แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207


    ครั้งที่ ๒๐๗


    ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อมนุษย์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาคนที่มีศรัทธาเลื่อมใสมีอยู่ เขาสละเนื้อของเขาถวายก็ได้ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อมนุษย์ รูปใดฉัน ต้องอาบัติถุลลัจจัย

    อนึ่ง ภิกษุยังมิได้พิจารณา ไม่พึงฉันเนื้อ รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

    เนื้อก็เพิ่มโทษขึ้นตามลำดับขั้น ถ้าไม่พิจารณาก็เป็นอาบัติทุกกฏ พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อช้าง ก็เป็นเรื่องเนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ ที่ทรงบัญญัติห้าม เพื่อท่านผู้ฟังที่เป็นอุบาสก อุบาสิกา จะได้ไม่ถวายสิ่งที่ไม่ควร ไม่ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ ไม่ใช่ว่าเมื่อท่านมีศรัทธา ก็จะถวายเนื้อไปเสียทุกประเภท

    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อช้าง

    ก็โดยสมัยนั้นแล ช้างหลวงล้มลงหลายเชือก สมัยอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อช้าง และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อช้าง ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อช้างเล่า เพราะช้างเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ คงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านี้เป็นแน่

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อช้าง รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อม้า

    สมัยต่อมา ม้าหลวงตายมาก สมัยนั้น อัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อม้า และถวายแก่ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อม้า ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อม้าเล่า เพราะม้าเป็นราชพาหนะ ถ้าพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ คงไม่ทรงเลื่อมใสต่อพระสมณะเหล่านี้เป็นแน่

    ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อม้า รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

    นี่ก็เป็นเนื้อสัตว์ซึ่งบางแห่งก็อาจจะบริโภค แต่กระนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรถวายแก่พระภิกษุ

    พระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อสุนัข

    สมัยต่อมา ถึงคราวอัตคัดอาหาร ประชาชนพากันบริโภคเนื้อสุนัข และถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต ภิกษุทั้งหลายฉันเนื้อสุนัข ประชาชนจึงเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงได้ฉันเนื้อสุนัขเล่า เพราะสุนัขเป็นสัตว์น่าเกลียด น่าชัง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อสุนัข รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

    พระพุทธบัญญัติ ทรงห้ามฉันเนื้องู เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อเสือดาว

    สำหรับเรื่องของสัตว์ดุร้ายต่างๆ ขออ่านเรื่องของพระพุทธบัญญัติห้ามฉันเนื้อเสือดาวเป็นตัวอย่าง ข้อความมีว่า

    สมัยต่อมา พวกพรานฆ่าเสือดาว แล้วบริโภคเนื้อเสือดาว แล้วถวายแก่พวกภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต พวกภิกษุฉันเนื้อเสือดาวแล้วอยู่ในป่า เหล่าเสือดาวฆ่าพวกภิกษุเสีย เพราะได้กลิ่นเนื้อเสือดาว ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติห้ามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงฉันเนื้อเสือดาว รูปใดฉัน ต้องอาบัติทุกกฏ

    นี่ก็มีเหตุผลสำหรับการที่ทรงห้ามการฉันเนื้อสัตว์ประเภทใด เพราะเหตุใด สิ่งใดที่ไม่เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสของประชุมชน ของโลก ก็ทรงบัญญัติห้าม ถึงไม่มีเนื้อเสือดาว ไม่มีเนื้อช้าง ไม่มีเนื้อสุนัข ไม่มีเนื้อเสือโคร่ง ไม่มีเนื้อราชสีห์ ก็ยังพอจะมีอาหารอื่น เพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนา

    ถ. มีผู้กล่าวว่า การปฏิบัติที่ไม่สามารถไปสู่สำนักปฏิบัติแห่งใดแห่งหนึ่งได้นั้นเนื่องจากว่า มีกิเลสครอบงำ ฉุดดึงเอาไว้ไม่ให้ไปสู่สถานที่นั้นๆ ผู้ที่ถือว่าปฏิบัติที่ไหนๆ ก็ได้ เป็นการโกหกตัวเองว่า ตัวเองนี้สามารถปฏิบัติที่นั่นที่นี่ได้ และโกหกคนอื่นอีกด้วย

