แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
ครั้งที่ ๒๒๐
ถ. ผมเป็นคนหนึ่งเคยไปนั่งอบรมตลอด ๓ เดือน ในพรรษาที่แล้ว วิธีการก็คิดว่าท่านก็ถูก คือ ท่านใช้อานาปานสติ กำหนดลมหายใจ ดูรูปและนาม เป็นขั้นต้น เพื่อจะก้าวไปสู่วิปัสสนา ท่านไม่เรียกว่าเป็นวิปัสสนาแท้ แต่เป็นพื้นฐานของการรู้แจ้งในวิปัสสนา ผมมีความรู้เพียงแค่นี้ในการห้องปฏิบัติ และเข้าใจว่า ห้องปฏิบัติทุกแห่งก็คงดำเนินการแบบเดียวกัน โดยถืออานาปานสติเป็นหลัก
สุ. มีท่านอื่นอีกไหมที่จะให้ความรู้เรื่องข้อปฎิบัติของห้องปฏิบัติแก่ท่านผู้ฟังที่อยากรู้เรื่องห้องปฏิบัติ ซึ่งท่านเองเมื่อได้ฟังแล้ว ก็บอกว่า ไม่เหมือนกับการเจริญ สติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะเหตุว่าสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมใดๆ โดยความเป็นอนัตตา แล้วแต่สติ ไม่ใช่ว่าต้องไปเลือกที่จะระลึกรู้เฉพาะรูปนั้น หรือนามนี้
ขณะนี้สภาพธรรมใดกำลังปรากฏ ลมหายใจของใครปรากฏ ลมหายใจของใครไม่ปรากฏ สติของใครจะระลึกที่ลมหายใจ หรือไม่ระลึกที่ลมหายใจ เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เป็นเรื่องตัวตนที่จะไปดู การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการอบรมปัญญา โดยสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป นี่เป็นสิ่งที่ท่านสามารถพิจารณาและไตร่ตรองสอบทานเทียบเคียงได้
ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า
“อาจารย์กล่าวไปทำไม ย้ำไปทำไม ไม่รู้จักหมดจักสิ้นสักที เพื่ออะไร ผมไม่เข้าใจ ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎก พระพุทธองค์ก็ไม่เคยห้ามไว้ที่ไหนว่า อย่าไปสร้างห้องแคบๆ น่าทุเรศไว้ปฏิบัตินะ อย่าไปเลือกหาที่สงบเพื่อเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานนะ นั่นมันไม่ใช่ชีวิตปกติประจำวัน นั่นมันไม่ใช่วิธีการเจริญสติเป็นปกติประจำวัน อย่าไปสร้างสำนักสำหรับปฏิบัตินะ เหล่านี้ไม่เห็นพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามไว้ที่ไหนว่า ไม่ให้ไปปฏิบัติในสถานที่เช่นนั้น
ที่ผมกล่าวมานี้ ในพระไตรปิฎกจะมีหรือไม่มี ผมก็ไม่ทราบ เพราะไม่เคยอ่าน แต่ที่พูดนี้ ถือกฎธรรมชาติว่า ทุกคนจะทำอะไร จะอ่าน จะเขียน หรือจะเล่าเรียนอะไร ก็ต้องการสถานที่ที่สงบ ที่เงียบ ไม่พลุกพล่านจอแจกันทั้งนั้น แม้อาจารย์ที่กำลังบรรยายอยู่นี้ ก็ต้องการความสงบเงียบ หาไม่แล้วอาจารย์จะกำหนดสติเป็นปกติประจำวัน บรรยายให้ผู้ฟังไม่ได้แน่นอน“
นี่เป็นข้อความที่ท่านผู้ฟังเขียนมา ซึ่งดิฉันขอเรียนให้ทราบอีกครั้งหนึ่งว่า จุดประสงค์ของการบรรยายเรื่องแนวทางเจริญวิปัสสนา ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะสติมีแต่คุณ เป็นโสภณเจตสิก เป็นธรรมฝ่ายดี ไม่ให้โทษใดๆ ทั้งสิ้น ยิ่งเจริญมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นประโยชน์เท่านั้น
ที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า
“ทั้งๆ ที่ในพระไตรปิฎกพระพุทธองค์ก็ไม่เคยห้ามไว้ที่ไหนว่า อย่าไปสร้างห้องแคบๆ น่าทุเรศไว้ปฏิบัตินะ อย่าไปเลือกหาที่สงบเพื่อเข้าปฏิบัติกัมมัฏฐานนะ“
