แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
ครั้งที่ ๒๐๓
การชื่นชมในบุญกุศลเป็นสิ่งที่ถูก เป็นกุศลจิต แต่ถ้าเป็นการชมบุคคล ก็จะต้องพิจารณาว่าเป็นกุศลหรือว่าเป็นอกุศล เพื่อการขัดเกลายิ่งขึ้น แม้แต่คำธรรมดาที่ใช้กัน คือ คำว่า ยัญ บางท่านอาจปฏิเสธว่าท่านไม่ได้บูชายัญ แต่ตราบใดที่ท่านยังนิยม ยัญ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าท่านจะกระทำสิ่งใดๆ ก็ตาม ก็ยังไม่หมดการบูชายัญ ยังนิยมในยัญ
ข้อความต่อไป
ปุณณกพราหมณ์กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ถ้าชนเหล่านั้นประกอบในการบูชาด้วยยัญทั้งหลาย ไม่ข้ามพ้นชาติและชราไปได้ ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นดังนี้ ใครเล่าในเทวโลกและมนุษย์โลกได้ข้ามพ้นชาติและชรา
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น ขอพระองค์จงตรัสบอกปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์
ปุณณกพราหมณ์มีความสงสัยว่า เมื่อทุกคนบูชายัญอยู่ จะมีผู้ใดที่ข้ามพ้นชาติชราได้
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร ปุณณะ เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่ พระอรหันตขีณาสพใด เพราะทราบฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้นเป็นผู้สงบ ขจัดทุจริตเพียงดังควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามแล้วซึ่งชาติ และชรา ญาณ ปัญญา ความรู้ทั่ว ความไม่หลง ความเลือกเฟ้นธรรม สัมมาทิฏฐิ
ตรัสว่า "สังขา" ในอุทเทสว่า สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรปรานิ
ซึ่งคำอธิบาย สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรปรานิ มีว่า
คำว่า ปโรปรานิ ความว่า มนุษย์โลก ตรัสว่า ฝั่งนี้ เทวโลก ตรัสว่า ฝั่งโน้น กามธาตุ ตรัสว่า ฝั่งนี้ รูปธาตุและอรูปธาตุ ตรัสว่า ฝั่งโน้น กามธาตุ รูปธาตุ ตรัสว่า ฝั่งนี้ อรูปธาตุ ตรัสว่า ฝั่งโน้น
คำว่า สงฺขาย โลกสฺมึ ปโรปรานิ ความว่า เพราะทราบ คือ รู้ เทียบเคียง พิจารณาให้แจ่มแจ้ง ทำให้ปรากฏซึ่งฝั่งนี้และฝั่งโน้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร และอื่นๆ โดยไม่มีอุบายเครื่องสลัดออกได้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เพราะทราบฝั่งโน้นและฝั่งนี้ในโลก
นี่เป็นปัญญา เป็นญาณที่จะต้องรู้ ที่จะต้องเทียบเคียง ที่จะต้องพิจารณาให้แจ่มแจ้ง ที่จะต้องให้ปรากฏโดยความไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นโรคเป็นต้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร พราหมณ์ ท่านมีมานะเปรียบดังเครื่องหาบ มีความโกรธเปรียบเหมือนควัน มีการพูดเท็จเปรียบเหมือนเถ้า มีลิ้นเปรียบเหมือนทัพพี หฤทัยของสัตว์ทั้งหลายเปรียบเหมือนสถานที่บูชายัญของท่าน ตนที่ฝึกดีแล้ว เป็นกำเนิดของบุรุษ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอนจบของพระสูตรนี้ว่า
เราย่อมกล่าวว่า ความหวั่นไหวในโลกไหนๆ มิได้มีแก่พระอรหันตขีณาสพใด เพราะทราบฝั่งนี้และฝั่งโน้นในโลก พระอรหันตขีณาสพนั้นเป็นผู้สงบ กำจัดกิเลสเพียงดังควัน ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง ได้ข้ามพ้นแล้วซึ่งชาติและชรา
