แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175


    ครั้งที่ ๑๗๕


    เพราะฉะนั้น ที่ทารุกัมมิกะคฤหบดีกราบทูลว่า ท่านให้ทานในภิกษุผู้เป็น พระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรค ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสกุลเป็นวัตรนั้น ก็เป็นการคาดคะเน เป็นความคิดของทารุกัมมิกะคฤหบดี ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสให้ทารุกัมมิกะคฤหบดีนั้นถวายสังฆทาน แทนที่จะเป็น ปาฏิปุคคลิกทาน คือ การถวายทานเจาะจงในบุคคล

    สมัยนี้แสวงหาพระอรหันต์กันหรือเปล่า บางท่านก็กล่าวว่า ท่านผู้นั้นเป็น พระอรหันต์แน่ๆ หรือท่านผู้นั้นอยู่ป่า มีความประพฤติ มีข้อปฏิบัติที่สงบมาก ท่านผู้นี้เป็นพระอรหันต์แน่แล้ว แต่ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมวินัยนั้น ทุกสิ่งทุกประการที่ท่านจะกระทำต้องสมบูรณ์ด้วยเหตุผล

    ท่านที่แสวงหาพระอรหันต์ หรือถ้าไม่สามารถที่จะแสวงหาพระอรหันต์ได้ ยากนัก ลำบากนัก ท่านก็อาจจะแสวงหาพระอนาคามี หรือพระสกทาคามี หรือพระโสดาบัน ก็ขอให้สอบทานจิตใจที่กำลังแสวงหาของท่านว่า ท่านแสวงหาพระอรหันต์หรือว่าพระอริยบุคคลท่านใดๆ นั้น เพื่ออะไร เพื่อจะถวายสังฆทานให้ได้ผลมากอย่างที่พระผู้มีพระภาคตรัสกับทารุกัมมิกะคฤหบดี หรือเพื่ออะไร

    เพื่อให้มีวัตถุที่จะคุ้มครองรักษาท่านให้ปลอดภัย หรือเพื่อที่จะได้ฟังธรรม ได้เข้าใจธรรมที่เป็นข้อประพฤติปฏิบัติให้ชัดเจนถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านที่จะได้ประพฤติปฏิบัติตาม จะได้บรรลุคุณธรรมที่ถูกต้องด้วย

    . มีท่านหนึ่งอยากจะรู้จริงๆ ว่า มีพระอรหันต์อยู่ในโลกไหม ท่านก็ไปเที่ยวแสวงหาตามที่ต่างๆ ไปตามจังหวัดต่างๆ ไปตามถ้ำ ตามอะไรต่างๆ เหล่านี้ แล้วท่านก็กลับมาบอกว่า ไม่พบพระอรหันต์

    ผมถามว่า ถ้าพบแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นพระอรหันต์หรือไม่เป็น ท่านบอกว่าน่าจะมีอะไรที่ผิดปกติบ้าง ผมก็บอกว่า ถ้าผิดปกติอย่างนั้นเราจะรู้ได้อย่างไรว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านก็ไม่ตอบ นี่ก็เป็นการแสวงหาเพื่ออยากจะรู้เท่านั้น

    . ผมอยากจะแสวงหาพระโสดาบัน อาจจะพอพบบ้าง ความประสงค์ประการที่ ๑ อยากจะถามข้อธรรมที่ละเอียดสุขุมคัมภีรภาพ ประการที่ ๒ จะได้ทำบุญกับพระอริยบุคคล จะได้มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    สุ. ก็เป็นความต้องการในทางกุศล คือ ต้องการที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง และได้ส่งเสริมเกื้อกูลผู้ที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ แต่เพื่อผลมากด้วยหรือ เพื่อผลมาก ติดผลมาก ผูกพันในผลมาก ก็เลยไม่พ้นจากวัฏฏะ

