แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219


    ครั้งที่ ๒๑๙


    สุ. คำถามของท่านผู้ฟังทำให้คิดถึงการสนทนากับท่านผู้ฟังอีกท่านหนึ่ง ซึ่งท่านกล่าวว่า เวลาทำวิปัสสนาเหนื่อยเหลือเกิน ชุลมุนวุ่นวาย จะให้สติเกิดอย่างไร รถก็มีมาก คนก็มีมาก ถ้ากล่าวว่าอย่างนี้ เป็นการเจริญปัญญาหรือว่าไม่ใช่การเจริญปัญญา

    ปัญญาทำให้เบา ไม่ใช่ทำให้เหนื่อย ถ้าเกิดเหนื่อย ไม่ใช่เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ เป็นการทำ เป็นการบังคับ เป็นตัวตนที่จะทำจึงได้เหนื่อย แต่ไม่ใช่เรื่องจะทำ ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน มีความเข้าใจในเรื่องลักษณะของสติกับขณะที่หลงลืมสติ ก่อนฟังการเจริญสติปัฏฐาน เป็นผู้ที่หลงลืมสติ ไม่ใช่ผู้เจริญสติ แต่ว่าเมื่อฟังแล้ว มีความเข้าใจลักษณะของสติ สติเกิดขึ้นเพราะอาศัยการฟังเป็นปัจจัย ทำให้ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นแต่เพียงลักษณะของสภาพธรรมชนิดหนึ่งๆ เบาไหม ไม่ได้เดือดร้อน ถ้าหลงลืมสติ ก็เป็นเรื่องธรรมดา

    ขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟัง ซึ่งท่านไม่เข้าใจว่า ทำไมดิฉันพูดเรื่องสำนักปฏิบัติและเรื่องอื่นๆ ที่ท่านเห็นว่าไม่สมควร และไม่จำเป็นที่จะต้องกล่าวถึง ท่านพอใจที่จะได้รับฟังธรรมอื่นๆ แต่ว่าไม่ปรารถนาที่จะให้พูดถึงเรื่องสำนักปฏิบัติ ท่านเขียนที่มุมซองว่า “ปัญหาวิปัสสนา” ซึ่งท่านคงต้องการความแจ่มแจ้งในเหตุผล

    ข้อความในจดหมายฉบับนี้ มีหลายประการที่ควรเรียนชี้แจงให้ท่านเจ้าของจดหมายได้พิจารณา เพื่อประโยชน์แก่ตัวท่านเอง และคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้ฟังท่านอื่นด้วย แต่ถ้าบางท่านรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ซ้ำและน่าเบื่อ ดิฉันก็เรียนขออภัยไว้ด้วย เพราะเหตุว่าเห็นประโยชน์แก่ท่านที่สนใจในการปฏิบัติธรรม แต่ว่ายังมีความข้องใจ ซึ่งจะเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ไม่เข้าใจการปฏิบัติอย่างถูกต้อง และจะทำให้ท่านไม่เจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวันด้วย

    สำหรับท่านที่มีความเข้าใจถูกต้องในการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ย่อมไม่มีอะไรที่จะเป็นสิ่งที่กั้นสติของท่านไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าสิ่งที่ท่านกำลังเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส กระทบสัมผัสถูกต้อง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จะเป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าพอใจ หรือว่าจะเป็นอนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็ตาม ถ้าท่านมีความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง ทุกอย่างเป็นธรรมที่สติจะระลึก และรู้สภาพที่กำลังปรากฏว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นนามธรรมและเป็นรูปธรรมแต่ละชนิด แต่ละลักษณะ

    มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งซึ่งในตอนแรกท่านก็สนใจแต่จะฟังเฉพาะเรื่องของมรรคมีองค์ ๘ ว่า ในขณะที่เจริญวิปัสสนานั้นจะมีสภาพธรรมอะไรเกิดร่วมกันบ้าง สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร ขณะไหน ต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม เรื่องของโพธิปักขิยธรรม เรื่องของอิทธิบาท เรื่องของพละ แต่ว่าท่านไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสัมมาสติ หรือว่าสัมมาสมาธิ หรือว่าโพธิปักขิยธรรมอื่นๆ ได้เลย ถ้าท่านไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยเริ่มจากการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน

    เมื่อท่านผู้นั้นเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน และสติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย ทีละนามทีละรูป ท่านก็รู้ลักษณะของการเจริญมรรคมีองค์ ๘ รู้ว่าขณะนั้นผิดกับขณะที่หลงลืมสติอย่างไร และท่านก็สามารถมีความรู้ในนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องขึ้นเรื่อยๆ

    เพราะฉะนั้น การที่เพียงแต่จะรู้มรรคมีองค์ ๘ หรือรู้โพธิปักขิยธรรม อยากจะรู้ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือกายานุปัสสนาสติปัฏฐานโดยละเอียด โดยที่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จะไม่ช่วยทำให้ท่านสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม ตามที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด แต่ถ้าท่านเจริญสติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ท่านจะเข้าใจลักษณะของกาย ลักษณะของเวทนา ลักษณะของจิต ลักษณะของธรรมตามความเป็นจริง ตรงกับพระธรรมเทศนาที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดทุกประการ หากท่านไม่เจริญสติ เพียงแต่อยากจะรู้ความละเอียดเท่านั้น ท่านก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้โดยละเอียดจริงๆ เพราะเหตุว่าสติไม่ได้เริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ตามความเป็นจริง

    ๘๖๓ ตรอกสารภี คลองสาน ธนบุรี

    ๑๔ ธันวาคม ๒๕๑๔

    เรียน ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

    ผมผู้หนึ่งที่ฟังอาจารย์แทบทุกเช้าค่ำ มีความเข้าใจดีและได้สาระประโยชน์มากจริงๆ เป็นที่น่าอนุโมทนายิ่งนัก แต่ในระยะหลายๆ เดือน หรือเกือบจะเป็นแรมปีก็ว่าได้ อาจารย์มักจะบรรยายย้ำแต่เรื่องสถานที่ปฏิบัติว่า ไม่จำเป็น ไม่สำคัญแทบจะหมดเวลาอยู่เรื่อยมา อ้างแต่ว่า การปฏิบัติเช่นนั้นไม่ใช่การเจริญสติเป็นปกติประจำวัน ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติเป็นปกติในชีวิตประจำวัน การเข้าไปปฏิบัติในห้องเล็กๆ แคบๆ น่าทุเรศแบบนั้น ไม่มีอ้างไว้ในพระไตรปิฎกเลย และพูดแบบนี้อยู่ทุกครั้ง ทำให้เสียเวลาอันมีค่าไปเปล่าๆ พอที่จะได้ฟังธรรมอันมีค่ายิ่งๆ ขึ้นไป ก็ได้ฟังแต่เรื่องการเข้าห้องกัมมัฏฐาน ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ พระพุทธองค์ไม่เคยอ้างไว้ที่ไหนเลย ซ้ำๆ ซากๆ อยู่เช่นนี้ รู้สึกว่าหมดความไพเราะไป ขอประทานโทษ ผมเห็นว่าไม่จำเป็นที่อาจารย์จะพูดย้ำเรื่องสถานที่ปฏิบัติอยู่เช่นนี้เลย เมื่ออาจารย์ได้บรรยายการปฏิบัติ และวิธีปฏิบัติเป็นที่ถูกต้องตรงตามพระไตรปิฎกแล้ว ก็เป็นที่น่าอนุโมทนาดียิ่งอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ฟังเข้าใจไปแล้ว เขาจะไปปฏิบัติที่ไหน อย่างไร ก็ไม่น่าจะไปคำนึงถึง หรือวิจารณ์ให้มากเรื่องไป เพราะเขาเหล่านั้นก็ได้รับฟังการบรรยายที่ถูกต้องไปแล้ว จะย้ำไปใยให้เสียเวลา จนกลายเป็นการโต้แย้งกันไม่รู้จักจบ อาจจะก่อให้เกิดอกุศลแก่อาจารย์และผู้ฟังอื่นๆ ก็ได้ ซ้ำยังกระทบกระเทือนสถาบันต่างๆ ซึ่งท่านอาจารย์ในสถาบันเหล่านั้น ผู้บรรยายก็รู้จักนับถืออยู่แทบทุกท่าน ทั้งท่านอาจารย์เหล่านั้นก็เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ทรงพระอภิธรรมกันดีทั้งสิ้น ผู้บรรยายก็รู้อยู่เต็มอกว่า ก็ล้วนมีห้องปฏิบัติกันทั้งนั้น และมีผู้เข้าปฏิบัติก็มากมาย อาจารย์กล่าวไปทำไม ย้ำไปทำไม ไม่รู้จักหมดจักสิ้นสักที เพื่ออะไร ผมไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ก็ไม่เคยห้ามไว้ที่ไหนว่า อย่าไปสร้างห้องแคบๆ น่าทุเรศไว้ปฏิบัตินะ อย่าไปเลือกหาที่สงบเพื่อเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานนะ นั่นมันไม่ใช่ชีวิตปกติประจำวัน นั่นมันไม่ใช่วิธีการเจริญสติเป็นปกติประจำวัน อย่าไปสร้างสำนักสำหรับปฏิบัตินะ เหล่านี้ไม่เห็นพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามไว้ที่ไหนว่า ไม่ให้ไปปฏิบัติในสถานที่เช่นนั้น