พร้อมด้วยเวลาจบคาถา ท่านพระปุณณกะบรรลุธรรมจักษุ เป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา นั่งประนมอัญชลี นมัสการพระผู้มีพระภาค ประกาศว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก ฉะนี้แล
ข้อความเรื่องยัญ แต่ว่าผู้ฟังบรรลุธรรมเป็นพระอริยสาวกในขณะที่จบพระ ธรรมเทศนา เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ว่าเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นเป็นประโยชน์เกื้อกูลที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้เข้าใจความละเอียดของสภาพธรรม เพื่อสติจะได้ระลึกตรงลักษณะที่ปรากฏถูกต้องตามความเป็นจริง อกุศลธรรมก็เป็นอกุศลธรรม กุศลธรรมก็เป็นกุศลธรรม สภาพธรรมแต่ละอย่างนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติระลึกตรงลักษณะ รู้ชัดในสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นก็ปรากฏความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ก็จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตน
ถ. เรื่องกุศล อกุศลที่ในการให้ทาน ตามที่ท่านอาจารย์อธิบาย รู้สึกว่าละเอียดมากเหลือเกิน สมมติว่า มีท่านผู้ใดผู้หนึ่งมีเงินมาก มีจิตศรัทธามาก ไปสร้างพระเจดีย์สวยงาม และตนเองชื่นชมในพระเจดีย์นั้นเป็นอันมาก เกิดความปีติโสมนัส และในขณะนั้นจิตของท่านผู้นั้นก็น้อมไปว่า พระเจดีย์นี้จะเป็นที่เคารพบูชาของสาธุชนอื่นๆ ด้วย และท่านก็คิดว่า พวกเขาจะได้รู้ว่า เรานี้ได้ทำกุศลอย่างยิ่งชนิดนี้ขึ้นได้
สำหรับผู้ที่พบเห็นพระเจดีย์ที่สวยงามนั้น ก็ยกมือสาธุการว่า ขออนุโมทนาในกุศลของท่านผู้นั้นด้วย และกล่าวชื่อท่านผู้ที่สร้างพระเจดีย์นี้ขึ้นมา ก็แยกไม่ถูกว่าตรงไหนเป็นอกุศล ตรงไหนเป็นกุศลกันแน่
สุ. ผู้อื่นแยกให้ไม่ได้ ต้องผู้ที่เจริญสติเองจึงจะทราบว่า ในขณะนั้นจิตเป็นอกุศลหรือว่าจิตเป็นกุศล เพราะฉะนั้น แต่ละท่านซึ่งหนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมรู้จักบุคคลอื่นด้วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าจะบางเบา หรือจะหนัก จะมากกว่าบุคคลอื่น ในทางหนึ่งทางใดเท่านั้นเอง
เมื่อได้ฟังเรื่องของยัญแล้ว ท่านจะเห็นความยากของการเจริญสติปัฏฐาน ที่ว่ายาก เพราะว่ากิเลสนั้นเป็นเรื่องที่นานกว่าจะละได้
ขุททกนิกาย อปทาน สารีปุตตเถราปทาน ที่ ๓
ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า
เรานี้แสวงหาบทอันปัจจัยไม่ปรุงแต่ง ดับสนิท ไม่หวั่นไหว ค้นหาลัทธิทั้งปวงอยู่ ท่องเที่ยวไปแล้วในภพ คนเป็นไข้พึงแสวงหาโอสถ ต้องสั่งสมทรัพย์ไว้ทุกอย่าง เพื่อพ้นจากความป่วยไข้ ฉันใด เราก็ฉันนั้น
คนเป็นไข้ คือ คนที่มีกิเลส ที่จะดับกิเลสได้จะต้องสะสมเจริญกุศลทุกประการ ข้อความต่อไปที่แสดงให้เห็นว่า เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของกุศลนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องประพฤติปฏิบัติมาก นาน เพื่อที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉทจริงๆ
ขุททกนิกาย อปทาน อุปาลีเถราปทาน
ท่านพระอุบาลีได้กล่าวคาถา พรรณนาการบรรลุธรรมของท่าน มีข้อความบางตอนดังนี้
