดจากวิเวก บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน โดยนัยของจตุตถนัย ปีติที่เกิดกับฌานจิตนั้นไม่เป็นไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นปีติที่ไม่มีอามิส
ส่วนปีติที่ไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิสนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส เป็นไฉน
ปีติที่เกิดขึ้นแก่พระภิกษุขีณาสพผู้พิจารณาเห็นจิต ซึ่งหลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า ปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส
พระอรหันต์ยังมีปีติ ยังมีโสมนัสเกิดกับมหากิริยาจิต เวลาที่พิจารณารู้ว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากราคะ โทสะ โมหะ เกิดปีติ ปีติในขณะนั้นเป็นปีติไม่มีอามิสกว่าปีติไม่มีอามิส
สำหรับสุขเวทนานั้นก็โดยนัยเดียวกันกับปีติ แต่กล่าวถึงตติยฌานโดยจตุตถนัย และสำหรับอุเบกขาเวทนาโดยนัยเดียวกัน แต่ถึงจตุตถฌานโดยจตุตถนัย ที่ว่ามีอามิส ไม่มีอามิส ก็เลื่อนขึ้นไปตามขั้นของเวทนาที่ประกอบกับฌานนั้นๆ
สำหรับข้อความที่ว่า วิโมกข์มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มีอามิสมีอยู่ วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่อามิส มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิโมกข์มีอามิส เป็นไฉน
วิโมกข์ที่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่า วิโมกข์มีอามิส วิโมกข์ที่ไม่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่า วิโมกข์ไม่มีอามิส
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส เป็นไฉน
วิโมกข์เกิดขึ้นแก่พระภิกษุขีณาสพ ผู้พิจารณาเห็นจิตที่หลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส
คำว่า “วิโมกข์” การหลุดพ้นนี้ก็เป็นขั้นๆ ถ้าเป็นวิโมกข์ที่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่า วิโมกข์ไม่มีอามิส เป็นไปในรูปฌาน ถ้าไม่ปฏิสังยุตด้วยรูป ชื่อว่า วิโมกข์ไม่มีอามิส เป็นไปในอรูปฌาน ส่วนวิโมกข์ไม่มีอามิสยิ่งกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส เป็นไฉน
วิโมกข์เกิดขึ้นแต่ภิกษุขีณาสพ ผู้พิจารณาเห็นจิตที่หลุดพ้นแล้วจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ นี้เราเรียกว่า วิโมกข์ไม่มีอามิสกว่าวิโมกข์ไม่มีอามิส
มหาสติปัฏฐานสูตร เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีข้อความว่า
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในเวทนาบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในเวทนาบ้าง
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า เวทนามีอยู่ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่
จบเวทนานุปัสสนา
ต้องมีความรู้สึกเกิดร่วมกับจิตทุกขณะเพราะเวทนาเป็นเจตสิก เป็นนามธรรมที่เกิดกับจิต ดับพร้อมจิต ที่จะมีจิตเกิดโดยที่ไม่มีเวทนาไม่ได้ วันนี้มีความสุขกี่ครั้ง มีความทุกข์กี่ครั้ง และมีความรู้สึกอทุกขมสุข คือ เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข วันนี้มีกี่ครั้ง แต่ถ้าได้เจริญสติจะทราบได้ว่า ขณะนั้นเป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าใครคิดที่จะเจริญสติปัฏฐาน จะเจริญวิปัสสนา จะเจริญปัญญาโดยที่ข้ามชีวิตปกติประจำวันแล้ว ไม่มีโอกาสละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้
