แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
ครั้งที่ ๑๕๙
สุ. ถ้าถามดิฉัน ดิฉันเรียนให้ทราบที่นี่ ไม่ต้องไปสำนักปฏิบัติก็เข้าใจได้ ถ้าจะไป ข้อปฏิบัติของสถานที่นั้นสอนให้ทำอย่างไรจึงทำให้รู้ลักษณะของสติ เพราะเหตุว่าที่นี่ไม่ใช่สำนักปฏิบัติ สำนักวิปัสสนา แต่ท่านผู้ฟังอาศัยการฟัง การพิจารณาธรรม และถ้าสามารถเข้าใจลักษณะของสติได้ ท่านก็เจริญสติปัฏฐานได้
ถ. อาจารย์บอกว่าไม่จำเป็นต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน ดิฉันคิดว่าการเข้าห้องกัมมัฏฐานก็ต้องไปอาศัยอาจารย์ที่จะให้ความรู้ต่อไปเหมือนกัน เพราะดิฉันเองก็มีความรู้ความเข้าใจน้อย ขอท่านอาจารย์ช่วยตอบให้ผู้ที่จะเข้าห้องกัมมัฏฐานฟังด้วย
สุ. ไม่ใช่ตอบให้ผู้เข้าห้องกัมมัฏฐาน ท่านที่เข้าใจลักษณะของสติ ท่านก็เจริญสติปัฏฐานกันเป็นปกติ ไม่ใช่ว่าจะชี้แจงสำหรับผู้ที่จะไปเข้าห้อง เพราะเหตุว่าในพระไตรปิฎกไม่มีเรื่องของการไปสู่สำนักปฏิบัติที่เป็นห้องเล็กๆ พระภิกษุท่านจะไปที่ไหนก็ได้ แล้วท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ถ้าสติไม่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ เมื่อไรจะรู้ชัดได้
ถ. ที่อาจารย์พูดก็ถูก สำหรับคนที่จะพอเข้าใจบ้าง คนที่อ่านหนังสือพอเป็นมาบ้าง แต่สำหรับผู้ที่อ่านหนังสือไม่เป็น คิดว่ายังคงยาก เพราะฉะนั้น ดิฉันอยากจะพูดในฐานะที่เคยไปเข้าห้องกัมมัฏฐาน เข้าห้องกัมมัฏฐานกับไม่เข้าห้องกัมมัฏฐาน ความรู้สึกในการมีสตินั้นต่างกันมาก เมื่อเราอยู่ข้างนอกเราก็รู้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่รู้อย่างในห้องกัมมัฏฐาน จึงเห็นคุณประโยชน์ในการเข้าห้องกัมมัฏฐานว่า นอกห้องกัมมัฏฐาน มีอารมณ์ภายนอกมากมายเหลือเกิน จนเราไม่สามารถจะย้อนกลับไปดูอารมณ์ภายในใจของเราได้ เป็นเหตุให้จิตออกไปข้างนอก ไปดูอารมณ์ข้างนอกหมด ไม่ได้ย้อนกลับมาดูในจิตของตัวเอง สมัยที่เข้าห้องกัมมัฏฐาน จิตถูกปิดบังเหลืออยู่แต่ภายใน อารมณ์ภายนอกไม่เข้ามากระทบเลย เหลือแต่อารมณ์ภายใน ขณะนั้นจิตก็ไปจับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้ชัดเจน ฉะนั้นการไม่เข้าห้องกัมมัฏฐาน คงไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยในชีวิต
นี่เป็นความคิดที่ดิฉันได้มาจากการเข้าห้องกัมมัฏฐาน และระลึกนึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าว่า การที่พระองค์ให้อยู่ตามเคหะสถานหรือบ้านเรือนร้างนี้ เพราะเป็นอารมณ์โดดเดี่ยว ไม่กังวล หรือยุ่งต่ออารมณ์ใดๆ ภายนอก จึงสามารถรู้อารมณ์ปัจจุบันได้ชัดเจน ก็เป็นความจริงสำหรับผู้ปฏิบัติหรือเข้าถึงความจริง แล้ว ก็เข้าใจถูกต้อง แต่สำหรับผู้ที่ยังไม่ปฏิบัติเลย ทันทีทันใดจะให้รู้เลย ดิฉันว่ายาก แม้ในขณะนี้ เป็นปัจจุบันอารมณ์ สติสัมปชัญญะอะไรจะเกิด ดิฉันก็พอจะจับได้ เดี๋ยวนี้อกุศลหรือกุศลกำลังเกิดขึ้น สติระลึกได้ ความรู้สึกก็เคยจับอยู่เสมอเหมือนกัน ก็เป็นนัยหนึ่งตามที่ได้เคยเข้าห้องปฏิบัติมา
