แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190


    ครั้งที่ ๑๙๐


    . อย่างการเจริญอานาปานสติ ต้องรู้อยู่ที่ลมหายใจเรื่อยๆ โดยไม่เปลี่ยนเป็นอารมณ์อื่นเลย รู้อยู่อย่างนี้จิตจึงจะสามารถเป็นสมาธิได้ ทีนี้การเจริญ อานาปานสติอย่างเดียวกันนี้ แต่เปลี่ยนเป็นการเจริญสติปัฏฐาน รู้ที่ลมอย่างเดียวกัน แต่รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏที่จมูก หรือที่โพรงจมูก รู้ว่าสภาพธรรมนั้นมีความเย็น ความอ่อน เป็นต้น รู้อยู่อย่างนี้ อุ่นนิดหนึ่ง เย็นนิดหนึ่ง อุ่นนิดหนึ่ง เย็นนิดหนึ่ง รู้อยู่อย่างนี้ รู้อยู่ตลอดเวลาอย่างนี้เป็นเวลานาน ประมาณ ๑๐ นาที การที่สติรู้อยู่อย่างนี้ โดยที่ไม่แปรเป็นอย่างอื่นนั้นจะเรียกว่า รู้นาน และเป็นสติปัฏฐานจริงๆ หรือเปล่า

    สุ. เรื่องรู้นาน มีกาล มีเวลา ที่สติจะเกิดได้นานจริงๆ อย่างตอนกลางดึก ถ้าตื่นขึ้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูป สติก็อาจจะเกิดสืบต่อกันนานก็ได้ เป็นเรื่องของสติ ไม่หวั่นไหว ที่ท่านจะไม่หวั่นไหวได้ก็เพราะรู้ทั่ว ถ้ารู้ยังไม่ทั่วก็ต้องหวั่นไหว มีตัวตนที่คอยแทรก คอยจัดการ คอยเจ้ากี้เจ้าการอยู่ตลอดเวลา คือ ตัวตนที่ลึก และก็ละเอียดมาก

    สำหรับผู้ที่เคยอบรมเจริญสมาธิมาก่อน ผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติแล้วจึงจะไม่หวั่นไหว ไม่ว่าสติจะไประลึกที่ลมนานสักเท่าไรก็ตาม ผู้นั้นก็ไม่หวั่นไหว เพราะว่ารู้ทั่วในลักษณะของนามและรูป รู้แม้ในลักษณะของสติที่เป็นอนัตตา และก็รู้ปัจจัยด้วยว่า เพราะเหตุใดสติจึงไประลึกที่ลมหายใจนาน ก็เพราะเหตุว่าเคยอบรม อานาปานสติสมาธิมาก่อน

    เป็นเรื่องที่จะต้องรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม รู้ทั่ว และรู้ถึงเหตุปัจจัยด้วย แต่ไม่ใช่หมายความว่า ท่านจะรู้แต่เฉพาะลมหายใจที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์อย่างเดียว ก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เป็นไปไม่ได้เลย

    การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นการชำระการที่เคยไม่รู้ การที่เคยหลงยึดถือลักษณะของนามและรูปว่าเป็นตัวตน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น การที่จะละได้ ก็เพราะสติระลึกจนทั่ว เมื่อทั่วจริงๆ ท่านจะไม่หวั่นไหวเลยว่า สติจะไประลึกที่นามใดบ่อย นามใดมาก รูปใดนาน เป็นเรื่องของสติ เพราะเหตุว่ารู้ทั่วแล้ว

    ถ้าท่านศึกษาอรรถกถาของมหาสติปัฏฐาน ท่านจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เคยเจริญ สมถภาวนามาก่อน แต่ยังไม่ทันถึงความเป็นอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติจนกระทั่งชำนาญ

    เพราะฉะนั้น เพียงจิตโน้มไปที่อารมณ์ที่เคยเป็นอารมณ์ของสมาธิเพียงนิดเดียว ปัญญาก็แทงตลอดในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมได้ และก็รู้แจ้งอริยสัจธรรม