ขอเรียนให้ทราบว่า แม้ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้บำรุงอุปัฏฐากพระศาสนาฝ่ายอุบาสก วิสาขามหาอุบาสิกา ผู้อุปัฏฐากบำรุงพระศาสนาเป็นเลิศ เป็นเยี่ยมฝ่ายอุบาสิกา ก็ไม่เคยที่จะสร้างสำนักปฏิบัติสำหรับฆราวาส ข้อความในพระไตรปิฎกไม่มีสักตอนเดียวที่จะกล่าวถึงสำนักปฏิบัติของฆราวาส ในครั้งโน้นไม่มีใครเพิ่มเติมข้อปฏิบัติที่คลาดเคลื่อน ทุกท่านเป็นผู้ที่มีปกติอบรมเจริญสติ
และที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่า
“แต่ที่พูดนี้ ก็ถือกฎธรรมชาติว่า ทุกคนจะทำอะไร จะอ่าน จะเขียน หรือจะเล่าเรียนอะไร ก็ต้องการสถานที่ที่สงบ ที่เงียบ ไม่พลุกพล่านจอแจกันทั้งนั้น แม้อาจารย์ที่กำลังบรรยายอยู่นี้ ก็ต้องการความสงบเงียบ หาไม่แล้วอาจารย์จะกำหนดสติเป็นปกติประจำวัน บรรยายให้ผู้ฟังมิได้แน่นอน"
ท่านกล่าวว่า ท่านถือกฎธรรมชาติว่า ทุกคนจะทำอะไร จะอ่าน จะเขียน หรือจะเล่าเรียนอะไร ก็ต้องการสถานที่สงบเงียบ และชีวิตจริงๆ ชีวิตตามความเป็นจริงของทุกคน ทุกวัน เป็นอย่างไร ดิฉันเองขอเรียนให้ทราบว่า เคยไปที่ห้องปฏิบัติหลายปี สิ่งใดที่ไม่สามารถจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นอีกที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องทิ้งไป และจะต้องพิจารณารู้ว่า ที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ต้องเจริญอย่างไร จึงจะชื่อว่าเจริญปัญญา
เพราะฉะนั้น ข้อปฏิบัติสำคัญมากในการที่จะให้ปัญญารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็คือ ชีวิตจริงๆ ของแต่ละท่านเป็นอย่างไร สะสมมาอย่างไร ท่านก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ จะทำให้สติของท่านสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชินขึ้น บ่อยขึ้น มากขึ้น
การพูดธรรม สนทนาธรรม ไม่จำเป็นต้องเป็นที่นี่ ที่ไหนก็ได้ที่มีผู้ที่สนใจ สติจะเกิดที่นี่ก็ได้ ที่อื่นก็ได้ ในเมื่อทุกขณะเป็นสังสารวัฏฏ์ เป็นการเกิดสืบต่อกันของขันธ์ ของอายตนะ ของธาตุ วนเวียนอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ๖ ทาง
พุทธบริษัทมี ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ภิกษุก็สะสมเหตุปัจจัยมาต่างๆ กัน ด้วยความวิจิตรของจิต ของกรรม ของวิบาก ซึ่งแต่ละท่านนั้นก็เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ภิกษุณี ก็เช่นเดียวกัน อุบาสก อุบาสิกา ก็เช่นเดียวกัน แล้วแต่ว่าท่านสะสมเหตุปัจจัยมาอย่างไร ท่านก็เจริญสติเป็นปกติ และท่านก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อเหตุสมควรแก่ผล แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อท่านไปสู่เฉพาะสถานที่หนึ่งสถานที่ใด
การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้นั้น ก็ต่อเมื่อเหตุสมควรแก่ผล เพราะฉะนั้น ท่านสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ทุกแห่ง เพราะเหตุว่าเหตุได้บำเพ็ญสมควรแก่ผลแล้ว ท่านผู้ฟังที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ยามดึก สติอาจเกิดสืบต่อกันเป็นระยะที่นาน ความต้องการมีแล้วที่จะเกิดแทรก จ้องด้วยความยินดี ด้วยความพอใจ คิดว่าในขณะนั้น รู้ลักษณะของนามของรูปมากทีเดียว แต่ไม่ใช่การละ เวลานี้ถ้าสติท่านเกิด รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามธรรมรูปธรรมเท่านั้น ก็ละ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ปัญญาของท่านรู้สภาพธรรมจริง หรือว่ายังจะต้องเจริญอบรมอีกมาก ไม่ใช่เฉพาะเวลาที่ท่านอยู่ลำพัง
