แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
ครั้งที่ ๒๒๒
ใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สติปัฏฐาน ๔ ประการ ๔ ประการเป็นไฉน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
ถ้าสติระลึกรู้สภาพปรมัตถธรรมที่ปรากฏที่กาย เป็นปัญญาที่เป็นสัมปชัญญะที่เกิดพร้อมกับสติและความเพียร ทำให้กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ข้อความต่อไปมีว่า
พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
สุข หรือทุกข์ หรืออุเบกขา อทุกขมสุขทางกายหรือทางใจ ถ้าสติระลึกได้เป็นปกติธรรมดา ชื่อว่า พร้อมสัมปชัญญะ คือ การรู้สึกตัว
สัมปชัญญะ คือ ปัญญาที่เกิดพร้อมสติ รู้ชัดในลักษณะปรมัตถธรรมว่า ความรู้สึกในขณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่การไปทำอย่างสมถภาวนา แต่เป็นความสมบูรณ์พร้อมด้วยสัมปชัญญะ การรู้สึกตัวในขณะนี้ และปัญญารู้ในสภาพธรรม แม้ความรู้สึกอย่างหนึ่งอย่างใดในขณะนี้ ก็เป็นแต่เพียงนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของสัมปชัญญะ คือ ความรู้สึกตัวตามปกติ เป็นปกติ พร้อมปัญญาที่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ว่าจะเป็นกาย หรือเวทนาก็ตามขณะนั้นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
ขณะนี้มีจิต มีสภาพรู้ มีสัมปชัญญะ รู้สึก ระลึกรู้ พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
จิตในขณะนี้จะเป็นอะไรก็ตาม มีเหตุปัจจัยให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ โดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถบงการจัดการให้เป็นอย่างอื่นได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทั้งหลายเมื่อพร้อมด้วยปัจจัยแล้ว ที่ใครจะไปยับยั้งว่าอย่าเกิดขึ้นนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นไปได้
ขณะนี้จิตจะเป็นโลภมูลจิต ขณะนี้จิตจะเป็นโทสมูลจิต ขณะนี้จิตกำลังเห็น กำลังได้ยิน ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะความสมบูรณ์พร้อมของปัจจัย เพราะฉะนั้น การรู้สึกตัวตามปกติ และสติระลึกรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรม ปัญญารู้ว่าลักษณะนั้นไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน จึงชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้
พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ ๑
ขณะนี้ธรรมปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเข้าใจการเจริญสติปัฏฐาน คือ เป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เลือกจดจ้องที่จะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นโดยลักษณะที่ติด ไม่ใช่เป็นลักษณะที่รู้แล้วละ ก็ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน
ท่านผู้ฟังท่านนี้กล่าวว่า คำที่ใช้กันอยู่รู้กันอยู่ในระหว่างศิษย์กับอาจารย์ เช่น จิตสั่ง รูปนั่ง เข้าออกวิปัสสนาต่างๆ เป็นต้น ท่านคิดว่าไม่จำเป็นที่ดิฉันจะต้องกล่าวถึงเลย แต่เท่าที่ได้ทราบ มีท่านผู้ฟังที่ไม่ได้รู้ลักษณะปรมัตถธรรมที่กาย แต่เข้าใจว่าการรู้กายนั้น คือ การรู้ท่าทางของรูปที่ประชุมรวมกัน โดยไม่ต้องมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดที่เป็นปรมัตถธรรมปรากฏ ท่านผู้นั้นเชื่อว่า ท่านได้ประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของรูปนั่งแล้ว ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร จะกล่าวอย่างไร ท่านก็ยืนยันว่า ผู้นั้นยังไม่ได้ประจักษ์สภาวธรรมเหมือนอย่างท่านที่ได้ประจักษ์แล้วว่า รูปนั่งเป็นสภาวธรรมที่มีจริง เกิดขึ้น และดับไปด้วย เป็นอุทยัพพยญาณแล้ว
เพราะฉะนั้น จะขอกล่าวถึงสภาวรูปอีกครั้งหนึ่ง เพื่อท่านผู้ฟังท่านอื่นจะได้พิจารณาด้วย ถ้าท่านยึดถือว่า ท่านได้ประจักษ์สภาวธรรมของรูปนั่งที่เกิดขึ้นและดับไป
รูปปรมัตถธรรมทั้งหมดมี ๒๘ รูป พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงรูปทั้ง ๒๘ นี้ โดยนัยต่างๆ เพื่อให้ผู้ฟังได้พิจารณา เพื่อน้อมระลึกถึงลักษณะของสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน ไม่เข้าใจผิด จึงสามารถละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้จริงๆ
รูปปรมัตถธรรม ๒๘ รูป ทรงแสดงว่าเป็นสภาวรูป ๑๘ รูป
สภาวรูป คือ รูปที่มีสภาวะลักษณะจริงๆ เป็นสลักขณรูป เป็นสัมมสนรูป เป็นรูปที่ควรแก่การพิจารณา เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังควรทราบว่า สภาวรูป ๑๘ รูปนี้ คือรูปอะไรบ้าง เวลาที่ท่านคิดว่าท่านประจักษ์สภาวรูป จะเป็นสภาวรูปที่ถูกต้องหรือว่าคลาดเคลื่อนไปเสียแล้วจากความเป็นจริง
สภาวรูป ๑๘ รูปนั้น แบ่งเป็นรูปหยาบ ๑๒ รูป รูปละเอียด ๖ รูป เป็นสิ่งที่ท่านตรวจสอบได้ เพราะเหตุว่าการที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้น ถ้าผิดจากความเป็นจริง ท่านจะยังยึดถือว่าท่านเห็นถูกไม่ได้
สำหรับสภาวรูปที่เป็นรูปหยาบ ๑๒ รูป แบ่งเป็นโคจรรูป คือ รูปที่เป็นอารมณ์ของตา หู จมูก ลิ้น กาย ๗ รูป คือ
วัณณะ สี เป็นของจริง เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ๑ รูป
สัททะ เสียง เป็นของจริง ปรากฏทางหู ๑ รูป
คันธะ กลิ่น เป็นของจริง ปรากฏทางจมูก ๑ รูป
รสะ รส เป็นของจริง ปรากฏทางลิ้น ๑ รูป
รวม ๔ รูปแล้ว ทางตา ๑ ทางหู ๑ ทางจมูก ๑ ทางลิ้น ๑
สำหรับทางกาย ได้แก่ โผฏฐัพพะ ๓ รูป คือ เย็น ร้อน ธาตุไฟ อ่อน แข็ง ธาตุดิน ตึง ไหว ธาตุลม อีก ๓ รูป รวม ๗ รูปนี้เป็นสภาวรูป และเป็นรูปที่เป็นอารมณ์ของอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย
ถ้าสติของท่านระลึกรู้ลักษณะของสภาวรูป คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จะเป็นหนทางที่ทำให้ท่านรู้ชัดในสภาพธรรม และทำให้ไม่ยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้ เพราะเหตุว่าสภาวรูปมีลักษณะแต่ละอย่างๆ ปรากฏแต่ละทาง ปรากฏแล้วก็หมดไป เป็นสภาวรูปหยาบ
