แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
ครั้งที่ ๑๘๔
ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ขณะที่ให้ทาน ทราบไหมว่า จิตใจเป็นอย่างไร ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้างหรือเปล่า โลภะ โทสะเกิดขึ้นทราบไหม แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ แม้ขณะที่ให้ทานย่อมขัดเกลาจิตของท่านได้ละเอียดขึ้น แม้อกุศลจิตจะเกิดขึ้นในขณะนั้น สติก็ระลึกรู้ว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเป็นหนทางที่ทำให้ปัญญารู้ชัด และละคลายอกุศลได้
ถ. จะนอบน้อมต่อพระอริยสงฆ์อย่างไร
สุ. ด้วยความเคารพ ไม่ดูหมิ่น ไม่ลบหลู่ในพระพุทธอย่างไร ในพระธรรมก็อย่างนั้น ในพระพุทธ ในพระธรรมอย่างไร ในพระสงฆ์ก็อย่างนั้น เคยนอบน้อมในพระผู้มีพระภาคไหม เคยกราบ เคยไหว้ เคยระลึกถึงพระคุณ ความบริสุทธิ์ของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระศาสดาฉันใด ในพระธรรมฉันใด ในพระสงฆ์ ก็ฉันนั้น คือ เคารพในความบริสุทธิ์ของจิตของผู้ที่ดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
ขอกล่าวถึงคุณที่น่าอัศจรรย์ของอุบาสก อุบาสิกาก็มี และหลายท่านด้วย แต่ขอกล่าวถึงเพียงบางท่านเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังฆทาน การให้ด้วยความนอบน้อม เป็นตัวอย่างที่มีในพระไตรปิฎก เพื่อเกื้อกูลแก่พุทธบริษัทในครั้งนี้ด้วย เพื่อสอบทานจิตใจของท่านผู้ให้ ท่านผู้ถวายทานว่า เหมือนดังท่านเหล่านั้นหรือไม่
อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต คหปติวรรคที่ ๓ อุคคสูตรที่ ๒ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ บ้านหัตถีคาม ในแคว้นวัชชี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามว่าเป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ
พระผู้มีพระภาคผู้สุคต ครั้นได้ตรัสพระดำรัสนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เข้าไปสู่พระวิหาร
ครั้งนั้นเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่ง นุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร
ข้อความในพระไตรปิฎกตอนนี้ อรรถกถาบางตอนได้อธิบายว่า อาจจะมีบางท่านคิดว่า พระภิกษุปกติท่านไม่เคยนุ่งเลย ถึงได้มีข้อความในพระไตรปิฎกเสมอว่า เวลาเช้าภิกษุรูปหนึ่งนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร พยัญชนะนี้หมายความว่า นุ่งแล้วก็จริง แต่ก่อนจะไปไหน ก็จัดแจงที่นุ่งแล้วนั้นให้เรียบร้อยขึ้น ข้อความมีว่า
ครั้งนั้นเวลาเช้า ภิกษุรูปหนึ่งนุ่งแล้ว ถือบาตรและจีวร เข้าไปยังนิเวศน์ของอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคาม ครั้นแล้วจึงนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้
ลำดับนั้น อุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคาม ได้เข้าไปหาภิกษุนั้น ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ภิกษุนั้นได้กล่าวกะอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามว่า
ดูกร คฤหบดี พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ท่านว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ
ดูกร คฤหบดี ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ เป็นไฉน
เมื่อพระภิกษุได้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ท่านก็ไม่ทราบว่า ธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการของอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามนั้น คืออะไรบ้าง จึงเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ท่านผู้ฟังก็จะได้พิจารณาว่า จะมีได้ไหมในสมัยนี้ และแก่ใคร
อุคคคฤหบดีกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมไม่ทราบเลยว่า พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์กระผมว่า เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการ เป็นไฉน แต่ขอท่านได้โปรดฟังธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ๘ ประการนี้ มีอยู่ จงใส่ใจให้ดี กระผมจักเรียนถวาย
