แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
ครั้งที่ ๑๙๓
ผู้ที่ประพฤติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า หรือผู้ปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงความเป็น พระอริยเจ้า เพราะฉะนั้น ถ้าจะเปรียบกับนาก็เป็นนาที่สมบูรณ์ เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาล ก็ย่อมจะให้ผลมาก นี่เป็นเหตุที่ว่า เพราะเหตุใดการถวายทานแก่ท่านที่ทรงคุณธรรมมีผลมาก ซึ่งในพระสูตรนี้มีข้อความที่ว่า
โภชนะที่บุคคลถวายในสมณพราหมณ์ผู้มีศีลสมบูรณ์ ก็ฉันนั้น ย่อมนำมาซึ่ง กุศลอันสมบูรณ์ เพราะกรรมที่เขาทำนั้นสมบูรณ์แล้ว เพราะฉะนั้น บุคคลในโลกนี้ ผู้หวังกุศลสัมปทา (คือ การถึงพร้อมด้วยกุศล) จงเป็นผู้มีประโยชน์ถึงพร้อม พึงคบหาท่านผู้มีปัญญาสมบูรณ์ ปุญญสัมปทาย่อมสำเร็จได้อย่างนี้
ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ได้จิตตสัมปทาแล้ว กระทำกรรมให้บริบูรณ์ ย่อมได้ผลบริบูรณ์ รู้โลกนี้ตามเป็นจริงแล้ว พึงถึงทิฏฐิสัมปทา
ที่ได้ผลไพบูลย์เพราะเหตุนี้ เพราะถ้าท่านให้ทานกับบุคคลที่ไม่ประพฤติ ไม่ปฏิบัติเพื่อความเห็นแจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะมีอะไรที่ช่วยท่านได้ ที่จะทำให้กุศลของท่านสมบูรณ์ขึ้นถึงการดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท แต่ถ้าท่านถวายทานแก่ท่านผู้ประพฤติดี ประพฤติชอบ และเป็นผู้ที่บรรลุถึงทิฏฐิสัมปทา และท่านคบหาสมาคมกับบุคคลนั้น ท่านก็ย่อมได้บรรลุผลที่สมบูรณ์ที่สุดของกุศล คือ การที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ข้อความต่อไปมีว่า
พึงถึงทิฏฐิสัมปทา อาศัยมัคคสัมปทา มีใจบริบูรณ์ ย่อมบรรลุอรหัต เพราะกำจัดมลทินทั้งปวงได้แล้ว บรรลุนิพพานสัมปทาได้แล้ว ย่อมหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวง การหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงนั้น จัดเป็นสัพพสัมปทา
ถึงพร้อมทุกประการทีเดียว เวลาที่หลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะเหตุว่าถ้าท่านให้ทานในบุคคลทุศีล จะได้รับประโยชน์อะไร เพิ่มพูนมิจฉาทิฏฐิมากขึ้น เมื่อมิจฉาทิฏฐิมากขึ้น มิจฉาวาจาน้อยลงหรือเปล่า มิจฉากัมมันตะน้อยลงหรือเปล่า ไม่ได้น้อยลง ซึ่งก็เหมือนกับส่งเสริม หรือสนับสนุนมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาวาจา มิจฉา กัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ
ถึงแม้ว่าท่านจะให้ทาน ได้อานิสงส์ของทานโดยท่านเกิดมาเป็นผู้ที่มีโภคสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ แต่ท่านต้องถูกเบียดเบียนจากผู้ที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ มิจฉาวาจา มิจฉา กัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าให้ผลไพบูลย์ไม่ได้
ธรรมทั้งหมดประกอบด้วยเหตุผล แม้แต่ที่ว่า สังฆทานเป็นเลิศ เพราะเหตุว่าจะนำไปสู่ความสมบูรณ์ด้วยทิฏฐิ ที่ทำให้บรรลุความเป็นพระอรหันต์ได้
อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ศีลสูตร มีข้อความสั้นๆ ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมใดอยู่ มนุษย์ในบ้านหรือนิคมนั้น ย่อมประสพบุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน
คือ กาย ๑ วาจา ๑ ใจ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรพชิตผู้มีศีลเข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมใดอยู่ มนุษย์ในบ้านหรือนิคมนั้น ย่อมประสพบุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๓ ประการนี้แล
กาย วาจา ใจสะอาด ไม่เบียดเบียนใคร เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะไม่ใช่บรรพชิต บุคคลใดก็ตามที่มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ย่อมจะไม่ทำให้บุคคลอื่นเดือดร้อน มีแต่จะได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นการกระทำหรือกายที่สะอาด ได้ยินธรรม ได้ฟังธรรม เพราะฉะนั้น ก็ย่อมประสบบุญเป็นอันมาก
ถ. การที่จะทำแต่สังฆทานอย่างเดียวโดยไม่ทำทานประเภทอื่น รู้สึกว่าจะตัดกุศลเล็กๆ น้อยๆ ไป แล้วจะขัดกับผลประเภทที่ ๓ ที่อาจารย์บรรยายไว้หรือเปล่า
