แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
ครั้งที่ ๑๗๖
สภาพธรรมทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แม้สัญญาก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เคยมีสัญญาในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความเป็นกลุ่มก้อนต่างๆ เป็นความเห็นผิด เป็นการยึดมั่นในสภาพธรรมนั้นๆ ขณะที่เจริญสติ ก็มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตที่มีสัมมาสติที่ระลึกรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นี่เป็นเหตุที่ถ้าระลึกเนืองๆ ในลักษณะที่เป็นรูป ก็จำ ระลึกได้ แล้วก็รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นรูปธรรม สัญญาที่เคยวิปลาสมานานก็จะลดน้อยลง เพราะสัญญาที่เกิดพร้อมกับมรรคมีองค์ ๘ ทำให้รู้ว่า สภาพธรรมนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง
ถ. การเจริญสติ ผมพยายามจะปฏิบัติตามที่อาจารย์อธิบาย ตาเห็นรูป เห็นสี เห็นทีไรก็สีแดง สีเขียว สีเหลืองทุกที ไม่ทราบว่าจะมนสิการอย่างไรจึงจะถูกต้องตามที่ว่า ตาเห็นรูป ก็รู้ว่ารูป
สุ. การเห็นสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง สีทั้งหลายที่เห็นนี้ก็ไม่ได้เปลี่ยนสลับไปเป็นอื่น ในขณะที่สติเกิดขึ้นระลึกได้ รู้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ทางตานั้นก็เป็นเพียงสภาวะลักษณะ เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เสียงที่ปรากฏทางหู ไม่ใช่กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก ไม่ใช่รูปอื่นๆ ไม่ใช่นามธรรม แต่เป็นของจริงชนิดหนึ่งซึ่งปรากฏ เพื่อจะได้ชิน แล้วละคลายการที่เคยพอใจ เกิดอภิชฌาบ้าง โทมนัสบ้างในสิ่งที่ปรากฏทางตา จนกว่าปัญญาจะรู้ทั่ว พิจารณาทั่วนามรูปทั้งหมด รู้ชัดขึ้นแล้วละคลายมากขึ้น สามารถประจักษ์สภาพธรรมทั้งหมดตามความเป็นจริงได้ตามที่ปรากฏ และตามที่สติระลึกในขณะนั้น เพียงรู้เท่านั้นว่า สิ่งนี้กำลังปรากฏทางตาเป็นแต่เพียงรูปชนิดหนึ่ง
คำว่า “สี” หมายความถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา อย่าไปติดในความหมายของพยัญชนะที่เราเคยใช้กันในภาษาไทย พอพูดถึงสี ก็จะเป็นสีต่างๆ ซึ่งความจริงก็ถูก หมายความว่าสีต่างๆ นั้นปรากฏให้รู้ได้ทางตา ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ให้รู้ตามความเป็นจริง ขณะที่เกิดความคิดว่า นี่สีแดง สติระลึกรู้ว่า สภาพที่คิดนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ผู้ใดระลึกได้มาก ผู้นั้นก็รู้สภาพความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละชนิดมากขึ้น แล้วละคลายมากขึ้น
ถ. การเรียนมหาสติปัฏฐานหรืออภิธรรม ผมเข้าใจว่า จะต้องเรียนสมมติ บัญญัติด้วย ไม่ใช่เรียนแต่ปรมัตถ์ ถ้าเรียนแต่ปรมัตถ์ สงสัยจะเป็นบ้า ผมเข้าใจแบบปุถุชน เรารู้ปรมัตถ์ เห็นก็แค่เห็น ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าเราไปคิดแต่ปรมัตถ์เท่านั้น เราจะลืมสมมติ เราจะลืมบัญญัติ กลายเป็นบ้า เราต้องเรียนทั้ง ๓ อย่างใช่ไหม และเน้นไปทางปรมัตถ์ ปรมัตถ์ คือ ของจริงของแท้ที่พระพุทธเจ้าท่านสั่งสอน แต่สมมติ บัญญัติเราทิ้งไม่ได้ ผมยังข้องใจอยู่ทุก
สุ. ความรู้มี ๓ ขั้น คือ ขั้นการศึกษา ขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธ
