แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
ครั้งที่ ๖๙
ตอนที่ยังเป็นเด็ก หรือตอนที่เป็นหนุ่มสาว ได้ยินธรรมก็ไม่อยากฟัง เป็นเรื่องของการดับภพดับชาติ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ทำให้เพลิดเพลินยินดีในภพในชาติเลย
ภพ คืออะไร ชีวิตที่เป็นไปในวันหนึ่งๆ มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการรู้รส มีการได้กระทบสัมผัสสิ่งต่างๆ ถ้าคิดนึกก็ไม่พ้นไปจากวิตกในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
ถ้ายินดียินร้าย ก็ไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะอีกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ถ้าผู้ใดที่ยังมีภพเป็นที่มายินดี เมื่อพระตถาคตแสดงธรรมเพื่อความดับภพ จิตของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่เลื่อมใส ย่อมไม่ดำรงอยู่ด้วยดี ย่อมไม่น้อมไป
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดสนใจฝักใฝ่ในธรรม โดยเฉพาะในพระธรรมที่พระตถาคตได้ทรงแสดงเพื่อความดับภพ ก็เป็นลาภอันประเสริฐที่ว่าผู้นั้นย่อมไม่ติดอยู่
ส่วนอีกประการหนึ่ง ในทิฏฐิประการที่ ๒ ที่ว่า บางพวกย่อมแล่นเลยไป มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวกย่อมแล่นเลยไปอย่างไรเล่า ก็เทวดาและมนุษย์บางพวกอึดอัด ระอา เกลียดชังอยู่ด้วยภพนั่นแล ย่อมเพลิดเพลินความขาดสูญว่า
แน่ะ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า เมื่อใดตนนี้เมื่อตายไปย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เบื้องแต่ตายย่อมไม่เกิดอีก นี้ละเอียด นี้ประณีต นี้ถ่องแท้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เทวดาและมนุษย์บางพวกย่อมแล่นเลยไปอย่างนี้แล
ไม่อภิชฌาก็โทมนัสในภพ ไม่เพลินไปด้วยความต้องการ ความน่าเพลิดเพลินต่างๆ ก็เกิดความอึดอัดระอาเกลียดชัง แล้วก็คิดว่า เวลาที่ตนนี้เมื่อตายไป ย่อมขาดสูญ ย่อมพินาศ เบื้องแต่ตายย่อมไม่เกิดอีก ก็เข้าใจว่าความคิดนี้ละเอียดประณีตถ่องแท้ และก็คิดว่า เมื่อมีความอึดอัด มีความเกลียดชัง มีความระอาในภพนั้น ก็คงจะเป็นเหตุให้ไม่ต้องเกิดอีก ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนพวกที่มีจักษุย่อมเห็นอย่างไรเล่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง ครั้นเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนพวกที่มีจักษุ ย่อมเห็นอย่างนี้แล
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้วในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ ดังนี้ ว่า
อริยสาวกใดเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว และธรรมเป็นเครื่องก้าวล่วงขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วโดยความเป็นจริง ย่อมน้อมไปในนิพพานตามความเป็นจริง เพราะภวตัณหาหมดสิ้นไป ถ้าว่าอริยสาวกนั้นกำหนดรู้ขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว ปราศจากตัณหาในภพน้อยและภพใหญ่แล้วไซร้ ภิกษุทั้งหลายย่อมไม่มาสู่ภพใหม่ เพราะความไม่เกิดแห่งอัตภาพที่เกิดแล้ว
เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล
นี่เป็นข้อความในพระสูตรซึ่งแสดงให้เห็นว่า ทรงอนุเคราะห์ ทรงอุปการะผู้ที่อาจจะเข้าใจไขว้เขวคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติ ไม่ว่าในสมัยใดทั้งสิ้น เพราะพระองค์ทรงมีพระมหากรุณา ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณรู้ว่า หลังปรินิพพานพระสัทธรรมนั้นย่อมเสื่อม ย่อมคลาดเคลื่อนได้
เพราะฉะนั้น จึงได้ทรงแสดงธรรมอนุเคราะห์ไว้ด้วยประการต่างๆ แม้ในการเจริญสติ เห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว เวลานี้กำลังนั่งอยู่ที่นี่ ขันธ์ ๕ ใดปรากฏ ย่อมเป็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่เกิดจะปรากฏไม่ได้ การเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ อย่าน้อมไป โน้มไปด้วยอวิชชาและอภิชฌาถึงขันธ์ ๕ ที่ยังไม่เกิด ถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ไม่ใช่การเห็นขันธ์ ๕ ที่เกิดแล้ว
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. จำอะไรไม่ได้ ความจริงจำแล้วทีละนิดทีละหน่อย ก็เลยรู้สึกว่าน้อย จนกระทั่งบางครั้งจำไม่ได้ แต่ความจริงในขณะที่เห็น มีสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมกับจิต จำอารมณ์ที่ปรากฏในขณะนั้น พอถึงทางหู ขณะที่จำได้ ไม่ใช่รูป รูปเย็น รูปร้อน รูปอ่อน รูปแข็ง รูปไหว รูปตึง แต่ว่าสภาพที่จำได้นั้นเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ไม่ได้จำได้ตลอดเวลา จำทางหูก็ดับไป ในขณะนั้นมีสติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่า ที่จำนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วก็หมด ไม่ได้จำอยู่ตลอดเวลา มีนามอื่นรูปอื่นต่อไป ที่นึกนั้นเป็นนามธรรม มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปอะไรก็ได้ ขณะไหนก็ได้ ที่ไหนก็ได้ ทุกอย่างตามปกติ ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะคิด จะยิ้ม จะขับรถ ท่านก็เป็นผู้เจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น จนกระทั่งหมดความสงสัยในลักษณะของนามและรูป