ภิกษุนั้นรับคำอุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามแล้ว อุคคคฤหบดี ชาวบ้านหัตถีคามได้กล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในคราวที่กระผมเที่ยวอยู่ในสวนนาควัน ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อมกับการเห็นนั้นเอง จิตของกระผมก็เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค เมาสุราอยู่ก็หายเมา นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๑ ของ กระผมที่มีอยู่
เป็นชีวิตจริงๆ ของอุบาสกท่านหนึ่ง ท่านเป็นเศรษฐีแล้วก็มีสวนนาควัน ก่อนภัตร คือ ก่อนรับประทานอาหาร ท่านก็ให้พวกบริวารถือดอกไม้ของหอมต่างๆ เพื่อจะไปเที่ยวเล่นในสวนเป็นการเพลิดเพลิน และท่านก็ได้เห็นพระผู้มีพระภาคแต่ไกลเป็นครั้งแรก พร้อมกับการเห็นนั้นเอง จิตของท่านก็เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค เมาสุราอยู่ ก็หายเมา
เคยมีใครที่มีความเลื่อมใสทันทีอย่างนี้บ้างไหม นี่เป็นผลของการสะสมเหตุปัจจัยที่จะทำให้ได้ประสบพบพระผู้มีพระภาค แล้วเกิดความอัศจรรย์ขึ้น เพราะสะสมความเลื่อมใสในบุคคลที่ควรจะเลื่อมใส เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเห็นสิ่งอื่นซึ่งไม่น่าเลื่อมใสเช่นนี้ เมาสุราอยู่ก็คงไม่หายเมา แต่เพราะว่าได้เห็นพระผู้มีพระภาค ซึ่งบุคคลอื่นในครั้งโน้นก็ได้มีโอกาสได้เห็นพระผู้มีพระภาค แต่ไม่เลื่อมใส เพราะเหตุว่าไม่ได้สะสมเหตุปัจจัยมาที่จะให้เกิดความอัศจรรย์เช่นนี้ขึ้น
แต่น่าสังเกตว่า ชีวิตของอุบาสก อุบาสิกา คฤหบดีเป็นชีวิตปกติธรรมดา ไม่ใช่ว่าผู้นั้นจะต้องเตรียมไปสู่สถานที่หนึ่งสถานที่ใด ท่านมีชีวิตเป็นปกติ แต่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
อุคคคฤหบดีได้กล่าวต่อไปว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีจิตเลื่อมใสแล้ว ได้เข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคทรงแสดงอนุบุพพิกถาโปรดกระผม คือ ทรงประกาศทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามอันต่ำทรามเศร้าหมอง และอานิสงส์ในเนกขัมมะ
ในคราวที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงทราบว่า กระผมมีจิตควร อ่อน ปราศจากนิวรณ์ บันเทิง ผ่องใสแล้ว จึงทรงประกาศสามุกังสิกาธัมมเทศนาแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เปรียบเหมือนผ้าที่บริสุทธิ์ ไม่หมองดำ จะพึงรับน้ำย้อมได้ดี แม้ฉันใด ธัมมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่กระผม ณ ที่นั่งนั้นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้เห็นธรรมแล้ว บรรลุธรรมแล้ว รู้แจ้งธรรมแล้ว หยั่งซึ้งถึงธรรมแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากความเคลือบแคลงแล้ว ถึงความแกล้วกล้าแล้ว ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสตร์ ได้ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ สมาทานสิกขาบทอันมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ แล้ว นั่ง ณ ที่นั้นนั่นเอง นี้แลเป็นธรรมน่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๒ ของกระผมที่มีอยู่
พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงอนุปุพพิกถา คือ ทรงประกาศทานกถา เริ่มต้นด้วยทาน การให้ ซึ่งเป็นการขัดเกลาความตระหนี่ ความติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ในวัตถุที่มีอยู่ ซึ่งจะต้องขัดเกลาเป็นขั้นๆ ไปตามลำดับของการเทศนา เพราะเหตุว่าการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนย่อมหนาและเหนียวแน่นกว่าการที่จะยึดถือสิ่งอื่น เมื่อสิ่งอื่นภายนอกยังน่ายินดีน่าหวงแหนอย่างยิ่ง ยากที่จะจากพรากไป ก็ทรงแสดงทานกถา ศีลกถา สัคคกถา โทษของกามอันต่ำทราม เศร้าหมอง และอานิสงส์ในเนกขัมมะเป็นลำดับ คือ เป็นอนุปุพพิกถา
น่าอัศจรรย์ไหมสำหรับอุคคคฤหบดี เมื่อได้ฟังธรรมจากพระผู้มีพระภาคแล้ว ธัมมจักษุอันปราศจากธุลี (ธัมมจักษุ หมายความถึง อริยมรรค ตั้งแต่โสดาปัตติมรรค) ธัมมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน เกิดขึ้นแล้วแก่ท่าน ณ ที่นั่งนั้นนั่นเอง ไม่ต้องไปที่อื่นเลย สภาพธรรมตามความเป็นจริงเป็นอริยสัจธรรม สัจธรรมเป็นความจริง ขณะที่กำลังเห็นอยู่เดี๋ยวนี้ ใครปฏิเสธว่าไม่จริงบ้าง เป็นสัจธรรมสำหรับพระอริยะ ท่านประจักษ์ความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น ความดับไปซึ่งเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
