แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
ครั้งที่ ๒๐๘
ถ. ผมเพิ่งเริ่มปฏิบัติมาสัก ๒ - ๓ เดือน การฟังก็คล้ายๆ ว่าจะเข้าใจดี แต่ลงมือปฏิบัติรู้สึกว่าจะไม่ค่อยถูก
ผมเป็นคนขับรถ ชีวิตประจำวันอยู่กับรถ เวลาขับรถ ถ้าเห็นรถสวนมา ระหว่างที่ผมมีสติระลึกขึ้น นึกในใจว่า นี่สี นั่นสี เมื่อรถสวนไปหมดแล้ว เห็นตึกแถวข้างถนนก็ว่าสี เห็นคนข้ามถนนก็ว่าสี วิธีนี้ผมเข้าใจว่ายังไม่ค่อยถูกดี ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ ที่ฟังท่านอาจารย์บอกว่าจะต้องให้สติระลึก ไม่รู้ว่าจะระลึกอย่างไรจึงถูก บางครั้งผมอีกวิธีหนึ่ง คือ เดินไปที่ถนนแห่งหนึ่ง มีหมาเน่าซึ่งผมผ่านไปได้กลิ่น กลิ่นกระทบจมูกก็ระลึก มีสติระลึกขึ้นมาว่า นี่กลิ่น ระลึกว่ากลิ่นนี้เป็นกลิ่นเฉยๆ แต่กลิ่นเหม็นเป็นจิตที่รู้ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง การปฏิบัติ ๒ วิธีนี้ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิด
สุ. โดยมากท่านผู้ฟังที่เริ่มต้นเจริญสติปัฏฐานจะมีลักษณะอย่างนี้ คือ อดที่จะคิด หรือว่านึกขึ้นมาไม่ได้ก่อน อย่างขณะที่กำลังขับรถไป เห็นรถสวนมา ธรรมดาถ้าไม่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน คงจะไม่นึกหรือคิดว่า ที่กำลังปรากฏหรือที่เห็น ก็เป็นแต่เพียงสี แต่เพราะเหตุว่าได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานทำให้ระลึกได้ เป็นความนึกคิดที่เกิดขึ้นทางใจว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ หรือรถที่สวนมานี้เป็นสี ขณะนั้นสติจะต้องรู้ว่า ที่นึกอย่างนั้นก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ที่กำลังเห็น แต่ความรู้ชัดว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏทางตา เป็นแต่เพียงรูปธรรมหรือว่าเป็นธาตุ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ยังไม่มี เพราะเหตุว่าขณะนั้นเป็นแต่เพียงความคิดนึก
เพราะฉะนั้น สติจะต้องเพิ่มการระลึกรู้ อบรมไปจนกว่าจะเป็นหนทางที่เป็นมัชฌิมาปฏิปทา ไม่มีความต้องการ หรือว่าไม่มีความเห็นผิด ไม่มีสีลัพพตปรามาสที่จะทำให้ท่านปฏิบัติอย่างอื่น ที่ไม่ใช่การระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ
อย่างในรูป ๒๘ รูป สีปรากฏทางตา เสียงปรากฏทางหู กลิ่นปรากฏให้รู้ทางจมูก รสปรากฏให้รู้ทางลิ้น เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ปรากฏให้รู้ที่กาย ท่านยังจะไปรู้รูปอื่นอีกไหม ยังจะไปแสวงหาสภาวธรรมอื่นนอกจากนี้ไหม ในเมื่อทางตาสีก็กำลังปรากฏ เป็นของจริง ตรงตามลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เสียงก็กำลังปรากฏทางหูตามความเป็นจริง เป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ กลิ่นปรากฏทางจมูก รสปรากฏทางลิ้น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหวปรากฏที่กาย เป็นรูปที่ปรากฏให้รู้ได้ แล้วยังจะต้องการรู้รูปอื่นอีกไหมที่ไม่ใช่รูปเหล่านี้
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงอยู่ทุกขณะ และทนต่อการพิสูจน์ ถ้าระลึกขณะใด วันหนึ่งท่านจะต้องรู้ลักษณะนั้นตามความเป็นจริงได้ ไม่ต้องดิ้นรนไปแสวงหาสภาวธรรมอื่น นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ
อัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์ มีข้อความว่า
พระผู้มีพระภาคประทานโอวาทว่า
จิตนี้แทงตลอดได้ยาก เหมือนการร้อยแก้วมุกดาด้วยใช้แสงสว่างแห่งฟ้าแลบ ฉะนั้น เพราะความที่จิตเป็นธรรมชาติที่มีกาลเล็กน้อยยิ่งนัก ฉะนั้นพึงทำความอุตสาหะ และความเอื้อเฟื้อเป็นอย่างมากในการแทงตลอดจิตนั้น
การที่จะประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม ไม่ใช่ของง่ายเลย จะต้องเจริญปัญญาอบรมจนกระทั่งรู้ชัดรู้ทั่วจริงๆ และความสมบูรณ์ของ ปัญญาก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น เป็นความสมบูรณ์จริงๆ รู้ชัดจริงๆ รู้ทั่วจริงๆ จึงจะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมได้ ถ้าง่ายๆ คงจะไม่ต้องทรงแสดงความยากไว้อย่างนี้ว่า อุปมาเหมือนกับการร้อยแก้วมุกดาด้วยแสงสว่างของฟ้าแลบ ฟ้าแลบเร็วหรือช้า เร็วมาก และจิตก็เกิดดับอย่างเร็วเหลือเกิน เพราะฉะนั้น การที่จะประจักษ์สภาพความเป็นนามธรรมที่เกิดดับที่ไม่ใช่ตัวตนได้ จะต้องเจริญปัญญา อบรมจนคมกล้าจริงๆ จึงจะแทงตลอดในลักษณะของจิตซึ่งเกิดดับ
เวลานี้ความยากอยู่ที่ว่า นามธรรมและรูปธรรมเกิดดับสืบต่อกันรวดเร็วและติดกันแน่นมากทำให้ไม่สามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้ แต่ว่าสิ่งใดก็ตามที่เป็นความจริง สิ่งนั้นทนต่อการพิสูจน์ ผู้ที่เริ่มเจริญกับผู้ที่เจริญนานแล้วก็ย่อมจะผิดกัน อบรมเจริญไปเรื่อยๆ ท่านจะเห็นว่า ความรู้ของท่านในปีหลังๆ กับในระยะแรกๆ นั้นต่างกัน
มีจดหมายของท่านผู้ฟังจากอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ท่านถามว่า เพราะเหตุใดปัญญาจึงไม่เกิด
ข้อนี้มีท่านผู้ฟังที่ท่านรู้ลักษณะของสติ และรู้ด้วยว่าสติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกตินั่นเอง ท่านที่เจริญสติรู้ว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ แต่เป็นเพียงความรู้ที่สามารถจะรู้ว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นคืออย่างไร และนามธรรมและรูปธรรมนั้นแยกกันอย่างไร เวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม หรือว่าเวลาที่สติระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรม ก็คงเป็นแต่เพียงสภาพลักษณะธรรมชนิดนั้นๆ ที่กำลังปรากฏเท่านั้นเอง
ท่านที่ได้ฟังพระสูตรเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ที่อุปมาเหมือนกับด้ามมีด ซึ่งเวลาที่จับด้ามมีดท่านไม่ได้รู้เลยว่า ด้ามมีดนั้นสึกไปเท่าไร ลองจับวันนี้ จับแล้วลองดูว่า สึกไปเท่าไรวันนี้ เมื่อวานนี้สึกไปเท่าไร หรือว่าวันต่อๆ ไปจะสึกไปเท่าไร เพราะว่าสึกไปทีละเล็กทีละน้อย นี่ท่านทราบ แต่เมื่อสติเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เกิดข้อสงสัย ทำไมปัญญาไม่เกิด ปัญญาก็จะต้องเกิดทีละเล็กทีละน้อย ไม่รู้สึก เหมือนอย่างกับกิเลสที่ค่อยๆ หมดไปทีละเล็กทีละน้อยโดยที่ไม่สามารถปรากฏให้เห็นว่าสึกไปมากมายได้ทันที ฉันใด