แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209


    ครั้งที่ ๒๐๙


    ถ. ดิฉันสิ้นอาลัยตายอยากในชีวิต ชาตินี้ดิฉันไม่รู้ธรรม เพราะดิฉันนั่งไม่ได้ เขานั่งกันเป็นชั่วโมงๆ ดิฉันนั่งไม่ได้ ถึงจะนั่งได้ ก็ไม่รู้เรื่องอะไร ดิฉันว่าสู้ของอาจารย์ท่านไม่ได้ ดิฉันฟังไม่เท่าไรเอง ความจริงอาจารย์ก็พูดมานาน ก็ไม่สนใจ ดิฉันสวดมนต์ไหว้พระหนักเข้า ใครๆ เขาทำสมาธิหมด เราไม่รู้อะไรเลย เจ้าประคุณ ขอผลของศีล ผลของทาน ที่ข้าพเจ้าสวดมนต์เช้าค่ำ ขอให้ข้าพเจ้าฟังอาจารย์รู้เรื่องทีเถอะ เลยรู้เรื่องจนเดี๋ยวนี้ พระธรรมของพระพุทธเจ้านี้ดีจริงๆ ยังมีน้องของดิฉันอีกบอกว่าจะมาหาอาจารย์ให้ได้ และต่อว่าดิฉันว่าอยู่กรุงเทพแค่นี้ไม่ตะเกียกตะกายไปหาบ้านอาจารย์ อยากจะไปที่บ้าน น้องดิฉันขอให้ถามอาจารย์ว่าอาจารย์บ้านอยู่ไหน จะให้ดิฉันพาไปหา เพราะว่าบางทีมาไม่พบในวันอาทิตย์ แต่เขาก็มีวิทยุฟังบรรยาย

    สุ. ขออนุโมทนาท่านผู้ฟังที่ท่านเป็นผู้ที่สนใจฝักใฝ่ในธรรม ถึงแม้ว่าในตอนแรกๆ ท่านจะฟังไม่เข้าใจ แต่ท่านก็ไม่เลิกความเพียรหรือความสนใจ เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้กล่าวถึงประโยชน์ของธรรมที่ท่านได้รับ ตั้งแต่ขั้นการฟังจนกระทั่งถึงการที่สติระลึก และสามารถที่จะยับยั้งอกุศลจิตได้

    จากการสนทนากับท่านผู้ฟังหลายท่าน ท่านได้กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้เกิดกับท่าน คือ การเจริญสติปัฏฐานนั้น ถึงแม้ว่าสติจะระลึกแต่ยังไม่รู้ชัดในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่สติที่ได้อบรมเนืองๆ บ่อยๆ ก็เกื้อกูลอุปการะหลายขั้น สติระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ได้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ในตอนต้น ยังไม่รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม แต่เพราะการอบรมสติได้มีแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่อกุศลจิตเกิดขึ้น กำลังจะทำอกุศลกรรม สติที่ได้อบรมมาบ้างแล้วทำให้ระลึกได้ และยับยั้งอกุศลกรรมทั้งทางกาย และทางวาจา

    ขอต่อเรื่องของทาน ซึ่งเป็นเรื่องของตัวท่าน และพระธรรมวินัยได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เพื่อเกื้อกูลแก่การที่จะขัดเกลาและละกิเลสด้วย

    อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต สัปปุริสสูตร ที่ ๑ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ ให้ของสะอาด ๑ ให้ของประณีต ๑ ให้ตามกาล ๑ ให้ของสมควร ๑ เลือกให้ ๑ ให้เนืองนิตย์ ๑ เมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๘ ประการนี้แล

    ประการอื่นได้กล่าวถึงแล้ว ขอกล่าวถึงเมื่อให้จิตผ่องใส ๑ ให้แล้วดีใจ ๑

    ข้อความต่อไปมีว่า

    สัปปุรุษย่อมให้ทาน คือ ข้าวและน้ำที่สะอาด ประณีต ตามกาล สมควร เนืองนิตย์ ให้ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ผู้เป็นเขตดี บริจาคของมากแล้วก็ไม่รู้สึกเสียดาย ท่านผู้มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมสรรเสริญทานที่สัปปุรุษให้แล้วอย่างนี้ เมธาวีบัณฑิตผู้มีศรัทธา มีใจอันสละแล้ว บริจาคทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกอันไม่มีความเบียดเบียน เป็นสุข

    ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ความหลั่งไหลแห่งบุญของทายกนั้น ไม่มีประมาณ