    สุ. ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ตรงต่อสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้ว่ามีกิเลสมาก รู้ว่ากิเลสอยู่ที่ไหน ขณะใด กำลังเห็นอย่างนี้ ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดว่าที่กำลังเห็นนี้เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพที่รู้สี ไม่ใช่สภาพที่ได้ยิน ซึ่งก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สภาพรู้กลิ่น ซึ่งก็เป็นนามธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม มีปรากฏอยู่เป็นปกติทุกวันๆ แต่ขณะใดที่สติไม่เกิดขึ้น ไม่ระลึกรู้ลักษณะนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีกิเลสมาก

    ถ้าจะว่ามีกิเลสมาก ควรที่จะได้ทราบว่า ที่ว่ามีกิเลสมากนั้นคืออย่างไร มีกิเลสมากเพราะขณะใดที่เห็นก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะใดที่ได้ยินก็ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ขณะใดที่ได้กลิ่น รู้รส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีความรู้สึกเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง หรือว่าคิดนึกเรื่องราวต่างๆ รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ ในขณะนั้นไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงมีกิเลสมาก เมื่อเป็นผู้ที่มีกิเลสมากเช่นนี้ ทำอย่างไรจึงจะละกิเลสที่มีมากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจให้ลดน้อยลงจนกระทั่งสามารถที่จะดับความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมต่างๆ เหล่านั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้

    เมื่อกิเลสมีในขณะที่กำลังเห็นแล้วไม่รู้ชัด จึงต้องเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่เว้น แล้วแต่ว่าสติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมเมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แทนที่จะหลงลืมสติและไม่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ซึ่งจะทำให้กิเลสเพิ่มพูนมากขึ้นทุกที

    การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันนั้น จะทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏตรงตามความเป็นจริง และละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แต่ไม่ใช่ว่า สติของผู้หนึ่งผู้ใดจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้นั้นไปสู่สำนักปฏิบัติ ไม่ใช่อย่างนั้นเลย สติของใครขณะนี้จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ คนอื่นไม่สามารถที่จะรู้ได้ สภาพธรรมที่ปัญญาจะต้องแทงตลอดนั้น คือ สัจธรรมที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ

    กำลังเห็นขณะนี้เป็นของจริง ภาษาบาลีใช้คำว่า “สัจธรรม” สีที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริงเป็นสัจธรรม ได้ยินที่กำลังมีในขณะนี้เป็นของจริงเป็นสัจธรรม เสียงที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นของจริงเป็นสัจธรรม ผู้ใดรู้ชัดในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง ผู้นั้นย่อมสามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดถึงความเป็นพระอริยบุคคล รู้แจ้งอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ได้ แต่ไม่ใช่ไปทำอาการที่ผิดปกติจากชีวิตประจำวัน ซึ่งบางท่านมีความเข้าใจว่า การเจริญวิปัสสนานั้น ต้องไปทำขึ้นให้ผิดปกติจากขณะนี้

    ถ. ท่านผู้หนึ่งเคยเข้าปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่อมาท่านได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์บรรยาย ท่านก็ว่าถูก อาจารย์สุจินต์อธิบายไม่มีผิดเลยสักอย่างเดียว แต่ท่านก็ไปเข้าห้องปฏิบัติใหม่ ท่านกลับออกมาก็กล่าวว่า เรื่องขับรถยนต์รู้ไม่ได้แน่ เจริญสติไม่ได้แน่ นี่ก็เป็นปัญหาเก่าแก่ว่า ทำไมขับรถยนต์จึงเจริญสติไม่ได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าเข้าใจดีแล้ว แต่พอเข้าปฏิบัติกลับมาใหม่ บอกว่าเจริญสติไม่ได้แน่ ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน

    สุ. เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า การรู้สภาพธรรมที่จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลได้นั้น รู้สภาพธรรมอะไร เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะต้องพิจารณาอยู่เสมอ มิฉะนั้นท่านก็จะพยายามรู้สิ่งอื่นซึ่งไม่สามารถที่จะทำให้รู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้

    ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งสนใจในการปฏิบัติ ท่านเคยไปปฏิบัติที่สำนักปฏิบัติต่างๆ และก็ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านผู้นั้นกล่าวว่า ฟังเท่าไรๆ ก็ไม่เข้าใจ ท่านถามว่า ขณะที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้จะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร นี่หรือคือผลของการไปสู่สำนักปฏิบัติหลายครั้งในเวลาสิบปี แต่ไม่ทราบว่า ที่กำลังเห็นขณะนี้สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะสงสัยไหมว่า กำลังเห็นอย่างนี้จะเจริญสติได้อย่างไร หรือว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมได้อย่างไร

