แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
ครั้งที่ ๑๘๑
ขอกล่าวถึงข้อความในพระไตรปิฎกที่แสดงให้เห็นว่า ความติดในกามคุณ ๕ นั้นหนาแน่นและเหนียวแน่นมาก
ขุททกนิกาย ชาดก มหาปโรพนชาดก ข้อความตอนต้นมีว่า
เทพบุตรผู้มีฤทธิ์มาก จุติจากพรหมโลกแล้ว มาเกิดเป็นโอรสของพระราชาผู้ทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติอันเพียบพร้อมด้วยสรรพกามคุณ ก็ดี ความสำคัญในกาม ก็ดี มิได้มีในพรหมโลก พระราชกุมารนั้นจึงเกลียดชังกามทั้งหลาย ด้วยสัญญาอันเกิดในพรหมโลกนั้น
พระราชบิดาก็รับสั่งให้สร้างฌานาคารไว้ภายในพระราชฐาน สำหรับพระราชกุมารนั้นทรงหลีกเร้นบำเพ็ญฌานในอาคารนั้นพระองค์เดียว
ฌานาคารเป็นที่สำหรับบำเพ็ญฌาน
พระราชาก็ทรงอัดอั้นตันพระทัยด้วยความโศกถึงพระโอรส ทรงปริเทวนาการว่า ลูกคนเดียวของเรานี้ไม่บริโภคกามารมณ์เสียเลย อุบายที่จะทำให้ลูกเราบริโภคกามารมณ์นี้มีอยู่อย่างไรบ้างหนอ หรือว่าใครจะรู้เหตุที่จะทำให้ลูกเราพัวพันอยู่ในกามารมณ์ได้ หรือว่าผู้ใดจะประเล้าประโลมลูกเราให้ปรารถนากามารมณ์ได้อย่างไรบ้าง
น่าจะอนุโมทนาสรรเสริญการไม่ติดในกามารมณ์ แต่เพราะมีความเข้าใจผิด คิดว่า ควรจะต้องเสพกามารมณ์ พัวพันในกามารมณ์ พระราชาก็เป็นทุกข์ที่พระราชกุมารนั้นไม่สำคัญในกามารมณ์ ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ต่อมาความปรารถนาของพระราชาก็สำเร็จ พระราชกุมารทรงลุ่มหลงในกามารมณ์มากจนเกิดโทษ แต่ว่าตอนสุดท้ายก็ได้ความสลดจิต น้อมพระทัยบรรพชา ต่อแต่นั้น ขัตติยราชกุมารก็ทรงบรรพชา สำรอกกามราคะแล้ว ได้เข้าถึงพรหมโลก
กลับไปสู่พรหมโลกอีกแล้ว มาจากพรหมโลกซึ่งห่างเหินว่างเว้นความติดความหมกมุ่นในกาม นานมากตลอดที่อยู่ในพรหมโลก แม้ว่าจุติจากพรหมโลกแล้ว ปฏิสนธิ ในมนุษย์ สัญญาของการที่เคยว่างเว้นห่างเหินกามารมณ์ต่างๆ นั้นก็ยังมีอยู่ ทำให้ไม่หมกมุ่น ไม่สำคัญ ไม่ยินดี ไม่เพลิดเพลินในกามารมณ์ แต่ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะไม่ได้หมดไปเพราะฌานสมาบัติ ไม่ได้หมดไปเพราะการไปเกิดเป็นพรหมบุคคล เพราะเหตุว่ายังไม่ได้รู้แจ้งในกามคุณ ๕ ยังไม่รู้ชัดโลกในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น เชื้อของความยินดีที่ลึกมาก ละเอียดมาก ซับซ้อนมาก ก็ยังคงมีอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงเพลิดเพลินหมกมุ่นในกามารมณ์อีกครั้งหนึ่ง แต่ในภายหลังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ทำให้ได้ความสลดจิต แล้วออกบรรพชา สำรอกกามราคะ เกิดในพรหมโลกอีก วนไปเวียนมาอย่างนี้ในวัฏฏะ
มีเพียงบางภูมิเท่านั้นเองซึ่งไม่เคยไป แม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่เคยปฏิสนธิในภูมินั้น คือ สุทธาวาส ๕ ภูมิ ซึ่งเป็นภูมิของพระอนาคามีบุคคลที่ได้ ปัญจมฌาน ถ้าเป็นพระอนาคามีบุคคลที่ไม่ได้ปัญจมฌาน ก็ยังคงเกิดในพรหมโลก เพราะเหตุว่าพระอนาคามีบุคคลดับกามราคะ ความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเป็นสมุจเฉท เคยติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ มานานเท่าไร สะสมพอกพูนไปทุกชาติๆ ซึ่งจะดับได้หมดสิ้นเป็นพระอนาคามีบุคคลนั้นเป็นไปได้ มีหนทางที่จะดับเชื้อของความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทจริงๆ ไม่ใช่กลับไปกลับมาระหว่างพรหมโลกกับกามโลกอยู่เรื่อยๆ
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้จะละเอียดสลับซับซ้อน ลึกซึ้งอย่างไร ก็มีหนทางรู้ชัดโลกในวินัยของพระอริยเจ้า และดับกิเลสอย่างละเอียดที่สุดได้ เมื่อดับกามราคะเป็น พระอนาคามีบุคคลแล้ว จะไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้อีก คือ ไม่กลับมาสู่กามโลก ไม่กลับมาเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาในสวรรค์ที่เป็นกามาวจรภูมิ พ้นไปจากโลกของกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่ถ้ายังไม่ดับหมดเป็นสมุจเฉท ไปพรหมโลกแล้วก็กลับมา เจริญฌานอีก และก็ไปอีก กลับมาอีก ซึ่งไม่มีใครทราบได้ว่า เคยกลับไปกลับมากี่ครั้งแล้ว