ท่านผู้ฟังเขียนมาว่า
“แต่เหตุใดอาจารย์จึงคัดค้านและย้ำหนักเรื่องผู้ที่ไปเข้ากัมมัฏฐานว่าไม่จำเป็น ไม่สำคัญ เพราะเป็นอัตตาตัวตน ไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ผมขอเรียนถามอาจารย์อย่างซื่อๆ ว่า ในพระธรรมวินัยท่านทรงห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติ ปฏิบัติในห้องที่จัดไว้ หรือที่ๆ ผู้ปฏิบัติเห็นสมควรนั้น มีห้ามไว้ในพระธรรมวินัยหรือเปล่า
อีกประการหนึ่ง บ้านเมืองและผู้คนในสมัยปัจจุบันกับสมัยพุทธกาลผิดกันราวฟ้ากับดิน วัตถุ บุคคล เครื่องล่อตาล่อใจ ก็ผิดกันราวฟ้ากับน้ำ สติปัญญาในการทรงธรรมของคนสมัยนี้กับสมัยพระพุทธองค์ก็ผิดกันอย่างพูดไม่ถูก ในสมัยพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงสอนเสร็จ ก็มีผู้สำเร็จมรรคผลเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน สมัยนี้สอนกันเป็นแรมปี อ่านพระไตรปิฎกกันจบแล้วจบอีก ก็ยังถกเถียงกันเรื่องสถานที่ที่ปฏิบัติไม่รู้จักจบ เป็นอันว่าคำสอนของพระพุทธองค์ไม่สำคัญเท่าสถานที่เสียแล้ว ชาวพุทธทุกคนก็รู้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญเพียรมานานถึง ๖ ปี เพิ่งมาตรัสรู้เมื่อตอนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ตีจากไปเสียจากพระองค์ เมื่อไม่มีใครรบกวนแล้ว พระองค์จึงทรงเลือกที่ที่ทรงเห็นว่าเป็นที่สงบ ไม่มีสิ่งใดๆ รบกวนแล้ว จึงทรงบำเพ็ญจนตรัสรู้ได้ เพราะสถานที่อันสงบเงียบนั้นใช่ไหม“
ท่านอ้างสถานที่อันสงบเงียบ ท่านผู้ฟังเป็นเพศบรรพชิต หรือว่าเป็นฆราวาส พระผู้มีพระภาคเสด็จออกเพื่อการตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในเพศของบรรพชิต หรือว่าในเพศของฆราวาสที่ว่าเมื่อบรรลุแล้วจะกลับมา ถ้าท่านเห็นว่าการเจริญสติปัฏฐานของท่านไม่สามารถที่จะเจริญได้ในเพศของฆราวาส ท่านมีเหตุปัจจัยสะสมมาที่จะบรรพชาอุปสมบท เจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิต ท่านทำได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความเข้าใจผิด โดยฐานะที่ท่านไม่ได้สะสมมาที่จะเป็นเพศบรรพชิต แต่ท่านจะไปเพื่อว่าบรรลุแล้วจะกลับมา นั่นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง
อีกประการหนึ่ง ขอให้ท่านผู้ฟังระลึกถึงคืนที่พระผู้มีพระภาคจะทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในยามต้น ทรงระลึกชาติเป็นอันมาก เป็นผลของการเจริญสมถภาวนา เรื่องของสถานที่ เรื่องของความสงบ เรื่องของพระบารมี เนกขัมมบารมีพร้อมด้วยการเป็นผู้ที่สั่งสมบุญกุศล เพียบพร้อมด้วยวิชาและจรณะ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทรงมีแต่การตรัสรู้อริยสัจธรรมเท่านั้น แต่ยังมีวิชาและจรณะ ซึ่งเป็นผลของการเจริญสมถภาวนาด้วย เพราะฉะนั้น ในยามต้น พระผู้มีพระภาคทรงระลึกชาติ ซึ่งเป็นผลของการเจริญสมถภาวนา