ขั้นการศึกษา ถ้าไม่มีคำ ไม่มีพยัญชนะ ไม่มีอรรถ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร ขั้นของปริยัติจึงต้องมีอรรถ พยัญชนะ
สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงสภาวะลักษณะของสภาพธรรมนั้นโดยใช้พยัญชนะ อรรถ ที่ไม่ทำให้คนฟังเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน
ในการปฏิบัติ เมื่อผู้ฟังเข้าใจปรมัตถธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนแล้ว การเจริญสติเพื่อจะได้รู้ตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็น ปรมัตถธรรมจริงๆ จะต้องอาศัยสติระลึกรู้สภาวะลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม อย่างขณะที่กำลังคิดเป็นนามธรรม เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เราคิด ไม่ใช่ตัวตนที่คิด สภาพธรรมที่คิดนั้นเป็นของจริง เป็นนามธรรมที่กำลังรู้เรื่องที่คิด ไม่ใช่รู้สี ไม่ใช่รู้เสียง ไม่ใช่รู้กลิ่น ไม่ใช่รู้รส สติจะต้องระลึกได้ มิฉะนั้นแล้วเวลาคิดทีไรก็เป็นตัวตนทุกที ละคลายอัตตาไม่ได้เลย หวั่นไหวไป หรือใช้วิธีพยายามไปกั้นไว้ บังคับไว้ไม่ให้คิด ผู้นั้นจะไม่รู้ปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่ละเอียด ต้องฟังให้เข้าใจ และจะต้องเจริญสติด้วย ถ้าเพียงแต่ฟังเท่านั้นไม่สามารถพิสูจน์ธรรมได้ว่า ลักษณะของสตินั้นเป็นอย่างไร และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของสติที่เป็นปรมัตถธรรมนั้นคืออะไร ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่รู้ปรมัตถธรรม จะละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนให้หมดไม่ได้เลย ไม่มีหนทางอื่น เพราะความเป็นตัวตนนี้ละเอียดและลึกมากทีเดียว
ถ. เรื่องของความคิด รู้สึกว่าไม่กระจ่างแจ้งนัก คือ ขณะที่เราคิดเรื่องอะไร เรามักจะคิดเป็นเรื่อง เราไม่สามารถจะแบ่งอีกใจหนึ่งไปคิดว่า นั่นคืออาการของความคิด อาการที่คิดกับเรื่องที่คิดซ้อนกันอยู่ ไม่ทราบจะแบ่งแยกอย่างไร
สุ. ถ้ามีตัวตนที่จะทำ ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน นี่เป็นความสำคัญที่สุด เวลาที่ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐานยังไม่ละเอียด อาจจะมีความเข้าใจว่า จะต้องพยายามทำอย่างนั้น จะต้องพยายามทำอย่างนี้ นั่นไม่ใช่ลักษณะของสติ แต่เป็นลักษณะของตัวตน
สติเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นอนัตตา เป็นสภาพที่ระลึกได้ โดยสภาวะลักษณะ สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดร่วมกับโสภณจิต คือ จิตประเภทที่ดีงามเท่านั้น ในอกุศลจิตทุกดวงไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย
เพราะฉะนั้น เป็นไปในทานขณะใด ขณะนั้นมีสภาวะลักษณะที่เป็นนามธรรม คือ สติ ที่ทำให้ระลึกได้ในทาน ถ้ามีการวิรัติทุจริตในขณะใด ขณะนั้นก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในการวิรัติในขณะนั้น เวลาที่จิตใจไม่สงบ เกิดการระลึกขึ้นได้ว่าเป็นอกุศลธรรม มีอุบายวิธีที่จะทำให้จิตสงบ ก็เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในการทำให้จิตสงบ