สำหรับผู้ที่อยู่ข้างนอก และไม่ได้ปฏิบัตินั้น ยังอีกมากมาย จะว่าเขาไม่รู้ เขาก็ว่าเขารู้ จะว่าเขารู้ เขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจชัดเจน ด้วยเหตุนี้แหละดิฉันจึงเห็นว่า การไม่เข้าห้องกัมมัฏฐานจะรู้ได้ก็สำหรับบุคคลที่เป็นอุคฆฏิตัญญู หรือบุคคลที่มีปัญญาใกล้จะหลุดพ้น หรือบารมีเปี่ยมแล้ว แต่สำหรับดิฉันเป็นปทปรมบุคคล มีความเข้าใจว่า จำเป็นต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน
สุ. แล้วเจริญอย่างไร จึงได้รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้
ถ. ยังไม่ได้กล่าวถึงขณะนี้ แต่กล่าวถึง ขณะที่เคยได้ปัจจุบันอารมณ์ชัดเจนเป็นสันตติขาด การเห็นโดยลักษณะสันตติขาดนี้จึงรู้เงื่อนต้นและเงื่อนปลายแห่งสังสารวัฏฏ์ที่เราได้เวียนว่ายตายเกิด นี่เป็นหลักหนึ่ง
บุคคลผู้ไม่เคยเจริญสติ ย่อมไม่เข้าใจชัดเจนในอารมณ์ปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ก็ไม่สามารถมีสติระลึกรู้ตามทันได้ เหมือนโจรผู้ร้ายเข้ามาในบ้านมาดึงเอาเราไปด้วย นี่เรียกว่าเราขาดสติสัมปชัญญะ แต่ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ ผู้ร้ายเข้ามา ผู้เฝ้าประตูก็ย่อมรักษาประตู หรือรู้ว่าขณะนี้ผู้ร้ายเข้าบ้านแล้ว นายประตูคือสตินั่นเอง เมื่อสติดี นายประตูเฝ้า โจรจะเข้ามา สติสัมปชัญญะก็ไม่ยอมให้เข้า มีหน้าที่คอยประหารอย่างเดียว นี่เรียกว่าเป็นผู้รู้แล้ว แต่ผู้ที่ไม่รู้ ก็คงไม่มีโอกาสที่จะไปฆ่า จะไปเผาผลาญให้พวกผู้ร้ายออกไปได้ นี่ก็เป็นนัยของพวกกิเลส
พวกที่ไม่เข้ากัมมัฏฐาน ดิฉันว่ายาก ดิฉันเห็นว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานนี้มีประโยชน์มากเท่าที่ดิฉันได้ผ่านมา นี่เอาความรู้สึกจากจิตใจมาพูดให้ฟัง เพราะฉะนั้น ดิฉันคัดค้านที่อาจารย์พูดที่ว่าไม่ต้องเข้าห้องกัมมัฏฐาน เปรียบห้องกัมมัฏฐานก็เหมือนกับโรงเรียน ถ้าการสร้างโรงเรียนแล้วไม่มีประโยชน์ คนทั้งหลายก็ย่อมไม่สร้างโรงเรียน หรือไม่สร้างห้องกัมมัฏฐาน ถ้าไม่ได้เป็นประโยชน์อะไร เพราะคนหนึ่งๆ สร้างสำนักหมดทุนเป็นแสน สามถึงสี่แสน หกแสนก็มีเท่าที่ดิฉันรู้มา เพราะฉะนั้น ถ้าไม่เป็นประโยชน์ ผู้สร้างก็คงไม่มีมหากุศลจิตอะไรมากมาย แต่ผู้สร้างเห็นประโยชน์อย่างยิ่งจึงสร้าง
สุ. ในพระไตรปิฎก มีท่านผู้ใดสร้างสำนักปฏิบัติสำหรับฆราวาสบ้าง ครั้งโน้นพระธรรมไม่คลาดเคลื่อนเลย ถ้าการเจริญสติปัฏฐานจะต้องทำอย่างนั้น ทำไมไม่ปรากฏในพระไตรปิฎกว่า ฆราวาสจะต้องไปจำกัดสถานที่หรืออะไรๆ หรือแม้ภิกษุ พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงมีข้อบังคับกฎเกณฑ์ว่า จะต้องเจริญอยู่ในห้อง ขอคำอธิบายตอนนี้ด้วย