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานละเอียดจริงๆ อย่าคิดว่าง่ายๆ หรือว่ารู้ทางเดียวก็จะเป็นพระอริยเจ้าได้ โดยเว้นทางตาไม่ต้องรู้ ทางหูไม่ต้องรู้ ทางจมูกไม่ต้องรู้ ทางลิ้นไม่ต้องรู้ ทางกายไม่ต้องรู้ แต่หลงไปคิดว่ารู้แล้ว พ้นแล้ว จึงควรที่จะเจริญสติเนืองๆ บ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏตามปกติ เพื่อที่จะได้รู้ชัดตามความเป็นจริงของตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าข้ามไป ไม่ระลึกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ ตามความเป็นจริง ก็ไม่ใช่ความรู้จริง เพราะไม่รู้สิ่งที่เกิดปรากฏตามปกติ ตามความเป็นจริง
ถ. ขณะที่ตาเห็นรูป ก็รู้ชัดว่า กำลังเห็นรูปนั้น เกิดความยินดี ก็รู้ว่าเกิดความยินดี ในขณะนั้นปัญญาเป็นอย่างไร
สุ. ปัญญาจะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เวลาที่กำลังเห็น รู้ว่า ที่กำลังเห็นนี้เป็นสภาพรู้ พอเกิดความชอบใจขึ้นเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ให้สติระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ ว่า แต่ละลักษณะนั้นเป็นนามธรรมบ้าง เป็นรูปธรรมบ้าง ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่เพียงคิดว่า เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม เป็นอนัตตา แต่เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมแต่ละชนิด รู้ลักษณะของรูปธรรมแต่ละชนิด ซึ่งทั้งหมดตลอดชีวิตจนกระทั่งเดี๋ยวนี้และต่อไป ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น
ปัญญา คือ การรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง กำลังระลึกลักษณะของความชอบใจก็รู้ว่า เป็นแต่เพียงความชอบใจ เป็นสภาพที่พอใจเท่านั้น ไม่เที่ยง และก็มีเห็น ซึ่งไม่ใช่ความชอบใจ มีได้ยิน ซึ่งไม่ใช่ความชอบใจ สติก็ตามระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมแต่ละชนิดบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะชิน ไม่ใช่ปัญญาจะรู้ชัดได้ทันทีที่สติระลึก
ทั้ง ๖ ทาง เพียง ๖ แค่ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซี่งการแทงตลอดสภาพธรรม ไม่พ้นไปจากการรู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรมเหล่านี้ เพราะฉะนั้น สติก็ระลึกบ่อยๆ จนกว่าจะชิน จนกว่าจะคลายการที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน และปัญญาที่รู้ชัด ก็รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้นว่า ไม่ใช่ธรรมชนิดเดียวกัน
ถ. ปัญญานั้นจะเหมือนกับปัญญาทางโลกหรือเปล่า
สุ. ปัญญาทางโลกตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นโลกียปัญญาในพระธรรมวินัย
โลกียปัญญา คือ ปัญญาที่รู้สภาพธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรม เช่น ขณะที่กำลังรู้ว่า สภาพนี้เป็นนามธรรม ไม่ใช่ตัวตน นั่นเป็นโลกียปัญญา เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดแล้วดับ เป็นโลก ความหมายของโลก คือ เกิดแล้วดับ
ถ. ขณะที่มีปัญญา รู้สึกตัวในขณะนั้น ใช้กับวิชาทางโลกได้อย่างไร
สุ. ดูเหมือนว่า จะแยกเป็นวิชาทางโลกว่า เป็นอีกโลกหนึ่ง คือ โลกวิชา และวิชาทางธรรม หรือโลกทางธรรม เป็นอีกโลกหนึ่ง แต่ความจริงแล้ว ไม่พ้นไปจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ขณะที่กำลังรู้วิชาหนึ่งวิชาใด จะเป็นคณิตศาสตร์ คำนวณ หรืออะไรก็แล้วแต่ ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนที่รู้ แต่เป็นสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่ง ถ้าสติไม่ระลึก ไม่รู้ว่า แม้ขณะที่รู้นั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ก็จะยึดถือความรู้นั้นว่าเป็นตัวตน เป็นเรา ซึ่งความจริงแล้วสภาพของนามธรรมแต่ละชนิดเกิดขึ้นแล้วดับไป ถ้าท่านผู้ใดอบรมเจริญความรู้ในทางวิชาการมามาก และท่านเจริญสติ จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวท่าน ไม่ใช่อัตตา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงนามธรรมแต่ละชนิดเท่านั้นเอง
ถ. เจริญสติปัฏฐานอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เมื่อไรจะสำเร็จโดยที่ไม่มีการนั่งกัมมัฏฐาน เพราะในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าให้นั่งกายตรงดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ให้อยู่ตามโคนไม้หรือเรือนว่าง
สุ. รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคลนั้น รู้อย่างไร รู้อะไร
ถ. รู้แจ้งอริยสัจจะ อย่างเช่น บรรลุโสดา
สุ. รู้อะไร
ถ. ผมก็ไม่รู้ เพราะยังไม่ได้บรรลุ
สุ. พระโสดาบันนั้นรู้อะไร ก็เจริญเหตุที่จะให้รู้อย่างพระโสดาบันท่านรู้
ถ. ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า เจริญสติปัฏฐานแล้วสามารถที่จะบรรลุเป็นพระอริยเจ้าได้ ผมก็อยากทราบ
สุ. ใช่ เจริญสติอย่างนี้รู้ได้ เป็นพระโสดาบันบุคคลได้ แต่ว่าเมื่อไร ก็ต้องแล้วแต่ความรู้เกิดแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่รู้อะไร ไม่มีหวังที่จะเป็นพระโสดาบัน
ถ้าสนใจศึกษาในพระไตรปิฎก การรู้แจ้งอริยสัจธรรมของพระอริยเจ้านั้นเป็นชีวิตปกติ ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรม ในขณะนั้นมีสภาพธรรมตามความเป็นจริงปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สุข ทุกข์ คิดนึกเป็นปกติ ถ้าตราบใดยังไม่เจริญสติอย่างนี้ จะไม่มีหนทางที่จะเป็นพระอริยบุคคล
แต่ละชีวิตไม่เหมือนกัน แต่ทุกชีวิตสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ถ้าท่านเจริญเหตุให้สมควรแก่ผล คือ การเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง
ถ. อาจารย์เคยบรรยายว่า เห็นนิดหนึ่ง ได้ยินเพียงนิดหนึ่ง ถ้าจะได้ยินนานๆ และเห็นนานๆ ได้ไหม
สุ. กำลังเห็นด้วย ได้ยินด้วย ทางละนิดใช่ไหม หรือทางละนานๆ เพราะเหตุว่าจิตจะต้องเกิดขึ้นเพียงขณะเดียว เพียงดวงเดียว จะเกิดซ้อนกัน ๒ ดวง ๓ ดวงไม่ได้ ๒ ประเภท ๓ ประเภท ๓ ขณะ ๔ ขณะพร้อมๆ กัน ไม่ได้เลย
ที่ใช้คำว่า “ดวง” เพื่อแสดงให้เห็นว่า จิตชนิดหนึ่งเกิดขึ้นแล้วต้องดับไปเสียก่อน จิตอีกชนิดหนึ่งจึงจะเกิดต่อได้ อย่างเช่น จิตที่เห็นเป็นสภาพรู้ทางตา จะได้ยินด้วยตาไม่ได้ ได้ยินเป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่งที่อาศัยโสตปสาทจึงเกิดได้ยิน คือ รู้เสียงที่กระทบโสตปสาท จิตได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง จิตเห็นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง ตาไม่ใช่หู เห็นไม่ใช่ได้ยิน เป็นนามธรรมแต่ละชนิด
เพราะฉะนั้น ที่ได้ยินเกิดขึ้น จิตเห็นต้องดับไปก่อน จิตได้ยินจึงจะเกิดขึ้นได้ ทางละนิด ใช่ หรือไม่ใช่
ถ. ขณะที่ผมนั่งฟังอาจารย์ ก็ได้ยินด้วย เห็นด้วย ถ้าพูดตามพระอภิธรรม จิตเกิดขึ้นทีละดวง แล้วดับไป นี่เรารู้ แต่ตามที่เราเห็นทั่วๆ ไปอย่างนี้ ผมฟังอาจารย์ ผมได้ยินและเห็นพร้อมกัน ถ้าหากจะปฏิบัติ ผมเอาสติจับที่เสียงอาจารย์ จะถูกไหม
สุ. เรื่องของผมเอาสติ ไม่ถูกแน่ เพราะเหตุว่าเป็นตัวตนที่จะเอาสติไปไว้ตรงนั้น ไปไว้ตรงนี้ สภาพของสติเกิดพร้อมกับจิตอย่างรวดเร็ว คือ ระลึกทันที ที่ระลึกนั้น เป็นสติ ไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ใช่เป็นเราที่เตรียมตัวเอาไปตั้งไว้ที่โน่น ไปตั้งไว้ที่นี่ ถ้าเป็นโดยวิธีนั้น ไม่สามารถละคลายการยึดถือสติว่าเป็นตัวตนได้
