แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
ครั้งที่ ๑๙๗
อย่างทางตา ท่านที่ศึกษาปรมัตถธรรมก็ทราบว่า ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นเพราะรูปารมณ์ คือ สีกระทบจักขุปสาทเป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น รำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบนั้น ซึ่งจิตในขณะนั้น คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต เกิดขึ้นแล้วดับไป ต่อจากนั้น ถ้าเป็นอารมณ์ทางตา ก็เป็นปัจจัยให้จักขุวิญญาณเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เมื่อจักขุวิญญาณดับไปแล้ว สัมปฏิจฉันนจิตเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์นั้นต่อจากจักขุวิญญาณ เมื่อสัมปฏิจฉันนจิตเกิดและดับไปแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นพิจารณาสภาพของรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ชื่อว่า ทำกิจสันตีรณะ ซึ่งจิตนั้นคือสันตีรณจิต เมื่อดับไป มีจิตที่มนสิการ คือ ทำกิจโวฏฐัพพนะ ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นแล้วดับไป กุศลจิตหรืออกุศลจิตจึงเกิดต่อ
แต่ในการบรรยาย ไม่เคยบรรยายให้ท่านผู้ฟังไปรู้ปัญจทวาราวัชชนจิต ไปรู้สัมปฏิจฉันนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิตอะไรเลย เพียงแต่ว่าทางตาเห็นมี แต่ไม่เคยระลึกรู้ว่าที่เห็นเป็นสภาพรู้ ไม่ใช่รูปธรรม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะสูง จะต่ำ จะดำ จะขาว จะเป็นอย่างไร รูปไม่ใช่สภาพรู้ แต่ที่ว่ารู้ขณะที่กำลังเห็น รู้ว่าเป็นอะไร ก็เป็นนามธรรม สภาพที่เห็นก็เป็นนามธรรม ชอบใจหรือไม่ชอบใจเกิดจากการเห็น สภาพที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจนั้นก็เป็นนามธรรม เมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้มีปรากฏให้รู้ได้ สติก็ระลึกรู้ในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนของนามธรรมของรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ้าท่านจะฟังการบรรยาย และประมวลสิ่งที่ท่านได้ฟัง ท่านก็จะได้ฟังข้อความที่ว่า ไม่ควรเป็นผู้หลงลืมสติ และสิ่งที่จะทำให้เกิดปัญญา ความเห็นถูกตามความเป็นจริงนั้น ก็คือ สิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะว่าสภาพของสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนตตา ไม่ใช่ว่าให้ท่านไปรู้รูปที่ไม่ปรากฏ ไปรู้นามที่ไม่ปรากฏ
เพราะฉะนั้น ถ้าคุณพุทธบุตรฟังโดยตลอดก็จะทราบว่า ไม่มีข้อความว่าให้ไปรู้สัมปฏิจฉันนะ สันตีรณะ โวฏฐัพพนะอะไร แต่ว่าที่ทรงแสดงไว้ในพระอภิธรรมปิฎกนั้น ก็เพื่อที่จะให้ท่านที่ได้ศึกษา มนสิการสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพื่อละคลายการที่จะยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แม้ว่าจะเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว สิ่งใดปรากฏ สติก็จะค่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะสภาพของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ส่วนที่ท่านผู้ใดจะรู้ความละเอียด ประณีตของนามธรรม รูปธรรม ได้มากน้อยต่างกันเท่าไรนั้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่าทุกท่านจะต้องมีปัญญาอย่างท่านพระสารีบุตร แต่ว่าถึงแม้จะไม่ใช่ท่านพระสารีบุตร ผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมก็จะต้องรู้ลักษณะของสภาพนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ชัดเจนถูกต้อง จึงจะละคลายการยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตนได้
