แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
ครั้งที่ ๒๕๕
สำหรับบุคคลในครั้งโน้น ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับรู้เหตุการณ์ในครั้งนั้น จะมีความคิดเห็นอย่างไร ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า
ประชาชนในกรุงราชคฤห์ พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เสื่อมใส ไร้ปัญญา ต่างกล่าวอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นคนริษยา ย่อมเกียดกัน สักการะของพระเทวทัต
กลับกันเสียแล้ว
แทนที่จะเห็นว่า ท่านพระเทวทัตเป็นผู้ริษยา เป็นผู้ที่หนักในลาภสักการะ จึงทูลขอปกครองสงฆ์แด่พระผู้มีพระภาค แต่ประชาชนผู้ไม่มีความเลื่อมใส ไม่มีศรัทธา เป็นผู้ไร้ปัญญา กลับกล่าวว่า พระสงฆ์สาวกที่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ เป็นคนริษยา ย่อมเกียดกันลาภสักการะของพระเทวทัต ก็เป็นเรื่องธรรมดาของบุคคลต่างๆ ที่จะมีความคิดเห็นต่างๆ กันตามการสะสมของเหตุปัจจัย ควรที่จะเข้าใจถูกตามสถานการณ์ สภาพของเหตุการณ์นั้น แต่เพราะสะสมที่จะเข้าใจผิด เห็นผิด และก็กล่าววาจาผิด
ข้อความต่อไปมีว่า
ส่วนประชาชนพวกที่มีศรัทธา เลื่อมใส เป็นบัณฑิต มีปัญญาดี กล่าวอย่างนี้ ว่า เรื่องนี้คงจักไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประกาศพระเทวทัตในกรุงราชคฤห์
ข้อความต่อไป มีว่า
พระเทวทัต ได้สั่งให้ราชบุรุษไปปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค
ไม่ควรเลยที่เป็นภิกษุ ถึงกับจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค แต่ความเห็นผิด และการสะสมมาของกิเลสอย่างแรงกล้า ทำให้เกิดจิตที่คิดจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ท่านพระเทวทัตถึงกับไปเฝ้าเจ้าชายอชาตศัตรู ทูลขอให้เจ้าชายอชาตศัตรูสั่งให้ราชบุรุษไปปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ซึ่งเจ้าชายอชาตศัตรูได้มอบเรื่องนี้ทั้งหมดให้ท่านพระเทวทัต คือ สั่งราชบุรุษว่า แล้วแต่ท่านพระเทวทัตจะสั่งอย่างไร ก็ให้ทำอย่างนั้น
ซึ่งท่านพระเทวทัตก็ได้คิดแผนการณ์ที่จะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคอย่างแยบคาย โดยการที่ให้ราชบุรุษผู้หนึ่งไปปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค โดยท่านบอกว่า ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคประทับที่นั่น ให้ราชบุรุษผู้หนึ่ง คือผู้นั้น ไปปลงพระชนม์ พระผู้มีพระภาคแล้ว จงกลับทางนั้น ซึ่งเมื่อราชบุรุษผู้นั้นได้ไปถึงที่ๆ พระผู้มีพระภาคประทับ ก็เกิดการกลัว หวาดหวั่น สะทกสะท้าน และพระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงแสดงธรรม ราชบุรุษนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม และก็ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ซึ่งพระผู้มีพระภาคก็ตรัสให้ราชบุรุษนั้นกลับไปเสียอีกทางหนึ่ง ไม่ใช่ทางที่ท่านพระเทวทัตบอกให้กลับ
ท่านพระเทวทัตเมื่อส่งราชบุรุษคนที่ ๑ ให้ไปปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ก็ได้ให้ราชบุรุษอีก ๒ คน คอยอยู่ที่ริมทาง ซึ่งเมื่อราชบุรุษคนที่ ๑ ปลงพระชนม์แล้ว กลับมาทางนั้น ก็ให้ราชบุรุษ ๒ คนนี้ฆ่าราชบุรุษคนนั้นเสีย และก็ได้สั่งให้ราชบุรุษอีก ๔ คน คอยอยู่ริมทาง คอยฆ่าราชบุรุษ ๒ คนที่กลับมาทางนั้น และก็ให้ราชบุรุษอีก ๘ คน คอยอยู่ริมทาง คอยฆ่าราชบุรุษ ๔ คนที่กลับมาทางนั้น และก็ให้ราชบุรุษอีก ๑๖ คน คอยอยู่ริมทาง และก็ฆ่าราชบุรุษ ๘ คนนั้น
