แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127


    ครั้งที่ ๑๒๗


    เพื่อที่จะให้ผู้ที่ยังไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของโลภะหรือตัณหาได้ทราบว่า โลภะหรือตัณหานั้นมีเป็นประจำ ถ้าท่านระลึกเมื่อไรก็สามารถที่จะรู้ว่าขณะนั้น ลักษณะนั้น เป็นสภาพของตัณหา เป็นสภาพของโลภะ ซึ่งถ้าท่านรู้เพียงพยัญชนะเดียว ท่านก็อาจจะไม่ทราบว่า ในขณะอื่นนั้นก็เป็นลักษณะของโลภะด้วย

    ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส อชิตมาณวกปัญหานิทเทส พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอชิตะซึ่งทูลถามว่า

    อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก

    เครื่องฉาบทาโลกนี้ หมายความว่าทำให้ไม่เห็นโลก คือ นามรูปตามความเป็นจริง นามรูปก็เป็นแต่เพียงนาม เป็นแต่เพียงรูป มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่เพราะว่ามีเครื่องฉาบทาไว้จึงทำให้ไม่ประจักษ์ลักษณะของโลก คือ นามรูปตามความเป็นจริง

    ผู้ที่ต้องการจะประจักษ์ลักษณะของโลกตามความเป็นจริง คือ ท่านอชิตะก็ได้ไปกราบทูลถามว่า

    อะไรเล่าเป็นเครื่องฉาบทาโลก

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    เรากล่าวว่า ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก ความว่า ตัณหาเรียกว่า ชัปปา ความกำหนัด ความกำหนัดนัก ความยินดี ความพลอยยินดี ความเพลิดเพลิน ความกำหนัดด้วยความเพลิดเพลิน ความกำหนัดนักแห่งจิต ความปรารถนา ความหลง ความติดใจ ความอยาก ความพัวพัน ความข้อง ความจม คือ ไม่สามารถที่จะถอนขึ้นจากความพอใจนั้นได้เลย ความหวั่นไหว

    เวลาที่หวั่นไหว มีความพอใจอย่างหนึ่งอย่างใด ก็อาจจะกลัวว่าจะไม่ได้สิ่งนั้น ก็ทำให้จิตใจหวั่นไหวไป

    ความลวง ได้แก่ การหลอกทั้งตัวเองและคนอื่นด้วย

    อย่างบางคนอยากจะได้ญาณเสียเหลือเกิน อะไรๆ ก็ได้เป็นญาณแล้ว หลอกตัวเอง และยังจะไปหลอกคนอื่นอีกว่า คนอื่นได้เหมือนกันแล้ว มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน หรืออะไรๆ อย่างนั้น เป็นญาณนั้นญาณนี้

    ความอยากต่างๆ ทำให้ถึงกับหลอกตัวเองได้ และยังหลอกคนอื่นก็ได้ นี่เพราะอะไร ถ้าไม่ใช่เพราะความอยาก แต่การเจริญสติปัฏฐานละความไม่จริง ละความคด ไม่ใช่ว่าท่านปรารถนาเสียจนกระทั่งว่าอะไรๆ ก็เป็นญาณทั้งนั้น

    ลักษณะของตัณหาอีกหลายประการมีว่า

    ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิดกับทุกข์

    ถ้าบอกว่า ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิด ก็ยังรู้สึกว่าไม่เป็นไร ยังชอบจะเกิด อยากจะเกิด พยัญชนะต่อไปก็ใช้คำที่ถ้าเป็นภาษาทางโลกก็อาจจะว่า ข่มขู่ไว้ทีเดียวว่า ธรรมชาติอันให้สัตว์เกิดกับทุกข์

    ธรรมชาติอันเย็บไว้ ธรรมชาติเพียงดังข่าย ธรรมชาติอันไหลไป ธรรมชาติอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ความเป็นผู้หลับ

    ถ้าขณะใดที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ก็ไม่มีโอกาสที่จะตื่นรู้จักโลก คือ นามรูปตามความเป็นจริง ก็จะต้องถูกตัณหาฉาบทาให้ซ่านไป ให้ไหลไปอยู่เรื่อยๆ

    ความกว้างขวาง ธรรมชาติอันให้อายุเสื่อม

    เกิดแล้วก็ต้องตาย เกิดแล้วก็ต้องตายไม่มีที่สิ้นสุด

    ความเป็นเพื่อน

    ลักษณะของตัณหา คือ ความเป็นเพื่อนให้ทนอยู่ได้ต่อไปในวัฏฏะ ถ้าไม่มีเพื่อนจะทนไหวไหม ถ้าไม่มีตัณหาจะอยู่ต่อไปในวัฏฏะไหวไหม มีแต่นามรูปที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคลทั้งนั้น แต่เพราะเหตุว่าตัณหานี้เหมือนกับเพื่อนสนิท ทำให้พอใจในสิ่งนั้น ทำให้พอใจเพลิดเพลินไปอยู่ได้เรื่อยๆ ตัณหานี้ก็เป็นเพื่อน คือ ให้ทนอยู่ต่อไปได้ในวัฏฏะ

