แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
ครั้งที่ ๑๖๙
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปถึงผลของทานของบุคคล ซึ่งให้ทานโดยไม่หวังผล มีข้อความว่า
ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจะได้เสวยผลทานนี้ แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้
แม้จะไปเกิดวนเวียนอยู่ในสวรรค์ เทวโลกชั้นต่างๆ ก็ตาม แต่ถ้าไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์แล้ว ทานที่ให้นั้น ก็ไม่ใช่ทานที่ทั้งมีผลมากและมีอานิสงส์มาก เป็นทานที่มีผลมากจริง แต่ว่าไม่มีอานิสงส์มาก
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้
นี่เป็นทานที่มีผลมาก แต่อานิสงส์ไม่มาก
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ด้วยความคิดว่า เราหุงหากิน สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
นี่ถึงชั้นดุสิต ที่ให้เพราะเห็นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ไม่หุงหากิน และก็เป็น สมณพราหมณ์
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤๅษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤๅษี วามกฤๅษี วามเทวฤๅษี เวสสามิตรฤๅษี ยมทัคคิฤๅษี อังคีรสฤๅษี ภารทวาชฤๅษี วาเสฏฐฤๅษี กัสสปฤๅษี และภคุฤๅษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
ไม่ว่าเทวโลกชั้นไหนก็ตาม ก็ยังเป็นภพภูมิของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อยู่นั่นเอง
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤๅษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤๅษี วามกฤๅษี วามเทวฤๅษี เวสามิตรฤๅษี ยมทัคคิฤๅษี อังคีรสฤๅษี ภารทวาชฤๅษี วาเสฏฐฤๅษี กัสสปฤๅษี และภคุฤๅษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว เป็นต้น ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
ท่านผู้ฟังที่ให้ทานแล้วจะไปสู่ภูมิไหน ทราบได้ไหมว่า จะไปสู่สวรรค์ชั้น จาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ หรือว่าชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ถ้าขอไปเกิดที่สวรรค์ชั้นนิมมานรดี แต่เหตุของการให้ไม่สมควรที่จะทำให้เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี จะเกิดที่นั่นได้ไหม และสำหรับความวิจิตรของจิต ถ้าท่านผู้ฟังจะศึกษาโดยตรงจากพระไตรปิฎก จะเห็นว่า บุคคลอื่นนั้นไม่สามารถพยากรณ์ได้เลยว่า บุคคลนี้จะเกิดที่ไหน เป็นผลของกุศลกรรมขั้นใด เพราะเหตุว่าความวิจิตรของจิตมากเหลือเกิน ต่างกันไปตามอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และแม้ในบรรดาพระอริยบุคคลด้วยกัน ความวิจิตรของจิตก็ต่างกันมาก ทำให้เกิดในภพภูมิต่างกันไปตามเหตุที่ได้สะสมมาด้วย
ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจ และโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีป และเครื่องอุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์
ดูกร สารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า
อย่างนั้น พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร สารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนอย่างฤๅษีในครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤๅษี วามกฤๅษี วามเทวฤๅษี เวสสามิตรฤๅษี ยมทัคคิฤๅษี อังคีรสฤๅษี ภารทวาชฤๅษี วาเสฏฐฤๅษี กัสสปฤๅษี และภคุฤๅษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจ และโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้