ประโยชน์ คือ ความสิ้นสังโยชน์ทั้งปวงนั้น ข้าพระองค์บรรลุแล้ว เปรียบเหมือนคนอันพระราชอาญาคุกคาม ถูกเสียบด้วยหลาว ไม่ได้ความสุข ที่หลาว ปรารถนาจะพ้นไปอย่างเดียว ฉันใด ข้าแต่พระมหาวีระเจ้า ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น อันอาญา คือ ภพคุกคามแล้ว ถูกเสียบด้วยหลาว คือ กรรม ถูกเวทนา คือ ความกระหายบีบคั้น ไม่ได้ความสุขในภพ ถูกไฟ ๓ กองแผดเผาอยู่ ย่อมแสวงหาอุบายเครื่องพ้น ดังคนแสวงหาอุบายเพื่อฆ่ายาพิษ พึงแสวงหายา เมื่อแสวงหาอยู่ พึงพบยาเครื่องฆ่ายาพิษ ดื่มยานั้นแล้ว พึงมีสุข เพราะพ้นจากพิษ ฉันใด
ข้าแต่พระมหาวีระเจ้า ข้าพระองค์ก็เหมือนคนอันยาพิษบีบคั้นฉันนั้น ถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว ก็พึงแสวงหายา คือ สัทธรรม เมื่อแสวงหายา คือ ธรรมอยู่ ได้พบศาสนาของพระองค์ผู้ศากยบุตรอันเป็นจริงอย่างเลิศ สุดยอดโอสถ เป็นเครื่องบรรเทาลูกศรทั้งปวง ข้าพระองค์ดื่มยา คือ ธรรมแล้ว ถอนยาพิษ คือ สังสารทุกข์ได้หมดแล้ว ข้าพระองค์ได้พบนิพพานอันไม่แก่ ไม่ตาย เป็นธรรมชาติเย็นสนิท
ข้อความต่อไปตอนหนึ่งมีว่า
เถาวัลย์ ชื่อ อาสาวดี เกิดในสวนจิตรลดา โดยล่วงไป ๑,๐๐๐ ปี จึงเผล็ดผลผลหนึ่ง เทวดาทั้งหลายได้ใช้สอยผลอาสาวดีนั้น ซึ่งมีผลคราวหนึ่งนานเพียงนั้น เถาวัลย์อาสาวดีนั้นมีผลอุดมเป็นที่รักของเทวดาทั้งหลายอย่างนี้ ข้าพระองค์อาศัยแสนปี จึงได้เที่ยวมาใกล้พระองค์ผู้เป็นมุนี ได้นมัสการทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า เหมือนเทวดาเชยชมผลอาสาวดีฉะนั้น การได้มาใกล้ ไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่เป็นโมฆะ
ข้อความต่อไปอีกตอนหนึ่งมีว่า
เมื่อเมฆร้องกระหึ่ม นกยางย่อมมีครรภ์ทุกเมื่อ ย่อมทรงครรภ์อยู่แม้นาน ตลอดเวลาที่สายฝนยังไม่ตก ย่อมพ้นจากการทรงครรภ์เมื่อเวลาที่สายฝนตก ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงประกาศกึกก้องด้วยเมฆ คือ ธรรม ได้ถือเอาครรภ์ คือ ธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆ คือ ธรรม ข้าพระองค์อาศัยแสนกัป ทรงครรภ์ คือ บุญอยู่ ยังไม่พ้นจากภาระ คือ สังสาระ ตลอดเวลาที่สายฝน คือ ธรรม ยังไม่ตก
ข้าแต่พระศากยมุนี เมื่อเวลาที่พระองค์ทรงประกาศกึกก้องด้วยสายฝน คือธรรม ในพระนครกบิลพัสด์อันรื่นรมย์ ข้าพระองค์จึงได้พ้นจากภาระ คือ สังสาระ ข้าพระองค์สะสาง คือ ชำระธรรม คือ สุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ อัปปณิหิตวิโมกข์ และผล ๔ ทั้งหมดแม้นั้นได้แล้ว
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นโทษของภพ เห็นว่า ภพ การเกิดเป็นเรื่องที่หนีกรรมไม่พ้น และกรรมในอดีตที่สะสมไว้มากมายจะให้ผลที่เผ็ดร้อนรุนแรงสักแค่ไหนก็ยังไม่ทราบ วันนี้ปกติสบายดี พรุ่งนี้อาจจะเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสปางว่าจะสิ้นชีวิต มีอะไรเป็นเครื่องประกันว่า จะไม่ได้รับผลของอกุศลกรรม นอกจากนั้นยังถูกเวทนา คือความกระหายบีบคั้น มีแต่ความปรารถนาเสียจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มากหรือน้อยก็ยังมีอยู่ เป็นเรื่องที่ดิ้นรน หรือว่าถูกความกระหายบีบคั้นด้วยเวทนาความต้องการ ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างๆ