สำหรับสติปัฏฐาน สติเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สภาพที่ระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น เห็นก็ยังคงเห็น คือ รู้สีอยู่นั่นเอง ได้ยินก็เป็นสภาพที่ได้ยิน คือ รู้เสียงนั่นเอง เป็นจิตแต่ละประเภทซึ่งจะสลับหน้าที่หรือกิจการงานไม่ได้ จิตเห็นจะมารู้เสียงไม่ได้ จิตได้ยินจะไปรู้สีไม่ได้ ฉันใด สติที่ระลึกได้ในขณะที่เห็นว่า ขณะที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะแต่ก่อนเคยเป็นเราเห็นโดยไม่ต้องนึกเลย แต่นั่นเป็นความเห็นผิด ถ้าเป็นความเห็นถูก ต้องอาศัยสติที่ระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็น รู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง
เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดความนึกคิดขึ้น สติก็ระลึกได้ จะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ขณะที่คิดนั้นเป็นนามธรรม ความคิดนั้นก็หมด แต่ประเดี๋ยวก็เกิดความคิดอีก มีเหตุปัจจัยที่จะให้คิดเรื่องอะไรก็คิดเรื่องนั้น และสติก็ระลึกได้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรม ทีละเล็กทีละน้อย จนกระทั่งนามและรูปที่เกิดปรากฏเป็นปกติประจำวันนั้น สติก็สามารถเริ่มระลึกรู้ได้ตามความเป็นจริงว่า เป็นนามแต่ละชนิด เป็นรูปแต่ละชนิด ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เพียงแต่สติระลึกในขณะที่สภาพธรรมชนิดหนึ่งชนิดใดปรากฏ กำลังเห็น เห็นแล้ว สติระลึกได้ กำลังได้ยิน ปรากฏแล้ว สติระลึกได้ คิดนึกเกิดขึ้นปรากฏ สติระลึกขณะใดก็รู้ในขณะนั้นว่า ความคิดนั้น สภาพที่คิดนั้น ก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นเอง
เพราะฉะนั้น เป็นสติที่ระลึกได้ และรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่ ไม่ใช่มีตัวตนพยายามจะไปทำอย่างนั้น พยายามจะไปทำอย่างนี้
ถ. ในขั้นปฏิบัติ ผมเคยพิจารณาว่า เห็นรูป รู้รูป และมีจิตอื่นเกิดดับสืบต่อกัน ขอให้อาจารย์ช่วยอธิบายเกี่ยวกับจิตที่สืบต่อกัน
สุ. จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก ใครรู้ ผู้ที่เจริญสติรู้ ผู้ที่ไม่เจริญสติไม่ทราบเลยว่า จิตชนิดหนึ่งเกิดปรากฏแล้วก็หมด และมีลักษณะของจิตอื่นเกิดต่อไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติเป็นผู้ที่สำเหนียก รู้ลักษณะของนามและรูปแต่ละขณะ แต่ละชนิดที่เกิดดับสืบต่อกัน เป็นของธรรมดาสำหรับผู้เจริญสติที่จะรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ผู้ที่บังคับสติ ผู้ที่บังคับสติจะไม่รู้อย่างนี้เลย แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติแล้ว ก็จะรู้สภาพลักษณะของนามและรูปซึ่งเกิดดับแต่ละลักษณะสืบต่อกัน
ถ้าพูดอย่างโลกๆ ทุกท่านก็คงจะเข้าใจได้ว่า วันเวลาประกอบด้วยขณะ แต่ละขณะ จากวัน แบ่งเป็นชั่วโมง แบ่งเป็นนาที แบ่งเป็นวินาที และเป็นเสี้ยววินาที ซึ่งเป็นขณะที่สั้นมาก สำหรับทางธรรมนั้น จะมีสภาพธรรมที่เกิดปรากฏทุกๆ ขณะในเสี้ยววินาทีนั้นอย่างรวดเร็วด้วย ที่เราเรียกว่าเป็นวัน ต้องมีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น และในแต่ละชั่วโมงก็ต้องมีสิ่งที่เกิดปรากฏ ในแต่ละนาที หรือวินาที ก็ต้องมีสภาวะลักษณะที่ปรากฏ เป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ในขณะนั้น ซึ่งแต่ละขณะมีสภาวะจริงๆ ปรากฏนิดเดียวแล้วก็หมดไป อย่างเย็นขณะหนึ่ง นิดเดียว ปรากฏแล้วหมดแล้ว กลับคืนมาไม่ได้เลย แต่ผู้ที่ไม่เจริญสติไม่รู้ในสภาพของสภาวะลักษณะที่ปรากฏชั่วขณะนิดเดียวแล้วก็หมดไป หรือแม้แต่นามธรรมที่เกิดนึกขึ้นมาแล้วก็หมดไป และก็เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นเรื่องอื่น เป็นแข็ง เป็นร้อน เป็นกลิ่น เป็นอะไรต่อไป ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏชั่วขณะที่สั้นมาก ของแต่ละขณะ ของแต่ละชั่วโมง ของแต่ละวัน ซึ่งจะมีสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมจริงๆ ปรากฏให้รู้
