แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
ครั้งที่ ๑๙๙
ถ. ผมได้ฟังคำบรรยายเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ณ สำนักเรียนแห่งหนึ่ง ผู้ฟังถามว่า เวลารับประทานอาหารจะรู้อะไร ท่านผู้บรรยายก็ตอบว่า จะรู้เคี้ยวก็ได้ หรือจะรู้รสก็ได้ จะรู้กลิ่นก็ได้ ซึ่งผู้ถามก็ไม่ได้ถามต่อไปว่ารู้อย่างนั้น จะรู้ได้อย่างไร แต่หันไปถามอีกท่านหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่าเป็นอาจารย์ใหญ่ว่ามีความเห็นอย่างไร อาจารย์ใหญ่ก็กล่าวว่า นอกจากจะรู้อย่างนี้แล้ว จะรู้อย่างอื่นอีกก็ได้ จะรู้ว่าอาหารนี้เป็นเรื่องของปฏิกูลก็ได้ อะไรก็ได้ ท่านก็อธิบายไป เมื่ออธิบายไปมากๆ เข้า ก็กลับบอกว่า การรู้หลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่างเช่นนั้นเป็นบ้า ท่านว่าอย่างนั้น นี่เป็นคำพูดของท่าน คล้ายๆ กับว่าจะต้องรู้อารมณ์เดียว
อาจารย์อีกท่านหนึ่ง ฟังที่ท่านบรรยาย ท่านบอกว่า การปฏิบัติวิปัสสนานี้ จริงจังนักไม่ได้ ต้องยอมกิเลสบ้าง ถ้าขืนจริงจังจนเกินไปจะแย่ ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมการปฏิบัติวิปัสสนาก็เพื่อละคลายความยึดถือต่างๆ เพื่อละคลายกิเลสต่างๆ แต่ทำไมจะยอมกิเลส
เป็นเรื่องที่ผู้ฟังทั้งหลายต้องพิจารณาเองว่า ที่ท่านอาจารย์สุจินต์บรรยายนี้ กับที่ท่านอื่นบรรยายนั้น เปรียบเทียบกันแล้ว สิ่งใดเป็นการเหมาะสม และสิ่งใดไม่เป็นการเหมาะสม ผมเพียงแต่นำสิ่งที่ได้ยินได้ฟังมาเล่าเท่านั้นเอง
สุ. เป็นข้อคิดสำหรับผู้สนใจในการเจริญปัญญา เจริญอย่างไร หนทางใดที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดสภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน
อย่างเรื่องการเห็น จะให้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร เป็นไปได้หรือเปล่า ผิดปกติ หรือว่าเป็นความจริง จะมีชีวิตอยู่ได้ไหม ใครมีชีวิตอยู่ได้โดยที่เพียงแต่เห็นแล้วไม่รู้เลยว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ไม่รู้ว่าเป็นเสื้อผ้า ไม่รู้ว่าเป็นอาหาร ไม่รู้ว่าเป็นเครื่องใช้ ไม่รู้ว่าเป็นถนนหนทาง ไม่รู้อะไรเลย ใครมีชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้บ้าง เมื่อไม่มี ก็ผิดความจริงแล้ว
เพราะฉะนั้น การที่ปัญญาจะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงรู้อย่างนั้นไม่ได้ แต่ว่าผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ปัญญาเจริญขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่ต่างกัน นามธรรมทางตา ขณะที่ระลึกรู้ว่ากำลังเห็นเป็นแต่เพียงสภาพรู้ทางตาเท่านั้น ไม่เหมือนกับเวลาที่ได้ยิน เป็นสภาพรู้ทางหู สภาพรู้มีทั้งทางตา มีทั้งทางหู มีทั้งทางจมูก มีทั้งทางลิ้น มีทั้งทางกาย และมีทั้งทางใจด้วย เมื่อมีการเห็นซึ่งเป็นสภาพที่รู้สีทางตาแล้ว ทางใจก็ยังรู้ว่าสิ่งที่เห็นนี้เป็นอะไร เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐาน การเจริญปัญญา ก็รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงตามปกติ ไม่ใช่ว่า ให้ท่านที่จะเจริญปัญญา เจริญวิปัสสนาไปทำผิดปกติ ซึ่งถ้าเป็นโดยลักษณะนั้นแล้ว ไม่ใช่ปัญญาแน่นอน
