แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171


    ครั้งที่ ๑๗๑


    ในครั้งนั้น ผู้คนที่ได้ฟังพวกเดียรถีย์กล่าวอย่างนั้น ก็เที่ยวถามกันว่า พระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนั้นหรือ ข้อความนั้นจริงแหละหรือ พระสมณโคดมทำสิ่งที่ไม่สมควร เป็นอันตรายแก่ปัจจัยของผู้อื่นที่อาศัยภิกขาจารเป็นอยู่

    ข้อความนี้ก็ได้แพร่กระจายไปถึงราชสกุล พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสดับแล้ว ทรงดำริว่า การที่พระตถาคตจะพึงทำอันตรายลาภของผู้อื่น เป็นอฐานะ เดียรถีย์เหล่านั้นกระเสือกกระสน เพื่อเสื่อมลาภ เสื่อมยศ แห่งพระตถาคต

    พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงดำริว่า เมื่อพระองค์ยังอยู่ในที่นี้ พวกเดียรถีย์ทั้งหลายอย่าได้กล่าวเช่นนั้นเลย พระศาสดาย่อมไม่ตรัสเช่นนั้น ถ้อยคำนั้นไม่พึงเป็นไปโดยกำหนดเอาเอง พระองค์จักให้ข้อความนั้นระงับลงในเวลาประชุมชน แล้วพระองค์ก็ประกาศให้ประชาชนไปยังพระวิหารในวันที่พระองค์เสด็จไปเพื่อถามปัญหานี้

    ซึ่งเมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสถามปัญหา ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า

    พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานบุคคลพึงให้ในที่ไหนหนอแล

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกรมหาบพิตร จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้นแล

    เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้ทอดพระเนตรดูมนุษย์ทั้งหลายที่นำวาทะของเดียรถีย์มากล่าว เพียงพระเจ้าปเสนทิโกศลทอดพระเนตรดูเท่านั้น มนุษย์เหล่านั้นก็เก้อเขิน ก้มหน้าเอาปลายนิ้วเท้าขุดดิน

    เป็นอันว่าพวกเดียรถีย์ทั้งหลายถูกกำจัดเสียแล้วด้วยบทเพียงบทเดียว คือ ด้วยพระดำรัสที่ว่า จิตย่อมเลื่อมใสในที่ใด พึงให้ในที่นั้นแล

    พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลถามต่อไปว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แล้วทานที่ให้แล้วในที่ไหน จึงมีผลมาก

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาบพิตร ทานพึงให้ในที่ไหน นั่นเป็นข้อหนึ่ง และทานที่ให้แล้วในที่ไหนจึงมีผลมาก นั่นเป็นอีกข้อหนึ่ง

    ดูกร มหาบพิตร ทานที่ให้แล้วแก่ผู้มีศีลแล มีผลมาก ทานที่ให้แล้วในผู้ทุศีล หามีผลมากไม่

    ไม่ได้ทรงห้ามการให้ทานแก่บุคคลอื่นเลย แต่เหตุอย่างใดจะให้ผลอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความเป็นจริงว่า ถ้าเหตุอย่างนั้นจริง ผลก็มากอย่างนั้นจริง เหตุคือ จิตใจของท่านในขณะนั้นบริสุทธิ์มากน้อยเท่าไร ก็นำมาซึ่งผลมากน้อยเท่านั้น ถ้าจิตท่านบริสุทธิ์มาก มีความเข้าใจถูกรู้ว่า สิ่งใดเป็นธรรม เป็นวินัย ทะนุบำรุงผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ จึงจะมีผลมาก

    เพื่อให้ข้อความนี้ชัดเจนขึ้นอีก ขอกล่าวถึงสูตรที่ยาวสูตรหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังเข้าใจข้อนี้ชัดขึ้น

    อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ชัปปสูตร มีข้อความว่า

    ปริพาชกผู้วัจฉโคตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ กราบทูลถามว่า

    ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้ทานแต่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่

    ปริพาชกผู้วัจฉโคตรกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชนเหล่าใดได้กล่าวไว้เช่นนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่า พูดตามที่พระโคดมตรัส ไม่พูดตู่ท่านพระโคดมด้วยคำไม่เป็นจริง และชื่อว่าพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม อนึ่ง การคล้อยตามคำพูดที่ชอบธรรมไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะที่น่าติเตียนแหละหรือ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์ที่จะพูดตู่ท่านพระโคดม

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร วัจฉะ ผู้ใดพูดว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ... ฯลฯ ... ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ดังนี้ ผู้นั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูด ทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง

    ดูกร วัจฉะ ผู้ใดแล ห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่ วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่าง วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑ ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก คือ ผู้รับ ๑ ตนของบุคคลนั้นย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อนทีเดียวแล

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร วัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่า ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะหรือน้ำล้างขันไป แม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำครำ หรือที่บ่อโสโครกข้างประตูบ้าน ด้วยตั้งใจว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นจงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด ดังนี้

    ดูกร วัจฉะ เรากล่าวกรรมซึ่งมีการสาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุว่า เป็นที่มาแห่งบุญ จะป่วยกล่าวไปใยถึงสัตว์มนุษย์เล่า

    ดูกร วัจฉะ อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีล มีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่ ทั้งท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕

    ละองค์ ๕ เหล่าไหนได้ คือ ละกามฉันทะ ๑ ละพยาบาท ๑ ละถีนะมิทธะ ๑ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ๑ ละวิจิกิจฉา ๑ ท่านผู้มีศีลละองค์ ๕ นี้ได้แล้ว

    ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน คือ ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ (พระอรหันต์) ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑ ประกอบด้วย ปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑

    ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนะขันธ์ที่เป็นของพระอเสกขะ ๑ ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ นี้ เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวมา มีผลมาก

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    โคอุสุภะที่เขาฝึกแล้ว นำธุระไป สมบูรณ์ด้วยกำลัง ประกอบด้วยเชาว์อันดี จะเกิดในสีสรรชนิดใดๆ คือ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว สีด่าง สีตามธรรมชาติของตน สีเหมือนโคธรรมดา หรือสีเหมือนนกพิราบก็ดี ชนทั้งหลายย่อมเทียมมันเข้าในแอก ไม่ต้องใฝ่คำนึงถึงสีสันของมัน ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว มีวัตรเรียบร้อย ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่คำสัตย์ มีใจประกอบด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้ มีพรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระลงแล้ว พ้นกิเลส ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ รู้จบธรรมทุกอย่าง ดับสนิทแล้ว เพราะไม่ถือมั่น ย่อมจะเกิดได้ในสัญชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาสัญชาติเหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คนจัณฑาล และคนเทขยะมูลฝอย ในเขตที่ปราศจากธุลีนั้นแล ทักษิณาย่อมมีผลมาก

    ส่วนคนพาลไม่รู้แจ้ง ทรามปัญญา มิได้สดับตรับฟัง ย่อมพากันให้ทานในภายนอก ไม่เข้าไปหาสัตบุรุษ ก็ศรัทธาของผู้ที่เข้าไปหาสัตบุรุษ ผู้มีปัญญายกย่องกันว่าเป็นปราชญ์ หยั่งรากลงตั้งมั่นในพระสุคตแล้ว เขาเหล่านั้นย่อมพากันไปเทวโลก หรือมิฉะนั้นก็เกิดในสกุลในโลกนี้ บัณฑิตย่อมบรรลุนิพพานได้โดยลำดับ

