แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
ครั้งที่ ๑๒๑
สุ. ขอให้ผู้ที่มีความข้องใจในสิ่งที่ดิฉันได้บรรยายได้แสดงความคิดเห็น แต่ขอให้เป็นหลักเกณฑ์เป็นเหตุเป็นผล มีหลักฐานอ้างอิง และขอให้วินิจฉัยสรุปเป็นเรื่องๆ ถ้าเรื่องใดยังข้องใจอยู่ ก็ขอให้หมดความข้องใจไปเป็นเรื่องๆ ทีเดียว ไม่อยากจะให้ติดค้าง เพราะรู้สึกว่าคงจะหลายปี
ถ. ตั้งแต่อาจารย์บรรยาย เวลานี้เพี้ยนจากท่านอาจารย์ไปมาก เกิดความเสียหายมาก ไปพบอาจารย์สักทีเถอะ ไปสอบอารมณ์กันสักที ที่จริงผมพูดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ถ้าอาจารย์เข้าถึงเหตุผลอาจารย์จะได้ประโยชน์มาก แต่ท่านจะลำบากหน่อย ยากไม่ใช่ง่าย มรรค ๘ แท้ๆ ก็ฟังยาก
สุ. ดิฉันขอถาม คือ ผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปกติบ่อยๆ เนืองๆ เป็นประโยชน์ หรือว่ามีโทษ
ถ. เป็นครับ ก็อินทรีย์สังวรศีล
สุ. ถ้าเป็นก็พอแล้ว ท่านผู้ฟังที่นี่ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท ท่านเจริญสติ ท่านระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สำหรับข้อความที่ว่า ผู้ที่ศึกษาธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ด้วยดี ทั้งอรรถและทั้งพยัญชนะทั้ง ๓ ปิฎก คือ ทั้งพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรมนั้น จะเหมือนคนตาบอดคลำช้างหรือไม่ เพราะเหตุว่าคงจะได้ยินบ่อยๆ เรื่องของตาบอดคลำช้าง แล้วอาจจะไม่ทราบที่มาที่ไปของพยัญชนะนี้
ขุททกนิกาย อุทาน กิรสูตรที่ ๑ มีข้อความว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้น สมณะพราหมณ์ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี
สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง นี่แหละจริง อื่นเปล่า
ส่วนสมณะพราหมณ์อีกพวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง นี่แหละจริง อื่นเปล่า
สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีพเป็นอื่น สรีระก็เป็นอื่น สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมไม่เป็นอีก สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอีกก็มี ย่อมไม่เป็นอีกก็มี นี่แหละจริง อื่นเปล่า
สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า สัตว์เบื้องหน้าแต่ตายแล้วย่อมเป็นอื่นก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอื่นก็หามิได้ นี่แหละจริง อื่นเปล่า
สมณะพราหมณ์เหล่านั้นเกิดบาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกันด้วยความคิดเห็น ครั้งนั้นเป็นเวลาเช้า ภิกษุมากด้วยกันนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี ครั้นเที่ยวบิณฑบาตในพระนครสาวัตถี กลับจากบิณฑบาตภายหลังภัตแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานพระวโรกาส สมณะ พราหมณ์ ปริพาชกมากด้วยกัน ผู้มีลัทธิต่างๆ กัน มีทิฏฐิต่างกัน มีความพอใจต่างกัน มีความชอบใจต่างกัน อาศัยทิฏฐินิสัยต่างกัน อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี
สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งมีวาทะอย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง นี่แหละจริง (ข้อความต่อไปแสดงความเห็นตามที่ได้กล่าวแล้ว)
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อัญญเดียรถีย์เป็นคนบอด ไม่มีจักษุ ไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความเสื่อมใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความเสื่อมใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกัน
นี่เป็นข้อความโดยย่อ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้วในพระนครสาวัตถีนี้แล มีพระราชาพระองค์หนึ่ง ครั้งนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นตรัสเรียกบุรุษคนหนึ่งมาสั่งว่า ดูกร บุรุษผู้เจริญ นี่แน่ะเธอ คนตาบอดในพระนครสาวัตถีมีประมาณเท่าใด ท่านจงบอกให้คนตาบอดเหล่านั้นทั้งหมดมาประชุมร่วมกัน บุรุษนั้นทูลรับพระราชดำรัสแล้ว พวกคนตาบอดในพระนครสาวัตถีทั้งหมดเข้าไปเฝ้าพระราชาถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบบังคมทูลพระราชาพระองค์นั้นว่า ขอเดชะ พวกคนตาบอดในพระนครสาวัตถีมาประชุมกันแล้วพระพุทธเจ้าข้า พระราชาพระองค์นั้นตรัสว่า แน่ะ พะนาย ถ้าอย่างนั้นท่านจงแสดงช้างแก่พวกคนตาบอดเถิด
