แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
ครั้งที่ ๒๐๖
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมากด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ
ผู้นั้นกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปนำสัตว์ชื่อโน้นมา ดังนี้ ชื่อว่าย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๑ นี้
สัตว์นั้นเมื่อถูกเขาผูกคอนำมา ได้เสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๒ นี้
ผู้นั้นพูดอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปฆ่าสัตว์นี้ ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่ บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๓ นี้
สัตว์นั้นเมื่อกำลังเขาฆ่าย่อมเสวยทุกข์โทมนัส ชื่อว่า ย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๔ นี้
ผู้นั้นย่อมยังตถาคต และสาวกตถาคตให้ยินดีด้วยเนื้อเป็นอกัปปิยะ ชื่อว่าย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุประการที่ ๕ นี้
ดูกร ชีวก ผู้ใดฆ่าสัตว์เจาะจงตถาคตหรือสาวกของตถาคต ผู้นั้นย่อมประสบบาป มิใช่บุญเป็นอันมาก ด้วยเหตุ ๕ ประการนี้.
แม้แต่เรื่องของทาน ก็เป็นเรื่องที่สามารถจะทำให้จิตใจของท่านบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นได้ ถ้าท่านจะถวายภัตตาหารที่ประณีตก็ไม่ควรจะฆ่าสัตว์และปรุงอาหารถวาย แต่ถ้ามีเนื้อสัตว์ และท่านเป็นที่ผู้บริโภคเนื้อสัตว์แต่ไม่ได้ฆ่าสัตว์ มีกุศลจิตเกิดขึ้นที่จะถวายภัตตาหารก็ควรถวาย เพราะเหตุว่าการหมดกิเลสไม่ใช่ขึ้นอยู่กับการบริโภคสิ่งใด แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจในขณะที่กำลังบริโภค ถึงท่านจะไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย แต่ยังเป็นผู้ที่ยินดีในรสทุกคำข้าวที่บริโภค กับผู้ที่แม้กำลังบริโภคเนื้อสัตว์ แต่เจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ผู้ที่เจริญสติก็เป็นผู้ที่จะดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ส่วนผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ แต่ติดข้องยินดีในรสที่ประณีต ก็ไม่สามารถที่จะหมดกิเลสได้ด้วยการไม่บริโภคเนื้อสัตว์
เรื่องนี้เป็นเรื่องเก่านานมาแล้ว เรื่องของโลกก็ซ้ำไปซ้ำมาอย่างนี้ ไม่ว่าในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ก็ดี หรือว่าในสมัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ก็ดี คนในครั้งโน้นก็ประพฤติเป็นไปอย่างนี้ มีการฆ่าสัตว์ มีการให้ทาน มีการกุศลบ้าง อกุศลบ้าง ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อที่จะได้ทรงแสดงธรรมให้พุทธบริษัทได้เข้าใจแจ่มแจ้ง และประพฤติปฏิบัติตาม จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้นเป็นสมุจเฉท
ขอกล่าวถึงเรื่องนี้ในครั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ใน ขุททกนิกาย อามคันธสูตร ที่ ๒ มีข้อความว่า
ติสสดาบสทูลถามพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะด้วยคาถา ความว่า
สัตบุรุษทั้งหลายบริโภคข้าวฝ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้แล้วโดยธรรม หาปรารถนากาม กล่าวคำเหลาะแหละไม่ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ พระองค์เมื่อเสวยเนื้อชนิดใดที่ผู้อื่นทำสำเร็จดีแล้ว ตกแต่งไว้ถวายอย่างประณีต เมื่อเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี ก็ชื่อว่าย่อมเสวยกลิ่นดิบ
ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม พระองค์ตรัสอย่างนี้ว่า กลิ่นดิบย่อมไม่ควรแก่เรา แต่ยังเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลีกับเนื้อนกที่บุคคลปรุงดีแล้ว
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะ ข้าพระองค์ขอทูลถามความนี้ กะพระองค์ว่า กลิ่นดิบของพระองค์มีประการอย่างไร
กลิ่นเนื้อสัตว์ บุคคลบางพวกถือว่าเป็นกลิ่นดิบ เป็นกลิ่นไม่สะอาด ก็เข้าใจว่าผู้ใดเป็นสัตบุรุษจะต้องบริโภคแต่ข้าวฝ่าง ลูกเดือย ถั่วเขียว ใบไม้ เหง้ามัน และผลไม้ที่ได้มาโดยธรรม แต่ทำไมพระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะเสวยข้าวสุกแห่งข้าวสาลี เนื้อที่บุคคลปรุงถวายอย่างประณีต
พระผู้มีพระภาคพระนามว่ากัสสปะตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า
การฆ่าสัตว์ การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
ท่านผู้ฟังควรจะพิจารณาว่าท่านมีประการใดบ้าง ตั้งแต่ประการแรก คือ การฆ่าสัตว์ ยังมีอยู่บ้างไหม การทุบตี การตัด การจองจำ การลัก การพูดเท็จ การกระทำด้วยความหวัง การหลอกลวง การเรียนคัมภีร์ที่ไร้ประโยชน์ และการคบหาภรรยาผู้อื่น นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
กลิ่นดิบ คือ กลิ่นของอกุศลธรรมที่อยู่ในจิต ไม่ใช่เพียงกลิ่นภายนอกอย่างกลิ่นเนื้อ หรือว่ากลิ่นอาหารประเภทเนื้อ
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้ ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย ยินดีในรสทั้งหลาย เจือปนไป ด้วยของไม่สะอาด มีความเห็นว่า ทานที่บุคคลให้แล้วไม่มีผล มีการงานไม่เสมอ บุคคลพึงแนะนำได้โดยยาก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
ที่ว่าชนเหล่าใดในโลกนี้ไม่สำรวมในกามทั้งหลาย กาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่ว่าสำรวมก็เพราะสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ถ้าไม่สำรวมก็เป็นกลิ่นดิบ
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง หยาบช้า หน้าไหว้ หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่า กลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
อย่าไปเป็นห่วงเรื่องอาหารเลยว่า จะเป็นประเภทเนื้อ หรือว่าไม่ใช่ประเภทเนื้อ แต่ควรห่วงสภาพของจิตว่า ในขณะนั้นเป็นอกุศลมากน้อยสักเท่าไร เพราะพระพุทธองค์ตรัสว่า ชนเหล่าใดผู้เศร้าหมอง เศร้าหมอง คือ ไม่บริสุทธิ์ด้วยอำนาจของกิเลส หยาบช้า หน้าไหว้หลังหลอก ประทุษร้ายมิตร ไม่มีความกรุณา มีมานะจัด มีปกติไม่ให้ และไม่ให้อะไรๆ แก่ใครๆ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
ข้อความต่อไปมีว่า
ความโกรธ ความมัวเมา ความเป็นคนหัวดื้อ ความตั้งอยู่ผิด มายา ริษยา ความยกตน ความถือตัว ความดูหมิ่น และความสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษทั้งหลาย นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบ เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
ยังคงสนิทสนมด้วยอสัตบุรุษอยู่หรือเปล่า มีมายา ริษยา ยกตน ถือตัว ดูหมิ่นมากน้อยเท่าไร
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้มีปกติประพฤติลามก กู้หนี้มาแล้วไม่ใช้ พูดเสียดสี พูดโกง เป็นคนเทียม เป็นคนต่ำทราม กระทำกรรมหยาบช้า นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