    ไม่มีใครสามารถรู้ได้ว่า ผู้ที่มีศรัทธาในพระศาสนา บำเพ็ญบารมีสะสมบุญกุศลมาแล้วจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร แต่ถ้าเจริญสติปัฏฐานจะรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะคนอื่นไม่สามารถรู้ว่าวันหนึ่งสติเกิดมากหรือน้อย ปัญญารู้ชัดในสภาพของนามและรูปที่สติระลึกรู้ แต่การเจริญกุศลช่วยขัดเกลาอกุศลให้ไปสู่การดับสนิทซึ่งอกุศลทั้งปวงได้ จึงควรเจริญกุศลทุกขั้น

    . การเจริญสติในขณะที่ให้ทาน เราจะเจริญได้มากน้อยเพียงใด

    สุ. แล้วแต่สติจะเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่ผู้ที่ได้ฟังธรรมเข้าใจแล้วจึงไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ไม่ว่ากำลังให้ทาน หรือไม่ใช่ให้ทาน กำลังจะเปิดพัดลม เจริญสติปัฏฐานได้ไหม บางท่านถามอย่างนี้

    ความจริงคำว่า “เจริญสติ” หมายความว่า อบรมสติให้มีมากขึ้น เพิ่มขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ใช่บังคับว่า ตอนนี้จะเจริญสติ ตอนนั้นจะไม่เจริญสติ บางท่านก็ถามว่า แล้วจะเห็นทุกข์หรือ ขณะที่เดินไปเปิดพัดลม ซึ่งน่าจะทำไปด้วยโลภะด้วยความต้องการ แล้วจะเห็นทุกข์ได้อย่างไร

    เวลานี้ถ้ามีสติระลึกรู้ลักษณะของรูปหนึ่งรูปใดทางหนึ่งทางใด ระลึกรู้ลักษณะของนามหนึ่งนามใดทางหนึ่งทางใด ถึงแม้ว่าจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมรูปธรรม แต่เพราะยังไม่ทั่ว ยังไม่ประจักษ์ชัดในสภาพที่เป็นนาม ในสภาพที่เป็นรูป ความเป็นตัวตนก็ยังมี เพราะฉะนั้น จึงต้องเจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ โดยไม่เลือกด้วย เพราะเหตุว่าความสมบูรณ์ของปัญญานั้นเป็นอนัตตา จะเลือกให้เกิดนามรูปปริจเฉทญาณ รู้นามนี้ รู้รูปนั้นไม่ได้เลย แล้วแต่ว่าความสมบูรณ์จะเกิดในขณะใด มีนามใดกำลังปรากฏ มีรูปใดกำลังปรากฏ ไม่ใช่เป็นการบังคับ

    เคยชอบอะไร เคยทำอะไร เคยฟังเพลง เคยดูหนัง เคยแต่งตัวสวยๆ งามๆ เพราะมีปัจจัยสะสมมาสำหรับบุคคลนั้นที่จะทำอย่างนั้น แต่สติระลึกรู้สภาพที่เป็นนามธรรม ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ขั้นแรกยังไม่ได้ละโลภะ แต่ระลึกรู้ว่า โลภะเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดแล้วก็หมดไป ปัญญาจะต้องรู้ตามความเป็นจริงด้วย

    ถ. ผมได้ไปฟังคำบรรยายที่สำนักหนึ่ง ผมก็ยกความเห็นของอาจารย์ สุจินต์ไปกล่าว คือคำว่า ทิฏฺฐํ สุตํ มุตฺตํ ทิฏฺฐํก็ว่าเป็นสี หรือเป็นรูป สุตํเป็นเสียง หรือสัททะ เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ ผิด แล้วก็ยกตัวอย่างในพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า คำว่า สุตํ หมายความว่าได้ยิน ได้ยินมา เอวมฺเม สุตํ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ไม่ใช่ว่า สมัยหนึ่ง เสียงๆ