ให้เข้าใจว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ไม่ผิดปกติเลย ตามธรรมดา ถ้าสติจะเกิดในขณะนี้ ก็ระลึกรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง จะเป็นทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจก็ได้ แต่ต้องตรงสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้ากำลังพอใจ ความพอใจนี้เกิดเพราะรส ความพอใจนี้เกิดเพราะกลิ่น ความพอใจนี้เกิดเพราะได้ยิน นี่เป็นสิ่งที่จะต้องรู้สภาพธรรมให้ไวขึ้น ละเอียดขึ้น และก็ตรงตามความเป็นจริงด้วย ไม่มีกฏเกณฑ์ แต่ละคนต้องแล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไร ขณะไหน ระลึกรู้รูปอะไร นามอะไร
ในขณะนี้ ทุกท่านนั่งอยู่ที่นี่ สติระลึกรู้เหมือนกันไหม เป็นแบบฉบับเดียวกันไหม เป็นได้ไหมอย่างนั้น ถ้าเป็น ถูกหรือผิด ทำไมจะไปรู้เหมือนกันหมด โดยเข้าใจผิดคิดว่า จะต้องรู้อย่างนั้น
นามรูปปริจเฉทญาณจำกัดหรือเปล่าว่า รู้นามอะไร รู้รูปอะไร ก็ไม่จำกัด และทำไมมาจำกัด อยากจะจำกัดเอง อยากจะตั้งวิธีแบบฉบับของวิปัสสนาเอง โดยที่ไม่ตรวจสอบทานกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง และถามว่า เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หวังมากเหลือเกิน เจริญสตินิดเดียว เมื่อไรจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม เหตุไม่ตรงกับผล จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ได้
การเจริญภาวนา ภาวนามยปัญญา หมายความถึงการเจริญอบรมให้มีมาก ที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง คือ สติระลึกขณะใด ชื่อว่าอบรมเพื่อการรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เป็นปฏิปัตติธรรมไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง ทุกขณะที่สติระลึกเป็นการปฏิบัติ เป็นการเจริญภาวนา
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาวิภังคสูตร มีเรื่องของสังฆทาน ข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารนิโคธาราม เขตพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมี ทรงถือผ้าห่มคู่หนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคยังที่ประทับแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระ ผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด
เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า
ดูกร โคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางบูชาทั้งอาตมาภาพและสงฆ์
พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระ ผู้มีพระภาค ขอพระผู้มีพระภาคทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่นี้ ของหม่อมฉันเถิด
แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓
พระผู้มีพระภาคก็ตรัสกับพระนาง แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ ดังนี้ว่า
ดูกร โคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมาภาพและสงฆ์
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค ดังนี้ว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคโปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถิด พระนางมหาปชาบดีโคตมีมีพระอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยงประทานพระขีรรสแด่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว ได้โปรดให้พระผู้มีพระภาคทรงดื่มเต้าพระถัน แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงทรงถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคจึงทรงงดเว้นจากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยได้ ทรงอาศัยพระ ผู้มีพระภาค จึงทรงประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาค จึงเป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีพระอุปการะมาก แก่พระ นางมหาปชาบดีโคตมี
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙ ตอนที่ ๑๘๑ – ๑๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240