แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
ครั้งที่ ๒๒๘
เพราะฉะนั้น ในครั้งพุทธกาลผู้ที่ท่านเจริญสมถภาวนามาก่อน เมื่อได้ฟังธรรม ท่านก็ต้องเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ๔ ระลึกรู้สภาพธรรมที่เคยยึดถือว่าเป็นกาย เวทนา จิต ไม่ว่าจะเป็นจิตที่สงบหรือไม่สงบก็ตาม และธรรมทั้งปวงด้วย จึงจะเป็นผู้ที่สามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ใช่เจริญความสงบ และอาศัยความสงบนั้นมารู้แจ้งสภาพธรรมโดยไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ อย่างนั้นไม่สามารถจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ท่านที่ยังงง ยังสงสัย ยังหนักใจอยู่ ขอให้อุ่นใจในขั้นแรก คือ เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ไม่ต้องไปทำอะไรให้ลำบาก ให้เดือดร้อน ขณะหนึ่งที่สติเกิดจะเป็นปัจจัยให้เกิดสติครั้งต่อไป ขณะต่อไป วันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีสติเกิดเลยสักขณะเดียว อีกวันหนึ่งก็อาจจะมีสติบ้างบางขณะ เล็กๆ น้อยๆ ก็อย่าเดือดร้อนใจ เพราะว่าความเดือดร้อนใจนั้นเป็นตัวตน หนาแน่นไหมที่จะต้องละ ซึ่งกว่าจะรู้ชัดในสภาพธรรมละเอียดขึ้น ทั่วขึ้น จนไม่หวั่นไหว และไม่เดือดร้อนได้ ก็ด้วยสติ ระลึกรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อย อย่าคิดว่า การที่รู้ลักษณะสภาพธรรมตามความเป็นจริงทีละเล็กทีละน้อยนี้ จะไม่ใช่การที่จะทำให้รู้แจ้ง เพราะเหตุว่าการรู้แจ้งนั้น ไม่ใช่รู้แจ้งสภาพธรรมอื่นเลย นอกจากสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกติ
เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัว โดยคิดว่าจะต้องเจริญสติให้ต่อกันไปไม่หยุดเลย จึงจะประจักษ์ความเกิดดับของนามรูป นั่นไม่ใช่หนทาง แต่หนทางที่จะประจักษ์ความเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรมโดยสภาพที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนได้ ก็โดยที่ขณะใดสติเกิดและปัญญาที่อบรมมาแล้วสามารถรู้ชัดได้ แม้ว่าบางวันสติไม่เกิด แต่เพราะอบรมมาแล้ว เมื่อสติเกิดปัญญาก็สามารถรู้ชัดได้
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องที่ค่อยเป็นค่อยไปจริงๆ ไม่ใช่ว่าท่านสามารถที่จะรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้อย่างรวดเร็วเพราะว่าการที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏนี้ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ และการรู้ไม่ใช่รู้อย่างอื่น ถ้าท่านไปรู้อย่างอื่นมากมาย แต่ว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือกำลังได้ยิน กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ ท่านไม่รู้ อย่างนี้ไม่ใช่การเจริญสติปัฏฐาน และไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาด้วย
เพราะฉะนั้น ท่านที่สนใจในการเจริญสติปัฏฐาน ท่านจะต้องทราบเสียก่อนว่าเป็นการเจริญความรู้ ธรรม คือ ธรรมดา ทุกวันๆ ที่เป็นปกติในชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง มีการเห็น มีการได้ยิน มีการได้กลิ่น มีการรู้รส มีการรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส มีความคิดนึก มีสุข มีทุกข์ มีเหตุการณ์มากมายเหลือเกินที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคนในแต่ละวัน
ถ้าท่านผู้ฟังเป็นผู้ที่สังเกตชีวิต จะเห็นได้ว่า ชีวิตของท่านไม่ซ้ำกันสักวันเดียว เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ซึ่งแสดงสภาพลักษณะของธรรมที่เกิดขึ้นแล้วหมดไป เมื่อมีปัจจัยที่จะให้สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นก็เกิดขึ้นเป็นไป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ มีความรู้สึกมากมายหลายประการที่เกิดขึ้นใน วันหนึ่งๆ บางวันบางท่านอาจจะรู้สึกตื่นเต้นยินดีพอใจมาก เป็นสุข แต่อีกวันหนึ่งอาจจะเป็นความทุกข์มากหรือน้อย อาจจะมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกอาลัยอาวรณ์ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริง ชีวิตทุกขณะเป็นธรรมทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น การที่จะละคลายการยึดถือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เพราะเหตุปัจจัยนั้น จะต้องอาศัยสติระลึกรู้ในสภาพลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ บ่อยๆ เนืองๆ จนกระทั่งความรู้เพิ่มขึ้น มากขึ้น จึงสามารถแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงได้