ปัญญาที่เริ่มรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะสติเริ่มที่จะระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นนัยเดียวกัน ปัญญาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ก็เพิ่มขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ทำไมจะสับสนปะปน สิ่งที่ได้ยินได้ฟังที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ก็เลยไม่เข้าใจ เหมือนอย่างท่านผู้ฟังท่านหนึ่ง ทีแรกท่านก็เจริญสมาธิ ท่านไม่สนใจเรื่องวิปัสสนา ท่านไม่สนใจเรื่องสติปัฏฐานเลย ท่านกล่าวว่ายากนัก ขอเลื่อนไปชาติหน้าหรือว่าภพหลังๆ คือ มีการผลัดว่า สมาธิที่ท่านได้เจริญมาแล้ว ท่านถนัดมากกว่าเจริญสติปัฏฐาน แต่เนื่องจากการฟังทำให้ท่านเกิดความสนใจขึ้นในเรื่องวิปัสสนา แต่การฟังของท่านก็ที่โน่นบ้างที่นี่บ้าง ซึ่งท่านอาจจะไม่ได้มนสิการพิจารณาถึงความละเอียดของธรรม เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินได้ฟังอะไรท่านก็รับมาทั้งหมด พอท่านเริ่มที่จะสนใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็มาสนทนาด้วย ทำให้ท่านเกิดความสนใจยิ่งขึ้นในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน และมีความเข้าใจขึ้นด้วย แต่คำถามของท่านข้อหนึ่ง ท่านกลับถามว่า เวลาที่กำลังได้ยิน ก็ให้รู้ที่หูใช่ไหม
นี่เป็นเรื่องของการจะทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสติที่ระลึกและรู้ในลักษณะที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ขณะนั้นเสียงกำลังปรากฏ ที่จะทิ้งความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล คือ สติระลึกลักษณะของเสียงเพื่อปัญญาจะได้รู้ในความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตน ความไม่ใช่เป็นสัตว์เป็นบุคคลของเสียง เสียงปรากฏ ไม่ต้องคิดถึงหู หรือจะรู้ว่าขณะนั้นที่กำลังรู้เสียง ที่กำลังได้ยินนั้น ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น อบรมให้ปัญญารู้ชัด และรู้ทั่วจริงๆ จึงจะละการที่เคยยึดถือนามรูปว่า เป็นตัวตนได้
สติ คือ สภาพที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เกิดแล้ว ก่อนที่จะเตรียมตัวเตรียมใจ ถ้ามีการฟัง มนสิการ พิจารณาเหตุผล สติก็สามารถเกิดในขณะไหนก็ได้ ในเมื่อสติเป็นอนัตตา
ถ. (ไม่ได้ยิน)
สุ. ขณะนี้นั่งอยู่อย่างนี้ สติเกิดได้ไหม ได้ ไม่ต้องไปห่วงเรื่องเดินช้า เดินเร็ว ซ้ายย่าง ขวาย่างอะไรเลย เพราะว่าขณะนี้กำลังนั่งอย่างไร เห็นอะไร ได้ยินอะไร คิดนึกอะไร สุข ทุกข์อะไร สติก็เกิดได้ เป็นปกติ ทำไมจึงจะไปทำขึ้น
นามธรรมและรูปธรรมเกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย สติก็ระลึกรู้สภาพธรรมตาม ความเป็นจริง ไม่ต้องไปทำขึ้นให้ผิดปกติ ไม่รู้นามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตามปกติ แล้วจะไปเห็นอริยสัจธรรม ก็ประจักษ์ไม่ได้
ถ. มาเรียนกับท่านอาจารย์ ไม่ต้องมีสำนักปฏิบัติ ผมรู้สึกว่าดีกว่า