เพราะฉะนั้น การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง การรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่รู้อย่างอื่น รู้สิ่งที่กำลังเกิดปรากฏในขณะนั้นตามปกติธรรมดานั่นเอง ด้วยเหตุนี้ท่านอุคคคฤหบดีจึงกล่าวว่า
ธัมมจักษุอันปราศจากธุลี ปราศจากมลทินเกิดขึ้นแล้วแก่กระผม ณ ที่นั่งนั้นนั่นแลว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา
ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่เกิดขึ้นปรากฏในขณะนั้น ล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ผู้ที่จะเป็นพระอริยบุคคลต้องประจักษ์ความจริงตามธรรมดาอย่างนี้ ถ้าขณะนี้กำลังเห็นปรากฏ ได้ยินปรากฏ มีกลิ่นปรากฏ มีรสปรากฏ มีโผฏฐัพพะปรากฏ มีธัมมารมณ์ปรากฏ แต่ไม่รู้ จะเป็นพระอริยบุคคลได้ไหม ไม่รู้ความจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวลล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ไม่ใช่มีใครนึกอยากจะออกจากรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเมื่อไร ก็สละทิ้งไปได้ตามใจชอบ แต่เพราะเหตุว่ามีความไม่รู้ในสภาพของรูป ของเสียง ของกลิ่น ของรส ของโผฏฐัพพะ ของธัมมารมณ์ ซึ่งจะพ้นได้ หมดได้เพราะเจริญสติ
ข้อความต่อไป
ท่านอุคคคฤหบดีกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมได้มีปชาบดีรุ่นสาวอยู่ ๔ คน ได้เข้าไปหาปชาบดี เหล่านั้น แล้วได้กล่าวกับเธอเหล่านั้นว่า
ดูกร น้องหญิงทั้งหลาย ฉันสมาทานสิกขาบทอันมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ ผู้ใดปรารถนา ผู้นั้นจงใช้โภคเหล่านี้ แล้วทำบุญได้ หรือจะไปสู่ตระกูลญาติของตัวก็ได้ หรือประสงค์ชายอื่น ฉันก็จะมอบให้แก่เขา
เมื่อกระผมกล่าวอย่างนี้แล้ว ปชาบดีคนแรกได้พูดกับกระผมว่า ขอท่านได้กรุณามอบดิฉันให้แก่ชายชื่อนี้เจ้าค่ะ กระผมได้เชิญชายผู้นั้นมา เอามือซ้ายจับปชาบดี มือขวาจับเต้าน้ำ หลั่งน้ำมอบให้ชายคนนั้น ก็เมื่อบริจาคปชาบดีสาวเป็นทาน กระผมไม่รู้สึกว่าจิตแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเลย นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๓ ของกระผมที่มีอยู่
ใจของใคร คนอื่นรู้ได้ไหม ไม่ได้ ถึงแม้จะเป็นจิตใจของท่านเอง ถ้าไม่เจริญสติรู้ได้ไหม ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นก็ไม่รู้ว่า สภาพธรรมในขณะนั้นเป็นอย่างไร แต่เพราะเหตุว่าท่านอุคคคฤหบดีบรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ท่านไม่ครองเรือนอีกต่อไป ท่านสมาทานสิกขาบทอันมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ เพราะฉะนั้น เวลาที่ท่านมอบปชาบดี คือ ภรรยาของท่านให้กับชายอื่น ท่านไม่รู้สึกว่าจิตแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเลย นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมา ข้อที่ ๓ ของท่านอุคคคฤหบดี
เป็นเพราะความบริสุทธิ์ของจิต ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับ ความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รสโผฏฐัพพะ และการครองเรือนได้เป็นสมุจเฉท ไม่มีเชื้อของกิเลสที่จะทำให้มีความยินดี หมกมุ่น พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและการครองเรือน
ถ. สมาทานสิกขาบทอันมีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ หมายความว่าอะไร
สุ. ท่านยังเป็นอุบาสก ยังไม่ได้ละอาคารบ้านเรือนเป็นเพศบรรพชิต ศีลปกติของท่านก็มี ๕ ข้อ แต่โดยคุณธรรมของพระอนาคามีบุคคล ไม่ใช่เพียงละเว้น กาเมสุมิฉาจาร คือ การประพฤติผิดในกาม แต่มีพรหมจรรย์เป็นที่ ๕ คือ ไม่ครองเรือน
ในศีล ๕ ข้อนั้น ข้อที่ ๓ ไม่ใช่เว้นกาเมสุมิจฉาจาร แต่เป็นการรักษาพรหมจรรย์ โดยฐานะของความเป็นอุบาสก นิจศีล ศีลตามปกติก็เป็น ๕ ข้อ
ข้อความต่อไป
ท่านอุคคคฤหบดีกล่าวว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ในตระกูลของกระผมมีโภคทรัพย์อยู่มาก และโภคทรัพย์เหล่านั้น กระผมได้แจกจ่ายทั่วไปแก่ท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๔ ของกระผมที่มีอยู่
