แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
ครั้งที่ ๒๓๙
ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สวรรค์ชื่อว่า ผัสสายตนิก ๖ ชั้น เราได้เห็นแล้ว ในผัสสายตนิกสวรรค์นั้น บุคคลจะเห็นรูปอะไรๆ ด้วยจักษุ ก็ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าปรารถนา ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าปรารถนา ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าใคร่ ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าใคร่ ย่อมเห็นแต่รูปอันน่าพอใจ ย่อมไม่เห็นรูปอันไม่น่าพอใจ ฯลฯ จะรู้แจ้งธัมมารมณ์อะไรๆ ด้วยใจ ก็ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าปรารถนา ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าปรารถนา ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์ที่น่าใคร่ ย่อมไม่รู้แจ้ง ธัมมารมณ์ที่ไม่น่าใคร่ ย่อมรู้แจ้งแต่ธัมมารมณ์อันน่าพอใจ ย่อมไม่รู้แจ้งธัมมารมณ์อันไม่น่าพอใจ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว
นี่เป็นเรื่องของสวรรค์ ซึ่งตรงกันข้ามกับนรกทุกอย่าง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นอิฎฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่น่าใคร่ น่าพอใจทั้งนั้น ในโลกมนุษย์มีไหม อารมณ์ที่น่าใคร่น่าพอใจ มีมากจนกระทั่งท่านผู้ฟังเจริญสติไม่ได้อีกแล้วใช่ไหม วันนี้มีแต่ความสุข สติเกิดไม่ได้เลย สังเกตได้จากตัวท่านจริงๆ วันไหนเพลิดเพลินไปด้วยความสุข สติเกิดเล็กน้อย หรือบางวันอาจจะไม่เกิดเลย เช่นเดียวกับความทุกข์ เวลามีมากก็เกิดไม่ได้ เวลาสุขมากก็เกิดไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่อบรมเจริญสติในโลกมนุษย์ซึ่งมีทั้งสุขและทุกข์ ถ้าท่านไม่อบรมเจริญสติในขณะที่มีทั้งอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ปานกลางในโลกมนุษย์ เมื่อไปถึงสวรรค์ที่แสนจะสุข แสนที่จะเพลิดเพลิน สติจะเกิดได้อย่างไร เพียงแต่เป็นอิฏฐารมณ์ในโลกมนุษย์เท่านั้น สีสันวัณณะก็พอสมควร เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะก็พอสมควร ก็ยังหลงไป เพลินไปกับความเป็นตัวตน ถ้าไม่เจริญสติ ไม่อบรมสติที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปในภูมิมนุษย์ ไปถึงสวรรค์ซึ่งเป็นผลของกุศล ท่านก็จะเพลิดเพลินจนกระทั่งเจริญสติปัฏฐานไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นลาภของเธอทั้งหลายแล้ว เธอทั้งหลายได้ดีแล้ว ขณะเพื่อการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ เธอทั้งหลายได้เฉพาะแล้ว
พรหมจรรย์ในพระศาสนา หมายความถึง การปฏิบัติ คือ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ด้วย
เพราะฉะนั้น ทุกขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ชื่อว่าเป็นลาภที่ประเสริฐ เพราะเหตุว่าทำให้สะสมอบรมไปที่จะละอภิชฌาและโทมนัสได้ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดทั้งสิ้น แต่ถ้าไปปฏิสนธิในนรก หมดโอกาสที่จะเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยบุคคล
ถ. ปฏิบัติไปๆ บางครั้งอดสงสัยไม่ได้ว่า จะเป็นสติหรือเปล่า เช่น บางครั้งนึกขึ้นมาว่า ก่อนนี้เคยไปทอดกฐินและบริจาคเงินในกองกฐินด้วย แบบนี้ผมเข้าใจว่าเป็นสติขั้นทาน แต่บางครั้งนึกว่า ไปทวงหนี้ ทวงหนี้ไม่ได้ และไปทะเลาะกันอีก แบบนี้ก็เป็นการระลึกได้ แต่จิตเป็นโทสะ เข้าใจว่าคงจะไม่ใช่สติ ผมสงสัยว่า เป็นการระลึกได้ทั้ง ๒ อย่าง ทำไมอีกอย่างหนึ่งเป็นสติ อีกอย่างหนึ่งไม่เป็นสติ ที่เป็นสติเพราะเหตุใด ไม่เป็นสติเพราะเหตุใด ขอให้อาจารย์จงอธิบายด้วย
สุ. ลักษณะของสภาพธรรมที่คล้ายคลึงกับสติ คือ วิตกเจตสิก เป็นสภาพที่ตรึก คิดนึก เพราะฉะนั้น ถ้าในขณะใดเป็นอกุศลจิต ระลึกไปในเรื่องอกุศล ขณะนั้นไม่ใช่สติ แต่เป็นสภาพของวิตกเจตสิกที่ทำให้ระลึกในเรื่องของอกุศล
สำหรับสติ ที่จะเป็นสติปัฏฐานนั้น เพราะระลึกลักษณะที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน สภาพสิ่งที่ปรากฏทางตาก็อย่างหนึ่ง ที่ปรากฏทางหูก็อีกอย่างหนึ่ง ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏแต่ละอย่างนั้นเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป สติจะต้องระลึกตรงลักษณะจริงๆ ที่ปรากฏ