สุ. ท่านผู้ฟังทุกท่านมีสิทธิที่จะพิจารณาธรรมด้วยตัวของท่านเอง ธรรมใดเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร ก็เป็นเหตุเป็นผลอย่างนั้น อยู่ป่าเจริญสติปัฏฐานได้ไหม อยู่โคนไม้เจริญสติปัฏฐานได้ไหม อยู่บ้านเจริญสติปัฏฐานได้ไหม อยู่ที่นี่เจริญสติปัฏฐานได้ไหม ขณะนี้เป็นนามเป็นรูปที่เคยยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ทำอย่างไรจึงจะละความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ไม่ใช่ว่า เพราะท่านย้ายสถานที่ไปท่านจึงจะรู้ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น
เพราะฉะนั้น เรื่องของสำนักปฏิบัติ ขอให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า ผู้ที่ยึดถือหรือผู้ที่มีความคิดความเห็นในเรื่องสำนักปฏิบัตินั้น ท่านถือสถานที่เป็นสำคัญ หรือท่านถือข้อปฏิบัติเป็นสำคัญ ขอให้ท่านศึกษาข้อปฏิบัติของสำนักทั้งหลายด้วยว่า ปฏิบัติกันอย่างไร เป็นการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติหรือว่าผิดปกติ ถ้าไม่ใช่รู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหน แต่โดยมากท่านที่มีความเห็นความเชื่อในสำนักปฏิบัติ ท่านคิดว่า เฉพาะในที่นั้นเท่านั้นสติจึงจะเกิด ออกมาแล้วไม่มีใครสามารถจะเจริญสติปัฏฐานได้ ท่านจึงไปสู่สำนักปฏิบัติ
แต่ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะไม่มีความสงสัยเลย ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ในถ้ำ ในป่า ในเขา กลางพระนคร ในบ้าน ในเรือน สติมีลักษณะระลึกรู้สภาพธรรมของนามธรรมและรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นปกติ ข้อสำคัญ คือ เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปด้วยความต้องการ
สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ที่เกิดขึ้นนั้นก็เพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น สติก็ระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติ
การเจริญสติปัฏฐานต้องเป็นปกติ ผู้อื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย นั่นจึงจะเป็นการเจริญสติปัฏฐาน แต่ถ้าไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง หรือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ผู้อื่นก็รู้ว่าคนนี้กำลังเจริญวิปัสสนา นั่นไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน เพราะไม่ใช่ปกติ เมื่อไม่ใช่ปกติ ปัญญาไม่สามารถที่จะรู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติ ไม่สามารถที่จะละคลายการที่เคยยึดถือสภาพธรรมตามปกติว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ แต่ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานแล้ว รู้ชัดแล้ว ท่านละได้ในชีวิตปกติ ปกติของใครเป็นอย่างไร ก็เป็นไปเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งไม่เหมือนกัน นั่งต้องเหมือนกันไหม เดินต้องเหมือนกันไหม เพราะฉะนั้น เป็นการรู้สภาพธรรมธรรมตามความเป็นจริงทุกประการ ไม่ผิดจากความเป็นจริงเลย
ถ. คำว่า “รู้ชัดธรรมตามความเป็นจริง” ผมยังปฏิบัติไม่ค่อยถูก คือ คำว่า “รู้ชัด” ในที่นี้หมายความว่า จะให้รู้ชัดข้างใน หรือรู้ชัดสิ่งที่ปรากฏ เช่น เสียง เวลานี้กำลังฟังคำบรรยายของอาจารย์ เสียงกำลังปรากฏอยู่ เราจะรู้ชัด จะรู้แค่เสียง หรือว่าจะให้รู้เนื้อความ หรือว่าบางทีฟังอยู่ ถูกก้นบุหรี่จี้ อารมณ์นี้ชัดกว่า จะกลับไปพิจารณาเวทนาดี หรือว่าจะฟังเสียงต่อไปดี