บุรุษนั้นทูลรับพระราชดำรัสแล้ว แสดงช้างแก่พวกคนตาบอด คือ แสดง ศีรษะช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงหูช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงงาช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงงวงช้าง แก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงตัวช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงเท้าช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงหลังช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงโคนหางช้างแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้ แสดงปลายหางช้าแก่คนตาบอดพวกหนึ่งว่า ช้างเป็นเช่นนี้
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล บุรุษนั้น ครั้นแสดงช้างแก่บุรุษคนตาบอดแล้ว เข้าไปเฝ้าพระราชาพระองค์นั้นถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ขอเดชะ คนตาบอดเหล่านั้นเห็นช้างแล้วแล บัดนี้ขอใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ทรงสำคัญเวลาอันควรเถิดพระเจ้าข้า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ลำดับนั้นแล พระราชาพระองค์นั้นเสด็จเข้าไปถึงที่คนตาบอดเหล่านั้น ครั้นแล้วได้ตรัสถามว่า ดูกร คนตาบอดทั้งหลาย พวกท่านได้เห็นช้างแล้วหรือ คนตาบอดเหล่านั้นกราบทูลว่า ขอเดชะ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายได้เห็นแล้วพระเจ้าข้า
ซึ่งเมื่อพระเจ้าแผ่นดินได้ตรัสถามถึงลักษณะของช้าง คนตาบอดแต่ละพวกก็ได้ตอบตามความคิดเห็น คือ ตามส่วนของช้างซึ่งมีคนแสดงให้เฉพาะส่วนๆ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเป็นคนตาบอด ไม่มีจักษุ ย่อมไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความเสื่อมใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม
เมื่อไม่รู้จักประโยชน์ ไม่รู้จักความเสื่อมใช่ประโยชน์ ไม่รู้จักธรรม ไม่รู้จักสภาพมิใช่ธรรม ก็บาดหมางกัน ทะเลาะกัน วิวาทกัน
นี่เป็นข้อความโดยย่อ
พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
ได้ยินว่า สมณะพราหมณ์พวกหนึ่งย่อมข้องอยู่เพราะทิฏฐิทั้งหลายอันหาสาระ มิได้เหล่านี้ ชนทั้งหลายผู้เห็นโดยส่วนเดียว ถือผิดซึ่งทิฏฐินิสสัย ย่อมวิวาทกัน
นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก ในเรื่องของตาบอดคลำช้าง ซึ่งผู้ที่แสดงช้างก็แสดงกับคนตาบอดเป็นส่วนๆ คือ พวกหนึ่งก็แสดงส่วนหนึ่ง อีกพวกหนึ่งก็แสดงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ได้แสดงตลอดหมด
พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วด้วยดีทั้งพระวินัยปิฎก ทั้งพระสุตตันตปิฎก ทั้งพระอภิธรรมปิฎก เป็นศาสดาแทนพระองค์ ย่อมเกื้อกูลบุคคลผู้ศึกษา สอบทาน เทียบเคียง ประพฤติปฏิบัติตาม ให้เกิดความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ถ้าผู้ใดศึกษาและเข้าใจธรรม เทียบเคียง สอบทานทั้ง ๓ ปิฎก ประพฤติปฏิบัติตาม ได้รู้สภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง จะยังชื่อว่าผู้ที่ศึกษาธรรม เทียบเคียงธรรม เป็นผู้ที่เหมือนกับคนตาบอดคลำช้างได้ไหม
พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงมอบหมายให้บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดเป็นศาสดาแทนพระองค์ เพราะเหตุว่าพระธรรมวินัยได้ทรงแสดงไว้แล้วด้วยดีเป็นศาสดาแทนพระองค์
พระสูตรนี้เพื่อที่จะให้ผู้ฟังได้พิจารณาสอบทานธรรมทั้ง ๓ ปิฎก ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีครูอาจารย์แล้ว ก็ไม่ใช่เหมือนแถวของคนตาบอดซึ่งเกาะตามๆ กันไป