    ซึ่งคำนี้หมายถึงความไม่มีประมาณของบุญเจตนาของทายก แสดงให้เห็นเจตนาว่า ถ้าเป็นเจตนาที่เป็นบุญ ที่ผ่องใสจริงๆ แล้ว เจตนานั้นไม่มีประมาณ

    คำว่าไม่มีประมาณในที่นี้ เป็นไปด้วยสามารถที่นึกถึงบ่อยๆ เวลาที่ท่านบริจาคสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น แล้วนึกอีก เสียดายหรือดีใจ บางครั้งเสียดายหรือเปล่า บางครั้งดีใจหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าเสียดาย บุญเจตนาของท่านก็มีประมาณ คือ เฉพาะในขณะที่กำลังให้ที่สามารถให้ได้ แต่เวลาที่ท่านนึกถึงอีก เกิดความเสียดายขึ้น แต่ที่ถูกแล้ว ถ้าเป็นบุญเจตนาที่ไม่มีประมาณ จริงๆ ถึงแม้ว่าท่านจะนึกถึงบ่อยๆ ก็ยังปีติโสมนัส หรือว่าดีใจที่มีโอกาสให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่นได้

    ในอรรถกถามีข้อความเรื่องการถวายจีวรแก่พระภิกษุ เวลาที่ระลึกถึงการบริโภคจีวรของพระภิกษุ ท่านอาจจะเกิดโสมนัสได้ เกิดปีติ ไม่เสียดาย เพราะเหตุว่าจีวรที่พระภิกษุสงฆ์ท่านใช้ ท่านใช้ตั้งแต่ยังใหม่จนกระทั่งเก่า จนกระทั่งขาด จนกระทั่งปะ จนกระทั่งท้ายที่สุดเป็นผ้าเช็ดเท้า มีประโยชน์มากถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ท่านนึกถึงประโยชน์ที่ท่านได้ให้ว่า สิ่งที่บริจาค สิ่งที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์นั้น สามารถที่จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลเป็นเวลาที่นานมาก ก็ทำให้จิตของท่านระลึกถึง และเกิดกุศลที่ไม่มีประมาณได้

    หรือแม้แต่เสนาสนะที่อยู่ที่อาศัย ถ้าท่านสร้างอุทิศแด่สงฆ์แล้ว จะอยู่ไปชั่วหลายอายุ ทุกขณะที่ท่านบริโภค ทุกขณะที่ท่านใช้ ทุกขณะที่ท่านนั่ง ท่านนอน ท่านยืน ท่านเดิน ท่านพักผ่อนในสถานที่นั้น สิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์เกื้อกูล แม้ว่าการถวายของท่านจะเป็นการถวายเพียงครั้งเดียว แต่เพราะเหตุว่าวัตถุนั้นสามารถที่จะบริโภคได้บ่อยๆ เนืองๆ และจิตของท่านตามระลึกแล้วไม่เกิดความเสียดาย ก็แสดงบุญเจตนาที่ไม่มีประมาณ ไม่ว่าจะระลึกครั้งใดก็เกิดความผ่องใสในกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้ว และไม่เกิดความเสียดาย

    เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ ท่านก็จะเกิดกุศลได้ ไม่ใช่ว่าให้ไปแล้วก็นึกเสียดายทีหลัง หรือแม้แต่อาหาร สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ถึง ๗ วัน ยิ่งถ้าท่านเป็นผู้ที่เจริญสมณธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านก็เกื้อกูลแก่การที่จะให้ปัญญาของบุคคลอื่นเกิดขึ้นด้วยการถวายสิ่งที่เป็นประโยชน์

    เป็นสิ่งที่ถ้าท่านได้ให้สิ่งใดเป็นประโยชน์แก่บุคคลใด แล้วระลึกถึงประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับเป็นเวลานาน ก็จะทำให้ท่านไม่เกิดความเสียดายขึ้นได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของการเจริญกุศลด้วย

    ขอกล่าวถึงตัวอย่างในพระไตรปิฎก สำหรับบุคคลที่ให้แล้วเสียดายว่า จะมีผลประการใด

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยาปุตตกสูตร ที่ ๑๐ มีข้อความว่า

    ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับในเวลาเที่ยงวัน ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ผู้ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งว่า

    เชิญเถอะ มหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนหนอในเวลาเที่ยงวัน