    ความตั้งใจไว้

    ถ้าขณะใดที่ท่านเกิดความตั้งใจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด นั่นก็เป็นลักษณะของตัณหาอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกรู้ลักษณะของโลภะ ของตัณหา ก็จะมีลักษณะเป็นปกติประจำวันที่สามารถจะระลึกได้ แม้แต่ในขณะใดที่มีความตั้งใจ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ในขณะนั้นได้ว่า เป็นสภาพลักษณะของโลภะหรือตัณหา

    เป็นธรรมชาติอันนำไปสู่ภพ ธรรมชาติเพียงดังว่าป่า ธรรมชาติเพียงดังว่าหมู่ไม้ในป่า ความสนิทสนม ความมีเยื่อใย ความเพ่ง ความพัวพัน ความหวัง กิริยาที่หวัง ความเป็นผู้หวัง ความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ความหวังในลาภ ในทรัพย์ ในบุตร ในชีวิต

    นอกจากนั้นลักษณะของโลภะยังเป็นความกระซิบ

    ความกระซิบทั่ว ความกระซิบยิ่ง กิริยาที่กระซิบ ความเป็นผู้กระซิบ

    อยู่คนเดียวแท้ๆ จะเป็นอย่างนั้น จะเป็นอย่างนี้ คิดไปพอใจไป นั่นใครมากระซิบ ลักษณะที่ให้เป็นอย่างนั้น ให้ความหวังอย่างนี้ ให้ทำอย่างโน้น ให้คิดอย่างนั้น ก็ไม่ใช่ลักษณะของใครอื่นนอกจากนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะของโลภะหรือตัณหานั่นเอง

    นอกจากนั้นสิ่งที่เข้าใจกันอยู่แล้วก็คือ ลักษณะที่เป็นความโลภ

    กิริยาที่โลภ ความเป็นผู้โลภ ความที่ตัณหาหวั่นไหว

    ความเป็นผู้ต้องการให้สำเร็จ

    ทำอะไรก็อยากจะให้ได้รับความสำเร็จ นั่นก็เป็นลักษณะของตัณหา

    ความใคร่ ความปรารถนา ความทะเยอทะยาน ความประสงค์ ธรรมชาติเป็นเครื่องผูก เป็นมูลแห่งทุกข์ เป็นแดนเกิดแห่งทุกข์

    วันหนึ่งๆ ก็หลงลืมสติไป พอกพูนเพิ่มพูนเครื่องฉาบทาของโลก ของนาม ของรูปมากขึ้น การที่จะระลึกรู้และสามารถบรรลุอริยสัจธรรมจึงเนิ่นช้า เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของโลภะที่มีมากในวันหนึ่งๆ

    ทรงแสดงไว้ว่า

    ตัณหาเพียงดังว่าแม่น้ำ เพียงดังว่าข่าย เพียงดังว่าสายโซ่ เพียงดังว่าทะเล อภิชฌา โลภะ อกุศลมูล นี้เรียกว่า ชัปปา คือ ตัณหา

    ตัณหานี้เป็นเครื่องทา คือ เป็นเครื่องฉาบไว้ไม่ให้เห็นความจริง เป็นเครื่องข้อง เป็นเครื่องผูก

    โลกอันตัณหานี้ไล้ทา ฉาบทาให้หมอง ให้มัวหมอง ให้เปื้อน ระคนไว้ ข้องไว้ คล้องไว้ พันไว้ เราย่อมกล่าว บอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้ตื้น ประกาศ

    เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เรากล่าวว่า ตัณหาเป็นเครื่องฉาบทาโลก

    ซึ่งท่านอชิตะ ก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

    จะมีธรรมใด เป็นธรรมที่เป็นเครื่องกั้นกระแสของตัณหาและกิเลสทั้งหลาย

    ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสว่า

    มีสติเป็นเครื่องกั้น มีปัญญาเป็นเครื่องปิดกั้น

    เพราะเหตุว่าถ้าสติไม่เกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามรูปแล้ว ตัณหาก็ย่อมเกิดขึ้น ไหลไปตามอารมณ์ต่างๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอชิตะต่อไปว่า

    บทว่า สโต ในอุเทศว่า สโตภิกฺขุปริพฺพเซ ความว่า ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ มีสติเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานในกาย ๑ มีสติเจริญเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานในเวทนาทั้งหลาย ๑ มีสติเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานในจิต ๑ มีสติเจริญธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานในธรรมทั้งหลาย ๑