    ที่ผมกล่าวมานี้ ในพระไตรปิฎกจะมีหรือไม่มี ผมก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยอ่าน แต่ที่พูดนี้ ถือกฎธรรมชาติว่า ทุกคนจะทำอะไร จะอ่าน จะเขียน หรือจะเล่าเรียนอะไร ก็ต้องการสถานที่ที่สงบ ที่เงียบ ไม่พลุกพล่านจอแจกันทั้งนั้น แม้อาจารย์ที่กำลังบรรยายอยู่นี้ ก็ต้องการความสงบเงียบ หาไม่แล้วอาจารย์จะกำหนดสติเป็นปกติประจำวัน บรรยายให้ผู้ฟังไม่ได้แน่นอน

    เมื่อเร็วๆ นี้ ในรายการ “คนวัด” คนวัดได้อ่านจดหมายของท่านผู้หนึ่ง ชมเชยอาจารย์สุจินต์มากมาย ผมก็เห็นด้วยในการชมเชยนั้น และผู้ชมเชยได้กล่าวสนับสนุนเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติว่า ไม่จำเป็น ไม่สำคัญ จะปฏิบัติที่ไหนก็ได้ ท่านผู้ชมถึงกับออกปากเป็นทุกข์ว่า เวลานี้เมืองไทยมีคน ๓๒ ล้านคนแล้ว ท่านวิตกว่า ถ้ามีผู้ปฏิบัติเข้ากัมมัฏฐานกันทั้ง ๓๒ ล้านคนพร้อมกัน จะหาห้องที่ไหนให้ผู้ปฏิบัติได้ ผมก็เห็นจริงตามที่ท่านผู้ชมเชยเป็นทุกข์ แต่ผมกลับเป็นทุกข์และสงสารท่านผู้ชมว่า น่ากลัวท่านจะรู้เรื่องกรรมน้อยไปหน่อยหนึ่ง หรือท่านจะลืมเรื่องกรรมไปก็ไม่ทราบ ท่านจึงเข้าใจว่า ผู้นับถือพุทธในเมืองไทยมีวิบากกรรมเสมอกัน เหมือนกันทั้ง ๓๒ ล้านคน แล้วถึงคราวกรรมส่งผลให้มาเข้าห้องกัมมัฏฐานพร้อมกันทั้ง ๓๒ ล้านคนอีก ก็น่าจะเป็นทุกข์เป็นร้อนไปกับผู้ชมด้วยจริงๆ เพราะจะต้องลำบากกันทั้งประเทศ เนื่องจากชาวพุทธทั้ง ๓๒ ล้านคน เห็นสำนักปฏิบัติสำคัญกว่าอื่นใดไปเสียแล้ว ในความรู้สึก โดยสัตย์จริงแท้ๆ ของผมแล้ว การบรรยายธรรมของอาจารย์ละเอียดลออ เป็นประโยชน์ และทำให้เกิดศรัทธาแก่ผู้ได้ฟังทั่วๆ ไปจริง คือ มีพร้อมทั้งความเรียง และสำเนียงการบรรยายก็ไพเราะชวนฟัง สมจริงตามจดหมายของผู้ชมที่คนวัดได้อ่านออกอากาศในคืนนั้น ตลอดจนวิธีปฏิบัติก็ถี่ถ้วนพิสดาร พร้อมทั้งหลักฐานครบถ้วนบริบูรณ์ จะหาที่ติ ที่คัดค้านไม่ได้ เพราะมาจากพระไตรปิฎกทั้งสิ้น ส่วนเรื่องสถานที่ๆ ปฏิบัติที่อาจารย์ว่า ที่ไหนๆ ก็ปฏิบัติได้ทุกหนทุกแห่ง และทุกขณะ แม้ขณะทำกิจในห้องสุขาก็ปฏิบัติได้ รวมความว่าต้องปฏิบัติตลอด ๒๔ ชั่วโมงจนกว่าจะตายนั้น ก็เป็นการถูกต้อง เพราะเป็นการเจริญสติเป็นปกติประจำวัน แต่เหตุใดอาจารย์จึงคัดค้านและย้ำหนักเรื่องผู้ที่ไปเข้ากัมมัฏฐานว่าไม่จำเป็น ไม่สำคัญ เพราะเป็นอัตตาตัวตน ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

    ผมขอเรียนถามอาจารย์อย่างซื่อๆ ว่า ในพระธรรมวินัยท่านทรงห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติในห้องที่จัดไว้ หรือที่ๆ ผู้ปฏิบัติเห็นสมควรนั้น มีห้ามไว้ในพระธรรมวินัยหรือเปล่า

    อีกประการหนึ่ง บ้านเมืองและผู้คนในสมัยปัจจุบันกับสมัยพุทธกาลผิดกันราวฟ้ากับดิน วัตถุ บุคคล เครื่องล่อตาล่อใจ ก็ผิดกันราวฟ้ากับน้ำ สติปัญญาในการทรงธรรมของคนสมัยนี้กับสมัยพระพุทธองค์ก็ผิดกันอย่างพูดไม่ถูก ในสมัยพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงสอนเสร็จ ก็มีผู้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน สมัยนี้สอนกันเป็นแรมปี อ่านพระไตรปิฎกกันจบแล้วจบอีก ก็ยังถกเถียงกันเรื่องสถานที่ที่ปฏิบัติไม่รู้จักจบ เป็นอันว่าคำสอนของพระพุทธองค์ไม่สำคัญเท่าสถานที่เสียแล้ว ชาวพุทธทุกคนก็รู้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญเพียรมานานถึง ๖ ปี เพิ่งมาตรัสรู้เมื่อตอนพระเบญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ตีจากไปเสียจากพระองค์ เมื่อไม่มีใครรบกวนแล้ว พระองค์จึงทรงเลือกที่ที่ทรงเห็นว่าเป็นที่สงบ ไม่มีสิ่งใดๆ รบกวนแล้ว จึงทรงบำเพ็ญจนตรัสรู้ได้ เพราะสถานที่อันสงบเงียบนั้นใช่ไหม

