แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
ครั้งที่ ๖๗
การเสพจนคุ้น การพิจารณานามทางตาจนคุ้น การพิจารณานามทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนคุ้น การมีสติระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาจนคุ้น การมีสติระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนคุ้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
การบรรลุสัจจะ ย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แล้วเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
ซึ่งกาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามถึงธรรมมีอุปการะมาก แก่การบรรลุสัจจะว่ามีอะไรบ้าง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ คือ ความเพียร
สุ. วันนี้เพียรบ้างหรือไม่
ต. เพียรบ้าง ไม่เพียรบ้าง
สุ เพราะฉะนั้น เมื่อระลึกขึ้นได้ในขณะใด เป็นลักษณะของสติ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ถ้ามีความเพียรที่จะระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ
กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า
ธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความเพียร คือ อะไร
พระผู้มีพระภาคก็ตรัสตอบว่า
ปัญญาเครื่องพิจารณา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ความเพียร
ไม่มีปัญญาจะเพียรถูกไหม ก็ไม่ถูก ไปเพียรทำอย่างอื่นเสียอีกแล้ว ไม่ใช่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ปัญญาเครื่องพิจารณาก็เป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความเพียร
กาปทิกมาณพก็ได้ทูลถามต่อไปว่า
ธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณานั้น คืออะไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ความอุตสาหะ ได้แก่ ความไม่ท้อถอย เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา
ท้อใจบ้างหรือยัง เท่านั้นเอง ก็แค่นาม ทางตาระลึกขึ้นมาก็ขณะหนึ่ง ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซ้ำไปซ้ำมาวันหนึ่งๆ ก็เท่านั้นเอง ยังไม่เห็นถึงญาณขั้นไหนเลย ยังไม่เห็นประจักษ์การเกิดดับของนามและรูปเลย ยังไม่เห็นถึงพระนิพพานเลย เริ่มจะท้อถอยหรือยัง
กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า
อะไรเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบว่า
ฉันทะ เป็นธรรมมีอุปการะมาก
ฉันทะ คือ ความพอใจ แต่ก่อนนี้ท่านอาจจะมีฉันทะในเรื่องทางโลก ในการแสวงหาปัจจัย ในการที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต แต่ ถ้าท่านฟังธรรม มีฉันทะในการที่จะพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูป ก็จะทำให้ไม่ท้อถอย
กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า
อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ฉันทะ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง มีอุปการะมากแก่ฉันทะ
ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นลักษณะของนามและรูป แต่ว่าเคยมีฉันทะที่จะรู้ลักษณะไหม หรือว่ามีฉันทะในการที่จะยึดถือว่าเป็นตัวตน
กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า
อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ปัญญาใคร่ครวญเนื้อความ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง
กาปทิกมาณพ กราบทูลถามต่อไปว่า
อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาใคร่ครวญเนื้อความ
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
การทรงจำธรรมไว้ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาใคร่ครวญเนื้อความ
กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า
ธรรมอะไรมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมไว้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
