แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
ครั้งที่ ๑๘๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถูกแล้ว ถูกแล้ว อานนท์ จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร
บุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว งดเว้นจากปาณาติบาท จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัยได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และ คิลานะปัจจยเภสัชบริขาร
บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหว ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร
บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร
ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิก มี ๑๔ อย่าง (ปาฏิปุคคลิก คือ การให้โดยเจาะจง) ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิก มี ๑๔ อย่าง คือ
ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑
ให้ทานในพระปัจเจกสัมมาสัมพุทธะ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๒
ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๓
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๔
ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๕
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๖
ให้ทานแก่พระสกทาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๗
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๘
ให้ทานแก่พระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๙
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสตาปฏิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๐
ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๑
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๒
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๓
ให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๑๔
สำหรับการที่จะถวายทานแก่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะได้ถวายโดยตรงต่อพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นปาฏิบุคคลิกประการที่ ๑ ในปัจจุบันชาตินี้ ไม่มี สำหรับการที่ท่านจะถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นทักษิณาปาฏิบุคคลิกประการที่ ๒ ในปัจจุบันชาตินี้พอจะมีไหม เพราะเหตุว่ายังเป็นสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ ต่อเมื่อใดที่พระธรรมวินัยอันตรธานแล้ว และได้มีผู้ที่บำเพ็ญบารมีมาแล้วในอดีต สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ด้วยตนเองเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งสมัยของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ไม่ใช่ว่าจะมีได้เพียงพระองค์เดียวอย่างสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้านั้นมีหลายพระองค์ แต่ถ้าท่านผู้ใดได้เกิดในสมัยนั้น และเจาะจงถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า นั่นก็เป็นปาฏิบุคคลิกทานประการที่ ๒
ประการที่ ๓ คือ ให้ทานในสาวกของพระตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาทานปาฏิปุคคลิก ประการที่ ๓ ในสมัยนี้ ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และไม่ใช่สมัยของพระปัจเจกพุทธเจ้า แต่เป็นสมัยของพระสาวกของพระพุทธเจ้า ซึ่งประการที่ ๓ เป็นการเจาะจงถวายทานแก่พระอรหันต์
ประการที่ ๔ ให้ทานในผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง
ประการต่อไป คือ ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคคลิกทานประการที่ ๕
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคคลิกทานประการที่ ๖
ต่อไปเป็นเรื่องของพระสกทาคามี พระโสดาบัน จนกระทั่งถึงให้ทานในบุคคลผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสตาปัตติผลให้แจ้ง
สำหรับการให้ทานโดยเจาะจงนั้น ไม่จำเพาะแต่เฉพาะผู้ที่เจริญธรรมเพื่อการรู้แจ้งเป็นพระอริยบุคคล แต่แม้การให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม ได้แก่พวกสมณพราหมณ์ หรือบรรพชิตในศาสนาอื่น ก็เป็นทักษิณาปาฏิบุคคลิกประการที่ ๑๑
นอกจากนั้น มีการให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล หรือให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล ก็เป็นการให้เจาะจง ให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน นี้เป็นทักษิณาปาฏิบุคคลิกทานประการที่ ๑๔
