แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202


    ครั้งที่ ๒๐๒


    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ เรามิได้สรรเสริญยัญไปทุกอย่าง แล้วก็มิได้ติเตียนยัญไปทุกอย่าง

    ดูกร พราหมณ์ ในยัญชนิดใดมีการฆ่าโค ฆ่าแพะ แกะ ฆ่าไก่ สุกร สัตว์ต่างชนิดถูกฆ่า เราไม่สรรเสริญยัญเห็นปานนี้ อันประกอบด้วยความริเริ่ม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตตมอนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือผู้บรรลุอรหัตตมรรคย่อมเกี่ยวข้องยัญเห็นปานนี้ อันปราศจากความริเริ่ม

    ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้สำรวมแล้ว ย่อมสรรเสริญยัญชนิดที่กระทำเป็นหมวด ไม่มีความริเริ่ม ควรโดยกาลเช่นนั้น ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ผู้ฉลาดต่อบุญ ผู้มีกิเลสเพียงดังว่าหลังคาอันเปิดแล้วในโลก ผู้ล่วงเลยตระกูลและคติไปแล้ว ย่อมสรรเสริญยัญชนิดนี้

    ถ้าบุคคลกระทำการบูชาในยัญ หรือในมตกทานตามสมควร มีจิตเลื่อมใสบูชาในเนื้อนาอันดี คือพรหมจารีบุคคลทั้งหลาย ยัญที่บุคคลบูชาดีแล้ว เซ่นสรวงดีแล้ว สมบูรณ์แล้ว อันบุคคลกระทำแล้วในทักขิเณยบุคคลทั้งหลาย ย่อมเป็นยัญไพบูลย์ และเทวดาย่อมเลื่อมใส บัณฑิตผู้มีเมธาเป็นผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บูชายัญอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันปราศจากความเบียดเบียน เป็นสุข

    ชี้ให้เห็นว่า ควรเป็นผู้ประพฤติธรรม แม้ในการให้ทาน ไม่ใช่เป็นผู้ที่กระทำทุจริต ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ฆ่าสัตว์บูชายัญจริงๆ แต่ตราบใดที่กระทำทุจริตกรรม ก็เหมือนกับการฆ่าสัตว์บูชายัญ เพราะว่าการทุจริตทั้งหมดย่อมทำให้บุคคลอื่นสัตว์อื่นเดือดร้อน

    พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ธรรมทั้งปวงจึงได้ทรงใช้พยัญชนะนี้ คือ คำว่ายัญ และ มิได้ทรงติเตียนยัญทุกอย่าง มิได้ทรงสรรเสริญยัญเสียทุกอย่างด้วย เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังกระทำยัญอะไรบ้างหรือเปล่า ไม่ใช่เฉพาะการฆ่าสัตว์เท่านั้นที่เป็นเรื่องยัญ

    ขุททกนิกาย จุฬนิทเทส ปุณณกมาณวกปัญหานิทเทส มีข้อความว่า

    ท่านปุณณกะทูลถามดังนี้ว่า

    ข้าพระองค์มีความประสงค์ด้วยปัญหา จึงมาเฝ้าพระองค์ผู้ไม่มีตัณหาเครื่องหวั่นไหว ผู้เห็นมูล ฤๅษี มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ เป็นอันมากในโลกนี้ อาศัยอะไรจึงพากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์เถิด

    ข้อความในพระไตรปิฎกอธิบายว่า

    ความว่า อาศัย คือ หวัง เยื่อใย เข้าไปใกล้ พัวพัน น้อมใจถึง ซึ่งอะไร จึงพากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย

    เทวดา คือ ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ เยื่อใย น้อมใจถึงของบุคคลแต่ละประเภท

    ท่านที่มีการให้ ไม่ได้พ้นไปจากการแสวงหายัญเลย เพราะเหตุว่าท่านหวัง เยื่อใย เข้าไปใกล้ พัวพัน น้อมใจถึง แล้วก็พากันแสวงหายัญให้แก่เทวดาทั้งหลาย