เวลาเสียงปรากฏ กลิ่นปรากฏขณะใด สติระลึกตรงลักษณะที่เป็นเสียง ที่เป็นกลิ่น ส่วนความคิด ไม่ว่าจะคิดเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าจะเป็นสติปัฏฐาน ก็คือ ระลึกได้ รู้ลักษณะที่คิดว่า เป็นสภาพคิด เป็นนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้นแล้วก็หมดไป รู้ในความมี และก็ไม่มี เกิดขึ้นปรากฏแล้วก็หมดไป รู้ลักษณะจริงๆ ของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ท่านผู้ฟังท่านหนึ่งท่านเต็มไปด้วยความสงสัยในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ท่านกล่าวว่า แต่ก่อนนี้ท่านเคยทำอะไรไม่ดี พอฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านก็ทราบว่าที่จะเป็นสติปัฏฐานนั้น เพราะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่มีลักษณะปรากฏแต่ละลักษณะตามปกติตามความเป็นจริง ท่านก็เกิดความสงสัยว่า ถ้าท่านเคยทำไม่ดี และจะเปลี่ยนเป็นทำดี อย่างนั้นจะชื่อว่าผิดปกติไหม
ซึ่งความจริงแล้วสำหรับผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน มีแต่จะเปลี่ยนแปลงจากที่เคยไม่ดีเป็นดีขึ้น และสติก็ระลึกรู้สภาพธรรมที่เปลี่ยนนั้นว่า เป็นแต่เพียงนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ถ้าขณะใดเป็นอกุศล สติไม่เคยระลึกได้เลย จะเปลี่ยนเป็นกุศลได้ไหม ไม่ได้ เพราะสติไม่เคยระลึก ไม่เคยรู้ในสภาพธรรมที่ไม่ดี แต่เพราะเหตุว่าสติระลึกรู้ในลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง สภาพธรรมที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น สติก็ระลึก และก็รู้ในสภาพที่เป็นอกุศล
เพราะฉะนั้น ด้วยการเจริญสติปัฏฐานนี้เอง จึงทำให้วิรัติ หรือว่าเว้นจากการที่เคยทำไม่ดี เป็นผู้ที่มีปกติทำดี พร้อมทั้งสติก็ระลึกตามปกติ ในขณะที่ทำดีนั้นก็เป็นปกติของบุคคลนั้นที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตนที่ไปเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ความคิดเดิมว่า เป็นตัวเองที่สามารถจะบังคับตัวบังคับใจ หรือว่าเปลี่ยนการกระทำจากชั่วเป็นดีได้ แต่ผู้ที่มีปกติเจริญสติทราบเหตุปัจจัยว่า ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกได้ และวิรัติ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล
การเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ หมายความว่า ไม่ได้กระทำสิ่งใดๆ ขึ้นด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าการเจริญปัญญา หรือการเจริญวิปัสสนานั้น ต้องไปทำอย่างนั้นจึงจะเป็นการเจริญวิปัสสนา แต่หมายความว่า ปกติของท่านมีชีวิตธรรมดา ไม่ได้เข้าใจผิดในข้อปฏิบัติ ถ้าท่านจะละเว้นทุจริตหรืออกุศล ก็เป็นเพราะสติอบรม รู้ว่าสภาพธรรมใดเป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เว้น ก็วิรัติ แม้ขณะที่เว้นวิรัตินั้นก็เป็นสติ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงเกื้อกูลมากในการทำให้ชีวิตปกติของท่านเป็นไปในทางกุศลมากขึ้น
สำหรับเรื่องของความเพียรที่จะเจริญสติปัฏฐาน พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงไว้ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สัตติสตสูตร ข้อ ๑๗๑๘ ซึ่งจะทำให้ท่านผู้ฟังไม่ท้อถอยในการที่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม แม้เพียงชั่วขณะเล็กๆ น้อยๆ ค่อยเป็นค่อยไป ในวันหนึ่ง ในขณะหนึ่ง
ข้อความมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี พึงกล่าวอย่างนี้กะผู้มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปีว่า มาเถิด บุรุษผู้เจริญ ชนทั้งหลายจักเอาหอก ๑๐๐ เล่มทิ่มแทงท่านในเวลาเช้า ในเวลาเที่ยง ในเวลาเย็น ท่านนั้นถูกเขาเอาหอก ๓๐๐ เล่มทิ่มแทงอยู่ทุกวันๆ มีอายุ ๑๐๐ ปี มีชีวิตอยู่ ๑๐๐ ปี จักตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่ได้ตรัสรู้ โดยล่วง ๑๐๐ ปีไป กุลบุตรผู้เป็นไปในอำนาจแห่งประโยชน์ ควรจะรับเอา ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะว่าสังสาระนี้มีเบื้องต้นที่สุด อันบุคคลไปตามอยู่รู้ไม่ได้แล้ว เบื้องต้นที่สุดแห่งการประหารด้วยหอก ดาบ หลาว และขวาน ย่อมไม่ปรากฏ
