แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218


    ครั้งที่ ๒๑๘


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

    พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า ความเจริญจริงๆ คือ ความเจริญด้วยปัญญา แต่ว่าผู้ที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมโดยละเอียด ไม่ได้พิจารณาไตร่ตรอง ก็ย่อมมีความเห็นว่า ความเจริญด้วยญาติ มีญาติมาก เป็นประโยชน์เกื้อกูลมาก ท่านคิดว่า ถ้ามีญาติจะมีผู้เกื้อกูลซึ่งกันและกันในคราวจำเป็น แต่ว่าความเจริญจริงๆ นั้น ถึงแม้ว่าท่านจะมีญาติมาก แต่ถ้าท่านไม่เจริญด้วยปัญญาแล้ว ไม่ชื่อว่า เป็นความเจริญที่เลิศ ข้อความนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยญาติมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

    เป็นการเจริญสติปัฏฐานไหม หรือจะแยกไว้ต่างหากอีก ถ้าท่านเป็นผู้ที่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานจริงๆ จะเห็นได้ว่า ไม่มีพระธรรมข้อใดที่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐานเลย แม้แต่ข้อความที่ว่า ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย เพื่อให้ท่านผู้ฟังเจริญสติปัฏฐาน เพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นเรื่องเดียวกันที่จะเตือนให้ท่านผู้ฟังเห็นประโยชน์ และไม่เป็นผู้ที่หลงลืมสติ

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมแห่งโภคะมีประมาณน้อย ความเสื่อมแห่งปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    ถ้าท่านมีสมบัติ และสมบัตินั้นหมดไป รู้สึกเดือดร้อนมาก เป็นผู้ที่ไร้สมบัติเสียแล้ว แต่ตราบใดที่ท่านเป็นผู้ที่เจริญด้วยปัญญา ย่อมดีกว่าการที่ท่านจะยังคงมีทรัพย์สมบัติมาก แต่ว่าเป็นผู้ที่ไร้ปัญญา หรือว่าเป็นผู้ที่เสื่อมจากปัญญา ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาว่า การเสื่อมอย่างไหนเป็นการเสื่อมที่ชั่วร้ายที่สุด

    การที่จะได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ สุข ได้โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัตินั้น เป็นผลที่มาจากเหตุที่ได้กระทำแล้ว การที่จะเสื่อมจากลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โภคสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ก็ต้องเป็นผลที่มาจากเหตุที่ได้กระทำแล้วเช่นกัน เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย เมื่อมีเหตุที่ได้กระทำแล้ว ผลก็ย่อมมี ทั้งได้ลาภ ทั้งเสื่อมลาภ ทั้งได้ยศ ทั้งเสื่อมยศ ทั้งได้สรรเสริญ ทั้งได้นินทา ทั้งได้สุข ได้ทุกข์

    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเจริญด้วยโภคะมีประมาณน้อย ความเจริญด้วยปัญญาเลิศกว่าความเจริญทั้งหลาย

    เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเจริญโดยความเจริญด้วยปัญญา ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความเสื่อมยศมีประมาณน้อย ความเสื่อมปัญญาชั่วร้ายที่สุดกว่าความเสื่อมทั้งหลาย

    ทรงแสดงว่า สิ่งใดที่ควรระลึกถึงว่าเป็นความสำคัญ เพื่อเกื้อกูลแก่ปัญญาของท่านให้เจริญยิ่งขึ้น ซึ่งไม่พ้นจากการเจริญสติปัฏฐาน

    ถ. ที่เรามีลูกมีหลานเป็นสิ่งที่รัก เป็นสิ่งที่ยึด เป็นสังขาร เป็นทุกข์ ผมมีลูกมีหลาน เกิดยินดี จิตยินดีเป็นจิตที่ผ่องใสไหม หรือว่าเป็นโลภะ เป็นอกุศล

    สุ. โสมนัสเวทนาเป็นสภาพของความรู้สึกชื่นชมยินดี เกิดได้กับทั้งจิตที่เป็นอกุศลและจิตที่เป็นกุศล ถ้าขณะใดที่ความยินดีนั้นเป็นไปด้วยความติดข้อง ด้วยการยึดถือ ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิต แต่ถ้าขณะใดเป็นไปกับกุศล เช่น ทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นเป็นกุศล

