แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
ครั้งที่ ๑๒๙
ในครั้งก่อนก็ได้พูดถึงข้อความใน มหาสติปัฏฐานสูตร จิตตานุปัสสนา ที่ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะก็รู้ว่า จิตมีราคะ หรือว่า จิตปราศจากราคะก็รู้ว่า จิตปราศจากราคะ
ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังไม่ได้ศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด ก็ยากที่จะทราบว่าในขณะนั้นเป็นจิตประเภทใด แต่ข้อสำคัญที่ควรจะต้องระลึกถึงก็คือว่า จิตซึ่งเป็นนามธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะระลึกรู้ไหม เพราะเหตุว่าเวลาที่พูดถึงการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้ฟังอาจจะคิดว่ามีถึง ๔ บรรพ คือ มีกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน และบางท่านอาจจะเคยคิด หรือเคยสงสัยว่า เมื่อสติปัฏฐานมี ๔ ท่านก็อาจจะเลือกเจริญสติปัฏฐานหนึ่งเพียงสติปัฏฐานเดียวก็ได้
ถ้าเข้าใจอย่างนั้น ก็ไม่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าผู้ที่เจริญสติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของสติปัฏฐานทั้ง ๔ จึงจะละการยึดถือการที่เคยเข้าใจผิด หรือว่าการไม่รู้ลักษณะของนามและรูปได้ เพราะ เหตุว่าในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ทุกท่านมีกาย แต่จะระลึกเพียงที่กายอย่างเดียวก็รู้ลักษณะของรูป แต่สติก็เป็นธรรมชาติที่เป็นอนัตตา ไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกรู้ลักษณะของรูปขณะหนึ่ง ก็ย่อมจะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งอื่นที่เป็นของจริงที่ปรากฏต่อไปได้ ไม่ใช่ว่าจะไปบังคับให้สติระลึกรู้อยู่ที่รูป ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ทุกคนพิสูจน์ได้ เมื่อธรรมปรากฏ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น จะละความสงสัย จะละความไม่รู้ในสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ได้
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปเลือกด้วยความต้องการว่า ท่านจะเจริญสติปัฏฐานบรรพนั้น บรรพนี้เท่านั้น ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของจิตจะทราบได้ไหมว่า มีจิตหลายอย่าง มีจิตหลายประเภท และวันหนึ่งๆ ระลึกรู้จิตอะไรบ้าง
ถ้าท่านระลึกรู้กาย ระลึกรู้เวทนา คือ ความรู้สึกต่างๆ ก็ไม่ใช่ว่ามีแต่เวทนาโดยที่ไม่มีจิต กำลังเห็นเป็นจิต ได้ยินเป็นจิต คิดนึกเป็นจิต อกุศล โลภะ โทสะ โมหะเกิดขึ้นปรากฏ เป็นสภาพของจิตที่ประกอบด้วยโลภะ ประกอบด้วยโทสะ ประกอบด้วยโมหะ หรือขณะใดจิตเป็นไปในทาน ในศีล ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตาเหล่านั้น ก็เป็นสภาพลักษณะของจิตประเภทอื่นๆ ซึ่งมีจริงๆ และก็เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าไม่ระลึกรู้ ก็ย่อมยังคงยึดถือสภาพของจิตนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอยู่
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่าจะเจริญแต่เพียงกายานุปัสสนาสติปัฏฐานเท่านั้น ย่อมไม่ได้ เพราะแม้แต่เวทนาก็จะต้องระลึกรู้ แม้แต่จิตก็จะต้องระลึกรู้ด้วย คงจะไม่มีท่านผู้ใดกล่าวว่า ท่านไม่มีโลภมูลจิต ท่านไม่มีโทสมูลจิต ท่านไม่มีโมหมูลจิต ทุกท่านก็ต้องยอมรับว่ามี
สภาพธรรมที่เป็นโลภมูลจิตก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย สภาพธรรมที่เป็นโทสมูลจิต โมหมูลจิตก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย กั้นไว้ได้ไหมว่าไม่ให้เกิด เวลาที่สติจะเกิด มีตัวตนที่จะไปกั้นไหม ไม่ให้โลภมูลจิตเกิดได้ไหม ให้รู้เพียงแค่ทางตาเห็นสี ทางหูได้ยินเสียง ทางจมูกได้กลิ่น ทางลิ้นรู้รส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสโดยที่จะไม่ให้โลภมูลจิตเกิด โทสมูลจิตเกิด โมหมูลจิตเกิด กั้นได้ไหม
มีผู้ถามว่า เวลาที่เริ่มเจริญสติปัฏฐานเห็นทีไรก็เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ ทุกที ไม่ได้เห็นว่าเป็นสีเท่านั้นที่ปรากฏ แต่รู้ความหมายของสิ่งที่เห็นด้วยว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นอะไร ระลึกในขณะที่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ได้ไหมว่า ขณะนั้นก็เป็นแต่เพียงนามชนิดหนึ่ง แล้วแต่ว่าจะเป็นนามธรรมชนิดใดที่เป็นจริง มีจริงในขณะนั้น สติสามารถจะระลึกรู้ได้
ถ้าขณะที่เห็นแล้วรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ระลึกรู้ได้ว่า แม้ขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ให้สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏโดยไม่เลือก ไม่ใช่ตั้งใจเจาะจงกั้นไว้เพียงแค่เห็นกับสี หรือว่าเสียงกับได้ยิน
แม้แต่ขณะที่เห็น แล้วรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ขอให้ระลึกได้ว่า การรู้นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง หรือถึงแม้ว่าจะเกิดโลภะ ความพอใจในสิ่งที่เห็น ในสิ่งที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่ว่าต้องเปลี่ยนย้าย ไปกั้น ระลึกรู้แต่เฉพาะตาที่มีการเห็นสี ถ้าเกิดความชอบใจขึ้นแล้ว เกิดแล้วปรากฏในขณะนั้น สติระลึกรู้ได้ว่า แม้แต่ความชอบใจในขณะนั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง
