แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
ครั้งที่ ๒๒๗
ข้อ ๑๘๒ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่ง
ข้อนี้ท่านผู้ฟังจะสังเกตได้จากการสนทนาระหว่างผู้ที่สนใจธรรมว่า ก่อนการสนใจในธรรมนั้น กุศลจิตเกิดน้อย แต่ว่าเมื่อมีความสนใจในธรรมมากขึ้น กุศลทั้งหลายก็เพิ่ม เจริญมากขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นในทาน ในศีล ในความสงบของจิต หรือว่าในการเจริญสติปัฏฐานก็ตาม กุศลธรรมก็ย่อมจะเกิดขึ้น และเจริญขึ้น ไพบูลย์ยิ่งขึ้น
ข้อ ๑๘๓ ถ้าท่านผู้ฟังไม่ข้ามพยัญชนะ ก็จะเป็นข้อเตือนใจท่านผู้ฟังได้ประการหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป
กุศลเกิดแล้ว แต่ว่าเสื่อมไปได้ เพราะอะไร
กุศลเกิดโดยการที่ท่านเริ่มสนใจในปรมัตถธรรม ท่านเริ่มสนใจในการศึกษาปริยัติ แต่ว่ากุศลเสื่อมไป เพราะการไม่ไตร่ตรองในข้อปฏิบัติให้ถูกต้องตามปริยัติ ผู้ที่สนใจในการศึกษาปรมัตถธรรม อภิธรรม มีความรู้มากในปริยัติธรรม แต่การปฏิบัติไม่ตรงกับปริยัติ กุศลธรรมเกิดแล้ว แต่กลับเสื่อมไป ไม่สามารถทำให้เจริญไพบูลย์ ด้วยการที่ให้การปฏิบัตินั้นตรงกับปริยัติ ให้การรู้แจ้งสภาพธรรมตรงตามปริยัติที่ได้เรียน เพราะฉะนั้น กุศลธรรมเกิดโดยที่สนใจในการศึกษาปริยัติ แต่เสื่อมเพราะปฏิบัติไม่ตรงกับปริยัติ ซึ่งในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่เกิดขึ้น หรือกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นผิด กุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้น และกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป
สำหรับกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิดขึ้นเพราะมิจฉาทิฏฐิ สติที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติในชีวิตประจำวันไม่เกิดเลย เพราะมิจฉาทิฏฐิ เพราะความเห็นผิดในข้อปฏิบัติ
เป็นไปได้ไหม ถ้าเป็นไปไม่ได้ พระผู้มีพระภาคจะไม่ตรัสพยัญชนะนี้เลย
ผู้ใดก็ตามที่เข้าใจข้อปฏิบัติว่า จิตจะต้องสงบเสียก่อน ปัญญาจึงรู้ลักษณะของนามธรรม ของรูปธรรม ถ้าจะเรียนถามท่านผู้นั้นว่า สติมีลักษณะอย่างไร จะตอบได้ไหม โดยเฉพาะท่านที่เคยฝังใจว่า จะเจริญสมถภาวนาเสียก่อน และเอาสมถภาวนานั้นเป็นบาทยกขึ้นสู่วิปัสสนา ถ้าท่านผู้นั้นไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ท่านผู้นั้นจะทราบลักษณะของสติที่ระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิตที่สงบว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ไหม ถ้าไม่เคยเจริญสติเป็นปกติ ไม่รู้ลักษณะของสติ จะยกอย่างไร อะไรยก ถ้าไม่ใช่ตัวตนยก เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นตัวตนที่ยกขึ้นสู่วิปัสสนา และยกอย่างไร ในเมื่อปกติไม่เคยรู้ลักษณะของสติเลย ซึ่งท่านที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะไม่สามารถรู้ลักษณะของสติเลย
แต่ผู้ที่รู้ลักษณะของสติ แยกจากลักษณะของสมาธิ ก็เพราะเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เป็นผู้ที่รู้ลักษณะของสติ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องไปสงบ หรือว่าเจริญสมถภาวนาเสียก่อน เพราะว่าสติ คือ สภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยที่สติเป็นอนัตตา ผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ โดยไม่เลือก ไม่เจาะจงสถานที่ หรืออารมณ์ ย่อมจะรู้ลักษณะของสติว่า สติมีลักษณะเป็นอนัตตาจริงๆ บังคับไม่ได้ว่า จะให้ระลึกรู้นามนั้น รูปนี้ เวลานั้น เวลานี้ สถานที่นั้น สถานที่นี้ แต่ลักษณะของสติ คือ สภาพที่กำลังระลึกรู้ ไม่หลงลืม ระลึกรู้ในลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่เป็นผู้ที่ตั้งใจไว้ว่า จะเจริญสมถภาวนาแล้วก็จะยกขึ้นสู่วิปัสสนา
ด้วยเหตุนี้ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดจริงๆ และพิสูจน์ตรวจสอบได้กับสภาพธรรม