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีนี้กระทำกาลกิริยาแล้ว หม่อมฉันให้ขนทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกนั้นมาไว้ในพระราชวัง แล้วก็มา ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เฉพาะเงินเท่านั้น มี ๑๐ ล้าน ส่วนเครื่องรูปียะไม่ต้องพูดถึง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ได้บริโภคอาหารเห็นปานนี้ คือ บริโภคปลายข้าวกับน้ำส้มพอูม ได้ใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มเห็นปานนี้ คือ นุ่งผ้าห่มเนื้อหยาบที่ตัดเป็นสามชิ้น เย็บติดกัน ได้ใช้ยานพาหนะ คือ ใช้รถเก่าๆ กั้นร่มทำด้วยใบไม้

    ในสมัยนี้มีไหม เศรษฐีอย่างนี้ ในลักษณะเดียวกัน คือ มีเงินมากเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีทีเดียว แต่ว่าไม่บริโภคทรัพย์สมบัติที่ตนมี เสื้อผ้าก็ใช้เก่าๆ อาหารก็ไม่ประณีต เพราะฉะนั้น ทุกสมัยก็เหมือนกัน ซึ่งข้อนี้ก็เป็นเพราะการสะสมของจิตใจนั่นเอง

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น ดูกร มหาบพิตร ข้อนี้เป็นอย่างนั้น เรื่องเคยมีมาแล้ว คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นได้สั่งให้จัดบิณฑบาต ถวายพระปัจเจกสัมพุทธเจ้านามว่าตครสิขี ว่าท่านทั้งหลายจงถวายบิณฑบาตแก่สมณะ แล้วลุกจากอาสนะเดินหลีกไป แต่ครั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า นอกจากนี้เขายังปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชาย เพราะเหตุทรัพย์สมบัติอีก

    ดูกร มหาบพิตร การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นสั่งให้จัดบิณฑบาตถวายพระตครสิขีปัจเจกสัมพุทธะ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ๗ ครั้ง ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ได้ครองความเป็นเศรษฐีในพระนครสาวัตถีนี้แหละถึง ๗ ครั้ง

    ดูกร มหาบพิตร การที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นถวายแล้ว ภายหลังได้มีวิปฏิสารว่า บิณฑบาตนี้ ทาสหรือกรรมกรพึงบริโภคยังดีกว่า ด้วยวิบากของกรรมนั้น จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อใช้ผ้าเครื่องนุ่งห่มอันโอฬาร จิตของเขาจึงไม่น้อมไปเพื่อบริโภคเบญจกามคุณอันโอฬาร

    ดูกร มหาบพิตร ก็แหละการที่คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้น ปลงชีวิตบุตรน้อยคนเดียวของพี่ชายเพราะเหตุทรัพย์สมบัติ ด้วยวิบากของกรรมนั้น เขาจึงถูกไฟเผาอยู่ในนรกหลายปี หลายพันปี หลายแสนปี ด้วยวิบากอันเป็นส่วนเหลือของกรรมนั้นเหมือนกัน ทรัพย์สมบัติอันไม่มีบุตรรับมรดกของเขานี้ จึงถูกขนเข้าพระคลังหลวงเป็นครั้งที่ ๗

    ดูกร มหาบพิตร ก็บุญเก่าของคฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีนั้นหมดสิ้นแล้ว และบุญใหม่ก็ไม่ได้สะสมไว้

    ดูกร มหาบพิตร ก็ในวันนี้ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีถูกไฟเผาอยู่ในมหาโรรุวนรก

    พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีเข้าถึงมหาโรรุวนรกอย่างนั้นหรือ

    ยังสงสัย แม้ว่าจะได้ฟังโดยตรงจากพระโอษฐ์ เรื่องของนรก เรื่องของสวรรค์ ก็เป็นที่สงสัยสำหรับบางท่านเสมอ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    อย่างนั้นมหาบพิตร คฤหบดีผู้เป็นเศรษฐีเข้าถึงมหาโรรุวนรกแล้ว

    ข้อความต่อไปมีว่า

    พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณภาษิตนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า

    ข้าวเปลือก ทรัพย์ เงิน ทอง หรือข้าวของที่หวงแหนอย่างใดอย่างหนึ่งมีอยู่ ทาส กรรมกร คนใช้ และผู้อาศัยของเขา พึงพาเอาไปไม่ได้ทั้งหมด จะต้องถึงซึ่งการละทิ้งไว้ทั้งหมด ก็บุคคลทำกรรมใด ด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ กรรมนั้นแหละเป็นของของเขา และเขาย่อมพาเอากรรมนั้นไป อนึ่งกรรมนั้นย่อมติดตามเขาไป เหมือนเงาติดตามตน ฉะนั้น

