แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213


    ครั้งที่ ๒๑๓


    ประการต่อไป มีข้อความว่า

    ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    หมายความว่า เวลาที่ท่านมีความปรารถนา มีความจำเป็น มีความต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด ท่านย่อมได้รับสิ่งนั้นที่เป็นประโยชน์สนองความต้องการ ความปรารถนา หรือความจำเป็นนั้นทันที เป็นผลของการให้ทานโดยกาลอันควร ถ้าขณะใดที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดกำลังต้องการการสงเคราะห์ การช่วยเหลือทันที แต่ท่านยังรีรอ คิดไปคิดมาก่อน ท่านไม่ได้ให้ทานโดยกาลอันควร เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วัตถุ โภคทรัพย์ สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็อาจจะได้ แต่ว่าช้า

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้นในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    เพราะฉะนั้น ผลขอทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์เช่นนี้ ย่อมทำให้ท่านเป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น เพราะว่าบางท่านมีวัตถุ มีของใช้สวยๆ งามๆ ประณีต แต่ไม่ยอมใช้ แต่เวลาที่ท่านมีจิตอนุเคราะห์ให้บุคคลอื่นได้ใช้ด้วยความสะดวก สุขสบาย จิตของท่านก็ย่อมน้อมไปเพื่อจะใช้วัตถุที่อำนวยความสุขสบายที่ประณีตยิ่งขึ้น

    ข้อต่อไป

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆ คือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร และจากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาท ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล

    เป็นผู้ที่ให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น เพราะฉะนั้น ผลคือ จะพ้นจากอันตรายทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นอันตรายจากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากคนไม่เป็นที่รัก หรือจากทายาทซึ่งไม่เป็นที่รัก เพราะว่าคนที่ไม่เป็นที่รัก หรือทายาทที่ไม่เป็นที่รักทำความเดือดร้อนให้ได้ไหม ทรัพย์ที่มีอยู่ก็เอาไปใช้ในทางที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือว่าอาจจะทุจริตเอาไปในทางที่ไม่ควร นั่นก็เป็นการที่ทำให้ทรัพย์นั้นมีอันตราย

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล

    เป็นผลที่เกิดจากเหตุที่ละเอียดขึ้น ซึ่งท่านพิสูจน์ได้จากชีวิตของท่านเอง

    อรรถกถา มโนรถปุรณี มีข้อความว่า

    คำว่า ศรัทธา คือ เชื่อในทานและผลแห่งทาน

    เวลาที่มีความเชื่อในกรรมและผลของกรรม ในการให้ และผลของการให้ การให้ของท่านแต่ละครั้งก็ย่อมจะเป็นการให้ด้วยจิตที่ศรัทธา ด้วยจิตที่ผ่องใส

    คำว่า กาเลนะ คือ ให้โดยกาลอันเหมาะอันควร

    คำว่า เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ คือ เป็นผู้มีจาคะอันความตระหนี่ไม่ยึดจับแล้ว

    คำว่า ไม่กระทบกระทั่ง คือ ไม่เข้าไปฆ่า ได้แก่ ไม่ลบหลู่คุณ คือ ไม่ย่ำยีบุคคลอื่นในการให้ทาน

    คำว่า ประโยชน์ทั้งหลายของผู้นั้นอันมาแล้วตามกาลย่อมบริบูรณ์ ความว่า ประโยชน์ทั้งหลายเมื่อมาถึง ย่อมไม่มาโดยกาลที่เป็นผู้มีวัยแก่ ย่อมมาในกาลที่เหมาะที่ควร คือ ในปฐมวัยนั่นเอง ทั้งมีมาก

    นี่เป็นผลของการให้ทานโดยกาลอันควร

    จะเห็นได้ว่า บางครั้งท่านไม่ได้รับสิ่งที่ท่านปรารถนา ในเวลาที่ท่านต้องการ ในวัยที่ท่านต้องการ แต่พอล่วงเลยเวลานั้น หรือวัยนั้น ท่านก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์พรั่งพร้อมทุกอย่างด้วยวัตถุ ด้วยโภคสมบัติ ซึ่งท่านอาจไม่สามารถใช้วัตถุโภคสมบัติเหล่านั้นได้ เพราะเหตุว่าล่วงเลยปฐมวัย คือ วัยที่ควรจะได้รับ แต่ถ้าท่านเป็นผู้ให้โดยกาลอันสมควรแล้ว ประโยชน์ทั้งหลายเมื่อมาถึง ย่อมไม่มาโดยกาลที่เป็นผู้มีวัยแก่ คือ มาในวัยที่พอเหมาะ พอดี พอควรที่ท่านจะได้ใช้บริโภคโภคสมบัตินั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดต้องการที่จะได้รับสมความปรารถนา ท่านก็ควรจะเป็นผู้อนุเคราะห์ตามกาลโดยควรด้วย