    ส่วนเทวดานั้น คืออย่างไร คือผู้ใด

    เทวดา คือ ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ เยื่อใย น้อมใจถึงของบุคคลแต่ละประเภท เช่น อาชีวกเป็นเทวดาของพวกอาชีวกสาวก นิครนถ์เป็นเทวดาของพวกนิครนถ์สาวก ชฏิลเป็นเทวดาของพวกชฏิลสาวก ปริพาชกเป็นเทวดาของพวกปริพาชกสาวก ดาบสเป็นเทวดาของพวกดาบสสาวก ช้างเป็นเทวดาของพวกประพฤติหัตถีพรต ม้าเป็นเทวดาของพวกประพฤติอัศวพรต โคเป็นเทวดาของพวกประพฤติโคพรต ท่านเลื่อมใส พัวพัน น้อมใจเข้าไปใกล้ในบุคคลใด บุคคลนั้นก็เป็นเทวดาของท่าน

    ข้อความต่อไปเป็นเรื่องของเทพประเภทอื่น ซึ่งเทพแต่ละจำพวกก็เป็นเทวดาของพวกที่หวัง เยื่อใย พัวพันอยู่ในเทพนั้น และในความประพฤติอย่างเทพแต่ละพวกนั้น

    ส่วนคำว่า แสวงหายัญ ยัญคืออะไร ในพระไตรปิฎกมีคำอธิบายว่า

    ไทยธรรม คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป ท่านเรียกว่า ยัญ ในอุทเทศว่า ยญฺญมกปฺปึสุ ปุถูธ โลเก

    คำอธิบายต่อไปมีว่า

    แม้ชนเหล่าใดย่อมแสวง เสาะหา สืบหายัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะเป็นต้นไปจนกระทั่งถึงเครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่า แสวงหายัญ

    แม้ชนเหล่าใดย่อมจัดแจงยัญ แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่า แสวงหายัญ

    แม้ชนเหล่าใดย่อมให้ ย่อมบูชา ย่อมบริจาคยัญ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป แม้ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าแสวงหายัญ

    ไม่ใช่เฉพาะคำสอนอื่นเท่านั้นที่มีเรื่องของการบูชายัญ แต่สัตว์โลกไม่ว่าจะเป็นลัทธิศาสนาใด พระผู้มีพระภาคทรงรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงของสัตว์โลกทั้งปวงที่ประพฤติเป็นไป เพราะฉะนั้น คำว่ายัญ ได้แก่ ไทยธรรมของที่จะให้ซึ่งแสวงหา ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหา สืบหา หรือว่าการจัดแจง หรือว่าการให้ ก็ย่อมชื่อว่า บุคคลต่างๆ เหล่านั้นย่อมแสวงหายัญ

    เพราะอะไร เพราะให้แล้วจะได้ คือ ถึงแม้ว่าจะบริจาคให้ไปแล้วก็จะได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้โผฏฐัพพะนั่นเอง เพราะฉะนั้น จึงยังคงเป็นผู้ที่แสวงหายัญอยู่ ถึงแม้มีการบริจาค ก็ไม่สามารถที่จะพ้นไปจากวัฏฏะ เพราะว่าเป็นผู้ที่ยังบูชายัญ ยังมีความต้องการ ยังมีความนิยม ยังมีความพัวพัน ยังมีความเข้าไปใกล้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และไม่ใช่ว่าจะบูชายัญกันแต่เฉพาะลัทธิอื่น เพราะคำว่ายัญนั้น คือ สิ่งที่นิยม สิ่งที่บูชา เมื่อนิยมในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ การบูชาก็เพื่อที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถึงแม้ว่าจะบูชาไฟ ต้องการอะไร ก็ต้องการรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    คำว่า เป็นอันมาก คือ ยัญเหล่านั้นก็มาก ผู้บูชายัญนั้นก็มาก หรือพระทักขิเนยยบุคคลนั้นก็มาก

    คำว่า ทักขิเนยยบุคคล ไม่ได้หมายความถึงผู้ที่เป็นพระอริยสาวก แต่หมายความถึงบุคคลผู้รับซึ่งเป็นบุคคลที่ผู้ให้มีความเลื่อมใส บุคคลนั้นจึงเป็น ทักขิเนยยบุคคลของผู้ให้