ในยามที่ ๒ ทรงรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ เป็นผลของการเจริญสมถภาวนา แต่ทั้งสองยามนั้นไม่ทำให้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่เป็นเรื่องที่ทรงบำเพ็ญมาในเพศของบรรพชิต และทรงเพียบพร้อมด้วยวิชาและจรณะที่จะเป็นอย่างนั้น
ในยามที่ ๓ ทรงระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ จนกระทั่งละอาสวะหมดสิ้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนาภาวนา
ถ้าท่านศึกษาในพระไตรปิฎก ชีวิตของบรรพชิต แม้ในการเจริญสมถภาวนา ถึงการระลึกชาติได้ ถึงการรู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ และสามารถแทงตลอดในสภาพธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า ทั้งสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
ยังมีอีกหลายประการที่คิดว่า ควรจะเรียนชี้แจงท่านเจ้าของจดหมายฉบับนี้
ท่านกล่าวว่า
“จิตสั่ง โยคีผู้ปฏิบัติ การเข้ากัมมัฏฐาน ออกกัมมัฏฐาน หรือคำอื่นๆ ที่ใช้กัน รู้กัน เข้าใจกันในระหว่างศิษย์อาจารย์ หรือในหมู่ผู้ศึกษาธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว อาจารย์ก็เอามายึดถือเป็นข้อโต้เถียงในการปฏิบัติวิปัสสนา ปฏิเสธว่าไม่มีใช้ในการเจริญสติเป็นปกติประจำวัน ทำเป็นไม่รู้ไม่เข้าใจ คล้ายๆ ว่า อาจารย์พยายามจะปฏิวัติคำเหล่านี้ให้หมดไป เพราะมันขัดกับความรู้สึกของอาจารย์กระมัง ดูประหนึ่งว่า คำเหล่านี้เป็นคำประหลาด แปร่งๆ ชอบกล ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลยฉะนั้น“
นี่เป็นความคิดของท่านเจ้าของจดหมาย ซึ่งดิฉันก็ได้เรียนให้ทราบแล้วว่า เรื่องของธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ทั้งพยัญชนะ ทั้งอรรถ ถ้าท่านใช้คำที่ทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนไป การปฏิบัติของผู้นั้นก็ผิดและคลาดเคลื่อนไปด้วย
อย่างเช่น “จิต" เป็นสภาพนามธรรม เป็นสภาพรู้ กำลังเห็น มีสีสันวัณณะปรากฏเพราะรู้ ธรรมชาติที่รู้นั้นเป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง เสียงปรากฏ เพราะรู้ เสียงก็ยังคงเป็นเสียง เป็นสภาพที่ปรากฏทางหู เป็นลักษณะหนึ่ง แต่ว่าที่กำลังรู้ในเสียงนั้นเป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง กลิ่นปรากฏเพราะรู้อีก ถ้าไม่มีการรู้กลิ่น กลิ่นจะปรากฏได้ไหม ไม่ได้ ที่กลิ่นปรากฏเพราะรู้ กลิ่นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่เสียง ไม่ได้ปรากฏทางหู แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏตรงจมูก รู้กลิ่นก็รู้ตรงจมูก เป็นแต่เพียงสภาพรู้กลิ่น เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง รสปรากฏเพราะรู้ เป็นสภาพรู้รส เป็นลักษณะของนามธรรมชนิดหนึ่ง เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวปรากฏเพราะรู้ เป็นแต่เพียงสภาพรู้ชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นก็รู้เย็นที่ปรากฏ รู้ร้อนที่ปรากฏ รู้อ่อนที่ปรากฏ รู้แข็งที่ปรากฏ รู้ตึงไหวที่ปรากฏ สติระลึกได้ รู้ว่า เป็นสภาพนามธรรม เป็นสภาพรู้ รู้ลักษณะของจิตที่รู้สี รู้เสียง รู้กลิ่น รู้รส รู้โผฏฐัพพะ หรือแม้แต่ขณะที่คิดนึก จิตกำลังรู้คำที่นึก รู้คำที่คิด