ดูกร สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก และเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เป็นการเจริญกุศล ขัดเกลาจิต เจริญสติด้วยในขณะนั้น เป็นเหตุให้บรรลุอริยสัจธรรมเป็นลำดับขั้น ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เมื่อจุติก็จะเกิดในพรหมโลก ไม่ต้องกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
นี่เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก เพราะฉะนั้น การให้ทานของท่านในครั้งก่อนๆ ให้ผลมากได้ แต่จะมีอานิสงส์มากด้วย ก็ต้องเจริญสติเพื่อที่จะให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงขั้นที่จะไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก
นี่เป็นความต่างกันของการให้ ซึ่งแต่ก่อนถ้าไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเวลาให้ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะที่ให้ทานก็สามารถละคลายการยึดถือสภาพของนามและรูปในขณะนั้น รู้ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล และปัญญาก็จะรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โสตาปัตติสังยุต ราชาสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย พระเจ้าจักรพรรดิ์เสวยราชสมบัติเป็นอิสสราธิบดีในทวีปทั้ง ๔ สวรรคตแล้ว ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ คือ ได้เป็นสหายของพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ท้าวเธอแวดล้อมไปด้วยหมู่นางอัปสร เอิบอิ่ม พรั่งพร้อม บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ณ สวนนันทวันในดาวดึงส์พิภพนั้น ท้าวเธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้น ท้าวเธอก็ยังไม่พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเยียวยาอัตภาพ อยู่ด้วยคำข้าวที่แสวงหามาได้ด้วยปลีแข้ง นุ่งห่มแม้ผ้าที่เศร้าหมอง เธอประกอบด้วยธรรม ๔ ประการก็จริง ถึงอย่างนั้นเธอก็พ้นจากนรก จากกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน จากปิตติวิสัย และจากอบาย ทุคติ วินิบาต
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของพวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม
นี่เป็นประการที่ ๑ ประการต่อไป มีข้อความว่า
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรมว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสดีแล้ว อันผู้ได้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
นี่เป็นธรรมประการที่ ๒ ต่อไปประการที่ ๓ และ ๔
ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติสมควร คือ คู่แห่งบุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘ นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค ผู้ควรของคำนับ ควรของต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า
ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ อันตัณหาและทิฏฐิไม่ลูบคลำแล้ว เป็นไปเพื่อสมาธิ
