แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
ครั้งที่ ๒๕๗
สุ. ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า แม้เป็นพระโสดาบันบุคคล ที่จะมีความเห็นผิดว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น ไม่มีเลย แม้แต่อนุสัยกิเลส
เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของการขัดเกลาอย่างแท้จริง ซึ่งในวันหนึ่งๆ สติจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏกี่ครั้ง ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมอะไรบ้าง รูปธรรมอะไรบ้าง ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ เมื่อระลึกได้แล้ว รู้ชัด หรือว่าความรู้พึ่งจะเพิ่มขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย แต่ความรู้ชัดที่เป็นวิปัสสนาญาณก็ยังไม่เกิด เพราะฉะนั้น ความรู้จะต้องเกิดขึ้นอีกมาก พร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปกติ
ขอให้ระลึกถึงคำว่า เป็นปกติ ไม่ใช่นามธรรมอื่น ไม่ใช่รูปธรรมอื่นที่ไปสร้างขึ้นมาเพื่อจะรู้ หรือมาปิดบังสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ แต่สติจะต้องระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมตามปกติ และปัญญาก็สามารถที่จะแทงตลอดในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ เมื่อเป็นปัญญาที่คมกล้า ละคลายความยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนแล้ว สภาพธรรมย่อมปรากฏชัดตรงตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น ทำให้ปัญญาสามารถที่จะละการยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉท ไม่เกิดอีกเลย บรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยสาวก หมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม
เพราะฉะนั้น เมื่อท่านพระอานนท์เป็นพระโสดาบันบุคคลแล้ว ถึงแม้ว่าจะหลงลืมสติ เพราะเหตุว่ายังมีอกุศลธรรมอื่นที่ยังไม่ได้ดับหมดเป็นสมุจเฉทเป็นปัจจัยให้ หลงลืมสติ แต่ความเห็นผิดไม่มีแก่ผู้ที่เป็นพระโสดาบันบุคคลเลย
สำหรับข้อที่ว่า การระลึกถึงความตายที่ท่านผู้ฟังกล่าวว่าวันละ ๑๐๐ ครั้ง คงจะหมายความว่า ท่านพระอานนท์เกิดสติเพียงวันละ ๑๐๐ ครั้ง เวลาที่ระลึกถึงความตาย สติระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไปได้ไหม ได้ เพราะฉะนั้น จะกะเกณฑ์ว่าเพียง ๑๐๐ ครั้งได้อย่างไร เมื่อระลึกถึงความตาย ๑๐๐ ครั้ง แต่เมื่อระลึกแล้ว สติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมต่อไปอีกเท่าไรก็ได้ ไม่ได้หมายความว่า ท่านพระอานนท์เพียงระลึกถึงความตาย ๑๐๐ ครั้งเท่านั้น โดยที่สติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ
ถ. เวลาที่พระอริยสาวกทั้งหลายหลงลืมสติ ท่านไม่มีความเห็นผิดว่า เป็นตัวตน แต่ทำไมผู้ที่ยังเป็นปุถุชนหลงลืมสติ ยังเห็นว่าเป็นตัวตน ยังมีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน
สุ. ปุถุชนเจริญสติหรือเปล่า และเวลาที่ปุถุชนเจริญสติ ปัญญาเกิดเหมือนอย่างผู้ที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอริยเจ้าแล้วหรือยัง ความรู้ต้องมีก่อน วิปัสสนาญาณต้องเกิดก่อน เพื่อจะละความไม่รู้เป็นขั้นๆ ไป จนกว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระอริยเจ้า
เพราะฉะนั้น เมื่อนามรูปปริจเฉทญาณก็ไม่เกิด วิปัสสนาญาณอื่นๆ ก็ไม่เกิด ทำไมถึงจะให้ปุถุชนไม่มีความเห็นผิดยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน
ส่วนพระอริยสาวกนั้น ก่อนที่ท่านจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ สติจะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม และปัญญาจะต้องสมบูรณ์ขึ้นมากเป็นขั้นๆ กว่าจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งความสมบูรณ์ของวิปัสสนาญาณแต่ละขั้น ละความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จนกระทั่งหมดเป็นสมุจเฉท
เพราะฉะนั้น ต่างกันที่ปัญญา หลงลืมสติเหมือนกัน แต่ความรู้ที่ละอนุสัยกิเลสที่เคยยึดถือนามธรรมและรูปธรรมนั้นต่างกัน พระอริยสาวกท่านดับอนุสัยกิเลส ด้วยปัญญาที่สะสมอบรมจนคมกล้า จนรู้แจ้งอริยสัจ
เปรียบเทียบท่านที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ๒ ท่าน ท่านผู้หนึ่งไม่เจริญสติปัฏฐานเลย กับอีกท่านหนึ่ง เจริญสติปัฏฐานแล้ว ความรู้ต่างกันไหม แม้แต่ท่านที่ฟังธรรม ท่านที่ฟังนาน ก็เข้าใจลักษณะของสติ สติก็เริ่มเกิด ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเพิ่มขึ้น แต่สำหรับท่านที่พึ่งเริ่มฟัง สงสัยแต่ว่าสตินั้นเป็นอย่างไร นี่เป็นเรื่องจริง เพราะว่าวันนี้ก็ได้รับฟังคำถามจากท่านผู้ที่พึ่งเริ่มฟัง ท่านสงสัยว่า ขณะที่มีสติเป็นอย่างไร ท่านได้ยินคำว่าสติ ได้ยินมานาน ได้ยินมามากโดยทั่วๆ ไป แต่เวลาที่ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ท่านไม่ทราบว่า สติมีลักษณะอย่างไร สติที่เป็นสติปัฏฐานมีลักษณะอย่างไร แต่ท่านที่ฟังมาก่อนเป็นเวลานาน ท่านสามารถที่จะอธิบายลักษณะของสติได้ท่านรู้ลักษณะที่ต่างกันในขณะที่มีสติ กับในขณะที่หลงลืมสติ นี่เป็นความต่างกัน แม้ในขั้นของการฟัง และในขั้นของการที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน
เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาจนคมกล้า จนเป็นพระอริยบุคคล ความรู้ก็มากขึ้น เพิ่มขึ้น ทั่วขึ้น ชัดแจ้งขึ้น จนกระทั่งดับความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้
ท่านผู้ฟังที่ศึกษาปริยัติธรรมทราบว่าไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เพราะความหมายของคำว่าปรมัตถธรรม คือ ธรรมชาติที่มีสภาวะสภาพลักษณะของธรรมชาตินั้นๆ แต่ละชนิด แต่ละประเภท เพราะฉะนั้น ตัวตน บุคคลไม่มีเลย ไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังคิดนึก สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่กำลังปรากฏ ซึ่งโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน คือ ทุกๆ ขณะนี้เอง ไม่ต่างกันเลย นี่ท่านทราบโดยขั้นของปริยัติ
และโดยขั้นของปริยัติก็ยังทราบว่า นามธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด รูปธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด การที่ทรงแสดงสภาพธรรมได้โดยละเอียด ก็เพราะได้ประจักษ์สภาพความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ โดยละเอียดแล้วจึงได้ทรงแสดงอย่างนี้ และผู้ที่เป็นพระอริยสาวก ศึกษา ประพฤติปฏิบัติตาม รู้แจ้งในสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงโดยละเอียดอย่างนั้น ประจักษ์ในนามธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป ประจักษ์ในรูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วดับไป จึงหมดความสงสัยในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม หมดความเห็นผิดที่ยึดถือนามธรรมและรูปธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะประจักษ์สภาพความจริงของนามธรรมและรูปธรรมแล้วพร้อมกับสติและปัญญาที่รู้ชัดในขณะนั้น
เพราะฉะนั้น สำหรับปุถุชนผู้ที่ไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน หรือว่าปุถุชนที่เจริญสติปัฏฐาน แต่ปัญญายังไม่สมบูรณ์ถึงขั้นที่จะรู้แจ้งในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ก็ย่อมต้องต่างกับผู้ที่เป็นอริยสาวกแล้ว
สำหรับข้อสงสัยที่ว่า ทำไมปุถุชนหลงลืมสติ มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน แต่ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้า หลงลืมสติ แต่ไม่มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค สรกานิวรรคที่ ๓ มหานามสูตรที่ ๑ มีข้อความที่ท่านจะได้เทียบเคียงเหตุผลได้
ข้อความใน มหานามสูตรที่ ๑ มีว่า
ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามะศากยราชเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทรงกราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาค หรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลาย ผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไปพร้อมกับช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษ
สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติ ที่ปรารถภึงพระผู้มีพระภาค พระธรรม พระสงฆ์ หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็นอย่างไร อภิสัมปรายภพของเรา จะเป็นอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลย มหาบพิตรอย่ากลัวเลย การสวรรคต อันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร
ดูกร มหาบพิตร จิตของผู้ใดผู้หนึ่ง อันศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญา อบรมแล้ว ตลอดกาลนาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดา บิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น และมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด ย่อมกัดกินกายนี้แหละ ส่วนจิตของผู้นั้น อันศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญาอบรมแล้ว ตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน ถึงคุณวิเศษ ขอถวายพระพร เปรียบเหมือนบุรุษลงไปยังห้วงน้ำลึกแล้ว พึงทุบหม้อเนยใส หรือหม้อน้ำมัน สิ่งใดที่มีอยู่ในหม้อนั้น จะเป็นก้อนกรวด หรือกระเบื้องก็ตาม สิ่งนั้นจะจมลง สิ่งใดเป็นเนยใสหรือน้ำมัน สิ่งนั้นจะลอยขึ้นถึงความวิเศษ ฉันใด
จิตของผู้ใดผู้หนึ่ง อันศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญาอบรมแล้ว ตลอดกาลนาน กายนี้ของผู้นั้น มีรูปประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ มีมารดา บิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้องขัดสี นวดฟั้น และมีอันแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา พวกกา แร้ง นกตะกรุม สุนัข สุนัขจิ้งจอก หรือสัตว์ต่างชนิด ย่อมกัดกินกายนี้แหละ ส่วนจิตของผู้นั้น อันศรัทธา ศีล สุตตะ จาคะ ปัญญาอบรมแล้ว ตลอดกาลนาน ย่อมเป็นคุณชาติไปในเบื้องบน ถึงคุณวิเศษ ฉันนั้นเหมือนกัน
ขอถวายพระพร มหาบพิตรอย่ากลัวเลย มหาบพิตรอย่ากลัวเลย การสวรรคต อันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอันไม่ลามกจักมีแก่มหาบพิตร