ถ้าเกิดความยินดีพอใจขึ้นในขณะหนึ่งขณะใด ถ้าไม่เจริญสติปัฏฐาน จะเปรียบเทียบไม่ได้ว่า ขณะนั้นเป็นลักษณะที่หนักใจ แต่ถ้าทันใดนั้นสติสามารถระลึกรู้ได้แม้ในขณะนั้นว่า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ไม่เหมือนกับลักษณะของนามธรรมอื่น ไม่เหมือนกับลักษณะของรูปธรรม มีสภาพธรรมที่มีลักษณะต่างๆ กัน ไม่ใช่ปรากฏแต่เฉพาะสภาพธรรมนั้นอย่างเดียว เห็นก็มี ได้ยินก็มี ลักษณะของสภาพธรรมอื่นก็มี ถ้าสติระลึกรู้จริงๆ ในขณะนั้น ขณะนั้นก็เบา
การเจริญสติปัฏฐานไม่มีอะไรที่จะต้องเดือดร้อนหรือลำบากใจ กำลังเห็น กำลังได้ยิน คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ โลภะ หรือโทสะก็ตาม เป็นปกติประจำวันที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่สติระลึกได้ และก็ควรระลึกเพื่อจะได้รู้ชัด
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นความลึกซึ้งของสภาพธรรมที่ปรากฏเป็นปกตินี้เองว่า ยากที่จะให้บุคคลอื่นพิจารณาและรู้สภาพธรรมที่เป็นปกตินี้เองตามความเป็นจริง เพราะว่าอวิชชา ความไม่รู้ และความเห็นผิดในข้อปฏิบัตินั้น จะทำให้ท่านต้องการทำอย่างอื่นเช่น ทำให้จิตสงบ ซึ่งการปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบนั้นมีก่อนการตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า สัตว์โลกที่ยังไม่ทราบหนทาง ย่อมแสวงหาหนทาง และเห็นว่าหนทางหนึ่ง คือ การทำให้จิตสงบ
เพราะฉะนั้น การที่จะให้สัตว์โลกเกิดปัญญา พิจารณารู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติตามความเป็นจริง เป็นตอนที่ยากที่สุดที่จะให้หันกลับมาเห็นความจริงว่า การรู้ของจริงที่เป็นสัจธรรมนั้น ไม่ใช่รู้อย่างอื่น แต่ต้องเพียรระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
การที่จะพูดถึงวันเวลา เป็นต้นว่า เมื่อวานนี้ก็ดี หรือว่าอดีตที่ผ่านไปทุกๆ ขณะ ไม่ใช่เป็นการพูดลอยๆ แต่ว่าทุกๆ ขณะนั้นจะต้องมีสภาพปรมัตถธรรม สภาพธรรมแต่ละชนิดเกิดปรากฏในขณะนั้นด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ปรมัตถธรรมที่เกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วนั้น เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป เมื่อเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และทุกคนก็รับรองความจริงโดยการฟัง แต่ความรู้จริงที่เป็นขั้นอริยสัจธรรม ปฏิเวธธรรมนั้น คือการแทงตลอดในลักษณะสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว สามารถที่จะรู้ความจริงข้อนี้ได้ไหม ถ้าเป็นของจริงก็ทนต่อการพิสูจน์ ซึ่งท่านอาจจะคิดว่าปัญญาก็ยังไม่รู้ชัดสักทีหนึ่ง แต่การเจริญการอบรมความรู้เพื่อละความไม่รู้นั้น ขอให้คิดถึงจำนวนของอวิชชา และกิเลสที่สะสมมาในอดีตอนันตชาติว่ามากหรือน้อย ที่จะขัดเกลาให้หมดไปทันทีทันใด เพียงแค่สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้างเล็กๆ น้อยๆ นั้น ได้ส่วนกันไหมกับกิเลสที่สะสมมาแสนนานและมากด้วย
ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาและเปรียบเทียบเหตุกับผล เพื่อท่านจะไม่หลงไปปฏิบัติอย่างอื่น นอกจากสติจะระลึกรู้ตรงลักษณะสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรม
วันนี้มีท่านผู้ฟังที่รู้สึกโกรธจัดบ้างไหม โกรธมากๆ นี่ไม่ใช่ทุกวัน บางวันเต็มไปด้วยสิ่งที่น่าพอใจจนกระทั่งความขุ่นใจ หรือความขัดเคืองใจ ความไม่แช่มชื่นใจเกือบจะไม่ปรากฏ ซึ่งความจริงมี แต่ลักษณะนั้นไม่แรงกล้า เพราะฉะนั้น ก็ไม่รู้ชัดว่าเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ขุ่นใจ ขัดเคืองใจ หรือไม่พอใจ
