แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
ครั้งที่ ๒๐๐
ข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ เหมือนพวกเดินทางไกลก็แบ่งของให้แก่พวกเดินทางร่วมกัน ชนทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน ชนพวกหนึ่งเมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งมีของมากก็ไม่ให้ ทักษิณาที่ให้แต่ของน้อย นับเสมอด้วยพัน
ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา มีข้อความอธิบายว่า
ข้อว่า ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ เหมือนพวกเดินทางไกลก็แบ่งของให้แก่พวกเดินทางร่วมกัน
ความว่า คนที่เดินทางร่วมกัน เดินทางไปสู่ทางอันไกลกันดาร คือ สังสาระอันกันดารร่วมกัน เมื่อไทยธรรมแม้มีน้อย ก็ทำการแบ่งปันให้
ยังไม่สิ้นสุดการเดินทาง เกิดมาร่วมโลกกันเหมือนกับผู้ที่เดินทางไกลร่วมกัน เพราะฉะนั้น ในโลก หรือในทางกันดารที่ลำบากนี้ ถ้ามีทางใดที่จะเกื้อกูลอุปการะกันได้ แม้มีของน้อยก็ควรที่จะแบ่งให้ เพื่ออุปการะเกื้อกูลสงเคราะห์กันให้ผ่านพ้นความทุกข์ ให้ถึงที่สุดของวัฏฏะสงสารได้ สังสารวัฏฏ์นั้นก็ยืดยาวมาก เพราะฉะนั้น ไม่ทราบว่าจะเดินทางกันไปอีกไกลสักเท่าไร ถ้าไม่เกื้อกูลอุปการะกัน ก็ไม่สามารถที่จะช่วยกันและกัน ผลัดกันให้ ผลัดกันรับ ไปจนกว่าจะถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์ได้
ข้อความใน อรรถกถา อธิบายต่อไปว่า
ข้อว่า ชนทั้งหลายเหล่านั้น คือ ชนที่มีของน้อยก็แบ่งให้ เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ก็ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย
ซึ่งข้อความในอรรถกถามีคำอธิบาย ซึ่งท่านผู้ฟังไม่ได้คิดหรือคิดไม่ถึงว่า ท่านจะอธิบายในลักษณะนี้ คำอธิบายมีว่า
เหมือนอย่างว่า คนตายแล้ว เมื่อข้าวและน้ำ เป็นต้น มากมายที่พวกญาตินำมาตั้งแวดล้อมไว้ คนตายนั้นก็จะลุกขึ้นมาทำการจำแนกไม่ได้ว่า อันนี้จงเป็นของผู้นี้ อันนี้จงเป็นของผู้นี้ ฉันใด คนผู้มีปกติไม่ให้ ก็ฉันนั้น
เพราะฉะนั้น โภคทรัพย์ของคนตายก็ดี ของคนผู้มักไม่ให้ก็ดี ชื่อว่า เป็นของ เสมอกัน ด้วยเหตุนั้น ผู้มีปกติให้จึงชื่อว่า ไม่ตาย ในเมื่อบุคคลเหล่าอื่นเห็นปานนั้น ตายกันแล้ว
ถ้าท่านมีทรัพย์มาก แต่ไม่ได้แจก ไม่ได้แบ่งให้ใคร ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เหมือนคนที่ตายแล้ว ญาติพี่น้องจะเอาทรัพย์สมบัติข้าวของไปแวดล้อมวางไว้ใกล้ชิดสักเท่าไร ก็ไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาจำแนกแจกให้ว่า ของนี้จงเป็นของท่านผู้นี้ ของนี้จงเป็นของท่านผู้นี้ได้
เพราะฉะนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ มีโภคสมบัติ มีทรัพย์สมบัติ แต่ไม่ได้แจก จำแนกให้กับใครเลย ก็ย่อมเหมือนคนตายที่ไม่สามารถแจก จำแนกทรัพย์สมบัติที่มีผู้เอามาวางแวดล้อมไว้ให้ได้
ข้อความต่อไปอธิบายว่า
ข้อว่า ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน
มีคำอธิบายว่า ชนพวกหนึ่งเมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งมีของมากก็ไม่ให้ ทักษิณาที่ให้แต่ของน้อย นับเสมอด้วยพัน