แต่เมื่อพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมแก่ราชบุรุษคนนั้นแล้ว ราชบุรุษคนนั้นก็ได้กลับไปเสียอีกทางหนึ่ง ราชบุรุษ ๒ คนที่คอยอยู่ เห็นช้าไม่มาสักที ก็เดินสวนทาง ไปพบพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ พระผู้มีพระภาคก็ส่งราชบุรุษ ๒ คนนั้น ไปเสียทางอื่น
เพราะฉะนั้น ราชบุรุษอีก ๔ คนที่คอยอยู่ เห็นช้านัก ก็เดินสวนทางไปอีก ได้ฟังธรรมอีก แล้วก็ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะอีก แล้วก็กลับไปเสียทางอื่นอีก
ราชบุรุษ ๘ คน เห็นช้านัก ก็เดินสวนทางไป ได้ฟังธรรม ได้ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ แล้วก็กลับเสียอีกทางหนึ่ง
และราชบุรุษ ๑๖ คน เห็นช้านัก ก็ได้เดินสวนทางไป ได้เฝ้าพระผู้มีพระภาค ได้ฟังธรรม ได้ถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ ทั้ง ๑๖ คน
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็ไม่ถูกผู้หนึ่งผู้ใดปลงพระชนม์ แต่ว่าตามความเป็นจริง ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่สามารถจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคได้เลย นี่เป็นด้วยพระบารมีที่ได้สะสมมาในอดีตที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เมื่อท่านพระเทวทัตไม่เห็นราชบุรุษปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค ยังไม่ยุติการที่จะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค เมื่อพวกราชบุรุษไม่สามารถจะปลงพระชนม์ได้ ท่านพระเทวทัตก็คิดที่จะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาคด้วยตนเอง โดยการที่ท่านทำโลหิตุปบาท ขึ้นสู่เขาคิชกูฏ แล้วก็กลิ้งศิลาก้อนใหญ่ลงมาเพื่อจะปลงพระชนม์พระผู้มีพระภาค
ข้อความนี้ ท่านผู้ฟังคงจะได้รับฟังอยู่ก่อนแล้ว ขอผ่านไป
ข้อความต่อไปมีว่า
ท่านพระเทวทัตก็ได้ปล่อยช้างนาฬาคีรี ซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงแผ่เมตตาจิต ลำดับนั้น ช้างนาฬาคีรีได้สัมผัสพระเมตตาจิตของพระผู้มีพระภาคแล้วลดงวงลง แล้วเข้าไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงยกพระหัตถลูบกระพองช้างนาฬาคีรี และตรัสกับช้างนาฬาคีรีแล้ว
ลำดับนั้น ช้างนาฬาคีรีเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระผู้มีพระภาค แล้วพ่นลงบนกระม่อม ย่อตัว ถอยออกไปชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาค ไปสู่โรงช้าง แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ของตน
ก็แลช้างนาฬาคีรี เป็นสัตว์ อันพระพุทธนาคทรงทรมานแล้ว ด้วยประการนี้
สมัยนั้น คนทั้งหลายขับร้องคาถาว่าดังนี้
คนพวกหนึ่ง ย่อมฝึกช้างและม้าด้วยใช้ท่อนไม้บ้าง ใช้ขอบ้าง ใช้แส้บ้าง สมเด็จพระพุทธเจ้าผู้แสวงพระคุณใหญ่ ทรงทรมานช้าง โดยมิต้องใช้ท่อนไม้ มิต้องใช้ศาสตรา
นี่เป็นคาถาที่คนในครั้งนั้นขับร้องกัน หลังจากที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงทำให้ช้างนาฬาคีรีกลับไปสู่โรงช้างแล้ว สำหรับพระธรรมนั้น ก็ย่อมฝึกคนจนได้บรรลุ อริยสัจธรรม โดยไม่ต้องใช้ท่อนไม้ ไม่ต้องใช้ขอ ไม่ต้องใช้แซ่
ข้อความต่อไป มีว่า
คนทั้งหลายต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทนาว่า พระเทวทัตนี้เป็นคนมีบาป ไม่มีบุญ เพราะพยายามปลงพระชนม์พระสมณะโคดมผู้มีฤทธิ์มากอย่างนี้ มีอานุภาพมากอย่างนี้ ลาภสักการะของพระเทวทัตเสี่อม ส่วนลาภสักการะของพระผู้มีพระภาคเจริญยิ่งขึ้น
ต่อจากนั้น เมื่อพระเทวทัตต้องการความเป็นใหญ่ จึงจัดทำสังฆเภท คิดที่จะแยกสงฆ์ไปปกครอง ท่านทูลขอวัตถุ ๕ ประการแก่พระผู้มีพระภาค