ภพนี้ ชาตินี้ ก็เป็นเครื่องยืนยันแล้วใช่ไหม เรื่องการประหารกันด้วยดาบ ด้วยหอก ด้วยหลาว ไม่มีที่จะสิ้นสุดไปได้
ข้อความต่อไปมีว่า
เบื้องต้นที่สุดแห่งการประหารด้วยหอก ดาบ หลาว และขวาน ย่อมไม่ปรากฏ ฉันใด ก็ข้อนี้พึงมีได้ฉันนั้นว่า ก็เราไม่กล่าวการตรัสรู้อริยสัจ ๔ พร้อมด้วยทุกข โทมนัส แต่เรากล่าวการตรัสรู้อริยสัจ ๔ พร้อมด้วยสุขโสมนัส
อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธอริยสัจทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา
ท่านผู้ฟังไม่ได้ถูกแทงด้วยดาบ ด้วยหลาว ด้วยหอก ทั้งเช้า ทั้งกลางวัน ทั้งเย็น แต่ว่าบุรุษผู้นี้จะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี และก็ถูกแทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่มในเวลาเช้า ในเวลาเที่ยง ในเวลาเย็น แต่เขาจะตรัสรู้อริยสัจธรรม ๔ ผู้ที่เห็นประโยชน์ควรจะรับเอา หมายความว่า ถ้าท่านจะต้องถูกบุคคลหนึ่งบุคคลใดแทงด้วยหอก ๑๐๐ เล่ม ทั้งเช้า ทั้งกลางวัน ทั้งเย็น ๑๐๐ ปี แต่ว่าจะได้ตรัสรู้อริยสัจธรรม ก็ควรจะรับเอา
เวลานี้ยังไม่ได้ถูกแทงเลย ยิ่งสบายใช่ไหมที่จะเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้นควรจะเจริญจริงๆ ไม่ต้องคอยให้ถึงกับมีคำอุปมา หรือมีผู้ที่จะเอาหอกมาแทงจริงๆ
ถ้าท่านเริ่มเจริญสติปัฏฐาน การที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนั้นยังไม่ชัด ยังรวมกัน อย่างทางตากำลังเห็น ทางหูก็กำลังได้ยิน รู้สึกว่าการที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมทางหนึ่งทางใดยังไม่ชัด เพราะว่าเกิดสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว และปะปนกันด้วย พอสติระลึกรู้ลักษณะของเสียงนิดหนึ่ง หมดไปแล้ว ระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่ปรากฏทางตานิดหนึ่ง เสียงก็ปรากฏอีกแล้ว ปัญญายังไม่รู้ชัดในสภาพของนามธรรมและรูปธรรม และชีวิตประจำวันของทุกท่านก็คงจะต้องดูกระจก หวีผม แต่งตัว ในขณะที่กำลังดูกระจก อ่อน แข็ง เย็น ร้อนปรากฏที่ใด ไม่ต้องผูกโยงเยื่อใยว่าเป็นส่วนของหน้าเป็นส่วนของผม ให้รู้เฉพาะสภาพลักษณะที่อ่อนหรือที่แข็งที่ปรากฏ เฉพาะตรงนั้นจริงๆ นี่เป็นทางที่จะทำให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
ที่ว่ารู้ชัด หมายความว่า เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมใด ขณะนั้นไม่มีลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมอื่น ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมใดตรงที่นั้น ไม่ผูกโยงเยื่อใยที่จะให้มีลักษณะของนามอื่นรูปอื่นปนอยู่ รวมอยู่ในขณะนั้น ปัญญาจึงสามารถรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
เป็นการเจริญสติปัฏฐานที่จะต้องค่อยๆ สะสมอบรม จนกว่าจะมีความชำนาญ และปัญญาสามารถแยก รู้ชัดในลักษณะของนามธรรม ในลักษณะของรูปธรรมแต่ละทางถูกต้อง ไม่รวมกัน ไม่สับสนกัน เป็นเรื่องที่จะต้องอบรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน
สำหรับผู้ที่ยังเป็นห่วงเรื่องของสถานที่ ท่านมีความผูกพันว่าจะต้องสงบ ก็ขอให้ท่านพิจารณาโดยทั่วๆ ไปว่า การที่บุคคลไปสู่ห้องปฏิบัติ ขอให้ท่านถามความจริงใจของบุคคลผู้ที่ไปสู่ห้องปฏิบัติว่า มีความพอใจจริงๆ หรือที่จะมีชีวิตอย่างนั้น เป็นฉันทะ เป็นความพอใจจริงๆ หรือปล่าที่จะมีชีวิตอย่างนั้น ไม่ออกไปไหน ไม่ทำอะไร นั่นเป็นชีวิตจริงๆ หรือเปล่า เป็นปกติหรือเปล่า
ซึ่งท่านก็ทราบว่า ฆราวาสเป็นผู้ที่มีเรือน มีมิตรสหาย มีญาติพี่น้อง มีธุรกิจการงาน เป็นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ท่านยังตัดไม่ขาด ยังมีเยื่อใยอยู่ เป็นชีวิตจริงๆ เป็นความพอใจจริงๆ ที่จะมีชีวิตดำเนินไปในลักษณะตามแบบของฆราวาส