    สำหรับเรื่องของกาลทาน หรือว่าการให้โดยควรแก่กาล ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต กาลทานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป ๑ ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง ๑ ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้แล

    ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาลในพระอริยเจ้าทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติซื่อตรง ผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีใจผ่องใส ทักษิณาทานจึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใดย่อมอนุโมทนาหรือช่วยเหลือในทักษิณาทานนั้น ทักษิณาทานนั้นย่อมไม่มีผลบกพร่อง เพราะการอนุโมทนาหรือการช่วยเหลือนั้น แม้พวกที่อนุโมทนา หรือช่วยเหลือนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ

    เพราะฉะนั้น ผู้มีจิตไม่ท้อถอย จึงควรให้ทานในเขตที่มีผลมาก บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก

    นี่เป็นข้อความโดยตรงจากพระไตรปิฎก

    อรรถกถามโนรถปุรณี อรรถกถากาลทานสูตร มีข้อความว่า

    คำว่า กาลทาน คือ ทานที่เหมาะ ทานที่ถึงเข้า ชื่อว่า กาลทาน อธิบายว่า ทานที่สมควรชื่อว่ากาลทาน ๕ ประการ ก็ได้แก่ ทานที่เหมาะ ทานที่ถึงเข้า

    ไม่ว่าขณะใดที่ท่านมีโอกาสเหมาะที่จะให้ทาน ขณะนั้นชื่อว่า กาลทาน เพราะเหตุว่าเป็นทานที่สมควร ซึ่งกาลทานนั้น ก็คือ

    ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน

    คนที่ไปถิ่นอื่นที่ไม่คุ้นเคย ก็ย่อมจะมีความลำบากเดือดร้อนหลายประการ ท่านก็เกื้อกูลสงเคราะห์ด้วยการให้ทานแก่ผู้ที่มาสู่ถิ่นของตน ชื่อว่า กาลทาน เพราะเหตุว่าเป็นกาลที่เหมาะที่ควรที่จะให้

    ทายกย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะไป

    ผู้ที่เตรียมจะไปก็ควรจะสงเคราะห์ เป็นกาลที่ควรที่จะให้หลายสิ่งหลายประการ ที่จะอำนวยความสะดวกแก่การไปนั้นให้ราบรื่น ไม่ให้มีอุปสรรคขัดข้อง

    ทายกย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพง

    ที่ใดก็ตามที่กำลังอัตคัดขัดสน เดือดร้อน อาหารแพง ข้าวแพง เพราะฉะนั้น ถ้าท่านให้ทาน ก็เป็นกาลทาน

    คำว่า ทายกย่อมให้ข้าวใหม่แก่ผู้มีศีล ในอรรถกถาอธิบายว่า คำว่า ข้าวใหม่ แก้เป็น ข้าวอันดี หรืออันเลิศ หมายความถึงวัตถุที่ดี เป็นข้าวที่ดี

    ทายกย่อมให้ผลไม้ใหม่แก่ผู้มีศีล

    คำว่า ผลไม้ใหม่ แก้เป็น ผลไม้อันดี อันเลิศ ที่เกิดขึ้นก่อนจากสวน

    คำว่า ผลไม้ใหม่นั้น ต้องหมายถึง ผลไม้อันดี อันเลิศด้วย ถ้าผลไม้ใหม่ที่เกิดขึ้นจากสวน แต่ว่ารสไม่อร่อย ก็ยังไม่ใช่ข้อที่ว่า เป็นผลไม้ใหม่ที่ควรให้แก่ผู้ที่มีศีล

    คำว่า ให้เข้าไปตั้งไว้ในท่านผู้มีศีลก่อน คือ ให้แก่ท่านผู้มีศีลก่อน ภายหลังจึงบริโภคด้วยตนเอง