มีชาวต่างประเทศท่านหนึ่งไปสู่สำนักปฏิบัติ เป็นเวลาประมาณ ๒ เดือน แล้วบอกว่าดีเหลือเกิน แต่ยากมาก ยากเหลือเกิน เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ไปเข้าอีก อีก ๕ ปีถึงจะไปเข้า ความเข้าใจอย่างนี้ผิดหรือถูก ถ้าเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ มีความเข้าใจถูกจริงๆ ในการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติแล้ว ก็ต้องเจริญสติต่อไปเรื่อยๆ เนืองๆ เป็นปกติ การเห็นก็เป็นอย่างนี้ ปกติธรรมดา สิ่งที่ปรากฏก็เป็นปกติ คือ เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา
เวลาที่อยู่ในสถานที่ที่จำกัด การเห็นผิดปกติหรือไม่ ทางตามีอะไรต่างกัน ทางหูมีอะไรต่างกัน ทางจมูกมีอะไรต่างกัน ทางลิ้นมีอะไรต่างกัน ทางกายมีอะไรต่างกัน ทางใจมีอะไรต่างกัน ปัญญาจะต้องรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามปกติทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ผิดปกติ
ผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานจะไม่มีคำถามด้วยความสงสัยว่า ขณะกำลังเห็นอย่างนี้เจริญสติได้ไหม ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร ขณะที่กำลังเดิน ขณะที่กำลังซื้อของ ขณะที่กำลังพูด ขณะที่กำลังอ่านหนังสือ ทุกอย่างสำหรับผู้ที่รู้ลักษณะของขณะที่มีสติ ก็ไม่มีคำถามด้วยความสงสัยว่า เจริญสติได้ไหม แต่ถ้าท่านผู้ใดมีเพื่อนฝูงมิตรสหายถามว่า กำลังขับรถยนต์เจริญสติปัฏฐานได้ไหม กำลังข้ามถนนเจริญสติปัฏฐานได้ไหม กำลังพูดกำลังคุยเดี๋ยวนี้เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ท่านก็ทราบได้ว่าผู้นั้นยังสงสัยอยู่ ไม่ใช่ความรู้ในลักษณะของสติ เพราะถ้ารู้ลักษณะของสติแล้ว จะไม่สงสัยเลย แต่ถ้าคิดว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ชีวิตปกติ ขอให้พิจารณาให้ละเอียด เป็นต้นว่า นั่งนานๆ จนกว่าจะเมื่อย คอยทุกขเวทนา
แต่เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ขณะที่เสวยสุขเวทนาก็รู้ว่าเสวยสุขเวทนา ในเมื่อขณะนั้นก็มีนามมีรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเกิดดับสืบต่อกันเพราะเหตุปัจจัย โดยที่ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถจะไปยับยั้ง ขณะที่สุขเวทนาเกิดขึ้นก็ให้ระลึกรู้ ก็เป็นการเห็นเวทนาในเวทนา
ถ. การที่อาจารย์กล่าวถึงชาวต่างประเทศไปปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วก็กล่าวว่าอีก ๕ ปีจึงจะไปปฏิบัติใหม่นี้ ทำให้กระผมระลึกถึงผู้หนึ่งก็ไปปฏิบัติ ณ สำนักหนึ่งปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน แต่จะปฏิบัติกันอย่างไรไม่ทราบ กลายเป็นผู้ที่วิกลจริตไป น่าสลดใจมาก อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานหรือไม่ ก็เข้าใจว่าจะไม่ตรง แต่ทำไมจึงวิกลจริตไป เพราะเหตุไร และถ้าเกิดหายแล้วเขาจะปฏิบัติแบบนั้นอีกไหม
สุ. ผลที่ผิดต้องมาจากเหตุที่ผิด เช่นเดียวกับผลที่ถูกก็ต้องมาจากเหตุที่ถูก ผลที่ถูก คือ ปัญญาที่รู้ชัดในลักษณะของธรรมตามปกติ ซึ่งจะต้องเกิดจากการเจริญเหตุที่ถูก คือ การที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติเพราะเหตุปัจจัย ถ้าเป็นผลที่ผิด คือ การเสียสติ เสียจริตไป วิกลจริต วันแรกคงไม่เป็น แต่ค่อยๆ เป็นเพราะทำความผิดปกติขึ้นทีละเล็กทีละน้อย แล้วความผิดปกติอย่างมากก็มีได้ ถ้าไม่แก้ความเข้าใจให้ถูกในการเจริญวิปัสสนาว่า การเจริญปัญญาวิปัสสนานั้น คือ การเจริญสติปัฏฐานตามปกติในชีวิตประจำวันนั่นเอง ถ้าไม่แก้ความเข้าใจในข้อนี้ให้ถูกต้อง ก็ไม่มีโอกาสที่จะเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติได้