    ไม่เคยทรงแสดงจำกัดเจาะจงว่า ให้เจริญสติปัฏฐานหนึ่งสติปัฏฐานใด เพราะ จะต้องรู้ชัดทั้งนามและรูป ไม่ใช่ว่าจะรู้แต่เพียงรูป หรือว่าไม่ใช่ว่าจะรู้แต่เพียงนาม จะต้องรู้ชัด รู้ทั่วจึงจะละคลายได้ เพราะฉะนั้น จะต้องเจริญทั้งกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงถึง ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการแม้อื่นอีก คือ ที่จะให้ระลึกเป็นไปในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรมได้นั้น จะต้องเป็นผู้ที่

    ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติ เพราะเว้นความเป็นผู้ไม่มีสติ ๑ เพราะนำธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความทำสติ ๑ เพราะละธรรมเป็นข้าศึกแก่สติ ๑เพราะไม่หลงลืมธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ ๑

    ธรรมอันเป็นนิมิตแห่งสติ คือ สิ่งที่ทำให้สติระลึก ไม่หลงลืมในธรรมนั้น อย่างเรื่องของกายมีอะไรบ้าง ลมหายใจก็เป็นกาย เวลาใดที่ลมหายใจปรากฏ วิ่งเหนื่อยๆ หรือกระทบลมหายใจของบุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็เป็นสิ่งที่จะทำให้สติระลึกรู้ได้ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมในธรรมที่เป็นนิมิต หรือว่าเป็นสิ่งที่ทำให้สติระลึกรู้ คือกาย คือเวทนา คือจิต คือธรรมแล้ว ในขณะนั้นก็จะทำให้เป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติได้

    พระผู้มีพระภาคทรงแสดงต่อไปว่า

    ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยสติ ๑ เพราะถึงความชำนาญด้วยสติ ๑ เพราะความเป็นผู้คล่องแคล่วด้วยสติ ๑ เพราะไม่กลับลงจากสติ ๑

    ไม่คิดที่จะออก หรือไม่คิดที่จะเลิกเจริญสติ เข้าไปแล้วไม่มีออกมา คือ ไม่กลับลงจากสติ ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้าแล้วก็ออก ลงเสียทีหนึ่งไม่เจริญสติ ไม่คิดที่จะเลิกเจริญสติ ความหมายของคำที่ว่า เพราะไม่กลับลงจากสติ คือ เป็นผู้ที่เจริญสติไปเรื่อยๆ

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติ เพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ เพราะความเป็นผู้สงบ ๑ เพราะความเป็นผู้ระงับ ๑ เพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ ๑

    เพราะฉะนั้น ที่ว่าภิกษุมีสติด้วยเหตุ ๔ ประการ แม้อื่นอีก คือ มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ มีเข้ามีออกอะไรไหม มีสติเพราะความเป็นผู้มีสติเสมอ ๑ เพราะความเป็นผู้สงบ สงบจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อกุศลกรรมต่างๆ เพราะความเป็นผู้ระงับจากกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต แล้วแต่ว่าจะระงับด้วยการที่จิตสงบเป็นสมาธิ หรือว่าระงับด้วยการที่เป็นผู้ที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป และเพราะความเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมของผู้สงบ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    มีสติ เพราะพุทธานุสติ เพราะธัมมานุสติ เพราะสังฆานุสติ เพราะศีลานุสติ เพราะจาคานุสติ เพราะเทวตานุสติ เพราะอานาปานสติ เพราะมรณานุสติ เพราะกายคตานุสติ เพราะอุปสมานุสติ

    และอื่นๆ ต่อไป

    จำกัดอะไรหรือไม่ ไม่ว่าผู้นั้นจะมีสติระลึกในพระพุทธคุณ ในพระธรรมคุณ ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้น เป็นสติปัฏฐานได้ ไม่ใช่จำกัดว่าอย่าระลึกถึงพระพุทธคุณ อย่าระลึกถึงศีล อย่าระลึกถึงอานาปาน คือ ลมหายใจ หรืออะไรอย่างนั้น

    ไม่มีสิ่งใดที่เป็นกฎเกณฑ์ที่จะห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ แต่เมื่อผู้ใดมีปกติ มีปัจจัยที่จะให้เป็นไปอย่างไร มีสติเกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้ว่าในขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐาน แต่เป็นผู้ที่สะสมให้พุทธานุสติเกิดขึ้น และเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานด้วย ถึงแม้ว่าในขณะที่กำลังระลึกถึงพระพุทธคุณ สติก็ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งได้