ถ. ถ้าในครั้งพุทธกาลไม่มีการเข้าห้องกัมมัฏฐาน แต่ดิฉันเคยศึกษาในพระสูตร หรือเคยดูในพระสูตร เช่น พระนางอุบลวรรณาเถรี สมัยที่ออกไปกลางป่านั้น ทำไมจึงต้องออกไปอยู่ป่าคนเดียวจนกระทั่งถูกนายมานพทำครุกรรมหนักให้เกิดขึ้น นี่ถือว่าการปฏิบัติต้องให้ห่างจากหมู่คณะใช่ไหม เพราะการออกจากหมู่คณะจะสร้างปรมัตถประโยชน์ หรือได้ปัจจุบันอารมณ์นั่นเอง ถ้าเราอยู่ในหมู่คณะ การที่จะได้ปรมัตถประโยชน์ หรือปัจจุบันอารมณ์นี้เป็นของยาก จะได้แต่บัญญัติอารมณ์เป็นพื้นฐาน เพราะปัจจุบันอารมณ์จะต้องมีสติสัมปชัญญะ แต่การที่เราอยู่กับหมู่คณะหรือคุยสังสรรค์กันตลอดเวลา ส่วนใหญ่เป็นบัญญัติอารมณ์ทั้งนั้น สำหรับดิฉันคิดว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานนี้มีประโยชน์มาก ดิฉันส่งเสริม เพราะเคยไปเข้ามาแล้วก็เห็นคุณประโยชน์ หรือการไปจับปัจจุบันอารมณ์ได้ จนกระทั่งสติสัมปชัญญะมีกำลังแข็งแรง รู้ช้า รู้เร็ว สติสัมปชัญญะเขาก็มีกำลังในตัวของเขาเอง จนกระทั่งจับปัจจุบันอารมณ์ได้
คนที่เริ่มทำใหม่ๆ จะคล้ายๆ ขึ้นบนเส้นลวด ตอนขึ้นบนเส้นลวดจะต้องประคับประคองจิตให้ตั้งอยู่ในอารมณ์เดียวตลอดเวลา ย่อมเป็นของยาก แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานมีกำลังดีแล้ว รู้สึกไม่ยาก พอขึ้นบนลวดก็ขึ้นได้เลย เดินได้เลย อะไรเกิด อกุศลจิตเกิด ก็มีหน้าที่กำหนดดูปัจจุบันอารมณ์นั่นเอง นี่สำหรับผู้ที่เข้าใจแล้วก็รู้สึกว่าไม่ยาก แต่สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจก็รู้สึกว่ายากมาก เพราะการที่จะเข้าถึงปัจจุบันอารมณ์ต้องเห็นถึงไตรสรณคมน์ คือ เห็นลักษณะอารมณ์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คือ เห็นในขณะสันตติอารมณ์นั้นขาดลงไป
สุ. ท่านสรรเสริญสำนักปฏิบัติว่า ได้ผล ท่านรู้สภาวะ ประจักษ์สันตติขาด ประจักษ์สันตติขาดนั้นเป็นวิปัสสนาญาณขั้นอุทยัพพยญาณ และที่ท่านรู้สภาวะประจักษ์สันตติขาดนั้นก็เพราะข้อปฏิบัติ คือ ท่านเดิน หรือยืน หรือนั่ง หรือนอนจนเมื่อย แล้วก็เปลี่ยนอิริยาบถเพราะรู้ว่าเป็นทุกข์ ท่านกล่าวว่า ถ้าสำนักปฏิบัติไม่ได้ผลก็คงจะไม่มีใครสร้างเงินเป็นแสนๆ ล้านๆ ท่านกล่าวว่า การเข้าห้องกัมมัฏฐานหรือเข้าห้องปฏิบัติ เหมือนกับการที่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าโรงเรียนจึงจะรู้สภาวธรรมได้ ซึ่งจะขอให้ท่านพิจารณาเป็นข้อๆ ดังนี้
สำหรับข้อคิดที่ ๑ คือ คำกล่าวที่ว่า ถ้าสำนักปฏิบัติไม่ได้ผล ก็คงจะไม่มีใครมีศรัทธาเสียเงินสร้าง
การที่มีคนหนึ่งคนใดมีศรัทธา มีความคิด มีความเชื่ออย่างหนึ่งอย่างใด แล้วก็เสียเงินเสียทองกันเป็นล้านๆ เป็นแสนๆ นั้น ควรจะยึดถือเงินทองที่เสียไป เพราะความคิด ความเห็นความเข้าใจนั้นๆ เป็นเครื่องวัดข้อปฏิบัติว่า เป็นข้อปฏิบัติที่ถูกได้ไหม ซึ่งในพระไตรปิฎก พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยยกเงินทองขึ้นเป็นเครื่องตัดสินข้อปฏิบัติเลย เพราะเหตุว่าไม่มีใครที่มีความคิดความเชื่อถูกต้องเหมือนกันหมด แม้ว่าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ประสูติ ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงธรรมแล้ว