    วันหนึ่งๆ อกุศลเกิดมาก เห็นผู้ซึ่งเป็นที่พอใจ ความยินดีก็เกิดขึ้น เป็นอกุศล เห็นวัตถุสังขารอันเป็นที่พอใจ ความยินดีก็เกิดขึ้น เป็นอกุศล ถ้าอกุศลเกิดแล้วทำอย่างไร เจริญสติได้ ระลึกได้ รู้ว่าเป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จะต้องระลึกรู้สภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ซึ่งเป็นนามธรรมแต่ละลักษณะ เป็นรูปธรรมแต่ละชนิด จนกระทั่งรู้ชัดจริงๆ ว่าไม่มีตัวตน มีแต่ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเท่านั้น

    อีกประการหนึ่งที่จะรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือ ถ้าสิ่งนั้นพลัดพรากจากไป ทำให้เกิดความเศร้าโศกขึ้น นั่นเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไม่เศร้าโศก คือ ผู้ที่หมดความยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะโดยสิ้นเชิงเป็นสมุจเฉท เป็นพระอนาคามีบุคคล แต่พระอริยบุคคลขั้นพระโสดาบัน และพระสกทาคามีบุคคล ก็ยังมีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะเหตุว่าท่านยังไม่ถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล

    สังยุตตนิกาย นิทานวรรค อุปติสสสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรเรียกภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย

    ภิกษุทั้งหลายได้รับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ความปริวิตกแห่งใจได้บังเกิดขึ้นแก่เราผู้เร้นอยู่ในที่ลับอย่างนี้ว่า โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสพึงบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งสัตว์หรือสังขารใด สัตว์หรือสังขารบางอย่างนั้นยังมีอยู่ในโลกหรือ เราได้มีความดำริว่า โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่เรา เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแห่งสัตว์หรือสังขารใด สัตว์หรือสังขารบางอย่างนั้น ไม่มีอยู่ในโลกเลย

    สำหรับท่านพระสารีบุตร ไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใด เหตุการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำให้จิตของท่านแปรปรวนเป็นโสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัสสะ และอุปายาสะได้เลย

    ข้อความในพระสูตรต่อไปมีว่า

    เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกะท่าน พระสารีบุตรดังนี้ว่า

    ดูกร ท่านสารีบุตรผู้มีอายุ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่ท่าน เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดาแลหรือ

    พระสารีบุตรกล่าวว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุ โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสไม่พึงบังเกิดขึ้นแก่ผม เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดาแล

    อนึ่ง ผมดำริว่า พระผู้มีพระภาคเป็นสัตว์ผู้มีศักดาใหญ่ มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก อันตรธานไปแล้ว ถ้าพระองค์พึงดำรงอยู่ตลอดกาลนาน ข้อนั้นจักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทพยดา และมนุษย์ทั้งหลาย

    ก็ความจริง ท่านพระสารีบุตรถอนอหังการ มมังการ และมานานุสัยได้นานแล้ว เพราะฉะนั้น โสกปริเทวทุกขโทมนัสและอุปายาสทั้งหลายจึงไม่บังเกิดขึ้นแก่ท่านพระสารีบุตร เพราะความแปรปรวนเป็นอย่างอื่นแม้แห่งพระศาสดาแล ด้วยประการฉะนี้

    ไม่มีเหตุที่จะต้องโศกเศร้า หรือว่าเป็นทุกข์โทมนัสเหมือนอย่างท่านพระอานนท์ ซึ่งท่านพระอานนท์ยังเป็นพระโสดาบันบุคคล ยังไม่ใช่พระอนาคามี ยังไม่ใช่พระอรหันต์

    สำหรับกุศลที่เป็นปัตติทาน การอุทิศส่วนกุศลให้บุคคลอื่นได้อนุโมทนา เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เพราะเหตุว่าสามารถที่จะได้รับผลของปัตติทานนั้น ด้วยการอนุโมทนา

    ข้อความโดยตรงจากพระสูตรที่แสดงว่า การอุทิศส่วนกุศลนั้นสามารถทำให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้รับผล ใน อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ชาณุสโสณีสูตร มีข้อความว่า

    ครั้งนั้นแล ชาณุสโสณีพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

    ท่านโคดมผู้เจริญ พวกข้าพเจ้าได้นามว่าเป็นพราหมณ์ ย่อมให้ทาน ย่อมทำความเชื่อว่า ทานนี้ต้องสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว ขอญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว จงบริโภคทานนี้

