แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
ครั้งที่ ๒๓๐
บางท่านฟุ้งซ่านมากขึ้น โดยที่ท่านไม่ทราบว่า คำว่า นิวรณธรรม คือ อกุศลธรรมทั้งปวง เวลาที่เกิดความยินดีพอใจเป็นโลภมูลจิต นั่นเป็นลักษณะของความฟุ้งของจิตที่ไม่สงบในธรรมที่เป็นกุศล เวลาเกิดโทสะ ความไม่ชอบใจ ความไม่แช่มชื่นขึ้น ในขณะนั้นเป็นเพราะจิตฟุ้งไปจากสภาพธรรมที่สงบเป็นกุศล เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นนิวรณธรรม ไม่ใช่ท่านต้องไปจำกัดอยู่ในสถานที่หนึ่ง และเห็นฟุ้งขึ้นมามากมาย นั่นท่านไปทำฟุ้งขึ้น ไปบีบ ไปบังคับ ไประแวดระวัง ไปกดดันให้สภาพธรรมที่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นไปในลักษณะที่ปรากฏที่ท่านใช้คำว่าฟุ้ง แต่ความจริงแล้ว ทุกขณะที่เป็นอกุศลจิต เวลาที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ต้องมีสภาพธรรมที่เป็นอุทธัจจะ ลักษณะที่ไม่สงบในธรรม เป็นลักษณะที่ฟุ้งซ่าน เป็นไปในโลภะบ้าง โทสะบ้างเกิดขึ้นเสมอ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปบังคับให้เกิดฟุ้งขึ้น เวลานี้จิตใจของใครฟุ้งซ่านไป ไม่เป็นกุศล นั่นแหละเป็นนิวรณธรรม เป็นธรรม ลักษณะที่มีจริงที่สติสามารถจะระลึกรู้ได้
ข้อ ๒๐๒
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรในธรรมวินัยที่กล่าวไว้ดี ย่อมอยู่เป็นสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะธรรมท่านกล่าวไว้ดีแล้ว
ข้อ ๒๐๓
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคูถแม้เพียงเล็กน้อยก็มีกลิ่นเหม็น ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย
การเกิดขึ้นของขันธ์ ของอายตนะ ของธาตุ สักขณะเดียวก็ไม่เป็นที่สรรเสริญไม่เป็นที่ๆ ควรจะให้เป็นไปอย่างนั้น เหมือนกับความเหม็นของคูถ แม้เพียงเล็กน้อยก็มีกลิ่นเหม็น
เพราะฉะนั้น การที่จะมีขันธ์ มีธาตุ มีอายตนะ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ชั่วขณะหนึ่งก็เป็นทุกข์ และเพราะไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ เกิดขึ้นแล้วก็หมดไปๆ ไม่มีสาระ ไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ว่าจะเป็นสุข โสมนัสสักเท่าไรก็เกิดปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็หมดไป เป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เกิดขึ้นปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็หมดไป
เป็นเรื่องของผู้เจริญสติปัฏฐานที่จะต้องเห็นความจริงอย่างนี้ จึงจะสามารถละภพ คือ การเกิดขึ้นของขันธ์ของธาตุของอายตนะได้
ข้อ ๒๐๔
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมูตร น้ำลาย หนอง เลือดแม้เพียงเล็กน้อยก็มีกลิ่นเหม็น แม้ฉันใด ภพแม้เพียงเล็กน้อยก็ฉันนั้นเหมือนกัน เราไม่สรรเสริญโดยที่สุดแม้ชั่วกาลเพียงลัดนิ้วมือเดียวเลย
เห็นจริงหรือยัง ยังไม่เห็น เพราะว่าขันธ์ ธาตุ อายตนะเกิดสืบต่อกันรวดเร็วเหลือเกิน มากมายเหลือเกิน ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่หยุดเลย กำลังเห็น ก็เป็นขันธ์ที่อาศัยเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทางตา กำลังได้ยิน ก็เป็นขันธ์ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเพราะอาศัยเหตุปัจจัยทางหู เร็วมากไหม กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังคิดนึก ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
การที่จะเห็นจริงว่า ภพทั้งหลายเปรียบเหมือนมูตร เปรียบเหมือนน้ำลาย หนอง เลือด ต้องเป็นเพราะเหตุว่า สามารถที่จะแทงตลอดในสภาพธรรมที่เกิดปรากฏเพียงเล็กน้อยแล้วก็ดับไป ถ้ายังไม่เห็นอย่างนี้ ก็ยังไม่เห็นว่าเป็นโทษ ยังไม่เห็นว่าเหมือนมูตร เหมือนน้ำลาย เหมือนหนอง เหมือนเลือด