แต่แม้กระนั้นความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของคนก็ยังแตกแยกออกมากมาย ไม่จำกัดแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ในพระไตรปิฎกจึงไม่มีพยัญชนะที่ว่า ให้สาวกพิจารณาว่าบุคคลใดมีศรัทธา มีความเชื่อ เสียเงินที่จะทำนุบำรุง หรือจัดสร้างที่หนึ่งที่ใดขึ้น ก็ให้ถือว่าเป็นการกระทำที่ได้ผล หรือมีประโยชน์ ประเด็นนี้จึงตัดออกไปได้ เพราะว่าถ้าเป็นอย่างนี้แล้ว ธรรมของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุและผล แต่ขึ้นอยู่กับสิ่งอื่นเป็นเครื่องวัด
สำหรับข้อคิดประการที่ ๒ ที่ท่านผู้นั้นใช้คำว่า ห้องกัมมัฏฐาน ห้องปฏิบัติหรือสำนักปฏิบัติ หรือโรงเรียน
ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีสำนักของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สำนักสงฆ์ ใช้คำว่า สำนักปฏิบัติหรือเปล่า ใช้คำว่า สำนักปฏิบัติของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าสำนักปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์หรือเปล่า หรือใช้แต่คำว่า สำนักพระผู้มีพระภาค สำนักพระสงฆ์ อย่างพระวิหารเวฬุวัน พระวิหารเชตวัน พระวิหารนิโครธาราม สำนักของพระผู้มีพระภาค สำนักสงฆ์ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้คำว่าปฏิบัติ แต่ท่านปฏิบัติธรรมหรือไม่ได้ปฏิบัติ หรือต้องมีสำนักพิเศษต่างหากที่เป็นเฉพาะสำนักปฏิบัติ เป็นห้องปฏิบัติ เป็นห้องกัมมัฏฐาน แต่ปกติของท่านเป็นผู้ที่ประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัยเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน
สำนัก ก็คือ ที่อยู่นั่นเอง ท่านจะอยู่ที่ไหนก็ได้ ที่นั่นก็เป็นสำนักของท่าน เป็นที่อยู่ของท่าน แล้วท่านก็ประพฤติปฏิบัติธรรม คือ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตของท่าน
เพราะฉะนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปใช้คำว่า สำนักปฏิบัติ เพราะเหตุว่าถ้าใช้อย่างนั้น จะทำให้แยกความหมายว่า สำนักเฉยๆ ไม่ได้มีการปฏิบัติแต่เฉพาะบางแห่ง บางสถานที่ จึงจะเป็นสำนักปฏิบัติ นี่เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป
และข้อคิดประการที่ ๓ ข้ออ้างของท่านที่ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องไปสู่สำนักปฏิบัติ เหมือนกับทางโลก การที่จะรู้อะไรก็จะต้องเข้าโรงเรียน ต้องไปเรียนที่โรงเรียน
ขอให้ทราบว่า วิชาทางโลกที่ต้องมีโรงเรียนนั้น เพราะเหตุว่าเป็นวิชาที่จำกัดแต่ละวิชาไปว่าเป็นสถาบัน หรือเป็นสถานที่สำหรับศึกษาวิชาอะไร แต่ว่าการศึกษาในพระพุทธศาสนากว้างกว่านั้นมาก โลกทั้งโลก ทุกโลก เป็นโรงเรียน ไม่ว่าท่านจะอยู่ในมนุษย์โลก ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือว่าสวรรค์ชั้นอื่นๆ จนกระทั้งถึงพรหมโลก ท่านก็ต้องเป็นผู้ศึกษา จึงจะสามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
