แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
ครั้งที่ ๒๓๒
ภพภูมิต่างๆ น่ากลัวมากไหม เพราะเหตุว่าใกล้ ไม่ไกล ถ้ารู้สึกว่าไกล ก็ไม่ค่อยกลัว แต่ถ้าคิดว่าใกล้ อาจจะเป็นวันนี้ พรุ่งนี้ เดือนนี้ ปีนี้ ก็อาจจะเห็นโทษ และก็เจริญกุศลยิ่งขึ้น
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปปาตสูตร ข้อ ๑๗๒๘
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชกูฏ ใกล้พระนครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย มาเถิด เราจักเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดนเพื่อพักกลางวัน
เจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าไปได้ ไปเพื่อพักกลางวัน ไม่ใช่ว่าไปไหนไม่ได้
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุเป็นอันมากเสด็จเข้าไปยังยอดเขากั้นเขตแดน ภิกษุรูปหนึ่งได้เห็นเหวใหญ่บนยอดเขากั้นเขตแดน ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหวนี้ใหญ่ เหวนี้ใหญ่แท้ๆ เหวอื่นที่ใหญ่กว่า และน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่หรือพระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหวอื่นที่ใหญ่กว่า และน่ากลัวกว่าเหวนี้มีอยู่
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เหวอื่นที่ใหญ่กว่า และน่ากลัวกว่าเหวนี้เป็นไฉน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านั้นย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด เพื่อความแก่ เพื่อความตาย เพื่อความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจ
ยินดีแล้วย่อมปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิดบ้าง เพื่อความแก่บ้าง เพื่อความตาย เพื่อความโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจบ้าง
ครั้นปรุงแต่งแล้วย่อมตกลงสู่เหว คือ ความเกิดบ้าง ความแก่บ้าง ความตาย บ้าง ความโศกบ้าง ความร่ำไรบ้าง ความทุกข์บ้าง ความโทมนัส และความคับแค้นใจบ้าง
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส ความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลายซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด เพื่อความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจ
ไม่ยินดีแล้วย่อมไม่ปรุงแต่งสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ตลอดไปจนถึงความคับแค้นใจ ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่ตกลงสู่เหว คือ ความเกิดบ้าง ความแก่บ้าง ความตายบ้าง ความเศร้าโศกบ้าง ความร่ำไรบ้าง ความทุกข์และโทมนัสบ้าง ความคับแค้นใจบ้าง
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์และโทมนัส และความคับแค้นใจ ย่อมพ้นจากทุกข์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
อะไรน่ากลัวกว่าเหว ในโลกนี้เหวน่ากลัว และภพภูมิต่างๆ ที่เป็นอบายภูมิก็น่ากลัว แต่ว่าอะไรที่น่ากลัวกว่า ก็คือ การเกิด ไม่ใช่แต่เฉพาะหลังจากจุติจากโลกนี้ สิ้นชีวิตจากโลกนี้แล้วจะไปเกิด แต่เป็นทุกขณะที่กำลังเกิดสืบต่อกันของขันธ์ ของอายตนะ ของธาตุ ถ้าไม่รู้ตามความเป็นจริงและไม่เห็นว่าเป็นโทษ ไม่เห็นว่าเป็นทุกข์ แต่ทุกข์จริงๆ คือ ความเกิด ไม่ว่าจะเป็นในภูมิไหนทั้งสิ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นอบายภูมิ ทุคติภูมิ ก็ไม่มีโอกาสที่จะเจริญกุศล เจริญสติปัญญา จนกระทั่งสามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท
สำหรับนรก เปรต อสุรกาย ซึ่งเป็นอบายภูมิ หลายท่านทีเดียวไม่เชื่อ แล้วก็ไม่หวาดกลัวด้วย เพราะเหตุว่าไม่เห็น
ในพระไตรปิฎก แม้พระผู้มีพระภาคเองก็ไม่ได้ทรงพาผู้ใดไปเห็น หรือไปดู ทรงแสดงเหตุที่จะให้ไปสู่ภูมินั้นๆ