และทำไมถึงโกรธจัดได้มากมายอย่างนั้น ก็เพราะเชื้อที่สะสมมาเป็นเหตุปัจจัยให้ความโกรธนั้นกล้ารุนแรงจนกระทั่งปรากฏเป็นลักษณะอาการที่โกรธจัด ฉันใด ในทางตรงกันข้าม ถ้าท่านอบรมเจริญสติเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติตามความเป็นจริงไปเรื่อยๆ ทีละเล็กทีละน้อยๆ จะไม่มีสักวันหนึ่งเชียวหรือที่ปัญญาสามารถรู้ชัด และแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏ ที่เกิดขึ้น และดับไปตามความเป็นจริงได้ ในเมื่อความโกรธยังเกิดได้รุนแรงอย่างนั้นเพราะว่าสะสมมา สติและปัญญาที่สะสมไปทีละเล็กทีละน้อยๆ ทำไมวันหนึ่งจะไม่สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ก็ย่อมได้
แต่การสะสมเป็นเรื่องละเอียด ท่านผู้ฟังอาจไม่ได้สังเกตว่า สติเริ่มระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แต่อาจจะน้อย เพราะเหตุว่าก่อนที่จะได้ฟังเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ยังไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสติได้ ทราบโดยการฟังว่า สติเกิดขึ้นทุกครั้งที่จิตเป็นกุศล ในขณะที่ให้ทาน ไม่ใช่ตัวตน เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในทาน ในขณะที่วิรัติทุจริตทางกาย ทางวาจา หรือกระทำสิ่งที่ควรทางกาย ทางวาจา นั่นก็ไม่ใช่ตัวตน เป็นสติที่ระลึกเป็นไปในการวิรัติในขณะนั้น
แม้ขณะที่จิตไม่สงบ และระลึกในทางที่จะทำให้จิตสงบจากอกุศล ขณะนั้นก็เป็นสติ ไม่ใช่ตัวตน แต่จะรู้อย่างนี้ก็ต่อเมื่อเจริญสติปัฏฐานระลึกรู้ในลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ ในสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นหนทางที่จะทำให้ท่านสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดกับท่านตรงลักษณะสภาพธรรมนั้นจริงๆ
ถ้ากำลังพอใจ สติระลึกได้ รู้ลักษณะของความพอใจ มีจริงๆ กำลังปรากฏ นั่นก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เวลาที่ไม่แช่มชื่นขุ่นเคืองใจ สติระลึกได้ ลักษณะสภาพที่ไม่แช่มชื่นขุ่นเคืองใจนั้น ก็เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ท่านจะรู้ลักษณะของปรมัตถธรรมสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ตรงกับสภาพธรรมที่ทรงแสดงไว้ในปริยัติธรรมทุกประการ แต่ว่าท่านสามารถที่จะรู้ลักษณะสภาพธรรมแต่ละชนิดตามความเป็นจริงได้
หิริ ความละอายในอกุศลเกิดขึ้น ถ้าสติเกิด รู้ได้ไหมว่าลักษณะที่ละอายที่ไม่กระทำอกุศลเป็นอย่างไร ไม่ใช่มีแต่ชื่อ มีสภาพลักษณะธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติปัฏฐานเป็นผู้ที่ละเอียดในการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ทั้งฝ่ายที่เป็นกุศลธรรมและอกุศลธรรม หรือแม้แต่วิบากที่เป็นผลของกุศลและอกุศล จึงจะสามารถละคลายการยึดถือนามธรรมและรูปธรรม ไม่เห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน รู้ชัดว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดตามความเป็นจริงได้
นี่เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องเข้าใจในข้อปฏิบัติ และรู้ลักษณะของสติ รู้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานแล้ว วันหนึ่งปัญญาย่อมสามารถแทงตลอดในสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริงได้
ในพระไตรปิฎกได้ทรงแสดงเรื่องของคติหรือภูมิที่เกิดไว้มาก เป็นของที่แน่นอนว่าทุกท่านจะต้องจากโลกนี้ไป แต่ข้อสำคัญที่สุด คือ ไปไหน ซึ่งการประพฤติปฏิบัติของท่านปกติในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร ย่อมจะเป็นเครื่องแสดงถึงคติที่ไปสู่ภพภูมิข้างหน้าในวันหนึ่ง ขณะนี้ที่กำลังเดินหรือดำเนินหนทางนี้อยู่ ย่อมจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ภพใดภูมิใดข้างหน้า
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมทำให้ท่านมีความเห็นถูก และหนทางข้างหน้านั้นจะทำให้ท่านสามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพธรรมที่ปรากฏ เป็นปัญญาที่รู้ชัดตามความเป็นจริงได้ ซึ่งถ้าไม่รู้อย่างนี้ ก็ถอยไป นึกถึงบรรดาสัตว์โลกทั้งหลายที่ไม่ระลึกรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงเลย จะมีความติด ความเพลิน ความข้องในการเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในสุข ในทุกข์ มากมายสักเท่าไรที่จะต้องติดไป หลงไป วนเวียนไป โดยไม่มีวันที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ ถ้าสติไม่เริ่มระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตั้งแต่เดี๋ยวนี้
เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ไม่มีโทษ และเป็นการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามธรรมดา
อังคุตตรนิกาย ข้อ ๑๘๔ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลเป็นผู้มีความเห็นชอบ อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมไม่เกิดขึ้น และอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป
ทรงสรรเสริญสัมมาทิฏฐิ เช่นเดียวกับที่ทรงแสดงโทษของมิจฉาทิฏฐิ เพราะเหตุว่าความเห็นเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเบื้องต้น ถ้าเห็นผิด ดำริผิด วาจาผิด การงานผิด เพียรผิด เป็นมิจฉาทั้งหมด เพราะฉะนั้น พยัญชนะสั้นๆ ที่ว่า เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่เกิดขึ้น หรืออกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป เหมือนกับสัมมาทิฏฐินี้เลย
ถ้าไม่มีความเห็นชอบ อกุศลธรรมย่อมเกิดอยู่เรื่อยๆ มีความติด มีความยึดมั่นเหนียวแน่นในตัวตน ในสัตว์ ในบุคคล ในเรา ในเขาอย่างเต็มที่ทีเดียวตามความเห็นผิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แต่ถ้ามีความเห็นถูกเกิดขึ้น และเจริญพอกพูนขึ้น อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ย่อมไม่เกิด เพราะมีความเห็นถูกเกิดขึ้นแล้วหรือแม้อกุศลธรรมที่เกิดแล้ว ย่อมเสื่อมไป
แต่ก่อนท่านผู้ฟังอาจมีความเห็นผิดในตัวตน หรือแม้ความเห็นผิดในข้อปฏิบัติที่ไม่ใช่สัมมามรรคมีองค์ ๘ ยังไม่เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานว่า จะต้องเป็นการระลึกรู้สภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง แต่ถ้าท่านพิจารณาไตร่ตรองสอบสวนเหตุและผล และมีความเห็นถูกเกิดขึ้น อกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมไป ความเห็นผิด ใดๆ ในข้อปฏิบัติที่เคยยึดถือเคยปฏิบัติมาก็ย่อมจะเสื่อมไป เพราะความเห็นถูกเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น สำคัญที่ท่านจะต้องพิจารณาไตร่ตรอง ให้ความเห็นของท่านเป็นความเห็นถูกจริงๆ ซึ่งตราบใดที่ข้อปฏิบัติถูกยังไม่มี ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่าความเห็นถูกยังไม่เกิดขึ้น ท่านยังคงติดยึดถืออยู่ในข้อปฏิบัติผิด ไม่มีอะไรที่จะทำให้ท่านหลุดพ้นจากข้อปฏิบัติผิด หรือความเห็นผิดได้เลย นอกจากจะเกิดความเห็นถูกขึ้น และความเห็นถูกนั้นเองจะทำให้ความเห็นผิดนั้นเสื่อมไป
ข้อ ๑๘๕ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้ มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือมิจฉาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนกับการทำในใจโดยไม่แยบคายนี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยไม่แยบคาย มิจฉาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และมิจฉาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
ทรงเน้นในเรื่องของมิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ ซึ่งถ้าท่านพิจารณาโดยไม่แยบคาย ท่านย่อมเห็นผิดว่าเป็นถูก และเห็นถูกว่าเป็นผิดได้
ข้อ ๑๘๖ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น หรือสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น เหมือนการทำในใจโดยแยบคายนี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลทำในใจโดยแยบคาย สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
ที่เน้นเรื่องนี้ เพราะว่าการที่จะเกิดภพต่อไปเป็นเรื่องสำคัญ และความเห็นก็เป็นต้นเหตุสำคัญที่จะนำท่านไปสู่ทุคติหรือสุคติ
ข้อความต่อไป ข้อ ๑๘๗ มีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก เหมือนกับมิจฉาทิฏฐินี้เลย
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายผู้ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ เมื่อแตกกายตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
เป็นเรื่องจริง อย่าคิดว่าไม่จริง หรืออย่าคิดว่า ท่านไม่มีวันจะไปสู่อบาย ทุคติวินิบาต นรก
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๒๒๑ – ๒๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240