เวลาที่สติเริ่มเกิด และเริ่มระลึกได้ทีละเล็กทีละน้อย ผู้ที่เจริญสติจะทราบว่า ยังไม่พอ ยังน้อย ความรู้ไม่ได้รู้เรื่องสีกับเห็น ไม่ได้รู้เรื่องเสียงกับได้ยิน ทีแรกท่านอาจจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของความชอบ หรือว่าการคิดนึก หรือที่รู้ว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งของต่างๆ นี้ ท่านเริ่มระลึกรู้ได้ว่า ที่รู้นั้นก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แต่ยังมีนามธรรมอีกมากทีเดียวที่สติจะต้องเจริญขึ้น และก็ระลึกรู้มากขึ้น ข้อสำคัญที่สุด คือ การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นปกติในชีวิตประจำวันจริงๆ
ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของฆราวาส หรือชีวิตของบรรพชิตก็ตาม ต้องดำเนินไปด้วยการเข้าใจประโยชน์ของสติ และระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นโลภะ หรือไม่ว่าจะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็ควรจะเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปให้มากขึ้น แล้วก็ทั่วขึ้น โดยไม่เจาะจง
ขอกล่าวถึงพระพุทธโอวาทต่างๆ ที่ได้ทรงโอวาทท่านพระราหุล ให้ทราบว่า ท่านพระราหุลนั้นท่านไม่ใช่อุคฆฏิตัญญู ไม่ใช่วิปจิตัญญู ท่านเป็นเนยยบุคคล และสำหรับเนยยบุคคลนั้นต้องเจริญสติมากทีเดียว เพราะเหตุว่าต้องละอนุสัยกิเลสที่เคยไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เคยยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะฉะนั้น การละ ก็จะต้องเจริญสติมากจนกระทั่งรู้ทั่ว แล้วก็รู้ชัดจริงๆ
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จูฬราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน ท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา เวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่ปราสาทที่ท่านพระราหุลอยู่ ทรงโอวาทท่านพระราหุลว่า
จักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น และควรพิจารณาก่อนจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ
คือ พิจารณาว่าการกระทำสิ่งนั้นๆ จะไม่เบียดเบียน จะไม่ก่อให้เกิดทุกข์ทั้งตนเองและกับผู้อื่นด้วย
ขณะนั้นท่านพระราหุลไม่ใช่ฆราวาส เป็นบรรพชิต แต่ก็มีชีวิตเป็นปกติ และชีวิตของผู้ที่เป็นพุทธบริษัทที่ได้ฟังธรรม ก็ย่อมเจริญสติปัฏฐานเพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม
เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะเป็นท่านพระราหุล พระผู้มีพระภาคก็ยังได้ทรงโอวาทท่านในเรื่องของชีวิตที่เป็นปกติธรรมดาจริงๆ
มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ มหาราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน พระผู้มีพระภาคเสด็จไปบิณฑบาต มีท่านพระราหุลตามไป ณ เบื้องพระปฤษฎางค์ พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระราหุล เรื่องรูปไม่เที่ยง
ท่านพระราหุลได้กราบทูลถามว่า
รูปเท่านั้นหรือพระเจ้าข้า ที่ไม่เที่ยง
ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสต่อไปถึง
ทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ทั้งวิญญาณว่า ไม่เที่ยง
เมื่อท่านพระราหุลได้รับพระโอวาท ได้กลับไปเจริญสมณธรรม ท่านพระสารีบุตรก็ได้บอกให้ท่านเจริญอานาปานสติ ก็เป็นชีวิตปกติธรรมดา ซึ่งตอนเย็นท่านได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค แล้วกราบทูลถามว่า
อานาปานสติเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงจะมีผล มีอานิสงส์
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ให้ท่านพระราหุลพิจารณารู้ลักษณะของธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม นอกจากนั้นก็ยังให้ท่านพระราหุลเจริญเมตตาภาวนาเพื่อละพยาบาท เจริญกรุณาภาวนาเพื่อละวิหิงสา เจริญมุทิตาภาวนาเพื่อละอรติ เจริญอุเบกขาภาวนาเพื่อละปฏิฆะ เจริญอสุภภาวนาเพื่อละราคะ เจริญอนิจจสัญญาภาวนาเพื่อละอัสมิมานะ และตอนสุดท้ายก็ได้ให้ท่านพระราหุลเจริญอานาปานสติ
เจาะจงหรือไม่ว่า จะต้องเป็นบรรพนั้น บรรพนี้ เฉพาะแค่ทางตา หรือทางหูเท่านั้น ไม่ให้เลยไปถึงพยาบาท ไม่ให้เลยไปถึงอรติ ซึ่งเป็นเรื่องชีวิตปกติธรรมดา ซึ่งใครก็กั้นไม่ได้ ห้ามไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้ในขณะที่เจริญเมตตา ผู้ที่มีปกติเจริญสติ สติก็สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดปรากฏในขณะนั้น และสามารถรู้ชัด และละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้
นอกจากนั้นใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ราหุลสังยุต ซึ่งครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน พระองค์ได้ทรงโอวาทท่านพระราหุล
ใน จักขุสูตร เป็นเรื่องของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เที่ยง