นอกจากนั้นท่านพระอุบาลียังกล่าวว่า
ข้าพระองค์เหมือนคนอันยาพิษบีบคั้น ถูกอวิชชาบีบคั้นแล้ว
ไม่ทราบว่าท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านถูกอวิชชาบีบคั้นอยู่หรือเปล่า หรือท่านคิดว่า นั่งเมื่อยต้องเปลี่ยนเป็นเดิน ทุกข์เหลือเกิน เดินก็เมื่อย ต้องเปลี่ยนเป็นนอน ทุกข์เหลือเกิน ท่านคิดว่าถูกอิริยาบถบีบคั้น แต่ท่านพระอุบาลีกล่าวว่า ถูกอวิชชาบีบคั้น
แล้วข้อความที่ท่านพระอุบาลีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าพระองค์อาศัยแสนปีจึงได้เที่ยวมาใกล้พระองค์ผู้เป็นมุนี ได้นมัสการทั้งเวลาเย็น เวลาเช้า เหมือนเทวดาเชยชมผลอาสาวดี ฉะนั้น การได้มาใกล้ไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่เป็นโมฆะ
คาถาของท่านพระอุบาลีควรจะเป็นอนุสติได้ไหม การได้มาใกล้ ไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่เป็นโมฆะ ท่านได้มาใกล้พระพุทธศาสนาหรือเปล่า ไม่ใช่แต่เฉพาะท่านพระอุบาลี หรือพระสาวก หรือบุคคลในครั้งอดีตเท่านั้น แม้ทุกท่านที่ได้ฟังธรรมในขณะนี้ ท่านเป็นผู้ที่ได้มาใกล้พระธรรมหรือเปล่า และการได้มาใกล้ ได้มีโอกาสฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้แล้วโดยละเอียดนี้จะเป็นหมันไหม ถ้าไม่เข้าใจสภาพธรรม ไม่เจริญสติปัฏฐาน จะได้รับประโยชน์จากพระธรรมไหม ก็ไม่ได้รับ ท่านพระอุบาลีนั้นอาศัยแสนปีจึงได้เที่ยวมาใกล้พระองค์ผู้เป็นมุนี ได้นมัสการทั้งเวลาเย็นเวลาเช้า เหมือนเทวดาเชยชมผลอาสาวดี ฉะนั้น
การได้เข้ามาใกล้ของท่านพระอุบาลีนั้นไม่เป็นหมัน และการนมัสการไม่เป็นโมฆะ เพราะเหตุว่าท่านบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์ แต่สำหรับท่านผู้ฟังที่จะให้การ ได้มาใกล้พระศาสนาไม่เป็นหมัน ท่านจะต้องฟังธรรมด้วยการพิจารณา ด้วยความแยบคาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง และการนมัสการก็จะไม่เป็นโมฆะ
สำหรับข้อความที่ท่านพระอุบาลีกล่าวว่า
เมื่อเมฆร้องกระหึ่ม นกยางย่อมมีครรภ์ทุกเมื่อ ย่อมทรงครรภ์อยู่แม้นาน ตลอดเวลาที่สายฝนยังไม่ตก ย่อมพ้นจากการทรงครรภ์เมื่อเวลาที่สายฝนตก ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ทรงประกาศกึกก้องด้วยเมฆ คือ ธรรม ได้ถือเอาครรภ์ คือ ธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆ คือ ธรรม ข้าพระองค์อาศัยแสนกัป ทรงครรภ์ คือ บุญอยู่ ยังไม่พ้นจากภาระ คือ สังสาระ ตลอดเวลาที่สายฝน คือ ธรรม ยังไม่ตก
ข้าแต่พระศากยมุนี เมื่อเวลาที่พระองค์ทรงประกาศกึกก้องด้วยสายฝน คือธรรม ในพระนครกบิลพัสด์อันรื่นรมย์ ข้าพระองค์จึงได้พ้นจากภาระ คือ สังสาระ
ท่านพระอุบาลีอาศัยแสนกัปทรงครรภ์ คือ บุญอยู่ ตั้งแต่สมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าปทุมุตตระ ในสมัยพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าปทุมุตตระจะทรงแสดงอริยสัจธรรมและการเจริญสติปัฏฐานหรือเปล่า