สุ. จะทำอีกใช่ไหม จะเลือกอีก จะต้องอย่างนั้นอย่างนี้อีก แต่ความจริงแล้วไม่ต้องเป็นห่วงเลย เป็นเรื่องของสติที่จะระลึกรู้ แล้วแต่ว่าทางตากำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน จมูกกำลังได้กลิ่น ทางลิ้นกำลังรู้รส ทางกายกำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ใจที่คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ ล้วนเป็นธรรมที่สติระลึกได้ทั้งนั้นโดยไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีใครไปสั่งหรือว่าไปบอกว่า ขั้นต้นจะต้องอย่างนี้ จะต้องอย่างนั้น เพราะว่าไม่ใช่เรื่องของอัตตา แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเจริญปัญญารู้ทั่วในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
ทุกวันนี้รู้เนื้อความหรือเปล่า ขณะที่รู้นั้นเป็นตัวตนหรือว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่งที่รู้เนื้อความ เป็นนามธรรม ก็เป็นสิ่งที่ปัญญาจะต้องรู้ว่า แม้ขณะที่กำลังรู้เรื่องนี้ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปเท่านั้นเอง จะต้องรู้จนทั่ว แต่ไม่ใช่มีตัวตนที่ไปคอยแบ่ง คอยแยก คอยบังคับให้รู้แค่นั้น ให้รู้ตอนนี้ ตอนอื่นไม่ให้รู้ หรืออะไรอย่างนั้น นั่นไม่ใช่การเจริญปัญญา นั่นเป็นอวิชชาที่ไม่ให้รู้ ซึ่งละอะไรไม่ได้ด้วยโดยวิธีนั้น ก่อนที่ท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะละการยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลได้ สติจะต้องระลึกรู้จนทั่ว จนชิน ไม่มีความสงสัยเหลือในนามธรรมและรูปธรรมใดที่กำลังปรากฏ จึงชื่อว่ารู้ชัด
ถ. ที่อาจารย์บรรยายมีประโยชน์มาก เท่ากับมาโปรดดิฉันให้ได้ขึ้นสวรรค์ทีเดียว
ดิฉันนั้นทำมานานแล้ว แต่ว่าไม่ได้รู้อะไร เมื่อมาฟังอาจารย์ก็ละคลายกิเลสได้ มีสติระลึกได้ แต่ว่ายังไม่แจ่มแจ้งนัก เพราะเพิ่งจะพบ ดิฉันเพิ่งมารู้จักอาจารย์ไม่ถึง ๒ เดือน ก่อนนั้นดิฉันไม่สนใจ คุณพ่อบอกว่า แหมดีนะ มีผู้หญิงคนหนึ่งพูดไม่เห็นรู้เรื่อง ดิฉันสวดมนต์อธิษฐานจิตว่า ขอให้ดิฉันฟังธรรมของอาจารย์ให้มีความรู้ เห็นธรรมที่ท่านบรรยาย กุศลที่สวดมนต์นี้สำคัญ แล้วก็อธิษฐานจิต ฟังอาจารย์รู้เรื่องเลย ไม่อย่างนั้นไม่รู้เรื่อง อะไรๆ ก็ไม่รู้ ดิฉันจะชวนน้องมาด้วย น้องบอกดีเหลือเกิน ไม่รู้จะหาค่าอะไรที่จะมาเปรียบได้ที่อาจารย์บรรยายเช้าค่ำนี่ เขาว่าสวรรค์มาโปรด ใครๆ จะว่าอย่างไรก็แล้วแต่ ฟังอาจารย์ไหนก็ต้องเข้าวิปัสสนา ไปไหนก็ต้องนั่งห้องเล็ก ห้องใหญ่ ดิฉันทำไม่ได้ ปวดหลัง มาถึงอาจารย์นี้ หลังก็ไม่ค่อยปวด ไม่ต้องทำด้วย แล้วก็รู้กิเลส พอละได้นะเวลานี้ แต่ไม่ใช่พระโสดาอะไรหรอก พอสติมาเราก็ระลึกรู้ เราก็หยุด แล้วเราก็เห็นว่าดับไปแล้ว ที่เราจะทำสิ่งที่ไม่ดีหรืออะไรอย่างนี้ ก็หยุดชะงัก
ดิฉันฟังอาจารย์บรรยายเสร็จแล้ว ต้องลงกราบ บางทีน้ำตาร่วง ดีใจว่า เรานี้ไม่เสียชาติเกิด
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240