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ยัญเหล่านั้นมากอย่างไร ยัญเหล่านั้นมาก (คือ ไม่จำกัด) ตั้งแต่จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจย เภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป

    เป็นที่ต้องการทั้งนั้น ทั้งสำหรับให้ด้วย และสำหรับตนเองที่ต้องการด้วย

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ผู้บูชายัญนั้นมากอย่างไร (ผู้บูชายัญ คือ ผู้ที่นิยมยินดีในยัญ ในไทยธรรม ในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ดอกไม้ เครื่องลูบไล้ ของหอมต่างๆ )

    ผู้บูชายัญนั้นมาก คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คฤหัสถ์ บรรพชิต เทวดา และมนุษย์ ผู้บูชายัญนั้นมากอย่างนี้

    ไม่เว้นใครเลย เป็นผู้ที่บูชายัญทั้งนั้น

    ข้อความต่อไป

    หรือพระทักขิเนยยบุคคลนั้นมากอย่างไร (ผู้ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสของแต่ละบุคคลที่จะให้กระทำบูชายัญนั้น)

    พระทักขิเนยยบุคคลนั้นมาก คือ สมณะ พราหมณ์ ยาจก วณิพก สาวกหรือพระทักขิเนยยบุคคลนั้นมากอย่างนี้

    คำว่า ในโลกนี้ คือ ในมนุษย์โลก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่ามากในโลกนี้ แสวงหาแล้วซึ่งยัญ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ความว่า หวัง คือ หวังได้รูป หวังได้เสียง หวังได้กลิ่น หวังได้รส หวังได้โผฏฐัพพะ หวังได้บุตร หวังได้ภรรยา หวังได้ทรัพย์ หวังได้ยศ หวังได้ความเป็นใหญ่ หวังได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลพราหมณ์มหาศาล หวังได้อัตภาพในสกุลคฤหบดีมหาศาล หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกา หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นดาวดึงส์ หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นยามา หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นดุสิต หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้นนิมมานรดี หวังได้อัตภาพในเทวดาชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี

    หวัง คือ ปรารถนา ยินดี ประสงค์ รักใคร่ ชอบใจ ซึ่งการได้อัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าหวังโดยประการต่างๆ คือ หวังความเป็นอย่างนี้

    ข้อความต่อไปมีว่า

    อาศัยชรา อาศัยพยาธิ อาศัยมรณะ อาศัยโศกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ บุคคลพวกนั้นจึงแสวงหายัญในเทวดา

    เกิดมาแล้วต้องแก่ ลำบาก พยาธิป่วยไข้ได้เจ็บ ลำบาก มรณะก็ต้องตาย โศกะ โศกเศร้า ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ อุปายาสะ มีแต่เรื่องที่จะถูกเบียดเบียนให้เกิดความทุกข์ต่างๆ นานา เพราะฉะนั้น บุคคลพวกนั้นจึงแสวงหายัญในเทวดา

    ข้อความต่อไปมีว่า

    เพราะอาศัยคติ อาศัยอุปัตติ อาศัยปฏิสนธิ อาศัยภพ อาศัยสังสาระ อาศัยวัฏฏะ จึงแสวงหายัญในเทวดา ปรารถนา พัวพัน เข้าถึง ติดใจ น้อมใจไปแล้ว เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อาศัยชรา เป็นต้น จึงแสวงหายัญ

    ปุณณกพราหมณ์กราบทูลว่า

    มนุษย์ กษัตริย์ พราหมณ์ พวกใดพวกหนึ่งมีเป็นอันมากในโลกนี้ แสวงหาแล้วซึ่งยัญแก่เทวดาทั้งหลาย

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์ ผู้บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทแล้วในยัญ ได้ ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติและชราบ้างหรือ

    ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ของทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์

    ปุณณกพราหมณ์มีความสงสัยว่า ผู้ที่บูชายัญเหล่านั้นไม่ประมาทในทางยัญ ที่จะได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติและชรานั้นจะมีไหม ด้วยอาศัยการบูชายัญ ซึ่งท่านผู้ฟังก็เคยถามว่า เพียงการให้ทานอย่างเดียวเท่านั้นจะสามารถบรรลุถึงพระนิพพาน รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้หรือไม่

    พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

    ดูกร ปุณณกะ ชนทั้งหลายย่อมหวัง ย่อมชม (คือ ย่อมชอบ) ย่อมบูชา (คือ ย่อมให้) ย่อมสละ ย่อมบริจาค อาศัยลาภแล้ว ย่อมชอบกามทั้งหลาย เราย่อมกล่าวว่า ชนเหล่านั้นประกอบการบูชายัญ กำหนัดแล้วด้วยความกำหนัดในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ ถ้าตราบใดที่ยังพอใจในยัญอยู่

    นี่เป็นเรื่องความละเอียดของจิต ซึ่งถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบเลยว่า ยังเป็นผู้ที่ประกอบอยู่ในการบูชายัญ ในความนิยมในยัญ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในภพ ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง และเข้าใจพยัญชนะที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงได้ชัดเจนถูกต้องด้วย

    ข้อความต่อไป

    ชนทั้งหลายย่อมหวัง ย่อมชม ย่อมบูชานั้น มีความหมายว่า คำว่า ย่อมชม ความว่า ย่อมชมยัญบ้าง ย่อมชมผลบ้าง ย่อมชมทักขิเนยยบุคคลบ้าง

    นี่เป็นอกุศลที่ละเอียดขึ้น ถึงแม้ว่าท่านให้ทานแล้ว แต่แม้กระนั้นความกระหยิ่มลำพองทำให้ท่านชมยัญนั้นบ้าง ชมผลของยัญบ้าง และก็ชมทักขิเนยยบุคคลผู้รับยัญบ้าง ซึ่งถ้าไม่เจริญสติจะไม่ทราบว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลหรือว่าเป็นกุศล แต่พระธรรมจะขัดเกลายิ่งขึ้นแม้ในขณะที่ได้กระทำกุศลไปแล้ว แต่มีอกุศลเกิดขึ้น ก็ทรงชี้ให้เห็นว่า เป็นสิ่งที่จะต้องขัดเกลา

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ย่อมชมยัญอย่างไร

    ย่อมชม คือ ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของรัก เราให้ของเจริญใจ เราให้ของประณีต เราให้ของที่ควร เราเลือกให้ เราให้ของไม่มีโทษ เราให้เนืองๆ เมื่อกำลังให้ จิตก็เลื่อมใส ย่อมชมยัญอย่างนี้

    เป็นอกุศลหรือเปล่า ขณะที่กำลังเกิดปีติ ขณะที่ให้สิ่งที่ประณีต สิ่งที่ควร หรือว่าเลือกให้ ให้ของที่รัก ให้ของที่เจริญใจ ให้ของที่ไม่มีโทษ หรือว่าเป็นผู้ที่ให้เนืองๆ เป็นอกุศลจิตได้ไหม ได้ เราให้ของรัก ย่อมชม คือ ยกย่องพรรณนา สรรเสริญว่า เราให้ของรัก ให้แล้ว ปีติแล้ว ก็ยังบอกคนอื่นอีกว่า เราให้ของรัก เราให้ของประณีต เคยเป็นอย่างนี้ไหม สังเกตจิตหรือเปล่า เจริญสติหรือเปล่า ถ้าไม่เจริญสติ คิดว่าเป็นกุศลแล้วใช่ไหม