พระธรรมเตือนท่านเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตจริงๆ แล้วแต่บุคคลใดทำกิจอย่างใด หลงลืมไป กู้เขามาแล้วลืมใช้ พระธรรมก็เตือนแล้วว่า นั่นเป็นกลิ่นดิบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรประพฤติ พอเห็นเนื้อ รังเกียจไม่อยากจะบริโภค แต่เวลาที่ธรรมชาติเหล่านี้เกิดขึ้นไม่เคยรังเกียจ รังเกียจอะไรกันแน่ รังเกียจเฉพาะกลิ่นของอาหาร แต่ว่าอกุศลธรรม กลิ่นที่ไม่สะอาดจริงๆ ไม่เคยรังเกียจ เพราะฉะนั้น ควรที่จะปรับความคิดความเข้าใจของท่านให้ถูกต้อง เพื่อจะได้ประพฤติปฏิบัติตามธรรมยิ่งขึ้น
ข้อความต่อไปมีว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้ไม่สำรวมในสัตว์ทั้งหลาย ชักชวนผู้อื่นประกอบการเบียด เบียน ทุศีล ร้ายกาจ หยาบคาย ไม่เอื้อเฟื้อ นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้น เนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
สัตว์เหล่าใดกำหนัดแล้วในสัตว์เหล่านี้ โกรธเคือง ฆ่าสัตว์ ขวนขวายในอกุศลเป็นนิจ ตายไปแล้วย่อมถึงที่มืด มีหัวลง ตกไปสู่นรก นี้ชื่อว่ากลิ่นดิบของชนเหล่านั้นเนื้อและโภชนะไม่ชื่อว่ากลิ่นดิบเลย
การไม่กินปลาและเนื้อ ความเป็นคนประพฤติเปลือย ความเป็นคนโล้น การเกล้าชฎา ความเป็นผู้หมักหมมด้วยธุลี การครองหนังเสือพร้อมทั้งเล็บ การบำเรอไฟ หรือแม้ว่าความเศร้าหมองในกายที่เป็นไปด้วยความปรารถนา ความเป็นเทวดา การย่างกิเลสเป็นอันมากในโลก มนต์และการเซ่นสรวง ยัญ และการส้องเสพฤดู ย่อมไม่ยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
ข้อนี้เป็นความเข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การไม่กินปลาและเนื้อ ที่ทรงแสดงให้เห็นว่า ไม่สามารถที่จะยังสัตว์ผู้ไม่ข้ามพ้นความสงสัยให้หมดจดได้
ข้อความต่อไปมีว่า
ผู้ใดคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ เหล่านั้น รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ตั้งอยู่ในธรรม ยินดีในความเป็นคนตรงและอ่อนโยน ล่วงธรรมเป็นเครื่องข้องเสียได้ ละทุกข์ได้ทั้งหมด ผู้นั้นเป็นนักปราชญ์ไม่ติดอยู่ในธรรมที่เห็นแล้ว และฟังแล้ว
ขอให้พิจารณาข้อความที่ว่า ผู้ใดคุ้มครองแล้วในอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รู้แจ้งอินทรีย์แล้ว ไม่ใช่รู้แจ้งอย่างอื่น รู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสบอกความข้อนี้บ่อยๆ ด้วยประการฉะนี้ ติสสดาบสผู้ถึงฝั่งแห่งมนต์ได้ทราบข้อความนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคผู้เป็นมุนี ทรงประกาศด้วยพระคาถาทั้งหลายอันวิจิตรว่า บุคคลผู้ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อม ถวายบังคมพระบาทของพระตถาคต ได้ทูลขอบรรพชาที่อาสนะนั่นแล
ข้อความธรรมดาตอนท้าย ที่ว่า
บุคคลผู้ที่ไม่มีกลิ่นดิบ ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก
เวลานี้ถ้าสติของใครจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา หรือหู จมูก ลิ้น กาย ใจ บุคคลอื่นรู้ได้ไหม ไม่ได้ และถ้าในขณะนั้นผู้นั้นได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัด และแทงตลอดในสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ ปกติธรรมดาอย่างนี้ บรรลุญาณที่เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ หรือบรรลุความเป็นพระอริยเจ้า บุคคลอื่นรู้ได้ไหม รู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยแล้ว ตามรู้ได้ยาก
ติสสดาบสฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ อันเป็นเครื่องบรรเทาเสียซึ่งทุกข์ทั้งปวงของพระพุทธเจ้าแล้ว เป็นผู้มีใจนอบน้อมฟังบทสุภาษิตซึ่งไม่มีกลิ่นดิบ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการคุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้ง ๖ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เมื่อได้ฟังแล้วเป็นผู้มีใจนอบน้อม