    อันคำว่า จิตสั่ง โยคีผู้ปฏิบัติ การเข้ากัมมัฏฐาน ออกกัมมัฏฐาน หรือคำอื่นๆ ที่ใช้กัน รู้กัน เข้าใจกันในระหว่างศิษย์อาจารย์ หรือในหมู่ผู้ศึกษาธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจารย์ก็เอามายึดถือเป็นข้อโต้เถียงในการปฏิบัติวิปัสสนา ปฏิเสธว่าไม่มีใช้ในการเจริญสติเป็นปกติประจำวัน ทำเป็นไม่รู้ไม่เข้าใจ คล้ายๆ ว่า อาจารย์พยายามจะปฏิวัติคำเหล่านี้ให้หมดไป เพราะมันขัดกับความรู้สึกของอาจารย์กระมัง ดูประหนึ่งว่า คำเหล่านี้เป็นคำประหลาด แปร่งๆ ชอบกล ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลยฉะนั้น

    และอีกเรื่องหนึ่ง คือ ผู้ฟังกล่าวถึงการกำหนดดูอาการของรูปยืน เดิน นั่ง นอนแล้วรู้สึกว่า อาจารย์จะยิ้มๆ และมีความอิดหนาระอาใจมาก มักจะซักไซ้ไล่เลียงผู้กล่าวเสียจนตอบไม่ถูก เหมือนกับว่าเบื่อคำเหล่านี้เหลือเกิน การกำหนดดูอาการรูปยืน เดิน นั่ง นอนนี้ ผมเคยปฏิบัติมาเช่นเดียวกับผู้กล่าวทั้งหลายที่ถูกอาจารย์ไล่เบี้ยเสียจนตอบไม่ถูกมาเหมือนกัน แต่ผมไม่กล้ามากล่าวในที่นี้ เพราะกลัวว่าจะถูกอาจารย์ต้อนเข้าไปสู่ที่มุมห้องอย่างผู้อื่นที่โดนมาแล้ว เนื่องจากที่ผมได้รู้ได้ยินได้ฟังว่า ทุกหนทุกแห่งที่สอนการปฏิบัติ โดยให้กำหนดอาการของอิริยาบถ ๔ ทุกแห่งแม้ในรายการวิทยุที่สอนวิปัสสนาตั้งหลายอาจารย์ก็สอนกันแบบนี้ เว้นรายการของอาจารย์เท่านั้น ผมก็เลยตื้อ บ้องตันเต็มที จึงอยากระบายความเข้าใจของผมที่ได้จากอาจารย์ผู้สอนการปฏิบัติให้อาจารย์และท่านผู้ฟังทั้งหลายได้ฟังไว้ เพื่อประดับความโง่หรือความฉลาด ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระธรรมวินัย คือ เมื่อท่านอาจารย์สอนให้กำหนดดูอาการของรูปยืน เดิน นั่ง นอนนั้น ท่านก็อ้างที่ไปที่มาเหมือนกัน ไม่ได้สอนให้ทำส่งๆ ไปเลย เช่น การกำหนดดูอาการของรูปเดิน เป็นต้น ท่านบอกว่า