แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
ครั้งที่ ๑๒๕
สุ. การที่จะเป็นพระอรหันต์หรือเป็นพระอริยบุคคลได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่รู้ชัดในสภาพธรรม ซึ่งเป็นโลกในวินัยของพระอริยเจ้า โลกในวินัยของพระอริยเจ้ารู้ชัดทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ถ. เท่าที่กระผมฟังมา ท่านอาจารย์ทั้งหลายที่สอนปรมัตถธรรมต่างๆ ท่านบอกว่า การเรียนรู้ปรมัตถ์นี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อเวลาปฏิบัติจะได้ตรงกันกับที่เรียนมา เรียนมาอย่างไร เวลาปฏิบัติก็จะได้รู้ตามที่เรียนมา ไม่ว่านาม ไม่ว่ารูป ท่านก็บัญญัติลักษณะไว้ทั้งนั้น รูปแต่ละรูปก็มีลักษณะ นามแต่ละนามก็มีลักษณะ ท่านบัญญัติไว้หมด
ที่อาจารย์กล่าวถึงรูปนั่ง เรื่องนี้ผมเคยสอบถามบางท่านที่บรรยายว่า การที่จะรู้รูปนั่งนี้ควรจะรู้อะไร รู้ลักษณะอะไรของรูป ท่านก็กล่าวว่า รู้วิการรูป ผมก็ถามท่านอาจารย์ท่านนั้นว่า วิการรูปนี้เป็นสุขุมรูป แล้วจะไปรู้ได้อย่างไร ท่านก็บอกว่า อาการที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้ไม่รู้หรือ ผมก็บอกว่า รู้ รู้ว่านั่ง ผมจำ ไม่ใช่รู้จริงๆ จำเอาไว้ว่าอย่างนี้
ต่อมาผมก็ถามใหม่ว่า รูปนั่งจริงๆ อาจารย์จะให้รู้อะไร หนักๆ เข้าท่านบอกว่า ไม่ต้องรู้อะไรเลย เมื่อไม่ต้องรู้อะไรเลย ผมก็บอกว่าผมเรียนมามากมาย แล้วจะไม่ให้รู้อะไรเลยแล้วเรียนมาทำไม มีประโยชน์อะไร
อาจารย์ท่านนั้นก็กล่าวว่า การศึกษาปริยัติกับการปฏิบัตินี่ไม่เหมือนกัน อ้าว! ไม่เหมือนกัน แล้วให้ผมเรียนปริยัติทำไม ก็ไม่ต้องเรียน การปฏิบัติไม่ต้องรู้ปริยัติก็ปฏิบัติได้
นี่เป็นความอึดอัดใจของผมที่ได้รับฟังมาอย่างนั้น ต่อมาผมก็ได้ฟังจากท่านอาจารย์สุจินต์ที่บรรยายถึงลักษณะต่างๆ เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งในที่สุดกระผมก็ตัดสินใจว่า เรื่องที่จะปฏิบัติ ถ้าไม่รู้ลักษณะแล้ว เป็นอันไม่รู้เรื่องกัน ปฏิบัติไม่ถูกหรอก อย่างลมหายใจ ผมก็ฟังท่านบรรยายทางวิทยุ ลมหายใจ การทำฌาน ลมหายใจก็รู้แต่ลมเท่านั้น ทีนี้พอมาปฏิบัติเป็นวิปัสสนาว่ารู้อะไร ท่านก็บอกว่า รู้ถูก ถูกก็หมายถึงกระทบนั่นเอง รู้กระทบนี้หมายความถึงรู้เย็น รู้ร้อน หรือรู้อ่อน รู้แข็ง นี่ก็เป็นกายานุปัสสนา ปรากฏออกมาชัดแล้ว ก็รู้สิ่งที่ปรากฏนั่นเอง ถ้าอย่างนี้ก็รู้ลักษณะ ไม่ได้บอกว่า ไม่ต้องรู้อะไร ต้องรู้ลักษณะ
เท่าที่กระผมได้รับฟังมา รวมทั้งจากท่านอาจารย์ด้วย แล้วมาเทียบเคียงอย่างที่ท่านอาจารย์เคยแนะนำให้เทียบเคียงกันว่า อะไรถูก อะไรไม่ถูก ก็เทียบเคียงกันดู เพราะพระพุทธองค์ท่านว่าไว้อย่างนี้
สุ. ขอขอบคุณ ซึ่งก็เป็นการตอบที่ชัดเจนอยู่ในตัวแล้ว
ขอกล่าวถึงอีกสูตรหนึ่ง คือ ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต วิสาขสูตร ท่านอาจจะคิดว่าในพระสูตรนี้ไม่มีข้อความอะไร แต่ถ้าไม่มีประโยชน์แล้วก็คงไม่ทรงแสดงไว้เป็นแน่ ข้อความใน วิสาขสูตร มีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็โดยสมัยนั้นแล ท่านวิสาขปัญจาริบุตรได้ชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธัมมีกถาอันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวยปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงออกจากที่เร้นในสายันตสมัย