แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142


    ครั้งที่ ๑๔๒


    ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐานนี้ละเอียดมาก ข้อความในอรรถกถามีว่า ที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร โมฆะบุรุษ ท่านรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้แก่ใคร แก่กษัตริย์หรือพราหมณ์ แพศย์หรือศูทร คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์

    นี่เป็นข้อความที่พระผู้มีพระภาคตรัสถามท่านอริฏฐภิกขุ

    เมื่อรับสั่งให้ท่านอริฏฐภิกขุมาหาแล้วได้สอบถามว่า ที่ท่านอริฏฐภิกขุกล่าวว่า รู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วนั้น ธรรมที่อริฏฐภิกขุกล่าวนั้น พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแก่ใคร แก่กษัตริย์หรือพราหมณ์ แพทย์หรือศูทรคฤหัสถ์หรือบรรพชิต เทวดาหรือมนุษย์

    ข้อความใน อรรถกถา มีว่า

    ได้ยินว่า พระอริฏฐะคิดว่า พระผู้มีพระภาคตรัสแก่เราว่าโมฆะบุรุษ เพียงคำกล่าวที่ว่าโมฆะบุรุษ อุปนิสัยแห่งมรรคและผลจะไม่มีก็หามิได้ เพราะว่าพระผู้มีพระภาคก็ทรงโอวาทพระอุปเสนวังคันตบุตรด้วยวาทะว่าโมฆะบุรุษว่า ดูกร โมฆะบุรุษ คนใจเลว ท่านเวียนมาเพื่อเป็นผู้มักมาก เลวนัก ต่อมา พระเถระพากเพียรพยายาม ก็ได้ทำให้แจ้งซึ่งอภิญญา ๖ แม้เรา (คือ อริฏฐภิกขุ) ก็ถือเอาความเพียรถึงปานนั้น จักยังมรรคผลให้เกิด

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงแสดงว่า ท่านอริฏฐะนั้นเป็นผู้ไม่งอกเงยเสียแล้ว เปรียบเหมือนใบไม้เหลืองที่หล่นจากขั้วฉะนั้น จึงทรงเริ่มเทศนานี้

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอสำคัญว่าอย่างไร พระอริฏฐะนี้มีความเห็นอย่างนี้ ขัดกันกับสัพพัญญุตญาณ ห้ามเวสารัชชญาณ ให้การประหารในอาณาจักรของตถาคต จะเป็นผู้มีไออุ่นในธรรมวินัยนี้บ้างหรือหนอ ประกายไฟ แม้ประมาณเท่าแสงหิ่งห้อย ยังมีอยู่ในกองไฟใหญ่ แม้ที่ดับแล้วซึ่งกองไฟใหญ่ จะพึงมีอีกได้ เพราะอาศัยประกายไฟอันเล็กใดเล่า ฉันใด ไออุ่น คือ ญาณ แม้มีประมาณนิดหน่อยของอริฏฐะนี้ จะมีอยู่ฉันนั้นหรือหนอแล ซึ่งผู้ที่อาศัยไออุ่น คือ ญาณนั้นแล้ว พยายามอยู่ ก็พึงยังมรรคผลให้เกิดขึ้น

    ภิกษุทั้งหลายเมื่อจะปฏิเสธความที่ไออุ่น คือ ญาณ อันสามารถเป็นปัจจัยแห่งมรรคผลมีอยู่ จึงกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไออุ่น คือญาณเห็นปานนั้นของอริฏฐภิกขุ ผู้มีความเห็นอย่างนี้ จักมีแต่ที่ไหน

    ทรงใช้คำว่า ไออุ่น หมายความถึงกองไฟใหญ่ ถ้าตราบใดที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีแสงไฟ แต่ยังมีประกายไฟที่เหลืออยู่ กองไฟใหญ่นั้นก็ย่อมจะลุกโชติช่วงขึ้นอีกครั้งหนึ่งได้ ด้วยอาศัยไออุ่นของประกายไฟนั้น แต่ว่าอริฏฐภิกขุซึ่งมีความเห็นผิดอย่างนี้ จะยังคงมีแม้ไออุ่น คือ ญาณที่จะให้อริยมรรคเกิดขึ้นได้ไหม ซึ่งภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่า ไม่ได้ และไม่มี