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงบำเพ็ญพระบารมีเพื่อจะเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลกให้ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมตามพระองค์ เพราะฉะนั้น ในครั้งที่ท่านพระอุบาลีได้เข้าไปใกล้พระศาสนาเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าปทุมุตตระทรงประกาศกึกก้องด้วยเมฆ คือ ธรรม ได้ถือเอาครรภ์ คือ ธรรม ด้วยเสียงแห่งเมฆ คือ ธรรม ซึ่งเหมือนท่านผู้ฟังในขณะนี้หรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องที่จะท้อถอย เพราะแม้ว่าขณะนี้ยังไม่รู้สภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง แต่อาศัยการเจริญสติระลึกได้ และพิจารณา และค่อยๆ เพิ่มความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นี่เป็นหนทางที่จะทำให้เกิดความรู้จริง และสามารถประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ แต่ว่าวันไหน เมื่อไร ไม่ใช่จะไปเร่งรัดด้วยความไม่รู้ แต่จะต้องสะสมความรู้เพิ่มขึ้น
ขุททกนิกาย อปทาน ปัจเจกพุทธาปทาน ที่ ๒ มีข้อความว่า
พึงมีศีลบริสุทธิ์ มีปัญญาหมดจดดี มีจิตตั้งมั่น ประกอบความเพียร เจริญวิปัสสนา มีปกติเห็นธรรมพิเศษ พึงรู้แจ้งธรรมอันสัมปยุตต์ด้วยองค์มรรคและโพชฌงค์ นักปราชญ์เหล่าใดเจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า
การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้อง การเจริญเหตุที่สมควร ไม่ได้เป็นหมันเลย จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่าพระสมณโคดม หรือว่าจะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือว่าจะเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรย ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะกะเกณฑ์ได้ตามใจชอบ ย่อมแล้วแต่เหตุ ถ้าเหตุเป็นเหตุที่ถูกต้อง ท่านก็ได้รับผลตามกาลที่สมควร
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ได้ยินผู้หนึ่งกล่าวว่า จะต้องบรรลุเป็นพระโสดาบันให้ได้ในปัจจุบันชาตินี้
ไม่ทราบทำไมถึงจะคิดว่า การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบันบุคคลได้นั้น อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่าต้องได้ในชาตินี้
ข้อความใน ขุททกนิกาย ปัจเจกพุทธาปาทาน ที่ ๒ มีว่า
นักปราชญ์เหล่าใด เจริญสุญญตวิโมกข์ อนิมิตตวิโมกข์ และอัปปณิหิตตวิโมกข์ ไม่บรรลุความเป็นพระสาวกในศาสนาพระชินเจ้า นักปราชญ์เหล่านั้นย่อมเป็นพระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า
ซึ่งแม้ในครั้งพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ เมื่อครั้งที่ยังไม่ปรินิพพาน ก็มีผู้ที่มีศรัทธาเลื่อมใส เช่น นายสุมนมาลาการ ก็ได้รับพยากรณ์ว่า จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่าสุมนะ
คนอื่นพยากรณ์ได้ไหมว่า นายสุมนมาลาการจะได้เป็นสาวก หรือว่าจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า จะเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพระสมณโคดมพระองค์นี้ หรือว่าจะได้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคพระองค์ต่อไป คนอื่นย่อมรู้ไม่ได้
แต่ถ้าไม่ได้เจริญเหตุ คือ สติปัฏฐาน จะเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าได้ไหม ไม่ได้ จะเป็นสาวกได้ไหม ก็ไม่ได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240