    ผู้ที่ไปสู่สำนักปฏิบัติมักจะยกข้ออ้างข้อหนึ่งว่า ไปเพราะว่าที่นั่นมีครูบาอาจารย์ที่จะให้ความรู้ความเข้าใจในข้อปฏิบัติได้อย่างใกล้ชิด แต่ผลคือไม่ทราบว่า กำลังเห็นปกติธรรมดาอย่างนี้จะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร

    เมื่อได้ชี้แจง อธิบายให้ท่านผู้ฟังท่านนั้นเข้าใจ ท่านก็เห็นด้วย ท่านจะทิ้งความคิดเก่าๆ ซึ่งปิดบังไม่ให้สติเกิดขึ้นเป็นปกติที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริง

    ท่านผู้ฟังท่านนั้น ท่านเริ่มต้นด้วยการที่ว่า ขับรถยนต์เจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร คือ มีความสงสัย และไม่เชื่อว่าเจริญสติปัฏฐานได้ โลกที่เป็นรถยนต์เพิ่มขึ้นมาอีกจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้อย่างไร ในเมื่อไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น จะเป็นของใหม่ของเก่าอย่างไรก็ตาม อีก ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี สภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตนที่สติสามารถจะระลึกรู้ได้ ก็มีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ในรถยนต์มีอ่อน มีแข็ง มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะไหม มีทุกขเวทนา สุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยซึ่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ได้ไหม

    เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะได้พิจารณาว่า เพราะเหตุใดผู้ที่ไปสู่สำนักปฏิบัติแล้วหลายครั้งจึงกล่าวว่า ขณะที่กำลังเห็นเป็นปกติอย่างนี้ จะเจริญสติปัฏฐานได้อย่างไร เป็นความสงสัย เป็นความไม่รู้ในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้ช่วยทำให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในการเจริญสติปัฏฐาน และสติก็ไม่ได้เจริญด้วย ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ แล้ว ทำไมจะรู้ไม่ได้ ในเมื่อเห็นที่ไหนก็เป็นสภาพรู้ทางตา หรือว่าสิ่งที่ปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน สิ่งที่ปรากฏก็เป็นแต่เพียงของจริงที่ปรากฏทางตาเท่านั้น หรือว่าได้ยินจะเป็นที่ไหน สติก็สามารถที่จะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะสภาพที่เป็นนามธรรม ที่กำลังรู้เสียงว่าไม่ใช่ตัวตน และรู้ว่าเสียงก็เป็นแต่เพียงสภาพธรรมของจริงชนิดหนึ่งที่ปรากฏเฉพาะทางหูเท่านั้น สติสามารถจะเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ทำไมถึงสงสัยในขณะที่กำลังเห็นว่า จะเจริญสติได้อย่างไร ซึ่งหมายความว่าท่านผู้นั้นไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเลย ถ้าท่านเป็นผู้ที่สนใจในธรรม และท่านทราบว่าสติมีลักษณะอย่างไร สติระลึกรู้อะไร ท่านก็สามารถที่จะเจริญสติปัฏฐานได้

    ถ. คำว่า สติปัฏฐาน กับ วิปัสสนากัมมัฏฐาน ความเข้าใจของบางท่านยังคลาดเคลื่อนอยู่ คล้ายๆ กับว่าเป็นคนละเรื่อง คือ การเจริญสติปัฏฐานก็อย่างหนึ่ง การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานก็อีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน ท่านอาจารย์ช่วยกรุณาย้ำอีกสักครั้งหนึ่งว่า การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร อีกประเด็นหนึ่ง คือ การพิจารณารูปนาม ท่านกล่าวหลายแบบ ขันธ์ ๕ แบบหนึ่ง ธาตุแบบหนึ่ง และอายตนะอีกแบบหนึ่ง ที่จริงก็รูปนามนั่นแหละ ที่มีชื่อต่างๆ กันอย่างนี้ ต้องมีการพิจารณาต่างหากเป็นพิเศษประการใด

    สุ. ถ้าท่านผู้ใดมีความเห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานกับการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่างกัน หมายความว่าท่านผู้นั้นเป็นผู้รู้ในความต่างกัน ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ท่านมีเหตุผลประการใดที่จะกล่าวอย่างนั้น ซึ่งข้อความนี้ไม่มีในพระไตรปิฎก