อริยสาวกย่อมประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เหล่านี้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การได้ทวีปทั้ง ๔ กับการได้ธรรม ๔ ประการ การได้ทวีปทั้ง ๔ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออกไปแล้ว ๑๖ หน ของการได้ธรรม ๔ ประการ
เพราะฉะนั้น อะไรมีอานิสงส์มาก
สำหรับการให้เป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาท บางท่านคอยโอกาสว่า มีทรัพย์สินมากๆ แล้วจะให้ แต่ถ้าท่านให้ทานแม้เล็กน้อย แม้นิดหน่อย แม้เป็นสิ่งซึ่งดูเหมือนกับว่าจะไม่มีประโยชน์ หรือว่าไม่มีความหมายสำหรับท่าน แต่ว่าเป็นประโยชน์หรือว่ามีความหมายมากสำหรับผู้รับ แม้เป็นสัตว์เดรัจฉาน ในขณะที่ให้ ก็เป็นกุศลจิต เป็นกุศลกรรม
เรื่องของทาน ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต กินททสูตรข้อ ๑๓๗ - ๑๓๘ เทวดาทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้จักษุ และบุคคลเช่นไร ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ และผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัย ชื่อว่า ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรม ชื่อว่าให้อมฤตธรรม
มีหลายสิ่งที่จะให้ได้ ท่านอาจจะคิดว่าท่านมีทุกอย่าง แต่อาจจะเป็นไปได้ไหมที่บางวันท่านขาด และท่านก็ต้องการ เพราะว่าในบางสถานที่ ในบางแห่ง ถึงแม้ว่าท่านจะมีเงินทอง อาหารไม่มีได้ไหม เพราะฉะนั้น ทุกท่านมีโอกาสที่จะเป็นทั้งผู้รับและเป็นทั้งผู้ให้ด้วย ซึ่งถ้าท่านได้เจริญกุศลอย่างนี้อยู่เสมอ ก็ย่อมจะเกื้อกูลบุคคลอื่นทุกๆ ด้าน และทุกๆ ทางด้วย
สารัตถปกาสินี อรรถกถาสังยุตตนิกาย สคาวรรค อรรถกถากินททสูตร มีข้อความอธิบายว่า
สำหรับข้อที่ว่า บุคคลให้สิ่งอะไร ชื่อว่าให้กำลัง พระผู้มีพระภาคตรัสว่า บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง เพราะเหตุว่าบุคคลแม้ว่าจะมีกำลังมาก แต่ถ้าไม่ได้บริโภคอาหาร ก็ไม่อาจจะดำรงอยู่ได้ แต่ว่าครั้นบริโภคแล้ว ถึงจะเป็นผู้ที่มีกำลังทราม ก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยกำลัง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลให้อาหาร ชื่อว่าให้กำลัง
คนที่แข็งแรง ไม่รับประทานอาหาร ๒ - ๓ วัน ๒ - ๓ มื้อ ยังมีเรี่ยวมีแรง แข็งแรงอยู่ได้ไหม ไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม บุคคลที่ไม่มีกำลัง ไม่มีเรี่ยวแรง แต่ครั้นได้รับประทานอาหารแล้ว ก็ย่อมมีกำลังขึ้น การให้อาหาร จึงชื่อว่าให้กำลัง ไม่ว่าสัตว์เล็ก สัตว์น้อยทั้งหลาย คำข้าว ๒ คำ ๓ คำ ที่จะทำให้มีเรี่ยวแรงขึ้น มีกำลังขึ้น ถ้าท่านจะเจริญกุศล ก็สละให้ได้f
สำหรับบทที่ว่า ให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ ในอรรถกถามีข้อความว่า
เพราะเหตุว่าบุคคลถึงจะมีรูปดี แต่นุ่งผ้าขี้ริ้ว หรือว่าไม่ใส่เสื้อผ้า ก็ต้องมีรูปที่น่าตำหนิ ไม่น่าดู ผู้ที่ใส่เสื้อผ้านั้น ก็น่าดู งดงามดังเทพบุตร เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า บุคคลให้ผ้า ชื่อว่าให้วรรณะ
นอกจากเสื้อผ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ให้แล้วจะทำให้ผู้ได้รับน่าดู ก็ยังเป็นความจำเป็นสำหรับบางท่านที่ไม่มีเสื้อผ้า ถ้าท่านพอที่จะสละเกื้อกูลให้บุคคลนั้นได้ ก็ควรจะสละ ถึงแม้ว่าจะเป็นประโยชน์น้อยสำหรับท่าน ไม่ค่อยได้ใช้ แต่ก็เป็นประโยชน์มากสำหรับบุคคลอื่น
ข้อต่อไป