บางท่านฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ฟังเรื่องอินทรีย์สังวร ฟังเรื่องขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส สัมผัส คิดนึก สุข ทุกข์ สภาพธรรมใดที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว ควรเป็นผู้ที่สำรวม คุ้มครองทวารด้วยการเจริญสติระลึกรู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อฟังเรื่องการเจริญสติอย่างนี้แล้ว ท่านเป็นผู้ที่มีใจนอบน้อมที่จะประพฤติตามหรือเปล่า
สำหรับเรื่องเนื้อที่ไม่ควรบริโภค มีความละเอียด ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เรื่องอุบาสิกาสุปียาถวายเนื้อขา ซึ่งจะเป็นต้นบัญญัติว่า เนื้อสัตว์ประเภทใดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคบ้าง
ข้อความในเรื่องอุบาสิกาสุปียาถวายเนื้อขามีว่า
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระนครราชคฤห์ ตามพระพุทธาภิรมย์ เสด็จพุทธดำเนินไปทางพระนครพาราณสี เสด็จพระพุทธดำเนินผ่านระยะทางโดยลำดับ ถึงพระนครพาราณสีแล้ว ทราบว่าพระองค์ประทับอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน เขตพระนครพาราณสีนั้น สมัยนั้น อุบาสกสุปียะและอุบาสิกาสุปียา ๒ คน เป็นผู้เลื่อมใส เป็นทายก กัปปิยการก บำรุงพระสงฆ์อยู่ในพระนครพาราณสี สุปียาอุบาสิกานั้นเป็นผู้ที่เลิศกว่าอุบาสิกาสาวิกาผู้เป็นคิลานอุปัฏฐาก
วันหนึ่ง อุบาสิกาสุปียาไปสู่อาราม เที่ยวเยี่ยมวิหารและบริเวณทั่วทุกแห่ง แล้วเรียนถามภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุรูปใดอาพาธ ภิกษุรูปใดโปรดให้ดิฉันนำอะไรมาถวายเจ้าข้า
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งดื่มยาถ่าย แล้วได้บอกอุบาสิกาสุปียาว่า ดูกร น้องหญิง อาตมาดื่มยาถ่าย อาตมาต้องการน้ำเนื้อต้ม
อุบาสิกาสุปียารับคำว่า ดิฉันจะนำมาถวายเป็นพิเศษเจ้าข้า แล้วไปเรือน สั่งชายคนใช้ว่า เจ้าจงไปหาซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาขายมา
คือ ถ้าจะถวายพวกเนื้อสัตว์ ต้องเป็นเนื้อสัตว์ที่เขาขาย
ชายคนรับใช้รับคำอุบาสิกาสุปียาว่า ขอรับกระผม แล้วเที่ยวหาซื้อทั่วพระนครพาราณสี ก็มิได้พบเนื้อสัตว์ที่เขาขาย จึงได้กลับไปหาอุบาสิกาสุปียา แล้วเรียนว่า เนื้อสัตว์ที่เขาขายไม่มีขอรับ เพราะวันนี้ห้ามฆ่าสัตว์
จะทำอย่างไร อุบาสิกาผู้มีจิตเลื่อมใส และเป็นผู้ที่ไม่ฆ่าสัตว์ด้วย
จึงอุบาสิกาสุปียาได้มีความปริวิตกว่า ภิกษุอาพาธรูปนั้นแล เมื่อไม่ได้ฉันน้ำเนื้อต้ม อาพาธจักมากขึ้น หรือจักถึงมรณภาพ การที่เรารับคำแล้วไม่จัดหาไปถวายนั้น เป็นการไม่สมควรแก่เราเลย ดังนี้ แล้วได้หยิบมีดหั่นเนื้อมาเชือดเนื้อขา ส่งให้หญิงคนรับใช้ สั่งว่า แม่สาวใช้ ผิฉะนั้น แม่จงต้มเนื้อนี้ แล้วนำไปถวายภิกษุรูปที่อาพาธอยู่ในวิหารหลังโน้น อนึ่งผู้ใดถามถึงฉัน จงบอกว่าป่วย แล้วเอาผ้าห่มพันขา เข้าห้องนอนบนเตียง
ครั้งนั้น อุบาสกสุปิยะไปเรือน แล้วถามหญิงคนรับใช้ว่า แม่สุปียาไปไหน หญิงรับใช้ตอบว่า คุณนายนอนในห้องเจ้าข้า จึงอุบาสกสุปิยะเข้าไปหาอุบาสิกา สุปียาถึงในห้องนอน แล้วได้ถามว่า เธอนอนทำไม
อุบาสิกา ดิฉันไม่สบายค่ะ
อุบาสก เธอป่วยเป็นอะไร