    . เรื่องที่รู้อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานๆ เท่าที่อาจารย์อธิบายมาก็พอเข้าใจ สติก็ระลึกที่ลมเรื่อยๆ ไปโดยไม่ใส่ใจสิ่งอื่น มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ไม่รู้ อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นผู้มีสติหรือเปล่า มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้แต่ไม่ยอมรู้ เวทนาปรากฏแล้วแต่ทำไมจึงไม่รู้ รู้ด้วยว่าคัน ทำไมจึงไม่มีสติรู้ ไปรู้ที่ลมอย่างเดียว คล้ายๆ กับเป็นการจดจ้อง

    สุ. บางท่านเจริญสมาธิมาก่อน และไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง เพราะฉะนั้น ก็คิดหรือเข้าใจว่าจะเอาสมาธิเป็นบาท พอสมาธิแก่กล้าแล้วก็จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา นั่นเป็นตัวตนหรือเปล่า ไม่ได้เคยอบรมการเจริญสติปัฏฐานจนชำนาญจนคล่องแคล่วเลย คิดแต่เพียงว่า เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้วจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ที่คิดว่าจะยกนั้นต้องเป็นตัวตน จะยกได้อย่างไรในเมื่อสติเป็นอนัตตา

    และที่ฝึกอบรมมาจนกระทั่งชำนาญเป็นสมาธิ เมื่อมีสมาธิแล้ว ที่จะให้ระลึกรู้ว่าเป็นนามธรรมเท่านั้น เป็นเรื่องยากถ้าไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติมาก่อน สติระลึกไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เคยเจริญอบรมสมถภาวนามาก่อน เมื่อเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ต้องเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติจนกระทั่งชำนาญจริงๆ

    ที่เรียกว่าชำนาญ คือ รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั้ง ๖ ทาง จึงสามารถที่จะไม่มีเยื่อใยตัวตนได้ เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะนั้นเกิดคันขึ้นมา จะหวั่นไหวไหมสำหรับผู้ที่รู้แล้ว แต่สำหรับผู้ที่เจาะจงจะเอาสมาธิเป็นบาทของการเจริญวิปัสสนา และไม่เคยเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่เคยรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทั่วทั้ง ๖ ทางเลย ก็ผิดกันแล้วใช่ไหม

    สติจะระลึกรู้ที่รูปลมที่กำลังกระทบ ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล สติจะระลึกที่นามใดรูปใด มากหรือน้อย ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล มีปัจจัยให้เป็นอย่างนั้น ให้ระลึกอย่างนั้น ให้รู้อย่างนั้น แต่ถ้าเป็นผู้ที่ไม่รู้จริงๆ ก็หวั่นไหวแล้ว จะมีตัวตนที่คอยจะทำจะต้องทำอย่างนี้ จะต้องทำอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น การละกิเลสนั้นละยาก เป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เป็นเรื่องที่ผู้เจริญสติจะต้องสำเหนียก สังเกต และรู้ว่าที่จะละนี้เพราะรู้จริงๆ หรือเปล่า หรือยังไม่ทันจะรู้ ก็มีตัวตนที่จะไปละ แต่ก็ละไม่สำเร็จ ซึ่งการที่จะละทุกสิ่งทุกอย่างได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ ต้องเพราะความรู้ชัดและละเอียดจริงๆ เท่านั้น

    . ผมถามว่า ขณะที่สติกำลังระลึกรู้ลมหายใจ คือ ระลึกรู้ลักษณะของลมที่เย็นหรือร้อนอยู่ มีเวทนาหรือโลภมูลจิตเกิดขึ้น แต่ว่าสติไม่ไประลึกรู้ที่นั่น กลับมาระลึกรู้แต่ที่ลมหายใจตลอดเวลาเรื่อยๆ อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ เป็นสติเหมือนกัน แต่ว่าสติระลึกเฉพาะอานาปานะ คือ ลมหายใจที่กระทบโดยลักษณะร้อนหรือเย็นก็ตาม หมายความว่า สติระลึกรู้อยู่ที่ลมตลอดเวลา แม้มีออารมณ์อื่นเกิดขึ้น สติก็ไม่ไประลึกรู้ที่อารมณ์นั้น อย่างนี้จะผิดความจริงหรือเปล่า

    สุ. เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ถ้ายังไม่รู้ทั่ว ก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปจนกว่าจะทั่ว จึงจะละคลาย ไม่หวั่นไหวได้ ความสำคัญอยู่ที่ไม่หวั่นไหว ที่จะไม่หวั่นไหวเพราะรู้ชัด รู้ชัดแล้วไม่หวั่นไหว

    ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของลมนานๆ จะหวั่นไหวไหม ก็ไม่หวั่นไหว ถ้าสติจะระลึกรู้ที่เวทนาหน่อยหนึ่ง ก็ไม่หวั่นไหว ถ้าสติจะกลับไประลึกรู้ที่ลมอีกนานๆ จะหวั่นไหวไหม ก็ไม่หวั่นไหว เพราะเหตุว่ารู้ชัดแล้ว รู้จริงๆ รู้ชัดจริงๆ จึงจะไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรม ก็สามารถจะแทงตลอด

    เพราะฉะนั้น การที่จะรู้แจ้งอริยสัจ แต่ละบุคคลนั้นไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่เคยเจริญอานาปานสติสมาธิมาก่อน จิตโน้มไปที่จะระลึกรู้ลักษณะของจิตที่สงบบ้าง ของรูปลมที่กำลังปรากฏบ้าง โดยที่ยังไม่ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิก็ได้ หรือว่าบางท่านสมาธิเกิดมาก ไปแทงตลอดที่อุปจารสมาธิก็ได้ หรือที่อัปปนาสมาธิก็ได้ ที่ปฐมฌานก็ได้ ทุติยฌานก็ได้ จะถึงปัญจมฌาน สติระลึกรู้ความไม่ใช่ตัวตนก็ได้

    เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของความไม่หวั่นไหวเพราะความรู้ชัด สำคัญที่สุด คือ ตอนที่จะรู้จริง รู้ชัด รู้ทั่ว และก็รู้แล้ว จึงจะไม่หวั่นไหวได้ มิฉะนั้นท่านจะเป็นผู้ที่หวั่นไหวอยู่เสมอ จะระลึกรู้รูปนั้นก็หวั่นไหว จะระลึกรู้นามนี้ก็ไม่กล้า โดยเฉพาะท่านที่เคยเจาะจงจะรู้เพียงรูปเดียว ทางตาไม่ให้รู้สีสันวรรณะ ให้รู้แต่ที่เห็นว่าเป็นนามธรรม ก็จะมีความหวั่นไหวมากทีเดียว ไม่กล้าที่จะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม เมื่อไม่กล้าที่จะระลึกรู้ จะไม่หวั่นไหวได้ไหม

    ท่านพอใจในสีสันวรรณะที่เห็น ติดใจในนิมิตในอนุพยัญชนะ แต่ที่จะละได้เพราะรู้ชัดในสภาพของสิ่งที่ปรากฏนั้นว่า เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่ปรากฏทางตา เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ที่จะไม่หวั่นไหวได้จริงๆ ต้องรู้ชัด รู้ทั่ว รู้ละเอียดด้วย แต่ก่อนที่จะเป็นอย่างนั้น ก็ต้องเจริญสติและรู้ลักษณะของนามและรูปทั้ง ๖ ทาง

    . ขณะที่กำลังรับประทานอาหาร อารมณ์ต่างๆ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีอยู่พร้อมหมด สมมติว่ามีสีสวยๆ อยู่สีหนึ่ง สติก็ไประลึกที่สีนั้นนานๆ สติระลึกรู้นานๆ ทั้งๆ ที่อย่างอื่นก็มี กำลังเคี้ยวอยู่ รสก็มี โผฏฐัพพะก็มี อะไรก็มี แต่สติไม่ระลึกรู้ กลับไประลึกรู้สิ่งที่ปรากฏอยู่ก่อนนี้นาน ทำให้ผมรู้สึกไม่ชัดแจ้งในใจ

    ตามธรรมดา สภาวธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นนิดหนึ่งแล้วก็หายไปๆ ไม่ได้อยู่ให้เรารู้นานๆ จิตรู้อย่างนี้นิดหนึ่ง รู้จริง ไม่ใช่รู้ไม่จริง เวลาอาหารเข้าปาก ก่อนอาหารเข้าปากก็เห็น รู้แล้วว่ามีสี มีอะไรอย่างนี้ ก็สามารถจะรู้ได้หลายสิ่งหลายอย่าง แต่ไม่รู้อย่างนั้น กลับไปรู้อยู่เฉพาะอย่าง เช่นว่า แกงนี้รสดี ก็ไประลึกอยู่ที่รส รสหายไปหมดแล้ว แต่ยังไประลึกที่รสอยู่ อย่างนี้จะเรียกว่าสติไประลึกรู้ผิดๆ ได้ไหม เพราะรสไม่มีแล้ว หายไปหมดแล้ว แต่สิ่งอื่นยังมีอยู่ ยังปรากฏอยู่ แต่ไม่ระลึกรู้

