แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137


    ครั้งที่ ๑๓๗


    สีลัพพตปรามาสกายคันถะ หมายความถึงการลูบคลำข้อประพฤติปฏิบัติที่ผิดไปจากมรรคมีองค์ ๘ แล้วยังเข้าใจว่าสามารถจ้องที่ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดินนั้น จนกระทั่งดับเป็นอุทยัพพยญาณได้ ท่านผู้ฟังเคยถามว่า ผู้ที่ประจักษ์สภาพเช่นนั้นแล้วก็กล่าวว่าเหมือนตกบันได ใจหายวูบ การประจักษ์ไตรลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ คือ เห็นที่กำลังมี สีที่กำลังปรากฏ ได้ยินกับเสียงที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ตามปกติ อันไหนเป็นปัญญาแท้ เป็นปัญญาที่รู้ชัดจริงๆ ในสิ่งที่มีจริงแล้วก็เกิดดับจริงๆ เป็นปกติด้วย

    เกิดดับตามปกติไม่ต้องไปสร้างให้วูบเหมือนตกบันได และเป็นอะไรก็ไม่ทราบที่ดับ จะเป็นนามหรือว่าจะเป็นรูปไหน เพราะกำลังดูรูปนั่ง หรือรูปนอน หรือรูปยืน หรือรูปเดิน แล้วรู้สึกว่ารูปนั้นดับไป ใจก็หายวูบ แต่ปกติธรรมดาไม่รู้นามธรรมและรูปธรรมที่กำลังเกิดขึ้นแล้วดับไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาไหนเป็นปัญญาแท้ เป็นปัญญาจริง เป็นปัญญาที่รู้ชัด ที่เป็นอริยสัจธรรม เพราะเหตุว่ากำลังเห็น แล้วไม่รู้ว่าเห็นดับ สีกำลังปรากฏ ไม่รู้ว่าสีดับ ได้ยินเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เสียงปรากฏแล้วก็ดับไป แต่ไม่รู้อย่างนี้ จะชื่อว่าเป็นปัญญาได้ไหม

    ได้เคยสนทนากับอุบาสิกาหลายท่านซึ่งได้ปรารภให้ฟังว่า แต่ก่อนในอดีตนั้นเคยอยู่สงบในถ้ำตามป่า จิตใจผ่องใส รู้สึกเหมือนกับว่าได้รู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรม ไม่มีอะไรติดขัดเลย แต่พอกลับออกมาจากถ้ำเป็นปกติธรรมดาไม่รู้อะไรเลย ทางตาก็ไม่รู้ ทางหูก็ไม่รู้ ทางจมูกก็ไม่รู้ ทางลิ้นก็ไม่รู้ ทางกาย ทางใจตามปกติไม่รู้ แล้วอย่างนี้จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามที่กำลังเห็น สีที่กำลังปรากฏ นามที่กำลังได้ยิน เสียงที่กำลังปรากฏได้ไหม เพราะเหตุว่าไม่เคยรู้ชีวิตปกติธรรมดา แต่ดูเหมือนกับว่า แทงตลอดธรรมปรุโปร่งทีเดียวขณะที่อยู่ในถ้ำซึ่งเป็นสถานที่วิเวก

    เพราะฉะนั้น ญาณไม่ผิดปกติ คนอื่นไม่สามารถรู้ได้ว่า คนนี้กำลังถึงญาณขั้นนั้น เพราะกำลังผิดปกติอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ปัญญา ถ้าเป็นปัญญาต้องรู้ชัดในลักษณะของนามและรูป แล้วแต่ว่าจะเป็นญาณขั้นไหน ถ้าเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ ปัญญารู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมทีละอย่างที่กำลังปรากฏในขณะนั้น โดยเลือกไม่ได้ว่าจะรู้ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย ปัญญารู้ชัดเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทางมโนทวารในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แล้วแต่ว่าบุคคลหนึ่งจะรู้นามอะไร กี่ชนิด จะรู้รูปอะไรกี่ชนิด ที่กำลังปรากฏเป็นปกติในขณะนั้น