ธรรมดาของผู้ที่มีความยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ในทรัพย์สมบัติ เวลาที่จะให้ก็ย่อมจะมีจิตคิดว่า จักให้เท่านี้ จักไม่ให้เท่านี้ จักให้สิ่งนี้ จักไม่ให้สิ่งนี้ แต่ผู้ที่บรรลุคุณธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ท่านแจกจ่ายทั่วไปกับท่านผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม เพราะคำว่าทรัพย์ของท่านเป็นของทั่วไปทีเดียวกับท่านผู้มีศีลทั้งหลาย เปรียบเหมือนกับของคณะ ของส่วนรวม คือ ของสงฆ์ ไม่ว่าสงฆ์จะต้องการสิ่งใด ทรัพย์ของอนาคามีบุคคลนั้นเป็นเหมือนของส่วนรวม เป็นเหมือนของคณะ เป็นเหมือนของสงฆ์ทีเดียว ไม่มีการจำกัดว่า ให้เท่านั้น เท่านี้ หรือว่าสิ่งนั้นให้ สิ่งนี้ไม่ให้
นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๔
ประการต่อไป
อุคคคฤหบดีกล่าวต่อไปว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเข้าไปหาภิกษุรูปใด กระผมก็เข้าไปด้วยความเคารพทีเดียว ไม่ใช่เข้าไปหาด้วยความไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นแสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็ฟังโดยเคารพแท้ๆ ไม่ใช่ฟังโดยไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นไม่แสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็แสดงธรรมแก่ท่านผู้มีอายุนั้น นี่แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๕ ของกระผมที่มีอยู่
น่าอัศจรรย์ไหม ฟังดูเหมือนไม่น่าอัศจรรย์ แต่ถ้าท่านตรวจสอบจิตใจของท่านว่า ทุกครั้งที่ท่านเข้าไปหาภิกษุรูปใด ท่านเข้าไปหาด้วยความเคารพหรือไม่ ท่านถึงจะเห็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ของอุคคคฤหบดี
นอกจากนั้น ท่านอุคคคฤหบดียังกล่าวว่า
หากท่านผู้มีอายุนั้นแสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็ฟังโดยความเคารพแท้ๆ ไม่ใช่ฟังโดยไม่เคารพ หากท่านผู้มีอายุนั้นไม่แสดงธรรมแก่กระผม กระผมก็แสดงธรรมแก่ท่านผู้มีอายุนั้น นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๕ ของกระผมที่มีอยู่
เป็นอย่างนี้หรือไม่ ท่านผู้ฟังเข้าไปหาภิกษุรูปใด ก็เข้าไปหาด้วยความเคารพทีเดียว ถ้าท่านแสดงธรรม ก็ฟังโดยความเคารพแท้ๆ ถ้าท่านไม่แสดงธรรม ก็แสดงธรรมแก่ท่าน
คิดถึงประโยชน์ คือ การฟังธรรม การได้เข้าใจสภาพธรรมชัดเจนละเอียดขึ้น ท่านผู้ฟังต้องการจะมีธรรมที่น่าอัศจรรย์อย่างท่านอุคคคฤหบดีบ้างไหม เป็นไปได้ไหม เป็นได้ ถ้าเจริญธรรม มีคุณธรรมอย่างท่าน
อุคคคฤหบดีกล่าวต่อไปว่า
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ไม่น่าอัศจรรย์ที่เมื่อกระผมนิมนต์สงฆ์แล้ว เทวดาทั้งหลายเข้ามาบอกว่า
ดูกร คฤหบดี ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุตติ รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุตติ รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุตติ รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นเป็นผู้มีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรม
ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมอังคาสสงฆ์อยู่ก็ไม่รู้สึกว่า ยังจิตให้เกิดขึ้นอย่างนี้ว่า จะถวายแก่ท่านรูปนี้น้อย หรือจะถวายแก่ท่านรูปนี้มาก แท้ที่จริงกระผมมีจิตเสมอกัน นี้แลเป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์อันไม่เคยมีมาข้อที่ ๖ ของกระผมที่มีอยู่
ชื่อต่างๆ เหล่านี้ คือ พระอริยสงฆ์ พระอริยบุคคล ที่บรรลุคุณธรรมต่างๆ กัน บางท่านบรรลุคุณธรรมพร้อมกับฌานจิต คือ ท่านได้รูปฌานและอรูปฌาน และมรรค ผล นิพพานด้วย เป็นอุภโตภาควิมุตติ บางท่านไม่ได้ฌานจิต แต่เป็นพระอรหันต์ เป็นปัญญาวิมุตติ นอกจากนั้นก็บรรลุโดยมีศรัทธาเป็นอธิบดี เป็นประธาน หรือว่ามีปัญญาเป็นประธาน ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อของพระอริยเจ้าทั้งนั้น
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๑๙ ตอนที่ ๑๘๑ – ๑๙๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240