ใน รูปสูตร เป็นเรื่องของสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่เที่ยง
ใน วิญญาณสูตร สัมผัสสูตร เวทนาสูตร สัญญาสูตร เจตนาสูตร ตัณหาสูตร ธาตุสูตร ธาตุสูตรนี้ก็ได้แก่ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ วิญญาณนั่นเอง
ทุกสูตรนั้นได้ทรงแสดงว่า สภาพธรรมทุกอย่างล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ที่ต้องรู้ทั่วจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นนามรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็จะต้องประจักษ์ว่า สภาพนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ จุฬราหุโลวาทสูตร มีข้อความว่า
ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระดำริว่า ท่านพระราหุลมีธรรมที่บ่มวิมุตติแก่กล้าแล้ว พึงแนะนำท่านพระราหุลในธรรมที่สิ้นอาสวะยิ่งขึ้นเถิด เมื่อเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังพระกระยาหารแล้ว ได้ตรัสให้ท่านพระราหุลถือผ้ารองนั่งเข้าไปยังป่าอันธวัน เพื่อพักผ่อนกลางวันกัน
ทรงแสดงธรรมเรื่องตา รูป จักษุวิญญาณ เป็นต้น ไม่เที่ยง ทั้ง ๖ ทวาร นอกจากนั้น ทรงแสดงทั้งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่เกิดเพราะผัสสะนั้นๆ ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เมื่อท่านพระราหุลได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ท่านก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นเนยยบุคคลนั้นต้องเจริญสติมาก ที่จะไม่รู้นาม ไม่รู้ เวทนานุปัสสนา หรือว่า จิตตานุปัสสนานั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ถ. ที่ท่านห้ามพระราหุลไม่ให้หัวเราะ จะเป็นมุสานั้น
สุ. ไม่ใช่ห้ามหัวเราะ การขัดเกลาต้องขัดเกลาอย่างละเอียดทีเดียว พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระราหุลว่า ท่านพระราหุลจักไม่กล่าวมุสา ไม่พูดปด แม้เพราะหัวเราะกันเล่น ชีวิตจริงๆ ของเราเคยหลอกใครเล่นบ้างไหม เคยล้อใครบ้างไหม ทั้งๆ ที่ไม่จริง แต่เพื่อหัวเราะกันเล่นสนุกๆ ตามวิสัยของผู้ที่ยังมีโลภะ ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่หมดกิเลส เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพียรละกิเลส ควรจะพิจารณาการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจ พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาว่า เหมือนกับกระจก หรือแว่นซึ่งมีไว้สำหรับส่อง
เพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาธรรม ก็เป็นสิ่งที่ควรจะพิจารณาการกระทำว่า การกระทำนั้นจะเบียดเบียนให้ผู้อื่นเดือดร้อนไหม จะก่อทุกข์ให้กับผู้อื่น หรือว่าจะก่อทุกข์ให้แก่ตนเองหรือไม่ บางคนก็ตั้งใจจะล้อคนอื่นสนุกๆ แต่คนที่ถูกล้อเป็นอย่างไร สนุกไหม หรือว่าเป็นทุกข์เดือดร้อน ทำให้คนอื่นเป็นทุกข์เดือดร้อนได้ โดยที่ตัวเองสนุกสนาน
ไม่ได้ทรงแสดงไว้ถึงที่มาของเรื่องนี้ว่า เพราะเหตุใดพระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงโอวาทท่านพระราหุลเช่นนี้ แต่ข้อความในพระสูตรมีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ส่วนท่านพระราหุลอยู่ ณ ปราสาทชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา พระผู้มีพระภาคก็ได้เสด็จออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น แล้วได้เสด็จไปหาท่านพระราหุลที่ปราสาท ที่ท่านพระราหุลอยู่ แล้วก็ทรงโอวาทท่านพระราหุลว่า
จักไม่กล่าวมุสา แม้เพราะหัวเราะกันเล่น
เพราะฉะนั้น คงจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้พระผู้มีพระภาคเสด็จไปหาท่านพระราหุล แล้วก็ทรงโอวาท นี่เป็นการแสดงให้เห็นถึงชีวิตจริงๆ ที่การเจริญสติปัฏฐานจะต้องระลึกรู้ แม้ในขณะที่หัวเราะ หรือว่าในขณะที่จิตเป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นโมหะตามความเป็นจริง ไม่ใช่ไปกั้นไว้ไม่ให้รู้ แล้วก็กลายเป็นอีกบุคคลหนึ่งโดยที่ไม่รู้จักตนเองจริงๆ
อย่างบางคนก็มีโลภะมากทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเปลี่ยนแปลงการสะสมของบุคคลนั้นได้ไหม ในเมื่อเขาสะสมมาที่จะมีโลภะทางตามาก หรือว่าบางคนก็อาจจะมีโลภะทางหูมาก แต่ผู้นั้นก็เจริญสติปัฏฐานได้ ผู้ที่มี โลภะทางตามาก เวลาที่โลภะเกิดก็ระลึกได้ รู้ว่าลักษณะของโลภมูลจิตนั้นก็เป็นเพียงนามธรรมชนิดหนึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ เนืองๆ สติก็ระลึกรู้บ่อยๆ เนืองๆ ผู้นั้นก็รู้ชัดตามความเป็นจริงของตนเองว่า ตนเองเป็นผู้ที่มีโลภะทางตามาก ส่วนผู้ที่มีโลภะทางหูมาก เวลาที่โลภะเกิดขึ้น ก็ระลึกได้รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งบ่อยๆ เนืองๆ ก็รู้จักตนเองดีว่ามีโลภะทางหูมาก ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