ถ. ผมสงสัยเกี่ยวกับการเกิด การตาย โดยความรู้สึกแล้วการตายมี ๒ ประการ ประการหนึ่งคือ การตายจาก จิตของเราหวั่นไหวไปตามอารมณ์ เมื่อตายแล้วก็ไปเกิดใหม่ เกิดใหม่อาจจะเป็นภูมิหนึ่งที่อยู่ในกุศล แต่ว่าอาจจะดับไป แล้วก็ไปเกิดในอีกภูมิหนึ่งในภูมิของอกุศลก็ได้ ท่านหมายถึงอย่างนี้ หรือหมายถึง ร่างกายเราตาย หมดลมหายใจแล้วก็เอาไปเผา
และก่อนที่เราจะมีศรัทธาในการเจริญสติปัฏฐานนั้น ก็อาศัยเรื่องเกิด ที่เราจะต้องเห็นว่า เป็นเรื่องของความทุกข์ ทีนี้การเกิด ต้องทำความเข้าใจเรื่องของการเกิดให้แน่ชัดเสียก่อน
สุ. ปัญหานี้ควรได้กล่าวถึงความตาย ๓ ประการ คือ ขณิกมรณะ ความตายทุกๆ ขณะของนามและรูปที่เกิดแล้วไม่ดับ ไม่ว่าจะเป็นนามอะไรรูปอะไรก็ตาม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับ เป็นขณิกมรณะ
สมมติมรณะ คือ ความตายที่เราสมมติหรือเรียกกัน ได้แก่ ความตายจากภพหนึ่งชาติหนึ่ง อย่างทุกคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ โดยสมมติมรณะยังไม่ตาย แต่โดย ขณิกมรณะแล้ว เกิดดับสืบต่อกันตลอดเวลา แต่ถ้าสมมติมรณะ คือ สิ้นชีวิตจากการเป็นบุคคลนี้
สมุจเฉทมรณะ คือ การปรินิพพาน ไม่มีการปฏิสนธิอีกเลย
นี่คือ ความตาย ๓ อย่าง
และที่จะรู้ว่าภพอื่นภูมิอื่นมี โดยที่ท่านกำลังอยู่ในมนุษย์โลก ที่จะไปเห็นสวรรค์ก็เป็นไปไม่ได้ ที่จะไปเห็นนรกก็เป็นไปไม่ได้ คนละภพ คนละภูมิ คนละโลก เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่ามีภพอื่นภูมิอื่นจริง ก็โดยการที่สติระลึกรู้ในสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมชัดเจนจนกระทั่งประจักษ์ขณิกมรณะ
เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนั้นประจักษ์ลักษณะของนามธรรม มีลักษณะปรากฏแต่ละอย่างไม่เหมือนกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เยื่อใยที่เคยยึดโยงว่าเป็นเราเป็นบุคคลก็ไม่มี ขณะนั้นโลกไม่มี ภพภูมิใดๆ ไม่มีเลยที่จะสมมติว่าเป็นมนุษย์ เป็นสวรรค์ เป็นเทวดา เป็นนรกก็ไม่มี แต่มีเฉพาะลักษณะของนามธรรมที่กำลังปรากฏ มีเฉพาะลักษณะของรูปธรรมที่ปรากฏ เมื่อไม่มีสถานที่ ท่านก็ทราบได้ว่า สภาพรู้อยู่ที่ไหนก็ได้ เกิดที่ไหนก็ได้ จะรู้อารมณ์ที่ประณีตก็ได้ ไม่ประณีตก็ได้ แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าเป็นกุศลวิบากก็รู้อารมณ์ที่ประณีต ในภูมิของสวรรค์ เกิดที่สวรรค์ รู้อารมณ์ที่ประณีตของสวรรค์ ถ้าเป็นผลของอกุศลก็รู้อารมณ์ที่ไม่ประณีต ไม่น่าปรารถนา ในสถานที่ซึ่งเป็นที่เกิดที่จะทำให้ได้รับกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปริฬาหสูตร ข้อ ๑๗๓๑ มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นรกชื่อว่ามีความเร่าร้อนมากมีอยู่ ในนรกนั้นบุคคลยัง เห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยนัยน์ตาได้ แต่เห็นรูปที่ไม่น่าปรารถนาอย่างเดียว ไม่เห็นรูปที่น่าปรารถนา เห็นรูปที่ไม่น่าใคร่อย่างเดียว ไม่เห็นรูปที่น่าใคร่ เห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจอย่างเดียว ไม่เห็นรูปที่น่าชอบใจ ได้ฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยหูได้ ... ได้สูดกลิ่นอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยจมูกได้… ได้ลิ้มรสอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยลิ้นได้ ... ได้ถูกต้องโผฏฐัพพะอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกายได้ ... ได้รู้แจ้งธัมมารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยใจได้ แต่รู้แจ้งรูปที่ไม่น่าปรารถนาอย่างเดียว ไม่รู้แจ้งรูปที่น่าปรารถนา รู้แจ้งรูปที่ไม่น่าใคร่อย่างเดียว ไม่รู้แจ้งรูปที่น่าใคร่ รู้แจ้งรูปที่ไม่น่าพอใจอย่างเดียว ไม่รู้แจ้งรูปที่น่าพอใจ
ในมนุษย์ภูมิเป็นภูมิดี ถึงแม้ว่าจะมีอนิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจบ้าง ก็ยังเล็กน้อย ยังมีโอกาสที่จะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ดี แต่ถ้าเกิดในนรกซึ่งเป็นภูมิที่เร่าร้อน มีตาเห็นรูปได้ มีหูได้ยินเสียงได้ มีจมูก ลิ้น กายที่รับกระทบกลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ แต่ว่าเป็นอารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจทั้งหมด