เพียงรูปเดินนี้ก็มีรูปตั้งหลายๆ รูปมาประชุมกันขึ้นเป็นรูปเท้าที่เห็นด้วยตาอยู่ขณะนี้ คือ กัมมชรูปส่วนหนึ่งที่อาจเคลื่อนไหวไปได้ด้วยอำนาจของวาโยธาตุอันเกิดจากจิต และสอนให้รู้อีกว่า การเคลื่อนไหวกาย เช่น การเดิน ที่เคลื่อนไหวได้ด้วยอำนาจแห่งวาโยธาตุอันเกิดจากจิตนั้น ในสติปัฏฐานอรรถกถาแสดงไว้ว่า วาโยธาตุอันเกิดจากจิตนั้นซาบซ่านไปทั่วร่างกาย ทำให้เคลื่อนไหวไป เรียกว่า เดิน ไม่ใช่เราเดิน เขาเดิน แต่รูปนามเป็นผู้เดิน ในอาการเดินด้วยอำนาจของจิตตชวาโยธาตุ ที่เรียกว่าให้ดูอาการของรูปเดินนั้น หมายความว่า ให้กำหนดดูวาโยธาตุที่ทำให้เท้าเคร่งตึงไหว เป็นรูปก้าวออกไปนั้น ให้ดูด้วยใจ ไม่ใช่ดูด้วยตา ดุจดังเมื่อเด็กเล่นว่าว อยากจะรู้ว่ามีลมมาหรือยัง เขาก็ดูใบไม้ที่ไหวไปมา ถ้าเห็นใบไม้ไหวไปมา เขาก็รู้ว่ามีลม แต่ความจริงเขาไม่ได้ตั้งใจดูใบไม้โดยเฉพาะ แต่เขาอาศัยดูใบไม้เพื่อดูลมเท่านั้น โดยทำนองเดียวกัน เราก็อาศัยกำหนดดูอาการของรูปเดิน ก็เพื่อดูวาโยธาตุอันเป็นรูปๆ หนึ่งของมหาภูตรูป ที่ทำให้เท้าเคลื่อนไหวไปด้วยอำนาจของจิต และทำนองเดียวกันนี้ การอาศัยกำหนดดูรูปยืน เดิน นั่ง นอน ก็เพื่อดูวาโยธาตุเช่นกัน ก็ควรต้องเป็นรูปใน ๒๘ รูปด้วย เพราะแต่ละรูปก็มีมหาภูตรูปอยู่ทุกรูปด้วย ที่ผมเข้าใจเช่นนี้จะถูกผิดอย่างไร ผมไม่ได้ตรวจสอบเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ถึงจะเทียบเคียงก็หาพระไตรปิฎกไม่ได้ หรือหาได้ก็จะต้องค้นคว้ากันเป็นวันๆ ซ้ำข้อความในพระไตรปิฎกก็เหมือนอ่านตัวบทกฎหมายนั่นเอง ก็ต้องอาศัยอาจารย์ผู้รู้อีก ถ้าผมเทียบเคียงอยู่อย่างว่า คงตายไปเสียก่อนได้ปฏิบัติแน่ ด้วยเหตุนี้ผมจึงถือว่า เมื่อรับสมัครนับถือเป็นลูกศิษย์อาจารย์กันแล้ว ก็ควรเชื่อถือและพิจารณาใคร่ครวญจากการปฏิบัติที่ท่านสอนก็คงจะพอเหมาะ เราไม่ใช่ชาวกาลามะในสมัยโน้น