    ท่านให้ของที่ประณีต ท่านให้ของที่เจริญใจ ท่านให้ของที่ควร ทำให้เกิดปีติผ่องใสโสมนัสก็อย่างหนึ่ง แต่เวลาที่ท่านชม ยกย่อง พรรณนานั้น เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง เล่าให้คนอื่นฟัง ชมยัญนั้นเสียมากมายด้วยความภาคภูมิใจ เป็นจิตประเภทไหน ผู้ที่เจริญสติหยั่งถึงจิตซึ่งเป็นปัจจัยให้กล่าววาจาอย่างนั้น และก็รู้ว่า ขณะที่กล่าววาจาอย่างนั้น คำนั้นเกิดเพราะจิตชนิดใด สำหรับผู้ที่เจริญสติก็ทราบได้ และก็เข้าใจแม้ตนเองและบุคคลอื่นละเอียดขึ้น ซึ่งผู้ที่ไม่เจริญสติก็อาจจะชื่นชมโสมนัส ต่างคนก็ต่างพลอยชื่นชมดีใจ กุศลกับโสมนัสที่เป็นโลภะก็ผสมกันไป สลับกันไป แต่ว่าผู้ที่เจริญสติรู้สภาพของจิตที่ต่างกัน มีความละเอียดยิ่งขึ้น ก็ย่อมจะละอกุศลธรรมได้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่ชมยัญด้วยความภาคภูมิใจ เพียงแต่กล่าวถ้อยคำที่จะทำให้คนอื่นเกิดปีติอนุโมทนา ก็เป็นเรื่องที่ว่า ที่ถูกที่ควรนั้นควรจะเป็นอย่างไร เพราะสติระลึกได้และรู้ว่า อะไรเป็นสิ่งที่ควรเว้น ควรขัดเกลาให้ละเอียดยิ่งขึ้น

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ย่อมชมผลอย่างไร

    ย่อมชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า เพราะยัญนี้เป็นเหตุจักได้รูป จักได้เสียง จักได้กลิ่น จักได้รส จักได้โผฏฐัพพะ จักได้อัตภาพในสกุลกษัตริย์มหาศาล และอื่นๆ เป็นต้น จนกระทั่งถึงจักได้อัตภาพในเทวดาที่นับเนื่องในหมู่พรหม ย่อมชมผลอย่างนี้

    ไม่ได้พ้นไปจากความหวังในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ประณีตยิ่งขึ้นเลย ย้ายจากการชมยัญมาชมผลของยัญกันอีก อกุศลสลับกันกับกุศลไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าไม่เจริญสติก็ไม่ทราบว่า อกุศลแอบมาเมื่อไร ในลักษณะใด แม้ในเรื่องของการทำกุศล ถ้าไม่พิจารณาจิต ไม่รู้สภาพของจิตอย่างละเอียดจริงๆ ก็ไม่ทราบเลยว่า ในขณะนั้นได้มีอกุศลจิตประเภทละเอียดเกิดแทรกขึ้นแล้ว ถ้าไม่รู้อย่างนี้จะขัดเกลาไหม ก็ไม่ขัดเกลาเพราะไม่รู้ ก็ชื่นชมโสมนัส เป็นโลภะสลับกันไปอีกเรื่อยๆ

    ข้อความต่อไปอธิบายว่า

    ย่อมชมทักขิเนยยบุคคลอย่างไร

    ย่อมชม ยกย่อง พรรณนา สรรเสริญว่า พระทักขิเนยยบุคคลเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยชาติ ถึงพร้อมด้วยโคตร เป็นผู้ชำนาญมนต์ ทรงมนต์ เรียนจบไตรเภท เป็นผู้เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์ ชำนาญในคัมภีร์โลกายตนะ และตำราทำนายมหาบุรุษลักษณะ เป็นผู้ปราศจากราคะบ้าง ปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะบ้าง เป็นผู้ปราศจากโทสะบ้าง ปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะบ้าง เป็นผู้ปราศจากโมหะบ้าง ปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะบ้าง ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ย่อมชมทักขิเนยยบุคคลอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ย่อมหวัง ย่อมชม

    บางท่านไม่เข้าใจเรื่องข้อประพฤติปฏิบัติ เพียงเห็นก็กล่าวว่า ท่านผู้นี้หมดโลภะ ราคะ โทสะ โมหะแล้ว แต่ไม่ได้พูดถึงเหตุผลของพระธรรมหรือข้อปฏิบัติ เป็นการชมบุคคลที่ตนเห็นแต่อาการ กิริยาลักษณะ และก็คิดหรือเข้าใจว่า เป็นผู้ที่ไม่มีราคะ โทสะ โมหะบ้าง หรือว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติเพื่อละราคะ โทสะ โมหะบ้าง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564