เพราะฉะนั้น ไม่มีท่านผู้หนึ่งผู้ใดจะไปอยู่ในห้องอย่างนั้นโดยที่ว่าเป็นชีวิตจริงๆ แต่ไปด้วยความหวังว่าจะได้วิปัสสนาญาณ คิดว่าการเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติในชีวิตประจำวันอย่างนี้วิปัสสนาญาณเกิดไม่ได้ แต่ท่านไม่ทราบความหมายของคำว่าญาณ คำว่ารู้แจ้ง คำว่าแทงตลอด เป็นอริยสัจธรรม ที่สามารถจะรู้ชัด รู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เพราะเป็นปัญญาที่ได้อบรมสะสมแล้ว
วิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นเมื่อเหตุสมควรแก่ผล คือ ปัญญาที่อบรมรู้ชัดในสภาพที่เป็นนามธรรม ในสภาพที่เป็นรูปธรรม แต่ละลักษณะไม่ปะปนกัน เมื่อไม่ปะปนกัน ก็ไม่มีความยึดถือรวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อนว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เมื่อมีความรู้ชัดแล้ว ปัญญาที่อบรม เจริญสติบ่อยๆ เนืองๆ พิจารณาสภาพธรรม คือ นามธรรมและรูปธรรมที่เกิดปรากฏเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จนรู้ทั่วจริงๆ ทำให้ละคลาย สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามใดที่ไหนก็ได้ รูปใดที่ไหนก็ได้ ด้วยความชำนาญ ด้วยความรู้ที่ได้อบรมจนกระทั่งสติสามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของนามรูปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ และปัญญาสามารถรู้แจ้งในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน ในลักษณะของธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น วิปัสสนาญาณจะเกิดที่ไหนก็ได้ เมื่อไรก็ได้ตามควรแก่เหตุ แต่ไม่ใช่ว่า ท่านไปสู่ห้องปฏิบัติด้วยความหวัง ถ้าท่านไม่หวังวิปัสสนาญาณ ท่านจะไปไหม ขณะนี้ชีวิตปกติของท่านเป็นอย่างไร ท่านก็จะต้องอบรมปัญญาให้รู้ชัดในสภาพนั้นๆ ตามความเป็นจริง แต่ถ้าท่านมีความเข้าใจผิด ท่านไปเพราะคิดว่าปกติธรรมดาชีวิตประจำวันวิปัสสนาญาณเกิดไม่ได้ ท่านจึงได้ไป หวังวิปัสสนาญาณหรือเปล่า คงจะหวังแน่นอนจึงได้ไป แต่ท่านก็ไม่ทราบความหมายของวิปัสสนาญาณว่า วิปัสสนาญาณนั้นเป็นปัญญาที่รู้อะไร เกิดพร้อมอะไร ในขณะไหน ตามความเป็นจริงอย่างไร
เพราะฉะนั้น ท่านไม่ได้อบรมเหตุ คือ ปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดปรากฏตามปกติเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง เมื่อท่านไม่เจริญเหตุให้สมควรแก่ผล วิปัสสนาญาณจะเกิดได้ไหม ไปด้วยความหวัง และไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ถึงจะหวัง รอสักเท่าไร วิปัสสนาญาณก็เกิดไม่ได้ เพราะเหตุว่าชีวิตจริงๆ ของท่าน ท่านไม่ได้มีความพอใจที่จะอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าท่านผู้ใดมีความพอใจจริงๆ จะอยู่อย่างนั้นตลอดปี ตลอดทุกๆ ปี เป็นชีวิตปกติประจำวันของท่าน ท่านจะเจริญสติปัฏฐานหรือไม่เจริญสติปัฏฐาน ท่านก็อยู่ของท่านอย่างนั้นเป็นปกติของท่าน แต่ไม่ใช่ว่า ไปเพราะหวัง คิดว่าจะได้วิปัสสนาญาณเวลาที่ไปสู่ห้องกัมมัฏฐาน
ขอกล่าวถึงพระสูตรหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องของคฤหบดีทั้งหลายที่ได้ไปสนทนากับพระคุณเจ้าในครั้งนั้น
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คหปติวรรคที่ ๓ หาลิททกานิสูตรข้อ ๒๐๑ มีข้อความว่า
สมัยนั้น ท่านพระมหากัจจายนะอยู่ที่เรือนสกุล ใกล้สังปวัตตบรรพตในอวันตีชนบท ครั้งนั้นแล หาลิททกานิคฤหบดีเข้าไปหาท่านพระมหากัจจยนะถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้ถามท่านพระมหากัจจายนะว่า
พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ดังนี้ว่า ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ ดังนี้
พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ความต่างกันแห่งผัสสะย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งธาตุ ความต่างกันแห่งเวทนาย่อมบังเกิดขึ้นเพราะอาศัยความต่างกันแห่งผัสสะ อย่างไรหนอแล
เป็นเรื่องปกติไหม คือ ถ้าพูดถึงภาษาบาลี ผัสสะก็เป็นการกระทบกับอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ และผัสสะที่กระทบทางตาก็อย่างหนึ่ง ทางหูก็อย่างหนึ่ง ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็แต่ละอย่าง
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๔ ตอนที่ ๒๓๑ – ๒๔๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 181
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 182
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 183
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 184
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 185
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 186
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 187
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 188
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 189
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 190
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 191
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 192
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 193
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 194
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 195
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 196
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 197
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 198
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 199
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 200
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 201
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 202
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 203
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 204
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 205
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 206
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 207
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 208
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 209
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 210
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 211
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 212
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 213
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 214
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 215
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 216
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 217
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 218
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 219
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 220
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 221
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 222
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 223
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 224
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 225
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 226
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 227
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 228
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 229
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 230
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 231
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 232
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 233
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 234
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 235
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 236
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 237
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 238
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 239
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 240