    ผลไม่เป็นไร เหตุสำคัญที่สุด คือ ได้เจริญกุศลทุกขั้น ไม่ว่าจะเป็นการให้แก่สัตว์เดรัจฉาน หรือว่าบุคคลผู้ทุศีล หรือว่าบุคคลผู้มีศีล หรือว่าเป็นพระอริยะขั้นใดก็ตาม โอกาสของกุศลที่จะเกิดเป็นโอกาสที่หายาก เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสที่กุศลจะเกิดได้ ก็ควรให้เกิด เจริญให้มากๆ ทุกประการ เพื่อที่จะดับอกุศลธรรมได้ แต่ขออย่าได้ผูกพันกับผล ผลมากก็มาก ผลน้อยก็เจริญด้วย ไม่ใช่ว่าผลน้อยแล้วไม่เจริญ คอยหวังผูกพันอยู่กับผลมาก ซึ่งนั่นเป็นลักษณะของอภิชฌา

    ทำอย่างไรจึงจะทราบว่า ใครเป็นพระโสดาบันหรือว่าไม่เป็น ต้องอาศัยพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้แล้ว

    ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ชฏิลสูตร ที่ ๑ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ พระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และการที่จะรู้ได้นั้น ก็ไม่ใช่เพียงชั่วเวลาเล็กน้อย ต้องอาศัยกาลเวลานานจึงจะรู้ได้ และผู้สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้

    ถ้าท่านผู้ใดสนใจว่า บุคคลใดเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระอริยบุคคลขั้นใดก็ตาม ซึ่งเป็นผู้ที่มีศีลสมบรูณ์ตามขั้น ผู้นั้นคงจะต้องคอยเฝ้าสังเกตเป็นเวลานานมากทีเดียว ถ้าจะอาศัยการสังเกตด้วยศีล

    ถ้าไม่กล่าวถึงผล กล่าวถึงเหตุ คือ ข้อปฏิบัติที่จะให้เป็นพระโสดาบัน หรือเป็นพระอริยบุคคล ก็ต้องอาศัยการเจริญสติปัฏฐาน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ปัญญาไม่เจริญ จะเป็นพระอริยบุคคลไม่ได้เลย

    เวลาที่ศึกษาการเจริญสติปัฏฐานจะพบคำหลายคำ เช่น คำว่า สังวร สำรวม เป็นศีลด้วย เพราะเหตุว่าสังวรในพระปาติโมกข์นั้นเป็นเรื่องของบรรพชิตที่จะต้องมีความประพฤติเป็นไปตามพระวินัยบัญญัติ นั่นประการหนึ่ง และมีการสำรวมกาย วาจา ไม่ให้เป็นไปในทางทุจริต นั่นอีกประการหนึ่ง

    และการสำรวมหรือสังวร ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส คิดนึก ถ้าท่านผู้ใดไม่เข้าใจข้อปฏิบัติอย่างถูกต้อง หรือไม่เข้าใจแม้พยัญชนะที่ว่า สำรวม หรือสังวร ก็อาจจะสับสนแล้วก็ปนกัน

    สำหรับผู้ที่เข้าใจข้อปฏิบัติคลาดเคลื่อน สำรวมต้องทำอย่างไร

    . ค่อยๆ เดิน

    สุ. ถ้าค่อยๆ เดิน ทุกอย่างไม่เป็นปกติ มีการระแวดระวัง ผิดปกติ ซึ่งการสำรวมกิริยามารยาทเป็นเรื่องที่ถูก เป็นเรื่องที่ควร ในปกติชีวิตประจำวัน