และที่กล่าวว่า ถ้ารู้มากเป็นบ้า ท่านผู้ฟังเคยพบพยัญชนะนี้ในพระไตรปิฎกส่วนใดบ้างไหม ไม่ว่าจะเป็นในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก หรือว่าพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม ที่ว่าถ้ารู้มากแล้วจะเป็นบ้า ในพระไตรปิฎกมีปัญญามากมายหลายอย่าง การที่ได้รู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงนั้น ไม่ว่าปัญญานั้นจะรู้มาก จะรู้ลึกซึ้ง จะรู้ละเอียด มีแต่คุณประโยชน์ ไม่มีโทษเลย ที่ท่านคิดท่านเข้าใจว่าท่านรู้ ที่ท่านคิดท่านเข้าใจว่าเป็นปัญญา แต่พอรู้มากแล้วเป็นบ้า สิ่งที่ท่านคิด หรือที่เชื่อว่าเป็นปัญญานั้น ไม่ใช่ปัญญา
พระ การเจริญสติปัฏฐานนั้น อาตมาคิดว่า ในขณะที่ท่านนั่งอยู่ ท่านก็สามารถเจริญได้ทวารทั้ง ๖ เลย ตั้งแต่ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ขอให้ที่ประชุมนี้ทราบว่า เวลาที่ท่านนั่งอยู่ทางบ้าน หรืออยู่ที่ไหน ท่านก็เจริญได้ อาตมามีความเห็นว่าอย่างนี้
สุ. ดิฉันขอกราบนมัสการที่ท่านรับฟัง และได้พิจารณาธรรม เห็นว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่มีจริง และสามารถพิสูจน์ธรรมนั้นได้ด้วยตัวของพระคุณเจ้าเอง
เรื่องของ "ทาน" ที่จะช่วยให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจสภาพจิตใจของท่าน ชีวิตจริงๆ ของท่าน และการเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ถ้าท่านไม่คิดถึงธรรมในแง่ต่างๆ อย่างละเอียด ท่านก็จะไปเพ่งเล็งแต่เฉพาะสติเท่านั้นที่เกิดน้อยแล้วก็ยากที่จะเกิด แต่ถ้าท่านได้ฟังธรรมทั้งหมดที่เป็นฝ่ายกุศล แม้แต่ในเรื่องของทาน ขอให้คิดดูว่า ถึงแม้จะไม่ใช่สติปัฏฐาน เพียงแต่เป็นทาน การให้วัตถุที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น วันหนึ่งๆ เกิดน้อยหรือเกิดมาก เกิดยากหรือว่าเกิดง่าย แม้แต่ทานซึ่งเป็นวัตถุภายนอกที่ท่านมี และในวันหนึ่งๆ ขอให้คิดดู มีสิ่งที่ท่านสามารถจะสละเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นได้ แต่แม้กระนั้นการให้ทานของท่านมากหรือน้อย เพียงแต่กุศลขั้นทานเท่านั้นยังไม่ใช่ สติปัฏฐาน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดได้ แต่ให้หรือเปล่า เพราะอะไร
ก็เป็นชีวิตปกติจริงๆ
อกุศลธรรมทั้งหมดจะต้องละ จะต้องดับให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ไม่ว่าจะเป็นความตระหนี่ ความหวงแหน ความริษยา ความมานะถือตนต่างๆ ก็เป็นอกุศลธรรมที่จะต้องละทั้งนั้น ซึ่งท่านไม่ทราบว่า ภายในจิตใจของท่านมีอกุศลธรรมหนาแน่นมากมายสักเท่าไร แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ท่านจะรู้จักตัวของท่านเอง และรู้ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นต้องเจริญกันนานสักเท่าไร ต้องขัดเกลาความไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมอย่างละเอียดเพียงไร
แม้ในขณะที่ให้ทาน ถ้าขณะนั้นสติไม่เกิดไม่ระลึกรู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมฝ่ายดีชนิดหนึ่งไม่ใช่ตัวตน ถึงท่านจะให้ทานสักเท่าไรๆ ก็ไม่สามารถที่จะดับภพชาติ หรือละคลายกิเลสที่ได้สะสมมามากนั้นให้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉทได้
และในขณะที่ไม่ให้ สติก็ไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมอย่างละเอียด รู้ลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏถูกต้องจริงๆ จึงจะสามารถคลายการที่เคยยึดถือสภาพของนามธรรมและรูปธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้