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร อานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น บุคคลให้ทานในสัตว์เดรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐ เท่า ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้ ๑,๐๐๐ เท่า ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้ ๑๐๐,๐๐๐ เท่า ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสตาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผลทักษิณาจนนับไม่ได้ จนประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปใยในพระโสดาบัน ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในพระปัจเจกสัมพุทธะ และในตถาคต พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ มี ๗ อย่าง คือ
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๑
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๒
ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๓
ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๔
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีมีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๕
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๖
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๗
เผดียงสงฆ์ คือ แจ้ง หรือนิมนต์
ถ. ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป เข้าใจว่าสังฆทานนั้น หมายความถึงถวายแก่สงฆ์จำนวนหลายรูป เพราะฉะนั้น รูปเดียวจะเป็นสังฆทานไหม
สุ. ข้อความใน ปปัญจสูทนี อธิบายว่า คำว่า ภิกษุสงฆ์ ไม่กำหนดจำนวน
ในพระไตรปิฎก แม้แต่เพียงภิกษุรูปเดียว ถ้าไม่เจาะจงแล้ว ก็เป็นการถวายแก่สงฆ์ เพราะเหตุว่าถ้าพูดถึงปาฏิบุคคลิกทาน จะเป็นรูปเดียวหรือหลายๆ รูปก็ตาม ก็เป็นการเจาะจงทั้งสิ้น แต่เมื่อไม่มีการเจาะจงว่า จะต้องเป็นภิกษุรูปนั้นหรือรูปนี้ มีจิตมุ่งตรงต่อการถวายแก่สงฆ์ เพราะฉะนั้น คำว่า ภิกษุสงฆ์ ไม่กำหนดจำนวน
ท่านผู้ฟังมีโอกาสถวายสังฆทานกันบ้างหรือเปล่า อย่างการใส่บาตรตอนเช้า เวลาที่พระท่านบิณฑบาต จะเป็นสังฆทานหรือไม่ ยังมีข้อปลีกย่อยอีกต่อไปด้วย แต่ถ้าไม่ทราบความมุ่งหมายของคำว่า “สังฆทาน” แม้ขณะนั้นไม่เป็นสังฆทานก็ได้ ด้วยเหตุนี้ การที่ท่านผู้ใดได้ถวายอาหารบิณฑบาตเป็นประจำอยู่แล้ว ถ้าไม่ศึกษาจะไม่ทราบเลยว่า การถวายอาหารบิณฑบาตของท่านนั้นเป็นสังฆทานหรือไม่ใช่สังฆทาน
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันที่คอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น
ดูกร อานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิบุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ โดยปริยายไรๆ เลย
ทรงแสดงไว้ว่า การถวายทานแก่สงฆ์มีผลมากกว่าปาฏิบุคคลิกทาน ถึงแม้ว่าในกาลอนาคตจะมีแต่ภิกษุโคตรภู สำหรับผู้ที่เป็นภิกษุโคตรภูนั้น ก็เป็นผู้ที่มีผ้ากาสาวะพันที่คอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก
ที่ว่าเป็น โคตรภูภิกขุ เพราะเหตุว่าเพียงแต่มีชื่อว่าเป็นสมณะเท่านั้น เหลือแต่ชื่อ คือ โคตรเท่านั้นเองว่าเป็นภิกษุ แต่ความจริงเป็นผู้ที่ทุศีล มีครอบครัว ประกอบการงานอาชีพได้ และเครื่องหมายที่ยังเหลืออยู่ ที่แสดงว่า ชื่อว่าเป็นภิกษุนั้น ก็โดยที่มีเพียงผ้ากาสาวะพันคอ
สำหรับผ้ากาสาวะนั้น ก็เป็นผ้าย้อมน้ำฝาด ซึ่งสีก็แล้วแต่น้ำที่ย้อมว่ามาจากพืชชนิดใด สำหรับการย้อมน้ำฝาดนั้นก็มีประโยชน์ คือ รักษาเนื้อผ้าให้ทนและกำจัดกลิ่นด้วย ได้ทราบว่าสำหรับพระภิกษุในประเทศไทยนั้นนิยมใช้แก่นขนุน ซึ่งก็คงจะเป็นในสมัยก่อน
เพราะฉะนั้น ข้อความสำคัญอยู่ที่ว่า ถึงแม้ว่าในอนาคตกาลจักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภูซึ่งเป็นผู้ที่ทุศีล มีธรรมลามก แต่คนทั้งหลายก็จักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ แม้ในเวลานั้น เราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่เราไม่กล่าวปาฏิบุคคลิกทานว่า มีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ โดยปริยายไรๆ เลย
พอที่จะทราบความต่างกันไหมสำหรับจิตใจของท่านเองว่า เป็นปาฏิบุคคลิกทาน หรือว่าเป็นทักษิณาในสงฆ์ เป็นสังฆทาน
ตามความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น สังฆทานก็คล้ายๆ กับพิธีกรรมที่จะต้องประกอบให้ถูกต้อง มีสิ่งที่จะเป็นไทยธรรม ต้องอยู่ในลักษณะนั้นลักษณะนี้ และต้องกล่าวคำถวายสังฆทานด้วย ถ้าขาดไปสักสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่เป็นสังฆทาน
เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจความหมายของคำว่าสังฆทานให้ถูกต้อง ลืมเรื่องเก่าที่เคยเข้าใจผิด ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ขณะที่กำลังถวายนี้จิตมุ่งอะไร ถ้ามุ่งถวายบูชาแด่พระอริยสงฆ์ จึงจะเป็นสังฆทาน
ข้อความในอรรถกถามีอธิบายว่า
ทักษิณาในสงฆ์จะมีได้ ก็ด้วยความยำเกรงในสงฆ์ การยำเกรงในสงฆ์นั้นทำได้ยาก
ปปัญจสูทนี มีข้อความว่า
ผู้ใดมอบไทยทานไว้ว่า ข้าพเจ้าถวายทักษิณาที่วางไว้ในสงฆ์
หมายความว่า เป็นผู้ที่มีเจตนาที่จะถวายทักษิณาแด่สงฆ์ ไม่ใช่เจาะจงบุคคล แล้วก็ไปวัด กล่าวว่า ได้โปรดจัดพระเถระ เจาะจงสงฆ์สักหนึ่งรูป แต่กลับไปได้สามเฌร ก็เกิดความไม่พอใจว่า เราได้สามเฌร ทักษิณาของเขาก็ไม่ชื่อว่าเป็นไปในสงฆ์
ส่วนผู้ที่ได้พระเถระ แล้วโสมนัสว่า เราได้พระเถระผู้ใหญ่ก็ไม่ชื่อว่าทักษิณาเป็นไปในสงฆ์
ส่วนผู้ใดจะได้สามเฌร หรือภิกษุหนุ่มหรือแก่ โง่หรือฉลาดก็ตามจากสงฆ์แล้ว ไม่มีความเคลือบแคลงสงสัย สามารถทำความยำเกรงในสงฆ์ ด้วยตั้งใจว่า เราถวายแก่สงฆ์ ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่าเป็นไปในสงฆ์
ข้อความในอรรถกถามีว่า
ความว่าเศรษฐีผู้หนึ่งเป็นเจ้าของวิหาร ตั้งใจว่าจะถวายทักษิณาไปในสงฆ์ แล้วขอภิกษุรูปหนึ่ง เขาได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง ให้จัดที่นั่ง ปูอาสนะ ผูกเพดานเบื้องบน บูชาด้วยธูป ของหอม ล้างเท้า ถวายไทยทาน ด้วยจิตเคารพในสงฆ์ เหมือนทำการต้อนรับพระผู้มีพระภาค หลังจากฉันแล้ว ภิกษุรูปนั้นไปที่ประตูบ้าน บอกว่าขอจอบสักเล่มเพื่อนำไปแต่งวัด อุบาสกก็ให้จอบไป เอาเท้าเขี่ยให้ไป
พวกชาวบ้านก็กล่าวว่า
ลาภสักการะที่ท่านกระทำแล้วแก่ภิกษุรูปนั้นแต่เช้าตรู่ ไม่ต้องนำมาพูดกันล่ะ บัดนี้ แม้แต่เพียงอุปจาระ ความประพฤติ มารยาทหน่อยหนึ่งก็ไม่มี
อุบาสกนั้นจึงกล่าวว่า
ก็นั่นน่ะ เป็นความยำเกรงแก่สงฆ์ ที่ไม่ใช่แก่ภิกษุรูปนี้ ก็ใครย่อมชำระทักษิณาแก่สงฆ์ที่มีผ้ากาสาวะพันคอให้บริสุทธิ์ได้
อรรถกถาอธิบายว่า
คำว่า ถวายทานอุทิศสงฆ์ ในผู้ทุศีลทั้งหลายนั้นไม่ควรกล่าวว่า สงฆ์ผู้ทุศีล เพราะเหตุว่า สงฆ์ชื่อว่าทุศีล ไม่มี เพราะเหตุว่าหมายความถึงพระอริยเจ้า ผู้ทุศีลนั้นเป็นเพียงอุบาสกเท่านั้น
เพราะฉะนั้น ผู้จะถวายทาน ก็จะถวายทานด้วยตั้งเจตนาว่า ถวายอุทิศสงฆ์ในบุคคลผู้ทุศีล
สมัยนี้ยังถวายอุทิศสงฆ์ได้ไหม ถ้าเข้าใจแล้วก็ได้
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้ มี ๔ อย่าง ๔ อย่างเป็นไฉน
ดูกร อานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก
ทายก คือ ผู้ให้ ปฏิคาหก คือ ผู้รับ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร
ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
ท่านที่ให้ทานบริสุทธิ์ได้ใช่ไหม มีศีล หาทรัพย์มาโดยไม่ทุจริต และในขณะที่ให้ทานเจริญสติปัฏฐานได้ไหม เป็นผู้ที่มีศีลงาม มีธรรมงาม ไม่ควรหลงลืมสติ
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก อย่างไร
ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แลทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
ฝ่ายปฏิคาหกเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แม้กำลังเดินบิณฑบาต แม้กำลังรับ บิณฑบาต หรือแม้กำลังฉันบิณฑบาต แต่ฝ่ายทายกเป็นผู้มีธรรมลามก
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร
ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แลทักษิณาชื่อว่า ฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์
ประการต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร อานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร
ดูกร อานนท์ ในข้อนี้ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่า บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหก
ดูกร อานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้แล้ว
ไวยากรณภาษิต หมายความถึงภาษิตที่เป็นร้อยแก้ว ไม่ใช่คำประพันธ์ ไม่ใช่ร้อยกรอง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙ ตอนที่ ๑๘๑ – ๑๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240