สภาวรูปหยาบทั้งหมดมี ๑๒ รูป แต่ว่าสภาวรูปที่หยาบ ๗ รูปนี้ ปรากฏเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลาทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เพราะฉะนั้น ที่สติจะรู้ลักษณะของสภาวรูป ก็จะไม่พ้นจากการรู้สภาวรูปทางตา คือ สี สภาวรูปทางหู คือ เสียง สภาวรูปทางจมูก คือ กลิ่น สภาวรูปทางลิ้น คือ รส และสภาวรูปทางกาย คือ โผฏฐัพพะ ซึ่งปรากฏทีละลักษณะ แล้วแต่ว่าขณะนั้น อ่อนหรือแข็งปรากฏ เย็นหรือร้อนปรากฏ ตึงหรือไหวปรากฏ
สำหรับสภาวรูปหยาบอีก ๕ รูปนั้น คือ ปสาทรูป ๕ ซึ่งได้แก่ จักขุปสาทรูป ๑โสตปสาทรูป ๑ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑
นี่เป็นสภาวรูปหยาบ ๑๒ รูป
สภาวรูปทั้งหมดมี ๑๘ ที่เหลืออีก ๖ เป็นรูปที่มีสภาวะ เป็นสภาวรูป เป็นสุขุมรูป เป็นรูปละเอียด
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ใดที่เจริญสติปัฏฐาน แต่ท่านไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย เป็นปกติธรรมดาอย่างนี้ ท่านจะรู้สภาวะรูปอะไร ท่านจะรู้จักขุปสาทรูป หรือโสตปสาทรูป หรือฆานปสาทรูป หรือชิวหาปสาทรูป หรือกายปสาทรูป เพราะว่า ๑๒ รูปนี้เป็นรูปหยาบ เวลาที่ท่านเจริญสติ สภาพธรรมที่เป็นสภาวรูปปรากฏที่จะระลึกรู้ ถ้าท่านไม่ระลึกรู้รูปเหล่านี้ ท่านก็ไม่สามารถที่จะรู้สภาวรูปอื่นที่เป็นสุขุมรูปได้ เพราะเหตุว่าเป็นรูปที่ละเอียด
สำหรับสภาวรูปที่เป็นสุขุมรูป ๖ รูป คือ อาโปธาตุ ๑ โอชารูป ๑ ชีวิตินทริยรูป ๑ หทยรูป ๑ อิตถีภาวรูป ๑ ปุริสภาวรูป ๑
มหาภูตรูป มี ๔ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม แต่เวลาที่กระทบ ปรากฏที่กายจะไม่พ้นไปจากอ่อนแข็งที่เป็นธาตุดิน เย็นร้อนที่เป็นธาตุไฟ ตึงไหวที่เป็นธาตุลม ส่วนลักษณะของอาโปธาตุนั้น ไม่ปรากฏทางกาย แต่เป็นสภาวรูป เป็นสุขุมรูป สุขุมรูปอื่นอีก ๕ รูป คือ โอชารูป ได้แก่ โอชาในธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นอีกรูปหนึ่งซึ่งทำให้เกิดรูปได้ ในอาหารทั้งหลายที่กลืนกินเข้าไปจะมีโอชารวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยทำให้รูปอื่นเกิดสืบต่อไปได้ เพราะเหตุว่ามีโอชาเป็นปัจจัย
สำหรับโอชาที่อยู่ในอาหาร มีผู้ที่เจริญสติปัฏฐานคนใดจะรู้รูปนั้นไหม ลิ้นกำลังกระทบรส รสปรากฏ ถ้าสติไม่ระลึกรู้สภาวรูป คือ รส ท่านจะรู้โอชาที่อยู่ในอาหารนั้นซึ่งเป็นสุขุมรูปที่ไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น หรือกาย แต่จะรู้ได้ด้วยใจ เพราะเหตุว่าเป็นสภาวรูปที่เป็นสุขุมรูป จะเป็นไปได้ไหม
ถ. อาโปธาตุนั้น จะสัมผัสได้ด้วยอย่างไร จึงจะรู้ได้ว่าเป็นรูปน้ำ จะมีวิธีรู้ได้อย่างไร
สุ. สภาวรูป คือ รูปที่เป็นสภาวธรรม มีลักษณะจริงๆ ของรูปนั้น ส่วนรูปที่เป็นอสภาวะ เป็นแต่เพียงวิการ เป็นอาการของรูปที่เป็นสภาวธรรม และการที่สภาวรูปจำแนกออกเป็นโอฬาริกรูป รูปหยาบ ก็เพราะเหตุว่าปรากฏให้รู้ได้ ส่วนสภาวรูปที่เป็นรูปละเอียด จะรู้ได้ ก็ต้องรู้สภาวรูปที่เป็นรูปหยาบเสียก่อน