คงจะซาบซึ้งถึงการสละในขณะที่ท่านมีน้อยได้ว่า ท่านต้องคิดมาก การที่จะบริจาคให้ไปแต่ละครั้งๆ ถ้าท่านมีทรัพย์สมบัติน้อย ของที่จะให้มีน้อย ท่านต้องคิดแล้วคิดอีกว่าจะให้เท่าไร จะให้หรือจะไม่ให้ จะให้กับใคร หรือว่าจะให้มากหรือให้น้อยอย่างไร แต่ยังสามารถที่จะให้ได้ ไม่เหมือนผู้ที่มีมากแต่ก็ไม่ให้ เพราะฉะนั้นสำหรับผู้ที่แม้ของมีน้อยก็ให้ได้ ทักษิณาที่ให้แต่ของน้อยนั้น จึงมีค่านับเสมอด้วยพัน เพราะเหตุว่าเป็นของที่มีค่าจริงๆ สำหรับผู้ที่มีน้อย แต่ก็ยังสามารถที่จะสละการติด การยึดถือในทรัพย์สมบัตินั้นอย่างเหนียวแน่นได้ โดยการบริจาคให้ไป
สำหรับของมีน้อยนั้น ในอรรถกถาได้อธิบายว่า หมายความรวมถึงของนิดๆ หน่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุเล็กน้อยสักเท่าไร จะเป็นผัก จะเป็นของกระจุกกระจิกอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็ตาม ชื่อว่าเป็นของมีน้อยทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การให้นี้ควรจะทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นของเล็กน้อย ก็อย่าคิดว่าไม่ควรจะให้ ถ้าให้แล้วจะเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ก็ควรจะให้
ข้อความต่อไปในพระสูตรมีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวคาถาทั้งหลายนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ทาน พวกพาลชน เมื่อให้ ให้ได้ยาก กุศลธรรม พวกพาลชนเมื่อทำ ทำได้ยาก พวกอสัตบุรุษ ย่อมไม่ทำตามธรรมของสัตบุรุษ อันพวกอสัตบุรุษดำเนินตามได้แสนยาก เพราะฉะนั้น การไปจากโลกนี้ของพวกสัตบุรุษและของพวกอสัตบุรุษจึงต่างกัน พวกอสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก พวกสัตบุรุษย่อมเป็นผู้ดำเนินไปสู่สวรรค์
นี่เป็นทางที่ต่างกันตามเหตุ ถ้าในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นผู้ที่สะสม อกุศลธรรม ธรรมของสัตบุรุษแสนยาก แม้แต่การให้ก็ให้ยาก กุศลธรรมอื่นของสัตบุรุษที่สัตบุรุษอื่นทำได้ง่าย ผู้ที่เป็นอสัตบุรุษก็ทำได้ยาก เพราะฉะนั้น เมื่อชีวิตในโลกนี้ ดำเนินไปอย่างนี้ หนทางข้างหน้าซึ่งจะไปสู่ก็ต้องเป็นแนวเดียวกัน ถ้าเจริญอกุศลธรรม ก็ย่อมทำให้เกิดอกุศลวิบาก ถ้าเจริญอบรมกุศลธรรมมาก ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบาก
เพราะฉะนั้น หนทางของสัตบุรุษและอสัตบุรุษเมื่อไปจากโลกนี้จึงต่างกัน ไม่ ควรจะลืมว่า ต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน แล้ววันไหนก็ไม่ทราบด้วย แต่โดยมากทุกท่านหลงชีวิต แล้วก็ลืมเสียจริงๆ ว่า จะต้องสิ้นชีวิต ไม่ได้คิดถึงเลยว่า จะต้องจากโลกนี้ไป เดี๋ยวก็หลงไปตามรูปชั่วครู่หนึ่ง เดี๋ยวก็หลงไปตามเสียง ยังไม่ทันไรก็หลงไปตามกลิ่น หลงไปตามรส หลงไปตามโผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ลืมความจริงข้อนี้ คือไม่ลืมความจริงว่า จะต้องตาย และไม่ลืมความจริงว่า หลงชีวิตเสียเหลือเกิน ทั้งรูป ทั้งเสียง ทั้งกลิ่น ทั้งรส ทั้งโผฏฐัพพะ ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ท่านเจริญกุศลทุกประการ แม้ในทานด้วย ไม่ใช่ว่าท่านมุ่งที่จะเจริญวิปัสสนาโดยที่สะสมอกุศลไว้มาก ซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้หลงลืมสติ