โรงเรียนของพระพุทธศาสนาที่จะทำให้ผู้ศึกษาเป็นพระอริยบุคคลนั้น ไม่ใช่จำกัดสถานที่หนึ่งที่ใด แต่ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใดก็ตาม ท่านก็เป็นผู้ศึกษาโลก คือ โลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพื่อการรู้แจ้ง เพื่อการละความไม่รู้ซึ่งมีเป็นปกติ ถ้าสติไม่เกิดขึ้น สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามความเป็นจริง ขณะนั้นท่านไม่ใช่ผู้ศึกษา ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหนก็ตาม
และถ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็แจ้งตลอดทั้งโลก รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง โดยไม่จำกัดว่าท่านจะรู้แคบๆ เพียงที่เดียว หรือว่าเพียงโลกเดียว แต่ท่านจะรู้โลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่า การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะศึกษาโลก เป็นผู้ประพฤติปฏิบัติเจริญสติแล้วจะต้องไปเข้าโรงเรียน หรือจะต้องไปสู่สำนักปฏิบัติ ในครั้งพุทธกาล ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นพระอริยบุคคลมีทั้งผู้ที่เป็นฆราวาสและบรรพชิต
แม้ผู้ใดที่เห็นว่า ชีวิตของฆราวาสนั้นยากแก่การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ยากแก่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปบ่อยๆ เนืองๆ ท่านผู้นั้นมีศรัทธาที่จะเจริญสติปัฏฐานดำเนินมรรคมีองค์ ๘ ในเพศของบรรพชิต ท่านละอาคารบ้านเรือน แล้วไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคหรือสำนักสงฆ์ ซึ่งสำนักของพระผู้มีพระภาคและสำนักสงฆ์นั้น ไม่มีข้อปฏิบัติที่ให้จำกัดอยู่เฉพาะสถานที่ที่เป็นห้องปฏิบัติ โดยที่ไม่ให้ออกไปที่ไหนเลย เพราะเหตุว่าสำนักของพระผู้มีพระภาคนั้นต้องเป็นสำนักที่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ซึ่งพระวินัยปิฎกยังครบถ้วนสมบรูณ์ที่ทุกท่านจะตรวจสอบได้ พระธรรมวินัยไม่เคยจำกัดเลยว่า ไม่ให้บุคคลไหนไปที่ไหน ให้อยู่แต่เฉพาะในห้อง จึงจะเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรม
เพราะฉะนั้น ธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ได้จำกัดบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ได้ฟังธรรม ตั้งแต่พระราชา มหาอำมาตย์ ไปจนกระทั่งถึงทาสกรรมกร ธรรมอุปมาดุจแสงสว่างที่ส่องไปทั่วถึง ผู้ใดที่มีความเข้าใจธรรม ก็ประพฤติปฏิบัติธรรมได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องสละเพศฆราวาส และถึงแม้จะสละ แล้วไปสู่เพศบรรพชิต ก็ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยไม่มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ไม่จำกัดสถานที่ หรือไม่ให้ประกอบกิจการงานใดๆ เลย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๖ ตอนที่ ๑๕๑ – ๑๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 180