การเจริญสติปัฏฐาน เป็นการเจริญอบรมขัดเกลากิเลสด้วยปัญญาที่รู้ชัดในสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานก็ไม่รู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ไม่รู้ว่าในขณะที่หลงลืมสตินั้น มีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล แต่ถ้าได้อบรมเจริญสติปัฏฐาน จนกระทั่งขณะที่สติเกิดขณะใด ก็รู้ชัดในสภาพนามธรรม รูปธรรม รู้ว่าไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ในขณะนั้นก็จะหมดความเห็นผิดที่เคยยึดถือนามธรรม และรูปธรรมตามปกตินี้ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน จนไม่มีแม้แต่อนุสัยที่จะยึดถือว่า นามธรรม และรูปธรรมนี้เป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตน
ถ. คำว่า เรา คำว่า ตน คำว่า ตัวตน ก็ได้ยินอาจารย์อธิบายมานาน ซึ่งบางครั้งคล้ายๆ จะเข้าใจ แต่พอถามว่า เรานี้คืออะไร ตนนี้คืออะไร อะไรคือตน และตัวตนนี้คืออะไรกันแน่ ก็รู้สึกว่า ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่เข้าใจคำๆ นี้ว่า ตรงไหนคือเรา ตรงไหนคือตน หรือว่า ตัวตนอยู่ตรงไหน ตรงนี้ไม่เข้าใจกัน ยัง งง งง กันอยู่ บางทีก็บอกว่า เรา คือ คนที่มีรูปร่างอย่างนี้ และมีใจด้วย อย่างนี้หรือที่เรียกว่าตน หรือว่า ตัวตน ขอความกรุณาช่วยอธิบายให้ชัดแจ้งอีกสักครั้ง
สุ. ในความเห็นผิดนี้ มีสักกายทิฏฐิ และอัตตานุทิฏฐิ ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน
สักกายะ คือ การยึดถือสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน แม้อัตตานุทิฏฐิ ซึ่งมีความเห็นว่าเป็นอัตตา ความหมายก็คือ สักกายทิฏฐินั่นเอง คือ เห็นผิดในสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน
อย่างในขณะนี้ ทุกท่านกำลังเห็น เห็นอะไร ถ้าไม่เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ชัดในลักษณะของนามธรรมว่าเป็นนามธรรม ไม่ใช่รูปธรรม และรู้ชัดในลักษณะของรูปธรรมว่าเป็นรูปธรรม ไม่ใช่นามธรรม ถ้าปัญญายังไม่รู้ชัดถึงขั้นนี้ ถ้าถามว่าเห็นอะไร ก็ตอบว่าเห็นคน เห็นเก้าอื้ และเก้าอี้ก็จะต้องมีสภาพของรูปธรรมที่ประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อนในลักษณะที่เคยรู้ เคยจำได้ว่า ลักษณะนั้นเป็นเก้าอี้ ตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดว่า สิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นแต่เพียงสีสันวัณณะ หรือสิ่งที่ปรากฏเฉพาะทางตา เป็นของจริงที่รู้ได้ทางตา ซึ่งเมื่อหลับตาแล้วจะเหลือแต่ความรู้ ความทรงจำ แต่ว่าสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ที่ควบคุมประชุมรวมกัน และทำให้เกิดความเห็นผิด นั่นคือสักกายทิฏฐิ
เวลาที่กระทบสัมผัสคน เวลาที่กระทบสัมผัสเก้าอื้ ถ้าปัญญาไม่รู้ชัดว่า ขณะนั้นรูปธรรม เป็นแต่เพียงรูปธรรมที่มีลักษณะปรากฏให้รู้ได้ทางกาย และนามธรรมที่กำลังรู้ในลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ก็เป็นเพียงสภาพที่รู้อ่อน รู้ร้อน รู้เย็น รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว ไม่รู้อื่น ในขณะนั้นจะรู้อื่นไม่ได้ ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่ปรากฏให้รู้ได้ตามความเป็นจริง ถ้าความรู้ยังไม่เป็นอย่างนี้ ก็เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เป็นลักษณะของสักกายทิฏฐิ เป็นลักษณะของอัตตานุทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นคนที่เคยได้ยินคำว่า อัตตา หรืออัตตานุทิฏฐิ หรือสักกายทิฏฐิ เพราะบางคนบอกว่า เขาไม่เคยมีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตน ไม่ได้ยินคำว่าอัตตา ไม่ได้เห็นว่าเป็นอัตตา ไม่ได้เห็นว่าเป็นตัวตน พูดอย่างนี้ กล่าวอย่างนี้ แต่ถึงไม่พูดอย่างนี้ ไม่กล่าวอย่างนี้ ในใจ ในความรู้สึก ก็จะต้องมีความจำ หรือความรู้ในสิ่งที่ประชุมควบคุมรวมกันว่าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วแต่ว่าความทรงจำนั้น จะทรงจำได้ว่าลักษณะนี้เป็นลักษณะของสิ่งที่เข้าใจ จำได้ รู้ว่าเป็นคน ลักษณะนั้นเป็นวัตถุ เป็นสิ่งของต่างๆ แต่ตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรมแล้ว ผู้ที่รู้แจ้ง รู้ชัด ก็รู้สภาพลักษณะของธรรมแต่ละชนิดตรงตามลักษณะนั้นๆ และแทงตลอดในสภาพที่ไม่ประชุมควบคุมรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด แต่ถ้าตราบใดที่ยังไม่รู้ชัดในสภาพลักษณะของธรรมชาติแต่ละชนิดตามความเป็นจริง ยังคงควบคุมประชุมรวมกันอยู่ ถึงแม้ว่าจะไม่กล่าวว่าเป็นอัตตา เป็นสักกายะ หรือเป็นตัวตน แต่ความเห็นผิดก็จะต้องมีอยู่ที่ลักษณะที่ควบคุมประชุมรวมกันนั้นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งก็หมายความถึงเป็นสักกายะ หรือเป็นอัตตานั่นเอง
ถ. สักกายทิฏฐิประเภทหนึ่ง ที่กล่าวว่า ตามเห็นรูปโดยความเป็นตน คำว่ารูปในที่นี้คืออะไร และตนในที่นี้หมายถึงอะไร
สุ. เหมือนกันกับนัยที่กล่าวแล้ว ไม่ต่างกัน ถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะกล่าวว่า เฉพาะร่างกายของตัวเองเป็นตนเท่านั้น หรือว่าร่างกายของบุคคลอื่นเท่านั้นที่เป็นตน ถ้ากล่าวอย่างนี้ ผู้นั้นไม่สามารถที่จะละสักกายทิฏฐิได้ เพราะว่าโต๊ะก็ยังคงเป็นโต๊ะ เก้าอี้ก็ยังคงเป็นเก้าอี้ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาลักษณะหนึ่ง และเวลาที่กระทบสัมผัสปรากฏทางกาย ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่ง เป็นสภาวธรรมแต่ละลักษณะที่ปรากฏให้รู้ได้แต่ละทาง