    เวลาที่มีบุคคลอื่น หรือในสถานที่ ในกาลใด กิริยามารยาทควรจะเป็นอย่างไร ก็มีการสำรวม มีการสังวรเป็นปกติ แต่เจริญสติได้แม้ในขณะนั้น โดยไม่ผิดปกติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่คิดว่า จะเจริญสติปัฏฐาน สายตาจะต้องไม่มองที่ไหน หูไม่รับฟังความหมายของเสียงที่ได้ยิน จะพูดกับใครก็ลำบากเหลือเกิน กว่าจะกำหนดออกมาได้ทีละคำสองคำ เพื่อที่จะให้เห็นว่าเป็นการสำรวม หรือเพื่อที่จะให้เห็นว่าเป็นการสังวร นั่นผิดแล้ว ไม่ใช่ปกติเลย นั่นเป็นการทำสำรวม เป็นการทำสังวร แต่ไม่ใช่สติที่สังวรที่สำรวมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเป็นปกติ ซึ่งบุคคลอื่นไม่อาจที่จะรู้ได้

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้องก็รู้ได้ว่า ใครกำลังทำสำรวม ซึ่งไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติ ไม่ต้องทำสำรวม โดยมากท่านผู้ฟังอาจจะนิยมการทำสำรวม แต่ต้องเข้าใจว่า แม้พระภิกษุในครั้งพุทธกาลที่ท่านประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย กิริยามารยาทอาการของท่านเป็นที่น่าเลื่อมใสเพราะเป็นปกติ ไม่ใช่เพราะทำแข็ง หรือทำสำรวมผิดปกติ แต่ก็มีผู้ที่สำรวมโดยไม่เจริญสติ เป็นปาติโมกขสังวรศีล จึงมีสังวรหลายอย่าง นี่ก็เป็นเรื่องของศีล

    ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยการงาน

    ใน ชฏิลสูตร มีข้อความอย่างนี้ แต่ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต มหาวรรคที่ ๕ มีข้อความว่า

    ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ

    ในอรรถกถามีข้อความอธิบายว่า

    ที่ว่าความสะอาดพึงรู้ได้ด้วยการงานนั้น หมายความถึง ต่อหน้า ลับหลัง ตรงกัน คือ บุคคลบางคน คำที่พูดต่อหน้าไม่สมกับคำที่พูดลับหลัง และคำที่พูดลับหลังไม่สมกับคำที่พูดต่อหน้า

    อีกอย่างหนึ่ง ถ้อยคำที่พูดก่อนไม่สมกับถ้อยคำที่พูดทีหลัง และถ้อยคำที่พูดทีหลังไม่สมกับถ้อยคำที่พูดก่อน ผู้นั้นเมื่อกล่าวอยู่ ใครๆ ก็ทราบได้ว่า เขาเป็นผู้ไม่สะอาด

    เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเมื่อจะทรงประกาศว่า สำหรับผู้มีศีลสะอาด คำก่อนกับคำหลังสมกัน คำหลังกับคำก่อนสมกัน ที่พูดต่อหน้ากับที่พูดลับหลังสมกัน เพราะฉะนั้น จึงสามารถที่จะทราบได้ว่า ผู้นั้นสะอาด

    ในอรรถกถา ยกเรื่องของถ้อยคำเป็นการอธิบายความหมายของความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยการงาน

    ถ. มีปัญหาว่า คนที่จะมีอินทรีย์สังวร ไม่ควรจะละเลยศีลสังวรด้วย โรงเหล้าก็ดี ไนท์คลับก็ดี เราถือว่าเป็นที่อโคจร ควรจะมีศีลสังวรด้วยเพื่ออุปการะในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไม่ใช่ว่าเจริญสติปัฏฐาน ๔ ไปไหนๆ ก็ได้ ไปไนท์คลับก็ได้ ไปตามที่ที่เป็นอโคจร ที่ไม่สมควรแก่สมณะ ไม่สมควรแก่ความสงบ เราก็ไม่ควรไป ผมเข้าใจอย่างนี้ แต่เคยสนทนาเป็นส่วนตัวกับอาจารย์ อาจารย์บอกว่า ที่ไนท์คลับก็เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้ ถ้าเหตุการณ์จริงๆ เกิดขึ้นมา ผมไปไนท์คลับแล้วจะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ด้วย นี่เห็นจะลำบาก หรืออาจจะง่ายกับบางคนที่มีอินทรีย์แก่กล้า เป็นพละแล้ว แต่ถ้าเราพูดไม่เป็นหลักทั่วไป เกรงว่าคนใดคนหนึ่งที่เขาจะโจมตีทางนี้จะไปโพนทนาว่า สติปัฏฐาน ๔ ไปไนท์คลับก็ได้ ไปที่ไหนๆ ก็ได้