ขอกล่าวถึงอังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สีลสูตร ซึ่งมีข้อความเรื่องเดินตามสบาย นั่งตามสบาย นอนตามสบาย ยืนตามสบาย
อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สีลสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์สมบูรณ์ จงเป็นผู้สำรวมในปาฏิโมกข์สังวร สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายมีศีลสมบูรณ์ มีปาฏิโมกข์สมบูรณ์ สำรวมในปาฏิโมกข์สังวร สมบูรณ์ด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษอันมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย กิจที่ควรทำยิ่งกว่านี้ จะพึงมีอะไรเล่า
ถ้าแม้ภิกษุกำลังเดินไป อภิชฌาไปปราศแล้ว พยาบาทไปปราศแล้ว ละถีนมิทธะได้แล้ว ละอุทธัจจะกุกกุจจะได้แล้ว ละวิจิกิจฉาได้แล้ว ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบ ไม่ระส่ำระสาย มีจิตมั่นคง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ภิกษุแม้เดินอยู่ เป็นอย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ มีความเพียรอันปรารภแล้ว เป็นนิจนิรันดร์ มีใจเด็ดเดี่ยว
(ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของการยืน การนั่ง การนอน ซึ่งไม่จำกัดสถานที่ ไม่จำกัดเวลา มีข้อความโดยนัยเดียวกันว่า)
ถ้าแม้ภิกษุยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนตื่นอยู่ ก็มีสติมั่น ไม่หลงลืม มีกายสงบไม่ระส่ำระสาย มีจิตมั่นคง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง ภิกษุแม้ยืนอยู่อย่างนี้ แม้นั่งอยู่อย่างนี้ แม้นอนตื่นอยู่อย่างนี้ เราเรียกว่า ผู้มีความเพียร มีโอตตัปปะ มีความเพียรอันปรารภแล้วเป็นนิจ มีใจเด็ดเดี่ยว
ภิกษุพึงเดินตามสบาย พึงยืนตามสบาย พึงนั่งตามสบาย พึงนอนตามสบาย พึงคู้ตามสบาย พึงเหยียดตามสบาย ตลอดคติของโลก ทั้งเบื้องบน ท่ามกลางและเบื้องต่ำ และพิจารณาตลอดความเกิดและความเสื่อมไปแห่งธรรมและขันธ์ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้น ผู้มีสติทุกเมื่อ ศึกษาปฏิปทาอันสมควรแก่ความสงบใจเสมอว่า มีใจเด็ดเดี่ยว
ทรงอนุเคราะห์ไม่ให้พุทธบริษัทต้องลำบากไปทรมาน ถ้าไม่มีสูตรนี้ก็คงจะไปนั่งนานๆ เดินนานๆ ยืนนานๆ ไม่เป็นปกติ ไม่เป็นไปตามสบาย แต่ในสูตรนี้มีข้อความว่า ภิกษุพึงเดินตามสบาย
สติจะมีกำลังเป็นพละที่รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติ ตามสบาย ไม่อึดอัด ไม่มีตัวตนที่ไปบังคับให้เหน็ดเหนื่อย ให้หนัก ให้ทรมาน ให้ลำบาก เพราะเหตุว่าในขณะที่เดินตามสบาย สติก็เกิดได้ ไม่ใช่เกิดไม่ได้
พึงยืนตามสบายปกติเป็นชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน แล้วก็ให้สติเกิดขึ้น
พึงนั่งตามสบายบังคับหรือเปล่าว่า นั่งท่าไหน ไม่บังคับเลย บังคับหรือเปล่า ว่าต้องนั่งนานๆ ให้เมื่อย พึงนั่งตามสบาย ไม่ได้ทรมานใครเลย ปกติ แล้วสติก็เกิดขึ้น รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดดับตามปกติตามความเป็นจริงได้
พึงคู้ตามสบาย พึงเหยียดตามสบาย ปกติทุกอย่าง และพิจารณาตลอด ไม่ได้เจาะจงนามหนึ่งนามใด รูปหนึ่งรูปใดเลย พิจารณาตลอดความเกิดและความเสื่อมไปแห่งธรรมและขันธ์ทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวภิกษุอย่างนั้น ผู้มีสติทุกเมื่อ ศึกษาปฏิปทาอันสมควรแก่ความสงบใจเสมอว่า มีใจเด็ดเดี่ยว
คนที่มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ใช่ไปทรมานตัว แต่มีใจเด็ดเดี่ยวที่จะประพฤติปฏิบัติตามปกติ เพื่อการรู้แจ้ง เพื่อการละการยึดถือว่าเป็นตัวตน แล้วก็ศึกษาปฏิปทาอันสมควรแก่ความสงบใจ
ถ้าเจริญสมาธิสงบชั่วคราว แล้วก็มีโลภะอยากจะได้สมาธิมากๆ หรือว่าเวลาที่สมาธิหมดไปแล้วก็เกิดโทสะ แต่ความสงบที่แท้จริงนั้นต้องเป็นความสงบที่เกิดจากสงบจากกิเลส สงบจากอวิชชาที่ไม่รู้ สงบจากความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน ถ้าขณะใดที่มีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ขณะนั้นสงบ และสำหรับคำอธิบายที่ว่า ผู้มีสติทุกเมื่อนั้น
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญหาของท่านโมฆราชพราหมณ์ ซึ่งท่านโมฆราชพราหมณ์ได้กราบทูลถามว่า
ข้าพระองค์มีความต้องการด้วยปัญญา จึงมาเฝ้าพระองค์ ผู้เห็นธรรมอันงามอย่างนี้ เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างไร มัจจุราชจึงไม่เห็น