    ในเรื่องของญาณที่ทำให้รู้แจ้งทรงเปรียบว่า เหมือนกับไออุ่นในธรรมวินัย

    เพราะฉะนั้น ทุกท่านพอจะสำรวจได้ไหมว่า ท่านมีไออุ่นในธรรมวินัยที่แม้ประมาณเท่าแสงหิ่งห้อย ก็ย่อมทำให้กองไฟใหญ่พึงมีได้อีก ถ้ามีไออุ่นของญาณ คือ ปัญญาที่รู้ถูกต้องในข้อประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าข้อประพฤติปฏิบัติคลาดเคลื่อนผิดไป หมดไออุ่น ไม่มีเหตุที่จะให้เกิดผล คือ อริยมรรค อริยผลได้เลย

    ขอกล่าวสรุปถึงสราคจิตซึ่งมีเป็นประจำ แต่ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน ไม่มีโอกาสที่จะรู้ลักษณะของสราคจิตเลย เพราะโดยมากเวลาที่เกิดโทสมูลจิต ความไม่แช่มชื่นของใจ ก็อาจจะระลึกได้ รู้ว่าเป็นลักษณะที่หยาบกระด้าง ขัดเคือง เป็นทุกข์ ไม่แช่มชื่น แต่โลภมูลจิตเกิดเป็นประจำตลอดเวลา ไม่มีโอกาสจะรู้เลยว่า โลภมูลจิตอยู่กับท่านจนชินจนกระทั่งไม่รู้เลยว่ามี เพราะความละเอียดลึกซึ้งของโลภะนี่เองจึงทำให้ไม่รู้ว่าวันหนึ่งๆ นั้น พอกพูนสมุทยสัจจ์ที่ทำให้วนเวียนอยู่ในวัฏฏะมากเท่าไร

    ลักษณะของโลภเจตสิก ใน วิสุทธิมรรค มีข้อความว่า

    อารมฺมณคหณลกฺขโณ มีความยึดอารมณ์เป็นลักษณะ

    อภิสงฺครโส มีความติดข้อง คือ ความแนบแน่น ตรึงให้ติดในอารมณ์นั้น เป็นรสะ คือ เป็นกิจ

    อปริจฺจาคปจฺจุปฏฺฐาโน มีการไม่บริจาค คือ ไม่สละ เป็นปัจจุปัฏฐาน

    สํโยชนิยธมฺเมสุ อสฺสาททสฺสนปทฏฺฐาโน มีการเห็น หรือดูแต่สิ่งที่พอใจในสังโยชนียธรรม เป็นปทัฏฐาน

    สำหรับความยินดีพอใจ คือ โลภเจตสิกที่ทรงแสดงไว้ คือ คำว่า ตัณหา นั้นก็มีความหมายเดียวกับโลภะนั่นเอง

    ตัณหา ๖ คือ โลภะ ๖ ได้แก่ โลภะที่เป็นไปในรูป สิ่งที่เห็นทางตา สัททะ คือ เสียงที่รู้ได้ทางหู คันธะ คือ กลิ่นที่รู้ได้ทางจมูก รสะ คือ รสที่รู้ได้ทางลิ้นโผฏฐัพพะ คือ สัมผัสที่รู้ได้ทางกาย ทางใจ คือ ธรรมตัณหา (ธรรมารมณ์) มีความยินดีต้องการในธรรม เป็นต้นว่าในสุขเวทนา ในขณะที่ต้องการสุขเวทนา อะไรเป็นธรรมชาติที่ต้องการในขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เมื่อมีความต้องการเกิดขึ้น ก็เป็นสภาพของจริงชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้น มีลักษณะที่ทำให้ต้องการ พอใจในอารมณ์นั้น