    ที่กล่าวถึงสติ ก็เพราะเหตุว่ามักจะมีผู้ที่ปนเรื่องของสมาธิกับสติ ในมหาสติปัฏฐานได้กล่าวถึงสติเป็นประธานว่า ถ้าไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว ปัญญาก็รู้ชัดในสภาพธรรมนั้นไม่ได้ และสติก็เป็นมรรคองค์หนึ่งในมรรคมีองค์ ๘ ไม่ใช่ว่าจะมีเพียงองค์เดียว

    ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ก็มีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ ไม่ใช่ไปเพียรทำอย่างอื่น ขณะที่ระลึกก็เป็นเพียรรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีสัมมาวายามะเกิดร่วมด้วย มีสัมมาสมาธิซึ่งได้แก่เอกัคคตาเจตสิกที่เกิดกับจิตทุกดวง แต่ในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สมาธิก็ตั้งมั่นในอารมณ์นั้นเป็นสัมมาสมาธิ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    คำว่า ภิกขุ คือชื่อว่า ภิกษุ เพราะเป็นผู้ทำลายธรรม ๗ ประการ คือ เป็นผู้ทำลายสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ราคะ โทสะ โมหะ มานะ

    ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำลายอกุศลธรรมอันลามก อันทำให้เศร้าหมอง ให้เกิดในภพใหม่ มีความกระวนกระวาย มีวิบากเป็นทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งชาติ ชรา และมรณะ

    พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ดูกร สภิยะ ภิกษุนั้นบรรลุถึงปรินิพพานแล้ว เพราะธรรมเป็นหนทางที่ตนทำ คือ ดำเนินแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ละแล้วซึ่งความเสื่อมและความเจริญ อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีภพใหม่สิ้นแล้ว

    ข้อความต่อไปมีว่า คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ พยัญชนะนี้คงจะได้ยินบ่อยๆ และข้อความตอนนี้ก็อธิบายความหมายของพยัญชนะนี้ว่า หมายความว่าอย่างไร

    คำว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ ความว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา

    เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ

    เพราะเหตุนั้นพระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า

    ภิกษุไม่พึงติดใจในกามทั้งหลาย มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง พึงมีสติเว้นรอบ

    ขอให้สังเกตพยัญชนะที่ว่า พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน กำหนดให้พิจารณาบรรพไหนในมหาสติปัฏฐานหรือไม่

    ในบางสูตรทรงอุปมาว่า สติปัฏฐานทั้ง ๔ เหมือนกับกองดินในทาง ๔ แพร่ง ซึ่งเมื่อรถผ่านไปก็ย่อมจะกระทบกองดินที่กองอยู่ในหนทางนั้นทั้ง ๔ ได้ เหมือนกับเวลาที่มีสติ เป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ สติก็ย่อมจะระลึกที่กายบ้าง แต่ไม่นาน ระลึกที่เวทนาบ้างได้ไหม ห้ามหรือเปล่า หรือว่าระลึกที่จิตได้ไหม ระลึกที่ธรรมหนึ่งธรรมใดได้ไหม ก็เป็นของที่มีจริง แล้วเป็นผู้ที่มีสติ ไม่ใช่หลงลืมสติ เมื่อสิ่งที่มีจริงมีต่างๆ ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ลิ้นบ้าง กายบ้าง ใจบ้าง เมื่อเป็นผู้ที่มีสติแล้ว สิ่งใดปรากฏ สติก็ย่อมระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏได้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีสติเว้นรอบ คือ พึงมีสติเดิน พึงมีสติยืน พึงมีสตินั่ง พึงมีสตินอน พึงมีสติก้าวไปข้างหน้า พึงมีสติถอยกลับ พึงมีสติแลดู พึงมีสติเหลียวดู พึงมีสติคู้เข้า พึงมีสติเหยียดออก พึงมีสติทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร พึงมีสติเที่ยวไป ไม่ว่าจะไปที่ไหน พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา

    ในธรรมวินัย ไม่ใช่ให้ไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร การเจริญสติไม่ใช่ให้เกิดความไม่รู้ จะรับประทานอาหารก็ไม่ได้ นอนก็ไม่ถูก ทำอะไรก็ไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าเป็นการที่ไม่รู้อย่างนั้น แต่ในพระธรรมวินัยกล่าวว่า พึงมีสติเที่ยวไป พึงมีสติอยู่ คือ เป็นไป เปลี่ยนแปลง รักษา บำรุง เยียวยา ให้เยียวยา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ภิกษุพึงมีสติเว้นรอบ เว้นจากความไม่รู้ เว้นจากการที่จะไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป เว้นจากการที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๑๒๑ – ๑๓๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 35
    28 ธ.ค. 2564