    เป็นการแสดงความเคารพในทาน ในบุคคลผู้รับ ในผู้มีศีล

    คำว่า วทัญญู คือ ผู้รู้ถ้อยคำที่ยาจกกล่าวแล้ว

    คำว่า ให้โดยกาล คือ ให้ตามกาลที่เหมาะ ที่ถึงเข้า

    คำว่า ย่อมอนุโมทนา ความว่า ยืนอยู่แล้ว ณ ส่วนข้างหนึ่ง อนุโมทนา

    เพียงแต่ท่านอนุโมทนา หรือช่วยเหลือในทักษิณาทานนั้น ท่านก็ย่อมเป็นผู้ที่มีส่วนแห่งกุศลนั้นด้วย

    คำว่า ไวยาวัจจัง คือ ทำกรรมของผู้ขวนขวายด้วยกาย

    โดยพยัญชนะเป็นอย่างนั้น แต่ความหมายคือ ช่วยเหลือในกิจของการให้ทานนั้น

    คำว่า เป็นผู้มีจิตไม่หวนกลับ คือ ไม่ท้อถอย เป็นผู้ที่มีจิตไม่กำเริบ คือ ไม่เกิดความเสียดายขึ้น

    คำว่า ทานที่ให้แล้วในที่ใดมีผลมาก ความว่า ทานที่ให้ในที่ใดมีผลมาก พึงให้ในที่นั้น

    นี่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นตามควรแก่เหตุ คือ ถ้าเป็นกาลทาน เป็นกาลที่เหมาะที่ควร ท่านย่อมได้รับโภคสมบัติในกาลที่เหมาะที่ควรด้วย

    สำหรับผลของการให้โภชนะหรืออาหาร อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต โภชนทานสูตร มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่า ให้ฐานะ ๕ อย่างแก่ปฏิคาหก ๕ อย่างเป็นไฉน คือ ให้อายุ ๑ ให้วรรณะ ๑ ให้สุข ๑ ให้กำลัง ๑ ให้ปฏิภาณ ๑

    ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ทายกผู้ให้โภชนะเป็นทาน ชื่อว่าให้ฐานะ ๕ อย่างนี้แล

    โดยมากท่านผู้ฟังคิดว่า ท่านจะได้รับอะไรบ้างจากการให้โภชนะ ให้อาหาร อาจจะคิดถึงโภคสมบัติอย่างเดียว แต่ว่าความจริงแล้ว

    ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

    การให้โภชนะ คือ การให้อายุ ให้คนที่กำลังหิว ซึ่งถ้าหิว ก็อาจจะมีโรคภัยไข้เจ็บ อาจจะถึงแก่สิ้นชีวิตลงได้ แต่ว่าถ้าท่านให้โภชนะ ให้อาหาร ในขณะนั้นนอกจากจะแก้ความหิว ก็ยังจะแก้โรคอื่นๆ ซึ่งอาจจะเกิดเพราะความหิว หรือว่าอาจจะทำให้มีอายุยืนยาวต่อไป เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเป็นผู้ที่ให้อายุแล้ว ผลคือว่า ท่านย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

    ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ต้องเป็นผลของกุศล ที่เกิดบนสวรรค์มีอายุทิพย์ ก็ต้องเป็นผลของกุศล การให้ทาน การให้โภชนะนั้นก็เป็นกุศลประการหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านเกิดในมนุษยโลกก็ได้ หรือว่าในสวรรค์ก็ได้ ไม่ใช่ว่า จะทำให้ท่านเกิดได้เฉพาะในมนุษย์เท่านั้น ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมที่ประณีต ที่มีกำลัง เวลาที่ท่านสิ้นชีวิต ผลของทานนั้นจะทำให้ท่านเกิดบนสวรรค์ เป็นผู้ที่มีส่วนแห่งอายุทิพย์ได้

    ประการต่อไปที่ว่า

    ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะ

    มโนรถปุรณี อรรถกถาโภชนทานสูตร มีข้อความว่า

    คำว่า ให้อายุ คือ ย่อมให้อายุทาน คำว่า ให้วรรณะ วรรณะ หมายถึงสรีระวรรณะ ผิวพรรณที่ผ่องใส รูปร่างที่น่าดู น่าเลื่อมใส เมื่อท่านเป็นผู้ที่ให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

    แล้วแต่ว่า จิตในขณะที่ให้นั้นจะประณีตมากน้อยเท่าไร เวลาที่เป็นมนุษย์ ก็เป็นผู้ที่มีวรรณะของมนุษย์ เวลาที่เป็นเทพในสวรรค์ ก็เป็นผู้ที่มีวรรณะทิพย์ นั่นก็เป็นผลของการให้วรรณะ