ซึ่งการทูลขอวัตถุ ๕ ประการของท่านพระเทวทัต ขอให้ท่านผู้ฟังพิจารณาการกล่าวอ้างเหตุผลว่า ท่านเห็นด้วย หรือว่าท่านเคยอ้างอย่างท่านพระเทวทัตอ้างหรือไม่
ข้อความในพระวินัยปิฎกมีว่า
ครั้งนั้น ท่านพระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย
พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย
ข้าพระพุทธเจ้า ขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ
ภิกษุทั้งหลายพึงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีกิจนิมนต์ รูปนั้นพึงต้องโทษ
ภิกษุทั้งหลายพึงถือทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดยินดีคฤหบดีจีวร รูปนั้นพึงต้องโทษ
ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่โคนไม้เป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดเข้าอาศัยที่มุงที่บัง รูปนั้นพึงต้องโทษ
ภิกษุทั้งหลายไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า
อย่าเลย เทวทัต ภิกษุรูปใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใด ปรารถนา จงอยู่ในบ้าน (ในเขตบ้าน) รูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ รูปใดปรารถนา จงถือทรงผ้าบังสกุลเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีคฤหบดีจีวร เราอนุญาตโคนไม้เป็นเสนาสนะ ๘ เดือน เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจ
ท่านผู้ฟังเคยอ้างอย่างท่านพระเทวทัตไหม อ้างพระพุทธดำรัสโดยตรงที่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารถความเพียร โดยเอนกปริยาย วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียร โดยเอนกปริยาย คือ พึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต
นี่คือความเห็นของท่านพระเทวทัตที่ว่า เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสให้เป็นผู้ที่ขัดเกลา ให้เป็นผู้ที่มักน้อย สันโดษ มีอาการที่น่าเลื่อมใส และปรารภความเพียร เพราะฉะนั้น ก็ควรจะอยู่ป่าตลอดชีวิต
แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตตามที่ท่านพระเทวทัตทูลขอที่อ้างว่าเป็นข้อปฏิบัติที่ขัดเกลา มักน้อย และปรารภความเพียร เพราะทรงทราบอัธยาศัยของสัตว์โลกตามความเป็นจริง
การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่ไปรู้ธรรมที่เกิดกับบุคคลอื่น แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับตนที่สะสมมาตามเหตุตามปัจจัยแล้วเกิดขึ้น ที่สติจะต้องระลึก ปัญญาจะต้องรู้ชัด จนละการยึดถือสภาพธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนด้วยการเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ มีปกติรู้สภาพความเป็นจริงของธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งว่า อย่าเลย เทวทัต ภิกษุรูปใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงถือการอยู่ป่าเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงอยู่ในบ้าน คือ ในเขตบ้าน แล้วแต่อัธยาศัย ขอให้เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานตามความเป็นจริง สามารถที่จะเป็นผู้รู้แจ้งอริยสัจได้โดยไม่ต้องไปอยู่ป่า ถ้าขณะนี้ อยู่ที่นี่ สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม จนกระทั่งประจักษ์สภาพความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ได้
สำหรับข้อที่ ๒ ภิกษุรูปใดปรารถนา จงถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร รูปใดปรารถนา จงยินดีกิจนิมนต์ ตามอัธยาศัยอีกเหมือนกัน