    ตัณหา ๓ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา

    ที่ทรงแสดงโดยละเอียดเป็นเพราะเหตุว่า สภาพธรรมเหล่านี้มีจริง แล้วก็เกิดกับแต่ละบุคคลตามการสะสมด้วย

    คำว่า กาม หมายความถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ที่เกิดในกามภูมินั้นเป็นเพราะว่า มีความยินดี มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เมื่อมีความยินดี มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จึงยังไม่พ้นไปจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเกิดอีกสักกี่ครั้งก็ตาม ก็จะต้องเกิดในภูมิที่เต็มบริบูรณ์พรั่งพร้อมไปด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และถ้าความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะยังไม่หมด ก็ยังจะต้องพอกพูนความพอใจยินดีในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต่อไปนั่นเอง

    นั่นสำหรับที่ผู้มี กามตัณหา แต่ตัณหาก็ไม่ได้มีเพียงแค่นี้ ไม่ได้มีความพอใจอยู่เพียงในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ยังมีความยินดีพอใจที่เป็น ภวตัณหา คือ มีความพอใจในภพ ในชาติ ในขันธ์ ในการเห็น ในการได้ยิน ในการมีชีวิตดำรงอยู่ ส่วน วิภวตัณหา ได้แก่ ความยินดีที่เป็นไปกับความเห็นผิดที่เป็นอุจเฉททิฏฐิ คือเห็นว่า สภาพธรรมนั้นดับสูญไป ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น

    วิภังคปกรณ์ ธาตุวิภังค์ มีข้อความที่กล่าวถึงตัณหาที่เป็นกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ว่า

    กามตัณหานั้น ได้แก่ ตัณหาในกามธาตุ กามธาตุก็ได้แก่ กามทั้งหลาย รวมทั้งกามาวจรจิตและเจตสิกด้วย

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะมีความพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นอารมณ์ แม้จิตที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์นั้น ก็ยังเป็นที่พอใจ อยากจะให้เห็นอีก ได้ยินอีก ได้กลิ่นอีก ได้สุขเวทนาอีก เหล่านี้เป็นต้น

    สำหรับ ภวตัณหา นั้นมีความหมาย ๒ อย่าง คือ

    ๑. ตัณหาในรูปธาตุและอรูปธาตุ

    ๒. ตัณหาที่เกิดร่วมกับภวทิฏฐิ ซึ่งได้แก่ สัสสตทิฏฐิ

    ภวตัณหา คือ ความยินดีพอใจที่ไม่ได้เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ อย่างท่านที่เจริญฌานเพราะเห็นโทษของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นสิ่งที่เล็กน้อย ให้ความสุขได้ไม่นาน

    รูปก็ทำให้พอใจได้เพียงชั่วขณะที่เห็น เสียงก็ทำให้พอใจได้เพียงชั่วขณะที่ได้ยิน เล็กน้อยเหลือเกิน ปรากฏเพียงนิดเดียวแล้วก็ดับไป ทำให้จิตใจไหวหวั่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ความสุขแท้จริง เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเหล่านั้นเห็นโทษของการติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่จะทำให้ไหวหวั่นอยู่เรื่อยๆ ท่านก็เจริญความสงบจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งถึงขั้นอัปนาสมาธิ เป็นรูปฌานจิต และอรูปฌานจิต

    ความยินดีพอใจไม่อยู่ที่หนึ่งก็ไปสู่อีกที่หนึ่ง เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ก็ยังเป็นภวตัณหา มีความชอบ มีความติด มีความพอใจในความสงบที่เป็นรูปฌานและอรูปฌานนั่นเอง