ซึ่งข้อความต่อไปมีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีกได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต
เทวดาก็ช่างสงสัย ในเมื่อสิ่งที่พูดนั้นเป็นสุภาษิต เป็นคำพูดที่ถูกต้อง แต่แม้กระนั้นก็ยังสงสัย กราบทูลถามว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย ก็แต่พวกท่านจงฟังซึ่งคำของเราบ้าง
บุคคลแม้ใดย่อมประพฤติธรรม ประพฤติสะอาด เป็นผู้เลี้ยงภริยา และเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น
บุคคลอย่างนั้น คือ บุคคลที่ย่อมประพฤติธรรม มุ่งประโยชน์ที่การประพฤติธรรม ไม่ใช่ติดในสิ่งที่จะได้ซึ่งเป็นผลของทาน แต่ว่าจิตใจนั้นเต็มไปด้วยบาป เต็มไปด้วยอกุศล เต็มไปด้วยการเบียดเบียน แต่เพราะต้องการผลจึงบริจาคมากมาย เพื่อหวังจะได้
แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ทานนั้นของบุคคลผู้เบียดเบียน หรือว่าประพฤติไม่เป็นธรรมนั้น ไม่ถึงส่วนร้อยของผู้ที่ประพฤติธรรมและเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้
พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาเปรียบเทียบว่า เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น เพราะเหตุว่าจิตใจบริสุทธิ์ต่างกัน ระหว่างผู้ที่ให้เพราะต้องการผลเท่านั้นแต่ไม่ใช่เป็นผู้ประพฤติธรรม แต่ผู้ที่ประพฤติธรรมแม้มีของน้อยก็ให้ได้ ไม่ได้มุ่งหวังผล จึงเป็นผู้ที่ประพฤติธรรมด้วย
ข้อความต่อไปในพระสูตรนี้มีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้กล่าวกะพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
การบูชาอันไพบูลย์ใหญ่โตนี้ ย่อมไม่เข้าถึงส่วนแห่งทานที่บุคคลให้ด้วยการประพฤติธรรม เพราะเหตุอะไร เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุรุษอย่างนั้น (คือ ของบุรุษที่ประพฤติธรรม)
ในลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเทวดานั้น ด้วยพระคาถาว่า
บุคคลเหล่าหนึ่งตั้งอยู่ในกรรม ปราศจากความสงบ (คือ ปราศจากธรรม) โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศก แล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่า ทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา จึงย่อมไม่เข้าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ คือด้วยการประพฤติธรรม
เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น โดยนัยอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความประพฤติในทางธรรม เป็นผู้สงบ มีประโยชน์แก่ผู้อื่น เพราะเหตุว่าไม่ได้เบียดเบียนให้ผู้นั้นเดือดร้อน และสิ่งที่ให้ก็เป็นประโยชน์ แม้น้อย
ใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า
ข้อที่ว่า มหาทานของบุคคลเหล่านั้น คือ บุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปนะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของทานที่บุคคลให้ด้วยความประพฤติธรรม ก็เพราะว่าความบังเกิดขึ้นของทานนั้นไม่บริสุทธิ์ เพราะเหตุว่าเบียดเบียนบุคคลอื่น สัตว์อื่นให้เดือดร้อน ส่วนทานอื่นนอกนี้ชื่อว่า มีผลมาก ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะความบังเกิดขึ้นแห่งตนบริสุทธิ์อย่างนี้แล จึงตรัสคำเป็นต้นว่า เอวํ มุ่งที่เกิดของทานเป็นที่ตั้ง
ทานของผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์จึงจะมีผลมาก แต่ถ้าจิตใจไม่บริสุทธิ์แล้วให้ทาน ผลก็ต้องน้อยลง
อีกสูตรหนึ่ง ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สาธุสูตร ที่ ๓ ข้อความบางประการมีว่า
ในลำดับนั้นแล เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่ง ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธา ก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า ทานและการรบเสมอกัน
พวกวีรบุรุษแม้มีน้อย ย่อมชนะคนขลาดที่มากได้ ถ้าบุคคลเชื่ออยู่ ย่อมให้สิ่งของแม้น้อยได้ เพราะฉะนั้นแล ทายกนั้นย่อมเป็นผู้มีความสุขในโลกหน้า
ที่ว่า ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ก็เพราะเหตุว่าทานสามารถทำให้กำจัดหรือขจัดความตระหนี่ได้ ถ้ายังติด ยังผูกพันในวัตถุสิ่งของนั้น สละได้ไหม เพราะฉะนั้น ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ คือ สามารถที่จะขจัดความตระหนี่ได้ในขณะที่ให้ครั้งหนึ่งๆ
นอกจากนั้นข้อความที่ว่า แม้เมื่อของมีอยู่น้อย ทานก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ไม่จำเป็นต้องคิดหวังว่า วันหนึ่งจะให้ทานจำนวนมากมายใหญ่โต แม้แต่เพียงเล็กน้อยที่ให้เป็นประจำ ก็ยังสามารถที่จะขจัดความตระหนี่ หรือว่าความเกียจคร้านในการให้ เพราะเหตุว่าบางท่านก็มีกุศลจิตอยากจะให้ แต่รู้สึกลำบากที่จะให้ก็เลยไม่ให้ แต่ว่าขณะใดที่ให้ ขณะนั้นแม้ว่าจะเป็นของที่มีน้อยแต่ทานนั้นก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้
ข้อที่ว่า ทาน และการรบ เสมอกัน
บางทีคิดจะให้ เกิดความเสียดาย ให้ไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะเป็นฝ่ายวีรบุรุษ ซึ่งเป็นผู้ที่แม้ว่าจะมีน้อย แต่เพราะเป็นวีรบุรุษจึงสามารถที่จะชนะคนขลาด คือ อกุศลธรรม ความตระหนี่ที่มีมากได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ในลำดับนั้นแหละ เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานเป็นการดี อนึ่ง ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ อนึ่งทานที่ให้แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี
บุคคลใดเกิดมาย่อมให้ทานแก่ผู้มีธรรมอันได้แล้ว ผู้มีธรรมอันบรรลุแล้วด้วย ความหมั่นและความเพียร บุคคลนั้นล่วงพ้นนรกแห่งยมราช ย่อมเข้าถึงสภาพอันเป็นทิพย์
เรื่องของทานก็ประณีตขึ้น ละเอียดขึ้น แม้แต่การที่จะให้ก็ควรจะให้กับผู้ที่ถึง ธรรม หรือว่าบรรลุธรรมแล้ว
ข้อความใน สารัตถปกาสินี อธิบายว่า
ทาน การให้โภคทรัพย์อันได้แล้วโดยธรรมอันใดที่บุคคลให้แก่พระอริยบุคคลผู้ ได้ธรรมแล้ว การให้โภคทรัพย์นั้นนับว่าเป็นการยังประโยชน์ให้สำเร็จ ด้วยประการฉะนี้
ข้อความในพระไตรปิฎกต่อไปมีว่า
ในลำดับนั้นแหละ เทวดาอื่นอีก ได้เปล่งอุทานนี้ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ทานยังประโยชน์ให้สำเร็จได้แล แม้เมื่อของมีอยู่น้อย การให้ทานได้เป็นการดี ทานที่ให้แม้ด้วยศรัทธาก็ยังประโยชน์ให้สำเร็จได้ ทานที่ให้แก่บุคคลผู้มีธรรมอันได้แล้ว ยิ่งเป็นการดี