เสด็จไปยังอุปัฏฐานศาลา แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้นแล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ใครหนอชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธัมมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านวิสาขปัญจาริบุตรชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธัมมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านวิสาขปัญจาลิบุตรว่า
ดีละ ดีละ วิสาขะ เป็นการดีแล้ว วิสาขะที่เธอชี้แจงภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธัมมีกถา อันเป็นวาจาของชาวเมือง สละสลวย ปราศจากโทษ ให้เข้าใจความได้แจ่มแจ้ง นับเนื่องในนิพพาน ไม่อิงวัฏฏะ
คนที่ไม่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ไม่ได้ว่า เป็นพาลหรือบัณฑิต ส่วนคนที่พูด ชนทั้งหลายย่อมรู้ว่า เป็นผู้แสดงอมตบท บุคคลพึงยังธรรมให้สว่างแจ่มแจ้ง พึงยกย่องธงของฤๅษีทั้งหลาย ฤๅษีทั้งหลายมีสุภาษิตเป็นธง เพราะว่าธรรมเป็นธงของพวกฤๅษี
ทำไมพระผู้มีพระภาคทรงอนุโมทนาท่านวิสาขปัญจาลิบุตร ถ้าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องชีวิตปกติประจำวัน แต่เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการรู้สภาพธรรมที่เป็นปกติในชีวิตประจำวัน รู้ชัดขึ้น ทั่วขึ้น ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัยในลักษณะของนามธรรมของรูปธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ ที่สติระลึกรู้ในขณะนั้น เป็นชีวิตปกติธรรมดา
ท่านวิสาขปัญจาลิบุตรได้ชี้แจงภิกษุทั้งหลายในอุปัฏฐานศาลา ให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธัมมีกถา แสดงแล้วเศร้าสร้อยเป็นทุกข์กันหรือไม่ ให้เห็นทุกข์ ก็เลยนั่งซึมเป็นทุกข์กัน หรือให้อาจหาญ ให้ร่าเริงด้วยธัมมีกถา ใครเป็นอย่างไร สะสมมาอย่างไรที่สุขเวทนาจะเกิดก็เกิด สติก็ระลึกรู้ได้ ไม่ใช่ไปข่มไว้ให้ทุกข์ ให้โศก ให้เศร้าสร้อยกลายเป็นอีกคนหนึ่ง หม่นหมองตรอมตรม แล้วก็เลยไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ว่าในธรรมวินัยนี้ไม่มีเลยที่จะให้เป็นอย่างนั้น
ที่ว่าให้อาจหาญ ให้ร่าเริงในกุศลธรรม เพราะเหตุว่าธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วเป็นสภาพธรรมที่มีจริงทุกขณะ พิสูจน์ได้เมื่อมีของจริง แล้วแสดงเรื่องความจริงให้พิสูจน์ได้ มีหนทางที่จะพิสูจน์ได้ จะรู้สึกอาจหาญร่าเริงไหม ไม่ต้องท้อถอยว่า ภัยในวัฏฏะนี้จะพ้นได้อย่างไร เพราะเหตุว่าเป็นของที่มีปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะที่จะให้สติระลึก แล้วก็รู้ชัดตามปกติตามความเป็นจริง เมื่อมีของจริง มีหนทางที่จริง ที่จะทำให้รู้แจ้งได้จริง ละความไม่รู้ได้จริง ผู้ฟังก็ย่อมอาจหาญ ร่าเริง จะถึงวันไหน ก็แล้วแต่สติจะระลึกรู้สภาพธรรมเพิ่มขึ้น มากขึ้น ชัดขึ้น
ถ. ผมไม่เข้าใจว่า วิการรูปนี้หมายถึงอะไร และมีความหมายอย่างไร กว้างขวาง หรือว่าแคบอย่างไร
สุ. วิการรูปเป็นรูปที่รู้ยาก เพราะเหตุว่าเป็นลักษณะอาการของมหาภูตรูป มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ธาตุดินก็มีลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ธาตุไฟก็เย็นหรือร้อน ธาตุน้ำก็ไหลหรือเกาะกุม ธาตุลมก็ตึงหรือไหว แต่ว่าวิการรูปเป็นลักษณะที่เบาลักษณะหนึ่ง ลักษณะที่อ่อนลักษณะหนึ่ง ลักษณะที่ควรแก่การงานลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของมหาภูตรูป
เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าไม่มีก็ไม่ได้ แต่เป็นลักษณะพิเศษของมหาภูตรูป นั้นเอง อย่างพวกโต๊ะ พวกเก้าอี้ อ่อน แข็ง เย็น ร้อน เกาะกุม ตึง ไหว มหาภูตรูป ๔ นี้ไม่ได้แยกกันเลย แต่ไม่มีวิการรูป
เมื่อยังไม่สิ้นชีวิต รูปของบุคคลสัตว์ทั้งหลายก็ต้องต่างกันกับรูปของวัตถุสิ่งของ ที่ต่างกันคือ ต่างด้วยวิการรูปที่เกิดเพราะจิตบ้าง เพราะอุตุบ้าง เพราะอาหารบ้าง เป็น ๓ สมุฏฐาน
ถ้าขณะใดสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ เป็นนามธรรมถูกต้อง รู้ลักษณะที่เป็นสภาพของรูปธรรมถูกต้อง ในขณะนั้นเป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค วิรัทธสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน ก็ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม
ในสูตรนี้ ไม่ได้กล่าวถึงสถานที่ และไม่ได้กล่าวให้เจริญเพียงสติปัฏฐานเดียว แต่ทรงแสดงว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งไม่ปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ไม่ปรารภอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
โดยนัยตรงกันข้าม สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งปรารภแล้ว บุคคลเหล่านั้นชื่อว่า ปรารภอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ที่ยังสัตว์ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่จะระลึกที่กาย หรือว่าเวทนา หรือว่าจิต หรือว่าธรรม ในสถานที่ใด เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น ถ้าในขณะนั้นท่านรู้ว่าเป็นลักษณะของนามธรรมหรือว่าเป็นลักษณะของรูปธรรม จะกล่าวว่าในขณะนั้นไม่ใช่การเจริญอริยมรรคมีองค์ ๘ ไม่ได้ และไม่มีใครทราบว่า จะสิ้นชีวิตลงเมื่อใด ไม่มีใครรู้ได้จริงๆ เลย เพราะฉะนั้น คงจะไม่ลืมพระปัจฉิมโอวาสใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร ซึ่งมีข้อความว่า
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ไม่ได้เว้นขณะไหนเลย ควรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของสังขารที่กำลังปรากฏแล้วก็ดับไป จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท และก็เป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน เจริญอริยมรรคมีองค์ ๘
เรื่องของการเจริญสติ เป็นการทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ปัญญาที่รู้ชัดพร้อมกับสติ เมื่อสมบูรณ์เป็นขั้นแล้ว ชื่อว่าวิปัสสนา แต่ไม่ใช่ว่าจะเป็นวิปัสสนาญาณได้โดยไม่เจริญสติ อย่าเข้าใจผิดคิดว่า จะทำวิปัสสนา ถ้าใช้คำว่า จะทำวิปัสสนา จะไม่มีการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่มีโอกาสที่สติจะระลึกรู้ตามปกติในชีวิตของท่านว่า ขณะนั้น ลักษณะที่ปรากฏนั้นเป็นแต่เพียงนามธรรมหรือเป็นแต่เพียงรูปธรรม เพราะเหตุว่าท่านมีตัวตนที่คิดว่า จะทำวิปัสสนา ถ้าท่านคิดว่าท่านจะทำวิปัสสนา ท่านมุ่ง ท่านจดจ้อง ท่านทำอะไรผิดปกติบ้างไหม หรือว่าท่านเป็นปกติ แล้วสติก็ระลึกรู้นามรูปที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมาตามความเป็นจริง ขณะที่สติระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติ เป็นสัมมาสติ ไม่มีสิ่งใดบังลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นให้คลาดเคลื่อน