    เพราะฉะนั้น บุคคลควรทำกรรมดี สั่งสมไว้สำหรับภพหน้า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า

    ถ้าเป็นเศรษฐี และไม่ได้ใช้โภคทรัพย์สมบัติเพื่อความสุข มีประโยชน์อะไรในการเป็นเศรษฐีไหม เพราะว่าทรัพย์สมบัติ โภคสมบัติทั้งหมดจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อใช้ มีแล้วไม่ใช้ ก็เหมือนไม่มี ทำไมคนอื่นเป็นเศรษฐี และบริโภคโภคสมบัติอย่างดีได้ แต่ทำไมบุคคลนั้นเป็นเศรษฐี มีทุกอย่างเหมือนกัน แต่ไม่ยอมบริโภคสิ่งต่างๆ ที่เป็นของประณีต ก็เพราะความหวงแหน เพราะความเสียดาย เพราะความตระหนี่

    ตัวเองก็ยังไม่ได้ใช้ คนอื่นจะแตะต้องได้ไหม จะยอมให้คนอื่นแตะหรือจับได้อย่างไรกัน ถึงแม้ไม่ใช้แล้ว ไม่เป็นประโยชน์สำหรับตัวเองแล้ว คนอื่นขอจะให้ไหม สำหรับคนที่ตระหนี่เหลือเกิน หวงแหน เหนียวแน่นในวัตถุ ในโภคทรัพย์มากมายเหลือเกิน มีโภคสมบัติแต่ไม่ใช้โภคสมบัติ ควรหรือไม่ควร จะสร้างสมบุญกุศลกันทำไม แล้วก็ไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นสิ่งที่ควรติ หรือว่าเป็นสิ่งที่ควรสรรเสริญ ไม่เป็นประโยชน์แม้สำหรับตัวเอง และไม่เป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นด้วย

    ส่วนการที่บุคคลใดจะได้ใช้สอยโภคสมบัติที่ประณีตหรือไม่ประณีตอย่างไรนั้น ย่อมแล้วแต่กรรมที่ได้กระทำมา บางท่านมีวัตถุปัจจัยที่ประณีตมาก ก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีตที่ได้กระทำไว้แล้ว แต่ว่าบางท่านทั้งๆ ที่เป็นผู้ที่มีโภคสมบัติ ก็ไม่ยอมที่จะใช้โภคสมบัติที่ประณีต ซึ่งก็เป็นเพราะการสะสมความหวงแหน ความตระหนี่ไว้มากมายจนกระทั่งแม้ตัวเองก็ยังไม่ยอมใช้

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้ที่มีฝ่ามือชุ่มในการที่จะสละบริจาค วัตถุนั้น ไม่ได้มีความตระหนี่หวงแหนด้วยอคติ สิ่งใดที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลใด ท่านก็พร้อมที่จะสละให้ในทางที่เป็นประโยชน์

    มีข้อความในพระไตรปิฎกหลายตอน ที่จะเกื้อกูลให้ท่านผู้ฟังได้เป็นผู้ที่ประพฤติตามธรรมวินัย โดยที่ไม่มีผู้ใดติเตียนได้ และเป็นประโยชน์ทั้งตัวท่านด้วย ทั้งบุคคลอื่นด้วย

    ขุททกนิกาย ชาดก สิริชาดก มีข้อความสั้นๆ ว่า

    ผู้ไม่มีบุญ จะเป็นผู้มีศิลปะหรือไม่ก็ตาม ย่อมขวนขวายรวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก ผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น

    คนไม่มีบุญ จะเป็นผู้ที่มีศิลปะ มีวิชาความรู้หรือไม่มีก็ตาม ก็ย่อมเป็นผู้ที่ขวนขวายแสวงหารวบรวมทรัพย์ไว้เป็นอันมาก แต่ไม่ได้ใช้ ส่วนบุคคลอื่นผู้อยู่หลังคือผู้มีบุญย่อมใช้สอยทรัพย์เหล่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้มีบุญที่ได้สะสมมาที่จะทำให้ท่านเป็นผู้ที่มีโภคสมบัติ ก็ควรที่จะได้ใช้โภคสมบัตินั้นให้เป็นประโยชน์แก่ตัวท่าน