สำหรับข้อที่คุณพุทธบุตรเขียนมาว่า ถ้าอย่างนั้นแล้วละก็ นามอีกส่วนหนึ่งอัน เป็นส่วนที่อยู่ในภวังค์อีก ทำไมคุณไม่เคยพูดถึงเลย
เรื่องของการศึกษาธรรม เป็นเรื่องตามลำดับขั้น บางทีท่านที่ศึกษาปริยัติธรรมจะติดอยู่ที่ชื่อ แต่ว่าสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม อย่างคำว่า นามธรรม รูปธรรม มีหลายท่านที่บอกได้ว่า เห็นเป็นนาม สีที่ปรากฏเป็นรูป ได้ยินเป็นนาม เสียงที่ปรากฏเป็นรูป แต่ไม่ทราบว่า ที่ว่าเป็นนามนั้น ทำไมว่าเป็นนาม มีลักษณะอย่างไร จึงใช้คำบัญญัติว่านาม (นามะ) หรือนามธรรม ส่วนที่เป็นรูปนั้นมีลักษณะแตกต่างกับนามธรรมอย่างไร จึงใช้คำบัญญัติว่ารูป (รูปะ) หรือรูปธรรม แต่ผู้ที่เจริญสติรู้ถึงลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า ลักษณะที่เป็นนามธรรมไม่ใช่รูปธรรม ลักษณะที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่นามธรรม ไม่ได้ติดอยู่ที่ชื่อว่านาม แต่รู้ว่า สภาพธรรมนี้เป็นสภาพรู้ ความสุข ความทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ เป็นของที่มีจริง
สภาพที่เป็นสุข เพราะรู้อารมณ์อะไร สุขเพราะเห็น หรือว่าสุขเพราะได้ยิน หรือว่าสุขเพราะได้กลิ่น หรือว่าสุขเพราะรู้รส หรือว่าสุขเพราะกระทบสัมผัส หรือว่าสุขเพราะคิดนึก สภาพที่เป็นสุข เป็นสุขในสิ่งที่ปรากฏให้รู้ได้ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เนื่องมาจากสิ่งที่ปรากฏ เนื่องมาจากสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นสามารถที่จะรู้ความหมายของคำว่า นาม (นามะ) หรือ นามธรรม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงชื่อ แต่ที่ว่าเป็นนามธรรมนั้น ก็เพราะมีลักษณะน้อมไปสู่ อารมณ์ เป็นสภาพที่รู้อารมณ์ลักษณะต่างๆ กัน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติจะไม่ติดอยู่ที่ชื่อ จะไม่บอกว่าอะไรเป็นนามเป็นรูปโดยชื่อ แต่เพราะสติระลึกลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือว่าลักษณะที่เป็นรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง
ขอกล่าวถึงภวังคจิต ซึ่งความจริงในตอนนี้เป็นเรื่องของวีตราคจิต จิตที่ไม่ประกอบด้วยความโลภ ส่วนเรื่องของวิบากจิตที่เป็นภวังคจิตก็ยังไม่ได้กล่าวถึง เพราะเหตุว่าวีตราคจิตนั้น ได้แก่ จิตที่เป็นกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต ซึ่งในขณะนี้กำลังบรรยายถึงกุศลจิตขั้นทาน ยังไม่ถึงขั้นศีล ขั้นภาวนา และก็ยังไม่ถึงวิบากจิต กิริยาจิตด้วย แต่เมื่อคุณพุทธบุตรมีความสงสัยอย่างนี้ ก็เป็นเครื่องส่องถึงความข้องใจในการปฏิบัติ และคงจะติดอยู่ที่คำว่าภวังคจิต เพราะว่านี่เป็นชื่อโดยปริยัติ สภาพของภวังคจิตเป็นจิตที่เกิดต่อจากปฏิสนธิจิต ขณะจิตที่เกิดขึ้นครั้งแรกในภพนี้ที่ทำกิจปฏิสนธิ เป็นจิตชาติวิบาก ไม่ใช่กุศลจิต อกุศลจิต เพราะเหตุว่าถ้าท่านจะศึกษาเรื่องของจิตโดยละเอียด ท่านก็จะทราบว่าจิตมี ๔ ชาติ โดยการเกิด คือ
จิตบางประเภทเป็นกุศล เป็นจิตที่ดีงาม
จิตบางประเภทเป็นอกุศล เป็นจิตที่ไม่ดี
ทั้ง ๒ อย่างนี้จะเป็นเหตุให้เกิดผลข้างหน้า คือ เป็นปัจจัยให้จิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น อกุศลจิตเป็นปัจจัยให้อกุศลวิบากจิตเกิด กุศลจิตเป็นปัจจัยให้กุศลวิบากจิตเกิด
เพราะฉะนั้น ขณะจิตที่เกิด ไม่ใช่เป็นขณะที่ทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมใดๆ แต่การที่จะเกิดที่ใด เมื่อไร เป็นภพใด ชาติใด ภูมิใดนั้น ต้องแล้วแต่กรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้จิตที่เป็นวิบากเกิด ทำกิจปฏิสนธิขึ้นเป็นขณะแรกในชาตินั้น ในภพนั้น