    ในอดีตชาติ ในวัฏฏะ มีท่านผู้ใดทราบบ้างว่า ท่านเคยติดในรูปฌานและอรูปฌานบ้างหรือเปล่า แต่ขอให้ทราบว่า ในภพนี้ชาตินี้เวลาที่ท่านยังไม่ได้ถึงรูปฌาน อรูปฌาน ท่านมีความต้องการความสงบบ้างไหม เป็นสิ่งที่เทียบเคียงได้แม้แต่ในการประพฤติการปฏิบัติของท่าน อย่างท่านที่จะเจริญสติปัฏฐาน แต่บางท่านอาจจะไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้น แทนที่จะเจริญปัญญาให้สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ท่านกลับต้องการความสงบเสียก่อน ก็แสดงให้เห็นถึงกำลังความเหนียวแน่นของตัณหา

    สำหรับ วิภวตัณหา นั้น ได้แก่ ตัณหาที่เกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐินั่นเอง ใน ขุททกวิภังค์ คัมภีร์วิภังคปกรณ์ มีข้อความของตัณหาอีกหลายนัย เช่น

    กามตัณหา ได้แก่ ความยินดีในกามธาตุ ได้แก่ ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รวมทั้งกามาวรจิต เจตสิกด้วย

    รูปตัณหา ได้แก่ ความยินดีในรูปธาตุ ได้แก่ รูปาวจรธรรม

    อรูปตัณหา ได้แก่ ความยินดีในอรูปธาตุ ได้แก่ อรูปาวจรธรรม

    อีกนัยหนึ่ง

    รูปตัณหา คือ ความยินดีในรูปธาตุ

    อรูปตัณหา คือ ความยินดีในอรูปธาตุ

    สำหรับนิโรธตัณหานั้น เป็นอีกพยัญชนะหนึ่งของความยินดีที่เป็นโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ

    เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินได้ฟังคำว่า นิโรธตัณหา มีความหมายเดียว คือ หมายความถึงโลภมูลจิตที่เกิดร่วมกับอุจเฉททิฏฐิ ที่เป็นไปกับความเห็นผิดว่า ดับสูญ ไม่มีปัจจัยให้เกิดขึ้น

    ที่กล่าวถึงเรื่องของโลภเจตสิก หรือสราคจิตมาก เป็นเพราะเหตุว่าท่านที่ได้ฟังเรื่องของอริยสัจธรรมบ่อยๆ ว่า อริยสัจธรรมมี ๔ คือ ทุกขอริยสัจจะ ๑ ทุกขสมุทยสัจจะ ๑ ทุกขนิโรธ ๑ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ๑ สภาพที่เป็นทุกข์ คือ สภาพที่เกิดแล้วก็ดับ แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้ท่านไปทุกข์ๆ โศกๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปฝืน หรือไปแสร้งเปลี่ยนแปลงจากตัวจริงๆ ของท่าน นี่เป็น ทุกขอริยสัจจะ

    แต่สำหรับสมุทยสัจจะ คือ โลภะ ที่ละเอียดมากและเหนียวแน่น เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ดังนั้น หนทางเดียวที่จะละได้ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทันที ไม่ว่าในขณะนั้นจะเป็นความยินดีพอใจ เป็นสราคจิตเกิดขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะสภาพของความยินดีพอใจทันทีว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปบังคับ ไปเปลี่ยนแปลงตัวของท่านให้เป็นอีกบุคคลหนึ่ง

    บางท่านอาจจะคิดว่า การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ดูเหมือนท่านไม่ได้ละอะไรเลย ท่านเคยมีความยินดีพอใจเป็นอัธยาศัยของท่านที่สะสมมา บางท่านก็ทางตา บางท่านก็ทางหู เป็นตัวของท่านจริงๆ แต่ว่าสติระลึกรู้สภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อยๆ และก็ละความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย

    สำหรับการเจริญสติปัฏฐานที่ท่านจะละคลายการยึดถือสภาพนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดกับตัวท่านจริงๆ ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ขอกล่าวถึง มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ธรรมเจติยสูตร ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสธรรมเจดีย์ คือ พระวาจาเคารพธรรม มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของพวกเจ้าศากยะ อันมีชื่อว่า เมทฬุปะ ในแคว้นสักกะ ก็ในสมัยนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปถึง นครกนิคม ด้วยพระราชกรณียะบางอย่าง พระองค์รับสั่งให้ทีฆการายนเสนาบดีจัดเตรียมพระราชยาน เพื่อจะเสด็จไปทอดพระเนตรภูมิภาคอันดีในพื้นที่อุทยาน