มีท่านผู้ฟังท่านหนึ่งที่ท่านถามว่า ในพระไตรปิฎกมีข้อความเรื่องที่ภิกษุบางรูป ท่านเห็นคนฝึกหัดการยิงศรบ้าง ดัดศรบ้าง เหล่านี้ ก็ทำให้ท่านคิดที่จะฝึกตน ดัดตน แล้วท่านก็กลับไปสู่ที่อยู่ของท่าน ประพฤติปฏิบัติธรรม ทำให้ดูเสมือนว่า การที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ต้องกลับไปอยู่ ไปสู่ที่อยู่ของตน จึงจะประพฤติได้ แต่ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกโดยทั่วจริงๆ ท่านที่ไปบิณฑบาต ท่านเห็นอะไรต่ออะไรที่จะเป็นเครื่องเตือนให้สติระลึกในการที่จะขัดเกลา ด้วยการปรารถความเพียรระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น ท่านที่ไม่กลับไปสู่ที่อยู่ก็มี ท่านก็ระลึกรู้นามธรรมและรูปธรรมในขณะนั้น รู้แจ้งอริยสัจธรรม ถึงความเป็นพระอรหันต์ในขณะนั้นได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะไปเอาตัวอย่างบุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยที่ความเป็นจริงของท่านทุกๆ ขณะนี้ เกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น
ใครคิดว่าจะมาฟังธรรมที่วัด แต่เกิดกลับใจไม่มาฟัง ขณะนั้นสติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมนานาชนิด นานาประการที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะเหตุปัจจัยในขณะนั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น แต่ไม่ใช่ว่า การเจริญอบรมจะต้องเป็นแบบเดียวกัน คือ มาฟังเสียก่อน และกลับไปเจริญสมณธรรมที่บ้าน อย่างนั้นไม่ใช่ แต่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน จะกลับหรือไม่กลับ จะไปทางซ้าย จะไปทางขวา จะไปที่ไหน จะไปหาใครต่อไป ก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่สติจะระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม เพราะเหตุว่าไม่มีนามธรรมและรูปธรรมใดที่เกิดได้โดยไม่มีเหตุปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมชนิดใดก็ตาม เป็นผู้ที่ตามรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง
ไม่ใช่ว่า ไปศึกษาและข้องใจ ยึดถือว่าจะต้องทำตามอย่างนั้น บุคคลนั้นทำอย่างนั้น เราก็จะต้องทำอย่างนั้นด้วย นั่นเป็นบุคคลนั้น บุคคลนั้นทำอย่างนั้นเพราะปัจจัยของบุคคลนั้นสะสมมาที่จะทำอย่างนั้น บุคคลนี้ คือ ตัวท่านเอง กำลังทำอะไรอยู่ กำลังมีนามธรรมอะไร รูปธรรมอะไรที่กำลังเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัยในขณะนี้ เป็นของจริง เป็นสัจจธรรม เป็นสิ่งที่สติจะต้องระลึกเพื่อรู้แล้วละ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ไปตามอย่างใครในพระไตรปิฎก ถ้าท่านผู้ฟังมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ท่านอ่านข้อความนั้น ท่านก็ทราบว่า ภิกษุรูปที่ท่านกลับจากบิณฑบาต ท่านไม่บิณฑบาตต่อก็เพราะว่าท่านจะกลับ ก็เรื่องของท่าน สะสมปัจจัยมาที่จะกลับ ท่านก็กลับ และระหว่างนั้น สติของท่านจะระลึกรู้ลักษณะของนาม หรือว่าลักษณะของรูป หรือไม่ระลึก หรือว่าสมาธิจะเกิดก่อน หรือว่านิวรณ์จะเกิดมากอย่างไรก็เป็นเรื่องของท่าน ซึ่งไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะไปแสดงสภาพวาระจิตโดยละเอียด ตั้งแต่ได้ฟังธรรม หรือเห็นสิ่งที่สะกิดเตือนใจให้ระลึกถึงการปฏิบัติธรรม และความคิดใดจะเกิดขึ้น สติจะระลึกรู้ว่าเป็นสภาพนามธรรมที่คิด หรือว่าท่านจะไม่ระลึก ก็เป็นเรื่องของท่าน