    ข้อความอีกตอนหนึ่งมีว่า

    โภคะเป็นอันมากย่อมล่วงเลยสัตว์เหล่าอื่นไปเสีย เกิดขึ้นในที่ทั้งปวงเทียว สำหรับผู้มีบุญอันกระทำไว้ ใช่แต่เท่านั้น รัตนะทั้งหลายก็บังเกิดขึ้นแม้ในที่ไม่ใช่บ่อเกิด

    ถ้าเป็นคนมีบุญ ทุกอย่างก็ดีไปหมด ไม่ว่าจะเป็นการทำมาค้าขาย หรือว่าอะไรก็ตาม ก็หลั่งไหลมาสู่ผู้นั้น เพราะบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว แต่พอถึงบุคคลที่ไม่มีบุญ ก็หมดเหมือนกัน สิ่งที่เคยมีก็วิบัติไป

    อีกชาดกหนึ่ง ทำให้เห็นถึงผู้ที่มีความมั่นคงในการขัดเกลากิเลสด้วยการให้ทาน

    วิสัยหชาดก มีข้อความว่า

    ดูกร พ่อวิสัยหะ แต่ก่อนท่านได้ให้ทาน ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น ความเสื่อมได้มีแก่ท่านแล้ว ต่อแต่นี้ไป ถ้าท่านจักไม่ให้ทาน เมื่อท่านไม่ให้ทาน โภคะทั้งหลายก็คงกลับมีอยู่ตามเดิม

    นี่เป็นคำชักชวน หรือคำพูดที่จะพิสูจน์จิตใจของผู้ที่มั่นคงในทาน เมื่อให้ไปๆ ทรัพย์สมบัติก็หมดไปๆ เพราะฉะนั้น ก็ชักชวนว่า ถ้าไม่ให้ทาน ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย โภคะทั้งหลายก็คงกลับมีอยู่ตามเดิม เห็นว่าให้แล้วก็หมดไปเรื่อยๆ ควรจะหยุดให้เสีย แต่ลืมไปว่า ท่านไม่ได้คิดถึงเหตุและผลที่ได้มาว่า เป็นผลของบุญที่ได้กระทำไว้แล้ว ส่วนที่จะวิบัติไป เสื่อมไป ก็เป็นผลของอกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของบุญ ของกุศลแล้ว มีแต่จะให้เกิดผลที่เป็นวิบากที่เป็นสุข แต่ไม่ใช่ว่า กุศลที่ทำไปแล้วทำให้เกิดความเสื่อมหรือความวิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจเหตุและผลถูกต้อง ก็จะเป็นผู้ที่มั่นคงในการให้ จะไม่คิดว่าที่หมดไปนี้เพราะให้ แต่จะรู้ว่าที่หมดไปนั้นเพราะอกุศลกรรม

    ข้อความต่อไป ผู้ที่มั่นคงในการให้ทาน ท่านก็กล่าวตอบว่า

    ข้าแต่ท้าวสหัสเนตร พระอริยะทั้งหลายท่านกล่าวถึงบาปกรรมว่า อันอารยชน ถึงจะเป็นคนยากจนเข็ญใจก็ไม่ควรทำ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทวยเทพ ข้าพระบาทจะพึงเลิกศรัทธาเพราะเหตุการบริโภคทรัพย์อันใด ทรัพย์อันนั้นอย่าได้มีเลย

    นี่เป็นความมั่นคงของผู้ที่เชื่อในเรื่องของกุศล

    ชีวิตจริงๆ จะเป็นอย่างนี้บ้างไหม บางท่านมีศรัทธา คิดว่าถ้าได้เงินมาจะแบ่งบริจาคเป็นการกุศลจำนวนหนึ่ง เวลานี้ไม่มีโภคสมบัติที่จะบริจาค แต่คิดว่า ถ้าได้มาเป็นจำนวนมากพอที่จะบริจาคได้ ก็จะแบ่งทรัพย์สมบัตินั้นบริจาคสักส่วนหนึ่ง คิดเวลาที่ยังไม่ได้ แต่พอได้มาแล้ว ชักจะเสียดายส่วนหนึ่งที่คิดไว้ ขอให้ดูว่าเป็นส่วนนั้นที่คิดไว้จริงๆ หรือเปล่า หรือว่าพอได้มาจริงๆ ส่วนนั้นก็เล็กลง ศรัทธาก็น้อยลง หรือเห็นว่าส่วนนั้นมากไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้น เวลาที่บริจาคจริงๆ ก็บริจาคเพียงเล็กน้อย ไม่ตรงตามที่คิดไว้ บางทีก็ไม่บริจาคเลย



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๒๐๐ – ๒๑๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564