    นี่เป็นเพียงนามรูปปริจเฉทญาณ ยังไม่ได้สามารถแทงตลอดไปถึงอริยสัจธรรม เพราะว่าอินทรีย์ยังไม่แก่กล้าที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในขณะนั้น แต่ได้อบรมอินทรีย์มาเพียงที่จะให้รู้ชัดในลักษณะของนามและรูปที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ

    ทำไมเวลาที่ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปแล้วยังไม่เห็นภัยเลย อย่างท่านที่กำลังระลึกรู้ลักษณะที่เย็น เห็นโทษเห็นภัยไหม ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ยังไม่เป็นโทษ ยังไม่เป็นภัย เพราะอะไร เพราะว่าไม่ใช่อุทยัพพยญาณ รูปดับก็ดับ ไม่เห็นเป็นโทษไม่เห็นเป็นภัย เพราะความอุ่นใจว่าตัวตนยังมีอยู่ที่เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

    เพราะฉะนั้น ทันทีที่ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่พอ เพราะเหตุว่ายังมีเยื่อใยเต็มที่ในขันธ์อื่น ไม่ได้ประจักษ์จริงๆ ว่าไม่มีอะไร มีแต่สภาพของนามที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดแล้วก็ดับ หรือว่ารูปที่ไม่ใช่ตัวตนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าประจักษ์อย่างนั้นจริงๆ ไม่หลงเหลือสักกายทิฏฐิ เพราะว่าพิจารณานามรูปทั่วหมดแล้ว ปัญญาที่แทงตลอดในความเกิดขึ้นและดับไปทำให้เห็นว่าเป็นโทษ เห็นว่าเป็นภัย ประจักษ์ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมจริงๆ ได้

    แต่เวลานี้ เย็นเมื่อสักครู่นี้ก็ดับ เสียงเมื่อสักครู่นี้ก็ดับ ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ก็ดับไป เยื่อใยตัวตนที่มีอยู่ที่นามอื่นรูปอื่น ไม่เห็นเป็นโทษเป็นภัย เพราะอุ่นใจว่าตัวตนยังอยู่เต็ม

    ถ้าท่านได้ประจักษ์ลักษณะของนามและรูปที่เป็นนามรูปปริจเฉทญาณ โลกทั้งโลกไม่มี มีแต่ลักษณะของนามชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ รูปชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นปรากฏ ทีละนาม ทีละรูป โลกที่เคยติดกันแน่นเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ไม่มีเลย ประจักษ์สภาพที่ไม่ใช่เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ทีละนาม ทีละรูป อย่างอื่นไม่มีเหลือเลยที่จะควบคุมรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นโลก เป็นแท่ง ใจจะเป็นอย่างไร หลายอย่าง เพราะว่าอะไร เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดจิตแต่ละชนิด ไม่มีใครไปดัดแปลง ประคับประคอง เป็นอัตตาที่จะไปฝ่าฝืนทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ขึ้นได้เลยในขณะนั้น แล้วแต่ว่าจิตประเภทใดจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยใด สภาพธรรมใดเกิดแล้วก็ต้องดับไป พร้อมหรือยังที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ถ้าไม่พร้อมเพราะอะไร เพราะว่ารู้ยังไม่ทั่ว ไม่อย่างนั้นญาณก็คงไม่มีมากมายอย่างนี้

    มีท่านผู้ฟังบอกว่า ตัวเองเป็นคนเจ้าโทสะ เพราะเหตุว่าเวลาที่โกรธ โกรธแรง สังเกตรู้ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะของโทสะนั้นตึงตัง เวลาโกรธแล้วระงับไม่อยู่ ออกมาทางกายบ้าง ทางวาจาบ้าง เป็นความรู้สึกโทมนัสอย่างรุนแรงบ้าง เพราะฉะนั้น ก็ทราบว่าตนเองนั้นเป็นคนมีโทสะมาก แต่ไม่รู้ตัวเลยว่า เวลาที่ไม่ใช่โทสมูลจิตแล้วเป็นอะไร โลภมูลจิตเป็นพื้นอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งหลับไป ไม่ว่าจะเห็น ไม่ว่าจะได้ยิน ไม่ว่าจะได้กลิ่น ไม่ว่าจะรู้รส ไม่ว่าจะรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่รู้สึกตัวว่าเป็นคนเจ้าโทสะนั้น ความจริงทุกคนมีโลภมูลจิตมากเป็นพื้นอยู่แล้ว จึงทำให้เวลาที่กระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามความต้องการก็เกิดโทสะ ปฏิฆะ ความเดือดร้อนใจขึ้นได้

    ปัญหาสำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานอาจจะมีว่า จะระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตได้ในขณะไหน แต่ให้ทราบว่า ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เคยไม่รู้ให้ทั่ว ไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร จะเป็นนามใด จะเป็นรูปใดก็ตาม ก่อนการละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตนได้ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงเสียก่อน

    เพราะฉะนั้น สำหรับท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน ก็แล้วแต่สติ อย่าไปบังคับสติว่า ให้ระลึกรู้เฉพาะรูปนั้น ทางทวารนั้น หรือว่านามนี้เฉพาะทางทวารนี้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการเจริญสติ

    สำหรับลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตซึ่งมีอยู่เป็นประจำและยากที่จะรู้ได้ เพราะสติไม่ค่อยจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตบ่อยๆ ท่านผู้ฟังก็คงจะคิดว่า พอจะมีสติระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตในขณะใดบ้าง เช่น ในขณะที่เห็น สติจะต้องระลึกรู้สิ่งที่ไม่เคยระลึก ไม่เคยรู้ เพราะฉะนั้น ต่อไปขณะที่เห็น แล้วก็มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น สติก็จะได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะสภาพความยินดีพอใจในขณะที่กำลังเห็น หรือว่ากำลังได้ยิน แล้วก็เกิดความยินดีพอใจขึ้น สติก็จะได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะสภาพของความยินดีพอใจที่อาศัยการได้ยินเกิดขึ้นว่า สภาพนั้นมีจริง ในขณะนั้นกำลังเป็นอย่างนั้น กำลังปรากฏลักษณะของความยินดี ความพอใจ ความต้องการอย่างนั้น ก็จะได้ทราบว่า ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    ทุกครั้งที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการรู้รส ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร มีการกระทบเย็น ร้อน อ่อน แข็ง สัมผัส การคิดนึกที่ทำให้เกิดความสุข ความโสมนัสขึ้นในขณะใด แสดงว่าสภาพของจิตที่มีความยินดีพอใจนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น ลักษณะของโลภมูลจิตจะปรากฏ ถ้าสติระลึกรู้ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ เป็นของจริงที่ไม่ขาดไป พร้อมที่จะให้สติระลึกรู้เมื่อไรก็ได้ จนกว่าจะทั่ว จนกว่าจะชิน หรือเวลาที่มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนไปในข้อประพฤติปฏิบัติ ในความเห็นผิดต่างๆ นั่นก็เป็นลักษณะของโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับทิฏฐิ ความเห็นผิด หรือในขณะที่สำคัญตน ในชาติ ในตระกูล ในทรัพย์สมบัติ ในวิชาความรู้ ในลาภ ในยศ ในสรรเสริญ ในสุขต่างๆ ในขณะนั้นถ้าสติระลึกรู้ก็รู้ได้ว่า เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตที่เป็นไป หรือเกิดร่วมกับมานะ ความสำคัญตนนั่นเอง เป็นสิ่งซึ่งสติควรจะระลึกรู้ แล้วถ้าเทียบเคียงกับสติปัฏฐานหมวดอื่นก็จะพบความสอดคล้องกันด้วย เช่น ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีเวทนา คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา สุขเวทนาก็มีทั้งที่อาศัยเรือน เคหสิตะ และไม่อาศัยเรือน