แต่ถ้าท่านมีความเข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานถูกต้อง จะเห็นว่า ไม่ว่าชีวิตต่างๆ ในพระไตรปิฎกจะถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมในลักษณะใดก็ตาม ย่อมเป็นไปตามปัจจัยของแต่ละท่านที่ได้สะสมมาอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ท่านผู้ฟังจะไปคิดว่า ท่านจะต้องฝืนทำอย่างบุคคลนั้น โดยที่ไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง
ข้อความต่อไป เพื่อจะได้ทราบถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับ พระผู้มีพระภาคและท่านพระเทวทัต ซึ่งเมื่อท่านพระเทวทัตได้ฟังพระผู้มีพระภาครับสั่งว่า อย่าเลย เทวทัต แทนที่ท่านพระเทวทัตจะเห็นว่าถูกตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่ควรจะเป็นไปอย่างที่ท่านกราบทูลขอพระผู้มีพระภาคเลย ท่านพระเทวทัตไม่เห็นอย่างนั้น
ข้อความต่อไปในพระไตรปิฎกมีว่า
ครั้งนั้น พระเทวทัตคิดว่า พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาตวัตถุ ๕ ประการนี้ จึงร่าเริงดีใจ พร้อมกับบริษัท ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค ทำ ประทักษิณ แล้วกลับไป
แทนที่จะเห็นตามว่าไม่ควร เพราะพระผู้มีพระภาคตรัสว่า อย่าเลย ท่านกลับดีใจ เพราะท่านเห็นว่า ต่อไปนี้คนจะต้องเลื่อมใสท่าน ที่ท่านกราบทูลขอข้อประพฤติปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ที่เป็นไปเพื่อความมักน้อย เพื่อการปรารภความเพียร เพื่อความสันโดษ แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต
เพราะฉะนั้น ผู้ที่เห็นผิด ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เข้าใจว่า สิ่งที่ท่านทูลขอนั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าความเห็นของพระผู้มีพระภาค
ข้อความต่อไปมีว่า
ต่อมาพระเทวทัตพร้อมกับบริษัทเข้าไปสู่กรุงราชคฤห์ แล้วประกาศให้ประชาชนเข้าใจวัตถุ ๕ ประการว่า ท่านทั้งหลาย พวกอาตมาเข้าไปเฝ้าพระสมณ โคดม ทูลขอวัตถุ ๕ ประการว่า พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสคุณแห่งความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารภความเพียรโดยเอนกปริยาย พระพุทธเจ้าข้า วัตถุ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นผู้มักน้อย ความเป็นผู้สันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส ความไม่สั่งสม การปรารถความเพียร โดยเอนกปริยาย ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส ภิกษุทั้งหลายพึงถือการอยู่ป่าเป็นวัตรตลอดชีวิต รูปใดอาศัยบ้านอยู่ รูปนั้นพึงต้องโทษ ฯลฯ ... ตลอดจนถึง ภิกษุไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต รูปใดฉันปลาและเนื้อ รูปนั้นพึงต้องโทษ
วัตถุ ๕ ประการนี้ พระสมณโคดมไม่ทรงอนุญาต แต่พวกอาตมาสมาทานประพฤติตามวัตถุ ๕ ประการนี้
คิดว่าเป็นความถูกต้องที่ประกาศอย่างนั้น เพราะเหตุว่าไม่รู้ชัดในมัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่กำจัดอภิชฌาโทมนัสเพราะสติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตรงตามความเป็นจริง จึงจะละความไม่รู้และอภิชฌาโทมนัสได้
ข้อความต่อไปมีว่า
บรรดาประชาชนเหล่านั้น พวกที่ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส ทรามปัญญา กล่าวว่าอย่างนี้ว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้ (หมายถึงพวกพระเทวทัต) เป็นผู้กำจัด มีความประพฤติขัดเกลา ส่วนพระสมณะโคดม ประพฤติมักมาก ย่อมคิดเพื่อความมักมาก ฯลฯ ... จนถึงข้อที่ว่า ไม่พึงฉันปลาและเนื้อตลอดชีวิต
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๒๕๑ – ๒๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300