ถ. ที่อาจารย์สอน ผมเชื่อทุกๆ อย่าง เพราะตรงตามพระพุทธพจน์ แต่ทีนี้ความเข้าใจที่อาจารย์สอน ตัวผมเองยังปฏิบัติไม่ได้ ยังสรุปไม่ได้
สุ. โดยมากท่านที่คิดว่าจะทำวิปัสสนา ท่านมักจะถามกันว่า ได้อะไร คือ ใช้คำผิดกันตั้งแต่ต้น และมีความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานไม่ถูกตั้งแต่เบื้องต้น เพราะฉะนั้น คำถามแรกที่ถามกัน คือ ถามว่าได้อะไร แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานถูกต้องจะถามว่า รู้อะไร และละอะไร
การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ด้วยอวิชชาและตัณหา ไม่ใช่ด้วยความไม่รู้ และไม่ใช่ด้วยความต้องการที่จะได้ แต่ว่าเป็นการละกิเลสและอกุศลธรรมทั้งหมดที่สะสมอยู่ในจิต ดับหมดสิ้นเป็นสมุจเฉท เป็นลำดับขั้น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังยังไม่รู้ตัวว่ามีกิเลสมากเหลือเกิน ก็จะไปเพิ่มโดยเอาเข้ามาอีก ไม่ใช่เรื่องรู้ ไม่ใช่เรื่องละ แต่เรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของการรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้น เป็นเรื่องที่ละกิเลสและอกุศลธรรมก็เพราะรู้
ขณะที่ท่านฟัง ท่านมีความเข้าใจ หรือว่ายังไม่รู้อะไร ยังไม่เข้าใจอะไรอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น การที่จะเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญปัญญา ต้องมาจากขั้นของการฟังเป็นอันดับแรก ไม่ใช่ว่า สนใจในการเจริญสติปัฏฐานก็ถามว่า ทำอย่างไร นั่นไม่ถูกแล้ว แต่เป็นเรื่องเข้าใจ เป็นเรื่องความรู้ ตั้งแต่ขั้นของการฟัง เมื่อมีความเข้าใจ มีความรู้ในขั้นของการฟังถูกต้องแล้ว เป็นอาหารให้สติ ระลึกได้ในลักษณะของสภาพธรรม มีการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏในขณะใด ขณะนั้นเป็นการเจริญสติ คือ การระลึกเพื่อรู้ในสภาพธรรมเพิ่มขึ้น เป็นการระลึกเพื่อรู้ในลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนตามที่ได้ยินได้ฟังมา เพื่อให้รู้ชัดยิ่งขึ้น นี่คือการเจริญสติปัฏฐาน
ผู้ที่มีปกติเจริญสติทราบว่า ปัญญาเริ่มรู้ในลักษณะของนามธรรมใดบ้างแล้ว ในลักษณะของรูปธรรมใดบ้างแล้ว เพราะสติระลึก ปัญญาจึงค่อยๆ รู้ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะถึงขั้นของความสมบูรณ์ที่เป็นความรู้ชัดแต่ละขั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องทำอย่างไร แต่เป็นเรื่องที่ต้องเกิดจากความเข้าใจที่ถูกต้องตั้งแต่ขั้นของการฟัง และขณะใดที่สติเกิด ขณะนั้นผู้นั้นปฏิบัติธรรม เพราะเหตุว่าไม่ใช่เพียงฟัง แต่สติระลึก ปฏิบัติ คือ ระลึก ทำกิจระลึก และปัญญารู้ลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่หมายความว่า ผู้ที่มีปกติเจริญสติไม่ใช่เป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนั้นผิด เพราะว่าในพระไตรปิฎกทรงแสดงให้พุทธบริษัทเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติเพื่อปัญญาจะได้เป็นวิปัสสนาญาณ
ถ. แต่ก่อนผมหลงว่า ฉันจะเป็นพระโสดาบันให้ได้ หลงทำสมถะเสียก่อน แล้วจะไปขึ้นวิปัสสนาทีหลัง สับสนเหลือเกิน ผมไม่โทษอาจารย์ มิจฉาทิฏฐิ อาจารย์สอนไม่ดี ผมโทษว่าผมโง่เอง ตั้งแต่ ๒๐ กว่าเป็นต้นมาจนบัดนี้ ๖๐ กว่า สับสนครับ ยิ่งตอนแก่ๆ เรียนมากแล้วกลัวตาย กลัวว่าตอนจะตายจะทำอย่างไร สติสตังก็ไม่มี จะทำอย่างไร มันสับสน
สุ. ถ้าท่านผู้ฟังรู้สึกว่า ที่ผ่านมาแล้วเป็นเรื่องหนัก ไม่ใช่เรื่องเบา เป็นเรื่องสับสน เป็นเรื่องไม่รู้ เป็นเรื่องที่เคยเข้าใจว่าบรรลุธรรมเป็นพระอริยเจ้า แต่ตามความเป็นจริงนั้น ไม่รู้อะไร ก็เป็นการดีที่ท่านได้ทราบ เมื่อทราบแล้ว ทิ้งความหนักทั้งหมด เพราะเหตุว่าตราบใดที่หนัก นั่นเป็นเพราะความต้องการ ขณะใดที่สติระลึก ก็รู้ ขณะใดที่ไม่รู้ ก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น มีชีวิตดำเนินไปเป็นปกติตามธรรมดา ระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ทีละเล็กทีละน้อย แต่ว่าระลึกตรงลักษณะ