การฟังธรรม เป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรมไว้
กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า
อะไร เป็นธรรมมีอุปการะมาก แก่การฟังธรรม
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
การเงี่ยโสตลง เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม
กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า
อะไรเป็นธรรมที่อุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
การเข้าไปนั่งใกล้ เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง
กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า
อะไรเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
การเข้าไปหา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้
กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า
อะไรเป็นธรรมที่มีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ศรัทธา เป็นธรรมมีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา
ทุกท่านที่มาที่นี่เป็นผู้มีศรัทธาที่จะฟัง เป็นผู้มีศรัทธาที่จะเข้าไปหา เข้าไปนั่งใกล้ และเมื่อฟังธรรมก็ทรงจำธรรมไว้ แล้วก็มีปัญญาใคร่ครวญเนื้อความธรรมที่ได้ทรงจำไว้ แล้วก็รู้ว่าธรรมใดเป็นธรรมที่ควรแก่การเพ่ง เมื่อรู้ ก็มีฉันทะในการที่จะพิจารณาธรรมนั้น ก็ย่อมไม่ท้อถอย เจริญสติ เสพจนคุ้น วันหนึ่งก็ต้องมีการบรรลุสัจธรรมได้
กาปทิกมาณพกราบทูลว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระโคดมผู้เจริญ โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
หวังว่าทุกท่านก็คงจะถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต ไม่ใช่ถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นบุคคลที่รู้ตรงรู้แจ้งธรรม ก็อยู่ในข้อที่ท่านถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระอริยสงฆ์นั่นเองเป็นสรณะ
เวลานี้มีธรรมที่ควรแก่การเพ่งไหม สิ่งที่มีเป็นของจริง เป็นปกติธรรมดาจริงๆ กำลังเห็นในขณะนี้ จริงแน่ๆ เกิดดับจริงๆ ของจริงมีให้รู้ได้ ๖ ทาง ไม่ว่าจะเป็นของจริงทางตาที่เกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะเหตุปัจจัย ก็ควรระลึกรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริง ถ้าเป็นเสียงก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งปรากฏทางหู ถ้าเป็นกลิ่นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางจมูก ถ้าเป็นความสุขความทุกข์ สติระลึกรู้ว่าเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นสภาพรู้สึกเป็นสุขบ้าง รู้สึกเป็นทุกข์บ้าง
และการที่จะรู้เช่นนั้นได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อสติระลึกรู้ทีละลักษณะ ทางตา มีทั้งนามมีทั้งรูป ถ้าไม่พิจารณาจะรู้ไหมว่า ลักษณะของนามนั้นเป็นอย่างไร ทางหู มีทั้งนามทั้งรูป แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของนาม จะรู้ไหมว่าลักษณะใดเป็นนาม ลักษณะใดเป็นรูป นามที่ได้ยินกับเสียงก็ปนกัน เมื่อรวมกันก็เป็นสัตว์เป็นบุคคล เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ได้รู้ชัดในลักษณะของนามในลักษณะของรูป ไม่ใช่ว่ายังไม่พิจารณา ไม่ใช่ว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ ก็กล่าวว่ารู้แล้ว แต่ที่จะรู้ได้มากขึ้น เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยขึ้น มากขึ้น
ถ. ช่วยอธิบายให้ชัดในการเจริญสติ ดูขันธ์ ๕ บ่อยๆ ไม่ใช่ตัวตนนั้นเจริญอย่างไร เช่น มีเสียงมาว่าเรา ในขณะนั้นจะให้มีสติอย่างไร
สุ. ถ้าเข้าใจการเจริญสติถูกต้องแล้ว ไม่ว่าจะว่าดี ว่าร้ายอย่างไร ก็ควรเจริญสติทั้งนั้น ไม่ว่าจะเห็นดี เห็นร้ายอย่างไร ก็ควรระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะได้กลิ่นดี กลิ่นร้ายอย่างไร ก็ควรมีสติระลึกถึงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติต้องเจริญปัญญารู้ว่า ขณะที่หลงลืมสติเป็นอย่างไร และขณะที่กำลังมีสติเกิดขึ้น คือ ขณะที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ พูดง่ายๆ สั้นๆ แต่คงทำยาก เพราะเหตุว่าต้องอาศัยความเข้าใจจริงๆ ต้องรู้ด้วยว่า ขณะที่หลงลืมสติเป็นอย่างไร