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบปัญญาของท่านโมฆราชพราหมณ์ว่า
ดูกร โมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติ พิจารณาเห็นโลก โดยความเป็นของสูญทุกเมื่อ ถอนอัตตานุทิฏฐิเสียแล้ว พึงข้ามพ้นมัจจุได้ด้วยอุบายอย่างนี้ เมื่อบุคคลพิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชจึงไม่เห็น
สำหรับคำอธิบายความหมายของพยัญชนะที่ว่า มีสติทุกเมื่อนั้น ในขุททกนิกาย จูฬนิทเทส โมฆราชมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความอธิบายว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกพราหมณ์นั้นโดยชื่อว่า โมฆราช โดยอุเทศว่า โมฆราชสทาสโตดังนี้
คำว่า ทุกเมื่อ คือ ตลอดกาลทั้งปวง
คำว่า ผู้มีสติ คือ มีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญสติปัฏฐานเพื่อพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมบุคคลนั้นตรัสว่า เป็นผู้มีสติ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ดูกร โมฆราช ฯลฯ มีสติทุกเมื่อ
ถ. เดินไปแล้วระลึกถึง พุทโธ พุทโธ เป็นสติไหม
สุ. สติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น ต้องมีลักษณะ ที่นึกว่า พุท เป็นนามชนิดหนึ่ง ขณะนั้นต้องรู้ว่าไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพที่คิด นามธรรมที่คิด เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป สังขารธรรมทั้งหมดไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย สติปัฏฐานต้องรู้ลักษณะ ทุกคนที่นี่กำลังเห็น มีอวิชชา หรือมีวิชชา เห็นเหมือนกัน แต่ว่าขณะไหนเป็นอวิชชา ขณะไหนเป็นวิชชา รู้ได้ไหม ถ้ารู้ไม่ได้ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้อีกเหมือนกัน
เวลานี้กำลังเห็น อวิชชา คือ เราเห็น เหมือนเดิมตลอดเวลา เมื่อไรก็เราเห็น เราเห็น ขณะใดที่ฟังเรื่องการเจริญสติแล้ว แต่ว่าเราเห็น ขณะนั้นหลงลืมสติ แต่ขณะใดที่เห็น รู้ว่าที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่งเท่านั้น นี่คือ วิชชา ซึ่งจะละอวิชชา มีความรู้มากในทางโลก แต่ทำไมว่ามีอวิชชา ที่มีอวิชชานั้นเพราะไม่รู้ในขณะที่กำลังเห็น ไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญวิชชา คือเจริญความรู้ลักษณะของสิ่งที่มีจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ. เวลาที่สติเกิด อภิชฌาโทมนัสจะไม่มีบ้างทีเดียวหรือ
สุ. ใครไม่มีโลภะ พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่มี แต่ผู้ที่กำลังเจริญสติ มีเหตุปัจจัยให้จิตเห็นเกิด จิตเห็นก็เกิด มีปัจจัยให้จิตชอบไม่ชอบ จิตชอบไม่ชอบก็เกิดขึ้น มีปัจจัยให้สติเกิด สติก็เกิด เพราะฉะนั้น โลภะก็ดี โทสะก็ดี เป็นอารมณ์ของสติได้ ไม่ใช่บังคับไม่ให้โลภะเกิด ไม่ให้โทสะเกิด แต่สติที่เป็นสัมมาสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปใด ๆ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ประการแรกทีเดียวที่จะละกิเลสนั้น ต้องละความเห็นผิดว่า นามรูปเป็นตัวตนเสียก่อน
เพราะฉะนั้น ขณะใดที่จิตเป็นโลภะ ในจิตดวงนั้นไม่มีสติ แต่เมื่อมีปัจจัยทำให้โลภะเกิดแล้ว จิตที่เกิดต่อสามารถระลึกรู้ลักษณะของโลภะที่ปรากฏในขณะนั้นได้ จิตเห็นก็ไม่ใช่จิตได้ยิน เป็นนามธรรมแต่ละชนิด แต่ปรากฏเสมือนว่าทั้งเห็นทั้งได้ยินเพราะความรวดเร็ว แต่ผู้เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏ จะระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใดก็ได้ แล้วนามใดรูปใดที่ยังไม่รู้ สติก็รู้ว่า จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามนั้นรูปนั้นต่อไปอีก จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
ถ. การรู้ชื่อของวัตถุ เป็นของจริงหรือเปล่า
สุ. การรู้ชื่อของวัตถุ เป็นของจริงหรือเปล่า ขอย้อนถามว่า การรู้ว่าชื่ออะไรนั้น สภาพที่รู้นั้น จริงหรือไม่จริง
ถ. จริง
สุ. รู้ว่าใครชื่ออะไร รู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร ความรู้นั้นเป็นสภาพที่มีจริง และสภาพนั้นไม่ใช่รูป แต่เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งรู้ความหมาย รู้เรื่อง รู้ชื่อ ของสิ่งต่างๆ สภาพที่รู้ไม่ใช่รูป เพราะว่ารูปไม่รู้อะไรเลย ใครจะชื่ออะไร สิ่งนั้นจะมีความหมายว่าอย่างไร รูปไม่รู้ทั้งสิ้น รูปไม่ใช่สภาพที่รู้ แต่การรู้ชื่อ การจำได้ การเข้าใจความหมาย การรู้เรื่อง เป็นสิ่งที่มีจริง และสภาพที่รู้นั้นเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูป
ปัญญา คือ การรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ถ้ารู้ว่า ที่กำลังรู้นี้ก็เป็นนามชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ขณะนั้นก็เป็นปัญญา เพราะรู้ถูก ไม่ใช่ยึดถือสภาพที่รู้นั้นว่าเป็นตัวตน
ถ. ขณะที่ทำบุญมีสติไหม