การระลึกรู้ลักษณะของโลภะของตนเองบ่อยๆ เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่หนัก ในทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายนั้น ย่อมทำให้ผู้นั้นละสมุทัยสัจจะ คือ อนุสัยกิเลสที่ยึดถือสภาพของโลภะนั้นว่าเป็นตัวตน เพราะระลึกขณะใดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง สภาพของโลภะเกิดอีกแล้ว บ่อยๆ เนืองๆ ก็ชิน รู้ถึงเหตุปัจจัยว่า สภาพนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน เมื่อสะสมมามากอย่างไร ก็มีปัจจัยให้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ละคลายอนุสัยที่ไม่รู้ลักษณะของโลภะ หรือว่าที่เคยยึดถือสภาพของโลภะนั้นว่าเป็นตัวตนออกได้ทีละเล็กทีละน้อย ความจริงเป็นอย่างไร สติก็จะต้องระลึกรู้อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ไม่ว่าจะเป็นโทสะ ไม่ว่าจะเป็นโมหะ เป็นสภาพที่จะต้องระลึกรู้ ไม่ใช่กั้นไว้ไม่ให้รู้ แล้วก็คิดว่าขณะนั้นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๓ ตอนที่ ๑๒๑ – ๑๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 121
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 122
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 123
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 124
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 125
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 126
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 127
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 128
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 129
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 130
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 131
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 132
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 133
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 134
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 135
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 136
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 137
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 138
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 139
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 140
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 141
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 142
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 143
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 144
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 145
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 146
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 147
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 148
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 149
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 150
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 151
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 152
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 153
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 154
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 155
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 156
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 157
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 158
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 159
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 160
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 161
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 162
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 163
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 164
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 165
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 166
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 167
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 168
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 169
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 170
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 171
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 172
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 173
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 174
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 175
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 176
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 177
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 178
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 179
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 180