ทีนั้น อุบาสิกาสุปียาจึงเล่าเรื่องนั้นให้อุบาสกสุปียะทราบ ขณะนั้น อุบาสก สุปียะร่าเริงดีใจว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา แม่สุปียานี้มีศรัทธาเลื่อมใสถึงแก่สละเนื้อของตนเอง สิ่งไรอื่นทำไมนางจักให้ไม่ได้เล่า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง อุบาสกสุปียะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลคำนี้แก่พระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยพระสงฆ์ จงทรงพระกรุณาโปรดรับภัตตาหารของข้าพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้ เพื่อเจริญมหากุศลและปีติปราโมทย์แก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ ครั้นอุบาสกสุปียะทราบการรับนิมนต์ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณแล้วกลับไป
แล้วสั่งให้ตกแต่งของเคี้ยวของฉันอันประณีต โดยผ่านราตรีนั้น แล้วให้คนไปกราบทูลภัตกาลแด่พระผู้มีพระภาคว่า ถึงเวลาแล้วพระพุทธเจ้าข้า ภัตตาหารเสร็จแล้ว
ขณะนั้น เป็นเวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก แล้วถือบาตร จีวร เสด็จไปสู่นิเวศน์ของอุบาสกสุปียะ ครั้นถึงแล้ว ประทับนั่งเหนือพระพุทธอาสน์ที่เขาจัดถวายพร้อมด้วยพระสงฆ์ จึงอุบาสกสุปียะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามอุบาสกสุปิยะ ผู้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า
อุบาสิกาสุปียาไปไหน
อุบาสกกราบทูลว่า
นางป่วย พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถ้าเช่นนั้น เชิญอุบาสิกาสุปียามา
อุบาสกกราบทูลว่า
นางไม่สามารถ พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ถ้าเช่นนั้นพวกเธอช่วยกันพยุงพามา
ขณะนั้นอุบาสกสุปิยะได้พยุงอุบาสิกาสุปียามาเฝ้า พร้อมกับนางได้เห็นพระผู้มีพระภาค แผลใหญ่เพียงนั้นได้งอกเต็ม มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติทันที
จึงอุบาสกสุปียะและอุบาสิกาสุปียาพากันร่าเริงยินดีว่า อัศจรรย์นักชาวเรา ไม่เคยมีเลยชาวเรา พระตถาคตทรงมีพระฤทธิ์มาก ทรงมีพระอานุภาพมาก เพราะพอเห็นพระองค์เท่านั้น แผลใหญ่โตยังงอกขึ้นเต็มทันที มีผิวพรรณเรียบสนิท เกิดโลมชาติ แล้วอังคาสภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ด้วยขาทนียโภชนียาหารอันประณีตด้วยมือของตน จนยังพระพุทธเจ้าผู้เสวยเสร็จแล้ว ทรงนำพระหัตถ์ออกจากบาตร ให้ห้ามภัตแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้อุบาสกสุปียะและอุบาสิกาสุปียาสมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว ทรงลุกจากที่ประทับ เสด็จกลับ
แต่เรื่องยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่าเนื้อมนุษย์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค
ข้อความต่อไปมีว่า
ประชุมสงฆ์ ทรงสอบถาม
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปไหนขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปียา
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสเช่นนี้แล้ว ภิกษุรูปนั้นได้ทูลรับต่อพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าพระพุทธเจ้าได้ขอเนื้อต่ออุบาสิกาสุปียา พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เขานำมาถวายแล้วหรือ ภิกษุ
ภิกษุกราบทูลว่า
เขานำมาถวายแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธอฉันแล้วหรือ ภิกษุ
ภิกษุกราบทูลว่า
ฉันแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เธอพิจารณาหรือเปล่า ภิกษุ
ภิกษุกราบทูลว่า
มิได้พิจารณา พระพุทธเจ้าข้า
ทรงติเตียน
พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า
ดูกร โมฆบุรุษ ไฉนเธอจึงมิได้พิจารณาแล้วฉันเนื้อเล่า เธอฉันเนื้อมนุษย์แล้ว การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชน ที่ยังไม่เลื่อมใส
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240