    สุ. เคยเผ็ดนานๆ ไหม เผ็ดนานก็มีปรากฏ และสติที่รู้เผ็ดนานนั้นก็บังคับบัญชาไม่ได้ คือ ต้องรู้ความเป็นอนัตตาแล้วไม่หวั่นไหว แต่ก่อนที่จะถึงความไม่หวั่นไหวได้ จะต้องรู้ทั่วจริงๆ ซึ่งในพระไตรปิฎกใช้พยัญชนะว่า รู้ชัด หมายความถึงวิปัสสนาญาณ

    กำลังระลึกรู้ทางตา ญาณเกิดได้ไหมที่จะแทงตลอดเพราะไม่หวั่นไหว เพราะรู้ว่าเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ถ้าจะระลึกรู้นานก็เป็นสติที่ระลึก ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น เมื่อสติจะไประลึกที่นามใดมาก นามใดนาน สามารถที่จะประจักษ์ความเกิดดับของนามนั้นรูปนั้น จนกระทั่งแทงตลอดอริยสัจ ถึงความเป็นพระอรหันต์ก็ได้ แต่ถ้ายังรู้ไม่ทั่ว หวั่นไหวจริงๆ

    . คำว่ารู้นาน พิจารณาดูแล้ว คงไม่ใช่รู้สิ่งใดนานๆ แต่รู้สิ่งนั้นบ่อยๆ เช่น เผ็ดเกิดขึ้น สติระลึกรู้ว่าเผ็ด เผ็ดเกิดขึ้นอีก ก็ระลึกรู้ว่าเผ็ดอีก แล้วก็ระลึกรู้เผ็ดอยู่อย่างนี้ สติเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกัน แล้วก็รู้เรื่องเผ็ดนี้เรื่อยๆ เผ็ดเกิดขึ้นนิดหนึ่งสติเกิดขึ้นรู้ เผ็ดเกิดขึ้นนิดหนึ่งสติเกิดขึ้นรู้ เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ การระลึกอย่างนี้เราใช้คำว่านาน เมื่อใช้คำว่านาน ก็รู้สึกว่าผิดปกติ ถ้าผมจะใช้คำว่า ระลึกรู้อีกๆ แต่ไม่ใช่ระลึกไปนานๆ คำว่านาน อาจจะเข้าใจสับสน จะถูกหรือไม่ถูกครับ

    สุ. ที่ถูกจริงๆ ตามขั้นของญาณ เวลานี้เห็นนานไหม เวลาที่ญาณไม่เกิด หลายขณะแล้ว ปรากฏความนานแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้รู้ชัดในความเกิดขึ้นและดับไป

    เพราะฉะนั้น การรู้ชัดนี้แล้วแต่ญาณ ถ้ามีญาณที่สูงขึ้น ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไป ระลึกรู้จนทั่ว จนละ จนคลาย ไม่หวั่นไหวเลย จะไประลึกที่รูปไหนมาก นามไหนมาก รูปไหนนาน นามไหนนาน เป็นการเจริญสติเพื่อที่ให้ปัญญารู้ชัด เมื่อรู้ชัดแล้วก็ยิ่งไม่หวั่นไหว ยิ่งละคลาย แต่ข้อสำคัญ คือ ตอนที่ยังหวั่นไหวเพราะไม่รู้ชัด จะมีตัวตนคอยจัดการว่าจะอย่างนั้น จะอย่างนี้

    แต่ปัญญาจะต้องเกิดตามขั้น ถ้าวิปัสสนาญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณไม่เกิดรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จะถึงอุทยัพยญาณไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ในขั้นแรก ท่านปฏิบัติเพื่อที่จะให้บรรลุถึงนามรูปปริจเฉทญาณ คือ รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้น ยังไม่ต้องไปกังวลถึงความเกิดขึ้นและดับไป ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ กับลักษณะที่ไม่ใช่สภาพรู้ และจะไม่หวั่นไหวเมื่อรู้ชัดมากขึ้น