ถ. มีนามธรรมอยู่อีกประเภทหนึ่ง ที่ท่านไม่ได้จัดไว้ในหมวดของเวทนา คือปีติเจตสิก ปีติเจตสิกกับโสมนัสนี้ รู้สึกว่าใกล้เคียงกันเหลือเกิน แยกกันอย่างไรไม่ค่อยจะถูกว่า อย่างไรจึงจะเรียกว่าปีติ อย่างไรจึงจะเรียกว่าโสมนัส
สุ. เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท ที่ทางธรรมใช้คำว่า ๕๒ ดวง เวทนาเจตสิก ๑ ดวงเป็นเวทนาขันธ์ สัญญาเจตสิก ๑ ดวงเป็นสัญญาขันธ์ ปีติและเจตสิกอื่นเป็นสังขารขันธ์ สุขเป็นสภาพที่เสวยอารมณ์เป็นสุข แต่ปีตินั้นเป็นความปลาบปลื้ม ซึ่งกล่าวไว้ในหมวดของเวทนานุปัสสนา เพราะเวทนานั้นประกอบด้วยปีติ ลักษณะก็ปรากฏชัดสำหรับตติยฌาน เพราะในขณะนั้นเป็นสุขเวทนาที่ประกอบด้วยปีติ ยังไม่ได้ละปีติ พอถึงจุตตถฌานโดยปัญจกนัย ก็ละปีติ
เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติต้องรู้ลักษณะความต่างกันของเวทนาที่ประกอบ ด้วยปีติและไม่ประกอบด้วยปีติ แล้วแต่การพิจารณาความละเอียดของผู้ปฏิบัติ
ในประการต้น เสวยสุขเวทนาก็รู้ เสวยทุกขเวทนาก็รู้ เสวยอทุกขมสุขเวทนาก็รู้ นี่ยังเป็นเรื่องทั่วๆ ไปตามกำลังของสติที่จะระลึกได้ ยังไม่รู้ละเอียด แต่ขณะใดที่เป็นสุขเวทนาก็ระลึกรู้ว่า เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เวลาที่ทุกขเวทนาเกิดขึ้นปรากฏ สติก็ระลึกรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ส่วนที่จะรู้ละเอียดมากกว่านั้นก็เป็นความละเอียดของผู้ปฏิบัติที่ต้องสำเหนียกสังเกตมากขึ้น แล้วพิจารณารู้ทั่วขึ้น
ข้อความใน สฬายตนวิภังคสูตร มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหาร เชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสฬายตนวิภังค์แก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจงฟังสฬายตนวิภังค์นั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า
ชอบแล้วพระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า
พวกเธอพึงทราบอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ความนึกหน่วงของใจ ๑๘ ทางดำเนินของสัตว์ ๓๖ ใน ๓๖ นั้น พวกเธอจงอาศัยทางดำเนินของสัตว์นี้ ละทางดำเนินของสัตว์นี้ และพึงทราบการตั้งสติ ๓ ประการที่พระอริยเสพ ซึ่งเมื่อเสพชื่อว่า เป็นศาสดาควรเพื่อสั่งสอนหมู่ อันเราเรียกว่าสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ยอดเยี่ยมกว่าอาจารย์ผู้ฝึกทั้งหลาย นี้เป็นอุเทศแห่งสฬายตนวิภังค์
สำหรับอายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖ หมวดวิญญาณ ๖ หมวดผัสสะ ๖ ก็คงจะได้ทราบกันมาบ้างแล้ว จะขอกล่าวถึงเฉพาะหมวดที่เกี่ยวข้องกับเวทนานุปัสสนา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงทราบความนึกหน่วงของใจ ๑๘ นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว คือ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ ใจย่อมนึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโสมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งโทมนัส นึกหน่วงรูปเป็นที่ตั้งแห่งอุเบกขา
ทางตาก็เกิดได้ทั้ง ๓ ความรู้สึก คือ ทั้งโสมนัส ทั้งโทมนัส ทั้งอุเบกขา
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๒ ตอนที่ ๑๑๑ – ๑๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120