    ท่านโคดมผู้เจริญ ทานนั้นย่อมสำเร็จแก่ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วหรือ ญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้น ย่อมได้บริโภคทานนั้นหรือ

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ ทานนั้นย่อมสำเร็จในฐานะ และย่อมไม่สำเร็จในอฐานะ

    คือ ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จไปหมด ต้องแล้วแต่กรณี แล้วแต่บุคคล

    ชาณุสโสณีพราหมณ์กราบทูลว่า

    ท่านโคดมผู้เจริญ ฐานะเป็นไฉน อฐานะเป็นไฉน

    ฐานะอย่างไรจึงจะสามารถได้รับผลของทาน และฐานะอย่างไรไม่ใช่ฐานะ คือ เป็นอฐานะ ไม่สามารถได้รับผลของทาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตปองร้าย มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในนรกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในนรกนั้น ด้วยอาหารของสัตว์นรก

    ดูกร พราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นอฐานะ

    ท่านผู้ฟังคิดถึงใคร หรือตัวของท่านเองบ้างไหม บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ เป็นอกุศลกรรม ทำให้ปฏิสนธิในนรกได้ เมื่อเกิดที่นั่นแล้ว ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องอาหาร เป็นอาหารของสัตว์นรก โดยกรรมที่ทำให้เกิดที่นั่น อยู่ที่นั่น ได้รับความทุกข์ทรมานตามควรแก่กรรมนั้นๆ ผู้ใดจะอุทิศส่วนกุศลไปให้สักเท่าไร ก็ไม่มีโอกาสได้รับ เพราะเหตุว่าต้องได้รับทุกข์โทษในนรกตามควรแก่กรรม

    เพราะฉะนั้น ถ้าญาติพี่น้อง มิตรสหาย ผู้มีคุณ หลังจากที่จุติจากโลกนี้แล้วปฏิสนธิในนรก ท่านมีกุศลจิตที่จะถวายทาน อุทิศส่วนกุศลให้ แต่ว่าผู้ที่เกิดในนรกไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับผล

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉานนั้น ย่อมตั้งอยู่ในกำเนิดสัตว์เดรัจฉานนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน

    ดูกร พราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ

    เป็นไปได้ไหม ญาติมิตรสหายหลังจากที่จุติจากโลกนี้แล้ว เกิดในกำเนิดสัตว์เดรัจฉาน เพราะอกุศลกรรม คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด เป็นต้น ถึงแม้ว่าท่านจะมีกุศลจิตถวายทาน อุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่ว่าผู้นั้นเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็ย่อมมีอาหารของสัตว์เดรัจฉาน ตามประเภทของสัตว์นั้นๆ ถ้าเกิดเป็นช้าง มีอาหารอย่างไร ผู้นั้นก็ต้องบริโภคอย่างนั้น เกิดเป็นปลวก เป็นมด มีอาหารอย่างไร ผู้นั้นก็ต้องบริโภคอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีโอกาสที่จะอนุโมทนา ที่จะได้รับผลของกุศลที่ท่านอุทิศไปให้ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ฐานะที่จะได้รับผล

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ จากการลักทรัพย์ จากการประพฤติผิดในกาม จากการพูดเท็จ จากการพูดส่อเสียดจากการพูดคำหยาบ จากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่มีความอยากได้ของผู้อื่น มีจิตไม่ปองร้าย มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของพวกมนุษย์ เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพในมนุษยโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในมนุษย์นั้นด้วยอาหารของมนุษย์

    ดูกร พราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ

    ถ้าญาติมิตร สหาย ผู้มีคุณ เป็นผู้ที่เว้นทุจริต ทำให้ปฏิสนธิเป็นมนุษย์อีกในมนุษยโลก ท่านอุทิศส่วนกุศลไปให้ แต่ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะล่วงรู้อนุโมทนา หรือว่าได้รับผลของทานกุศลนั้น

    ข้อความต่อไป พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นชอบ บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดา เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเทวโลกนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเทวโลกนั้น ด้วยอาหารของเทวดา

    ดูกร พราหมณ์ แม้ฐานะอันเป็นที่ไม่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล ก็เป็นอฐานะ