    ในมหาสติปัฏฐานสูตร หนทางที่จะทำให้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมได้ มีหนทางเดียวเท่านั้น คือ การเจริญสติปัฏฐานซึ่งเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเป็นการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีกล่าวไว้ว่า มีหนทางอื่นอีกไหมนอกจากสติปัฏฐาน หรือมรรคมีองค์ ๘ ไม่มี

    วิปัสสนา แปลว่า ปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง การที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้มีหนทางเดียว คือ อาศัยสติระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ เมื่อปัญญาพิจารณาจึงรู้ชัดว่า ลักษณะสภาพธรรมนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ถ้าสติไม่ระลึกรู้ในกาย เวทนา จิต ธรรมแล้ว ปัญญาที่รู้ชัดคือ วิปัสสนาจะเกิดได้อย่างไร ไม่มีหนทางเลย เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่าการเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ก็ต้องขอความรู้จากท่านผู้นั้นว่าเพราะเหตุใดท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่การเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพราะโดยมากที่พูดกัน คำที่ใช้กันมาก คือ ทำวิปัสสนา ใช้คำว่า ทำวิปัสสนา แต่ที่ถูกแล้ว ควรเป็นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่เป็นตัวตนที่ทำ ไม่ใช่เป็นตัวตนที่ดู แต่การที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของกาย เวทนา จิต ธรรมได้ ก็เพราะอาศัยการฟังแล้วเข้าใจถูกต้อง เป็นปัจจัยให้สัมมาสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏ

    สำหรับข้อที่ว่า ธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้นั้นมีมาก คือ มีทั้งขันธ์ ๕ มีทั้งอายตนะ ๑๒ มีทั้งธาตุ ๑๘ นี้ ทั้งขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘ ก็เป็นนามเป็นรูป เป็นสภาพธรรมใดๆ ที่เกิดปรากฏ แล้วก็หมดไป ดับไป

    สภาพธรรมนั้นเป็นขันธ์ เพราะเหตุว่าเกิดแล้วก็ดับ เป็นอดีต เป็นปัจจุบัน เป็นอนาคต เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจะไม่พ้นไปจากขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ และธาตุ ๑๘

    สำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว จะรู้สภาวะลักษณะตรงกัน เหมือนกันตามความเป็นจริง ไม่ใช่ว่า ผู้ที่จะเจริญขันธ์ ๕ ทำอย่างหนึ่ง ผู้ที่จะเจริญอายตนะ ๑๒ ทำอีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่จะเจริญธาตุ ๑๘ ก็ทำอีกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่านามธรรมใดก็ตาม รูปธรรมใดก็ตาม ที่เกิดปรากฏที่จะไม่ใช่ขันธ์หนึ่งขันธ์ใดใน ๕ ขันธ์นั้น ไม่มี รูปชนิดหนึ่งชนิดใดเกิดขึ้นแล้วดับไป รูปทุกชนิดนั้นเป็นรูปขันธ์ นามชนิดหนึ่งชนิดใดที่เกิดขึ้นและดับไป นามนั้นก็จะต้องเป็นเวทนาขันธ์ หรือสัญญาขันธ์ หรือสังขารขันธ์ หรือวิญญาณขันธ์ จะพ้นไปจากขันธ์ ๕ ไม่ได้ และเวลาที่สภาพธรรมปรากฏ จะต้องปรากฏทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ ซึ่งก็เป็นอายตนะ

    และในขณะนั้น เช่น สีที่กำลังปรากฏทางตา ใช้คำว่า “สี” หรือใช้คำว่า “วัณณะ” “วัณโณ” “รูปารมณ์” ก็ได้ ในขณะที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังเห็น ในขณะนี้สิ่งที่ปรากฏเป็นของจริง เป็นรูปธรรม ถ้าไม่กระทบกับจักขุปสาท สีสันวัณณะเหล่านี้จะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ เพราะฉะนั้น รูปก็เป็นรูปายตนะ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่มีอะไรสงสัยในขันธ์ ๕ ในอายตนะ ๑๒ ในธาตุ ๑๘ ฟังด้วยความตั้งใจ พิจารณา และพิสูจน์ธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะเจริญสติปัฏฐานได้ถูกต้อง



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564