    ผมคิดว่า ควรจะมีคำว่า ศีลสังวรกับอินทรีย์สังวรควรคู่กันไป เว้นแต่มีข้อยกเว้นบ้าง คือ เว้นที่เราจำเป็นจะต้องไป ขัดไม่ได้ เพื่อนชวนไปไนท์คลับคืนนี้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาไปตลอด ๖ ชั่วโมงในไนต์คลับ เราควรมีสติเกิดขึ้นเสียบ้าง อย่างนี้ผมว่าน่าจะเป็นทางสายกลางพอสมควรแก่ศีลสังวรและอินทรีย์สังวร ไม่ขัดกัน อาจารย์จะว่าอย่างไร โปรดกรุณาด้วย

    สุ. มีศีลกันคนละเท่าไร เหมือนกันหมด เท่ากันหมด หรือต่างกันเป็นเพศของบรรพชิตและเพศของฆราวาส แต่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ

    ผู้ที่เป็นฆราวาสมีศีลเท่าไร ถ้าศีล ๒๒๗ ไปโน่นไม่ได้ ไปนี่ไม่ได้ เป็นสถานที่ที่ไม่ควรไป ตัวอย่างในพระไตรปิฎก ท่านไม่ได้มีเจตนาที่จะไปดูหญิงฟ้อนรำ ท่านเที่ยวบิณฑบาตในพระนคร แล้วในพระนครขณะนั้นมีหญิงฟ้อนรำ

    . เรื่องอโคจร ผมขับรถแท็กซี่ผมไปทุกหนทุกแห่ง แม้กระทั่งที่เลวที่สุดผมก็เคยไป เมื่อผมไปถึง ผมก็ไม่ยินดีไม่ยินร้าย อย่างนี้จะแก้ไขอย่างไรจึงจะถูกต้อง

    สุ. ในขณะนั้นยังเป็นตัวตนอยู่ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะระลึกรู้สภาพของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริงของแต่ละคน จะไปที่ไหนก็มีเหตุปัจจัยของบุคคลนั้นที่จะเกิดมามีอาชีพอย่างนี้ ไปอย่างนั้น ทำอย่างนั้น มีเหตุปัจจัยที่จะให้ดำเนินชีวิตไปทุกวินาที ทุกชั่วโมง ทุกวัน ที่ว่าชีวิตจะดำเนินไปอย่างนี้อย่างนั้น จะไปสู่สถานที่นั้น สถานที่นี้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะกั้นสติทำไม พระผู้มีพระภาคไม่เคยส่งเสริมให้พุทธบริษัทเป็นผู้ที่หลงลืมสติเลย ไม่ว่าจะเป็นฆราวาสหรือบรรพชิต แต่ให้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านผู้ฟังจะตั้งใจว่า จะทำวิปัสสนา หรือจะให้สติเกิดที่นั่นสัก ๕ หรือ ๖ นาที ดีกว่าปล่อยให้เพลิดเพลินไปในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยที่ไม่ให้สติเกิด ซึ่งนั่นเป็นตัวท่านที่จะทำ ไม่ถูกเสียแล้ว ผู้ที่มีปกติเจริญสติแม้อยู่ในที่เช่นนั้น สติระลึกขึ้นได้ ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ

    การที่บุคคลใดจะเป็นพระโสดาบันบุคคล ไม่ใช่จะไปรู้ชีวิตของคนอื่นที่มีศีล ๒๒๗ โดยที่ตัวท่านไม่ใช่ผู้มีศีล ๒๒๗ แต่มีศีลเพียง ๕ เท่านั้น เมื่อท่านเป็นผู้มีศีล ๕ ท่านจะต้องรู้ความจริงของตัวท่าน ไม่ใช่ของบุคคลผู้มีศีล ๒๒๗ ตามสภาพธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่มีความตั้งใจว่า จะให้สติเกิดสัก ๕ นาที ๖ นาที ซึ่งไม่ใช่ขณะที่สติเกิดระลึกได้จริงๆ

    เวลาที่สติที่เป็นสัมมาสติเกิดระลึกได้จริงๆ เป็นอนัตตา กะเกณฑ์ไม่ได้ สติเกิดขณะใดก็ระลึกรู้ลักษณะของนามหรือรูปที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในขณะนั้น เพื่อละการยึดถือ

    ชีวิตจริงๆ ของแต่ละคน จะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน จะพูด จะนิ่ง จะคิดเรื่องอะไร ที่ไหนก็ตาม สติและปัญญาจะต้องระลึกรู้ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน แม้ในขณะนั้น จึงจะละได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มิฉะนั้นแล้ว เวลาเห็นหญิงฟ้อนรำ พระภิกษุท่านนั้นท่านจะแทงตลอดในอริยสัจธรรมได้ไหม ถ้าท่านกั้นสติไว้ไม่ให้เกิด

    . ในฐานะที่เราเป็นปุถุชนต้องมีสัญญา มีสมมติบัญญัติ เป็นพื้นอยู่เสมอ ถ้ามีการเจริญสติเป็นปกติมาเพิ่มอีกอย่าง จะทำเป็นอย่างไร ยังข้องใจอยู่

    สุ. ไม่ใช่ว่าผู้ที่เจริญสติไม่มีสัญญา หรือไม่ใช่ว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วไม่มีสัญญา

    สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำ ขณะที่กำลังจำได้ไม่ใช่ตัวตน เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ความจำนั้นมีจริง เป็นนามธรรม รูปธรรม จำอะไรไม่ได้เลย แต่ความจำนั้นมีหลายอย่าง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปพร้อมกับจิตแต่ละขณะ สัญญาเจตสิกเกิดขึ้นกับจิตดวงไหนก็ดับไปพร้อมกับจิตดวงนั้น

    ตอนที่ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน มีสัญญาวิปลาส เห็นสิ่งที่ไม่เที่ยงทุกๆ ขณะนี้ว่าเที่ยง สิ่งที่ปรากฏทางตา ก็ปรากฏ แต่ไม่ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม กำลังได้ยิน เสียงก็เป็นอย่างหนึ่ง ได้ยินก็เป็นอย่างหนึ่ง สภาพที่รู้เรื่องก็เป็นนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง แต่ไม่ประจักษ์ว่า เสียงดับ ได้ยินดับ หรือสภาพนามธรรมที่รู้เรื่องดับ ก็จำว่า เป็นเราที่ได้ยิน

    เพราะฉะนั้น ที่จำคำต่างๆ ก็เป็นสัญญาที่จำเรื่องราวถ้อยคำทางใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่เคยเรียนภาษาหนึ่ง จะไปจำภาษานั้นไม่ได้ แม้แต่การที่จะจำคำซึ่งเป็นพยัญชนะ บัญญัติ ก็จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยด้วยว่า ทำไมสัญญาที่จำคำนี้ เป็นภาษานี้จึงเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัย ไม่มีการฟัง ไม่มีการสำเหนียก ไม่มีการศึกษา สัญญาที่จะจำคำนั้นเป็นอีกภาษาหนึ่งก็เกิดขึ้นไม่ได้



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๑๗๑ – ๑๘๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564