อย่างใน มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จังกีสูตร คนต้นก็ไม่รู้ไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง คนที่อยู่กลางก็ไม่รู้ไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง คนที่อยู่หลังก็ไม่รู้ไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริง ก็เกาะๆ ตามกันไปเรื่อยๆ แต่พระธรรมวินัยมีไว้สำหรับเป็นศาสดาแทนพระองค์ให้ผู้ที่ได้ศึกษาได้พิจารณา ใคร่ครวญ ประพฤติปฏิบัติตาม และรู้สภาพธรรมถูกต้องกับความเป็นจริงด้วย
โลภมูลจิตมีไหม จักขุวิญญาณ การเห็นมีไหม สิ่งต่างๆ เหล่านี้เมื่อเป็นของจริง รู้ความจริงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ไหม หรือว่ารู้ไม่ได้ ถ้าเป็นของที่มีจริงแล้วรู้ไม่ได้ ผู้นั้นก็ยังคงเป็นคนตาบอดต่อไป แต่ถ้าเป็นของจริง มีผู้ชี้หนทางที่จะให้รู้ความจริง ผู้นั้นก็ย่อมจะหายจากความเป็นคนตาบอดได้
นี่คือประโยชน์ของการศึกษาพระธรรมวินัย และการประพฤติปฏิบัติตามด้วย เพราะเหตุว่าปรมัตถธรรมไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เป็นจิตปรมัตถ์ เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์ เมื่อย่อลงแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรม
เพราะฉะนั้น เมื่อพระธรรมวินัยได้ทรงแสดงอย่างนี้ ผู้ศึกษามีความรู้ มีความเข้าใจในธรรมก็ประพฤติปฏิบัติตาม สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล เมื่อได้ศึกษาแล้ว ไม่ใช่เพียงผู้ฟังธรรม แต่เป็นผู้ประพฤติธรรมและเป็นผู้ถึงธรรม ซึ่งท่านจะต้องมีความเข้าใจในพยัญชนะทั้ง ๓ นี้ด้วย ฟังธรรม พิจารณาธรรม ถึงธรรม
ท่านฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป เรื่องปรมัตถ์ธรรม เรื่องอนัตตา เรื่องสภาพธรรมทั้งหลาย ทุกขณะ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย วนเวียนไปในวัฏฏะ ไม่พึงยึดถือว่าเป็นสัตว์เป็นบุคคลเลย มีของจริงที่มีลักษณะที่เป็นรูป มีลักษณะที่เป็นนามปรากฏให้รู้ นี่เป็นขั้นของการฟังธรรม
ส่วนขั้นของการพิจารณาธรรม ก็ต้องตรงกับขั้นของการฟังธรรมด้วย ไม่ใช่ว่าฟังอย่างหนึ่ง เข้าใจอย่างหนึ่ง แล้วประพฤติอีกอย่างหนึ่ง หรือว่าไม่ใช่พูดอย่างหนึ่ง กล่าวสอนอย่างหนึ่ง แต่เวลาประพฤติปฏิบัติ ปฏิบัติอีกอย่างหนึ่ง
สำหรับผู้ที่ถึงธรรมย่อมไม่มีข้อสงสัยว่า ขณะนี้อะไรเป็นนามอะไรเป็นรูป แต่ผู้ที่ไม่ถึงธรรม ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทางตาก็มีนามมีรูป ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทางหูมีนามมีรูป ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นชีวิตของแต่ละคนที่ได้สะสมมาที่จะให้เกิดวิบากจิตทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจให้เกิดอกุศลจิต กุศลจิต ผู้ใดถึงธรรม ผู้นั้นจะไม่มีข้อสงสัยในธรรมเลย ไม่ว่าจะเป็นขณะใด และในสถานที่ใดด้วยเพราะเป็นผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมของรูปธรรมทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ซึ่งเป็นธรรม เมื่อพิจารณาธรรมมีความรู้มากขึ้น ทั่วขึ้น ก็จะไม่เห็นว่ามีสิ่งอื่นใดนอกจากสภาพธรรมที่เป็นนามเป็นรูปเท่านั้น นั่นคือ ผู้ที่ถึงธรรม
แต่ถ้าผู้ใดจะกล่าวว่า ถึงธรรม แต่ปฏิเสธว่า ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ขณะนั้นไม่ใช่นามไม่ใช่รูป ขณะนี้ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปได้ ผู้นั้นไม่ถึงธรรม และไม่ได้ประพฤติตามธรรมที่ได้ฟังด้วย
ถ. หมายความว่า ถึงธรรมแล้วก็มีความสุขใจใช่ไหม
สุ. ธรรมมีอยู่ตลอดเวลา ขณะนี้ก็มี ทางตามีธรรมไหม มีเห็นไหม มีสีไหม ทางหูมีธรรมไหม ผู้ที่ถึงธรรมก็รู้ในสภาพความเป็นธรรม ไม่ใช่ความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ความเป็นตัวตน
ถ. เจริญมาตั้งนานแล้ว เจริญธรรมแล้วต้องเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนแล้ว เจริญทางใจนี้เพื่ออะไร
สุ. หรือผิดที่กล่าวว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำพูดนี้จริงหรือเท็จ สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร
ถ. แล้วความรู้ ใครรู้
สุ. สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ. ความรู้นี้หมายความว่า ...