คิดดูว่าจะเป็นอย่างไรสำหรับในภูมิมนุษย์ เวลาที่ได้รับกลิ่นที่ไม่น่าพอใจนิดหน่อยก็เดือดร้อนมาก แต่ว่าในนรกเต็มไปด้วยความเร่าร้อนที่มีการเห็น มีการได้ยิน มีกลิ่น มีรส มีโผฏฐัพพะที่ไม่น่าปรารถนาทั้งหมด ถ้าท่านประจักษ์ขณิกมรณะของนามธรรมและรูปธรรม เลือกไม่ได้ว่าท่านจะแทงตลอดในสภาพอารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ แต่ท่านสามารถจะรู้ได้ว่า ถ้าเป็นอิฏฐารมณ์ก็อิฏฐารมณ์อย่างนี้แหละ ไม่ว่าจะเป็นภูมิใด ถ้าอนิฏฐารมณ์ ลักษณะของอนิฏฐารมณ์ที่ไม่น่าพอใจก็เป็นอนิฏฐารมณ์ แต่ว่าความเป็นอนิฏฐารมณ์นั้นจะมากกว่านี้ถ้าเป็นในภูมิอื่น ถ้าเป็นมนุษย์ก็เป็นอนิฏฐารมณ์ที่ไม่เหมือนกับในนรก
ข้อความต่อไปมีว่า
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ความเร่าร้อนมาก ความเร่าร้อนมากแท้ๆ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่า และน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้มีอยู่หรือ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุ ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่า และน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้มีอยู่
พระภิกษุกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ความเร่าร้อนอื่นที่มากกว่าและน่ากลัวกว่าความเร่าร้อนนี้เป็นไฉน
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งย่อมไม่รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อความเกิด ยินดีแล้วย่อมปรุงแต่ง ครั้นปรุงแต่งแล้ว ย่อมเร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะความเกิดบ้าง ความแก่บ้าง ความตายบ้าง ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจบ้าง
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่พ้นไปจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมไม่ยินดีในสังขารทั้งหลาย ซึ่งเป็นไปเพื่อ ความเกิด ไม่ยินดีแล้ว ย่อมไม่ปรุงแต่ง ครั้นไม่ปรุงแต่งแล้ว ย่อมไม่เร่าร้อนด้วยความเร่าร้อนเพราะความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัส และความคับแค้นใจ
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ย่อมพ้นจากความเกิด ความแก่ ความตาย ความเศร้าโศก ความร่ำไร ความทุกข์ ความโทมนัสและความคับแค้นใจ ย่อมพ้นจากความทุกข์
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
จบลงด้วยการเจริญสติปัฏฐานทั้งนั้น เพื่อที่จะได้พ้นจากนรก เพื่อจะได้พ้นจากอนิฏฐารมณ์ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจซึ่งเผ็ดร้อน เร่าร้อน และเป็นทุกข์มากมายกว่าอนิฏฐารมณ์ในมนุษย์เหลือเกิน ใครจะช่วยได้ ถ้าใครจะต้องไป คนอื่นช่วยได้ไหม เห็นๆ กันอยู่อย่างนี้ ไม่ทราบจะไปไหน แต่ถ้าเป็นผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ก็มีโอกาสจะเป็นส่วนน้อยที่จะมาสู่มนุษย์หรือว่าไปสู่เทพยดา และก็มีโอกาสที่จะเจริญความเห็นถูกต่อไปเพื่อจะให้พ้นจากความเห็นผิด
นรกน่ากลัวไหม น่ากลัว แต่ที่น่ากลัวกว่า คือ ความเกิดขึ้นของนามและรูป เป็นธาตุซึ่งมีเพราะอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ต้องมีใครสร้างเพราะฉะนั้น ที่จะไปรู้อดีตชาติว่ามาจากไหนก็รู้ไม่ได้ ที่จะรู้อนาคตว่าไปไหนก็รู้ไม่ได้ แต่รู้อะไรได้ นามและรูปที่กำลังปรากฏรู้ได้ ควรรู้ด้วย ถ้าไม่รู้อันนี้ ก็ไม่มีทางที่จะไปรู้อื่น อดีตก็รู้ไม่ได้เสียแล้ว อนาคตก็ยังไม่มาถึง จะรู้ได้อย่างไร นามธรรมและรูปธรรม ขันธ์ อายตนะ ธาตุใดๆ ที่เป็นอนาคตยังรู้ไม่ได้ เพราะเหตุว่ายังไม่มาถึง แต่ที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เป็นสิ่งที่สามารถจะรู้ได้ และแทงตลอดถึงขนิกมรณะ ซึ่งจะทำให้หมดความสงสัยในนรก ในสวรรค์ ในภพภูมิ เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ก็มีนามธรรมและมีรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