    เมื่อเสด็จพระราชดำเนินด้วยยานพระที่นั่งจนสุดภูมิประเทศที่ยานพระที่นั่งจะไปได้ จึงเสด็จลง ทรงพระดำเนินเข้าไปยังสวน เสด็จพระราชดำเนินเที่ยวไปๆ มาๆ เป็นการพักผ่อน ได้ทอดพระเนตรเห็นต้นไม้ล้วนน่าดู ชวนให้เกิดความผ่องใส เงียบสงัด ปราศจากเสียงอื้ออึง ปราศจากคนสัญจรไปมา ควรแก่การงานอันจะพึงทำในที่ลับของมนุษย์ สมควรเป็นที่อยู่ของผู้ต้องการความสงัด ครั้นแล้วทรงเกิดพระปีติ ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคว่า สวนอันรื่นรมย์นั้นเหมือนดังว่าเป็นที่ๆ พระองค์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งถามทีฆการายนเสนาบดีว่า ขณะนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่ไหน

    ทีฆการายนเสนาบดีก็กราบทูลว่า พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของพวกเจ้าศากยะอันมีชื่อว่า เมทฬุปะ

    พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งถามว่า เมทฬุปนิคมอยู่ไกลจากนิคมนครกะ เท่าไร

    ทีฆการายนเสนาบดีก็กราบทูลว่า ไม่ไกลนัก ระยะทาง ๓ โยชน์ และอาจเสด็จถึงได้โดยไม่ถึงวัน

    พระเจ้าปเสนทิโกศล รับสั่งให้ทีฆการายนเสนาบดีจัดเตรียมยานพระที่นั่ง แล้วเสด็จจากนครกนิคมไปยังเมทฬุปนิคม ถึงนิคมนั้นโดยไม่ถึงวัน แล้วเสด็จเข้าไปในสวน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระวิหารในสวนนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงซบพระเศียรลงแทบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาค ทรงจูบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยพระโอษฐ์ ทรงนวดพระยุคลบาทด้วยพระหัตถ์ และทรงประกาศพระนามว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ข้าแต่พระองค์ผู้ เจริญ หม่อมฉันคือพระเจ้าปเสนทิโกศล

    พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

    ดูกร มหาบพิตร มหาบพิตรทรงเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงทรงกระทำการเคารพนอบน้อมเป็นอย่างยิ่งเห็นปานนี้ ในสรีระนี้ ทรงแสดงอาการฉันมิตร

    พระเจ้าปเสนทิโกศลก็กราบทูลพระผู้มีพระภาคมีข้อความว่า

    พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในธรรม ในพระผู้มีพระภาคว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้เองโดยชอบ พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว

    และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้กราบทูลต่อไป ซึ่งมีข้อความว่า

    สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ประพฤติพรหมจรรย์มีกำหนดที่สุด (คือ การประพฤติพรหมจรรย์ของสมณพราหมณ์พวกหนึ่งนั้นมีกำหนดเวลา) คือ กำหนดที่สุด ๑๐ ปีบ้าง ๒๐ ปีบ้าง ๓๐ ปีบ้าง ๔๐ ปีบ้าง แล้วต่อมาก็อาบน้ำ ดำเกล้า ลูบไล้อย่างดี แต่งผมและหนวด บำเรอตนให้เอิบอิ่มพรั่งพร้อมไปด้วยเบญจกามคุณ แต่ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ มีชีวิตเป็นที่สุดจนตลอดชีวิต

    อนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลมิได้ทรงเห็นพรหมจรรย์อื่นอันบริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างนี้ นอกจากธรรมวินัยนี้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๕ ตอนที่ ๑๔๑ – ๑๕๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564