แต่ถ้าท่านไม่ได้เจริญอบรมอินทรีย์บารมีมาอย่างมากแล้ว กุศลทุกประเภทเกิดยาก แม้แต่ทาน เพียงขั้นทาน ก็เกิดยาก
ข้อความใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มัจฉริยสูตรที่ ๒ แสดงให้เห็นว่า กุศลนั้นเกิดยาก ไม่ใช่แต่เพียงสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นที่เกิดยาก แม้แต่ทาน การสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่นนั้นก็ยังยาก ดังนี้
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่าน อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดา สตุลลปกายิกามากด้วยกัน มีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เทวดาผู้หนึ่ง ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
เพราะความตระหนี่ และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้ทานไม่ได้ บุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้
ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า
ข้อว่า เพราะความตระหนี่ และเพราะความประมาท คือ เพราะความตระหนี่ อันมีความหวงสมบัติของตนเป็นลักษณะ และเพราะความประมาทมีการอยู่ปราศจากสติเป็นลักษณะ
สติเป็นคุณธรรม กระทำให้กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปในทานบ้าง ในศีลบ้าง ในสมถภาวนา และในการเจริญสติปัฏฐานบ้าง เพราะฉะนั้น การที่สติไม่ระลึกเป็นไปในทาน จึงทำให้ไม่มีการให้ทาน
ข้อความต่อไปในสารัตถปกาสินีมีว่า
ก็คนบางคนไม่ให้ทานด้วยความตระหนี่ว่า เมื่อเราให้ สมบัตินี้ก็จะถึงความสิ้นไป จักไม่มีแก่เรา หรือแก่เหล่าชนในบ้าน
คิดอย่างนี้หรือเปล่า เป็นของธรรมดาเหลือเกิน ยิ่งชีวิตของฆราวาสไม่สามารถที่จะให้ทุกสิ่งทุกอย่างไปได้หมด แต่ว่ามีการให้เพียงบางโอกาส เพียงบางกาละเท่านั้น เพราะเหตุว่าสำหรับท่านที่สะสมอุปนิสัยในทาน การให้ ท่านก็สะดวก ท่านก็ประพฤติสม่ำเสมอในการให้ ท่านสละวัตถุเพียงเล็กน้อยเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น ผู้อื่นก็ยังจะได้มีโอกาสที่จะได้รับความสุขแม้เพียงเล็กน้อยจากวัตถุเล็กน้อยที่ท่านสละ
ขอให้ท่านสังเกตดูบุคคลในโลกนี้ ต่างสะสมอุปนิสัยปัจจัยมาต่างๆ กัน บางท่านเป็นผู้ที่มีอุปนิสัยสะดวกในการให้ทาน ประพฤติได้เป็นปกติเป็นประจำ แต่สำหรับบางท่าน แสนยาก ถึงมีก็ไม่ให้ ถึงมีมากทีเดียวก็ยังให้ไม่ได้ เคยสังเกตไหมว่า มีท่านที่เป็นอย่างนี้
"มัจฉริยะ" เป็นอกุศลธรรม เป็นความตระหนี่ เก็บสะสมพอกพูนความตระหนี่ซึ่งเป็นอกุศลธรรมไว้ เพราะฉะนั้น คนที่ไม่ให้เพราะความตระหนี่ย่อมคิดว่า เมื่อเราให้สมบัตินี้ก็จะถึงความสิ้นไป จักไม่มีแก่เรา หรือแก่เหล่าชนในบ้าน
สำหรับความประมาทนั้น ใน สารัตถปกาสินี อธิบายว่า
คนบางคน แม้ความคิดว่าพึงให้ทาน ก็ไม่ให้เกิดขึ้น เพราะมัวเพลินในการเล่นเป็นต้น
เพลินมาก ขณะที่ไม่ได้ระลึกเป็นไปในกุศล ไม่ได้เป็นไปในทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล ไม่ได้เป็นไปในภาวนา
และเพลินอย่างไรในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ
มีใครบ้างไหมที่ไม่เพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่มัวเพลินในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ย่อมไม่มีแม้ความคิดว่าพึงให้ทาน หรือว่าจะให้ทาน ก็กำลังเพลินอยู่ตลอดเวลา คิดไป เพลิดเพลินไปอีก คิดถึงเรื่องทางตา ก็เพลิดเพลินไปในเรื่องของทางตา คิดไปในเรื่องของทางหู ก็เพลิดเพลินไปในเรื่องของทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีแม้ความคิดที่จะเกิดขึ้นว่า จะให้ทาน