วันหนึ่งๆ เหมือนเก่าเหมือนเดิมก็เป็นหลงลืมสติ แต่ถ้าขณะใด ฟังเข้าใจระลึกได้ เมื่อระลึกได้ แล้วแต่สติจะระลึกรู้ทางตา หรือทางหูก็ได้ ไม่ใช่ว่าจำกัดจะต้องระลึกเฉพาะทางหนึ่งทางใด เป็นต้นว่าเวลาที่เสียงปรากฏจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นรูป ไม่ใช่นาม เพราะว่าในขณะที่เสียงปรากฏ ได้ยินมี ไม่ใช่ได้ยินไม่มี ถ้าได้ยินไม่มี เสียงก็ไม่ปรากฏ
เวลาที่เสียงปรากฏ หมายความว่า มีเสียง มีได้ยิน แต่ปัญญาจะต้องรู้ชัดว่า ลักษณะใดเป็นเสียง ลักษณะใดเป็นได้ยิน ถ้าไม่เคยคิดที่จะเจริญสติเพื่อจะรู้ วันไหนๆ ก็ไม่มีวันจะรู้ แต่ถ้าทราบว่า การไม่รู้เป็นอวิชชา เป็นวิจิกิจฉา ยังสงสัยอยู่ เมื่อสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามที่กำลังได้ยิน หรือว่าไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของเสียงที่กำลังปรากฏ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นในขณะนั้นก็ยังคงสงสัยว่า ได้ยินต่างกับเสียงอย่างไร ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะถ่ายถอนความสงสัยอันนี้ออกไปได้ นอกจากตนเองจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและของรูปทางหู
เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยิน หรือว่ามีเสียงปรากฏ กำลังได้ยินตามปกติ ไม่ต้องทำอะไรให้ผิดปกติเลย แต่เริ่มใส่ใจที่จะสำเหนียกว่า ลักษณะนี้เป็นสภาพรู้ทางหู
คำว่า นาม หรือ นามะ หมายความถึงสภาพรู้ ไม่ต้องใส่ชื่อ หรือ ไม่ต้องบอกว่ากำลังพิจารณานาม หรือไม่ต้องนึกว่า กำลังพิจารณานามได้ยิน หรือ ไม่ต้องนึกว่า ที่กำลังได้ยินนี้เป็นนามชนิดหนึ่ง ใครจะนึกขึ้นมาในขณะนั้น ก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่นึกคิดขึ้น เพราะมีเหตุปัจจัยให้ระลึกเช่นนั้น แต่ผู้เจริญสติ ต้องเจริญปัญญารู้ว่า ได้ยินไม่ใช่คิด ไม่ใช่นึก และได้ยินก็ไม่ใช่เสียงด้วย เพราะเหตุว่าได้ยินเป็นสภาพรู้ ส่วนเสียงในขณะที่เสียงปรากฏ รู้ว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางหูเท่านั้น เสียงไม่ปรากฏทางตา เสียงไม่ปรากฏทางจมูก เสียงที่กำลังปรากฏ ปรากฏที่ไหนดับที่นั่น ต้องรู้นามรูปที่ปรากฏทางตาด้วย ทางหูด้วย ทางจมูกด้วย ทางลิ้นด้วย ทางกายด้วย ทางใจด้วย จนกว่าจะหมดความสงสัย จนกว่าจะหมดการยึดถือสภาพนั้นๆ ว่าเป็นตัวตน ด้วยการรู้ชัดในลักษณะของแต่ละนามแต่ละรูปมากขึ้น
เป็นต้นว่า ทางตา ถ้าผู้ใดไม่เคยระลึกได้เลยว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น เท่านั้นจริงๆ ที่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ นั้น เป็นความคิด เป็นสภาพรู้อีกชนิดหนึ่งทางใจ ไม่ใช่ทางตา
การที่จะรู้ชัด ต้องหมายความว่า สติระลึกรู้ในขณะที่กำลังเห็นบ่อยๆ ว่าที่ กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ทางตา ถ้ารู้เนืองๆ บ่อยๆ อย่างนี้ เวลาที่รู้ความหมาย รู้ชื่อ รู้ว่าเป็นวัตถุสิ่งนั้นสิ่งนี้ ก็จะรู้ได้ว่าไม่ใช่สภาพเห็น
เพราะฉะนั้น จะต้องอาศัยสติระลึกรู้เนืองๆ บ่อยๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง โดยไม่คำนึงถึงผล ไม่ใช่ว่าเมื่อไรจะได้เป็นพระอริยบุคคล คิดอย่างนั้นไม่มีประโยชน์ แต่ตรงกันข้าม ประโยชน์เกิดที่ว่า เมื่อมีสติระลึกได้ ก็รู้ลักษณะของนามหรือรูปทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วผู้เจริญสติเองเป็นผู้ที่รู้ชัดว่า ได้พิจารณานามอะไรบ้าง ได้รู้ชัดในนามอะไรเพิ่มขึ้น มากขึ้นบ้าง เพราะเป็นปัญญาที่จะต้องเจริญขึ้นจริงๆ เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏแล้ว ที่จะให้ยังคงไม่รู้อยู่นั้น ไม่ใช่การเจริญปัญญา ไม่ใช่การละความสงสัย