แต่ถ้าท่านคิดว่า ท่านจะทำ ผิดปกติ หรือว่าเป็นปกติ เพราะเหตุว่าถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้ว ในขณะที่คิดว่าจะทำ สติก็ระลึกว่า ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่คิด แล้วสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามอื่นรูปอื่นต่อไปเป็นปกติ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป
ถ. อารมณ์ของการเจริญสติกับอารมณ์ของวิปัสสนา ใช้อารมณ์ปัจจุบันอย่างเดียวกันใช่ไหม
สุ. ปัจจุบันหมายความว่าอะไร เห็นในขณะนี้ ได้ยินในขณะนี้ คิดนึกในขณะนี้ สุข ทุกข์ในขณะนี้ เป็นสภาพธรรมที่เกิดปรากฏที่สติระลึกรู้ได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล
ได้รับทราบจากท่านผู้ฟังว่า การเจริญสติปัฏฐานยาก เพราะเหตุว่าเป็นการที่สติจะค่อยๆ เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งปกติแล้วเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะฉะนั้น พอเริ่มที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปตามปกติที่สติสามารถที่จะเกิดระลึกรู้แม้เพียงชั่วขณะหนึ่ง ขณะนั้นก็เป็นสติปัฏฐานแล้ว เพราะเหตุว่ารู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ว่าทีละเล็กทีละน้อยๆ ท่านก็กล่าวว่ายากเหลือเกิน
การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ดูเหมือนกับว่าจะเป็นสิ่งที่สุดวิสัย เป็นไปไม่ได้ ก็คงจะเหมือนกับคำอุปมาที่ว่า มีเขาสูง แล้วคนที่ขึ้นไปถึงยอดเขาก็สามารถจะเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยู่ข้างล่างได้ แต่คนที่อยู่ข้างล่างไม่มีโอกาสที่จะเห็นสิ่งต่างๆ เหมือนอย่างคนที่ขึ้นไปอยู่บนยอดเขา และถ้าท้อถอยคิดว่ารู้ไม่ได้ เจริญไม่ได้ การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประวันนั้นยากมาก ถ้าคิดอย่างนี้ ก็เหมือนกับว่า ท่านไม่พยายามที่จะขึ้นไปสู่ยอดเขา ซึ่งบุคคลอื่นขึ้นได้
เพราะเหตุใดบุคคลอื่นจึงขึ้นได้ แต่ท่านขึ้นไม่ได้ ก็เป็นเพราะเหตุว่า ท่านคิดว่าการเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นี่ขั้นหนึ่ง หรือท่านคิดว่า คงจะเป็นไปได้แต่ว่ายาก จะยากเท่าไรก็ตาม ถ้าท่านเข้าใจถูกต้อง และเริ่มเจริญสติเป็นปกติทีละเล็กทีละน้อย ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่มีเยื่อใยกับสิ่งที่หมดไปแล้ว เพราะเหตุว่าสิ่งที่กำลังปรากฏกำลังเป็นปัจจุบัน เป็นของจริง มีการเกิดขึ้นและดับไป ตามมหาสติปัฏฐานที่ได้ฟังมาตั้งแต่ต้น
กายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ล้วนเป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไป โลภมูลจิต สราคจิตในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์ความจริงข้อนี้หรือยัง
ไม่ว่าธรรมใดๆ ทั้งนั้นที่มีกล่าวไว้ว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ประจักษ์ความจริงของสังขารธรรมหรือยัง ท่านไม่ได้ทรงแสดงธรรมเรื่องอื่นเลย นอกจากเรื่องชีวิตปกติประจำวัน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๑๒๑ – ๑๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 180