อนึ่ง ทานที่บุคคลเลือกให้ยิ่งเป็นการดี ทานที่เลือกให้ พระสุคตทรงสรรเสริญแล้ว บุคคลทั้งหลายผู้ควรแก่ทักษิณาย่อมมีอยู่ในโลก คือ หมู่สัตว์นี้ ทานทั้งหลายอันบุคคลให้แล้วในบุคคลทั้งหลายนั้น ย่อมมีผลมาก เหมือนพืชทั้งหลายที่บุคคลหว่านแล้วในนาดี
ข้อความใน สารัตถปกาสินี อรรถกถา อธิบายว่า
ข้อว่า วิเจยฺยทานํ คือ ทานที่วิจัยหรือพิจารณาแล้วจึงให้ ในคำนั้น การวิจัย คือ การพิจารณา คือ เลือก มี ๒ อย่าง คือ
การเลือกทักษิณาซึ่งเป็นของทำบุญ ๑ การเลือกทักขิไนย คือ บุคคลผู้รับ ๑
ในการเลือกให้ ๒ อย่างนั้น การที่บุคคลนำปัจจัยที่ลามกออกเสีย เลือกเอาปัจจัยที่ประณีตๆ แล้วให้ปัจจัยที่ประณีตๆ เหล่านั้น ชื่อว่า การเลือกทักษิณา
ข้อความต่อไป เรื่องการเลือกทักขิไนยบุคคล คือ บุคคลผู้รับ ใน สารัตถปกาสินีอรรถกถา อธิบายว่า
การละบุคคลผู้มีศีลวิบัติ ให้ทานแก่บรรพชิตในศาสนาผู้อุดมด้วยคุณ มีศีลเป็นต้น ชื่อว่า ทักขิไนยวิจัย
การเลือกให้มีได้ด้วยอาการทั้ง ๒ นี้ ก็พระผู้มีพระภาคตรัสการเลือกให้ทักษิณาด้วยคำนี้ว่า เหมือนพืชที่หว่านแล้วในนาดี ดังนี้
ประโยชน์จริงๆ ที่จะทำให้ดับภพชาติ หรือว่าดับทุกข์ทั้งปวงได้ ก็เพราะเหตุว่าผู้รับเป็นผู้ที่สามารถเกื้อกูลให้ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกได้
ใน ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ทานสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทาน ๒ อย่างนี้ คือ อามิสทาน ๑ ธัมมทาน ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาทาน ๒ อย่างนี้ ธัมมทานเป็นเลิศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ คือ การแจกจ่ายอามิส ๑ การแจกจ่ายธัมมะ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการแจกจ่าย ๒ อย่างนี้ การแจกจ่ายธัมมะเป็นเลิศ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ คือ การอนุเคราะห์ด้วยอามิส ๑ การอนุเคราะห์ด้วยธัมมะ ๑
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาการอนุเคราะห์ ๒ อย่างนี้ การอนุเคราะห์ด้วยธัมมะเป็นเลิศ
พระพุทธเจ้าทั้งหลายได้ตรัสทานใดว่า อย่างยิ่ง ยอดเยี่ยม พระผู้มีพระภาคได้ทรงสรรเสริญการแจกจ่ายทานใดว่า อย่างยิ่ง ยอดเยี่ยม วิญญูชนผู้มีจิตเลื่อมใสในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์ผู้เป็นเขตอันเลิศ รู้ชัดอยู่ซึ่งทาน และการแจกจ่ายทานนั้นๆ ใครจะไม่พึงบูชาในกาลอันควรเล่า ประโยชน์อย่างยิ่งนั้นของผู้แสดงและผู้ฟังทั้งสอง ผู้มีจิตเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด ประโยชน์อย่างยิ่งนั้นของผู้ไม่ประมาทแล้วในคำสั่งสอนของพระสุคต ย่อมหมดจด
ถ. คำว่า ธัมมทาน เข้าใจว่า คล้ายๆ กับจะเป็นทานที่มุ่งให้ผู้รับเมื่อฟังแล้วสามารถที่จะบรรลุมรรคบรรลุผลได้ แต่อย่างนี้จะเป็นธัมมทานได้หรือไม่ เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย แนะนำลูกหลานว่า อย่าทำอย่างนั้นอย่างนี้เพราะไม่ดี และแนะนำให้ทำแต่ความดี ความชั่วต่าง ๆ อย่าทำเลย จะเรียกว่า ธรรมทานด้วยหรือเปล่า
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๐ ตอนที่ ๑๙๑ – ๒๐๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240