แต่ผู้ที่จะรู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ต้องเป็นเพราะสติระลึกรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม แต่เป็นสิ่งที่เคยไม่รู้มาเนิ่นนาน การที่สติจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป จึงต้องอาศัยกาลเวลานาน ไม่ใช่เล็กน้อย
สำหรับข้อต่อไปที่ว่า กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย
ในอรรถกถามีข้อความว่า
ถามะ หรือ ถาโม คือ กำลัง ความเพียร ความพยายาม ในที่นี้หมายความถึง ญาณถามะ ได้แก่ กำลังของญาณ จริงอยู่ กำลังญาณของผู้ใดไม่มี ผู้นั้นเมื่อเกิดอุปัทวะขึ้น มองไม่เห็นสิ่งที่ควรถือเอา กิจที่ควรทำ เที่ยวไปเหมือนคนเข้าไปสู่เรือนมืด พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า กำลังใจ พึงทราบได้เมื่อมีอันตรายเกิดขึ้น
ผู้ที่มีญาณ ที่มีกำลัง ความหวั่นไหวก็น้อยลง ไม่ว่าสิ่งใดๆ จะเกิดขึ้น
สำหรับประการสุดท้าย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ปัญญาพึงรู้ได้ ด้วยการสนทนา
ในอรรถกถามีข้อความว่า
ถ้อยคำของผู้มีปัญญาทรามย่อมเลื่อนลอย เหมือนวัตถุที่ลอยอยู่ในน้ำ
คือ แล้วแต่ลมหรือกระแสน้ำจะพัดพาไป กลับไปกลับมาอย่างไรก็ได้
ส่วนถ้อยคำของผู้มีปัญญาย่อมมากด้วยปฏิภาณ
เพราะฉะนั้น ที่จะรู้ว่าใครเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอนาคามีบุคคล เป็นพระสกทาคามีบุคคล เป็นพระโสดาบันบุคคล โดยไม่สนทนาได้ไหม เห็นเฉยๆ รู้ได้ไหม และการที่จะรู้ได้จากการสนทนา จะต้องอาศัยกาลเวลานานด้วย ไม่ใช่เวลาเล็กน้อย และเป็นผู้ที่สนใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่สนใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้
ใน อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต สัปปุริสวรรค ที่ ๑
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัปปุรุษ และอสัปปุรุษผู้ยิ่งกว่าอสัปปุรุษ สัปปุรุษ และสัปปุรุษผู้ยิ่งกว่าสัปปุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ข้อความที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้มีว่า
อสัปปุรุษนั้น เป็นผู้ที่ไม่มีศีล เป็นผู้ที่ฆ่าสัตว์ เป็นต้น และอสัปปุรุษผู้ยิ่งกว่า อสัปปุรุษนั้น ก็เป็นผู้ที่นอกจากเป็นผู้ที่ไม่มีศีล ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ผิดศีลข้ออื่นๆ ด้วยตนเองแล้ว ก็ยังชักชวนผู้อื่นให้ผิดศีล ถ้าผู้ใดนอกจากตัวเองจะกระทำอย่างนั้น แล้ว ยังชักชวนให้ผู้อื่นกระทำด้วย ผู้นั้นเป็นอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าอสัปปุรุษ
ถ้าเป็นสัปปุรุสก็เป็นผู้ที่งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ เป็นต้น และสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าสัปปุรุษ คือ นอกจากบุคคลนั้นจะงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ยังชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ และให้เป็นผู้ที่มีศีลประการอื่นๆ ด้วย