สุ. ถ้าโดยลักษณะนั้นไม่ใช่การเจริญสติ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติแล้ว ตาก็เห็น หูก็ได้ยิน จมูกก็ได้กลิ่น ลิ้นก็มีรสปรากฏ กายก็มีเย็น ร้อน อ่อน แข็งกำลังปรากฏ ใจก็มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ เป็นสิ่งที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะมีเหตุปัจจัยจึงได้เกิดขึ้น ไม่ต้องมีใครไปสร้าง ไปทำ เป็นเรื่องของมีปัจจัยแล้วก็เกิด
ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะใดที่ระลึกได้ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นสติที่กำลังระลึก จึงกล่าวว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ถ้าท่านผู้ใดยังไม่เข้าใจเจริญสติปัฏฐานไม่ได้เลย ไม่มีทางที่จะปัญญารู้ลักษณะของนามรูปที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้
ถ. สอบอารมณ์ หมายถึงวิปัสสนา หรือเจริญสติ
สุ. ที่ว่าสอบอารมณ์ ใครสอบ บุคคลสอบ หรือว่าพระธรรมวินัยสอบ สอบความเข้าใจในธรรม สอบการปฏิบัติธรรมว่า ถูกต้องตรงกับที่ได้ศึกษาไหม เช่น รูปนั่งปรากฏทางทวารไหน มีลักษณะอย่างไร ในพระไตรปิฎกไม่ได้ทรงแสดงไว้เลย เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะสอบอารมณ์ก็ควรที่จะได้ทราบด้วยว่า จะสอบกับอะไร
ในพระไตรปิฎก การเจริญสติเพื่อการรู้ชัด เพื่อการรู้ทั่วทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ. ปัญหาที่ตกค้างอยู่ คือ ในสมัยพุทธกาลนั้นมีรถยนต์หรือไม่ นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งซึ่งท่านผู้ฟังผู้นั้นได้ถามอาจารย์ และอีกปัญหาหนึ่ง คือ การปฏิบัติหรือการเจริญสตินี้จำเป็นไหมที่จะต้องอาศัยวิเวก ท่านอาจารย์ยังไม่ได้อธิบายว่าอาศัยวิเวก วิเวกมันเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ
สุ. ปัญหาแรก คือ ในครั้งพุทธกาลมีรถยันต์ไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นเวลาที่มีสิ่งใดใหม่ขึ้นมาก็ต้องเพิ่มเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เป็นโทรศัพท์ เป็นจรวด เป็นอะไรๆ ก็ต้องใส่เข้าไปหมด พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในอดีตนับประมาณไม่ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้น รวมทั้งข้างหน้าด้วยนับประมาณไม่ได้เลย ทรงรู้แจ้งหมด แต่เหตุใดจึงไม่ทรงแสดงไว้ว่าอีก ๑๐ ปีต่อไปจะมีอะไร อีก ๑๐๐ ปีต่อไปจะมีอะไร อีก ๑,๐๐๐ ปีต่อไปจะมีอะไร อีก ๒,๐๐๐ ปีต่อไปจะมีอะไร แต่ทรงแสดงสิ่งที่เป็นความจริงทุกกาลสมัย คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รถยนต์มีอะไรบ้าง มีสีสันวรรณะไหม มีเสียงไหม มีอ่อน มีแข็ง มีเย็น มีร้อนบ้างไหม
ถ้าส่วนใดจะเป็นอันตรายกับกายปสาท มีดในอดีตมีไหม ของที่คมเป็นอาวุธที่เป็นอันตรายต่างๆ ก็มี ไม่ใช่ว่าไม่มี แล้วการรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจะไม่พ้นจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ว่าจะเป็นพระอริยเจ้าในครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน หรือว่าหลังปรินิพพานแล้ว ๑๐๐ ปี ๒๐๐ ปี ๕๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี ๒,๐๐๐ ปี ๕,๐๐๐ ปี หรือว่ากี่พันปีก็ตาม พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่มีความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะท่านรู้แจ้งสภาพปรมัตถธรรม
และถึงแม้ท่านจะรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร สติก็ระลึกว่า ความรู้เช่นนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องของการเจริญปัญญาอย่างละเอียดมากทีเดียว ซึ่งจะไม่พ้นโลก ๖ โลก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๑๒๑ – ๑๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 180