    สำหรับสุขเวทนาที่อาศัยเรือน ได้แก่ สุขเวทนาที่เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เรือนของสุขเวทนา หรือว่าเรือนของโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับสุขเวทนา เกิดร่วมกับอุเบกขาเวทนา

    เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีโสมนัสเวทนาที่อาศัยเรือน พอถึงจิตตานุปัสสนา ก็มีสราคจิต คือ โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกันว่า เมื่อสภาพธรรมนั้นมีจริง สติก็ระลึกรู้ได้

    ถ. เวลาเรากระทบอะไร เราเจ็บจะเจริญสติอย่างไร

    สุ. เจ็บที่ไหน ระลึกที่นั่น สภาพธรรมปรากฏที่ไหน ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที

    ถ. ไม่มีตัวตนหรือครับ

    สุ. ไม่มีตัวตน แต่สภาพความรู้สึกปวด หรือเจ็บมี เป็นของจริง ในขณะนั้นกำลังเกิด กำลังปรากฏ ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีการกระทบระหว่างวัตถุที่แข็งกับร่างกายส่วนนั้นแล้ว ความรู้สึกปวดหรือเจ็บก็มีไม่ได้ มีผัสสะเกิดขึ้นแล้ว มีการกระทบแล้ว ที่จะไม่ให้มีเวทนา คือ ความรู้สึกนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีใครสามารถบังคับว่า เมื่อกระทบแล้วไม่ให้เกิดความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้นได้ เพราะเหตุว่าผัสสะ การกระทบนั้นเป็นปัจจัยที่ให้เกิดความรู้สึก เมื่อมีเวทนา ความรู้สึก สัญญา ความจำ ความรู้สึกนั้นก็มี ที่ว่าเจ็บ มีสัญญาคือ ความจำในลักษณะของเวทนา

    นี่เป็นสภาพธรรม มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นปรากฏเป็นไปแต่ละอย่างตามปัจจัยนั้นๆ สิ่งใดกำลังเกิดขึ้นปรากฏเป็นปัจจุบันในขณะนั้น สติระลึกรู้แล้วจะประจักษ์ว่า สภาพนั้นๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะเหตุว่าถ้าระลึกลักษณะสภาพของนามธรรม ก็จะทราบความจริงว่า นามธรรมมีหลายอย่าง

    ถ. ที่ไม่ให้ยึดนี้ เพราะถ้าไปยึดแล้วจะเป็นโทษภัยใช่ไหม

    . ใช่ เพราะเป็นความเห็นผิด ไปยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ไปหวังในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ผล คือ ผิดหวังและเป็นทุกข์ เพราะเหตุว่าไม่สามารถอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาได้เลย

    ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ตามความปรารถนา ตามความต้องการ โลกนี้จะไม่มีคนที่ผิดหวังเลย แต่เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหมดไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นไปตามความปรารถนา แต่เป็นไปเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ควรจะรู้ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น

    สำหรับสราคจิต หรือโลภมูลจิต ท่านผู้ฟังเคยคิดบ้างไหมว่า ทำไมจึงจะต้องระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ข้ามไปเสียได้ไหม เคยคิดที่จะข้าม จะเว้น สราคจิต โลภมูลจิตไม่ระลึกบ้างไหม ถ้าผู้ใดคิดอย่างนี้ ไม่มีทางที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่มีเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยตลอดเวลามากมายแต่ไม่ระลึกรู้ ผู้นั้นเป็นผู้หลงลืมสติ

    ทางตามีการเห็นเกิดขึ้น แต่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต หรือโลภมูลจิตซึ่งทุกคนมี เพราะฉะนั้น ในขณะที่สราคจิตมี เกิดขึ้นปรากฏ แต่สติไม่ระลึกรู้ ชื่อว่าเป็นผู้หลงลืมสติ ไม่ชื่อว่าเป็นผู้มีสติ

    ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่มีสติตามปกติ ตามปกติของท่านมีตา มีการเห็น มีความพอใจ ความไม่พอใจที่อาศัยทางตาเกิดขึ้น มีหู มีการได้ยิน มีเสียง มีความพอใจ มีความไม่พอใจที่อาศัยทางหูเกิดขึ้น ทางจมูกมีการรู้กลิ่น ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่รู้กลิ่น แต่มีความพอใจ มีความไม่พอใจที่อาศัยการรู้กลิ่นเกิดขึ้น ขณะที่รับประทานอาหารทุกวันๆ เป็นปกติ ก็มีการรู้รส และก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะการรู้รสเท่านั้น ยังมีความพอใจ ไม่พอใจที่อาศัยการรู้รสเกิดขึ้น

    ในขณะที่มีสิ่งที่กระทบกาย เมื่อมีกายก็ต้องมีสิ่งที่กระทบ เย็นบ้าง ร้อนบ้าง อ่อนบ้าง แข็งบ้าง ตึงบ้าง ไหวบ้าง แล้วก็มีความพอใจ ความไม่พอใจที่อาศัยเกิดจากการกระทบนั้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ เป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติต้องเจริญนาน แล้วก็ต้องรู้ชัดในสภาพธรรมแต่ละชนิดตามความเป็นจริงจนทั่ว จึงสามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น จะเว้นไม่ระลึกรู้ลักษณะของสราคจิตได้ไหมในเมื่อเป็นของจริง มีปรากฏ และมีมากด้วย สิ่งที่มีจริง มีปรากฏแล้ว และมีมาก จะเว้นเสียไม่ระลึกรู้ อย่างนั้นก็ยังคงเป็นอวิชชา ไม่ใช่วิชชา

    อีกข้อหนึ่งซึ่งท่านผู้ฟังอาจจะสงสัยในจิตตานุปัสสนาที่เป็นสราคจิต คืออาจจะสงสัยว่า การระลึกรู้ลักษณะของสราคจิต โลภมูลจิตนี้ จะระลึกรู้ในขณะไหนได้ เพราะสำหรับผู้ที่เริ่มเจริญสติ สติยังไม่มีกำลัง กำลังดูอะไรเพลินๆ สนุกๆ สติจะระลึกรู้ง่ายหรือยาก ทางหูก็เหมือนกัน กำลังพอใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง เพลิดเพลินสนุกสนาน สติจะระลึกรู้ง่ายหรือยาก เวลาที่ได้กลิ่นที่พอใจ เป็นสราคจิต บางครั้งเป็นโสมนัส บางครั้งเป็นอุเบกขา แล้วแต่สติจะระลึกรู้ ง่ายหรือยาก

    เพราะฉะนั้น คงจะมีปัญหาว่า ขณะไหนที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสราคจิตได้ ขณะที่กำลังดีใจมากๆ จะระลึกได้ง่ายกว่า หรือว่าขณะที่ดีใจมากๆ ชอบมากๆ เพลินมากๆ ระลึกยาก ระลึกขณะที่ดีใจน้อยๆ หรือว่าเป็นปกติเรื่อยๆ ธรรมดาๆ อย่างนี้จะระลึกได้มากกว่ากัน เคยสงสัยไหม หรือเคยสำเหนียก สังเกตบ้างไหมว่า ขณะไหนจะระลึกได้มากกว่ากัน

    ผู้ฟังบางท่านกล่าวว่า ขณะที่เป็นอุเบกขาระลึกได้มากกว่า

    ก็แล้วแต่บุคคล ถึงแม้ว่าจะเป็นความโกรธเพียงนิดเดียว หรือว่าความโกรธมากเพราะมีเหตุปัจจัยทำให้โกรธอย่างแรงก็ตาม ผู้ที่จะละการยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนได้ จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ผู้นั้นสามารถระลึกรู้ได้ทุกขณะ ทุกขั้นของโลภะ ของโทสะ เพราะฉะนั้น อบรมให้มาก ไม่เลือกว่าจะเป็นในขณะที่มีความโสมนัสยินดีพอใจ เพลิดเพลิน ต้องการ พอใจอย่างมาก หรือว่าขณะที่เป็นปกติธรรมดาแล้วระลึกได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๔ ตอนที่ ๑๓๑ – ๑๔๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564