สุ. สติเป็นโสภณเจตสิกเกิดกับกุศลจิตทุกดวง แล้วสติก็มีหลายขั้น สติที่ระลึกเป็นไปในทานก็ขั้นหนึ่ง สติที่ระลึกเป็นไปในศีลก็ขั้นหนึ่ง สติที่ระลึกทำให้จิตสงบก็ขั้นหนึ่ง สติที่รู้ลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เพื่อจะให้ปัญญารู้ชัดในสภาพนั้น ก็อีกขั้นหนึ่ง
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ความสงสัยใดๆ ทั้งหมด ไม่มีวันหมดสิ้นได้ ถ้าไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ที่จะหมดความสงสัยในลักษณะของนามใด รูปใด ในเหตุในผลของนามนั้นรูปนั้น ก็ต้องเพราะรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏในขณะนี้
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 61
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 62
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 63
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 64
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 65
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 66
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 67
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 68
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 69
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 70
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 71
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 72
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 73
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 74
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 75
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 76
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 77
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 78
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 79
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 80
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 81
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 82
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 83
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 84
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 85
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 86
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 87
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 88
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 89
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 90
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 91
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 92
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 93
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 94
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 95
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 96
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 97
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 98
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 99
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 100
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 101
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 102
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 103
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 104
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 105
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 106
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 107
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 108
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 109
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 110
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 111
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 112
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 113
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 114
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 115
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 116
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 117
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 118
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 119
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 120