ความจริง มีตามปกติเป็นประจำวันทุกๆ วัน ถ้าผู้ใดได้รู้ลักษณะของธรรมชาตินั้นตามความเป็นจริงแล้ว ย่อมเป็นพระอริยบุคคลได้
มีความกังวลใจในที่อยู่ไหมในวันหนึ่งๆ วันนี้ตื่นเช้ามาก็ต้องปัดกวาดเช็ดถู ทุกๆ อย่างนั้นเป็นความกังวล ความห่วงใยในที่อยู่ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเมื่อในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้ว่า อาวาสปลิโพธ หรือกัมมปลิโพธ อัทธานปลิโพธก็จะกลายเป็นเรื่องอื่นไป ไม่ใช่ชีวิตประจำวัน
เพราะฉะนั้น ในปลิโพธที่เป็นเครื่องกังวลใหญ่ๆ ๑๐ ประการ ใน ๙ ประการนั้นไม่กั้นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นความกังวลในที่อยู่ก็สามารถมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ หรือว่าไม่ว่าจะเป็นในลาภปัจจัยที่ได้รับ เป็นนามเป็นรูปในชีวิตประจำวันทั้งนั้น มีอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน ที่ใครค้นคว้าหาแล้ว ไม่ใช่นามไม่ใช่รูป แม้ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะทราบไว้ว่า ธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก ไม่ว่าจะเป็นไปในเรื่องใด หรือว่าในเรื่องของปลิโพธนั้น ก็เป็นชีวิตจริงๆ ของทุกๆ คน
ในปลิโพธใหญ่ๆ ๑๐ ประการ อาวาสปลิโพธ กุลปลิโพธ ลาภปลิโพธ คณปลิโพธ กัมมปลิโพธ อัทธานปลิโพธ ญาติปลิโพธ อาพาธปลิโพธ คันถปลิโพธ อิทธิปลิโพธ ปลิโพธ ๙ ประการไม่กั้นการเจริญวิปัสสนา แต่ประการสุดท้าย คือ อิทธิปลิโพธนั้นกั้นการเจริญวิปัสสนาได้ เพราะเหตุว่าปลิโพธนั้นเป็นความกังวลในการเจริญฤทธิ์
ทุกท่านก็คงจะทราบว่า การเจริญฤทธิ์ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ถ้าท่านต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ก็ยังจะหาได้ตามปกติ ไม่ต้องเสียเวลามาก แต่ในการเจริญฤทธิ์ ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ภายในวันเดียวหรือสองวัน ท่านต้องศึกษาการเจริญเหตุที่จะให้เกิดฤทธิ์โดยละเอียด คือ จะต้องศึกษาเรื่องของการเจริญสมถภาวนา และเมื่อศึกษาเข้าใจแล้ว ยังจะต้องพากเพียรที่จะให้เกิดฌานจิต ความสงบของจิตเป็นขั้นๆ ตั้งแต่ฌานจิตที่เป็นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌาน แล้วก็ยังต้องต่อไปถึงอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ จนกระทั่งได้ทั้งรูปฌานและอรูปฌานทั้งหมดแล้ว ก็ยังไม่สามารถที่จะแสดงฤทธิ์ได้ ที่จะสามารถแสดงฤทธิ์ได้นั้นจะต้องมีความชำนาญมาก มีวสี มีความแคล่วคล่อง แล้วแต่ว่าฤทธิ์ที่ท่านต้องการนั้นจะเป็นไปในทางใด จะเป็นไปในเรื่องของจักษุทิพย์ หรือว่าโสตทิพย์ หรือว่าการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ต่างๆ นั่นก็ต้องฝึกหัดเจริญให้เกิดขึ้นแต่ละอย่างแต่ละทาง ซึ่งจะต้องใช้เวลานานมาก
เพราะฉะนั้น การเจริญสมาธิไม่ใช่การเจริญปัญญาเพื่อรู้แล้วละ แล้วคลายการยึดถือสภาพนามรูปว่าเป็นตัวตน แสดงให้เห็นว่า ถ้ายังต้องการเจริญฤทธิ์กั้นการเจริญวิปัสสนาได้ เพราะเหตุว่าเมื่อต้องการเจริญฤทธิ์ ก็จะต้องใช้ความเพียร ความฝักใฝ่ในความสงบมาก เมื่อมีความฝักใฝ่ในการเจริญฤทธิ์ สติก็ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ถ. เวลาเจริญสติปัฏฐาน แล้วนั่งโงกง่วงขึ้นมา มีวิธีแก้ไหม
สุ. การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติธรรมดามากขึ้น ชัดขึ้น ชินขึ้น แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะนั้นหรือไม่ ทุกคนมีความง่วง ความเพลีย ความอ่อนล้าของร่างกาย ความรู้สึกไม่สบาย แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดสภาพธรรมชนิดนั้น ขึ้นกับสติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นในขณะนั้นหรือไม่
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120