    . การที่เราประสบกับวิบาก และรู้ว่าเป็นวิบาก ถือว่าเป็นการเจริญสติหรือยัง

    สุ. รู้ชื่อ หรือว่ารู้ลักษณะของวิบาก

    . ลักษณะของวิบาก คือ ผมเห็นสิ่งที่ดี ก็รู้ว่าเราคงจะทำวิบากมาดี หรือเห็นสิ่งที่ไม่ดี ที่ไม่ชอบใจเป็นอนิฏฐารมณ์ ก็รู้ว่าเป็นวิบากของผมที่ไม่ดี

    สุ. ขณะไหนเป็นการรู้วิบาก

    . ขณะที่เห็น ขณะที่ได้ยิน

    สุ. รู้ลักษณะของนามธรรมทางตา รู้ลักษณะของนามธรรมทางหู ไม่ใช่เป็นการรู้ชื่อ ที่ใช้คำว่าวิบาก ที่ใช้คำว่ากุศล ที่ใช้คำว่าอกุศล เป็นสภาพที่มีจริง เป็นนามธรรม อย่างจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็มีสราคจิตเป็นอกุศลจิต วีตราคจิตจิตที่ไม่ใช่โลภมูลจิต เพราะฉะนั้น มีสภาพปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง

    คำว่า วิบาก เป็นนามธรรม เป็นจิตและเจตสิก มีเหตุปัจจัยที่จะให้เห็น มีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้ยิน มีเหตุปัจจัยที่จะให้ได้กลิ่น มีเหตุปัจจัยที่จะให้รู้รส มีเหตุปัจจัยที่จะให้รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เป็นวิบาก เพราะเหตุว่าไม่ได้เป็นไปตามปรารถนา ผู้ที่รู้วิบากจะต้องรู้ลักษณะของนามธรรม ไม่ใช่นึกว่ากำลังเห็นนี้เป็นผลของกรรม

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรม สติจึงจะเป็นสัมมาสติเพราะระลึกชอบ ปัญญาจึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิเพราะรู้ชอบ รู้ถูกตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่เป็นขั้นการคิด

    . คำว่า วิบาก นี้ เมื่อเราได้ประสบแล้ว สมมติว่า ได้กลิ่น ได้กลิ่นดี ได้กลิ่นไม่ดี กลิ่นเหม็น เราไม่ชอบ รู้สึกโกรธ ก็เป็นอกุศลจิต หรือว่าได้กลิ่นหอม ก็เป็นอกุศลจิตอีก เป็นโลภะ ถ้าหากเราปลงเสียว่า เป็นวิบากของเรา จะเป็นตัวสติหรือเปล่า

    สุ. สติขั้นไหน สติมีหลายขั้น แล้วแต่สติจะระลึกรู้นามอะไร รู้นามที่กำลังรู้กลิ่นว่าเป็นแต่เพียงสภาพที่รู้กลิ่นเท่านั้น เวลาที่ไม่พอใจเกิดขึ้น สติจะระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วแต่สติจะระลึกรู้นามใดรูปใดได้ทั้งนั้น จนกว่าจะรู้ชัด จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะชิน ต้องเป็นความรู้จริงๆ ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จึงจะไม่หวั่นไหว และละคลายได้

    เพราะฉะนั้น การเจริญสติ เป็นสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ แต่จะต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรม รู้ลักษณะที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สับสนกัน ไม่ใช่ปนกัน หรือว่าไม่ใช่ไม่รู้ ก็คิดว่ารู้แล้ว

    . ดิฉันสนใจธรรม ฟังหลายๆ อาจารย์ มีปัญหาข้องใจ ที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ให้เจริญสติ รู้นามชนิดหนึ่งที่ปรากฏ ให้พิจารณานามที่ปรากฏว่าเป็นธรรม จะเป็นฝ่ายกุศลหรืออกุศลก็ตาม ก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง แต่เคยไปฟังที่อื่น อาจารย์ที่นั่นบอกว่า ต้องทำสมาธิจนเกิดอภิญญา ได้อภิญญาถึงจะเห็นอนัตตา ก็ต่างกันกับท่านอาจารย์

    สุ. ต่างกับพระไตรปิฎก



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙ ตอนที่ ๑๘๑ – ๑๙๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564