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงอสัปปุรุษ และอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าอสัปปุรุษ สัปปุรุษ และสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าสัปปุรุษแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัปปุรุษ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตตัปปะ มีสุตะน้อย เป็นคนเกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม บุคคลนี้เราเรียกว่า อสัปปุรุษ
ผู้ที่เป็นเช่นนี้จะเป็นพระอรหันต์ไม่ได้ ผู้ที่มีสติหลงลืม หรือว่าเป็นผู้ที่มีสุตะน้อย มีปัญญาทราม
ส่วนอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าอสัปปุรุษ เป็นไฉน
คือนอกจากจะเป็นบุคคลที่ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ มีสุตะน้อย เป็นคนเกียจคร้าน มีสติหลงลืม มีปัญญาทราม ด้วยตนเองแล้ว ก็ยังชักชวนบุคคลอื่นให้เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่มีหิริ ไม่มีโอตัปปะ ให้มีสุตะน้อย ให้เป็นคนเกียจคร้าน ให้มีสติหลงลืม ให้เป็นผู้มีปัญญาทราม บุคคลนั้นเป็นอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าอสัปปุรุษทั้งหลาย
เพราะฉะนั้น จะให้ไม่เจริญสติจะได้ไหม จะเป็นหนทางที่จะให้ผู้นั้นรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม ไม่ได้ อย่าเข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐาน และอย่าชักชวนบุคคลอื่นให้หลงลืมสติด้วย เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ผู้นั้นเป็นอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่า อสัปปุรุษ
ส่วนสัปปุรุษ ก็โดยนัยตรงกันข้าม และสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าสัปปุรุษนั้น นอกจากตนเองจะมีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต ปรารภความเพียร มีสติ มีปัญญาแล้ว ยังชักชวนผู้อื่นให้เป็นผู้ที่มีศรัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต ปรารภความเพียร มีสติ มีปัญญาด้วย
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัปปุรุษ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด ฯลฯ และเป็นมรรคอื่นๆ ครบทั้ง ๘ องค์ คือ ตั้งแต่มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ
บุคคลนี้เราเรียกว่า อสัปปุรุษ
ส่วนอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าอสัปปุรุษ คือ นอกจากตนเองมีความเห็นผิด ดำริผิดในมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ยังชักชวนผู้อื่นให้มีความเห็นผิด มีความดำริผิด เจริญมรรคที่เป็นมิจฉามรรค
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อสัปปุรุษ เป็นไฉน
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ที่มีมรรค ๘ ผิด ก็ยังเป็นผู้ที่มีความรู้ผิด เป็นผู้มีความพ้นผิด
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลนี้เราเรียกว่า อสัปปุรุษ
ส่วนผู้ที่เป็นอสัปปุรุษที่ยิ่งกว่าอสัปปุรุษ นอกจากตนเองจะเจริญมรรคผิด รู้ผิด พ้นผิดแล้ว ยังชักชวนบุคคลอื่นให้เจริญมรรคผิด รู้ผิด และพ้นผิดด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๑๗๑ – ๑๘๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 180