เพราะฉะนั้น ผู้ที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เข้าใจความหมายของ อัตตานุทิฏฐิและสักกายทิฏฐิว่า หมายความถึงการที่ไม่รู้ชัดในสภาพธรรมแต่ละลักษณะตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้นๆ จึงมีความสำคัญผิด ยึดถือสภาพธรรมที่ประชุมรวมกันว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นกระเป๋า เป็นคน ซึ่งผู้ที่จะละสักกายทิฏฐิและอัตตานุทิฏฐิได้ ก็เพราะรู้ลักษณะที่ต่างกันแต่ละลักษณะ
แนวทางเจริญวิปัสสนา เล่ม ๒๖ ตอนที่ ๒๕๑ – ๒๖๐
เรียบเรียงอักษรให้อยู่ในรูปแบบหนังสือ โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญครบถ้วน
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 241
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 242
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 243
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 244
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 245
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 246
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 247
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 248
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 249
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 250
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 251
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 252
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 253
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 254
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 255
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 256
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 257
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 258
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 259
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 260
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 261
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 262
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 263
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 264
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 265
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 266
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 267
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 268
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 269
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 270
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 271
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 272
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 273
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 274
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 275
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 276
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 277
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 278
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 279
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 280
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 281
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 282
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 283
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 284
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 285
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 286
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 287
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 288
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 289
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 290
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 291
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 292
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 293
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 294
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 295
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 296
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 297
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 298
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 299
- แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 300