ที่ว่าเป็นอนัตตา เพราะว่าไม่มีความจงใจ ไม่มีความต้องการใดๆ ที่ไปสร้างขึ้น หรือว่าไปทำขึ้น ซึ่งสติสามารถที่จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏได้ตามความเป็นจริง แม้ว่าในเบื้องต้นจะน้อยมาก แต่เมื่อระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้ว เป็นสิ่งที่ควรเจริญมาก ถ้าท่านไปรู้อย่างอื่นที่ไม่ใช่สภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างนั้นไม่ควรเจริญ เพราะเหตุว่าไม่สามารถจะทำให้ท่านระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้ แม้น้อย แต่จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และละเอียดขึ้นได้ อย่าไปเร่งรัด อย่าไปต้องการ อย่าเป็นตัวตนที่พยายามจะทำอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งจะหนักมากทีเดียว เพราะว่าธรรมทั้งหมดถ้าเป็นกุศลธรรมแล้ว ก็เบา
การที่จะละกิเลส ไม่ใช่ละได้ด้วยความต้องการ แต่จะละได้จริงๆ เพราะปัญญารู้ถูกต้องตามความเป็นจริง และไม่ใช่ปัญญาเพียงขั้นฟัง ขั้นคิด แต่เป็นปัญญาที่เกิดพร้อมสติที่ระลึกตรงลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ตามปกติ
รู้ตัวเองจริงๆ ตัวเองจะดีมาก จะชั่วมากน้อยอย่างไร ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนี้ คงไม่มีใครที่ไม่โกรธ หรือคิดว่าเจริญสติปัฏฐานแล้วไม่โกรธ นั่นถูกหรือผิด ในเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดโลภะมากหรือน้อย ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานรู้ตามความเป็นจริงว่าสภาพธรรมนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
เพราะเคยสะสมอบรมความเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ รู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง บุคคลนั้นจึงสามารถที่จะบรรลุความเป็นอรหันต์ได้แม้เพียงอายุ ๗ ขวบ ทั้งๆ ที่เป็นวัยที่ควรจะเพลิดเพลินสนุกสนานกับการเล่นสนุกต่างๆ แต่เพราะเหตุใดจึงสามารถบรรลุความเป็นอรหันต์ได้ ก็เพราะรู้สภาพธรรมตรงตามความเป็นจริง ไม่ได้ไปสร้างขึ้นมาปกปิดธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ท่านจะไปที่ไหนวันนี้ ท่านจะทำอะไร แม้แต่เพียงจะหันหน้าไปทางซ้าย ทางขวา จะพูดอะไร จะคิดนึกตรึกตรองอะไร ก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด แต่ที่ท่านจะรู้ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยได้จริงๆ ก็เพราะสติระลึกตามปกติ จึงจะเห็นความเป็นปัจจัยของนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏตามความเป็นจริงได้ ถ้าหนักใจ ก็เป็นเรื่องของตัวตนกับความต้องการ เป็นเรื่องของความเห็นผิด มิจฉาทิฏฐิ กับเป็นเรื่องของอภิชฌา ความต้องการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่เจริญเหตุ
ถ้ารู้อย่างนี้จริงๆ จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร ไม่กังวลเลย เพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้น เพิ่มขึ้น จึงจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ใช่ว่าทั้งๆ ที่ยังงง ยังหนักใจอยู่ ก็จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานที่ว่าเป็นข้อยากนี้ มีอยู่เพียงประการเดียวเท่านั้น คือ เป็นปกติจริงๆ เป็นปกติทุกอย่าง จึงชื่อว่าเป็นการเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งท่านสามารถตรวจสอบพยัญชนะนี้ได้ในพระไตรปิฎก คือ ความเป็นผู้ที่มีปกติระลึกรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ไปบังคับด้วยความเป็นตัวตน ด้วยความไม่รู้ หรือว่าต้องไปทำอย่างอื่น แต่ที่ยาก เพราะว่าการที่จะให้สติระลึกในสภาพธรรมตามปกติที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ย่อมยากกว่าการที่จะไปบังคับให้จิตเป็นสมาธิอยู่สักครึ่งชั่วโมง แต่ไม่สามารถที่จะระลึกรู้สภาพธรรมประจำวันตามปกติได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๒๒๑ – ๒๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240