    ในที่สุด ผมต้องขออภัยมาพร้อมในที่นี้ด้วยว่า ถ้ามีสิ่งใดไม่สมควร ไม่ถูกต้อง อย่างไร หรือข้อความที่อาจจะหนักไป ขอท่านอาจารย์อดโทษให้ผมด้วย และผมหวังว่า คงจะได้ฟังธรรมทาน คำสั่งสอนของพระพุทธองค์ อันมีแต่เนื้อความยิ่ง อันไพเราะ ก่อให้เกิดศรัทธาจากการบรรยายของท่านอาจารย์เช่นเคยต่อไป

    ด้วยความนับถือ

    สุ. ไม่ทราบว่า ท่านเจ้าของจดหมายท่านฟังอยู่ด้วยหรือเปล่า ท่านผู้ฟังมีความเห็น มีความคิดว่าอย่างไรบ้าง จากข้อความในจดหมายฉบับนี้ ดิฉันคิดว่า ท่านผู้เขียนจดหมายเป็นผู้ที่สนใจในการปฏิบัติ แต่ว่าถ้าท่านจะเข้าใจว่า สภาพธรรมทั้งหลายนั้นละเอียดมาก เป็นเรื่องที่ควรจะศึกษาโดยรอบคอบจริงๆ จะทำให้การปฏิบัติของท่านถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน การรู้สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านก็สามารถที่จะรู้ได้อย่างถูกต้อง