เป็นเรื่องที่ทุกท่านที่เจริญสติปัฏฐานจะต้องประจักษ์ ท่านเจริญสติเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อประจักษ์สภาพความเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ของอายตนะ ของธาตุที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจที่ติดกันแน่น และมากมาย แต่ว่าปัญญาจะต้องรู้แล้วละ และแทงตลอดในสภาพที่เกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ของอายตนะ ของธาตุที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ ซึ่งจะต้องถึงอย่างนั้นในวันหนึ่ง เพราะฉะนั้น เริ่มปรารภสติ ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปไปเรื่อยๆ จนกว่าปัญญาจะรู้ชัดขึ้น
ข้อ ๒๐๕
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ที่เกิดบนบกมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่เกิดในน้ำมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่กลับมาเกิดในมนุษย์มีส่วนน้อย สัตว์ที่กลับมาเกิดในกำเนิดอื่นจากมนุษย์มากกว่าโดยแท้
เป็นมนุษย์ และเจริญอกุศลกรรมมาก หรือว่ากุศลกรรมมาก ในวันหนึ่งๆ อกุศลจิตเกิดมาก หรือว่ากุศลจิตเกิดมาก
สัตว์ที่เกิดในมัชฌิมชนบทมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่เกิดในปัจจันตชนบทในพวกชาวมิลักขะที่โง่เขลามากกว่าโดยแท้
คนโง่หรือคนฉลาดมากกว่ากัน พวกที่อยู่ในกลุ่มของความเจริญกับพวกที่อยู่นอกจากถิ่นของความเจริญออกไป ที่ไหนจะมากกว่ากัน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญญากับผู้ที่เยาว์ปัญญา อ่อนปัญญา ปัญญาน้อย ผู้ที่โง่เขลา พวกไหนจะมีมากกว่ากัน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่มีปัญญา ไม่โง่เง่า ไม่เงอะงะ สามารถที่จะรู้อรรถแห่งคำเป็นสุภาษิตและคำเป็นทุภาษิตได้มีเป็นส่วนน้อย
สัตว์ที่เขลา โง่เง่า เงอะงะ ไม่สามารถที่จะรู้อรรถแห่งคำเป็นสุภาษิต และคำเป็นทุภาษิตได้มากกว่าโดยแท้
สัตว์ที่ประกอบด้วยปัญญาจักษุอย่างประเสริฐมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ตกอยู่ในอวิชชาหลงใหลมากกว่าโดยแท้
ท่านที่เริ่มสนใจในธรรม เปรียบเทียบกับมิตรสหายเพื่อนฝูงจำนวนมากที่ยังไม่เริ่มสนใจในธรรม มากหรือน้อยกว่ากัน
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่ได้เห็นพระตถาคตมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้เห็นพระตถาคตมากกว่าโดยแท้
การเห็นมี ๒ ลักษณะ คือ การเห็นด้วยจักษุ ด้วยตาอย่างหนึ่ง และการเห็นด้วยญาณ คือ ด้วยปัญญาอีกอย่างหนึ่ง ในที่นี้ทรงมุ่งหมายการเห็นด้วยปัญญา เพราะถึงแม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน พวกสัตว์ก็เห็นพระผู้มีพระภาคด้วยจักษุ แต่ว่าไม่ได้รู้ในคุณธรรมของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะฉะนั้น เห็น ก็เห็นเพียงวรรณะ เห็นเพียงสี แต่ไม่สามารถที่จะเห็นพระคุณธรรมได้ เพราะฉะนั้น ที่ว่า สัตว์ที่ได้เห็นพระตถาคตมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้เห็นพระตถาคตมากกว่าโดยแท้ หมายความถึงเห็นด้วยญาณ คือ เห็นด้วยปัญญา
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่ได้ฟังพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ฟังพระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศไว้มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ได้มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ได้ฟังธรรมแล้วทรงจำไว้ไม่ได้มากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้มีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้มากกว่าโดยแท้
ท่านกำลังฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น เป็นเครื่องที่พิสูจน์ว่า ท่านได้ฟังมาก หรือว่าท่านได้ฟังน้อย ได้ฟังแล้วทรงจำไว้ได้มาก หรือว่าทรงจำไว้ได้น้อย ได้ฟังแล้วไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ตนทรงจำไว้ได้มากหรือน้อย
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่รู้ทั่วถึงอรรถ รู้ทั่วถึงธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมีเป็นส่วนน้อยสัตว์ที่ไม่รู้ทั่วถึงอรรถ ไม่รู้ทั่วถึงธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมมากกว่าโดยแท้สัตว์ที่สลดใจในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่สลดใจในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจมากกว่าโดยแท้
ฐานะอันเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจนี้ทุกขณะ แต่ว่าสลดใจไหม กับความสุขแม้เพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่เกิดปรากฏแล้วก็หมดไป เปลี่ยนไป ในวันหนึ่งๆ มีเหตุการณ์อื่นเกิดขึ้นปรากฏโดยไม่ได้คาดฝัน โดยไม่ปรารถนา แต่มีเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้นก็ต้องเกิดขึ้น นี่เป็นฐานะที่ตั้งที่ควรสลดใจในสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป แต่กระนั้นยังไม่สลดใจ ยังเพลิดเพลิน ยังพอใจที่จะไม่เป็นไร ประสบอีกก็ได้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ย่อมมีดีบ้าง ชั่วบ้างอยู่เรื่อยๆ นั่นก็เป็นลักษณะของผู้ที่ไม่สลดใจ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่สลดใจในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่สลดใจในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความสลดใจมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่สลดใจเริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่สลดใจไม่เริ่มตั้งความเพียรโดยแยบคายมากกว่าโดยแท้ สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิได้เอกัคคตาจิตมีเป็นส่วนน้อยสัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วไม่ได้สมาธิไม่ได้เอกัคคตาจิตมากกว่าโดยแท้
นี่เป็นเรื่องที่ท่านผู้ฟังมักคิดเสมอว่า ต้องสงบเสียก่อน ปัญญาถึงจะเกิดได้ แต่ข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วได้สมาธิได้ เอกัคคตาจิตมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่กระทำนิพพานให้เป็นอารมณ์แล้วไม่ได้สมาธิไม่ได้เอกัคคตาจิตมากกว่าโดยแท้
การรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นเรื่องของการเจริญปัญญา ไม่ต้องห่วงถึงจิตสงบ เพราะถ้าห่วง ในขณะนั้นเป็นอะไร เป็นตัวตนที่คอยจะจัดการอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ใช่เป็นสัมมาสติที่ระลึกทันทีในขณะนั้น ตรงลักษณะของสภาพธรรมทางหนึ่งทางใด คือ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจด้วยความเป็นอนัตตา เพราะว่าแม้สติก็เป็นอนัตตา
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่ได้ข้าวอันเลิศและรสอันเลิศมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้ข้าวอันเลิศและรสอันเลิศ ยังอัตตภาพให้เป็นไปด้วยการแสวงหา ด้วยภัตรที่นำมาด้วยกระเบื้อง มากกว่าโดยแท้
ทรงย้อนกลับมาถึงชีวิตตามปกติ เพื่อที่จะให้เห็นว่ากุศลธรรมมาก หรือว่าอกุศลธรรมมาก ซึ่งจะเป็นเหตุให้ได้รับผลที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจ ที่จะต้องสลดใจ ปรารภความเพียรโดยแยบคาย เพราะว่าเห็นชีวิตของสัตว์โลกส่วนมากเป็นอย่างไร น่าสลดใจไหมกับชีวิตที่เป็นไปตามกรรม ตามเหตุปัจจัยที่ว่า ผู้ใดจะได้สิ่งที่ประณีตอันเลิศนั้นมีเป็นส่วนน้อยจริงๆ ตามเหตุ คือ กุศล แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นอย่างนั้น
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สัตว์ที่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรสมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรสมากกว่าโดยแท้
เมื่อพูดถึงรสของข้าวของอาหารก็ยังเห็นว่า ผู้ที่ได้อย่างประณีตนั้นเป็นส่วนน้อย แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ได้ข้าว ได้รสของข้าวของอาหาร เลิศหรือไม่เลิศก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์ที่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรสแล้วมีเป็นส่วนน้อย สัตว์ที่ไม่ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรสมากกว่าโดยแท้ พูดถึงรสของธรรมยิ่งน้อยกว่าผู้ที่ได้รสของข้าวอันเลิศ อาหารอันเลิศ เพราะว่าเป็นเรื่องที่แสนยากจริงๆ เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการอบรมจนกว่าจะบรรลุถึงอรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เปรียบเหมือนในชมพูทวีปนี้ มีสวนที่น่ารื่นรมย์ มีป่าที่น่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศที่น่ารื่นรมย์ มีสระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์เพียงเล็กน้อย มีที่ดอน ที่ลุ่ม เป็นลำน้ำ เป็นที่ตั้งแห่งตอและหนาม มีภูเขาระเกะระกะเป็นส่วนมาก ฉะนั้น เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส
ดูกร ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล
จบลงด้วยพระธรรมเทศนาที่ว่า พึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้ได้อรรถรส ธรรมรส วิมุตติรส พระธรรมเทศนาทั้งหมด ไม่พ้นไปจากการเจริญสติปัฏฐาน แม้ในขณะที่ท่านผู้ฟังกำลังฟัง ถ้ามีความเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็เป็นธรรมกถาที่ทำให้ท่านผู้ฟังเกิดวิริยะ ความเพียรที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะได้บรรลุถึงอรรถรส ธรรมรส และวิมุตติรส
ขณะใดที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ในขณะนั้นไม่ใช่เพียงขั้นการฟัง แต่เป็นขั้นปฏิบัติ ที่สติกำลังระลึกแล้วรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงได้ ปกติธรรมดา ไม่ต้องไปดิ้นรนขวนขวายที่จะไปทำอย่างอื่นด้วยความเป็นตัวตน แต่ลักษณะของสติ คือ ขณะที่ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ที่ใช้คำว่า ระลึกรู้ เพราะเหตุว่าขณะใดที่สติระลึกรู้ จะมีการปรากฏลักษณะของธรรม เพราะลักษณะของสติซึ่งเป็นนามธรรม มีการระลึกได้เป็นลักษณะ มีการไม่หลงลืมเป็นกิจ มีการรักษาอารมณ์ ซึ่งหมายความถึง การปรากฏลักษณะของอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ มีสัญญาอันมั่นคงเป็นปทัฏฐาน หรือมีสติปัฏฐาน ๔ เป็นปทัฏฐาน คือ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ที่จะทราบว่าขณะใดมีสติ เพราะมีการปรากฏลักษณะของอารมณ์ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
ถ้าบุคคลหนึ่งบุคคลใดกล่าวว่า ขณะนั้นสติระลึกไม่ได้ ขณะนี้สติระลึกไม่ได้ นั่นเป็นคำกล่าวที่แสดงความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หรือเป็นคำกล่าวที่แสดงความเคลือบแคลง ความสงสัย ความคิดว่า จะรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมไม่ได้ ในเมื่อเป็นของจริง มีจริง มีลักษณะปรากฏที่สติสามารถที่จะระลึกได้ ทำไมกล่าวว่า ขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ถ้ากล่าวอย่างนั้น ก็เป็นคำที่แสดงความไม่รู้ แสดงความเคลือบแคลงสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม
อย่างทางตา กำลังเห็นอย่างนี้จะกล่าวว่า ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ กล่าวอย่างนี้ผิดหรือถูก กำลังเห็นแล้วกล่าวว่า ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เป็นคำที่แสดงความไม่รู้ในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แสดงความเคลือบแคลงสงสัยว่า จะรู้ได้หรือ และแสดงความเคลือบแคลงสงสัยว่า จะรู้ได้อย่างไร เพราะเหตุว่าข้อปฏิบัติที่ปฏิบัติอยู่นั้นไม่ใช่ข้อปฏิบัติที่จะทำให้รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงได้
กำลังได้ยิน กำลังสนุก กำลังรื่นเริง กำลังโศกเศร้า กำลังอาลัยอาวรณ์ สารพัดอย่างที่จะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยในวันหนึ่งๆ ตามที่แต่ละท่านได้สะสมมา เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึก แล้วก็ละ ไม่ใช่ไปบังคับไว้ เป็นเรื่องจริง เป็นชีวิตจริง เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมจริงๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ซึ่งจะต้องอบรมเจริญสติปัญญาเรื่อยไป จนกว่าปัญญานั้นจะคมกล้า สามารถแทงตลอดในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นและก็ดับไปของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ เป็นสิ่งที่ทุกท่านสามารถจะประจักษ์ได้ด้วยการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ แต่ถ้าไม่เจริญเป็นปกติ ไม่มีทางที่จะประจักษ์สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๓ ตอนที่ ๒๒๑ – ๒๓๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240