บทว่า ให้ยวดยาน คือ ผู้ให้ยวดยาน คือ ช้าง เป็นต้น ก็บรรดายวดยานเหล่านั้น ยานช้างย่อมไม่เหมาะแก่สมณะ ยานม้าก็ไม่เหมาะเหมือนกัน การไปด้วยรถก็ไม่เหมาะ ยานนี้ คือ รองเท้า เหมาะแก่สมณะ ผู้รักษากองศีล เพราะฉะนั้น ผู้ให้ร่ม รองเท้า ไม้เท้าคนแก่ เตียง และตั่งก็ดี ผู้แผ้วถางทาง ทำบันได ทำสะพาน ตบแต่งเรือก็ดี ทั้งหมดจัดเป็นผู้ให้ยานทั้งนั้น
ข้อที่ว่า ชื่อว่าให้ความสุข เพราะนำสุขอันเกิดจากยานพาหนะมาให้
ข้อที่ว่า ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ
ข้อที่ว่า ให้จักษุ ความว่า ผู้ให้ประทีป ชื่อว่าให้จักษุ เพราะในเวลามืด แม้คนมีดวงตาก็มองเห็นรูปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ให้ประทีป ชื่อว่าผู้ให้จักษุ ย่อมได้แม้สมบัติ คือ ทิพยจักษุ เหมือนพระอนุรุทธเถระ
สำหรับข้อต่อไปที่ว่า ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่างทีเดียว คือ ให้กำลัง เป็นต้น มีอธิบายว่า
ดังเช่นภิกษุผู้เที่ยวไปบิณฑบาต ๒ - ๓ บ้าน ไม่ได้อะไรๆ กลับออกมาแล้วก็ดี หรือว่าผู้ที่อาบน้ำในสระที่เย็น เข้าไปสู่ที่อยู่อาศัย นอนบนเตียงสักครู่หนึ่ง ลุกขึ้น แล้วนั่งอยู่ก็ดี ย่อมได้กำลัง ดุจบุคคลอื่นนำมาใส่เข้าไว้ให้ในกาย
นี่คือประโยชน์ของที่พักอาศัย ถ้าท่านไม่มีบ้านเลย จะทราบว่า ความเดือดร้อน ความไม่สะดวกสบาย ความยากลำบากนั้น มีสักแค่ไหน แต่เพราะเหตุว่าท่านมีที่พักที่อาศัยจนชิน จนอาจจะไม่ได้รู้สึก ไม่ทราบเลยว่า ขณะที่มีที่พักที่อาศัยนั้น เป็นสิ่งที่สะดวกสบาย ทำให้มีกำลัง หรือว่าท่านที่ออกจากบ้านไปไหนมา เหนื่อยมาก กลับถึงบ้านเป็นอย่างไร พักผ่อนสักครู่หนึ่ง อาบน้ำสักหน่อยหนึ่ง ก็รู้สึกว่า มีกำลังขึ้น
นอกจากเรื่องของกำลัง ก็ยังมีประโยชน์ข้อต่อไป ที่ว่า
ภิกษุผู้เที่ยวไปในภายนอก อายตนะ คือ วรรณะที่กาย ย่อมเสื่อมไปด้วยแดดและลม ภิกษุผู้เข้าไปสู่ที่อยู่อาศัย ปิดประตูแล้ว นอนสักครู่หนึ่ง ความสืบต่อแห่งวิสภาคะย่อมสงบ
ร้อนจากข้างนอก พอเข้าไปถึงข้างใน ความร้อนจากข้างนอกก็สืบต่อไปชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็หมด เพราะรูปเกิดดับสืบต่อกัน เพราะฉะนั้น ก็มีชั่วระยะหนึ่งซึ่งสืบต่อ แต่พอเข้าไปสู่ที่พัก ความสืบต่อแห่งวิสภาคะย่อมสงบ
ความสืบต่อแห่งสภาคะย่อมก้าวลง วัณณายตนะ ชื่อว่า เป็นดุจบุคคลนำมาใส่เข้าไว้
ผิวพรรณก็กลับสดชื่นผ่องใสขึ้น ไม่เหมือนกับเวลาที่ตากแดด ตากลมอยู่ข้างนอก นี่เป็นประโยชน์ของการให้ที่พักอาศัย
คำอธิบายต่อไปมีว่า
ก็เมื่อเที่ยวไปภายนอก คือ ผู้ที่ไม่มีที่พักอาศัยนั้น หนามย่อมแทงที่เท้า กระทบที่ขา ตอย่อมกระทบ อันตรายมีสัตว์เลื้อยคลาน เป็นต้น และโจรภัยย่อมเกิด เมื่อเข้าไปสู่ที่อยู่อาศัย ปิดประตูนอนเสีย อันตรายทั้งหมดเหล่านั้นย่อมไม่มี เมื่อสาธยายธรรม ธรรมปีติสุขย่อมเกิดขึ้น เมื่อมนสิการกัมมัฏฐาน ความสุขอันเกิดจากความสงบย่อมเกิดขึ้น
แต่เมื่อเที่ยวไปข้างนอก เหงื่อย่อมไหลออก นัยน์ตาพร่า ในขณะที่เข้าไปสู่เสนาสนะ เตียง และตั่ง เป็นต้น ย่อมไม่ปรากฏ แต่เมื่อนั่งสักครู่หนึ่ง ความผ่องใสแห่งตาย่อมเป็นดุจบุคคลนำมาใส่เข้าไว้ให้ ประตู หน้าต่าง เตียง และตั่ง เป็นต้น ย่อมปรากฏ
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ก็ผู้ใดให้ที่อยู่อาศัย ผู้นั้นชื่อว่า ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๗ ตอนที่ ๑๖๑ – ๑๗๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 180