    ถ้าท่านผู้ฟังคิดว่า ธรรมไม่ใช่สิ่งที่ละเอียด ที่จะต้องศึกษาอย่างรอบคอบจริงๆ เพียงแค่ฟังเผินๆ และรู้สึกว่าไพเราะ แต่ว่าไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากธรรม เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ท่านก็จะได้รับสาระประโยชน์จากธรรมที่ท่านฟังน้อยเกินไป เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมวินัยทั้ง ๓ ปิฎกตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อการขัดเกลากิเลส และดับกิเลสจนหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท ซึ่งจะต้องเป็นการเจริญสติอย่างมากทีเดียว และจะต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติในชีวิตประจำวัน

    ถ. การเดินทางไปสู่ห้องปฏิบัติ ต่างกับการที่เราเจริญสติปัฏฐานที่บ้านธรรมดา หรือที่ทั่วๆ ไปอย่างไรครับ

    สุ. ถ้าอยากทราบ ก็ไปที่สำนักหนึ่งสำนักใด และศึกษาข้อปฏิบัติของสำนักนั้นว่า เมื่อไปที่นั่นแล้ว ทำอะไรกันบ้าง

    ถ. สำหรับผมเห็นว่า การที่จะเข้าห้องปฏิบัติ หรือว่าจะปฏิบัติเดี๋ยวนี้ ที่นี่ เป็นการเจริญสติปัฏฐานเหมือนกัน อย่างนี้ถูกไหมครับ

    สุ. เหมือนอย่างไร

    ถ. เหมือนที่ว่า เราเข้าห้องปฏิบัติ ก็ระลึกรู้สภาพที่แท้จริงของรูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น เหมือนกับที่เรานั่งฟังธรรมอยู่ที่นี่ ถ้ามีสติระลึกรู้สภาพแท้จริงของรูปธรรมนามธรรมที่เกิดขึ้น ก็เป็นสภาพที่รู้เหมือนกัน ในห้องปฏิบัติกับที่นี่

    สุ. ท่านผู้ฟังจะอธิบายเรื่องข้อปฏิบัติของห้องปฏิบัติได้ไหม สักหนึ่งท่าน

    ถ. ข้อปฏิบัติกับห้องปฏิบัตินี่ต่างกัน เพราะว่าห้องปฏิบัติเป็นที่จูงใจให้คนที่ยังไม่รู้จริงเข้าไปเพื่อจะได้เป็นที่สำรวมมากๆ แต่ข้อปฏิบัติ เราจะปฏิบัติที่ไหนๆ ก็ได้ โดยที่เราจะนั่งที่ไหน ใต้ต้นไม้ หรือในบ้าน หรือในวัด หรือที่ไหนก็ได้ ที่เราสะดวกใจจะปฏิบัติ นี่คือข้อปฏิบัติ แต่ห้องปฏิบัติ คือ อาศัยสิ่งแวดล้อมที่จูงใจเข้าไปปฏิบัติ

    สุ. เวลาอยู่ในห้องแล้ว ทำอะไรบ้าง

    ถ. คือ ทำจิตให้นิ่ง วางใจให้พ้นจากความยุ่งยากทั้งหลาย ทำจิตให้นึกถึงแต่ทางกุศล

    สุ. ทำอย่างไร สอนหน่อย

    ถ. ทำจิตให้นิ่ง คือ ทำจิตให้เป็นกุศล ไม่คิดถึงว่าจะไปทำอะไรที่เป็นความชั่ว เพื่อให้บรรลุถึงมรรค ถึงผล เพื่อจะไปสู่จุดถึงนิพพาน

    สุ. พอจะทราบความต่างกันหรือยัง

    ถ. นั่นเป็นการปฏิบัติที่มีวิธีการ แต่การที่เราเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติประจำวันนี้ ก็เป็นการเจริญทุกๆ วัน แต่ไม่เป็นวิธีการที่คนสมมติกันขึ้น ผมคิดอย่างนี้ครับ



    คำบรรยายคัดลอกจาก E-book
    แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๒ ตอนที่ ๒๑๑ – ๒๒๐
    เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 36
    28 ธ.ค. 2564