ส่วนข้อความที่ว่า ทานเป็นสิ่งที่ผู้รู้พึงให้ มีคำอธิบายว่า คือ เมื่อรู้อยู่ว่า ทานมีผล ก็พึงให้ทานโดยแท้
ข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
คนตระหนี่กลัวภัยใด ย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแล ย่อมมีแก่คนตระหนี่ ผู้ไม่ให้ทาน
คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้น ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้นนั่นแล ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฉะนั้น
เรื่องของจิต มีทั้งจิตที่เป็นเหตุที่ทำให้เกิดวิบาก คือ จิตที่เป็นผล เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นจิตที่ดีงามก็ย่อมให้ผล คือ วิบากจิตที่ดี ถ้าเป็นจิตที่ไม่ดี เป็นอกุศลจิต ก็ย่อมทำให้เกิดอกุศลวิบากจิต เป็นผลที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มีจิตใจตระหนี่ ไม่ยอมที่จะสละให้คนอื่นได้รับประโยชน์สุขจากวัตถุที่ตนมี ผลคือ ความหิวและความกระหายนั้น ก็ย่อมถูกต้องผู้ที่ตระหนี่ ผู้ที่ไม่ให้ทานนั่นเอง
ถ้าจิตเป็นกุศลก็เป็นปัจจัยให้กุศลวิบากเกิดขึ้น รับผลของกุศลกรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลจิต เป็นผลของอกุศลกรรม อกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับผลทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายเหมือนกัน
ทุกท่านคงจะสังเกตว่า ท่านรับผลของกรรมทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง บางทีตัวท่านเองไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่มีเรื่องที่จะต้องทำให้ท่านลำบาก โดยที่ไม่ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเลย ความลำบาก ความไม่แช่มชื่น การรับผลของอกุศลกรรม จะเป็นทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ จะมากหรือจะน้อยนั้นก็ย่อมแล้วแต่เหตุ แต่ถ้าท่านเป็นคนที่ตระหนี่มาก ผลก็คือว่า ความหิวและความกระหายนั้น ย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้นนั่นแล
สำหรับข้อที่ว่า
ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า ฉะนั้น
ที่ว่าเป็นพาลนั้น ก็เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่สะสมความตระหนี่ สะสมอกุศลธรรม สะสมความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในวัตถุ ในโภคทรัพย์ ถ้าในปัจจุบันชาติท่านสะสมอกุศลธรรม สะสมความตระหนี่ไว้มาก ชาติหน้าจะตระหนี่น้อยลงได้ไหม เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น การสละ การละ ก็ยากขึ้นด้วย
เทวดาผู้นั้นกล่าวต่อไปว่า
บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ ให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
คงจะมีท่านผู้ฟังที่มีญาติมิตรสหายที่สะสมทรัพย์สมบัติไว้มาก และสิ้นชีวิตลงโดยไม่ได้ใช้ทรัพย์สมบัตินั้น เมื่อไม่ได้ให้ทรัพย์สมบัติ เมื่อไม่ได้ให้ทานในโลกนี้ ในโลกหน้าก็เอาทรัพย์สมบัติไปไม่ได้ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่ขัดเกลาจิตใจ ละความตระหนี่ ท่านก็ได้สะสมบุญ คือ การขัดเกลาจิตใจให้เบาบางจากอกุศลธรรม ติดตามไปในโลกหน้าได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๑๙๑ – ๒๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240