มีพระสูตรสั้นๆ สูตรหนึ่ง ซึ่งจะอุปการะเกื้อกูลท่านผู้ฟังให้เฉลียวใจที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ข้ามไปปฏิบัติอย่างอื่น
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค กูฏสูตร มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ตรัสรู้ทุกขสมุทยอริยสัจ ไม่ตรัสรู้ทุกขนิโรธอริสัจ ไม่ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
ที่ว่าจะพ้นทุกข์เป็นพระอริยเจ้าโดยที่ไม่รู้ทุกขอริยสัจ คือ ความเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติ เมื่อไม่รู้แล้วจะกล่าวว่า จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้
เปรียบเหมือนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้กระทำเรือนชั้นล่าง แล้วจักยกเรือนชั้นบนแห่งเรือนยอดดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่ได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ตรัสรู้ทุกขสมุทยอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ตรัสรู้ทุกขนิโรธอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ได้ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดังนี้ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่จะไปรู้แทงตลอดในสภาพของพระนิพพานได้ไหม ในเมื่อยังไม่ปรากฏ แต่ที่กำลังปรากฏ คือนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ข้อความต่อไป
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ได้ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดังนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรากระทำเรือนชั้นล่างแล้ว จักยกเรือนชั้นบนแห่งเรือนยอด ดังนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันใด ผู้ใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราได้ตรัสรู้ทุกขอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว ฯลฯ ได้ตรัสรู้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจตามความเป็นจริงแล้ว จักกระทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบดังนี้ ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ ฉันนั้นเหมือนกัน
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
เพราะฉะนั้น ถ้าท่านผู้ฟังระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วจะกล่าวว่า จะไม่กระทำที่สุดแห่งทุกข์ ข้อนั้นก็ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เพราะเหตุว่าการที่จะดับทุกข์ได้ เพราะรู้สภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
ถ. ท่านอาจารย์กล่าวว่า ในภูมินรก สัตว์ไม่มีโอกาสได้ประกอบการกุศลอะไรเลย ไม่เหมือนอย่างกับภูมิมนุษย์ ผมสงสัยว่า ในภูมิสวรรค์ เทวดาทั้งหลายนั้นจะมีโอกาสได้ทำการกุศลเหมือนอย่างกับมนุษย์หรือไม่
สุ. สำหรับในอบายภูมิ การเกิดในนรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มหากุศลจิตเกิดได้ แต่ว่าไม่สามารถที่จะเจริญถึงขั้นที่เป็นสติปัฏฐานรู้แจ้งอริยสัจธรรมคือ มีโอกาสที่จะเกิดยากและเป็นส่วนน้อย เพราะว่าเป็นภูมิของการทรมาน เป็นภูมิของการที่จะได้รับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่ไม่น่าพอใจ มีมหากุศลจิตเกิดได้บ้าง แต่ไม่สามารถที่จะเจริญจนกระทั่งปัญญาสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
สำหรับในสวรรค์ซึ่งเต็มไปด้วยอิฏฐารมณ์ที่น่าพอใจ ที่น่ารื่นรมย์ แต่ก็เป็นภูมิที่มีโอกาสจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๒๓๑ – ๒๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240