    เทวดามีอาหารทิพย์ ซึ่งสำเร็จด้วยบุญกุศลที่ท่านได้กระทำแล้ว ไม่จำเป็นต้องบริโภคอาหารด้วยการอุทิศให้ของบุคคลอื่น

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะได้รับผลของทานที่อุทิศให้มีบุคคลเดียว คือ ผู้ที่เกิดเป็นเปรต

    พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกร พราหมณ์ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ ฯลฯ มีความเห็นผิด บุคคลนั้นเมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงเปรตวิสัย เขาย่อมเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยอาหารของสัตว์ผู้เกิดในเปรตวิสัย หรือว่ามิตร อำมาตย์ หรือญาติสาโลหิตของเขา ย่อมเพิ่มให้ซึ่งปัตติทานมัยจากมนุษยโลกนี้ เขาเลี้ยงอัตภาพอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ย่อมตั้งอยู่ในเปรตวิสัยนั้น ด้วยปัตติทานมัยนั้น

    ดูกร พราหมณ์ ฐานะอันเป็นที่เข้าไปสำเร็จแห่งทานแก่สัตว์ผู้ตั้งอยู่นี้แล เป็นฐานะ

    หิวกระหายได้รับความทุกข์ทรมาน แต่ว่าไม่ใช่อย่างนรก ไม่เหมือนกับสัตว์ในนรก เป็นผู้ที่ทรมานด้วยความหิวกระหาย และมีอาหารของตน คือ พวกเสลด พวกน้ำหนอง แต่ว่าเวลาใดที่ญาติ หรือผู้มีคุณ มิตรสหายอุทิศส่วนกุศลให้อนุโมทนา ก็ย่อมได้เพิ่มจากกุศล คือ การอนุโมทนานั้น หมายความว่า ได้รับอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้บรรเทาความหิว ความกระหายได้

    ท่านผู้ฟังทุกท่านมีอาหารบริโภคกันอยู่เป็นประจำ แต่ยังมีญาติ มีมิตรสหายที่เคารพนับถือ เกื้อกูลท่าน โดยการส่งอาหารเพิ่มให้ จะเป็นผลไม้ หรือจะเป็นอะไรก็ตาม นั่นก็เป็นส่วนที่ท่านได้รับเพิ่ม เพราะฉะนั้น พวกเปรตก็เลี้ยงชีวิตด้วยอาหาร คือ เสลด น้ำหนอง เป็นต้น แต่เวลาที่มีบุคคลอื่นอุทิศส่วนกุศลให้ และอนุโมทนาในกุศลของผู้นั้น ก็ย่อมได้บริโภคอาหารเพิ่มขึ้น ที่จะทำให้บรรเทาความหิวกระหายได้

    ถ. (ไม่ได้ยิน)

    สุ. ข้อความต่อไปจะมีว่า แม้กุศลอื่นก็ได้ แต่ว่าสำหรับผู้ที่หิวกระหาย มีความทุกข์ทรมานในอาหาร ย่อมจะชื่นชมอนุโมทนาในอาหาร

    ถ. ฟังคำบรรยายเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว รู้สึกว่า ปฏิบัติยากลำบากเหลือเกิน รู้สึกว่า ถ้าเราเป็นบรรพชิตหรือเป็นพระจะทำได้สะดวกกว่ามาก เพราะความห่วงในหลายๆ เรื่องไม่มี และที่ว่าจะไปที่ไหนก็ให้เจริญสติตลอดเวลา รู้สึกว่า ถ้าไปในที่ชุมนุมวุ่นวาย อย่างในพระนคร จะเดินไปทางไหน ถนนหนทางรถรายุ่งมาก ถ้าเจริญสติปัฏฐานไปตามที่ท่านบรรยายมา ยุ่งสมองเหลือเกิน มีอะไรห่วงอยู่ในใจหลายๆ อย่าง ไม่ค่อยจะสะดวก แต่ถ้าได้อยู่ต่างจังหวัดนานๆ รู้สึกมีความสบายใจ เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานในที่ชุมชนซึ่งมีเหตุการณ์มากๆ หลายๆ อย่างเกิดขึ้นนั้น กับการเจริญสติปัฏฐานในที่สงบเงียบ อย่างไหนจะได้ประโยชน์กว่ากัน



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๒ ตอนที่ ๒๑๑ – ๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564