เพราะฉะนั้น ตรงกับสภาพธรรม ตรงกับพยัญชนะที่ทรงใช้ว่า ลักษณะของจิตเป็นแต่เพียงสภาพรู้อารมณ์ มีพยัญชนะใดหรือเปล่าที่ใช้ว่า ลักษณะของจิต สั่งอารมณ์ ไม่มีเลย เพราะฉะนั้น การใช้พยัญชนะที่ถูกต้อง ย่อมทำให้ท่านพิจารณาสำเหนียก รู้ลักษณะที่ลึกซึ้งของนามธรรมและรูปธรรมได้ถูกต้อง ไม่คลาดเคลื่อน
เป็นความจำเป็นที่ว่า ถ้าท่านผู้ฟังไม่สำเหนียก ไม่สังเกต ไม่รู้ว่า ถ้าท่านชินกับพยัญชนะใด ท่านอาจจะเข้าใจผิด คลาดเคลื่อนไปได้ อย่างคำว่า “ดู" แต่สติไม่ได้แปลว่าดู
ในพระไตรปิฎกทรงแสดงสภาพลักษณะของนามธรรมที่เป็นสติว่า เป็นสภาพที่ระลึกได้ แต่เวลาที่ท่านคิดว่า ดู จะมีตัวตนที่กำลังดู ซึ่งละไม่ได้ เพราะท่านไม่รู้ว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกจึงรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ ทันทีที่รู้ลักษณะปรมัตถธรรม นั่นเป็นลักษณะของสติที่ไม่หลงลืมและระลึกตรงลักษณะ ขณะที่กำลังระลึกรู้สภาวะลักษณะของนามหรือรูป เป็นสติที่ระลึก ไม่หลงลืม และสตินั้นก็ดับไป แล้วแต่ว่าจะระลึกได้บ่อยหรือไม่บ่อย แต่เวลาที่ท่านคิดว่าดู จะมีตัวตนที่กำลังดู ซึ่งละไม่ได้ เพราะท่านไม่รู้ว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกจึงรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ
นี่เป็นความละเอียดของธรรม เพื่อความเข้าใจชัดเจนของท่านผู้ฟัง และท่านสามารถตรวจสอบได้กับพระไตรปิฎก กับสภาพธรรมตามความเป็นจริง ทุกขณะที่สติระลึกในลักษณะของจิต จิตจะเป็นสภาพที่รู้
มีคำว่า “จิตตชรูป" จริง มีคำว่า “กัมมชรูป" มีคำว่า “อุตุชรูป" “อาหารชรูป"
สมุฏฐานที่ตั้งที่ก่อให้เกิดรูปนั้นมี ๔ กรรมก็เป็นที่ตั้งที่ก่อให้เกิดรูปขึ้น จิตก็เป็นที่ตั้งที่ก่อให้เกิดรูปขึ้น อุตุ ความเย็นความร้อนก็เป็นที่ตั้งที่ก่อให้เกิดรูปขึ้น อาหารก็เป็นที่ตั้งที่ก่อให้เกิดรูปขึ้น แต่ไม่มีกรรมสั่ง จิตสั่ง อุตุสั่ง อาหารสั่ง
จิตตชรูปทุกรูปเกิดพร้อมอุปปาทขณะของจิต จิตทุกดวงมี ๓ ขณะ คือ มี อุปปาทขณะ ขณะที่เกิดขึ้น ฐีติขณะ ขณะที่ยังไม่ดับไป ภังคขณะ ขณะที่ดับ ใน ๓ ขณะนี้ กัมมชรูปเกิดทั้งในอุปปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ แต่ว่าจิตตชรูปเกิดพร้อมกับอุปปาทขณะของจิต จะสั่งได้อย่างไร แต่เป็นสมุฏฐาน เป็นที่ก่อให้เกิดรูปนั้นขึ้นได้ แล้วแต่ว่าจะเป็นสภาพของจิตชนิดใด กุศลจิตเกิดขึ้น รูปที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตที่เป็นกุศลเป็นสมุฏฐาน ต่างกับรูปที่เกิดขึ้นเพราะมีจิตที่เป็นอกุศลเป็นสมุฏฐาน ไม่ได้สั่ง แต่เป็นสมุฏฐาน เป็นปัจจัยที่จะให้รูปนั้นเป็นไปอย่างนั้น
ถ้าท่านระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง สภาพธรรมก็ปรากฏโดยไม่คลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมวินัยที่ได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ที่ท่านจะพิสูจน์ได้ เพราะว่าเป็นสัจธรรม
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๒ ตอนที่ ๒๑๑ – ๒๒๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240