เพราะฉะนั้น การพิสูจน์ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงไว้โดยละเอียดที่เป็นความจริงทุกประการนั้น ก็แล้วแต่ปัญญาความสามารถของผู้ที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมนั้น และเวลาที่ท่านประจักษ์สภาพธรรมแต่ละชนิดตามความเป็นจริง ก็ไม่ผิดไปจากที่ได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก แต่ความรู้ของแต่ละบุคคลก็มีความละเอียดต่างกัน
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งถามว่า อากาศธาตุรู้ได้จริงๆ หรือ แต่เวลาที่ท่านรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็ต้องตรงตามพระธรรมวินัยไม่คลาดเคลื่อน ไม่มีที่สงสัยเลย แล้วแต่ว่าปัญญาความสามารถที่สะสมมาจะทำให้ท่านประจักษ์สภาพธรรมที่หยาบหรือที่ละเอียดมากน้อยต่างกัน
เวลาที่ลมกระทบ ปรากฏ รู้สึกว่าเป็นก้อนแท่งทึบเหมือนอย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางกายที่เป็นก้อนแท่งทึบหรือเปล่า เวลาที่ท่านจะประจักษ์สภาพธรรมที่เป็นลักษณะของรูป อย่างธาตุลมมีลักษณะตึงหรือไหว ที่จะปรากฏให้เห็นว่าเป็นลักษณะที่ไหวได้ ก็หลายกลาป และเป็นลักษณะที่เบา ซึ่งถ้าปัญญาประจักษ์ในลักษณะที่เป็นธาตุลมจริงๆ ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีความยึดถือว่าเป็นตัวตน ปัญญารู้ชัด รู้ละเอียด รู้ถึงลักษณะของสภาวธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง แต่ไม่ใช่เรื่องที่ท่านผู้ฟังจะเป็นห่วง
แต่เรื่องที่ท่านผู้ฟังควรจะทราบก่อน คือ อะไรเป็นสภาวรูป อะไรไม่ใช่สภาวรูป เพื่อที่จะได้เจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ลักษณะของสภาวรูปตามความเป็นจริง ไม่ไปหลงยึดถือสิ่งที่ไม่ใช่รูปว่าเป็นรูป และเข้าใจว่าได้ประจักษ์ลักษณะความไม่เที่ยง ความเกิดขึ้น และดับไปแล้ว โดยที่แม้พระธรรมวินัยจะได้ทรงแสดงไว้อย่างละเอียด และสภาพธรรมก็ปรากฏให้พิสูจน์
สำหรับสภาวรูปที่เป็นสุขุมรูปมี ๖ รูป คือ ธาตุน้ำ อาโปธาตุ ๑ เป็นทูเรรูป เป็นรูปไกล เป็นอัปปฏิฆรูป เป็นรูปที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กายไม่ได้
ความจริงธาตุน้ำก็มีอยู่ในกาย ที่ใดมีธาตุดิน ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ต้องมีธาตุน้ำเกาะกุมธาตุทั้งสี่นี้ไม่ให้กระจัดกระจายแยกออกจากกัน ทั้งๆ ที่อยู่ที่ตัว หรือว่ารวมอยู่ในมหาภูตรูป แต่ทำไมเป็นทูเรรูป ทำไมเป็นรูปไกล ที่ว่าเป็นรูปไกลนี้ เพราะไกลหรือยากต่อการที่จะรู้แจ้ง ทั้งๆ ที่อยู่ที่ตัว แต่โดยลักษณะของรูปนั้นเป็นสุขุมรูป เป็นรูปละเอียด เป็นทูเรรูป เป็นรูปที่ยากที่จะรู้แจ้งได้ เพราะเหตุว่าเป็นอัปปฏิฆรูป กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่ได้
สำหรับโอชารูปเป็นสุขุมรูป ๑ ชีวิตินทริยรูปเป็นสุขุมรูป ๑ เป็นรูปที่เกิดร่วมกับรูปที่เกิดเพราะกรรม เป็นสภาพที่ดำรงรักษารูปที่เกิดร่วมกันให้ดำรงอยู่ เป็นรูปที่ทรงชีวิตหรือมีชีวิต เป็นลักษณะที่ทำให้รูปที่เกิดจากกรรมนั้นต่างจากรูปที่เกิดเพราะอุตุ หรือเพราะอาหาร
หทยรูป เป็นรูปซึ่งเป็นที่เกิดของจิตทุกดวงเว้นจักขุวิญญาณ โสตวิญญาณฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ
เวลาเห็น จิตเห็นเกิดที่จักขุปสาท เวลาได้ยิน จิตได้ยินเกิดที่โสตปสาท เวลาได้กลิ่น รู้กลิ่น จิตที่รู้กลิ่นเกิดที่ฆานปสาท เวลารู้รส จิตที่รู้รสเกิดที่ชิวหาปสาท เวลารู้เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งที่ใด จิตที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง เกิดที่กายปสาท ตรงนั้น ที่นั่น
แต่จิตอื่น เช่น โลภมูลจิต ความคิดนึกต่างๆ เหล่านี้ เกิดที่หทยรูป เพราะว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ที่นามขันธ์จะเกิดโดยลำพัง โดยไม่อาศัยเกิดที่รูปนั้น ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ที่ซึ่งเป็นที่จิตอื่นเกิดนอกจากทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ ดวง คือ ที่หทยรูป
สำหรับอิตถีภาวรูป ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ปุริสภาวรูป ซึมซาบอยู่ทั่วตัว เป็นสุขุมรูปที่เป็นสภาวรูป
สภาวรูป ๑๘ รูป เป็นรูปหยาบ โอฬาริกรูป ๑๒ รูป และเป็นสุขุมรูป ๖ รูปเท่านั้น ไม่มีรูปนั่งเลย
ถ้าท่านผู้ใดจะไม่ระลึกรู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เป็นสภาวรูป รูปหยาบที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ท่านอยากจะรู้สุขุมรูปซึ่งเป็นสภาวรูป ท่านจะต้องรู้อาโปธาตุ โอชารูป ชีวิตินทริยรูป หทยรูป อิตถีภาวรูป และปุริสภาวรูปเท่านั้นที่เป็นสภาวรูป พ้นจากนี้แล้ว ท่านจะกล่าวว่าท่านประจักษ์สภาวะ คนอื่นกล่าวว่ารูปนั่งไม่ใช่สภาวรูปเพราะว่าไม่ได้ประจักษ์รูปนั่ง ท่านกล่าวได้อย่างไร ในเมื่อบุคคลอื่นในครั้งพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกทั้งหลายก็ได้เจริญปัญญา รู้รูปทั่วถ้วนทั้งปวงว่า รูปใดเป็นสภาวรูป รูปใดไม่ใช่สภาวรูป ท่านเหล่านั้นท่านเจริญปัญญารู้สภาวรูป และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงว่า สภาวรูปมีรูปอะไรบ้าง รูปอะไรเป็นอสภาวรูป
เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลอื่นเจริญสติปัญญา รู้สภาวรูปตามความเป็นจริงว่าเป็นสภาวรูป ท่านยังจะกล่าวว่า คนอื่นไม่รู้สภาวรูปเพราะว่าไม่ได้ประจักษ์รูปนั่งว่าไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป อย่างนั้นถูกหรือผิด และสามารถที่จะแยกเพื่อจะละการยึดถือรูปที่ประชุมรวมกันออกเป็นแต่ละลักษณะของรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายได้ไหม โดยการที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของสี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นรูปหยาบ ๗ รูป
รูปหยาบมี ๑๒ ถ้าท่านไม่รู้ ๗ รูปนี้ ท่านจะรู้รูปหยาบ คือ จักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ๕ รูปหรือ ท่านกล่าวกันว่า คนสมัยนี้สติปัญญาน้อยต้องรู้รูปหยาบ ถ้าต้องรู้รูปหยาบจะพ้นไปจากรูป ๑๒ รูปนี้ไม่ได้ และรูปหยาบที่เป็นโคจร เป็นอารมณ์ ก็คือ สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๒๒๑ – ๒๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240