ธรรมดาของสังขารธรรมนั้น เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับไป ไม่ใช่หมดเพียงแค่นั้น มีปัจจัยแล้วในอดีตที่ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดต่อ ทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้นต่อไปจนกว่าจะถึงจุติ ไม่ว่าจะปฏิสนธิเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นมนุษย์พิการตั้งแต่กำเนิด หรือว่าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยสติปัญญาสมบูรณ์พร้อม ก็เป็นเรื่องที่ว่า แล้วแต่กรรมในอดีตเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตประเภทใดเกิดขึ้น เมื่อทำกิจปฏิสนธิจิตแล้ว ดับไปแล้ว ก็ยังมีปัจจัย คือ กรรมในอดีตทำให้จิตเกิดต่อ ซึ่งจิตที่เกิดต่อนั้นต้องเป็นประเภทวิบาก เป็นผลของกรรม ทำภวังคกิจ
ในขณะที่เป็นภวังคกิจนี้ ก็นับไม่ถ้วนว่ากี่ขณะ และก็มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการคิดนึก มีการรู้รส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เกิดสลับตามเหตุตามปัจจัย เมื่อมีปัจจัยที่จะให้การเห็นเกิดขึ้น การเห็นก็เกิดขึ้น ไม่ใช่ภวังคจิตแล้ว
วิถีจิตที่เห็น ไม่ใช่ภวังคจิต แต่เมื่อการเห็น วิถีจิตที่เห็นสีนั้นดับไปแล้ว ภวังคจิตก็เกิดสืบต่อไว้ก่อนที่จะได้ยิน เมื่อมีการได้ยินแล้ว วิถีจิตที่ได้ยินดับไปหมดแล้ว ก็มีภวังคจิตเกิดสืบต่อไว้ ไม่ให้สิ้นสุดภพชาติลงไปได้
เพราะฉะนั้น ขณะที่ทุกท่านกำลังนั่งอยู่ที่นี่ ก็มีจิตทั้งกุศลบ้าง อกุศลบ้าง วิบากบ้าง กิริยาบ้าง เกิดดับสืบต่อกัน แล้วแต่ประเภท แล้วแต่วิถีของจิต แต่ให้ทราบว่า ภวังคจิตในขณะนี้ ถึงแม้ว่ามีจริง เกิดขึ้นคั่นในระหว่างวิถีจิตทางตากับวิถีจิตทางหู เพราะฉะนั้น ชั่วขณะที่ภวังคจิตเกิด ท่านไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะนี้กำลังเห็น และก่อนที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ก็มีภวังคจิตเกิดคั่นหลายขณะแล้ว
แต่ท่านสามารถที่จะรู้ลักษณะของภวังคจิตได้โดยขั้นปริยัติ เวลาที่หลับสนิท ขณะนั้นไม่มีการเห็น ไม่มีการได้ยิน ไม่มีการได้กลิ่น ไม่มีการรู้รส ไม่มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ไม่มีการคิดนึก ไม่มีความฝันเกิดขึ้น ในขณะนั้นเป็นภวังคจิต ทำให้คนที่ยังมีชีวิตอยู่ มีลักษณะที่ต่างกับคนที่สิ้นชีวิตแล้ว คนที่สิ้นชีวิตแล้วยังมีรูป แต่ว่าไม่มีจิต ไม่มีภวังคจิต
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติสามารถที่จะรู้ภวังคจิตได้บ้างไหม ในขณะไหน ท่านที่เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ เวลาที่ตื่น รู้ไหมว่าไม่เหมือนกับที่หลับ เวลาตื่นใครบ้างไม่รู้ว่าตื่นแล้ว ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติทันทีที่ตื่นขึ้น ก็ระลึกถึงขณะก่อนนั้นซึ่งเป็นขณะที่ต่างกันกับขณะที่ตื่นได้ไหม ถ้าท่านเป็นผู้ที่ละเอียด ถ้าสติเจริญเนืองๆ บ่อยๆ และเป็นผู้ที่ระลึกรู้ว่า ไม่มีอะไรที่เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นแต่เพียงลักษณะของนามธรรม ลักษณะของรูปธรรม เพราะฉะนั้น ที่ตื่นนี้อะไรตื่น นามหรือรูป ขณะที่หลับอะไรหลับ นามหรือรูป รู้ได้ไหมถึงลักษณะ สภาพที่ต่างกันเมื่อสักครู่นี้ชั่วขณะหนึ่งว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง สติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ แต่ว่าพอถึงชื่อว่าภวังคจิต ทำให้ท่านคิดว่า ไม่สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของภวังคจิตได้
ภวังคจิตที่กำลังเกิดดับสืบต่อ คั่นระหว่างทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ยากแก่การที่จะรู้ได้ เพราะเกิดน้อยขณะกว่าขณะที่ท่านหลับสนิท