    ผมได้ยินเช่นนี้เข้าผมก็ชักเขว ไปถามอาจารย์ที่เป็น ๙ ประโยค เขาอธิบายให้ฟังว่า ศัพท์นี้เป็นภาษามคธบาลี มีไวยากรณ์พิเศษ ภาษาบาลีไม่เหมือนภาษาไทย ทิฏฺฐํ เต็มรูปแบบคือ ทิฏฺฐํ รูปํ แล้วตัวเห็นแท้ๆ คือ คจฺฉติ ทิฏฺฐํ ท่านรู้ภาษาอังกฤษ ท่านบอกว่าเป็น Participle ของ คจฺฉติ เหมือน Seen เป็น Participle ของ See อะไรอย่างนี้ ผมก็รู้ภาษาอังกฤษอยู่เล็กๆ น้อยๆ ก็พอจะเข้าใจในไวยากรณ์ที่ท่านอธิบาย

    ท่านบอกว่า ทิฏฺฐํ สิ่งที่เห็นมาแล้ว คือ รูป เป็นคุณศัพท์ ประกอบกับ รูปํ คือ รูปหรือสีที่ได้เห็นมาแล้ว ประกอบมาแล้ว ไม่ใช่ว่า คจฺฉติ เป็นเห็น

    ไปหาอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ผู้นี้เชี่ยวชาญในภาษามาก ภาษาอังกฤษเก่งมาก เป็นเปรียญ ๙ ประโยค อธิบายแจ่มแจ้ง ท่านบอกว่า เอวมฺเม สุตํ ไม่ใช่คำว่าฟัง หรือแปลอย่างที่อาจารย์ฝ่ายโน้นเขาแปล ตัวเต็มต้องมี อิทํเม และมี สุตฺ อยู่ด้วย เกิดจากการทำสังคายนา เมื่อพูดกันไปพูดกันมาถามว่า พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นอยู่ที่ไหน จึงมีคำว่า เอวมฺเม สุตํ ขึ้น คือ หมายถึงพระสูตร

    มาอธิบายง่ายๆ ถึงศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น ประโยคภาษาอังกฤษใช้คำว่า Stolen fruit หมายความว่า ผลมะม่วงที่ไปลักเขามา Stolen นี้เหมือนกับ ทิฏฐํ คือ คุณศัพท์ของมะม่วง คือ มะม่วงที่ลักเขามา เมื่ออธิบายให้ผมเข้าใจอย่างนี้ ผมก็นึกถึงความละเอียดของอาจารย์สุจินต์ที่ไปหาศัพท์ต่างๆ มีความสงสัยประการใดก็ไปถามคนโน้นคนนี้ คือ ไม่ใช่จะเชื่อภูมิตนเองว่า ฉันเข้าใจอย่างนี้แล้วก็เอามาอธิบาย เพราะฉะนั้น อาจารย์สุจินต์บอกว่า ดิฉันได้ไปหาเปรียญหลายท่าน ผู้รู้ในทางนี้บอกว่า ทิฏฺฐํ เป็นรูป เป็นสี ไม่ใช่เห็น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมว่า ปัญหาทิฏฺฐํ สุตํ น่าจะยุติ

    คำว่า สุตํ ไม่ใช่เล่นๆ ในเรื่องวิปัสสนา อาจจะทำให้ผิดกันไป ทำให้ไขว้เขวในเรื่องวิปัสสนามาก ผมขอเสนอคำที่ผมไปค้นคว้ามาเพียงเท่านี้

    สุ. ขอบคุณท่านผู้ฟังที่ต้องการความแจ่มแจ้งของธรรม และก็ได้สอบทาน พยัญชนะหลายแห่งหลายที่ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังมีความสนใจในพยัญชนะอื่นที่ได้บรรยายไปแล้วว่า จะคลาดเคลื่อนหรือถูกต้องประการใด ท่านก็ตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพราะว่าสภาพธรรมนั้น นอกจากจะคงทนต่อการพิสูจน์แล้ว พยัญชนะที่ทรงใช้สำหรับพระธรรมวินัยนั้นก็เป็นพยัญชนะที่กระชับความหมายแน่นอนถูกต้อง ที่ทุกท่านซึ่งเป็นผู้รู้ก็ตรวจสอบได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๑๗๑ – ๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564