    คำว่า สุข หมายถึง สุขทางกายและสุขทางใจ

    กายก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะให้เกิดสุขหรือทุกข์ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่ให้สุขทางกายแก่ผู้ที่กำลังหิวกระหาย เป็นผู้ที่กำลังต้องการโภชนะแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ และคำว่าสุขนั้น ก็หมายถึงสุขทางกายและสุขทางใจ

    คำว่า พละ หมายถึงเรี่ยวแรงทางกาย

    เพราะฉะนั้น พละก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย เมื่อท่านเป็นผู้ที่ให้กำลังแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งกำลังทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์ ครั้นให้ปฏิภาณแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

    คำว่า ปฏิภาณ หมายถึง ปฏิภาณที่เหมาะ ปฏิภาณที่ไม่ติดขัด

    ถ้าร่างกายอ่อนแอ และกำลังหิวกระหาย มีโรคภัยเบียดเบียนรบกวนมาก ก็ย่อมจะเป็นขณะที่ติดขัด หรือว่าขาดปฏิภาณ ไม่ใช่ขณะที่กำลัง มีปฏิภาณที่เหมาะ

    เพราะฉะนั้น การที่ให้โภชนาทานนั้น ย่อมให้ทั้งอายุ วรรณะ สุข พละ และปฏิภาณด้วย

    เมื่อท่านเป็นผู้ให้ปฏิภาณแล้ว

    ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งปฏิภาณทั้งที่เป็นทิพย์ ทั้งที่เป็นมนุษย์

    เรื่องผลของกุศลที่ท่านได้ยินบ่อยๆ ว่า ย่อมนำมาซึ่งอายุ วรรณะ สุข พละ ๔ ประการนั้น ใน อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต สุปปวาสสูตร มีข้อความว่า

    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมของโกลิยราชสกุล ชื่อ ปัชชเนละแคว้นโกลิยะ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้ว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโกลิยธิดา ชื่อ สุปปวาสา ครั้นแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้งนั้นแล โกลิยธิดา ชื่อ สุปปวาสาได้อังคาสพระผู้มีพระภาคด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีตด้วยมือของตน ให้อิ่มหนำเพียงพอแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

    ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า

    ดูกร สุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะ ชื่อว่า ย่อมให้ฐานะ ๔ แก่ปฏิคาหก ฐานะ ๔ เป็นไฉน คือ ให้อายุ วรรณะ สุข พละ ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งพละอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ดูกร สุปปวาสา อริยสาวิกา เมื่อให้โภชนะ ชื่อว่า ย่อมให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก ฯ

    อริยสาวิกา ย่อมให้โภชนะที่ปรุงแล้ว สะอาด ประณีต สมบูรณ์ด้วยรส ทักษิณานั้นอันบุคคลให้แล้วในท่านผู้ดำเนินไปตรง ผู้ประกอบด้วยวรรณะ ผู้ถึงความเป็นใหญ่ สืบต่อบุญกับบุญ เป็นทักษิณามีผลมาก อันพระพุทธเจ้าผู้รู้แจ้งโลกสรรเสริญแล้ว ชนเหล่าใดเมื่อระลึกถึงยัญเช่นนั้น ย่อมเป็นผู้มีความโสมนัสเที่ยวไปในโลก กำจัดมลทิน คือ ความตระหนี่พร้อมทั้งรากเหง้าออกแล้ว ชนเหล่านั้นไม่ถูกนินทา ย่อมเข้าถึงฐานะ คือ สวรรค์

    สำหรับอุบาสิกาสุปปวาสา โกลิยธิดานั้นเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาสาวิกาผู้ถวายรสอันประณีต ทางฝ่ายอุบาสกผู้ถวายรสอันประณีตนั้น ก็คือ เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ

    นี่เป็นคำอนุโมทนา และพระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับสุปปวาสา อริยสาวิกา ถึงฐานะที่จะพึงได้เมื่อได้ถวายโภชนะแก่ปฏิคาหก ผลของทานนั้นให้เกิดในสวรรค์ก็ได้ หรือว่าในมนุษย์ก็ได้ ถ้าเกิดในสวรรค์ก็เป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุข พละอันเป็นทิพย์ แต่ถ้าเกิดในมนุษย์ ผลของทานนั้นก็ให้เป็นผู้ที่มีอายุ วรรณะ สุข พละที่เป็นของมนุษย์



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๒ ตอนที่ ๒๑๑ – ๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564