เพราะฉะนั้น การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามใดรูปใด ละเอียดมากน้อยต่างกัน ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และเป็นเรื่องที่สามารถจะรู้สภาพความจริงได้ ไม่ใช่ว่า สภาพความจริงปรากฏแล้วรู้ไม่ได้
สภาพที่ตื่น และรู้ความต่างกันของขณะที่ตื่นกับขณะที่หลับ ลักษณะที่หลับในขณะนั้น ที่สติระลึกรู้โดยชื่อ คือ ภวังคจิต
สำหรับท่านที่เจริญสติเป็นปกติ เวลาที่ฝัน สติสามารถที่จะระลึก ปรากฏเหมือนกับว่า เป็นการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในขณะที่ฝัน แล้วก็ฝันต่อไป และก็ตื่นขึ้นก็ได้ เป็นเรื่องสภาพธรรมตามปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งไม่พ้นกำลัง พละของสติและปัญญาไปได้
ผู้ที่เจริญสติแล้ว ไม่ใช่ว่าจะไม่มีสติพละ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญญาพละเจริญ จนกว่าจะสมบูรณ์ จนกว่าความรู้จะชัด จนกว่าจะรู้ทั่ว จนกว่าจะรู้จริง และสติปัญญาของแต่ละท่านนั้น จะรู้ลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไรละเอียดขึ้น ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่า ท่านจะต้องรู้เท่าท่านพระสารีบุตร หรือว่าเท่าพระมหาสาวกองค์อื่นๆ
การรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แม้จะละเอียดอย่างไร ท่านก็จะต้องเจริญปัญญาให้คมกล้าขึ้น เพื่อที่จะละการยึดถือนามธรรม รูปธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าถ้าท่านระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมอย่างละเอียดขึ้น อย่างที่คนอื่นอาจจะรู้ไม่ได้ เยื่อใยการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนที่รู้ก็ย่อมมี ถ้าปัญญาไม่คมกล้าพอที่จะละว่า ถึงแม้ว่าสิ่งที่ระลึกรู้นั้นเป็นสิ่งที่ละเอียดประณีตสักเท่าไรก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงนามธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของการเจริญความรู้เพื่อละ ไม่ใช่ว่า เพื่อยังมีเยื่อใยยึดถืออยู่
ข้อต่อไป คุณพุทธบุตรเขียนว่า ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย ทั้งในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าคุณไม่ยอมให้ตั้งต้นเลย เพราะอะไร เพราะคุณกลัวจะไม่ดังใช่ไหม ที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่น
ไม่ทราบว่าเพราะอะไร คุณพุทธบุตรถึงได้กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย ทั้งในส่วนกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ผู้ที่ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานและเข้าใจถูก ก็เกื้อกูลให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรม ทำไมถึงจะกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นศิษย์ของคุณก็ไม่มีโอกาสที่จะได้เห็นธรรมเลย
ถ้าสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่กายได้ไหม ไม่ใช่ เวทนาได้ไหม ไม่ใช่จิตได้ไหม ไม่ใช่ธรรมได้ไหม ถ้าไม่ใช่กาย ไม่ใช่เวทนา ไม่ใช่จิต ไม่ใช่ธรรม แล้วเป็นอะไร เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนาม ของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่จะพ้นไปจากการรู้กาย เวทนา จิต ธรรมนั้น ไม่มี
เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า จะไม่รู้นั้น เป็นไปไม่ได้ และข้อที่ว่า คุณกลัวจะไม่ดังใช่ไหมที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่น ไม่ทราบว่า คุณพุทธบุตรต้องการให้สอนอย่างไร หรือว่าสอนเหมือนใคร และที่ไม่เหมือนคนอื่นนั้น ไม่เหมือนใคร ที่ถูกแล้วจะเหมือน ใครหรือไม่เหมือนใคร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญเลย ขอให้สอบทานเทียบเคียงกับพระธรรมวินัยว่า ตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้หรือไม่ และตรงกับสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงหรือไม่ เพราะเหตุว่าถ้าตรงตามพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว ก็จะตรงกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงทุกประการ
เพราะฉะนั้น เรื่องที่จะให้ตรงกับท่านผู้หนึ่งผู้ใด หรือไม่ตรงกับท่านผู้หนึ่งผู้ใดนั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ว่าเรื่องสำคัญนั้น คือ ตรงกับพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้หรือไม่ และตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริงหรือไม่ ไม่ควรจะคิดว่า กลัวจะไม่ดังใช่ไหมที่บังเอิญไปสอนเหมือนคนอื่น เพราะเหตุว่าถ้าแสดงธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้ว อะไรจะแพร่หลาย พระธรรมย่อมแพร่หลาย ผู้ที่ได้ฟังธรรมมีโอกาสที่จะได้รับฟังพระธรรมโดยตรงมากยิ่งขึ้น มีความเข้าใจในพระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ด้วยพระองค์เองมากขึ้น เพราะฉะนั้น พระธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้จะแพร่หลาย จะใช้คำว่า จะกึกก้อง หรือว่าจะโด่งดัง ก็แล้วแต่ท่านจะใช้พยัญชนะใด แต่ไม่ใช่ว่า บุคคลที่กล่าวธรรมตามธรรมวินัยจะแพร่หลายหรือจะโด่งดัง เพราะเหตุว่าผู้นั้นแสดงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้แล้ว ไม่ใช่ธรรมที่คิดขึ้นมาเอง จะได้เป็นผู้ที่โด่งดังอีกผู้หนึ่ง
เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว พระธรรมนั้นเองจะแพร่หลาย
สำหรับข้อที่คุณพุทธบุตรกล่าวว่า โปรดจงละทิฏฐิของคำว่าอาจารย์ลงเสียเถิด เดินไปหาความรู้ใหม่ เพื่อปรับให้เข้ากับท่านพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ คือ พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณเทพประสิทธิมุนี กราบเรียนถามท่านในเรื่องของวิปัสสนากัมมัฏฐานและสูตรต่างๆ ที่คุณข้องใจ และอาจหาญใช้อัตโนมัติ
ต้องขอขอบคุณคุณพุทธบุตรที่มีความหวังดี ที่จะให้ดิฉันศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม แต่คุณพุทธบุตรคงไม่ทราบว่า ปกติดิฉันไม่ได้หยุดการศึกษาพระธรรมวินัยเลย ศึกษาเพิ่มเติมและปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา และการรับฟังการบรรยายของท่านผู้รู้ทุกท่านนั้น ก็รับฟังเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เป็นประจำ และเมื่อรับฟังแล้วก็เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่ได้ศึกษาด้วย ถ้าสิ่งที่ศึกษานั้นเป็นภาษาบาลีก็ไม่ได้เคยนึกเดาตามใจชอบ แต่ได้กราบเรียนนมัสการถามท่านผู้ที่มีความรู้ในทางภาษาบาลีอย่างสูงเป็นประจำอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ที่คุณพุทธบุตรมีความหวังดีเพราะอาจจะคิดว่า ตลอดเวลานี้ดิฉันไม่ได้ศึกษาธรรมอะไรเลย ก็ขอเรียนให้ทราบตามความเป็นจริงด้วย
ประการต่อไปคุณพุทธบุตรเขียนมาว่า และอีกอย่างหนึ่งได้โปรดย้อนไปศึกษาพระอภิธรรมในส่วนที่เป็นสูตรต่างๆ หนึ่งสูตรนั้น เรียกว่า มหาปัฏฐาน จงเปิดดูในบทว่าด้วยกรรมที่ท่านบอกว่า ได้แก่ เจตนา และเจตนานี้มี ๒ เกิดขึ้นได้กับจิตทุกๆ ประเภท โปรดศึกษาให้ละเอียด แล้วคุณจะได้พบจุดเริ่มต้นเสียที
สำหรับในเรื่องนี้ ก็ใคร่ที่จะเรียนชี้แจงท่านผู้ฟังให้เข้าใจเรื่องของเจตนาเพื่อท่านจะได้เข้าใจข้อปฏิบัติไม่คลาดเคลื่อนด้วย
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๑๙๑ – ๒๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240