สุ. นี่เป็นเหตุที่ได้กล่าวถึงเรื่องของทานหลายนัย เช่น เรื่องบุคคลที่อุปมาเหมือนกับฝนที่ไม่ตก ฝนที่ตกบางแห่ง และฝนที่ตกทั่วไป เพราะฉะนั้น ในพระธรรมวินัย มีแต่ข้อความพยัญชนะที่ทรงแสดงให้เจริญกุศลทุกประการ แต่ว่าทรงแสดงเหตุและผลของกุศลแต่ละประการนั้นด้วย ถึงแม้ว่าสังฆทานจะมีผลมาก แต่ไม่ใช่มุ่งหมายจะให้ทำแต่สังฆทานประการเดียว ทรงแสดงไว้จริงว่า สังฆทานมีอานิสงส์มาก ให้ผลมากเพราะเหตุอย่างไร แต่ไม่มีข้อความที่ว่า ให้พุทธบริษัททำแต่เฉพาะสังฆทานอย่างเดียว แม้แต่ข้อความในพระวินัยปิฎก พระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ท่านพระอานนท์แจกอาหารที่มีกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกด้วย ทั้งๆ ที่สังฆทานมีประโยชน์มาก มีอานิสงส์มาก แต่ไม่ใช่ให้พุทธบริษัททำแต่เฉพาะสังฆทานเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการให้แก่บุคคลที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถึงแม้ว่าท่านจะได้รับอานิสงส์ของทานมากมาย ท่านก็ยังถูกเบียดเบียนให้เดือดร้อนได้จากบุคคลเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงไม่ชื่อว่ามีผลที่ไพบูลย์
ไม่ควรที่จะคิดว่า ท่านไม่มีวันที่จะเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านเจริญความเห็นถูก มีความเห็นถูกซึ่งเป็นเหตุ ทีละเล็กทีละน้อย ย่อมถึงความสมบูรณ์ที่จะประจักษ์สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงได้ ถ้าเหตุของการที่จะให้บรรลุคุณธรรมเป็น พระโสดาบันบุคคลมี ท่านย่อมจะบรรลุคุณธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้ และถ้าท่านเป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ท่านก็จะถึงความเป็นพระอรหันต์แน่นอน
ในอดีตก็มีพระอรหันต์ ด้วยการที่สะสมอบรมบารมีในครั้งอดีต เพราะฉะนั้น ถ้าในปัจจุบันชาตินี้ยังไม่ได้บรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ จะบรรลุได้ ถ้าเจริญเหตุให้สมควรกับผล เพราะฉะนั้น ในบรรดาทานทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ธรรมทานเป็นเลิศ
ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทานสูตร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธรรมทาน ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธรรมทานเป็นเลิศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธรรม ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ การแจกจ่ายธรรมป็นเลิศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส ๑ การอนุเคราะห์ด้วยธรรม ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธรรมเป็นเลิศ
ที่กล่าวถึงสูตรนี้ ก็เพื่อที่จะให้ท่านเห็นเหตุและผล และความสอดคล้องกัน ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ แม้แต่ในข้อที่ว่า ธรรมทานเป็นเลิศ และสังฆทานมีผลมาก มีอานิสงส์มากนั้น ก็เป็นเหตุเป็นผลซึ่งสอดคล้องกัน
ข้อความใน ทานสูตร มีต่อไปว่า
พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสทานใดว่า อย่างยิ่ง ยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคได้ทรงสรรเสริญการแจกจ่ายทานใดว่า อย่างยิ่ง ยอดเยี่ยม วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ผู้เป็นเขตอันเลิศ รู้ชัดอยู่ซึ่งทาน และการแจกจ่ายทานนั้นๆ ใครจะไม่พึงบูชา (คือ ให้ทาน) ในกาลอันควรเล่า ประโยชน์อย่างยิ่งนั้นของผู้แสดงและผู้ฟังทั้งสอง ผู้มีจิตเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด ประโยชน์อย่างยิ่งนั้นของผู้ไม่ประมาทแล้วในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด
จบข้อความใน ทานสูตร
จะเห็นได้ว่า พระสูตรสมบูรณ์ ไม่ใช่เพียงแต่ทรงแสดงไว้เฉยๆ ว่า ธรรมทานเป็นเลิศ แต่ยังทรงแสดงข้อความท้ายพระสูตรว่า ประโยชน์อย่างยิ่งนั้นของผู้แสดงและผู้ฟังทั้งสอง ผู้มีจิตเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด ประโยชน์อย่างยิ่งนั้น ของผู้ไม่ประมาทแล้วในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด เพราะทรงสอนให้เจริญกุศลทุกประการ ตั้งแต่ในขั้นของทาน ในขั้นของศีล ในขั้นของความสงบของจิต และในขั้นของการเจริญปัญญา
ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัปปุริสสูตร ที่ ๑ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล สัปปุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าว และน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาล สมควร เนืองนิจในผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมาก แล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้งย่อมสรรเสริญทานที่สัปปุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิต ผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข
มโนรถปูรนี อรรถกถา มีข้อความว่า
ที่ว่า ให้ของสะอาด คือ ของที่สะอาดงดงาม
เวลาให้ เคยดูวัตถุทานหรือไทยธรรมที่ท่านจะให้บ้างหรือเปล่าว่า ประณีตมากน้อยแค่ไหน หรือว่ายังสกปรก ไม่สะอาด เปื้อนด้วยฝุ่น ไม่น่าดู ไม่น่ารับ หรือว่าเป็นของที่สะอาดงดงาม ดีพอที่จะทำให้ผู้ที่รับรู้สึกปลาบปลื้มดีใจ โสมนัส
เพราะฉะนั้น การให้ทาน ควรจะให้สิ่งที่สะอาดงดงาม แสดงว่าจิตใจของท่านมีความเต็มใจจริงๆ รู้ว่าถ้าให้สิ่งนั้นแล้ว ผู้รับจะปลาบปลื้ม
ประการต่อไปที่ว่า
ให้ของประณีต
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ที่ว่า ให้ของประณีต คือ ถึงพร้อมแล้วด้วยดี
นอกจากจะสะอาดแล้ว ของนั้นก็ยังเป็นของที่ประณีตด้วย
ข้อว่า ให้ตามกาล คือ ให้ทานตามกาลที่ควรและเหมาะสม
ข้อว่า ให้ของสมควร คือ กัปปิยะ สิ่งใดสมควร ก็ให้สิ่งนั้น
ข้อว่า เลือกให้ ใคร่ครวญแล้วจึงให้ คือ สอบสวนปฏิคาหกหรือทานว่า ทานให้แก่ผู้นี้แล้วมีผลมาก ให้แก่ผู้นี้ไม่มีผลมาก ต้องเป็นผู้ฉลาดในการที่จะให้ทาน
ถ. ที่กล่าวว่า การให้ธรรมทานเป็นเลิศ เป็นทานอันยอดเยี่ยม แต่ถ้าผู้ให้ธรรมทาน ให้ผิดไปจากที่พระพุทธองค์ทรงเทศนาไว้โดยความเข้าใจผิด หรือไม่เฉลียวใจ หาใช่มีเจตนาที่จะบิดเบือนธรรมของพระพุทธองค์แต่อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ และผู้ฟังก็ยึดถือว่าผู้ให้นี้ให้ตรงแล้ว ทานเช่นนี้จะมีอานิสงส์เป็นยอดเยี่ยมได้หรือไม่
สุ. ไม่ใช่ธรรมทาน เป็นการเผยแพร่มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิด เป็นอกุศล ไม่ได้เกิดประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ทั้งมนุษย์และเทวดา ตรงกันข้ามกับสัตบุรุษ ผู้เกิดมาแล้วย่อมเกิดประโยชน์ทั้งกับตนเอง เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
ถ. ผู้ที่แสดงธรรม หรือผู้ที่ให้ธรรมทานนั้น ท่านมีความบริสุทธิ์ใจของท่านจริงๆ ท่านเข้าใจของท่านเช่นนั้นจริงๆ ว่า ความเข้าใจเช่นนี้ของท่านเป็นความบริสุทธิ์ถูกต้อง ท่านไม่มีเจตนาเป็นอื่น
สุ. ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยได้ ท่านผู้บรรยายธรรมจะต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบคอบ เทียบเคียง สอบสวนว่า ธรรมที่ท่านกำลังบรรยายอยู่เป็นธรรมจริงๆ ถ้าไม่ตรวจสอบทาน ท่านก็ยังคงยืนยันอยู่อย่างนั้นว่าถูกแล้ว สิ่งที่ให้นี้เป็นธรรมแล้ว
ถ. ผู้ที่ให้ธรรมทานนั้น ท่านก็กล่าวว่า ท่านตรวจแล้ว สอบแล้ว ท่าน เข้าใจว่าของท่านถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัยจริงๆ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไรดี
สุ. ท่านผู้ฟังก็มีโอกาสตรวจสอบผู้ที่บรรยายธรรมได้ ไม่ใช่ว่าฟังแล้วต้องเชื่อ ถ้าฟังแล้วยังไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผล ท่านก็รับฟัง และตรวจสอบกับพระธรรมวินัยให้ละเอียดขึ้น ถ้าตรงกับพระธรรมวินัย ก็ชื่อว่าท่านฟังธรรม และท่านประพฤติปฏิบัติธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้ว
สำหรับผู้บรรยาย หรือว่ามิตรสหายผู้มีความเห็นผิด ก็ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะไปแก้ไขได้ ต้องแล้วแต่เหตุปัจจัยที่สะสมกันมา ถ้าไม่เคยสะสมความโน้นเอียงที่จะเห็นผิด ยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่ผิด ก็ย่อมทิ้งความเห็นผิดและข้อปฏิบัติที่ผิดนั้นได้ แต่ถ้าสะสมโน้มเอียงมาที่จะยึดไว้มั่นคงทีเดียว แม้พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ ก็ยังไม่สามารถที่จะเกื้อกูลอนุเคราะห์ผู้นั้นได้
การเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวันมีแต่ประโยชน์ ไม่มีโทษเลย แต่ถ้าท่านมีมิจฉาทิฏฐิ มีความเห็นผิด ไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน อกุศลก็เพิ่มพูน พอกพูนขึ้น และจะไม่รู้ลักษณะของสัมมาสติเลย เพราะเหตุว่าสัมมาสติเป็นสภาพที่ระลึกได้ตรงลักษณะสภาพธรรม สติไม่ใช่ดู สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ สัจธรรม คือ สภาพธรรมที่มีจริง เป็นของจริง และก็เป็นชีวิตปกติประจำวันทุกๆ ขณะ
กำลังเห็น เป็นของจริงหรือเปล่า ธรรมใช้คำว่า สัจธรรม
การได้ยิน ธรรมดาในขณะนี้ จริงหรือไม่จริง ภาษาไทยใช้คำว่า ของจริง สภาพธรรมที่มีจริง ภาษาบาลีใช้คำว่า สัจธรรม คือ ธรรมที่มีจริง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้สภาพของธรรม ที่เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏชื่อว่า เป็นผู้รู้สัจธรรม ถ้าท่านรู้ชัด ประจักษ์ในความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง จนกระทั่งรู้แจ้ง ท่านก็เป็นพระอริยเจ้า แต่ถ้าท่านยังไม่รู้แจ้ง สัจธรรมก็มีอยู่เรื่อยๆ ทุกๆ ขณะตลอดเวลา แต่ท่านก็ไม่ทราบว่าเป็นสัจธรรม
บางท่านใคร่ที่จะรู้สัจธรรม ไปแสวงหาสัจธรรม จะพบไหม กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ กำลังเป็นโลภะ สัจธรรมหรือเปล่า ทำไมไปแสวงหาสัจธรรม ในเมื่อสัจธรรมมีอยู่ทุกขณะ แต่ถ้าท่านยังไม่รู้จักสัจธรรม แล้วท่านก็จะไปแสวงหาสัจธรรม ท่านไม่มีวันที่จะได้ประจักษ์สภาพความจริงของสัจธรรมเลย เพราะว่าโลภะขณะนี้เป็นสัจธรรม โทสะขณะนี้เป็นสัจธรรม เห็นขณะนี้เป็นสัจธรรม สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหมดที่กำลังปรากฏ มีลักษณะความเป็นอนัตตาจริงๆ ไม่ต้องมีใครไปบังคับสภาพธรรมเหล่านี้ มีเหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นแล้ว
เวลานี้รู้สึกเย็นไหม บางท่านอาจจะรู้สึกร้อน เป็นสัจธรรมหรือเปล่า สภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา อาศัยเหตุปัจจัยก็เกิดปรากฏ มีลักษณะอย่างนั้น
อย่างใน ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค มหาวรรค อินทริยกถา มีข้อความว่า
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เป็นไฉน
ประการที่ ๑ ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นของไม่เที่ยง ๑ ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นของเที่ยง ๑
ประการที่ ๒ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นทุกข์ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นสุข ๑
ประการที่ ๓ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นอนัตตา ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นอัตตา ๑
ประการที่ ๔ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความสิ้นไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความเป็นก้อน ๑
ประการที่ ๕ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเสื่อมไป ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความประมวลมา ๑
ประการที่ ๖ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความแปรปรวน ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยั่งยืน ๑
ประการที่ ๗ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยความเป็นสภาพหานิมิตมิได้ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยเป็นสภาพนิมิต ๑
ประการที่ ๘ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพไม่มีที่ตั้ง ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยสภาพมีที่ตั้ง ๑
ประการที่ ๙ เป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้โดยเป็นสภาพสูญ ๑ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้โดยความยึดมั่น ๑
ปุถุชนเจริญวิปัสสนา ย่อมเป็นผู้ฉลาดในความตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้ เป็นผู้ฉลาดในความไม่ตั้งไว้ด้วยอาการ ๙ เหล่านี้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๑๙๑ – ๒๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240